ระหว่างซ้อนมอเตอร์ไซค์คันเก่าของ วรพจน์ พันธุ์พงศ์ ผ่านถนนลาดยางตัดสลับทุ่งนาในอำเภอเมือง จังหวัดน่าน จู่ๆ เขาก็ชี้นิ้วไปยังเพิงมุงจากริมชายทุ่งที่คนเลี้ยงวัวปลูกไว้ใช้พักผ่อน พลางตะโกนเสียงดังท่ามกลางสายลมกระโชกแรง
“คนนี้เราก็สัมภาษณ์มาแล้ว”
หากเคยได้ยินชื่อของ ‘หนึ่ง’- วรพจน์ พันธุ์พงศ์ มาบ้าง คุณอาจรู้จักเขาในนามนักสัมภาษณ์ที่ร้อยเรียงบทสนทนาของผู้คนหลากหลายวงการออกมาอย่างต่อเนื่องยาวนานกว่า 3 ทศวรรษ
อดีตคนทำนิตยสารมือฉมัง หนึ่งในผู้บุกเบิกนิตยสารที่มาก่อนกาลอย่าง Open ต่อมาท้าชนยุคโรยราของสื่อสิ่งพิมพ์กับการปลุกชีพนิตยสาร WRITER ขึ้นมาอีกครั้ง แฟนนักอ่านต่างรู้กันดีว่าวรพจน์เขียนงานได้หลายประเภท ทั้งความเรียง สารคดี บทสัมภาษณ์ บทกวี โดยมีผลงานหนังสือเกือบ 30 เล่ม เป็นสักขีพยานความรักในอาชีพ
และล่าสุดกับ nan dialogue สื่อใหม่ที่ถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตของผู้คนในจังหวัดน่าน ภายใต้ความตั้งใจอยากจะเป็น ‘กระบอกเสียง’ ของคนท้องถิ่นภูธร ให้คนทั่วประเทศได้รู้จัก
‘nan dialogue’ เสียงสนทนาของคนน่าน
เวลาย้ายบ้าน หนึ่งในกระบวนการสำคัญที่สุดคือการจัดระเบียบสัมภาระเพื่อย้ายของจากบ้านหลังเก่าไปสู่บ้านหลังใหม่ สมบัติอันมีค่า ไม่ว่าจะเป็นแจกัน ถ้วยโถโอชาม เฟอร์นิเจอร์ที่คุ้นเคย น่าจะอยู่ในลิสต์อันดับต้นๆ
แต่สำหรับวรพจน์ ในวันที่ต้องย้ายบ้านจากกรุงเทพฯ ไปจังหวัดน่าน เขาพกอาชีพของเขาติดตัวไปด้วย — อาชีพที่ทำมา 30 ปี นั่นคือ นักเขียน นักสัมภาษณ์ หลังจากใช้เวลานานร่วมปีจัดการชีวิตใหม่จนเข้าที่เข้าทาง เขาจึงเริ่มลงมือสัมภาษณ์ผู้คนในจังหวัดแห่งนี้
“เราทำไปตามอาชีพ ตั้งแต่ทำงานมาก็ทำอาชีพนี้อยู่อาชีพเดียว ย้ายหัวหนังสือ ย้ายแพลตฟอร์ม แต่ไม่เคยเปลี่ยนอาชีพ แล้วที่นี่คือบ้าน ก็เลยอยากทำเรื่องเกี่ยวกับบ้านของเรา”
“เราอยู่กับอาชีพนี้มาจะ 30 ปีแล้ว ก็ต้องหาทางทำต่อไป ช่วงโควิดเดินทางไม่ได้ก็ทำในจังหวัดของเรา แม้ว่าจะเต็มไปด้วยเงื่อนไข มนุษย์ต้องหาวิธีที่จะมีชีวิตอยู่และทำงานต่อไป บทสัมภาษณ์ใน nan dialogue ทั้งหมดจะเป็นเรื่องของคนน่าน ใครก็ได้ที่ยินดีคุยกับเรา เพราะว่าหลักการคือพร้อมคุยกับคนทุกกลุ่ม ทุกเพศ ทุกอายุ ทุกความสนใจ ขอแค่มีจังหวะมาเจอกันพอดี เพราะเราคุยนานไง ถ้าคุยสั้นไม่คุย บางคนพอติดต่อไปถามกลับว่าสื่ออะไรไม่เห็นดังเลย (หัวเราะ) มันจะดังได้ไงก็เพิ่งเปิดเมื่อวาน”
แม้ว่าจะเป็นงานเขียนดังเช่นที่เคยทำ แต่ความสดใหม่ของ nan dialogue คือมันไม่ได้ตีพิมพ์บนกระดาษ วรพจน์เคลื่อนตัวอักษรของเขาเข้าไปอยู่บนออนไลน์ตามยุคสมัย
“โลกออนไลน์มีลักษณะเฉพาะที่ต่างจากโลกของกระดาษ พอมันเข้ามาเราก็ศึกษาว่าสนามใหม่เป็นยังไง มีศักยภาพอะไรบ้าง แล้วก็ปรับพฤติกรรมตัวเอง เลือกเกมที่เราจะเล่น ถ้าจากเดิมเราเป็นนักวิ่งมาราธอน เขียนหนังสือพ็อกเกตบุ๊กอย่างมากก็ปีละสองเล่ม การทำ nan dialogue เหมือนเรากลับไปวิ่งร้อยเมตร แต่อำนาจของออนไลน์ก็แตกต่างจากกระดาษ อย่างเราอยู่ที่น่าน คนที่อเมริกาจะอ่านก็ได้ ถ้าเป็นกระดาษต้นทุนคงเยอะแยะไปหมด”
พูดถึงเรื่องทุน วรพจน์ถือเป็นเงื่อนไขแรกของสื่อสำนักนี้ เขาไม่ได้มีเงินมากพอจะจ้างทีมงานหรือซื้อต้นฉบับหลายชิ้น อันที่จริงเขาลุยเดี่ยวเป็นหลักด้วยซ้ำ
“เราถ่ายรูป สัมภาษณ์คน ดูแลต้นฉบับ คุยกับคอลัมนิสต์ด้วยตัวเองคนเดียวทุกสัปดาห์ ซึ่งความถี่ของการทำงานรายสัปดาห์มันโหดมากนะ แต่เราก็วิ่งมาหมดแล้ว ทั้งรายวัน รายสัปดาห์ รายปักษ์ รายเดือน รอบนี้ลองลุยอีกสักรอบ เพราะโลกของออนไลน์มันเป็นแบบนี้”
สิ่งหนึ่งที่ต้องทำความเข้าใจอีกอย่างก็คือ nan dialogue เป็นโปรเจกต์ ไม่ใช่คอมพานี ในความหมายที่ว่ามันไม่ได้เกิดขึ้นจากจุดประสงค์ทางธุรกิจ เพราะฉะนั้นเมื่อทุนน้อย ไม่มีทีมงาน ไม่ใช่ปัญหาสำหรับวรพจน์
“แต่ปัญหาสำหรับเราคือพอทำไปแล้วมันได้เห็นศักยภาพ เห็นอำนาจของมัน ก็อยากให้มันได้อยู่ไปยาวๆ ไม่อยากให้มันตายไป ซึ่งคำว่าไม่ตายก็แปลว่าต้องมีคนมาทำต่อ จะมีคนมาทำต่อได้ก็แปลว่าเราต้องหาเงินได้ อยู่คนเดียวเราไม่ต้องหาเงินก็ได้ไง มันเป็นอาชีพของเราอยู่แล้ว
คำว่า ‘ศักยภาพ’ ไม่ได้หมายถึงการประสบความสำเร็จในเรื่องชื่อเสียงเงินทอง แต่หมายถึงการเป็นสื่อท้องถิ่นที่ทำให้ปากเสียงของคนนอกกรุงเทพฯ ดังขึ้นมา
“มันคือการกระจายอำนาจ ทุกวันนี้บ้านเมืองเรามันไปรวมกันอยู่ที่กรุงเทพฯ เราไม่ได้มีอำนาจในการบริหารประเทศ แต่เรามีอำนาจในทางนิเทศศาสตร์ เราก็อยากทำหน้าที่กระจายอำนาจทางข่าวสารข้อมูล เราอยากเห็นทุกจังหวัดมีสื่อท้องถิ่นเยอะๆ”
สร้างพื้นที่ให้กว้างกว่าหน้ากระดาษ
ก่อนหน้าจะปลุกปั้นโปรเจกต์ nan dialogue วรพจน์เป็นตัวตั้งตัวตีในการจัดงาน Nanpoésie นิทรรศการอ่านบทกวีในพื้นที่ของ ห้องสมุดบ้านๆ น่านๆ (ที่มี ‘ครูต้อม’ – ชโลมใจ ชยพันธนาการ เป็นผู้ก่อตั้ง) โดยมีกวีหนุ่มสาวคนรุ่นใหม่มากหน้าหลายตาเดินทางมาจากทั่วประเทศ และในสถานที่เดียวกัน เขายังจัดงานเสวนาพูดคุยในหัวข้อต่างๆ จนถึงกับแซวตัวเองว่าทุกวันนี้กลายมาเป็นผู้จัดจำเป็น ทั้งที่จริงๆ แล้ว เขาคุ้นเคยกับความสันโดษมากกว่า
“พื้นฐานเราไม่ชอบยุ่งกับคนอื่นเลย ชอบทำงานคนเดียว แต่หลังๆ เริ่มกลายเป็นผู้จัด เราทำงานกับพื้นที่ สร้างพื้นที่ เปิดพื้นที่ใหม่ เพราะเห็นว่าบ้านเรายังไม่มีสิ่งนี้ มันอดไม่ได้ เราเห็นโอกาส เห็นประโยชน์ของมัน เห็นว่าควรทำ ดีกว่านั่งอยู่เฉยๆ
“ถ้าการอ่านหนังสือคือพื้นที่บนหน้ากระดาษ การมีงานแบบนี้ก็เหมือนเป็นพื้นที่ที่คนได้มาเจอกัน มิติมันมากขึ้น มันสามารถนำไปสู่อะไรต่อมิอะไรเต็มไปหมด”
ล่วงเข้าปีที่ 7 ของเขากับจังหวัดน่าน วรพจน์ยังมีไอเดียสร้างสรรค์พื้นที่ด้วยกิจกรรมใหม่ๆ อยู่เสมอ กิจกรรมล่าสุดที่เกิดขึ้นในห้องสมุดบ้านๆ น่านๆ คือ ค่ายนักเขียน โดยเปิดรับสมัครเยาวชนจากทั่วประเทศให้เข้ามาเรียนรู้และฝึกฝนกับตัวจริงในแวดวงคนทำสื่อ ซึ่งหน้าที่นี้ควรเป็นหน้าที่ของรัฐบาลในการเสริมสร้างเยาวชน แต่ในเมื่อรัฐไม่ทำ ดังนั้นเขาจึงลงมือทำเอง
“การทำค่ายเขียนหนังสือ ไม่ใช่ว่าทุกคนจะออกมาเป็นนักเขียนได้ แต่สิ่งที่เขาจะได้คือทัศนคติ มุมมอง วิธีคิด การตั้งคำถาม ที่ชั้นเรียนไม่ได้สอน ไม่เคยได้แลกเปลี่ยนอาหารทางความคิดที่หลากหลายตั้งแต่วัยเยาว์
“การสร้างคนเป็นเรื่องสำคัญ ในชีวิตเรากว่าจะโตมาถึงวันนี้มันผ่านการลองผิดลองถูกด้วยตัวเองมาเยอะ คนที่มีเงินน้อยหรือคนต่างจังหวัดยิ่งไม่มีโอกาสได้เรียนรู้ ทุกอย่างไปกระจุกอยู่ที่กรุงเทพฯ ซึ่งรัฐก็ไม่ทำอะไรกับความเหลื่อมล้ำเหล่านี้ วันหนึ่งที่เราโตพอ มีเพื่อน มีกำลังที่จะสร้างโอกาสให้กับคนที่ไม่ค่อยมีได้มีบ้าง มันก็โอเค แต่ย้ำว่าเราไม่ได้ทำในความหมายของนักบุญ ไม่ใช่ผู้เสียสละ แค่ทำเท่าที่ทำได้ เท่าที่นึกสนุก และในช่วงเวลาที่พร้อม”
ในอดีตไม่มีคำว่า ‘นักสัมภาษณ์’
ก่อนปี 2540 หากใครประกาศว่าตัวเองทำอาชีพนักสัมภาษณ์ คงมีน้อยคนที่จะเข้าใจ สำหรับวรพจน์ คำว่า ‘นักสัมภาษณ์’ เพิ่งถูกสร้างขึ้นมาไม่ถึง 30 ปีนี้เอง
“สมัยก่อนถ้าพูดคำว่านักสัมภาษณ์ขึ้นมา จะหมายความถึงคนในแผนก HR” วรพจน์หัวเราะ เขาหมายถึงแผนกทรัพยากรบุคคลที่สัมภาษณ์คนเพื่อพิจารณาเข้าทำงาน
“จริงๆ แล้วในวงการสื่อมีคนทำงานประเภทนี้มานานแล้ว แค่ยังไม่มีชื่อเรียก เมื่อก่อนยังไม่มีใครใช้คำว่านักสัมภาษณ์ ถึงใช้มันก็ขัดลิ้น คนทั่วไปฟังไม่เข้าใจ แต่ในเมื่อมีคนชื่นชอบและทำงานในอาชีพนี้ มันก็ควรจะต้องมีชื่อเรียกที่เป็นทางการ
“เวลามนุษย์สถาปนาตัวเองด้วยชื่อใดชื่อหนึ่งมันไม่เวิร์กหรอก จะเวิร์กก็ต่อเมื่อคนอื่นเรียก เพราะภาษาเป็นเรื่องทางสังคม เผอิญช่วงทศวรรษที่ 2540 วงการสื่อสารมวลชน คนทำแมกกาซีนเริ่มกลายเป็นเซเลบฯ ในสังคม หมวดหมู่อาชีพใหม่ๆ เลยมีพื้นที่ในสังคมไทย คำว่านักสัมภาษณ์ก็เกิดขึ้นมาในยุคนั้น ซึ่งเป็นยุคสมัยที่เราทำงานอยู่พอดี จน พ.ศ.นี้ มันกลายเป็นคำทางการไปแล้ว ซึ่งก็เกิดจากปริมาณงาน ปริมาณคนทำที่ทำมันออกมาอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ”
คำว่านักสัมภาษณ์ในบริบทของคนทำสื่อนั้น มีตัวละครในอาชีพนี้จำนวนหนึ่งร่วมกันสร้างนิยามความหมายของมันให้แข็งแรงขึ้น วรพจน์เองก็ได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในนักสัมภาษณ์แถวหน้าของยุคสมัย
“ถ้าการเกิดขึ้นของคำว่านักสัมภาษณ์จะมีเราเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย มันก็คงเป็นเพราะว่ามีความเป็นนักเขียนของเราแทรกอยู่ในนั้น เลือดเนื้อในตัวเรามันเป็นสื่อผสม เราเป็นนักสัมภาษณ์ เป็นนักเขียน เป็นกวี เป็นหลายอย่างเลย ซึ่งความเป็นนักเขียน ความเป็นกวีมันทำให้บทสัมภาษณ์มีความสนุกและน่าสนใจขึ้น”
วรพจน์อาจไม่ใช่นักสัมภาษณ์คนแรกของเมืองไทย แต่ไม่มากก็น้อยเขาคือคนทำงานที่มีส่วนร่วมในการบุกเบิกอาชีพนี้ให้กลายเป็นที่รู้จักของคนวงกว้าง และยังดำเนินบทบาทนั้นจนถึงวันนี้ หลักฐานยืนยันชัดแจ้งมีอยู่และพิสูจน์ได้ง่ายดาย เพียงลองหลับตาแล้วนึกชื่อนักสัมภาษณ์ขึ้นมาสัก 3 คน คำยืนยันนั้นอยู่ในคำนึงของคุณ
บทสัมภาษณ์ไม่ใช่เพียงคำถาม-คำตอบ
การสัมภาษณ์ทำยากไหม? ระหว่างพลิกเปิดหนังสือ นักอ่านคงเกิดคำถามนี้ในใจ เพราะตัวหนังสือที่ร้อยเรียงบนกระดาษ ดูผิวเผินยังไงก็เป็นเพียงบันทึกบทสนทนาระหว่างผู้ถามกับผู้ตอบ ไม่ได้มีอะไรซับซ้อน
แล้วอย่างนั้น งานของนักสัมภาษณ์คืออะไรกันแน่?
“เป็นกระดาษซับ เป็นเครื่องบันทึกที่เก็บได้มากกว่าเสียง แต่รวมไปถึงอารมณ์ แววตา กิริยาท่าทางของผู้ให้สัมภาษณ์” วรพจน์บอกว่าตัวหนังสือในบทสัมภาษณ์ ไม่ได้มีที่มาจากเสียงสนทนาเท่านั้น แต่มาจากการสังเกตด้วย
“คำตอบบางอย่างมันไม่ได้อยู่ในเทป มันอาจจะอยู่ในดวงตาหรือความเงียบ ถ้านักสัมภาษณ์พึ่งพาแค่เสียงอย่างเดียว คุณจะขาดมิติอื่นๆ เครื่องอัดเสียงเป็นแค่ตัวช่วยของนักสัมภาษณ์ แต่คุณเป็นมนุษย์ คุณต้องเก็บมิติอื่นๆ มาให้ครบ นี่คือเหตุผลว่าทำไมการทำงาน on location ถึงสำคัญ เพราะมันเป็นโอกาสที่มากกว่าอีกไม่รู้กี่เท่า ที่คุณจะได้สัมผัส ได้เห็น ได้กลิ่น ได้จดบันทึกมิติอื่นๆ ของตัวละครตัวนั้นอย่างแท้จริง”
แสดงว่าบทสัมภาษณ์ไม่ใช่แค่บทสนทนา?
“จะว่าอย่างนั้นก็ได้ มันคือการถอดชีวิต ความคิด และตัวตนของคนคนนั้น ซึ่งเสียงมันถ่ายทอดออกมาไม่ได้ทุกอย่าง เพราะฉะนั้นเราก็ต้องพึ่งทั้งไอ้นี่ (ชี้ไปที่เครื่องบันทึกเสียง) และตัวเราเองด้วย มันถึงจะทำให้การสัมภาษณ์ครั้งนั้นมีประสิทธิภาพ
ทุกอย่างในวันสัมภาษณ์เป็นเรื่องเฉพาะหน้า เพราะมันเป็นการทำงานกับมนุษย์ที่มีปัจจัยควบคุมไม่ได้เยอะ แต่มันก็ท้าทายและมีเสน่ห์ ฉะนั้นต้องมีร่างกายและจิตใจที่สด ไม่งั้นคุณจะเป็นเครื่องบันทึกที่ไม่ดี นักมวยก่อนขึ้นชกต้องฟิตมาเพียงพอ ถ้าไม่ฟิตร้อยเปอร์เซ็นต์ ความสามารถในการเก็บข้อมูลจะต่ำลงทันที แล้วมันน่าเสียดายที่ความผิดนี้มันเป็นของคุณ”
เมื่อปัจจัยภายนอกเยอะและควบคุมไม่ได้ การทำงานสัมภาษณ์จึงเป็นงานที่ต้องประนีประนอมระหว่างความต้องการสูงสุดกับความเป็นจริง ในประเด็นนี้เขาอุปมาได้อย่างวาบหวิว
“พูดอย่างหยาบที่สุด การสัมภาษณ์เหมือนการมีเซ็กซ์ มันเป็นเรื่องส่วนตัวมากๆ เราอาจจะมีเซ็กซ์ได้กับทุกคน แต่การจะขยับจากเซ็กซ์ไปเป็นความรักหรือตราตรึงจดจำฝังใจก็เป็นเรื่องของคนสองคนที่เหมาะกันพอดี ซึ่งในบริบทแบบนี้มันถึงจะทำหน้าที่ได้สูงสุด นี่คือภาพในฝันและอุดมคติของการสัมภาษณ์ แต่ในความเป็นจริงมันก็ไม่ได้เกิดสิ่งนี้ได้ทุกครั้งหรอก”
พอไม่ได้เกิดขึ้นทุกครั้ง ความเป็นมืออาชีพจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง จะไปเชียงใหม่ก็ต้องถึงเชียงใหม่ เป็นทริปที่สนุกไหมไม่รู้ แต่ว่าถึง มืออาชีพไม่ว่าเจอสถานการณ์แบบไหนก็ต้องทำให้ได้ เริ่มทำงานแล้วมันต้องประคองไปให้ถึงฝั่ง”
ก่อนจะออกมาเป็นตัวหนังสือที่ร้อยเรียง กระบวนการเปลี่ยนบทสนทนาให้กลายมาเป็นตัวอักษร คือการใช้ทักษะของนักเขียนที่เรียกว่าการเรียบเรียงในขั้นตอนนี้วรพจน์เชื่อว่านักสัมภาษณ์ควรถอดตัวตนออกจากงานให้มากที่สุด ทำหน้าที่เป็นเพียงแค่พิธีกร หลังจากแนะนำตัวแขกเสร็จก็พูดให้น้อยที่สุด
“นักสัมภาษณ์ต้องแสดงตัวให้น้อยที่สุด ต้องแผ่วเบาที่สุด เวทีมันเป็นของผู้ให้สัมภาษณ์ ยิ่งถ้าเป็นมือใหม่ พยายามเขียนเข้าสู่เรื่องของคนสัมภาษณ์ให้เร็วที่สุด อย่าให้มีตัวเองเยอะ เพราะเวทีนี้ไม่ใช่ของคุณ คุณจะพูดทำไมมากมาย เคยเห็นเวทีที่พิธีกรพูดเยอะกว่าแขกไหม อย่าเป็นแบบนั้น”
เมื่อการเรียบเรียงคือศาสตร์ของงานเขียน วรพจน์มองว่านักสัมภาษณ์จำเป็นต้องอาศัยประสบการณ์การอ่านและเขียนที่สูง มากไปกว่านั้นคือประสบการณ์ทางศิลปะในแขนงอื่นๆ ด้วย
“โลกของตัวหนังสือเป็นโลกของการทำงานศิลปะ การจะเรียบเรียงให้ออกมาดีได้ คุณก็ต้องเป็นนักเสพศิลปะ ทำงานสัมภาษณ์ไม่ได้แปลว่าทั้งชีวิตคุณต้องอ่านแต่บทสัมภาษณ์ คุณต้องดูหนัง ฟังเพลง อ่านบทกวี ไปดูความคิดของผู้คนที่พ้นไปจากโลกของอาชีพคุณด้วย เพราะงานของเราคือการเล่าเรื่อง เราต้องไปฟังเรื่องเล่าเยอะๆ”
นอกเหนือไปจากเรื่องทักษะ เขาเน้นย้ำเรื่องการให้เวลากับขั้นตอนการเรียบเรียง เพราะมันคือขั้นตอนสุดท้ายที่จะชี้ขาดว่างานชิ้นนั้นจะออกมาเป็นอย่างไร
“คนส่วนใหญ่มักจะพลาดกันตรงขั้นตอนเรียบเรียง อาจเพราะประมาทมันเกินไป ให้เวลากับมันน้อยเกินไป ต้องบริหารพลังงานให้ดี คุณสัมภาษณ์มาดีแทบตาย เรียบเรียงห่วยก็จบ”
การอ่านบทสัมภาษณ์คือทางลัดสู่บทสนทนาอันลึกซึ้ง
จากบันทึกอย่างเป็นทางการ วรพจน์ออกหนังสือรวมบทสัมภาษณ์เล่มแรกของเขาชื่อ อย่างน้อยที่สุด: ประวัติและทัศนะในวัยหนุ่มของ ‘เป็นเอก รัตนเรือง’ เมื่อปี 2549 ซึ่งนับว่าเป็นหนังสือที่แหวกแนวแตกต่างจากเล่มอื่นในขวบปีเดียวกัน เพราะส่วนใหญ่งานบทสัมภาษณ์ในยุคนั้นมักจะอยู่ในหน้าหนังสือพิมพ์หรือนิตยสาร และมีความยาวเพียงหลักสิบหน้าเท่านั้น
การที่เขาตีพิมพ์หนังสือบทสัมภาษณ์บุคคลด้วยความยาวหลักร้อยหน้า นับว่าเป็นความท้าทาย โดยเฉพาะในยุคที่หมวดหมู่หนังสือยังไม่ได้กว้างขวางมากนัก
“เราทำด้วยความคิดที่ว่า ถ้าบทสัมภาษณ์มีพื้นที่ในหนังสือพิมพ์ 1 หน้า หรือในแมกกาซีน 10 หน้าแล้วอ่านสนุก ทำไมมันจะเป็น 300 หน้าที่อ่านสนุกไม่ได้ สิ่งที่ทำให้คุณสนุกทำไมไม่ยืดเวลาออกไปให้นานที่สุด แต่เผอิญว่าตลาดในเมืองไทยมีหมวดหมู่หนังสือสัมภาษณ์น้อย ทั้งที่ในความเห็นเราควรมีสักเชลฟ์ในร้านหนังสือที่เป็นหมวดสัมภาษณ์บุคคล ชีวิตคนมันเป็นนิรันดร์ ยังไงก็น่าสนใจ
“บทสนทนาคือความคิดคน คือการปะทะ คือการแจม มนุษย์จะบวกไปเรื่อยๆ จากการบริโภคสิ่งที่หลากหลาย ถ้าคุณกินอาหารอย่างเดียวไม่มีทางดี การบริโภคความคิดแบบเดียวก็เหมือนกัน มนุษย์คือความสัมพันธ์ที่หลากหลาย บทสนทนาจึงเป็นต้นทาง เป็นรากเหง้าของมนุษย์ในการแจมกันหรือแชร์กัน มนุษย์จะเติบโตงอกงามได้ก็ด้วยปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นๆ ในสังคม
“ไดอะล็อกหรือบทสัมภาษณ์ มันคือต้นทางที่มาเพิ่มความหลากหลายทางความคิดให้มนุษย์ ตรรกะในตัวคุณก็จะดีขึ้นไปเรื่อยๆ ได้ฟังคนที่ไม่เห็นด้วย เราก็ต้องหาวิธีเถียงด้วยเหตุผลที่ดีกว่า ยิ่งเห็นต่างก็ยิ่งต้องหาเหตุผลที่ดีกว่ามาเถียง แล้วเหตุผลที่ไม่ดีก็จะถูกปัดตกไป”
พ้นไปจากความสนุกและคุณค่าที่มีอยู่ของตัวบทสัมภาษณ์ วรพจน์ยังเล่าถึงความสัมพันธ์ระหว่างการอ่านบทสัมภาษณ์กับการมีชีวิตที่ดี เขาเชื่อว่ามนุษย์มีสัมพันธภาพอยู่ 3 รูปแบบ หนึ่งคือ สัมพันธภาพภายในตัวเอง สองคือ ตัวเองกับคนอื่น อย่างสุดท้ายคือ ตัวเองกับธรรมชาติ สามรูปแบบนี้เป็นความสัมพันธ์ที่มนุษย์ควรหาสมดุลให้ดี
“การอ่านบทสัมภาษณ์ทำให้เราได้รู้จักความคิด ประสบการณ์ของคนอื่น เป็นเหมือนแบบฝึกให้เรา ขณะเดียวกัน ถ้าคุณจมอยู่แต่กับตัวเองเพียงลำพัง มันก็เหมือนคุณใช้ชีวิตเฉพาะเวลากลางวัน คุณอาจเห็นพระอาทิตย์ แต่คุณไม่ได้เห็นดวงจันทร์หรือดวงดาว ถึงที่สุดเลยมันจะเกิดความทุกข์เพราะคุณกักขังตัวเองอยู่เพียงมิติเดียว ไม่รู้จักสิ่งอื่น พอไม่รู้จักก็อยู่ร่วมไม่เป็น ชีวิตมันจะไม่ดี
“โดยสรุป การอ่านบทสัมภาษณ์คือ shortcut คือการเรียนรู้ในเวลาอันสั้น คนเราไม่ได้มีโอกาสไปสร้างบทสนทนาที่ลึกซึ้งกับคนอื่นได้เป็นร้อยเป็นพันคนอย่างที่นักสัมภาษณ์ทำได้หรอก เพราะฉะนั้นสิ่งเดียวที่คุณจะได้ฟังความคิดคนอื่นอย่างลึกซึ้งก็คือการอ่านบทสัมภาษณ์”
แถวนี้มันเถื่อน ต้องเอาจริงถึงจะอยู่ได้
แม้กระดาษจะลดบทบาทลง ความยาวของตัวหนังสือเหมือนจะยังไม่ได้รับการต้อนรับที่ดีในโลกออนไลน์ หน้าจอมาแทนที่อะไรหลายอย่างในชีวิต แต่บางอย่างยังคงเหมือนเดิม เหมือนโลกที่ยังหมุน และผู้คนหนุ่มสาวยังมีความฝัน เช่นเดียวกับผู้คนที่สนใจทำงานกับตัวหนังสือ บทสนทนา ความคิดและชีวิตของผู้คน
สนามแห่งนี้ไม่เคยปิดกั้นความสนใจของใคร เพียงแค่มันมีความเฉพาะตัวมาตั้งแต่ไหนแต่ไร วรพจน์พูดถึงคนที่หันเหสู่อาชีพสายนักเขียนว่า
“อาชีพนักเขียนนักสัมภาษณ์มันไม่ได้เหมาะกับคนทุกคนหรอก มันค่อนข้างเฉพาะ”
เฉพาะในความหมายของเขาไม่ได้หมายถึงความวิเศษวิโส แต่หมายถึงเงื่อนไขในอาชีพหลายข้อที่จะต้องทำความเข้าใจก่อนกระโดดเข้ามา
“ถ้าคุณสนใจอาชีพนี้ก็ต้องรู้แต่แรกว่าเงินมันน้อยกว่าแพทย์ ถ้าคุณไม่ชอบเงินน้อยก็อย่าเข้ามา เพราะโดยค่าเฉลี่ย 99 เปอร์เซ็นต์มันเป็นเช่นนั้น แต่ถามว่ามีไหมอีก 1 เปอร์เซ็นต์ที่รวย มันก็มี คุณเขียนงานอย่าง แฮร์รี่ พอตเตอร์ ได้ไหมล่ะ ถ้าได้ก็รวยกว่าหมอ รวยกว่าวิศวกร
“ฉะนั้นส่วนใหญ่แล้วเงินมันน้อยแน่ๆ แต่ไม่ได้แปลว่าไม่ดี คุณเงินน้อยก็ต้องคิดว่าจะใช้ยังไง มีเงื่อนไขอะไรบ้าง เพราะมนุษย์ไม่ว่าจะเงินเยอะหรือน้อยก็ควรมีคุณภาพชีวิตที่ดี อย่างเรารู้แต่แรกอยู่แล้ว ก็บริหารมันไป เพราะเราอยากรักษาวิชาชีพนี้ไว้ ไม่ได้อยากเลิก ทุกวันนี้ก็อยู่กับมันมา 30 ปีแล้ว ไม่มีปัญหา”
30 ปีของวรพจน์ที่อยู่ในสนาม เขาได้เห็นคนเลี้ยวเข้ามาร่วมทางมากมาย แต่ส่วนใหญ่เดินได้พักหนึ่งก็ต้องเลี้ยวหันไปเส้นทางอื่น
“แถวนี้มันเถื่อน” เขากระแอมหัวเราะ “โลกของตัวหนังสือรายได้มันน้อย แต่ต้องใช้เวลาฝึกฝนเยอะ มันไม่ค่อยสัมพันธ์กันเท่าไหร่ เพราะแบบนี้คนที่มาทุ่มเททำงานหนักในอาชีพนี้จริงๆ จึงมีไม่มาก คนที่วิ่งในสนามบางส่วนพอทำได้สักพักก็เลิก พูดง่ายๆ ว่าไปลงทุนลงแรงกับอย่างอื่น ผลตอบแทนมันมากกว่า นี่คือปัญหาของโลกตัวหนังสือ มันไม่ได้ยากกว่าศาสตร์อื่น แต่มันเป็นศาสตร์ที่เฉพาะ มันจึงเรียกร้องคนบางจำพวกที่ชื่นชอบมัน ถึงจะอยู่กับมันได้ ซึ่งไม่ได้แปลว่ายากไร้นะ มันอยู่ได้ แต่ถ้าไม่แน่จริงก็อยู่ไม่ได้”
แต่ถึงจะเถื่อนยังไง วรพจน์ยังส่งเสริมและเชียร์นักเขียนหน้าใหม่อยู่เสมอ เพราะเขามองว่าสนามในประเทศไทยค่อนข้างโล่ง มีคู่แข่งน้อย หากเอาจริงเอาจังกับอาชีพนี้ การจะก้าวไปสู่จุดที่เป็นที่รู้จักไม่ใช่เรื่องเกินฝัน
“แต่ถ้าวันหนึ่งคุณชนะในสนามนี้ก็อย่าเข้าใจผิดคิดว่าเพราะความเก่ง แค่คู่ต่อสู้ในประเทศเรามันไม่มี แต่รักษาความทะเยอทะยานเอาไว้ มนุษย์มันต้องตั้งเป้าให้สูง เวลาเตะบอลอย่าคิดแค่ซีเกมส์ คุณต้องคิดถึงบอลโลกสิ จะไปได้แค่ไหนไม่รู้ แต่ต้องพยายาม ที่พูดนี่ไม่ใช่ว่าข่มคนอื่น เราเองก็พยายามดิ้นรนอยู่ทุกวัน”
นี่คือสไตล์วรพจน์ เขาจะให้กำลังใจในเวลาเดียวกับที่ท้าทายคุณ
เขาชวนตั้งเป้าหมายถึงระดับโลก ว่าแต่นักเขียนมือใหม่คนหนึ่งจะฝึกฝน ซักซ้อม เพิ่มความหนาให้กระดูกด้วยวิธีอะไรได้บ้างล่ะ? วรพจน์อธิบายว่า มันไม่ใช่เรื่องของการกางแบบเรียน ไม่ใช่เรื่องการสอนเชิงทักษะ แต่เป็นการเรียนรู้ชีวิตจากคนอื่น
“คิดทุกวัน ดูทุกวัน ดูตลอดเวลา ดูทุกอย่างในโลกนี้ ทั้งในตัวเองและคนอื่น การเขียนหรือสัมภาษณ์มันเป็นเรื่องของทัศนคติและประสบการณ์ สำหรับเรางานศิลปะทุกสาขา ขั้นตอนทางทักษะเป็นเรื่องที่กระจอกมาก สอนครึ่งชั่วโมงก็จบ แต่เรื่องใหญ่คือทัศนคติ รสนิยม การใช้ชีวิต สิ่งเหล่านี้มีอิทธิพลต่อการเลือกคนสัมภาษณ์ ต่อประเด็นที่คุณคิดไปคุย ซึ่งเป็นส่วนที่ใหญ่กว่าการทำงานในวันสัมภาษณ์อีก เบื้องหลังมันเยอะ กว่าจะไปถึงเบื้องหน้า”
หลังหยุดคิดครู่หนึ่ง เขาเสริมประเด็นพื้นฐานที่เรียบง่ายที่สุด แต่เป็นหัวใจสำคัญของการฝึกฝนและเติบโตในสายงานเขียน วรพจน์หยิบของใกล้ตัวมาอุปมาในประเด็นต่างๆ ได้เสมอ และวันนั้นเขานั่งอยู่หลังแก้วเบียร์
“คุณอยากทำอะไร อยากเป็นอะไร คุณต้องให้เวลากับสิ่งนั้นมากที่สุด เขาเรียกว่าการจัดลำดับความสำคัญ ไม่มีอะไรซับซ้อน อธิบายง่ายๆ คือ ถ้าคุณเป็นช่างภาพแล้วคุณชอบกินเหล้า เมื่อไหร่ที่คุณใช้เวลากินเหล้ามากกว่าดูภาพ ก็ผิด มันต้องกินน้อยกว่าเวลาที่ดูงานสิ คุณถึงจะถ่ายรูปเก่ง เวลาที่ไร้สาระมันควรจะน้อยกว่าเวลาที่ฝึกฝน”
เขายกแก้วเบียร์จิบเบาๆ แล้วเปรยทิ้งท้าย ก่อนที่เทปจะหยุดบันทึก
“อาชีพนี้ดี ได้เจอคนเยอะ มีคนมากางชีวิตให้เราเห็นทุกวัน ได้เห็นแบบอย่าง เห็นแนวคิดของคนอื่น พูดเรื่องความทุกข์นี่เรียกได้ว่าแทบไม่มี แฮปปี้ทุกวินาทีไหมก็ไม่ แต่เราเดินอยู่บนเส้นทางที่เราเลือก เราชอบ เราหลงใหล”