ผลกระทบจากโควิด-19 เปลี่ยนแปลงโลกที่เรารู้จักไปในทุกๆ ด้านไม่เว้นแม้แต่กับการศึกษา ในช่วงที่ผ่านมา สถานการณ์ต่างๆ อาจเปรียบได้กับสารเร่งปฏิกิริยาที่ทำให้รูปแบบของการเรียนรู้เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง และเทคโนโลยีได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของห้องเรียนมากกว่ายุคไหนๆ
เมื่อโลกใบเดิมไม่มีวันที่จะกลับมา หนทางเดียวที่จะทำได้คือการมองไปข้างหน้าว่าอะไรคือสิ่งที่ยังคงจำเป็นสำหรับการเรียนรู้ และอะไรที่ควรจะเพิ่มเติมเข้ามาเพื่อเสริมการศึกษาให้ไปต่อได้อย่างยั่งยืน
อีกก้าวกับ AI-ducation
ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ยังคงเติบโตในตลาดการศึกษาอย่างไม่มีที่สิ้นสุด โดยขยายตัวเกิน 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2020 และคาดว่าจะมีอัตราการเติบโตต่อปี (CARG) ระหว่างปี 2021 ถึง 2027 มากกว่า 40%
บทบาทของ AI ที่มีต่อแวดวงนี้ไม่ใช่การเข้ามาเพื่อแทนที่ครูอย่างเต็มตัวเนื่องจากยังมีการเรียนรู้ด้านอื่นๆ อย่างทักษะทางอารมณ์และสังคมที่ยังคงต้องพึ่งพามนุษย์ในการบ่มเพาะและสร้างเสริมความเข้าใจ แต่ AI ทำหน้าที่เสมือน “ครูผู้ช่วย” ที่จะเข้ามาแบ่งเบาหน้าที่บางส่วน อาทิ ด้านเนื้อหา และงานจิปาถะต่างๆ ที่ครูถือไว้จนล้นมือ
ในปัจจุบันนี้ AI ได้เข้ามาแบ่งเบาภาระของครูหลายด้าน อย่างเช่น งานเอกสารแบบแผน งานตัดเกรด หรือการตรวจข้อสอบ ที่มักพรากเอาเวลาที่ครูควรใช้สำหรับการเตรียมการสอนไป เมื่อมีผู้ช่วยที่รู้ใจและวางใจได้เข้ามาทำงานในส่วนนี้ ก็เท่ากับว่าครูมีเวลาให้กับเด็กๆ มากขึ้นด้วย
ในด้านของผู้เรียนเอง AI ก็ได้เข้ามาทำหน้าที่เสมือนครูสอนพิเศษที่รู้ใจเด็กๆ ยิ่งกว่าใคร โปรแกรมการเรียนหลายแอปพลิเคชันได้นำ AI และ Machine Learning (ML) เข้ามาเสริมทัพการเรียนรู้ให้เข้มข้นและเจาะจงลึกถึงปัญหาเฉพาะบุคคล อย่างเช่น Thinkster Math ที่จะวิเคราะห์ภาพว่าเด็กแต่ละคนคิดวิเคราะห์และแก้ปัญหาโจทย์ทางคณิตอย่างไร เพื่อให้ผู้สอนได้เห็นกระบวนความคิดของเด็กและสามารถให้คำแนะนำได้อย่างตรงจุด ดังนี้แล้ว AI จึงสามารถที่จะสร้างบทเรียนเฉพาะสำหรับเด็กแต่ละคนเพื่อเติมเต็มส่วนที่ยังไม่ถนัด โดยมีครูคอยให้คำปรึกษาและช่วยเหลือควบคู่ไปด้วยได้
นอกจากนี้ AI ยังเปิดโอกาสในการเรียนรู้ให้เพิ่มมากขึ้นทั้งความพร้อมในการตอบข้อสงสัยของผู้เรียนตลอด 24 ชั่วโมงผ่านแชทบอทที่วิเคราะห์กลั่นกรองคำตอบอย่างถูกต้องแม่นยำ รวมถึงการเปิดโอกาสให้นักเรียนสามารถเข้าถึงความรู้ได้ผ่านปลั๊กอินที่จะช่วยแปลสิ่งที่ครูผู้สอนบรรยายแบบเรียลไทม์เช่นกัน
AI ยังเข้าทำหน้าที่เสมือนผู้รักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ให้กับข้อมูลในโรงเรียนที่มีอยู่มหาศาล ผ่าน 3 กลยุทธ์หลักได้แก่ การตรวจจับภัยคุกคามทางไซเบอร์จากความผิดปกติที่ได้เรียนรู้จาก ML การคาดการณ์ภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้นพร้อมทั้งระบุช่องโหว่เพื่อปรับปรุงแก้ไขระบบสำหรับการป้องกันเหล่าแฮคเกอร์ได้อย่างทันท่วงที และการตอบสนองที่ในปัจจุบัน AI สามารถตรวจจับการโจมตีและหยุดยั้งมันได้ในเวลาเดียวกันเพื่อความปลอดภัยสูงสุดของฐานข้อมูลในสถานศึกษา
ออกแบบการเรียน Online ให้เด็กไม่กาย On Bed
สถานการณ์โรคระบาดที่เกิดขึ้นมัดมือชกการศึกษาให้ขับเคลื่อนเข้าสู่การเรียนออนไลน์อย่างเต็มขั้น ซึ่งก็ทำให้เกิดปัญหาด้านความพร้อมของทั้งตัวผู้เรียน ผู้สอน และแน่นอนว่าด้านหลักสูตรเองก็เช่นกัน เสียงสะท้อนจากผู้เรียนชี้ให้เห็นไปในทางเดียวกันว่านอกจากปัญหาเรื่องความพร้อมของอุปกรณ์การเรียนแล้ว ตัวหลักสูตรที่ไม่ได้ปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับการเรียนออนไลน์ ไม่สามารถจูงใจหรือช่วยให้เด็กๆ โฟกัสกับการเรียนได้เท่าที่ควร เมื่อบวกกับสภาพแวดล้อมที่ไม่ใช่ห้องเรียนแล้ว ก็ยิ่งเป็นเรื่องง่ายที่เด็กๆ จะเบี่ยงเบนความสนใจไปสู่สิ่งกระตุ้นเร้าอื่นๆ ที่เข้าถึงได้
ดังนั้น การออกแบบหลักสูตรออนไลน์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น จึงเป็นเรื่องที่สำคัญและจำเป็นเพื่อสร้างประสบการณ์ทางการเรียนและการสอนให้ดีกว่าเก่า ในปัจจุบันนี้สถานศึกษาหลายแห่งมีนักออกแบบการเรียนรู้คอยประจำการและปรับปรุงหลักสูตรการเรียนทางไกลให้ดีขึ้น เพราะแม้ว่าในอนาคตอาจมีการกลับไปเรียนออนไซต์ แต่ก็ไม่ได้ทำให้เราต้องถอยออกจากการพัฒนาหลักสูตรออนไลน์อยู่ดี
นักออกแบบการเรียนรู้ (Instructional Designer) คือหนึ่งในฟันเฟืองสำคัญสำหรับกระบวนการเรียนรู้ เมื่อการศึกษามีกระบวนการพัฒนาที่ต่อเนื่องคล้องไปกับการเกิดขึ้นของนวัตกรรมและการค้นพบใหม่ๆ ทำให้สื่อการสอนต้องปรับไปตามความเปลี่ยนแปลงนั้น อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงนั้นไม่ใช่เพียงแค่จะจับสิ่งใหม่เข้าไปในหลักสูตรเดิม แต่กระบวนการเรียนรู้ทั้งหมดจะต้องเปลี่ยนให้ทุกสิ่งสามารถเกื้อหนุนกันอย่างมีประสิทธิภาพ และนี่คือหน้าที่ของนักออกแบบการเรียนรู้ที่จะเข้ามาออกแบบหรือพัฒนาหลักสูตรใหม่ รวมถึงสร้างสื่ออย่างคู่มือการสอนและคู่มือสำหรับนักเรียนด้วย พวกเขาจะต้องวิเคราะห์และเลือกวิธีการที่เหมาะสมที่สุดเพื่อประสบการณ์การเรียนและการถ่ายทอดความรู้ที่มีประสิทธิภาพสูงสุด
ในช่วงปีที่ผ่านมากลุ่มคนเหล่านี้ได้ทำงานอย่างหนักแข่งกับเวลาสำหรับการเรียนรู้ที่ไม่รอใคร ทั้งการออกแบบการเรียนสำหรับนักเรียน รวมถึงตั้งกลุ่มช่วยเหลือครูอาจารย์ที่ต้องมาสอนออนไลน์อย่างกะทันหัน อีกทั้งยังต้องหาแนวทางการประเมินวัดผลการเรียนทางเลือกอื่นนอกจากการสอบ และยังต้องประเมินสื่อการสอนอย่างเทคโนโลยีให้เหมาะสมผ่านความตระหนักรู้ถึงความสามารถในการเข้าถึงอุปกรณ์ที่ไม่เท่าเทียมกัน ความต้องการจากพื้นฐานของแต่ละรายวิชา รวมถึงมาตรฐานของความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัว
Soft Skill คือทักษะสำคัญ
รายงานจาก “The World Economic Forum Future of Jobs” ชี้ให้เห็นว่าภายในปี 2025 ทักษะ Soft Skill อาทิ ความสามารถในการแก้ปัญหาที่ซับซ้อน การคิดเชิงวิพากษ์ ความคิดสร้างสรรค์ การบริหารคน และความฉลาดทางอารมณ์ จะกลายมาเป็นหนึ่งในทักษะสำคัญที่สุดในที่ทำงาน เพราะเราไม่อาจเก่งแค่ตำราแต่การประสานและทำงานร่วมกับผู้อื่นก็เป็นสิ่งที่สำคัญเช่นเดียวกัน
Soft Skill เป็นคุณลักษณะส่วนบุคคลที่มีอิทธิพลต่อความสามารถในการทำงานและโต้ตอบกับผู้อื่น ครอบคลุมในทักษะเช่น การทำงานเป็นทีม ความยืดหยุ่น การบริหารเวลา การสื่อสาร หรือการเอาใจใส่ผู้อื่น โดยทักษะเหล่านี้จะเอื้อให้บุคคลสามารถสร้างสัมพันธ์อันดีต่อกันได้ง่ายขึ้น รวมถึงสร้างความไว้วางใจต่อกัน และสามารถเป็นผู้นำให้กับทีมได้ การปลูกฝัง Soft Skill ให้กับเด็กๆ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ทั้งผู้ปกครองและครูจะต้องคำนึงเพื่อผลดีทั้งต่อตัวของเด็กๆ และการเข้าสังคมในอนาคต
อย่างไรก็ตามการขาดปฏิสัมพันธ์แบบซึ่งหน้าในช่วงเวลาที่ผ่านมาอาจทำให้การพัฒนาทักษะเหล่านี้ยากกว่าเดิมมาก ผลสำรวจจาก the Korean Federation of Teachers’ Associations ชี้ให้เห็นว่าปัญหาที่เลวร้ายที่สุดของการศึกษาที่ต้องเผชิญในยุคโควิด-19 คือ การขาดปฏิสัมพันธ์ซึ่งหน้าระหว่างครู นักเรียน และเพื่อนร่วมชั้นซึ่งบั่นทอนทักษะทางสังคม และลดความตระหนักรู้ต่อชุมชนลงด้วย โดยทักษะทางสังคมนับว่าเป็นหนึ่งใน Soft Skill ที่สำคัญในอนาคต การแสวงหาวิธีใหม่ๆ ที่จะช่วยปลูกฝังทักษะเหล่านี้จึงเป็นอีกโจทย์หนึ่งที่ต้องเร่งพัฒนา
ในช่วงที่ผ่านมา งานกลุ่มคือหนึ่งในกลวิธีสำคัญที่เปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ทักษะเหล่านี้ผ่านการวางแผน พูดคุย และจัดการเวลาให้เหมาะสม ทั้งยังสร้างเสริมความสนิทสนมกันระหว่างเพื่อนร่วมชั้น และกระตุ้นแรงจูงใจในการทำงานที่ตนเองได้มีโอกาสควบคุมอีกด้วย โดยเราอาจสร้างเสริมทักษะเหล่านี้ผ่านทางวิธีอื่นๆ อีกเช่น การเปิดโอกาสให้เด็กได้แสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่และฝึกเขียนบันทึกเพื่อเพิ่มพูนทักษะการสื่อสาร หรือกระตุ้นการตั้งคำถามแนววิพากษ์เช่น “ทำไม” หรือ “ถ้า” มากขึ้น
เล่นพร้อมเรียน แต่ไม่ได้เรียนเล่นๆ
เป็นเวลาหลายปีมาแล้วที่การเรียนผ่านการฟังและจดบันทึกกลายเป็นรูปแบบการเรียนที่ค่อนข้างจะล้าสมัย ในปัจจุบันนี้โรงเรียนต่างสนับสนุนให้เด็กได้เรียนรู้ผ่านการลองลงมือทำ รวมถึงการโต้ตอบผ่านวิธีการที่หลากหลายและแน่นอนว่าเกมก็เป็นหนึ่งในสื่อนั้นด้วย
Games Based Learning (GBL) นับเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติ ที่ออกแบบการเรียนรู้ผ่านการใช้เกมเป็นสื่อและให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ผ่านการเล่น มีจุดประสงค์เพื่อแก้ปัญหาการเรียนแบบเดิมๆ ที่ถูกมองว่าน่าเบื่อหรือไม่จูงใจให้เด็กๆ ได้สนุกสนานกับการเรียน ได้มีแรงจูงใจในการค้นหาคำตอบ เสริมสร้างการมีส่วนร่วมซึ่งเป็นหนึ่งในทักษะการเข้าสังคมพื้นฐาน และได้เล่นไปพร้อมกับเรียนรู้ในเวลาเดียวกัน โดยประเด็นที่สำคัญที่สุดคือเนื้อหานั้นจะสามารถนำไปใช้ในชีวิตจริงได้
ตัวอย่างของ GBL เช่น เกมกระดาน เกมต่อคำ เกมการ์ด หรือเกมสวมบทบาทที่ทุกคนจะได้ออกฝีไม้ลายมือในการแสดงสถานการณ์สมมติ รวมถึงในช่องทางดิจิทัลที่ครูสามารถแก้ไขหรือเพิ่มเนื้อหาตามหัวข้อที่ต้องการเล่น ซึ่งผลสำรวจพบว่าการเรียนรูปแบบนี้สร้างผลสัมฤทธิ์ทางคณิตศาสตร์ที่ดีขึ้น รวมถึงประสบความสำเร็จทั้งในด้านการมีส่วนร่วมและความเข้าใจของผู้เรียนเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ GBL ยังช่วยพัฒนาทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ ฝึกทักษะการแก้ปัญหาและการตัดสินใจได้ด้วย
เมื่อพูดถึงกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับเกมแล้ว ศัพท์อีกคำที่ดูจะคุ้นหูในช่วงหลังมานี้คือ Gamification ที่แม้จะขึ้นต้นด้วยเกม แต่ก็มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน ในขณะที่ Gamification หยิบยกเอาองค์ประกอบในเกมบางประการ มาใช้ในฉากที่ไม่ใช่เกม เพื่อกระตุ้นให้คนกระทำการไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ เหมือนการสะสมแต้มการใช้บริการเพื่อเก็บสิทธิพิเศษ ทว่า GBL กลับเป็นการใช้เกมในกระบวนการสอน เช่น การใช้เกมเศรษฐีในการสอนเรื่องที่เฉพาะเจาะจง และการประเมินผลต่างๆ ของ GBL ก็จะอยู่ในเกมนั้น ต่างกับ Gamification ที่การประเมินไม่ได้อยู่ในเกม
นอกจากประเด็นการเรียนรู้ข้างต้นแล้ว ยังมีเทรนด์การศึกษาในโลกปัจจุบันอีกมากมายที่อาจเปลี่ยนความหมายของการเรียนรู้ออกไปให้กว้างขึ้น ยกตัวอย่างเช่น “การเรียนรู้ตลอดชีวิต” ที่กระตุ้นการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมต่างๆ ที่สนใจ หรือการเรียนรู้แบบ “Micro-Credentials” ที่เราสามารถเลือกเรียนในหัวข้อเฉพาะที่เราสนใจจริงๆ เพื่อแลกกับประกาศนียบัตรเมื่อสำเร็จการเรียนหัวข้อนั้นๆ ซึ่งเปลี่ยนการเรียนรูปแบบเดิมๆ ที่เคยต้องเป็นไปตามหลักสูตรที่ได้จัดทำไว้และหันมาสนใจในตัวผู้เรียนแต่ละคนมากยิ่งขึ้น
อนาคตกำลังจะกลายมาเป็นปัจจุบันเข้าไปทุกขณะ และผู้ที่ปรับตัวได้ดีเท่านั้นถึงจะเป็นผู้ที่อยู่รอด การรักษาไว้ซึ่งคุณค่าของข้อปฏิบัติเดิมและเสริมด้วยการเพิ่มเข้ามาของหลักปฏิบัติใหม่อย่างสมดุล จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องคำนึงถึงเพื่อก้าวต่อไปของการศึกษาที่มีประสิทธิภาพ และเหมาะกับสังคมยุคที่กำลังจะมาถึง
ที่มา
บทความ “Where Is Education Heading Next?” จาก elearningindustry.com (Online)
รายงาน “Artificial Intelligence (AI) in Education Market” จาก gminsights.com (Online)
บทความ “Top 7 Ways Artificial Intelligence Is Used in Education” จาก trainingmag.com (Online)
บทความ “The Role of Artificial Intelligence in the Future of Education” จาก getsmarter.com (Online)
บทความ “Artificial Intelligence and Cybersecurity: What the Future Holds” จาก pecb.com (Online)
บทความ “Students are falling behind in online school. Where’s the COVID-19 ‘disaster plan’ to catch them up?” จาก usatoday.com (Online)
บทความ “Five Things Instructional Designers and Course Creators Did Right in Their Response to the COVID-19 Pandemic” จาก teachonline.ca (Online)
บทความ “What Is Instructional Design?” จาก td.org (Online)
บทความ “What Do Instructional Designers Do?” จาก online.purdue.edu (Online)
บทความ “The Importance of Soft Skills” จาก virtualspeech.com (Online)
บทความ “Teachers worry about students losing social skills during pandemic: survey” จาก koreaherald.com (Online)
บทความ “TOP 3 SOFT SKILLS YOUR CHILDREN NEED FOR THE FUTURE.” จาก sherwoodhigh.com (Online)
บทความ “Beyond the Test: How Teaching Soft Skills Helps Students Succeed” จาก resilienteducator.com (Online)
บทความ “Game-Based Learning: What Is It? GBL vs Gamification: Types and Benefits” จาก teacheracademy.eu (Online)
เอกสารประกอบการอบรม “Game Based Learning The Latest Trend Education ๒๐๑๙ เปลี่ยนห้องเรียนเป็นห้องเล่น”
บทความ “Understanding Game-Based Learning: Benefits, Potential Drawbacks and Where to Begin” จาก prodigygame.com (Online)
บทความ “What is Lifelong Learning, and Why Should you Turn Employees into Lifelong Learners?” จาก 360learning.com (Online)
บทความ “What is Micro Credentialing?” จาก study.com (Online)
Cover Photo by Nicolas Arnold on Unsplash