วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์: อดีตหัวหน้า ‘เด็กแนว’ ที่อยากเซ็ตมาตรฐานใหม่ในโลกการอ่านของคนไทย

436 views
6 mins
May 21, 2024

          “อ่าน a day ฟังแฟต เดินข้าวสาร” 

          หากคุณเป็นวัยรุ่นในช่วงต้นยุค 2000 ย่อมรู้ว่ากิจกรรมทั้งสามคือภาพแทนความเป็น ‘เด็กแนว’ ที่คนหนุ่มสาวยุคนั้นต้องทำ

          ไม่ว่ายุคสมัยใด วัยรุ่นหนุ่มสาวจำนวนมากล้วนต้องการ ‘ใครสักคน’ มาเป็น ‘ผู้นำทางความคิด’ พาฉีกกรอบ แหวกขนบทั้งหลายของคนหมู่มาก เพื่อประกาศความเป็นตัวตนที่ต่างไปจากบรรทัดฐานทั่วไป ซึ่งหากเป็นยุคที่โซเชียลยังไม่ได้มีอิทธิพลอย่างสูงเช่นทุกวันนี้ และความหลากหลายของสื่อยังไม่มาก หนึ่งใน ‘สื่อ’ ที่มีอิทธิพลทางความคิดต่อผู้คนจำนวนไม่น้อย รวมถึงคนหนุ่มสาว คือ นิตยสาร

          แต่แม้ว่าในห้วงเวลาดังกล่าว จะเป็นยุคเฟื่องฟูของนิตยสาร หากแต่ชายคนหนึ่งที่ชื่อ ‘วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์’ กลับมองว่ายังไม่มีนิตยสารในแบบที่เขาต้องการอ่าน เขาจึงร่วมมือกับเพื่อนร่วมอุดมการณ์ ลงมือสร้างสรรค์นิตยสารแบบที่ฝันอยากเห็น

          นิตยสาร a day จึงถือกำเนิดขึ้น จากการระดมทุนหรือ ‘Crowdfunding’ ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องใหม่ในสังคมไทยยุคนั้น แต่วงศ์ทนงสามารถรวบรวมทุนได้จนเกิดเป็น a day เล่มแรกในเดือนกันยายน ปี 2543 และประสบความสำเร็จอย่างมาก จนกลายเป็นเสมือนแกดเจ็ตที่วัยรุ่นยุคนั้นต้องอ่าน ต้องถือ เพื่อจะได้ ‘ดูเท่’

          ความสำเร็จนับสิบปีของนิตยสาร a day ภายใต้บริษัท เดย์ โพเอทส์ ต่อยอดไปสู่สื่อสิ่งพิมพ์อื่นๆ มากมาย ทั้ง a day weekly, a day BULLETIN, สำนักพิมพ์ a book ไปจนถึงสื่อออนไลน์ The Momentum

          อย่างไรก็ดี ภายหลังประกาศลาออกจากบริษัท เดย์ โพเอทส์ เวลาผ่านไปไม่นาน วงศ์ทนงและทีมก็ได้ก่อตั้งสำนักข่าวออนไลน์ THE STADARD ด้วยความมุ่งหวังจะเซ็ตมาตรฐานใหม่ของการนำเสนอข่าวสารในเมืองไทย ซึ่งภายในเวลาไม่นาน THE STANDARD ก็ผลิดอกออกผล ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นโลกออฟไลน์อย่างนิตยสาร มาจนถึงโลกออนไลน์อย่างสำนักข่าว ปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งที่วงศ์ทนง ‘ปั้น’ ขึ้นมานั้นสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อสังคม ผู้เสพผู้อ่าน และก่อให้เกิดแรงกระเพื่อมต่อแวดวงสื่ออย่างมหาศาล

          ทั้งหมดอาจเป็นเพราะความต้องการที่จะ ‘แตกต่าง’ อันเปรียบเสมือน ‘ดีเอ็นเอ’ ของเขามาแต่ไหนแต่ไร

วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์: อดีตหัวหน้า ‘เด็กแนว’ ที่อยากเซ็ตมาตรฐานใหม่ในโลกการอ่านของคนไทย

ก่อนที่คุณจะเริ่มทำนิตยสาร a day ในปี 2543 บรรยากาศแวดวงนิตยสารไทยช่วงนั้นเป็นอย่างไร

          เป็นช่วงเวลาที่วงการสื่อสิ่งพิมพ์ค่อนข้างเฟื่องฟู นิตยสาร หนังสือพิมพ์ รวมถึงหนังสือเล่ม ได้รับความนิยมสูง เรียกว่าเป็นหนึ่งในสื่อกระแสหลัก หากนับเฉพาะในแวดวงนิตยสาร ก็มีนิตยสารออกมามากมาย เริ่มมีแมกกาซีนหัวนอกเข้ามาทำเป็นฉบับภาษาไทย เป็นช่วงเวลาที่คึกคักทั้งในแง่ของคนอ่าน คนทำ และธุรกิจ เพราะมีเงินค่าโฆษณากองอยู่ตรงนี้เยอะมาก นายทุนอยากเป็นเจ้าของนิตยสาร นักศึกษาจบใหม่อยากทำงานนิตยสาร เด็กจบวารสารฯ หรือนิเทศฯ ได้งานแน่นอน เพราะวงการหนังสือต้องการคนทำงานเยอะ

          ผมคิดว่าส่วนหนึ่งอาจเพราะความหลากหลายของสื่อยุคนั้นยังไม่มากนัก ถ้าดูก็ต้องทีวี ฟังก็ต้องวิทยุ อ่านก็ต้องหนังสือพิมพ์ นิตยสาร หรือหนังสือ มันยังไม่มีแพลตฟอร์มที่รวมทุกอย่างไว้หมดในที่เดียวเหมือนที่ทุกวันนี้มีโซเชียลมีเดีย

ท่ามกลางนิตยสารที่เกิดขึ้นมากมาย มีนิตยสารที่โดดเด่น แตกต่าง หรือมีความ ‘ขบถ’ บ้างไหม

          ถ้าแบ่งนิตยสารตามหมวดหมู่คร่าวๆ ตลาดนิตยสารผู้หญิงจะใหญ่ที่สุด นิตยสารผู้ชายก็เพิ่งเกิด นอกนั้นก็เป็นนิตยสารอื่นๆ เช่น นิตยสาร วัยรุ่น นิตยสารแต่งบ้าน นิตยสารกีฬา นิตยสารแม่และเด็ก นิตยสารข่าวรายสัปดาห์ แต่ถ้าพูดถึงความหลากหลายในแง่รูปแบบ ผมคิดว่ามันไม่ค่อยชัดเท่าไหร่ อย่างนิตยสารผู้หญิงก็จะคล้ายๆ กัน นิตยสารผู้ชายก็คล้ายๆ กัน คือคอนเทนต์จะประกอบด้วยไวยากรณ์ 1-2-3-4 ไม่ค่อยมีที่โดดหรือแปลกออกมา นี่หมายถึงยุคก่อนจะมี a day นะ อาจจะมีนิตสารเล่มหนึ่งที่ผมว่ามีบุคลิกเฉพาะตัวที่ไม่ซ้ำใครคือ ‘ไปยาลใหญ่’ ของพี่จิก (ประภาส ชลศรานนท์) พี่จุ้ย (ศุ บุญเลี้ยง) พี่โน้ส (อุดม แต้พานิช) ที่เห็นถึงความครีเอทีฟ และมีคาแรกเตอร์ไม่ซ้ำใคร ถ้าคำว่าขบถหมายถึงการไม่อยู่ในกระแสหลักหรือออกนอกกรอบ ผมว่าไปยาลใหญ่น่าจะใช่

ในยุคนั้นนิตยสารมีอิทธิพลต่อความคิดคนขนาดไหน

          มากทีเดียว เพราะอย่างที่บอกตอนนั้นแหล่งข้อมูลมันไม่มีให้เลือกมากนัก นิตยสารจึงเป็นตัวกำหนดทั้งเทรนด์และไลฟ์สไตล์ ตั้งแต่กิน ดื่ม เที่ยว แฟชั่นการแต่งตัว รสนิยมการใช้ชีวิต ข้อมูลส่วนใหญ่ก็มาจากนิตยสาร มากไปกว่านั้นนิตยสารก็เป็นหนึ่งในสื่อหลักที่เผยแพร่ความคิดความอ่านให้กับผู้คนและสังคมผ่านบทความต่างๆ นิตยสารที่ดังมากๆ มีอิทธิพลถึงขนาดสร้างมูลค่าทางการตลาดได้ สามารถกำหนดได้ว่า คุณควรจะแต่งตัวอย่างไร ออกไปซื้ออะไร ใช้ชีวิตอย่างไร ประมาณนั้นเลย

นิตยสาร a day เกิดมาจากแนวความคิดอะไร

          ตั้งแต่เรียนจบ ผมก็ทำงานนิตยสารมาตลอด ซึ่งมันเป็นงานที่ผมรัก เพราะมันตรงกับความเชื่อความชอบทุกอย่าง ผมเลยบอกตัวเองว่าจะปักหลักอยู่กับอาชีพสื่อสารมวลชนไปตลอดชีวิต จึงพยายามพัฒนาตัวเอง เติมความรู้ให้ตัวเองมากๆ อยากเป็นคนทำนิตยสารที่เก่ง อยากประสบความสำเร็จกับอาชีพนี้ แค่ทำงานปีแรกผมก็ฝันอยากเป็นบรรณาธิการแล้ว ซึ่งต่อมาผมก็ได้เป็นบรรณาธิการนิตยสารครั้งแรกสมใจตอนอายุ 26 ปี ที่นิตยสาร Trendy man ซึ่งถือว่าเป็น บ.ก. ที่อายุน้อยมาก เพราะสมัยนั้นบรรณาธิการหนังสือส่วนใหญ่จะเป็นรุ่นอาวุโส 

          สิบปีแรกของการทำงาน ผมได้มีประสบการณ์ทำนิตยสารอยู่ 3-4 หัว พอมาถึงจุดหนึ่งก็เกิดความรู้สึกไม่ค่อยชอบนิตยสารที่ทำอยู่ คือก่อนหน้านี้สถานภาพเราคือพนักงาน เราก็ต้องทำงานตามแนวทางที่เจ้าของนิตยสารวางไว้ ซึ่งเอาเข้าจริงมันก็ไม่ใช่สิ่งที่เราเชื่อและชอบทั้งหมด ตอนนั้นผมอยากทำนิตยสารที่ผมคิดเองตั้งแต่หน้าแรกถึงหน้าสุดท้าย อยากทำนิตยสารที่ผมไม่อยากพลิกอ่านข้ามมันแม้แต่หน้าเดียว ไม่อยากประนีประนอมความชอบกับใครแล้ว สุดท้ายก็ต้องลงมือทำเอง ซึ่งมันก็คือ a day

จุดที่น่าสนใจคือนิตยสาร a day เริ่มมาจากการระดมทุน (Crowdfunding) ทำไมคุณเลือกใช้โมเดลนี้

          ตอนนั้นผมเอาโปรเจกต์ a day ไปเสนอบริษัทสื่อสิ่งพิมพ์ยักษ์ใหญ่อยู่ 2-3 ที่ แต่ไม่มีใครซื้อ เขาไม่ได้เชื่อในนิตยสารแบบที่ผมอยากทำ ซึ่งก็พอเข้าใจนะ เพราะสิ่งที่ผมคิดตอนนั้นมันค่อนข้างแหกกรอบและแหวกแนว ซึ่งในความคิดเจ้าของทุน แหกและแหวกเท่ากับเสี่ยง 

          ก็มานั่งคิดว่าจะทำอย่างไรให้มันเกิดขึ้นได้ เกือบสิบปีที่ทำนิตยสารเล่มต่างๆ ผมมีแฟนหนังสือพอสมควร เลยคิดว่าชวนคนอ่านมาลงขันทำนิตยสารด้วยกันเลยดีกว่า จึงเปิดขายหุ้น หุ้นละหนึ่งพันบาท แล้วเล่าให้เขาฟังว่าผมจะทำนิตยสารที่ให้แรงบันดาลใจและความคิดสร้างสรรค์ ต่อมามันก็เป็นข่าวแพร่ออกไป ภายในสามเดือนก็มีคนส่งเงินมาลงหุ้น 1 ล้านบาท จนกระทั่งเกิดเป็น a day 

          สิ่งที่ผมภูมิใจคือตั้งแต่วันนั้น คนที่ลงขันกับ a day ได้รับเงินปันผลอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดพวกเขายังได้รับเงินปันผลจาก THE STANDARD ด้วย เพราะตอนลาออกจากบริษัทเก่า ผมพาคนที่ถือหุ้น a day มาถือหุ้น THE STANDARD ต่อ ผมถือว่าการรักษาสัญญาและดูแลกันไปตลอดมันคือความรับผิดชอบ

วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์: อดีตหัวหน้า ‘เด็กแนว’ ที่อยากเซ็ตมาตรฐานใหม่ในโลกการอ่านของคนไทย

การทำ Crowdfunding เป็นเรื่องใหม่มากในยุคนั้น คุณมีวิธีอย่างไรในการทำให้คนที่มาลงขันเชื่อไปในแนวทางเดียวกับคุณ

          ยุคนั้นสื่อต่างๆ ไม่ว่าเพลง หนัง รายการทีวี หรือหนังสือ ถูกครอบครองโดยนายทุนใหญ่ นายทุนเหล่านี้ก็จะกำหนดรสนิยมการดูหนัง ฟังเพลง อ่านหนังสือของผู้คน ตัวอย่างค่ายเพลงนี่ชัดเลยว่ามีค่ายเพลงยักษ์ใหญ่อยู่สองเจ้า เขาก็จะเป็นคนกำหนดแนวเพลงให้คนฟัง แต่ต่อมาพอมันเกิดค่ายเพลงเล็กๆ ค่ายเพลงอินดี้ที่ไม่อิงกับกระแสหลัก แต่ทำเพลงแบบที่อยากทำ เขาก็สามารถสร้างสรรค์แนวเพลงตามสไตล์ของเขา รสนิยมคนฟังมันก็ขยับขยาย ไม่กระจุกตัวอยู่กับแค่สื่อกระแสหลัก

          ผมคิดว่า a day เกิดขึ้นได้ด้วยเหตุผลนี้ คนเริ่มเบื่อสื่อกระแสหลัก ต้องอ่าน ต้องดู ต้องฟังอะไรซ้ำๆ คนอยากแหกกรอบ อยากแหกคอก อยากเสพอะไรใหม่ๆ พอมีผู้ชายคนหนึ่งลุกขึ้นมาประกาศว่าจะทำนิตยสารที่ไม่เหมือนใคร มันเลยไปกระตุ้นความสนใจ อยากติดตาม อยากเอาด้วย เหมือนเราเป็นตัวแทนความเป็น Independent ให้พวกเขา

คุณเคยให้สัมภาษณ์ว่า ช่วงปีแรกๆ นิตยสาร a day ขาดทุน ในช่วงเวลานั้น คุณใช้ความเชื่อไหนเป็นตัวผลักดันว่า a day กำลังเดินไปถูกทางแล้ว

          อย่างที่บอกว่าผมรักอาชีพนี้มาก เพราะฉะนั้นตลอดเวลาที่ทำงานสื่อ ผมตั้งใจศึกษามันในทุกองคาพยพ ผมไม่ใช่คนที่อยากทำหนังสือดีๆ เจ๋งๆ อย่างเดียว แต่ผมอยากทำหนังสือที่ขายได้ด้วย เพราะฉะนั้นผมจึงใส่ใจทุกด้าน ไม่ว่าเรื่องเนื้อหา การออกแบบ การตลาด การจัดจำหน่าย ไปจนถึงการควบคุมต้นทุนการผลิต ซึ่งช่วงแรกก็แน่นอนว่านิตยสารเกิดใหม่ต้องรอเวลาให้คนยอมรับ แต่ a day ขาดทุนอยู่ไม่ถึงปีมั้ง ก็สามารถ break-even ได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่พวกเราภูมิใจ ตอนนั้นมีนิตยสารใหม่ๆ เกิดขึ้นเยอะ แต่ a day น่าจะเป็นเล่มเดียวที่อยู่รอดมาได้ ผมเชื่อว่าเป็นเพราะนอกจากจะเข้าใจการทำหนังสือ พวกเรายังเข้าใจธุรกิจสิ่งพิมพ์ด้วย

          ยังจำได้ว่าตอนนั้นผมมักจะบอกกับทีมว่าให้คิดสองอย่าง “ทำหนังสือดีๆ ที่ขายได้” หรือไม่ก็ให้คิดว่า “ทำหนังสือขายได้ที่ดีๆ” งานหนังสือคือ Commercial Art มันไม่มีประโยชน์ที่คุณจะทำหนังสือที่คนชมกันฉิบหาย แต่อยู่ได้แค่ปีสองปีก็ต้องปิดตัว แน่นอนว่ามันไม่ใช่เรื่องง่ายหรอก แต่การผสมผสานระหว่างการทำสื่อที่ดีกับการอยู่รอดให้ได้ทางธุรกิจ มันคือเรื่องที่คนทำสื่อต้องทำความเข้าใจ

ในช่วงนั้น ภาพลักษณ์ที่คนมองนิตยสาร a day เป็นอย่างไร

          คนชอบพูดกันว่าเห็นใครเดินถือ a day นี่เท่มาก a day กลายเป็นเหมือนแก็ตเจตประจำตัวของวัยรุ่นคนหนุ่มสาวอีกไทป์หนึ่ง เป็นคนที่เป็นตัวของตัวเอง มีความคิด มีความขบถ ส่วนในวงการสื่อ เขาก็มองว่า a day เป็น new comer ที่มาสร้างสีสันและความแปลกใหม่ให้กับวงการ ทำให้วงการสิ่งพิมพ์คึกคักขึ้นมา หลัง a day เกิด มีนิตยสารเกิดใหม่ตามมาอีกหลายหัว อาชีพทำหนังสือกลายเป็นอาชีพที่ได้รับความนิยม เด็กๆ ใฝ่ฝันอยากเป็นคนทำหนังสือ คงเหมือนยุคนี้ที่เด็กๆ ใฝ่ฝันอยากเป็นยูทูบเบอร์ 

          ตอนนั้นตัวผมเองในฐานะผู้ก่อตั้งและ บ.ก. a day ก็ถูกสถาบันการศึกษาเชิญไปพูดบ่อยมากแทบจะทุกอาทิตย์ มหาวิทยาลัยในประเทศไทยนี่ผมแทบจะเดินทางไปพูดมาเกือบทุกที่แล้ว ส่วนใหญ่อาจารย์จะอยากให้ไปพูดให้นักศึกษาฟังว่า เราจะสร้างแรงบันดาลใจได้อย่างไร จะสร้างสรรค์สิ่งใหม่ได้อย่างไร 

          แต่อีกมุมหนึ่งก็มีคนวิจารณ์เหมือนกันว่า a day ไร้สาระ มีแต่เปลือก เอาแต่เท่ ซึ่งผมค้านเต็มที่ว่าไม่จริง เพราะถ้าคุณอ่าน a day จริงๆ จะรู้ว่าเนื้อหาสาระมันเยอะมาก มากเกินไปด้วยซ้ำเมื่อเทียบกับนิตยสารวัยรุ่นทั่วไป แต่การมีเสียงวิจารณ์อย่างอื่นบ้างที่ไม่ได้ชมอย่างเดียว ผมว่าดีนะ อย่างน้อยมันทำให้เราไม่เหลิงเกินไป ได้ทบทวนความคิด ได้กลับมาส่องกระจกดูตัวเอง เพราะตอนแรกที่เริ่มทำ a day ผมไม่ได้คิดฝันหรอก ว่ามันจะเป็นนิตยสารที่ทรงอิทธิพลขนาดนั้น ผมแค่อยากทำหนังสือแบบที่ผมชอบ

          จำได้ว่ามีพี่ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งที่นับถือกันบอกผมว่า คุณดังแล้วต้องระมัดระวังนะ เพราะเด็กเห็นคุณเป็นไอดอล ดูคุณเป็นตัวอย่าง สิ่งเหล่านี้ในแง่หนึ่งมันก็ช่วยเตือนใจพวกเรา

ถ้าให้คุณลองวิเคราะห์ ทำไมนิตยสาร a day ถึงประสบความสำเร็จ

          ผมคิดว่าประกอบด้วยสองเหตุผล อันแรกคือตัวนิตยสารมันมีคุณภาพดีจริงๆ มีความแปลก สด ใหม่ ไม่เหมือนใคร ทั้งเนื้อหาและการออกแบบ มันจึงดึงดูดแล้วก็โดดเด่น มากไปกว่านั้นคือ a day มันมีความ fashionable กลายเป็นแฟชั่น กลายเป็นความเท่ จนมีแฟนคลับเหนียวแน่น เหมือนคุณต้องฟังเพลงไอดอลวงนี้ เป็นเจ้าของสนีกเกอร์ยี่ห้อนี้ มันกลายเป็นกระแสจนตอนนั้นมีคำที่พูดกันในกลุ่มวัยรุ่นว่า ฮิปสเตอร์ต้อง ‘อ่าน a day ฟังแฟต เดินข้าวสาร’ ซึ่งมานึกตอนนี้ผมว่าตลกดี

          อันที่สองคือ เรื่องราวการก่อกำเนิด a day แบบแหกคอกมันบันดาลใจมาก ซึ่งไปสอดรับพอดีกับความรู้สึกของคนในสังคมยุคนั้นที่เพิ่งเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ คนตกงาน หมดแรงบันดาลใจ เกิดความวิตกกังวลกับอนาคต ต้องการใครหรืออะไรมาทำให้เขามีไอเดีย มีพลังใจ มีความกล้า ซึ่ง a day เป็นตัวแทนความรู้สึกเขาได้ พอสององค์ประกอบนี้มาเจอกันในจังหวะที่พอดิบพอดี มันเลยตอบโจทย์ ทำให้ a day ประสบความสำเร็จ

วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์: อดีตหัวหน้า ‘เด็กแนว’ ที่อยากเซ็ตมาตรฐานใหม่ในโลกการอ่านของคนไทย

คุณต่อยอดความสำเร็จจากนิตยสาร a day ไปสู่สื่อสิ่งพิมพ์หัวใหม่ๆ อย่างไร

          ตอนทำ a day ผมอายุ 30 ในด้านหนึ่งก็สนุกมาก แต่พอผ่านไป 2-3 ปี ผมเริ่มรู้สึกไม่ค่อยสนุกแล้ว ถ้าพูดตรงๆ คือ a day มันเด็กเกินไปสำหรับผม ผมไม่ค่อยสนใจเนื้อหาแบบ a day แล้ว แต่ผมซีเรียสเรื่องสังคม เรื่องเศรษฐกิจ เรื่องการเมือง ผมอยากทำนิตยสารข่าวรายสัปดาห์อีกแบบหนึ่ง เลยเป็นที่มาของ a day weekly ซึ่งเป็นนิตยสารข่าวรายสัปดาห์แนวฮาร์ดคอร์ แต่ทำไปได้แค่ปีเดียวก็ต้องปิดตัวลง เพราะมันไปไม่ได้ในแง่ธุรกิจ ทั้งที่ในด้านเนื้อหาสาระผมค่อนข้างพอใจ ซึ่งนั่นก็ถือเป็นความล้มเหลวครั้งใหญ่ในชีวิตการทำงานของผม แต่ก็ถือเป็นความผิดพลาดล้มเหลวที่มีค่ามาก แล้วมันก็เป็น turning point ในเวลาต่อมาของชีวิตผม

          หลังจาก a day weekly ปิดตัว สองสามปีต่อมา ผมกลับมาแก้มือด้วย a day BULLETIN ตอนนั้นเวลาเดินทางไปต่างประเทศ ตามซับเวย์ในเมืองใหญ่ๆ ลอนดอน นิวยอร์ก ฮ่องกง โตเกียว ผมเห็นฟรีก๊อบปี้ที่เจ๋งๆ เยอะมาก หันมามองในเมืองไทยยังไม่ค่อยมี เลยลุกมาทำฟรีก๊อบปี้ที่ดีขนาดเสียเงินซื้อคุณยังยอม แล้วมันก็คือ a day BULLETIN ซึ่งถ้าว่ากันในเชิงธุรกิจ มันเป็นหนึ่งในแบรนด์สื่อที่ประสบความสำเร็จที่สุดที่ผมเคยทำ a day BULLETIN เป็น cash cow ของบริษัท หัวเดียวเลี้ยงทั้งบริษัทได้เลย

          การทำสื่อคืออาชีพที่ผมจริงจัง ในฐานะผู้นำองค์กร ผมจึงคอยมอนิเตอร์อยู่ตลอดว่า Media landscape มันไปทางไหน ซึ่งก็ชัดเจนว่าสื่อสิ่งพิมพ์ค่อยๆ ลดความนิยมลง ขณะที่สื่อออนไลน์มีแนวโน้มจะขึ้นมาเป็นสื่อหลัก ตอนนั้นผมกับทีมจึงก่อตั้ง The Momentum นิยามตัวเองว่าเป็นสำนักข่าวออนไลน์ ซึ่งเอาจริงก็ยังไม่เต็มรูปแบบนัก ออกมาคนก็ฮือฮาทีเดียว แต่ทำได้ไม่ถึงปีก็มีเหตุให้ผมตัดสินใจลาออกจากบริษัทเดิม เพราะไม่เห็นด้วยกับการที่หุ้นส่วนใหญ่เขาจะขายบริษัทให้บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ในลักษณะที่มีเงื่อนงำและไม่โปร่งใส ผมกับทีมซึ่งกว่าครึ่งเป็นน้องๆ ที่เคยร่วมงานกันมาในบริษัทเดิม จึงออกมาก่อตั้งสำนักข่าว THE STANDARD เมื่อนึกย้อนกลับไป ผมว่ามันมีเชื้อมาจากสองสิ่งที่ผมเคยทำ คือ a day weekly กับ The Momentum

การเปลี่ยนจากสื่อออฟไลน์มาเป็นสื่อออนไลน์ เป็นเรื่องยากสำหรับคุณไหม

          ผมไม่ใช่คนที่จู่ๆ ก็ทิ้งสื่อเก่ามาทำสื่อใหม่เลย ก่อนอื่นผมรู้ว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ การปรับตัวเป็นสิ่งสำคัญ ผมเชื่อในการ transformation อย่างที่บอกว่าผมเฝ้ามองภูมิทัศน์สื่ออยู่ตลอด และผมคิดว่าเราต้องเปลี่ยนตัวเองก่อนที่จะโดน disrupt ดังนั้น ผมจะเตือนให้ทีมปรับตัวอยู่ตลอด การเปลี่ยนผ่านจากโลกออฟไลน์มาสู่โลกออนไลน์ จึงเป็นสิ่งที่พวกเราทำอยู่ตลอดแต่คนข้างนอกไม่ค่อยรู้ 

          ไม่ได้อยากบอกว่าง่ายนะ แต่ผมคิดว่ามันไม่ยากเท่าไหร่ในการเปลี่ยนจากสื่อสิ่งพิมพ์มาเป็นคอนเทนต์ออนไลน์ เพียงแต่คุณต้องเปิดใจ ต้องทำความเข้าใจ ต้องเรียนรู้เพิ่มเติม แล้วก็รู้จักยืดหยุ่น เอาเข้าจริงสาระสำคัญในการทำสื่อทุกยุคสมัยไม่เปลี่ยนไปหรอก หัวใจมันคือเนื้อหาที่ดี แล้วใช้ความคิดสร้างสรรค์และการออกแบบมาช่วยเสริมให้มันโดดเด่น นอกนั้นไม่มีอะไรแตกต่าง เราเพียงแค่เปลี่ยนภาชนะให้มันจากกระดาษเป็นอากาศก็เท่านั้น

          สังเกตว่าตอนเกิด THE STANDARD มันแจ้งเกิดเร็วมาก จนคนสงสัยว่าทำได้อย่างไร แต่เบื้องหลังคือก่อนหน้านี้พวกเราทำ The Momentum มาเป็นปีแล้วไง มันเป็นช่วงเวลาที่เราได้เรียนรู้การทำสื่อออนไลน์อย่างครบวงจร เรียกว่าเป็นช่วงเวลาซ้อมใหญ่ที่ดีมาก พอมาทำ THE STANDARD มันจึงเริ่มได้ไวและไปได้เร็ว เพราะเรารู้จักมันดีพอสมควรแล้ว

THE STANDARD ต่างจากสำนักข่าวออนไลน์อื่นๆ อย่างไร ทำไมถึงประสบความสำเร็จเร็ว

          ความแตกต่างเป็นสิ่งหนึ่งที่ผมยึดถือมาตลอด ผมเชื่อว่าถ้าคุณอยากโดดเด่น คุณก็ต้องแตกต่าง ถ้าย้อนกลับไปดูผลงานของผม ตั้งแต่ a day, a day BULLETIN หรือแม้กระทั่ง a book (a book Publishing) ซึ่งเป็นสำนักพิมพ์ที่สามารถสร้างคาแรกเตอร์และกลุ่มแฟน จนสามารถจัดงานบุ๊กแฟร์ของตัวเองได้ มันก็เป็นหนึ่งในความหมายของความแตกต่าง ผมทำนิตยสาร ทำฟรีก๊อบปี้ ทำสำนักพิมพ์ที่ไม่เหมือนใครมาตลอด มาจนถึง THE STANDARD ก็มีความแตกต่างเป็นตัวตั้ง 

          ความรับรู้แรกที่เห็นการปรากฏตัวของ THE STANDARD คุณจะเห็นว่ามันไม่เหมือนกับสำนักข่าวใดๆ ที่เคยมีมาก่อนหน้า พูดถึงสำนักข่าว คนมักนึกถึงความมีขนบ ความเคร่งขรึม ความสูงวัย แต่ THE STANDARD ด้วยรูปลักษณ์ของการออกแบบ รูปแบบการนำเสนอข่าว ไปจนถึงสไตล์การถ่ายภาพ คาแรกเตอร์มันชัดเจนว่าเป็นสำนักข่าวของคนรุ่นใหม่ พอแตกต่างมันก็ดูแปลกใหม่ สะดุดตา ดึงดูดใจ เป็นที่จดจำ จึงเป็นที่มาของการประสบความสำเร็จ

ห้าปีที่ผ่านมา THE STANDARD สร้างความเปลี่ยนแปลงให้คนอ่านอย่างไรบ้าง

          ในฐานะคนที่ร่วมสร้าง THE STANDARD มาตั้งแต่ต้น บวกกับในฐานะแฟนคลับที่ติดตามอ่าน THE STANDARD มาเสมอ ผมภูมิใจที่เราได้สร้างรูปแบบใหม่ของสำนักข่าวขึ้นมา ภูมิใจที่ได้ educate ผู้คนผ่านเนื้อหาของเรา ภูมิใจที่ได้พิสูจน์ว่าเรา stand up for the people เหมือนสโลแกนของเรา 

          หลายปีที่ผ่านมา ผู้อ่านของเราทวีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ที่น่ายินดีคือส่วนใหญ่ของคนที่ติดตามเราเป็นวัยรุ่น คนหนุ่มสาว ซึ่งมันตรงกับเจตนารมณ์ที่ตั้งไว้ว่าเราอยากเป็นสำนักข่าวสำหรับคนรุ่นใหม่ โดยส่วนตัว ผมเป็นคนที่ทำงานกับคนรุ่นใหม่มาตลอด ผมเชื่อว่าสังคมในทุกๆ ด้านจะดีขึ้นได้ด้วยพลังของคนรุ่นใหม่ เราในฐานะสื่อ นอกจากให้ความรู้และความคิดกับผู้คน เราก็อยากเป็นแบบอย่างและแรงบันดาลใจให้พวกเขาด้วย

          ไม่นานนี้ เคน (นครินทร์ วนกิจไพบูลย์-บรรณาธิการบริหาร THE STANDARD) มาเล่าให้ผมฟังว่า มีเด็กนักศึกษาบอกว่าเคนเป็นไอดอล ผมฟังแล้วชื่นใจนะ เพราะนึกย้อนไปตอนผมทำ a day ผมจะยินดีมากเวลามีเด็กๆ มาบอกว่าได้แรงบันดาลใจจากสิ่งที่เราทำ เราทำให้เขามีพลังใจ อยากสร้างสรรค์สิ่งใหม่ อยากพัฒนาตัวเอง อยากมีส่วนช่วยทำให้สังคมนี้ดีขึ้น

จากนิตยสาร a day มาจนถึงสำนักข่าว THE STANDARD หลังจากนี้คุณมองอนาคตของสื่อที่ทำอยู่อย่างไร

          ในด้าน performance ผมไม่ค่อยห่วง ผมเชื่อในคุณภาพและความตั้งใจของทีมงานว่าทุกคนทุ่มเทเต็มที่มาก แต่ถ้าถามใจ ผมก็อยากให้ THE STANDARD หยัดยืนอยู่ได้อย่างมั่นคงยาวนาน สำนักข่าวมีข้อดีเยอะ ในแง่ความแข็งแกร่งคือ ถ้าคุณทำให้คนเชื่อถือได้แล้ว คนจะเชื่อคุณ เขาจะยึดถือคุณไว้ในใจ จะเลือกคุณเป็นหน้าแรกที่จะอ่าน เป็นสำนักข่าวแรกที่จะดู มาถึงวันนี้ผมเชื่อว่าเราสร้างสิ่งนี้ได้แล้ว 

          เรื่องที่อาจจะเรียกว่ากังวล ผมก็คงเหมือนกับทุกคนคือไม่รู้ว่าความสนใจหรือความนิยมในการเสพสื่อของคนจะเคลื่อนย้ายถ่ายเทไปไหนอีกไม่รู้ว่าจะมีสื่ออะไรมาดิสรัปต์อีก ทั้งหมดมันก็นำมาสู่สิ่งที่ว่า เราต้องเตรียมพร้อมอย่างไรให้ THE STANDARD มั่นคงและยั่งยืนที่สุด คำตอบมีเพียงหนึ่งเดียวคือ เราต้องรักษามาตรฐานในคุณภาพของผลงานไว้ให้ได้ เราต้องดีขึ้น เราต้องเก่งขึ้น เราต้องกล้าที่จะท้าทายตัวเองมากขึ้น มีประโยคที่ผมมักจะพูดกับทีมงานเสมอว่า “เราทำได้มากกว่าที่เราเชื่อว่าเราทำได้” ผมเป็นคนเชื่อเรื่องนี้เสมอมา

วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์: อดีตหัวหน้า ‘เด็กแนว’ ที่อยากเซ็ตมาตรฐานใหม่ในโลกการอ่านของคนไทย


เผยแพร่ครั้งแรกในหนังสือ ‘Readtopia ผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงในระบบนิเวศการอ่านของไทย’ (2566)

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก