ใครคือคนที่มีหน้าที่สอน Data Literacy

514 views
5 mins
April 2, 2024

          เมื่อใครๆ ต่างเห็นพ้องต้องกันว่า Data Literacy เป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนควรจะมี และเราควรสร้างสิ่งนี้ให้กับเด็กๆ ของเรา คำถามต่อมาก็คือ ใครควรต้องเป็นคนรับผิดชอบ ผู้ปกครอง สังคม หรือโรงเรียน

          ถ้าคำตอบคือโรงเรียน หน้าที่นี้จะเป็นของใคร ครูงั้นหรือ ครูที่สอนวิชาอะไร

          ถ้าเรามองการเรียนรู้เกี่ยวกับข้อมูลในฐานะศาสตร์ที่มีเนื้อหาความรู้ ครูที่มีหน้าที่สอนสิ่งนี้ ก็น่าจะเป็นครูคณิตศาสตร์และคอมพิวเตอร์ เหมือนกับที่ครูสังคมก็มีหน้าที่สอนเนื้อหาเกี่ยวกับกระบวนการประชาธิปไตย ระบอบการปกครองมีกี่แบบ แต่ละแบบต่างกันอย่างไร และกลไกประชาธิปไตยนั้นทำงานอย่างไร

          แต่เราก็รู้กันดีว่าแค่นั้นยังไม่พอ สุดท้ายการสอนให้นักเรียนเคารพเสียงข้างมาก รู้จักหน้าที่ เคารพ และไม่ละเมิดสิทธิของคนอื่น ก็ไม่ได้เป็นแค่หน้าที่ของครูสอนวิชาสังคม หากเป็นเรื่องของการสร้างสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้เหล่านั้น เพราะถึงแม้ว่าครูสังคมจะพร่ำสอนเรื่องประชาธิปไตยแทบตาย แต่สุดท้ายถ้านักเรียนเลือกประธานนักเรียนกันมาแล้วโดนครูเปลี่ยนเป็นคนที่ครูถูกใจมากกว่า หรือเมื่อประธานนักเรียนเสนออะไรไป ครูก็ปัดตกโดยไม่มีเหตุผล นักเรียนก็จะไม่มีวันซึมซับสิ่งเหล่านี้

          การสร้าง Data Literacy ก็เช่นกัน การสร้างสภาพแวดล้อมที่ทำให้นักเรียนมองเห็นว่าข้อมูลไม่ใช่สิ่งแปลกปลอมไปจากชีวิตของเขาจึงเป็นเรื่องสำคัญ literacy นั้นไม่เหมือนกับ skill หรือ knowledge ที่สามารถบอกหรือสอนกันได้ แต่ต้องเกิดจากการเห็นซ้ำๆ และนึกถึงมันซ้ำๆ จนเป็นเรื่องชินตา และมันจะไม่มีทางเกิดขึ้นได้หากผู้ใหญ่ในโรงเรียนไม่แสดงให้เด็กๆ เห็นเป็นตัวอย่าง ว่าพวกเราเองก็ใช้ข้อมูลเหมือนกัน

          เมื่อพูดถึงการใช้ข้อมูลในโรงเรียน บางคนอาจจะนึกไปถึงเครื่องมือเก่าแก่อันหนึ่งที่เรียกว่า classroom data wall ที่ครูประจำชั้นจะเอาคะแนน หรือ progress ของกิจกรรมบางอย่าง เช่น คะแนนการอ่านของนักเรียนแต่ละคนมาแปะบนบอร์ดเพื่อให้เห็นความก้าวหน้า ด้วยความเชื่อที่ว่ามันจะสร้างแรงกระตุ้นให้นักเรียนรู้สึกอยากพัฒนาตัวเอง

          แต่ไอเดียนี้ก็ถูกโจมตีอย่างหนักในเรื่องความเป็นส่วนตัวของนักเรียน คนที่ไม่เห็นด้วยมองว่า การเอาข้อมูลของนักเรียนมาขึ้นกระดานแบบนี้ ก็ไม่ต่างจากการประจาน ซึ่งอาจนำไปสู่การถูกบูลลี่สำหรับเด็กที่มีความก้าวหน้าน้อยกว่าเพื่อน ไม่ส่งผลดีทั้งในแง่การกระตุ้นให้นักเรียนพัฒนาตัวเอง และพานจะทำให้นักเรียนรู้สึกว่าข้อมูลเป็นเรื่องของการประชันขันแข่งไปเสียอีก

ใครคือคนที่มีหน้าที่สอน Data Literacy
Photo: Portable Partitions Australia

          แต่ถ้าเราบิดไปใช้ข้อมูลอื่นๆ ที่ไม่ติดปัญหาเรื่องความเป็นส่วนตัว แถมยังช่วยผลักดันประเด็นหรือรณรงค์เรื่องต่างๆ ที่เป็นปัญหาในโรงเรียนที่ต้องการไปด้วยกันเลยอาจจะดีกว่า ไอเดียหนึ่งคือการนำเสนอข้อมูล food waste เพื่อสร้างความตระหนักเรื่องการกินอาหารให้หมดของนักเรียน การนำเสนอข้อมูลแบบนี้นอกจากจะทำให้นักเรียนรู้สึกถึงปริมาณของ food waste ซึ่งมากมายแบบเชิงประจักษ์ยิ่งกว่าคำพูดที่ครูบอกแล้ว ยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อกระตุ้นให้เห็นถึงพัฒนาการและผลจากการรณรงค์ โดยอาจแสดงปริมาณ food waste ในแต่ละเดือนให้เห็นว่าโรงเรียนของเรากำลังพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้นมากแค่ไหน และช่วงใดที่กำลังหย่อนยานเรื่องนี้

          หรือโรงเรียนบางแห่งในฝรั่งเศสพยายามที่จะส่งเสริมแนวคิดเรื่องความยั่งยืนทางอาหารด้วยการให้แม่ครัวมาเขียนที่กระดานตรงทางเข้าโรงอาหารในแต่ละวัน ว่าอาหารที่เสิร์ฟวันนั้นผลิตจากวัตถุดิบท้องถิ่นกี่เปอร์เซ็นต์ เป็นวัตถุดิบปลอดสารเคมีกี่เปอร์เซ็นต์

ใครคือคนที่มีหน้าที่สอน Data Literacy
Photo: Anne-Marie Bonneau
ใครคือคนที่มีหน้าที่สอน Data Literacy
Photo: Anne-Marie Bonneau

          แน่นอนว่าเป้าหมายหลักของการนำเสนอเหล่านี้ เป็นการส่งเสริมให้นักเรียนแยกขยะ ไม่กินอาหารเหลือ หรือตระหนักถึงเรื่องความมั่นคงทางอาหาร ก็เหมือนกับการเลือกประธานนักเรียน ที่เป้าหมายหลักของมัน คือการได้ตัวแทนนักเรียนมาทำงาน แต่สิ่งที่เรากำลังพูดกันอยู่นี้คือ ‘วิธีการ’

          ประธานนักเรียนอาจจะได้รับการแต่งตั้งโดยครูก็ได้ หรือจะจัดให้มีการเลือกตั้งก็ได้ การเลือกตั้งจะทำกันเงียบๆ ก็ได้ หรือจะจัดให้มีการปราศรัย และแถลงนโยบายเพิ่มเข้ามาด้วยก็ได้ เช่นกัน…เราอาจจะรณรงค์เรื่องขยะและความมั่นคงทางอาหารด้วยวิธีการอื่นๆ ได้ แต่วิธีการที่ผู้ใหญ่เลือกใช้นี่แหละ คือสิ่งที่นักเรียนจะมองมา เรียนรู้ และซึมซับไป

          มองไปให้ไกลกว่านั้น ออกไปนอกรั้วโรงเรียนสู่ระดับชุมชนบ้าง ซาแมนธา วิออตตี (Samantha Viotty) คือนักออกแบบโปรแกรม ศิลปินสื่อผสม และนักออกแบบหลักสูตรชาวอเมริกา เธอจบการศึกษาด้านการออกแบบจากวิทยาลัยเอเมอร์สัน (Emerson College) ทำวิทยานิพนธ์ว่าด้วยเรื่องการออกแบบกิจกรรมเพื่อเสริมสร้าง data literacy ในห้องสมุดประชาชนเมืองบอสตัน (Boston Public Library) โดยใช้ชื่อโปรเจกต์ว่า DIY Data Art ซึ่งเป็นการออกแบบร่วมกับบรรณารักษ์และเด็กๆ ที่ห้องสมุดดังกล่าว ด้วยเป้าหมายที่อยากจะลบภาพจำของคำว่า data ว่าเป็นแค่เรื่องของนักคณิตศาสตร์หรือนักสถิติออกไป เธออยากให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ data literacy ในแบบที่สร้างสรรค์ สนุก และที่สำคัญคือทำได้ด้วยมือ ไม่ต้องใช้เทคโนโลยีซับซ้อนอะไร ดูจากอุปกรณ์ที่เธอจะใช้ก็น่าสนุกสุดๆ แล้ว

ใครคือคนที่มีหน้าที่สอน Data Literacy
Photo: Samatha Viotty

          ในคู่มือของเธอประกอบไปด้วยกิจกรรม 7 อย่าง โดยในแต่ละกิจกรรมนั้น มีการระบุถึงคำถาม คำศัพท์ที่เกี่ยวข้อง วัตถุประสงค์การเรียนรู้ และผลลัพธ์ที่ผู้เรียนจะได้เอาไว้เรียบร้อย เรียกได้ว่าสามารถเอาไปใช้สอนจริงได้เลย หนึ่งในกิจกรรมที่น่ารักสุดๆ ในคู่มือของเธอชื่อว่า Gummy Bear Networks ที่ว่าด้วยเรื่องการหาความสัมพันธ์ระหว่างข้อมูลต่างๆ วิธีการก็ง่ายแสนง่าย อุปกรณ์ที่ต้องใช้ก็มีแค่ Gummy Bear หลายๆ สี และไม้จิ้มฟัน

          ขั้นแรก ให้นักเรียนลองยกตัวอย่างคนที่ตัวเองรู้จักในชีวิตในแต่ละหมวดหมู่มาจำนวนหนึ่ง เช่น เพื่อน ครอบครัว คนในโรงเรียน เพื่อนบ้าน และอื่นๆ จากนั้นก็กำหนดให้ Gummy Bear แต่ละตัวแทนคนแต่ละคนที่เราลิสต์รายชื่อไว้ และกำหนดให้แต่ละสีหมายถึงหมวดที่ต่างกันไป เช่น สีแดงอาจจะเป็นหมวดครอบครัว สีเขียวเป็นหมวดเพื่อน  เป็นต้น ทีนี้ก็มาถึงขั้นตอนที่สำคัญที่สุด คือให้นักเรียนระบุว่าใครรู้จักใครบ้าง แล้วเอาไม้จิ้มฟันเป็นตัวเชื่อมระหว่าง Gummy Bear สองตัวนั้น สร้างออกมาเป็นโครงข่ายความรู้จักกันของคนรอบตัวเรา

ใครคือคนที่มีหน้าที่สอน Data Literacy
Photo: Samatha Viotty

          ซาแมนธาทิ้งท้ายไว้ในคู่มือของเธอว่าอยากให้ทุกคนไม่ว่าจะเป็นบรรณารักษ์ ครู หรือพ่อแม่ ช่วยกันคิดกิจกรรมแบบนี้เยอะๆ หรือถ้ายังคิดไม่ออกก็สามารถเอากิจกรรมที่เธอออกแบบไว้ไปดัดแปลงให้เข้ากับสถานการณ์และบริบทของตัวเองก็ได้

          ตัวอย่างสุดท้ายก่อนจะจบบทความนี้ มาจากงาน Swab Barcelona Art Fair 2013 ถึงจะเก่าแล้ว แต่ยังเก๋าอยู่ ฟังจากชื่องานน่าจะคิดว่าเป็นงานแสดงศิลปะ ซึ่งก็เป็นแบบนั้นจริงๆ แต่ผลงานศิลปะชิ้นนี้ทำขึ้นมาจากข้อมูล ผลงานที่ว่าชื่อว่า The Data String โดย Domestic Data Streamers ซึ่งเป็นกลุ่มนักออกแบบที่มีเป้าหมายเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงด้วยข้อมูลและศิลปะ

          ไอเดียของ The Data String ไม่สลับซับซ้อน พวกเขาแค่อยากหาความสัมพันธ์ระหว่างข้อมูล และนำเสนอมันออกมาเป็นงานศิลปะ ชิ้นแรกที่จัดแสดงนั้นเกิดจากคำถามง่ายๆ ที่ว่า ใครบ้างที่ใช้ช้อน และใครบ้างที่ใช้ส้อม ตอนแรกบอร์ดนี้ก็จะมีแค่สีดำๆ โล่งๆ พร้อมกับหมุดที่ตอกเอาไว้เป็นหมวด ถ้าคุณใช้ช้อน คุณก็แค่หยิบด้ายสีแดงขึ้นมา แล้วเริ่มลากด้ายเส้นนั้นไปตามหมุดต่างๆ ตามลักษณะที่คุณเป็น แค่นั้นก็เสร็จ คุณได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของการทดลองและงานศิลปะนี้ไปเรียบร้อยแล้ว จากนั้นก็แค่รอให้มีคนมาช่วยกันลากให้เยอะ จนออกมาเป็นงานศิลปะที่แสดงให้เราเห็นความสัมพันธ์บางอย่าง

          ไอเดียนี้ถูกนำไปใช้ในหลายที่ทุกมุมโลก ด้วยคำถามที่แตกต่างกันไป แน่นอนว่าไม่ใช่เพื่อการเก็บข้อมูลไปใช้งานจริงๆ เพราะเราก็ต่างรู้กันดีว่าถ้าอยากจะเอาข้อมูลไปใช้วิเคราะห์ต่อ การเก็บด้วยแบบฟอร์มดิจิทัลนั้นดีกว่าการมานั่งร้อยเชือกแบบนี้อยู่แล้ว ถ้ามองอย่างฉาบฉวย สิ่งนี้อาจจะเป็นแค่กิมมิกเล็กๆ ที่ผู้จัดงานเลือกใช้เพื่อให้คนที่มาร่วมงานรู้สึกว่าตนได้มีส่วนร่วมเท่านั้น แต่ถ้ามองให้ลึกลงไป การเลือกกิจกรรมนี้มาเป็นกิมมิกก็แสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ของผู้จัดงานและองค์กร ว่ามีความเป็น Data Driven อยู่ในตัวไม่ใช่น้อย

          ดังนั้น ถ้าย้อนกลับมายังคำถามตั้งต้นที่ว่า ใครกันแน่ที่มีหน้าที่สอนเรื่อง Data Literacy ให้กับเด็กๆ ก็ต้องตอบว่าทุกคนนั่นแหละ ตั้งแต่ผู้ปกครอง สังคม และโรงเรียน สำหรับโรงเรียน สิ่งนี้ก็เหมือนกับการสร้าง literacy อื่นๆ ที่เราไม่ได้พูดถึงแค่เนื้อหาในบางวิชาเท่านั้น แต่เรากำลังพูดถึงการสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ในระดับโรงเรียน หรือเรียกเป็นภาษาอังกฤษเท่ๆ ว่า Informal Learning Environments ที่ไม่สามารถปล่อยให้แต่ละส่วนย่อยในโรงเรียนทำกันเองของใครของมันได้ เพราะมันต้องอาศัยการออกแบบร่วมกันในภาพใหญ่ มีการกำหนดทิศทาง และที่สำคัญที่สุด มันต้องเกิดจากผู้บริหารที่เห็นความสำคัญของเรื่องนี้

วีดิโอผลงาน The Data String


ที่มา

บทความ “15 Ways to Reduce Waste in School Cafeterias”จาก zerowastechef.com (Online)

บทความ “Better the Data You Know: Developing Youth Data Literacy in Schools and Informal Learning Environments” จาก cmsw.mit.edu (Online)

บทความ “Controversial Data: Are Data Walls right for the classroom” จาก portablepartitions.com.au (Online)

บทความ “Data literacy and young children: Design suggestions for a game intended to teach data literacy to children 8-10 years of age” จาก diva-portal.org (Online)

บทความ “DIY DATA ART ACTIVITY GUIDE” จาก itsliteracy.wordpress.com (Online)

บทความ “Empowering Students to be Data Literate: The Design and Implementation of a Learning Environment to Foster Critical Data Literacy” (Online)

บทความ “Grade 1 Participated in Data handling activity” จาก gdgoenkaglobal.com (Online)

บทความ “Why Kids Need Data Literacy, and How You Can Teach It” จาก slj.com (Online)

เว็บไซต์ domesticstreamers.com (Online)

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

PDPA Icon

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก