วิสิทธิ์ โพธิวัฒน์ อาจารย์ นักเขียนรหัสคดี นักออกแบบฟอนต์ ผู้หลงใหลการอ่านและอยากสื่อสารกับผู้คน

2,093 views
8 mins
March 14, 2022

          ในแวดวงการออกแบบตัวอักษร ชื่อของ ดร.วิสิทธิ์ โพธิวัฒน์ น่าจะคุ้นหูคุ้นตาใครหลายคน กับผลงานการออกแบบฟอนต์ที่ได้รับการยอมรับในวงกว้าง ทั้งชุดตัวอักษร ศรีสุริยวงศ์, บี เอส อาร์ ยู บ้านสมเด็จ, หรือ วังบูรพา ที่ได้รับรางวัลนริศรานุวัดติวงศ์ ประจำ พ.ศ. 2560

          ในแวดวงนักเขียน เขาเป็นที่รู้จักในนาม ‘วิสิทธิ์ โพ’ นักเขียนนิยายรหัสคดีที่หาตัวจับยาก ผลงานอย่าง ดอนเกลอ, แท็กซี่ มิเตอร์, ทริปส์ นอกจากจะมีพล็อตเรื่องและวิธีการเขียนที่เป็นเอกลักษณ์ ยังสอดแทรกแง่มุมเทาๆ ในสังคมไทยไว้อย่างแหลมคม

          ในอีกด้านหนึ่งของชีวิต เขายังเป็นอาจารย์ประจำสาขาวิชาครีเอทีฟกราฟิก มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา เป็นวิทยากรและผู้ให้คำปรึกษาในงานออกแบบผลิตภัณฑ์ชุมชนหลายโครงการ และยังฝากฝีมือไว้ในการออกแบบปกหนังสืออยู่เป็นระยะ

          หากมองผิวเผิน งานแต่ด้านของวิสิทธิ์ดูไม่เกี่ยวข้องกันเท่าไหร่นัก ทว่าในมุมของเขา ทุกงานล้วนเชื่อมโยงกับ ‘การอ่าน’ และ ‘การสื่อสาร’ 

          เบื้องหลังความคิดและการทำงานหลายบทบาทเช่นนี้ มีที่มาที่ไปอย่างไร ขัดแย้งหรือส่งเสริมกันในแง่ไหน การเรียนรู้อยู่ตลอดเวลามีความสำคัญกับการทำงานในโลกยุคใหม่อย่างไร หาคำตอบได้ในบทสนทนาต่อไปนี้

ก้าวแรกบนปกหนังสือ

          จากความชอบในด้านศิลปะและงานออกแบบ วิสิทธิ์ในวัยหนุ่ม ตัดสินใจเลือกเรียนสาขาวิชาออกแบบนิเทศศิลป์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ระหว่างเรียนเขาทำงานพิเศษด้วยการรับวาดภาพประกอบหนังสือ และเข้าทำงานที่สำนักพิมพ์ดอกหญ้าหลังจากเรียนจบ โดยทำหน้าที่เป็นผู้ออกแบบปกและวาดภาพประกอบภายในเล่ม อันเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาเริ่มเข้ามาคลุกคลีกับเรื่องของงานวาดตัวอักษร (calligraphy) ตั้งต้นจากการดีไซน์ชื่อบนปกหนังสือให้มีเอกลักษณ์สะดุดตา

          “ด้วยความที่ยังมีประสบการณ์ไม่มาก เราก็ต้องพยายามหาแนวทาง ต้องทดลองด้วยตัวเอง เช่น ทดลองเอาตัวอักษรละตินมาดัดแปลงให้เข้ากับตัวอักษรไทย บางงานจะใช้เทคนิคเดียวไม่ได้ ต้องมีการวาดใหม่ ขึ้นโครงใหม่ทั้งหมด พอทำไปเรื่อยๆ กลายเป็นว่าเราสนใจเรื่องนี้มากขึ้น ลึกขึ้น ยิ่งได้ทดลองรูปแบบหรือวิธีการใหม่ๆ ยิ่งสนุก”

          ภายหลังจากความเปลี่ยนแปลงของธุรกิจสำนักพิมพ์และวงการหนังสือ วิสิทธิ์ตัดสินใจย้ายไปทำงานบริษัทโฆษณา ซึ่งเป็นอีกสายงานหนึ่งที่เขาสนใจ โดยยังคงรับงานออกแบบหน้าปกหนังสือให้สำนักพิม์ต่างๆ อยู่อย่างต่อเนื่อง ก่อนจะกลับมาสมัครเป็นอาจารย์ประจำสาขาวิชาออกแบบนิเทศศิลป์ ในสถาบันที่ตนเองเรียนจบมา

          แม้ไม่เคยคิดถึงการเป็นคนสอนหนังสือมาก่อน แต่กลายเป็นว่างานสอนกลับช่วยให้เขาได้เรียนรู้และลงลึกในสิ่งที่ตัวเองสนใจ

          “พอมีโอกาสได้สอน จึงเป็นเหตุให้เราต้องรื้อฟื้นทักษะ ซึ่งไม่ใช่แค่ทักษะเชิงปฏิบัติเท่านั้น เพราะการจะสอนคนอื่นได้ ต้องมีการเรียบเรียงองค์ความรู้ต่างๆ ต้องสื่อสารให้คนอื่นเข้าใจง่าย เรียกได้ว่า องค์ความรู้ในการออกแบบตัวอักษรที่เคยศึกษามา เริ่มชัดเจนและเป็นระบบมากขึ้นเมื่อเราลงมือสอนคนอื่น”

โลกใหม่ในฐานะ ‘นักออกแบบตัวอักษร’

          สืบเนื่องจากการสอนวิชา ออกแบบตัวอักษร (Typography) จากเดิมที่วิสิทธิ์คุ้นชินกับการออกแบบตัวอักษรบนปกหนังสือเป็นหลัก เขาขยายขอบเขตความสนใจมาสู่การผลิตชุดตัวอักษรในรูปแบบของซอฟต์แวร์ ชุดคำสั่งต่างๆ ไว้ใช้สำหรับงานเอกสาร งานพิมพ์ หรือที่เรามักเรียกกันติดปากว่า ‘ฟอนต์’ (Font) โดยเริ่มต้นจากการศึกษาค้นคว้าด้วยตัวเอง ผ่านเว็บไซต์ฟอนต์ดอทคอม (f0nt.com) ซึ่งวิสิทธิ์บอกว่า เป็นเหมือนอีกหนึ่งสถาบันการศึกษาที่เปิดโลกการออกแบบฟอนต์ให้เขา

          “ตอนนั้น ฟอนต์ดอทคอม เป็นเว็บไซต์ที่มีบทบาทมากในวงการออกแบบฟอนต์บ้านเรา เป็นแหล่งความรู้ที่มีผู้รู้มาร่วมกันแลกเปลี่ยน ปรึกษาปัญหาทุกอย่างเกี่ยวกับการสร้างฟอนต์ พอเราอ่านไปเรื่อยๆ เริ่มเข้าใจในระดับหนึ่ง ก็ทดลองทำเองบ้าง เริ่มมีความรู้ในเชิงปฏิบัติมากขึ้น จากเดิมที่มีแค่ความรู้พื้นฐานด้านการออกแบบ ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าซอฟต์แวร์คืออะไร ใช้ยังไง จนได้มาศึกษาและลองฝึกจากในเว็บไซต์นี้แหละ”

          ชุดตัวอักษรแรกที่วิสิทธิ์ทดลองออกแบบจนเสร็จสมบูรณ์คือ ‘บี เอส อาร์ ยู บ้านสมเด็จ’ (BSRU Bansomdej) ซึ่งถูกนำไปใช้งานจริงภายในมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จ ขณะเดียวกันก็เปิดให้บุคคลทั่วไปสามารถดาวน์โหลดไปใช้งานได้ผ่านทาง f0nt.com

          ผลจากการค้นคว้า และทดลองลงมือทำ นำมาสู่การบรรจุเนื้อหาวิธีการออกแบบฟอนต์ลงไปในการสอน ทำให้คนรุ่นใหม่เริ่มรู้จักและหันมาสนใจงานประเภทนี้มากขึ้น ขณะที่วิสิทธิ์เองก็มีผลงานการออกแบบฟอนต์อีกหลายชิ้นคลอดตามมา จนเริ่มเป็นที่ยอมรับในวงการ

          ทั้งหมดนั้นตั้งต้นจากความหลงใหลส่วนตัว และความมุ่งมั่นในการฝึกฝนตนเองอย่างสม่ำเสมอ

รังสรรค์ชีวิตใหม่ให้ตัวอักษร

           ในมุมมองของคนทั่วไป หน้าที่ของตัวอักษร อาจเป็นการสื่อสารเนื้อหา แต่สำหรับนักออกแบบ ภารกิจหลักของตัวอักษร คือการสื่อสารบุคลิก น้ำเสียง และความรู้สึก โดยผสานองค์ความรู้ทางศิลปะเข้ากับเทคโนโลยี

          “ตัวอักษร นอกจากจะเรียกว่าฟอนต์ อีกชื่อหนึ่งของมันคือ ‘character’ เพราะเขามีบุคลิก มีชีวิต มีนิสัย มีทัศนคติ ดังนั้นงานของนักออกแบบตัวอักษร จึงเป็นการสร้างบุคลิก สร้างชีวิตของตัวอักษรขึ้นมา เช่น ทำให้ดูทันสมัย ดูมั่นใจ หรือดูอนุรักษนิยม เริ่มต้นจากแนวคิดหรือหลักการทางศิลปะ เช่น พื้นผิวเรียบๆ ทำให้ดูสะอาด ปลอดภัย การใช้เส้นโค้งช่วยให้ดูอ่อนหวาน เมื่อออกแบบเสร็จจึงนำซอฟต์แวร์และเทคโนโลยีเข้ามาช่วย”

          ในฐานะคนที่ทำงานด้านนี้มายาวนาน วิสิทธิ์บอกว่าหัวใจของการทำงานออกแบบตัวอักษร คือต้องอึด ถึก อดทน ใจรัก ที่สำคัญคือต้องมีความละเอียดในระดับมิลลิเมตร

          “พอได้ไอเดียหลัก เราจะทดลองขึ้นต้นแบบ (prototype) ไว้คร่าวๆ ถ้าโอเคแล้ว ก็ลงมือสร้างอักษรแต่ละตัวโดยละเอียด อย่างเช่นอักษรภาษาไทย ก็อาจสร้างเป็น module เก็บไว้ ตั้งแต่ต้นแบบส่วนหัว ส่วนปาก ส่วนหาง แล้วค่อยนำมาประกอบกันเป็นตัวอักษรหนึ่งตัว จากนั้นนำไปเข้าโปรแกรมเพื่อกำหนดรายละเอียด ระยะ ความห่างระหว่างบรรทัด และเข้าสู่กระบวนการทดสอบความสอดคล้องกันของภาพรวมทั้งหมด ทดลองจับคู่ระหว่างพยัญชนะกับสระ แล้วจึงครีเอทเป็นซอฟต์แวร์สำหรับนำไปใช้งานต่อไป”

          นอกจากความสวยงาม อีกปัจจัยสำคัญที่ต้องคำนึงถึง คือ ความเป็นเอกภาพและการทำหน้าที่สื่อสารของฟอนต์นั้นๆ “งานออกแบบตัวอักษร ไม่ใช่งานออกแบบที่แยกเป็นชิ้นเดี่ยวๆ แต่ภาพรวมต้องมีเอกภาพด้วย ดังนั้น เวลาที่อยากปรับแก้ จึงไม่สามารถเปลี่ยนแค่ตัวใดตัวหนึ่ง แต่ต้องเปลี่ยนทุกตัวให้สอดคล้องและสม่ำเสมอกันทั้งหมด”

          “เมื่อปรับจนพอใจแล้ว ต้องยังคงความสวยงาม คงบุคลิกที่อยากส่งสาร ที่สำคัญคือต้องอ่านออก ทุกอย่างที่ว่ามาคือความรายละเอียดระดับ ‘ตามด’ ซึ่งต้องอาศัยการทำงานอย่างต่อเนื่อง ช่างสังเกต ละเอียด และใส่ใจ เรียกว่าต้องใจรักระดับหนึ่ง”

ทิศทางของวงการนักออกแบบตัวอักษรในไทย

          ในปัจจุบัน งานออกแบบตัวอักษรเชิงอาชีพ มีอยู่ 2 รูปแบบ แบบแรกคือ ‘Retail Font’ ฟอนต์ที่ขายปลีกให้คนทั่วไป นักออกแบบอาจคิดฟอนต์จากการสังเกตความต้องการของตลาด หรือเลือกพัฒนาฟอนต์ตามสไตล์และความสนใจส่วนตัว อีกแบบหนึ่งคือ ‘Custom font’ ฟอนต์ที่ออกแบบตามความต้องการของผู้ว่าจ้าง เช่น องค์กร หน่วยงาน ร้านค้า หรือบุคคล ที่ต้องการมีชุดตัวอักษรเพื่อบ่งบอกอัตลักษณ์ของตนเอง

          ในฐานะนักออกแบบตัวอักษรมืออาชีพ วิสิทธิ์มองว่าตลาดนี้ยังเปิดกว้างพอสมควร เนื่องจากปัจจุบันภาคธุรกิจเริ่มเข้าใจและให้ความสำคัญกับมูลค่าของงานออกแบบตัวอักษรมากขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก รวมถึงหลายสถาบันการศึกษาที่เริ่มมีการเรียนการสอนในเรื่องนี้มากขึ้น ส่วนในแง่การทำงาน ปัจจุบันก็มีโปรแกรมเฉพาะทางซึ่งได้รับการพัฒนามาเพื่อรองรับการทำงานของนักออกแบบตัวอักษรโดยเฉพาะ มีแพลตฟอร์มต่างๆ ที่สามารถทดลองนำชุดตัวอักษรไปฝากขายมากมาย

          ทั้งนี้ หากมองถึงความนิยมของนักศึกษารุ่นใหม่ๆ วิสิทธิ์ยอมรับว่าการออกแบบตัวอักษรยังไม่ใช่สาขาที่ได้รับความนิยมนัก โดยเขามองว่า ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะกระบวนการทำงานที่หนักและยังมีความเฉพาะทางอยู่สมควร

          อีกประเด็นที่น่าสนใจ คือความตระหนักรู้ในเรื่องลิขสิทธิ์ ปัจจุบันประเทศไทยมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ซึ่งครอบคลุมถึงการออกแบบชุดตัวอักษรต่างๆ ทำให้คนทำงานด้านนี้มีหลักประกันมากขึ้น ขณะเดียวกัน ความตระหนักรู้ของผู้คนเกี่ยวกับการละเมิดลิขสิทธิ์งานออกแบบ ถือว่ามีแนวโน้มที่ดีขึ้นเช่นกัน วิสิทธิ์เล่าว่า มีหลายครั้งที่ห้างร้านต่างๆ ติดต่อมาขอซื้อลิขสิทธิ์การใช้ฟอนต์อย่างถูกต้องมากขึ้น ต่างจากเมื่อก่อนที่คนมักนำไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต โดยเฉพาะการใช้ในเชิงธุรกิจ

          “ทุกวันนี้ เรามองว่าสังคมมีความตระหนักในเรื่องของลิขสิทธิ์ฟอนต์กว้างขวางมากขึ้น แต่ถามว่ายังมีคนที่ไม่รู้ หรือไม่เข้าใจไหม ก็คงยังมีอยู่ ซึ่งก็ต้องใช้การอธิบาย สื่อสารให้คนเข้าใจมากขึ้นว่าคุณค่าของงานประเภทนี้คืออะไร”

          สำหรับชุดตัวอักษรที่มีลิขสิทธิ์ แน่นอนว่าย่อมมีราคาที่ต้องจ่าย ซึ่งหลายคนอาจมองว่าไม่จำเป็น หรือยังไม่มีทุนมากเพียงพอ วิสิทธิ์รวมถึงคนในแวดวลงอีกไม่น้อย มองเห็นปัญหานี้เช่นกัน จึงพยายามสร้างทางเลือกใหม่ๆ ให้ผู้ซื้อเข้าถึงฟอนต์ต่างๆ ได้อย่างสะดวกและสบายกระเป๋าขึ้น เป็นที่มาของโปรเจกต์ ‘เซียมไท้’ ที่มีผลงานฟอนต์ของคนไทยให้เลือกซื้อในวาระพิเศษต่างๆ

          “ปัจจัยหนึ่งที่คุยกันคือ เราอยากให้ฟอนต์ลิขสิทธิ์ เข้าถึงกลุ่มนักศึกษาหรือกลุ่มคนทั่วๆ ไปที่สนใจและอยากทดลองนำฟอนต์ไปใช้ในงานของตนเอง ซึ่งฟอนต์ที่ขายช่วงเฉพาะกิจแบบนี้ จะกำหนดราคาให้ถูกลง และดูตามกลุ่มลูกค้า เช่น ถ้าเป็นนักศึกษา จะขายราคาหนึ่ง ถ้าเป็นธุรกิจขนาดเล็ก จะขายอีกราคาหนึ่ง ถ้าเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ ก็อีกราคาหนึ่ง ซึ่งพอทำไปได้สักระยะ ถือว่าเห็นผล หลายคนเวลาซื้อไป มีฝากข้อความเอาไว้ด้วย เช่น ‘ครั้งนี้เป็นการซื้อฟอนต์ครั้งแรกของหนู’ หรือ ‘นี่คือการซื้อฟอนต์ครั้งแรกเพื่อมาทำธุรกิจเล็กๆ ของตัวเอง’ พอเห็นแบบนี้เราก็รู้สึกว่า สิ่งที่เราวางวัตถุประสงค์ไว้ เริ่มที่จะเห็นผล คนตระหนักถึงคุณค่าของงานนี้มากขึ้น”

“เวลาลงพื้นที่ชุมชน สิ่งสำคัญคือการมอบความรู้ ไม่ใช่สิ่งของ

          ภารกิจหลักอีกอย่างหนึ่งในการเป็นอาจารย์ของวิสิทธิ์ นอกจากงานสอนหนังสือ คืองานบริการวิชาการ เขารับผิดชอบในด้านที่เกี่ยวกับงานออกแบบผลิตภัณฑ์ชุมชน ทำหน้าที่ประสานความร่วมมือกับทั้งหน่วยงานภายในมหาวิทยาลัย ชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน เพื่อบูรณาการองค์ความรู้ในการให้บริการวิชาการ ควบคู่ไปกับการพัฒนาท้องถิ่นอย่างเป็นรูปธรรม

          “เราต้องคุยกันก่อนว่า ผลิตภัณฑ์ของเขาเป็นยังไง หน้าตาแบบไหน ขายยังไง วงจรของผลิตภัณฑ์เป็นอย่างไร โดยเริ่มกระบวนการด้วยการพูดคุย มีการจัดอบรม ทำความเข้าใจ ไม่ใช่เข้าไปทำให้ พอเสร็จแล้วก็หาย เพราะเป้าหมายหลักของเราคือการให้ความรู้เขา เพื่อให้เขาทำต่อได้ด้วยตัวเอง”

          เมื่อทำความเข้าใจในตัวผลิตภัณฑ์แล้ว สิ่งต่อมาที่ต้องทำ คือการส่งเสริมความรู้เรื่องการขายและการตลาด “พอทดลองผลิตออกมาเป็นชิ้นงาน ก็มาคุยเรื่องการขาย การตลาดสมัยใหม่ ที่เป็นเรื่องการสร้างแบรนด์ และการดูแลแบรนด์ เป็นการใช้เครื่องมือทางการตลาด ซึ่งชุมชนจะต้องมีส่วนร่วมในทุกกระบวนการ รวมถึงกระบวนการหลังจากที่เราออกจากพื้นที่ไปแล้ว หลังจากนั้นจะมีการสำรวจว่าผลลัพธ์เป็นยังไง มีอะไรผิดพลาดและต้องปรับปรุงแก้ไข”

          จากการลงพื้นที่ชุมชนหลายครั้ง วิสิทธิ์เห็นปัญหาอย่างหนึ่งว่า แม้ว่ารัฐจะมีนโยบายและจัดสรรงบประมาณเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากให้แข็งแรง แต่หลายครั้งมักจะมีกระบวนการทำงานแบบทำซ้ำเดิม ขาดการรับฟัง แลกเปลี่ยน ซึ่งส่งผลให้สุดท้ายแล้ว ผลผลิตที่สร้างขึ้นจากการใช้งบประมาณ ไม่ถูกนำไปใช้งานจริง เพราะไม่ได้มาจากความต้องการของชุมชนอย่างแท้จริง มิหนำซ้ำยังเป็นการสร้างกำแพงความรู้สึกระหว่างชาวบ้านกับรัฐมากขึ้นด้วย โดยเขาย้ำว่า “สิ่งสำคัญมาก คือเรื่องการสื่อสาร รับฟัง และสร้างความเข้าใจ”

จากหนอนหนังสือ สู่นักเขียนนิยายรหัสคดี

          นอกจากความสนใจในงานศิลปะและการออกแบบ อีกหนึ่งสิ่งที่วิสิทธิ์ชื่นชอบมาตั้งแต่วัยเด็ก คือการอ่านหนังสือ นั่นคือเชื้อไฟที่ทำให้เขาใฝ่ฝันอยากเป็นนักเขียน และทดลองเขียนนวนิยายจนได้ตีพิมพ์สมัยเรียนปริญญาตรี

          “ผมชอบอ่านหนังสือตั้งแต่เด็ก อ่านนิยาย อ่านหนังสือแนวปรัชญา พอชอบอ่านก็เริ่มทดลองเขียน เริ่มจากเขียนกลอนสัมผัสสนุกๆ แล้วก็ได้ตีพิมพ์ สมัยนั้นจะมีความนิยมทำสมุดเฟรนด์ชิป ที่มีกลอน มีรูปวาด ได้พิมพ์ในนั้นก็ดีใจแล้ว (หัวเราะ) ต่อมาพอเข้ามหาวิทยาลัย ช่วงปี 3 เริ่มเขียนเรื่องสั้น ได้ตีพิมพ์ในสยามรัฐฯ มติชนสุดสัปดาห์ ก็เขียนมาเรื่อยๆ เป็นวรรณกรรมประเภทสัจนิยม ออกแนวซีเรียสหน่อย พอขึ้นปี 4 ก็มีงานนวนิยายออกมา ได้ตีพิมพ์กับสำนักพิมพ์ดอกหญ้า ผูกเรื่องจากประสบการณ์ในวัยเรียนของเรา ชื่อเรื่อง ‘เธอบอกว่าปลายฟ้านั้นมีดาว’ กับ ‘คำถามถึงโลกที่ผมอยู่’”

          หลังจากนั้น วิสิทธิ์ก็เริ่มหันมาเขียนนวนิยายแนวรหัสคดี 1 โดยได้แรงบันดาลใจจากผลงานของ สตีเฟ่น คิง (Stephen King) และนักเขียนชื่อดังอีกหลายท่าน บวกกับที่เป็นคนชอบเรื่องลึกลับมาตั้งแต่เด็กๆ โดยเฉพาะการฟังเรื่องผีในละครวิทยุสมัยก่อน จึงลองพัฒนางานเขียนของตัวเอง จนมีผลงานตีพิมพ์นวนิยายแนวรหัสคดีเรื่องแรกในปี 2545 คือเรื่อง ‘แบรนด์’ นิยายสืบสวนสอบสวนที่มีเค้าโครงเรื่องมาจากการทำวัตถุนิยมและพุทธพาณิชย์ในสมัยนั้น จากนั้นวิสิทธิ์ก็มีผลงานประเภทเดียวกันออกมาอีกหลายเล่ม

          ในงานเขียนของวิสิทธิ์ นอกจากการวางโครงและดำเนินเนื้อเรื่องให้สนุกสนาน ตื่นเต้น และลุ้นระทึกตามรูปแบบของนวนิยายแนวรหัสคดี เอกลักษณ์อีกอย่างที่น่าสนใจ คือความพยายามสอดแทรกและพูดถึงปมปัญหาทางสังคมที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้นๆ โดยผลงานที่โดดเด่นและทำให้เขาเป็นที่รู้จัก คือเรื่อง ‘ดอนเกลอ’ ที่เล่าปมปัญหาของการพัฒนาพื้นที่โดยภาครัฐ ซึ่งลุกล้ำเข้าไปในป่าชุมชนอันเป็นศูนย์รวมจิตวิญญาณของชาวบ้าน ผ่านเหตุการณ์ระทึกขวัญต่างๆ 

          เรืองเดช จันทรคีรี นักเขียนและบรรณาธิการอาวุโส เจ้าของสำนักพิมพ์รหัสคดี เขียนคำนิยมถึงผลงานเล่มนี้ไว้ว่า “นี่คือรหัสคดีสะท้อนปัญหาสังคมไทยที่เขียนยากและยากจะหาใครเขียน” ขณะที่จรูญพร ปรปักษ์ประลัย นักวิจารณ์วรรณกรรม เขียนถึงนวนิยายเรื่องนี้ไว้ว่า “ถึงจะแสดงตัวในฐานะอาชญนิยายรหัสคดี ทว่า ‘ดอนเกลอ’ ทะเยอทะยานกว่านั้น ด้วยการสะท้อนความเลวร้ายที่กำลังเกิดขึ้นในสังคม… อีกทั้งยังสร้างเรื่องสืบสวนที่มีกลิ่นอายลูกทุ่งและความเชื่อในเรื่องลี้ลับเหนือจริง ส่งผลให้ ‘ดอนเกลอ’ เป็นงานต้นแบบที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว แบบที่ไม่เห็นในนวนิยายสืบสวนชาติไหนๆ”2

เมื่อทุกงานผสานเป็นหนึ่งเดียว

          แม้ว่าผลงานของวิสิทธิ์ จะมีหลากหลายประเภท แต่โดยส่วนตัวเขากลับไม่รู้สึกว่าเป็นปัญหา โดยมองว่าทุกงานที่เขาทำ กลับส่งเสริมกันและกันอย่างลงตัวด้วยซ้ำ ทุกงานคือ ‘การสื่อสาร’ ผ่านเครื่องมือที่แตกต่างกัน โดยมีพื้นฐานจากความรักในการอ่านและไม่ปิดกั้นการเรียนรู้

          “ผมรู้สึกว่าทั้งสามงานนี้ แม้จะดูเหมือนต่าง แต่จริงๆ มันเอื้อกันอยู่อย่างบอกไม่ถูก (หัวเราะ) เริ่มจากการที่เราชอบอ่านหนังสือ ซึ่งเราคิดว่าเป็นพื้นฐานของทุกงาน เวลาสอนหนังสือ ก็ต้องมีการค้นคว้า หาข้อมูล ต้องอ่าน ต้องเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา ขณะเดียวกันก็เป็นพื้นฐานที่ทำให้มาเขียนนวนิยาย ส่วนหลักสูตรที่สอน จะมีเรื่องการสร้างเนื้อหา (Content) มีวิชา graphic novel ซึ่งผู้เรียนต้องแต่งเรื่องและเขียนภาพเพื่อสื่อความหมาย เด็กบางคนไม่เคยแต่งเรื่องมาก่อน พอได้รับหลักการไป เขาก็ทำได้ และบางคนก็ทำได้ดีด้วย”

          “ขณะเดียวกัน งานชุมชนที่ต้องลงพื้นที่ ทำให้เราได้เรียนรู้มุมมองใหม่ๆ ได้องค์ความรู้ใหม่ๆ มากมายจากชุมชน เป็นประสบการณ์ชีวิตที่ไม่ได้หาง่ายๆ อีกทั้งได้แรงบันดาลใจจากสภาพแวดล้อม บรรยากาศของพื้นที่ ได้พบเจอผู้รู้ ปราชญ์ชาวบ้าน ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกัน สิ่งเหล่านี้เป็นทั้งวัตถุดิบในงานเขียนนวนิยาย และงานออกแบบฟอนต์ด้วย ทุกอย่างเป็นปัจจัยส่งเสริมกันและกันทั้งสิ้น”

          เมื่อถามถึงเคล็ดลับการทำงาน โดยเฉพาะงานที่มีรายละเอียดแตกต่างกัน ซึ่งบางครั้งก็ต้องใช้สมาธิสูงและความต่อเนื่องของชิ้นงาน วิสิทธิ์แลกเปลี่ยนว่า “สมัยเด็ก เราอาจมองว่าแพสชันเป็นเรื่องสำคัญ แต่ความจริงแล้ว สิ่งสำคัญที่สุดคือการบริหารเวลา และตั้งโฟกัสงานให้ชัดเจน มีตาราง เข้มงวด วางแผนและมีวินัยกับตัวเอง เช่น มีงานต้นฉบับที่ต้องปิดเล่ม ขณะเดียวกันก็มีงานที่ต้องลงพื้นที่ เราต้องคำนวณและวางแผนว่าแต่ละงาน จะใช้เวลาเท่าไหร่ ต้องออกเดินทางกี่โมง เพราะถ้าเราพลาด มันจะกระทบกับงานของคนอื่นๆ ด้วยเช่นกัน”


เชิงอรรถ

[1] คำว่ารหัสคดี ตรงกับคำในภาษาอังกฤษว่า mystery story เป็นศัพท์ใหม่ที่บัญญัติโดย เรืองเดช จันทรคีรี บรรณาธิการสำนักพิมพ์รหัสคดี ถูกใช้ครั้งแรกช่วง พ.ศ. 2542 บนนิตยสารรายสามเดือนชื่อ ‘รหัสคดี’ ซึ่งตีพิมพ์บทความ เรื่องสั้น บทกลอน โดยนิยามคือ “เรื่องเล่าที่เน้นการคลี่คลายปัญหาซ่อนเงื่อนของเหตุการณ์ชุดหนึ่ง” เรื่องเล่าประเภทนี้จะสร้างปมปริศนาอันคลุมเครือกระตุ้นความอยากรู้อยากเห็นและท้าทายความคิดของผู้อ่านหรือผู้ชมให้เกิดความหฤหรรษ์ในการติดตาม

[2] กรุงเทพธุรกิจ วันอาทิตย์, 27 เมษายน 2557.

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก