‘หมาป่า vs. แมวผี’ สองร้านหนังสือสองแนวทาง ภาพสะท้อนการอ่านของคนขอนแก่น

634 views
10 mins
April 24, 2024

          “คนขอนแก่นรักการอ่านนะครับ อ่านจริงจัง ไม่ได้มีหนังสือเอาไว้แค่ตกแต่งร้านเท่ๆ ร้านก๋วยเตี๋ยว ร้านอาหาร ร้านกาแฟ หลายๆ ร้าน ก็มีมุมอ่านหนังสือให้บริการ แม้แต่นักศึกษาแพทย์ยังจัดบุ๊กคลับเลย”

          เมื่อมีโอกาสได้คุยกับใครเกี่ยวกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ‘ขอนแก่น’ เป็นจังหวัดที่ปรากฏอยู่ในบทสนทนาอยู่บ่อยครั้งด้วยความที่เป็นเมืองสำคัญของภาค บางคนบอกว่าขอนแก่นเป็นเมืองที่ ‘แอคทีฟ’ มีกิจกรรมหนาแน่นตลอดทั้งปี  บ้างก็ว่าเป็นเมืองที่ภาคเอกชนเข้มแข็ง ลงมือดำเนินโครงการใดๆ ได้แบบไม่รองบประมาณจากภาครัฐ มาเยือนขอนแก่นครั้งนี้ มีประเด็นเพิ่มเติมขึ้นมาอีกในบทสนทนา

          ทีมงาน The KOMMON เดินทางลงพื้นที่ และพบร่องรอยของความคึกคักด้านการอ่านจริงดังว่า จึงถือโอกาสพูดคุยกับธุรกิจท้องถิ่น 2 ร้าน ที่อยู่ในวงการ ‘หนังสือ’ และ ‘การอ่าน’

          Wild Dog Bookshop ร้านหนังสืออิสระที่เจ้าของเดินทางไปทั่วสารทิศด้วยความฝันอันแรงกล้า ไม่ต่างจาก ‘หมาป่าเดียวดาย’ รอนแรมผจญภัยในป่าใหญ่ ศึกษาโมเดลร้านหนังสืออิสระในพื้นที่ต่างๆ จนในที่สุดก็ตัดสินใจลงหลักปักฐานสร้างร้านที่นี่ เพราะเห็นว่าขอนแก่นเปิดกว้างและยินดีต้อนรับความแตกต่างหลากหลาย

          แมวผีบุ๊ค ร้านหนังสือมือสอง ที่เจ้าของคือคู่รักคู่หนึ่งซึ่งช่วยกันดูแลร้านอย่างแข็งขัน หลังน้ำท่วมใหญ่ ย้ายมาทำธุรกิจด้วยกันที่ขอนแก่น เริ่มต้นจากการขายหนังสือ เพราะตนเองมีหนังสือในครอบครองเป็นจำนวนมาก ผ่านไปแล้วสิบปี ยังคงทำธุรกิจอยู่ตรงนี้เพราะรู้สึกแฮปปี้กับงานที่ทำ

          ฟังดูแล้ว ทั้ง 2 ร้าน เหมือนจะเป็นธุรกิจในฝันของใครหลายคน…แต่ทั้งคู่บอกว่า กว่าจะผ่านมาจนถึงทุกวันนี้ ก็มีบทเรียนมาไม่ใช่น้อย

          ท่ามกลางเมืองใหญ่ เมืองมหาวิทยาลัยที่มีกิจกรรมคึกคัก ผู้คนกระตือรือร้นเปี่ยมพลังงาน พวกเขา…ในฐานะเจ้าของธุรกิจได้ข้อคิดและเรียนรู้อะไรบ้าง ติดตามได้ในบทความนี้

Wild Dog Bookshop-พื้นที่ขับเคลื่อนทางความคิด ความฝันยิ่งใหญ่ที่ต้องไปให้ถึง

           เมื่อเดินทางมาถึงบ้านไม้ในซอยลึก โอ๊บ–บุรินทร์ฑร ตันตระกูล เจ้าของร้านมาดเซอร์กำลังยืนรอต้อนรับพวกเราอยู่ พร้อมกับแมวประจำร้านที่เงยหน้าขึ้นมามองแล้วทอดกายนอนหลับต่อไปอย่างผาสุก วันนี้ร้านไม่เหงา เพราะมี ครูนก พันธมิตรที่จะมาร่วมแชร์พื้นที่เปิดโซนขายหนังสือมือสองและงานคราฟต์มานั่งทำงานอยู่ใกล้ๆ เมื่อมองไปรอบๆ ก็รู้สึกว่า Wild Dog Bookshop มีพื้นที่กว้างขวาง หากเทียบกับร้านอื่นๆ ในจังหวัดขอนแก่น นอกจากพื้นที่ในตัวร้านแล้ว หลังตัวอาคารก็ยังมีสนามหญ้าที่น่าจะต่อยอดเป็นลานกิจกรรมได้ ดูแล้วร้านหนังสือแห่งนี้มีความพร้อมที่จะเป็นพื้นที่สำหรับการ ‘พบปะ’ และ ‘แลกเปลี่ยน’ ดังที่โอ๊บตั้งใจเอาไว้

          “พื้นฐานผมเป็นคนชอบอ่านหนังสืออยู่แล้ว แต่ว่าเป็นคนที่อ่านไม่ค่อยหลากหลายเท่าไหร่ ด้วยความคิดแบบโรแมนติกส่วนตัว เลยอยากให้ร้านหนังสือเป็นแหล่งรวบรวมความรู้ เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนมุมมอง เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนสังคม”

‘หมาป่า vs. แมวผี’ สองร้านหนังสือสองแนวทาง ภาพสะท้อนการอ่านของคนขอนแก่น
โอ๊บ–บุรินทร์ฑร ตันตระกูล

          ก่อนที่จะตัดสินใจลงหลักปักฐานที่ขอนแก่น โอ๊บเดินทางออกสำรวจร้านหนังสืออิสระในหลายๆ พื้นที่ เก็บข้อมูลไปแบบเงียบๆ คอยสังเกตการณ์มากกว่าที่จะเข้าไปพูดคุย เมื่อเดินทางมาถึงขอนแก่น ก็เป็นจังหวะที่ข้อมูลเต็มล้นจนรู้สึกว่า…ถึงเวลาต้องลงมือทำแล้ว และขอนแก่นเองก็เป็นจังหวัดที่เขามองเห็นข้อดีหลายข้อ

          “แต่ละพื้นที่ในขอนแก่นค่อนข้างเปิดรับความแตกต่างหลากหลายนะ ทั้งในแง่ของความคิด ความสร้างสรรค์ มุมมองต่อสังคม มีทั้งพื้นที่จัดกิจกรรม มีพื้นที่รวมกลุ่มผู้คน มีประเด็นเฉพาะที่เขามีความถนัดและต้องการนำเสนอ” และสิ่งหนี่งที่โอ๊บสัมผัสได้คือ ความนิยมอ่านหนังสือ

          “ขอนแก่นเป็นเมืองที่มีนักเขียนอยู่เยอะ นักอ่านรุ่นผู้ใหญ่ก็อ่านหนังสือกันมากพอสมควร มีคุณครูที่กระตือรือร้นกับการจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน มีเทศบาลที่ให้ความสนใจ ห้องสมุดดอกคูน (ห้องสมุดเด็กสวนดอกคูน) ที่บึงแก่นนครก็มีนักเขียนไปจัดกิจกรรมกับเด็กๆ อยู่เรื่อยๆ พอเขยิบลงมาหน่อยก็เป็นพวกวัยทำงาน ตามคาเฟ่ต่างๆ ก็มีคนถือหนังสือไปนั่งอ่านพร้อมกับจิบกาแฟ ยิ่งพวกคนรุ่นใหม่ยิ่งไม่ต้องพูดถึง มีกลุ่มกิจกรรมหลากหลาย ทั้งนักศึกษามหาวิทยาลัยที่สร้างความเคลื่อนไหว กลุ่มที่เรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคม กลุ่มเหล่านี้ก็เห็นความสำคัญของการอ่าน แล้วก็มีพื้นที่สำหรับอ่านหนังสืออยู่พอสมควร”

          ถ้าถามว่าคนขอนแก่นชื่นชอบการอ่านหนังสือแค่ไหน โอ๊บเล่าว่า ในมุมมองของเขา…ชาวขอนแก่นแทบจะทุกกลุ่มให้ความสำคัญกับการอ่านหนังสือ

          “ขอนแก่นเป็นเมืองมหาวิทยาลัยที่มีคณะแพทย์ ขนาดกลุ่มแพทย์เขาก็ยังจัดบุ๊กคลับของเขาเองเลย แล้วก็ตระเวนไปจัดตามพื้นที่ต่างๆ ด้วย”

          เมืองที่ประชากรรักการอ่าน กับ ร้านหนังสืออิสระ ฟังดูแล้วน่าจะเป็นอะไรที่ไปด้วยกันได้ดี แต่โอ๊บหัวเราะเบาๆ แล้วบอกว่า ที่ผ่านมาตัวเขาเองก็ได้รับบทเรียนระหว่างทางอยู่ไม่น้อย กว่าร้านหนังสือจะผ่านร้อนหนาวมาจนถึงทุกวันนี้

          “ร้านหนังสือเวอร์ชันนี้เป็นเวอร์ชันสองแล้วครับ ก่อนหน้านี้เคยเปิดอยู่ในซอยโรงเรียนกัลยาณวัตรได้ราวๆ 2 ปี ค่าเช่าสูงเลยอยู่ไม่ไหว พอย้ายมาที่นี่ ค่าเช่าถูกลงก็เลยอยู่ได้ ตอนแรกตรงนี้เป็นบ้านร้าง รอบข้างเป็นป่า ผมก็ค่อยๆ ปรับปรุงไป ลงมือทำด้วยตัวเอง พื้นที่ว่างด้านหลังร้าน ก็จะค่อยๆ พัฒนาให้เป็นพื้นที่กิจกรรม”

‘หมาป่า vs. แมวผี’ สองร้านหนังสือสองแนวทาง ภาพสะท้อนการอ่านของคนขอนแก่น

‘หมาป่า vs. แมวผี’ สองร้านหนังสือสองแนวทาง ภาพสะท้อนการอ่านของคนขอนแก่น
‘หมาป่า vs. แมวผี’ สองร้านหนังสือสองแนวทาง ภาพสะท้อนการอ่านของคนขอนแก่น

          บทเรียนที่ผ่านมาของโอ๊บ คือการค้นหาสมดุลระหว่างอุดมการณ์กับความเป็นไปได้ทางธุรกิจ หากปล่อยให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีมากเกินไป ภาพที่เกิดขึ้นจะไม่ค่อยสวยงามนัก

          “การเปิดร้านหนังสือมันก็เป็นธุรกิจอย่างหนึ่ง นอกจากจะรักษาความเป็นตัวเองแล้ว ก็ต้องคิดว่าเราจะทำอย่างไรให้ธุรกิจอยู่รอด ในยุคสมัยนี้ หนังสือไม่ได้ผูกขาดความรู้อีกต่อไป มีช่องทางอื่นๆ ในการเข้าถึงความรู้อีกมาก เดิมผมเคยคิดว่าการเปิดตัวหนังสือหรือบุ๊กคลับ จะต้องอยู่ในร้านหนังสือ แต่ที่ขอนแก่นไม่ใช่ บุ๊กคลับก็จัดได้ที่ร้านอาหาร มีร้านอาหารที่บรรยากาศเหมาะกับการอ่านหนังสือ ร้านก๋วยเตี๋ยวบางร้านยังมีมุมหนังสือจัดไว้ให้ลูกค้าอ่านเลย”

          หากร้านหนังสือไม่ได้ขายแค่หนังสือ แต่จัดกิจกรรมอื่นๆ ที่ขับเคลื่อนสังคมไปพร้อมกับก่อให้เกิดรายได้เชิงธุรกิจด้วย จะเป็นไปได้หรือไม่ เมื่อเราถามแบบนี้ โอ๊บเล่าว่า นั่นก็ถือเป็นอีกบทเรียนที่สำคัญเช่นอีกเดียวกัน การจัดกิจกรรมต้องมีความพร้อมในหลายประการ

          “มีปัจจัยให้ต้องคิดถึงหลายปัจจัยนะครับ ถ้าเราอยากจะทำกิจกรรม คนที่มาร่วมงานโดยส่วนมากก็คงเป็นน้องๆ นักศึกษา ซึ่งเขาก็อยากเดินทางไปมาในระยะทางใกล้ๆ แถวย่านมหาวิทยาลัยมากกว่า แล้วอีกอย่างคือ ถ้าจะจัดกิจกรรมเขาก็ไม่จำเป็นต้องมาที่ร้านหนังสือก็ได้ ไปที่ร้านกาแฟก็ได้ ร้านอาหารก็ได้ ถ้าเราจะจัดกิจกรรมเองก็ต้องมีค่าใช้จ่าย ถ้าจะร่วมมือกับชมรมต่างๆ บางทีเขาก็มีพื้นที่ของเขาเองอยู่แล้ว”

          พบกับข้อจำกัดหลายประการ แต่ถ้าถามโอ๊บว่าท้อไหม โอ๊บบอกว่ายังทำอะไรได้อีกเยอะ แค่ขอให้มีความพร้อมมากกว่าตอนนี้อีกสักหน่อย

          เมื่อเล่ามาถึงตรงนี้ก็อดสงสัยไม่ได้ว่า แล้วร้านหนังสือจะอยู่รอดได้อย่างไรในสภาวะที่การแข่งขันสูงลิ่ว นอกจากจะต้องสู้กับแพลตฟอร์มออนไลน์ที่สามารถขายหนังสือในราคาที่ต่ำกว่าร้านหนังสืออิสระที่ขายตามราคาปก ยังจะต้องแข่งขันกับร้านอาหาร ร้านกาแฟ ในแง่มุมของการเป็นพื้นที่เรียนรู้ พื้นที่ขับเคลื่อนประเด็นทางสังคม

          “เป็นคำถามที่ผมเองก็กำลังหาคำตอบอยู่เหมือนกันครับ”

          โจทย์ทางธุรกิจก็ต้องเดินหน้าต่อไป แต่อย่างน้อยตอนนี้โอ๊บก็รู้สึกดีใจ ที่สามารถเปิดพื้นที่ให้นักอ่านรุ่นใหม่ที่มองหาพื้นที่นอกสถานศึกษาเพื่อมานั่งอ่านหนังสือ นั่งพูดคุยกัน เด็กกลุ่มนี้ติดตามมายัง Wild Dog Bookshop ในทำเลใหม่ แวะเวียนมาเยี่ยมเยือนอยู่เรื่อยๆ คอยเติมกำลังใจให้เจ้าของร้าน โอ๊บจัดมุมหนังสือเล็กๆ เอาไว้ให้อาคันตุกะมาเลือกอ่านได้ แบบไม่มีค่าใช้จ่าย เพื่อรองรับนักอ่านเหล่านี้

          “เราเป็นกึ่งร้านหนังสืออิสระ และกึ่ง public space มีมุมหนังสือ และเอกสารที่เก็บรวบรวมมาเอง ไปซื้อมาบ้าง มีกลุ่มต่างๆ มอบให้เราเอามาวางไว้ให้นักอ่านบ้าง จัดไว้อยู่สองมุม ตรงทางเข้าร้านและหลังเคาน์เตอร์ ถ้าน้องๆ แวะมาเยี่ยมแล้วอยากจะอ่าน ก็สามารถอ่านได้เลย คล้ายกับห้องสมุด แต่ไม่มีบริการให้ยืมออกนอกสถานที่ ส่วนด้านนอกร้านก็มีตู้หนังสือเล็กๆ ที่เป็น Little Library ที่ยังไม่ Free นะครับ อ่านได้ที่นี่ แต่ไม่มีบริการให้ยืมกลับบ้าน”

‘หมาป่า vs. แมวผี’ สองร้านหนังสือสองแนวทาง ภาพสะท้อนการอ่านของคนขอนแก่น

          มุมหนังสือเหล่านี้เอง คือจุดที่โอ๊บบอกว่าเป็นจุดที่สะท้อนความเป็นตัวตนของเขา เป็นหนังสือประเภทที่เขาชื่นชอบ ที่เขา ‘curate’ มาเอง และจะเป็นจุดที่ยังคงอยู่ต่อไปในอนาคต แม้ว่าหนังสือที่วางขายในร้าน ซึ่งตอนนี้ยังเน้นหนักไปในแบบที่เขาชอบอ่าน จะต้องปรับเปลี่ยนไปตามความต้องการของลูกค้า มีวรรณกรรมประเภทอื่นๆ เข้ามาเติมชั้นหนังสือบ้าง

          “หนังสือที่ให้ยืมอ่าน เน้นหนักไปทางสังคมการเมืองเป็นหลัก อาศัยความชอบส่วนตัวเป็นพื้นฐาน ถ้าเป็นหนังสือขายก็จะพยายามคละหมวด ตอนนี้หนังสือที่กลุ่มนักอ่านรุ่นเยาว์ หรือนักอ่านรุ่นใหม่ชื่นชอบยังไม่มีมาวางขาย ในอนาคตผมก็ต้องจัดหามาให้ครบทุกแนว

          ช่วงแรกๆ ผมเคยคิดว่าทำร้านหนังสือทั้งทีก็อยากจะขายหนังสือที่แสดงความเป็นตัวเรา แต่จากประสบการณ์ที่ผ่านมา เราต้องเข้าใจและให้ความสำคัญกับตลาดด้วย มีเด็กมัธยม และเด็กมหาวิทยาลัยบางกลุ่มที่แวะมาเยี่ยม เพราะเขาชอบบรรยากาศของร้าน แต่เรากลับไม่มีหนังสือแนวที่เขาชอบ ผมก็เลยกลับมาถามตัวเองว่า เราจะอยู่กับตัวเองแบบนี้เหรอ เราจะทอดทิ้งนักอ่านที่ชอบร้านเราได้อย่างไร

          สุดท้ายก็เลยคิดว่า เราไม่น่าจะทอดทิ้งนักอ่านกลุ่มนี้ได้ เราไม่สามารถไม่แคร์ใครได้ ตัวเราเองก็ยังอยู่ในพื้นที่แหละ อยู่ในรูปแบบของห้องสมุด หนังสือที่ให้หยิบ ให้ยืม ให้อ่าน หนังสือที่เอาไว้ขายคือการให้ความเอาใจใส่กับลูกค้า หลายคนค้นหาโลเคชันร้านทางอินเทอร์เน็ตแล้วแวะเข้ามาหา บางคนมาไกลจากต่างจังหวัดก็มี แต่มาแล้วกลับไม่เจอหนังสือที่เขาอยากได้ จากที่เคยคิดว่าไม่อยากขายหนังสือแบบอื่นๆ เพราะมันไม่ใช่ตัวเรา กลายเป็นว่าเราต่างหากที่ไม่ใส่ใจผู้อื่น”

          และนั่นคือสิ่งที่ทำให้โอ๊บหันมาให้ความสำคัญกับการจัดการในเชิงธุรกิจมากขึ้น นอกจากการขายหนังสือในร้าน โอ๊บก็เริ่มนึกถึงความเป็นไปได้อื่นๆ แต่ยังขออนุญาตอุบไว้ก่อนจนกว่าจะเปิดตัวโครงการใหม่

          “โจทย์หลักของร้านหนังสืออิสระคือการทำกำไรและเลี้ยงชีพตัวเองให้ได้ครับ มีตัวอย่างของร้านที่ประสบความสำเร็จหลายร้าน Wild Dog เองก็อยู่ระหว่างปรับตัวเช่นกัน ผมก็พยายามผ่อนปรนตัวเองในบางเรื่อง เคร่งครัดกับตัวเองในบางเรื่อง ตอนนี้ทำคนเดียว ก็เลยค่อยเป็นค่อยไป มีแผนจะขยับขยายในอนาคต”

‘หมาป่า vs. แมวผี’ สองร้านหนังสือสองแนวทาง ภาพสะท้อนการอ่านของคนขอนแก่น

          ร้านหนังสืออิสระ เป็นธุรกิจหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการอ่านและการซื้อหนังสือไม่น้อย จากบทความข่าวสารในโลกอินเทอร์เน็ต บ้างก็พูดถึงความยากลำบากที่จะดำเนินธุรกิจให้ได้กำไร บ้างก็พูดถึงการส่งเสริมสนับสนุนจากภาครัฐที่น้อยกว่าประเทศอื่นๆ ซึ่งมีนโยบายหลากหลาย ทั้งการกำหนดราคาหนังสือคงที่  การส่งเสริมงบประมาณในการจัดกิจกรรม เมื่อชวนคุยมาถึงประเด็นนี้ โอ๊บพูดแบบคนที่เข้าใจโลก ยืดหยุ่น และยอมรับการเปลี่ยนแปลง

          “ความรู้ไม่ได้อยู่กับร้านหนังสืออย่างเดียวอีกต่อไปแล้ว สิ่งที่ผมอยากบอกก็คือ ร้านหนังสือไม่ได้สำคัญไปกว่าร้านก๋วยเตี๋ยว ในแต่ละธุรกิจมีปัญหาที่ต้องแก้ มีจุดที่ต้องได้รับการสนับสนุน หากภาครัฐเห็นความสำคัญของแต่ละธุรกิจว่ามันเป็นฟันเฟืองสำคัญของประเทศ นโยบายที่ออกมาให้สอดคล้องกับปัญหาที่เกิดขึ้น และสามารถเข้าไปแก้ไขได้ตรงจุดนั่นแหละ ที่สมควรได้รับการคิดขึ้นมา นำเสนอออกมา และเอามาใช้ เช่น ถ้าร้านก๋วยเตี๋ยวประสบปัญหาหมูแพง หรือกระดูกสัตว์ติดเชื้อ เกลือขึ้นราคา ร้านก๋วยเตี๋ยวไม่สามารถดำเนินการได้ รัฐก็ต้องเข้าไปช่วยดูแลสนับสนุนเช่นกัน

          พื้นที่การเรียนรู้สามารถเกิดขึ้นที่ไหนก็ได้ ร้านหนังสือก็เป็นแหล่งความรู้หนึ่ง เป็นช่องทางหนึ่ง สำหรับร้านเราลูกค้ามีสิทธิ์เลือกที่จะเข้าหรือไม่เข้าก็ได้ เราไม่ได้พิเศษไปกว่าร้านข้าวแกง เราก็เหมือนกับธุรกิจอื่นๆ โดยส่วนตัวผมก็คิดว่า ยินดีนะ ถ้าผู้คนให้ความสนใจแหล่งความรู้ที่หลากหลาย รู้สึกดีอยู่แล้วครับ ตัวเองก็ต้องหันกลับมามองว่าจะดึงคนมาที่ร้านได้อย่างไร ถ้าเราผัดข้าวไม่อร่อย ก็คงจะตั้งคำถามไม่ได้ ว่าทำไมคนเขาถึงกินแต่ก๋วยเตี๋ยว แต่ไม่มากินข้าวที่ร้านเราเลย”

          แม้ว่าเส้นทางจะไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบแต่ โอ๊บ ก็ยังไม่ถอดใจ และยังเชื่อว่าอย่างไรเสีย คนก็จะยังคงอ่านหนังสืออยู่ “คนรุ่นใหม่ก็ยังอ่านอยู่ เพียงแต่ว่าหนังสือก็คงต้องเป็นอีกแบบหนึ่ง อย่างเมื่อก่อนตอนเราเป็นเด็กๆ อาจจะชอบอ่านหนังสือแนวจิตวิทยา สืบสวนสอบสวน ตอนนี้เด็กๆ ก็อาจจะอ่านหนังสือพวกปกสวยๆ ที่คั่นหนังสือดีๆ  ลีลาการเขียนเข้าใจไม่ยาก หนังสือไม่เคยตายอยู่แล้วครับ เพียงแต่เรามีทางเลือกอื่นมากขึ้นเท่านั้นเอง หนังสืออาจจะค่อยๆ ลดความสำคัญลง ผมว่า…จนกว่าโลกจะเลิกผลิตกระดาษโน่นแหละครับ หนังสือถึงจะตายไป แล้วเปลี่ยนไปอยู่ในรูปแบบดิจิทัลแทน”

          โอ๊บ เป็นคนหนึ่งเชื่อในการปรับตัว และไม่เคยปิดกั้นความเป็นไปได้ใหม่ๆ “ผมเคยเข้าไปดูในแพลตฟอร์ม meb หรือ readAwrite อยู่บ้าง ครั้งหรือสองครั้ง ถ้ามีเวลาก็อยากจะเข้าไปดูดีๆ ว่าเราจะทำอะไรได้บ้าง ตอนนี้ยังนึกไม่ออก แม้แต่พวกนิยายวาย ผมก็อยากจะรู้ว่าเขาอะไรยังไง เราไม่ควรปฏิเสธสิ่งเหล่านี้ หากเราพยายามเข้าใจหรือเชื่อมโยงกับสิ่งที่น้องๆ สนใจได้ เราก็อาจจะนึกกิจกรรมที่ดึงนักอ่านหน้าใหม่ นักอ่านรุ่นใหม่ ให้เข้ามาอยู่ในโลกที่เราคุ้นเคย และเราก็เข้าไปอยู่ในโลกที่เขาคุ้นเคยได้ ก็ฟังดูเป็นอะไรที่โรแมนติกอีกแล้ว” โอ๊บหัวเราะเบาๆ ก่อนที่จะปิดท้ายแบบหักมุม “แล้วก็จะได้บทเรียนใหม่ๆ มาอีก”

          โอ๊บ พร้อมที่จะพลิกแพลง ปรับตัวตามสถานการณ์ สมกับที่เป็น ‘Wild Dog’ ดังคำบอกเล่าของเขา เมื่อเราชวนคุยถึงที่มาของชื่อร้าน “ตอนตั้งชื่อ ผมก็มองหาคำกลางๆ ที่ตีความได้กว้างๆ ใช้แทนคนทั่วไป Dog เนี่ย อยู่รวมเป็นกลุ่มก็ได้ อยู่แบบโดดเดี่ยวก็ได้ เป็นผู้นำก็ได้ เป็นผู้ตามก็ได้ ส่วนคำว่า Wild ถ้าเป็นเด็กก็เชื่อมโยงกับจินตนาการ ป่า ลึกลับ ถ้าเป็นผู้ใหญ่ คำว่า Wild ก็คือความขบถ ความเป็นตัวเอง”

          คำถามสุดท้ายก่อนแยกย้าย อะไรที่ทำให้โอ๊บยังคงอยากทำร้านหนังสืออิสระอย่างนี้ โอ๊บบอกกับเราว่า…

          “คงเป็นความเชื่ออย่างโง่ๆ ของเรา ว่าวันหนึ่งเราจะทำร้านหนังสือแล้วประสบความสำเร็จ เป็นพื้นที่ที่สนับสนุนประเด็นทางสังคม สนับสนุนความฝันของผู้คน สนับสนุนพื้นที่ มันอาจจะดูใหญ่เกินไป แต่ก็ยังฝันต่อไปครับผม”

‘หมาป่า vs. แมวผี’ สองร้านหนังสือสองแนวทาง ภาพสะท้อนการอ่านของคนขอนแก่น

แมวผีบุ๊ค–ร้านหนังสือมือสองที่เจ้าตัวเชื่อว่า ไม่มีวันเจ๊ง

          ในขณะที่ร้านหนังสืออื่นๆ ในจังหวัดขอนแก่น บ้างก็จัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านอย่างขันแข็ง บ้างก็อุทิศตนเป็นส่วนหนี่งในการผลักดันอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มีความฝัน มีอุดมการณ์ที่แตกต่างกันไป ซี-สุรศักดิ์ โพธิ์มัจฉา เจ้าของร้านแมวผีบุ๊ค ออกตัวกับเราว่า เขาไม่เคยจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านใดๆ มีเพียงธุรกิจร้านขายหนังสือมือสอง ที่เริ่มต้นมาจากการทดลองทำอาชีพใหม่หลังจากย้ายถิ่นฐานมาจากนนทบุรี เดินทางข้ามภูมิภาคมาตั้งรกรากที่ขอนแก่น ใกล้กับบ้านเกิดของคนรักที่ร้อยเอ็ด

          “ผมไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองเป็นนักอ่าน แค่ชอบอ่านหนังสือเหมือนคนทั่วๆ ไป เริ่มจากอ่านการ์ตูนก่อน แล้วก็พัฒนามาเรื่อยๆ ไม่ได้ชอบหนังสือประเภทใดประเภทหนึ่งเป็นพิเศษ เน้นอ่านเพื่อความบันเทิงเป็นหลัก วัฒนธรรมการอ่านในสมัยนั้นก็ไม่ได้พิเศษเหมือนในสมัยนี้ ที่บ้านผมตอนนั้นก็มีหนังสือพวกนิยายผี คู่สร้างคู่สม ไม่ใช่หนังสือที่มีภูมิปัญญาอะไร สมัยนั้นโทรทัศน์ไม่ค่อยมีอะไรดู อ่านหนังสือมันสนุกกว่า ช่วงเวลาที่ผมโตมา มีร้านเช่าการ์ตูนเต็มไปหมดเลย ตอนแรกก็เช่ามาอ่าน แต่พอเริ่มไปเดินคลองถมทุกวันเสาร์ก็เลิกเช่าหนังสือไปเลย เพราะราคามันถูกกว่าอีก…”

‘หมาป่า vs. แมวผี’ สองร้านหนังสือสองแนวทาง ภาพสะท้อนการอ่านของคนขอนแก่น
ซี-สุรศักดิ์ โพธิ์มัจฉา
Photo: ลาวเด้อ

          นั่นคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้ซีมีหนังสือในครอบครองเป็นจำนวนมาก ดังนั้น เมื่อตัดสินใจย้ายมาอยู่ที่ขอนแก่น ซีจึงเริ่มต้นอาชีพใหม่ด้วยการเปิดท้ายขายหนังสือตามตลาดนัด จนกระทั่งได้ทำเลที่เหมาะสมใกล้กับย่านมหาวิทยาลัย ร้าน ‘แมวผีบุ๊ค’ จึงก่อกำเนิดขึ้นมา

          ซี ทำหน้าที่ตามล่าหาหนังสือมือสองคุณภาพดี และ ลี่-ศิรินันท์ ต้นจารย์ ทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลเรื่องการขาย ชื่อร้าน ‘แมวผีบุ๊ค’ มาจากเรื่องสั้นขนาดกะทัดรัดของแดนอรัญ แสงทอง และมาจากรวมเรื่องสั้น ‘The Black Cat’ ของ เอดการ์ แอลลัน โพ (Edgar Allan Po) นักเขียนชาวอเมริกัน ร้านแมวผีบุ๊คเวอร์ชัน 1.0 ตั้งใจจะขายเพียงวรรณกรรมมือสองทั้งไทยและเทศเท่านั้น เมื่อทีมงาน The KOMMON ชมว่า ตั้งชื่อได้เก๋ไก๋ มีกิมมิก เป็นที่เข้าใจได้ทั้ง 2 ภาษา ซีจึงออกตัวอีกครั้งว่า

ลี่-ศิรินันท์ ต้นจารย์

          “ไม่หรอกครับ ผมแค่คิดว่า ถ้าใครชอบอ่านวรรณกรรมก็ต้องรู้จัก ต้องรู้ว่าชื่อร้านของเรามาจากไหน ที่ใช้ชื่อนี้เพราะว่าเราชอบอ่านวรรณกรรม ตอนแรกก็เลยคิดจะขายแต่วรรณกรรม ทำได้อยู่สักพักก็รู้สึกว่า ไม่ได้ละ คงต้องหันมาขายหนังสือทุกประเภท ต้องเพิ่มอะไรเข้ามา”

          ร้านแมวผีบุ๊คเวอร์ชันปัจจุบัน ที่ทั้งสองคนเพิ่งพากันหอบข้าวหอบของย้ายมาจากทำเลเดิมเพราะโดนทวงคืนพื้นที่ เป็นอาคารชั้นเดียวห้องเล็กๆ ผนังรอบด้านเต็มไปด้วยชั้นหนังสือสูงท่วมหัว ตรงกลางห้องก็มีชั้นหนังสือเรียงราย คนชอบอ่านหนังสือเดินเข้าไป ก็รู้สึกเหมือนกับจะหลุดเข้าไปในดินแดนพิศวงย้อนยุค สามารถใช้เวลาค้นหาหนังสือที่น่าสนใจไปได้เรื่อยๆ เพราะหนังสือบางเล่ม หาไม่ได้ในร้านหนังสือมือหนึ่งทั่วไปแล้ว

          ผนังด้านหนึ่งเต็มไปด้วยหนังสืออ้างอิงปกแข็ง ตำราสมุนไพร ตำราการปรุงยา รวมถึงหนังสืออนุสรณ์ต่างๆ อีกด้านเป็นวรรณกรรมคลาสสิกภาษาต่างประเทศ มีหนังสือเรียนอารยธรรมโลกเล่มหนากองเป็นตั้ง อีกมุมหนึ่งเป็นวรรณกรรมต่างประเทศสมัยใหม่ทั่วไป วรรณกรรมเยาวชน หนังสือแนว ‘Chick Lit’ ปกหลากสีสัน ไปจนถึงวรรณกรรมแนวสืบสวนสอบสวนขึ้นหิ้งอย่างผลงานของ จอห์น กริชแชม (John Grisham) เรียกได้ว่า มีหนังสือหลากหลายประเภท ถ้าใครมีใจรักการอ่านหนังสือ ไม่ว่าจะแนวไหนก็ตาม แวะเวียนมาเยือนร้านแมวผีทั้งที ก็คงจะมีเล่มใดเล่มหนึ่งที่สะดุดใจบ้าง

          “ถ้ามาร้านผมคุณอาจจะเจอ Ulysses ของ เจมส์ จอยซ์ (James Joyce) วรรณกรรมคลาสสิกระดับโลก วางอยู่คู่กับ พ่อรวยสอนลูก หนังสือฮาวทูแบบไทยๆ ก็ได้นะครับ”

          เมื่อถูกทักว่าคัดเลือกหนังสือได้เก่ง หลากหลาย และได้ของดีๆ ที่นักอ่านนิยมซื้อ มีหลักการอย่างไรในการเฟ้นหาหนังสือ ซี ตอบว่า…

          “ผมก็ไม่ได้มีเกณฑ์ในการเลือกเป็นพิเศษ แค่เลือกหนังสือที่ดีๆ ในแต่ละแนว แบบไหนก็มีโอกาสที่คนจะซื้อหมดแหละครับ ถ้าเลือกเอาแบบที่เราชอบอย่างเดียว มันต้องทำอาชีพอย่างอื่นเสริม ถ้ามีงานประจำอยู่แล้ว ให้อาชีพขายหนังสือเป็นเหมือนพื้นที่หลุมหลบภัย แบบนั้นก็โอเค แต่ถ้ายึดเป็นอาชีพหลักเราก็ต้องเรียนรู้ หาหนังสืออย่างอื่นมาเพิ่มเติม บางทีคนที่มาซื้อก็แนะนำเราด้วยนะครับ อย่างพวกหนังสือโป๊ ผมก็ไม่ได้เป็นคนที่สันทัดนะฮะ (หัวเราะ) เขาก็แนะนำมาบ้าง เลยค่อยๆ ลองหามาดู มาเรียนรู้ไปด้วย”

          แต่ซีก็ยังไม่ยอมรับอยู่ดีว่าตัวเองคือนักอ่านตัวยง เพียงแค่ ‘เคยอ่านมาบ้าง’ เท่านั้นเอง

          “ของมันก็ต้องเคยเห็นมาบ้างครับ เหมือนกับการซื้อขายพระเครื่อง เราก็ต้องรู้จักพระรุ่นนั้นรุ่นนี้ ผมเองก็ไม่ได้อ่านมาเยอะมากขนาดนั้น ส่วนตัวผมชอบวรรณกรรมไทยแนวเพื่อชีวิต สัจนิยม วรรณกรรมเกี่ยวกับการต่อสู้ของคน ครอบครัวผมก็ไม่ได้อ่านอะไรที่เป็นสาระความรู้เหมือนที่คนสมัยนี้ชอบอ่าน ก็อ่านอะไรแบบคู่สร้างคู่สม วรรณกรรมไทยก็อ่านของ โบตั๋น หรือ เหม เวชกร อ่านมาตั้งแต่เด็ก คนอื่นในครอบครัวก็อ่าน ผมเคยเห็นแม่อ่านนิตยสารแล้วก็ฉีกใส่เตาไฟเป็นเชื้อไฟด้วย อ่านไป ฉีกไป ไม่เหมือนคนสมัยนี้ที่รักหนังสืออย่างรุนแรง ความจริงหนังสือที่อ่าน นักเขียนที่ชอบ มันก็เปลี่ยนไปตามกาลเวลา ก็มีบ้างบางเล่มที่ชอบมาตลอด เหมือนกับเพลงนั่นแหละ เพลงไหนที่เราชอบ เราก็จะชอบอยู่อย่างนั้น”

          หลังจากหว่านล้อมอยู่นาน ซีก็ยอมบอกว่าหนังสือเล่มที่ ‘ชอบอยู่อย่างนั้น’ ก็คือ Atonement โดย เอียน แม็คอิวัน (Ian McEwan) หรือชื่อไทยคือ ตราฝังตรึง ตีพิมพ์โดย ไลต์เฮาส์ พับลิชชิ่ง

          ทุกวันนี้ ลี่ ยิงยาวเป็นผู้จัดการหน้าร้าน คอยดูแลเรื่องการขาย และคอยต้อนรับลูกค้า ในขณะที่ซีใช้เวลาอยู่ขอนแก่นแค่สัปดาห์ละ 3 วัน ก่อนที่จะออกไปตามล่าหาหนังสือตามตลาดนัดสินค้ามือสอง

          “ผมไปเลือกหนังสือคนเดียว ของแบบนี้ไปคนเดียวมันก็จะพริ้วกว่า ไม่ได้ไปเป็นหมู่คณะ ไม่มีหลักการอะไรเป็นพิเศษ แค่ต้องไวหน่อย ยิ่งถ้าเป็นคลองถมยิ่งต้องไวเป็นพิเศษ ถ้าหนังสือเพิ่งลงมาเลย แล้วเราได้เลือกดูเป็นคนแรกๆ ราคาก็จะเป็นอีกแบบหนึ่ง ก็จะได้ราคาเปิดหัว ราคามันจะไม่ใช่ราคาทั่วไป เราก็เลยต้องเลือกหนังสือที่ดีๆ ที่จะขายได้ ขายแล้วได้กำไรแน่ๆ เพราะราคาก็ไม่ได้น้อย”

          ตอนนี้…ซีสั่งสมเทคนิคในการซื้อหนังสือจนเชี่ยวชาญ

          “เคยหยิบหนังสือมา เขาบอกราคาเท่าไหร่ เราก็ให้เท่านั้นเลย ครั้งต่อไปจะไม่ได้ราคานี้แล้วนะครับ ต่อให้เจอหนังสือดีๆ ราคาถูกมาก ก็ต้องต่อราคาพอเป็นธรรมเนียม ให้รู้ว่าหนังสือเล่มนี้ไม่ได้สำคัญมากนะ ไม่ซื้อก็ได้นะ”  

          เรียกได้ว่าแทบจะไม่ได้อยู่ติดบ้านที่ขอนแก่นเลยทีเดียว บางทีต้องออกเดินทางตั้งแต่ตี 1 ตี 2 เพื่อไปซื้อหนังสือต่อจากพ่อค้าแม่ค้าคนกลางที่เดินทางไปเหมาหนังสือมาจากโรงคัดแยกกระดาษ เดินทางบ่อยจนเจ้าตัวเล่นมุกว่าระยะทางไป-กลับรวมกันตลอดเวลาหลายปีมานี้ อาจจะไกลพอๆ กับระยะทางจากโลกไปถึงดาวอังคารแล้ว เพราะระยะทางจากขอนแก่นถึงจุดหมายปลายทางขาหนึ่งก็เกือบ 500 กิโลเมตรเห็นจะได้

          “จะว่าไป ผมก็มองว่าตัวเองอยู่ค่อนไปทางปลายน้ำในธุรกิจหนังสือมือสองนี้นะ บางทีก็หาซื้อยาก เพราะเขาซื้อขายหลังไมค์กันก่อนหน้าแล้ว แต่ก็พอจะมีคนที่เก็บของเอาไว้ให้เราบ้าง ส่วนมากเขาจะไปที่โรงคัดแยกกระดาษ เลือกหนังสือสภาพดีๆ ใช่ว่าทุกคนจะเข้าไปได้ เขาอยู่ในวงการนี้มานาน รู้ว่าควรจะเข้าตรงไหน พวกนี้เขาจะซื้อหนังสือมาเยอะมาก เพื่อเอามาขายต่อ”

          น้ำเสียงของซีตอนเล่าถึงการเลือกหนังสือดูมีความสุข แต่ความเป็นจริงของโลกคือ ไม่มีอาชีพใดโรยด้วยกลีบกุหลาบเสมอไป ทุกวันนี้หนังสือมือสองดีๆ เริ่มหายากด้วยเหตุผลหลายประการ

          “เดี๋ยวนี้ เสน่ห์แบบนั้นหายไปเยอะแล้วครับ ตั้งแต่ช่วงหลังโควิดมา พวกพ่อค้าออนไลน์ตามหาหนังสือกันเยอะ ในสื่อโซเชียลหนังสือมือสองมันขายดี เวลาไปหาหนังสือเนี่ย ลำบากมากเลย ต้องทำงานหนักขึ้น เมื่อก่อนเดินแค่ 1 ตลาดก็ได้แล้ว เดี๋ยวนี้ต้องเพิ่มตลาดอื่นๆ ด้วย ตามหาจนทั่ว เหนื่อยพอสมควร”

          อีกสาเหตุที่หนังสือมือสองในตลาดของเก่าหาซื้อได้ยากขึ้น เพราะช่วงที่รัฐบาลนำเข้าขยะรีไซเคิลจากต่างประเทศ ทำให้อัตราการซื้อขายขยะรีไซเคิลภายในประเทศลดต่ำลง โรงงานมีทางเลือกในการซื้อมากขึ้น แต่พ่อค้าของเก่ากลับต้องพบกับความยากลำบาก เมื่อราคาของเก่าที่เคยได้จากตามบ้านลดลงจนแทบไม่คุ้มค่ากับการนำไปขายให้โรงงาน

          “หนังสือหายาก เพราะคนรับซื้อของเก่าก็ไม่ได้ของมาจากตามบ้าน เมื่อก่อนมีหนังสือดีๆ เยอะ แต่ เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยมีแล้ว เส้นทางของหนังสือมือสองเริ่มจากคนทิ้งหนังสือ หนังสือถูกส่งไปที่โรงคัดแยกกระดาษ ไปถึงพ่อค้าคนกลาง พ่อค้าปลีก แล้วก็ลูกค้า พอถึงมือลูกค้าแล้วบางทีเส้นทางก็นิ่งอยู่อย่างนั้นแหละจนกว่าเจ้าของจะตาย

          ทุกวันนี้ บางคนใช้โซเชียลมีเดีย อ่านหนังสือจบแล้วก็ไม่จำเป็นต้องทิ้ง เขาสามารถขายต่อด้วยตนเองได้เลย หนังสือก็จะวนเวียนอยู่ในโลกโซเชียลอย่างนั้นแหละ บางทีหนังสือเล่มหนึ่งหมุนวนอยู่อย่างนั้น เปลี่ยนเจ้าของไปเรื่อยๆ บางเล่มอาจจะไม่มีใครอ่านเลยด้วยซ้ำ ยิ่งหนังสือเก่าๆ เค้าเล่นกันแบบพระเครื่อง ไม่ค่อยเปิดอ่านกัน เพราะกลัวว่าหนังสือจะบอบช้ำ ซื้อเล่มเก่าไปสะสม อ่านเล่มใหม่เอา”

          ฟังซีเล่ามาถึงตอนนี้ มองเห็นภาพว่าการขายหนังสือมือสองเป็นธุรกิจที่น่าจะรายได้ดี มีลูกค้าอยู่ตลอด

           “ถ้ามันดีจริงผมก็ต้องรวยสิ แต่นี่ก็ยังไม่รวยไง มันก็มีคนที่ขายหนังสือแล้วรวยนะ แบบที่ขายในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ขายเป็นบูท ไม่มีหน้าร้านนะ แต่จะตระเวนขายไปทั่วประเทศ พวกนี้รวยมากนะครับ เขาเหมาโกดังของสำนักพิมพ์ไปขายเลย ออกรถใหม่จากรถเล็กๆ เป็นรถ 6 ล้อ บางทีไปงานหนังสือที่เชียงใหม่ หาดใหญ่ ก็จะเจอกลุ่มนี้”

          แต่สำหรับซี เท่านี้ก็ถือว่าเพียงพอแล้วกับการทำธุรกิจ

           “ผมทำแค่นี้ก็พอแล้ว มากกว่านี้จะเกินกำลัง ที่ทำอยู่นี่ก็จ้างคนช่วยไม่ได้แล้วนะครับ มันจะเสียสมดุลไป ตอนเด็กๆ เราไฟแรงมาก ตอนนี้ก็ยังสนุกกับการหาหนังสือนะ อาจจะเหนื่อยล้าบ้างเพราะเราทำงานหนักขึ้น แต่ได้หนังสือน้อยลง แต่ว่าเราทำแล้วยังสนุกกับมัน ถ้าไม่สนุกก็คงเลิกทำไปแล้ว ยังจำได้ว่าเล่มแรกๆ ที่ขายได้คือ หนังสือของสำนักพิมพ์ผีเสื้อ ขายดีมาก ลูกค้าชอบกันเยอะ แล้วคนอ่านก็โตขึ้นมาพร้อมๆ กับผม อ่านหนังสือที่ลึกขึ้น หายากขึ้น”

          สำหรับวันนี้ ธุรกิจก็ยังดำเนินมาเรื่อยๆ ลูกค้าเก่าเดินทางตามมาอุดหนุนถึงทำเลใหม่ แม้ว่าจะไกลจากมหาวิทยาลัยอีกนิด ลูกค้านักสะสมบางคนก็ฝากออร์เดอร์เอาไว้ เวลามีหนังสือดีๆ ที่ตรงใจก็อุดหนุน แต่ที่แน่ๆ ทั้งสองคนยืนยันว่า หนังสือที่สรรหามา ไม่เคยขายไม่ออกและเหลือค้างติดร้าน

           “รายได้มาจากหลายส่วน มีทั้งออนไลน์ หน้าร้าน แล้วก็เปิดบูทที่งานมหกรรมหนังสือที่ขอนแก่น หน้าร้านออนไลน์ เราก็ขายมา 7-8 ปี แล้ว ไม่ได้โฟกัสว่ามันจะต้องเวิร์ก แต่ถือว่ามาช่วยเสริมกันมากกว่า มีหลายๆ ช่องทาง ช่วงหลังก็ขายได้จากทางนี้เยอะอยู่ แต่ต้องเป็นหนังสือที่ดีจริงๆ”

          เมื่อใกล้จะปิดท้ายการสัมภาษณ์ น้ำเสียงของซีเจืออารมณ์ขัน

           “เห็นร้านเรากระจอกๆ แบบนี้ แต่ที่นี่ไม่มีวันเจ๊งนะครับ”

          ทำไมล่ะ…

           “ก็มันเล็กอยู่แล้ว มันเลยไม่มีทางล้มไง…”

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก