“ความปรารถนาแรงกล้าเท่านั้นที่จะดลบันดาลให้ทุกสิ่งเกิดขึ้นจริงได้”
ความปรารถนาแรงกล้าที่ว่าอาจเป็นความฝัน ความทะยานอยาก หรือแม้กระทั่งความตาย ความปรารถนาที่ไม่เพียงลงมือทำเพราะเชื่อในความเป็นไปได้ หาก ‘จำเป็น’ ต้อง ‘ทำให้ได้’
ความปรารถนาแรงกล้าดั่งความปรารถนาของไดแอน อาจารย์มหาวิทยาลัยที่เพิ่งสูญเสียสามีไป และโฮปที่เพิ่งให้กำเนิดลูกชายคนใหม่ ที่ทำให้ทั้งสองออกหา ลงมือสร้าง ‘Cohousing’ ชุมชนคนบ้านเดียวกัน ชุมชนที่ทั้งสองบอกว่าไม่ใช่แค่ความฝัน หากเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญในการมีชีวิตที่ดี
ไดแอน ร็อธบาร์ด มาร์โกลิส (Diane Rothbard Margolis) สูญเสียสามีของเธอในปี 1991 ปีแห่งการล่มสลายของสหภาพโซเวียต เปิดฉากยุค ‘ตลาดอยู่เหนือทุกสิ่ง’ (Market Triumphalism) หากไดแอน ในฐานะอาจารย์สังคมวิทยาผู้ศึกษาสังคมที่ตอบสนองความต้องการของมนุษย์กลับพบว่าในขณะที่ตลาดส่งเสริมคุณภาพสินค้าและบริการผ่านการแข่งขัน แนวคิดเชิงตลาดเหนือทุกสิ่งกลับไม่ได้ส่งเสริมคุณภาพชีวิตในแบบเดียวกัน
ไดแอนรู้ว่าเธออยู่บ้านเดี่ยวหลังเดิมที่เคยอยู่ร่วมกับสามีต่อไปได้ แต่เธอไม่ปรารถนาจะมีชีวิตอยู่อย่างซังกะตาย ช่วงเวลาโหดร้ายที่สุดของการอยู่คนเดียวคือช่วงเวลาแห่งความสุขของการอยู่ร่วมกัน นั่นคือ การทานข้าวเย็น วันหยุดสังสรรค์ ที่แม้เธอจะมีเพื่อนแวะเวียนมาหาบ้างในช่วงแรกของการสูญเสีย เธอรู้ดีว่านั่นเป็นเพียงชั่วคราว และเธอรู้ดีว่าเธอต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อไม่ให้ความเศร้าซึมเช่นนี้เป็นสภาวะถาวร
ความเป็นนักวิชาการทำให้เธอหาคำตอบผ่านหนังสือทั้งวิธีการรับมือกับความสูญเสีย การเตรียมตัวรับมือวัยชรา การหาความหมายของชีวิตในวันที่คิดว่าไม่เหลืออะไร จนกระทั่งมาเจอหนังสือว่าด้วยทางเลือกการใช้ชีวิตแบบใหม่ที่ชื่อว่า Cohousing: A Contemporary Approach to Housing Ourselves เขียนโดยเคธี (Kathryn McCamant) และชัค (Charles Durret) ที่แม้เธอจะรู้จักแนวคิดนี้มาก่อน แต่การสิ้นสุดของแนวคิดเชิงสาธารณะ (Common) ในช่วงเวลานั้นทำให้เธอไม่เคยคิดฝันถึงการใช้ชีวิตตามแนวคิดนี้ – ไม่จนกระทั่งเธอได้อ่านเรื่องราวของเคธีและชัค คู่รักสถาปนิกที่ออกเดินทางเพื่อดูต้นแบบ Bofaellsskaber (Cohousing) ในเดนมาร์กที่คัดค้านการแบ่งแยกทางสังคมอันเป็นผลพวงมาจากการเติบโตของระบบตลาด และเชื่อในวิถีเรียบง่ายอันเป็นพื้นฐานของมนุษย์ว่า ‘เด็กควรมีพ่อแม่หนึ่งร้อยคน’ (Children Should Have One Hundred Parents เขียนโดย Bodil Graae ในช่วงเริ่มต้นของกลุ่มริเริ่มสร้าง Cohousing ในเดนมาร์ก) เพื่อคานกับความกังวลอันเป็นผลจากการแยกขาดทางสังคมว่าการปล่อยให้เด็กออกมาเล่นนอกบ้านจะสร้างความรำคาญให้กับส่วนรวม
ไม่มี Bofaellsskaber ชุมชนอยู่ร่วมกันในแมสสาชูเซตส์เมืองที่เธออาศัยอยู่ในขณะนั้น หากไดแอนต้องการทางเลือกใหม่ในการใช้ชีวิต เธอไม่มีทางเลือกอื่นใด นอกจากสร้าง cohousing ในเมืองของเธอเอง (ในสหรัฐอเมริกาปี 1992 มี Cohousing อยู่เพียงเจ็ดแห่งเท่านั้นในโคโลราโด แคลิฟอร์เนีย และวอชิงตัน ในปี 2014 Cohousing มีจำนวนเพิ่มมากถึง 150 กว่าแห่งและเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในปัจจุบัน โดยเฉพาะหลังการระบาดของโควิด-19)
7 ปีหลังการสูญเสียสามี 5 ปีกับการประชุมพยายามรวมกลุ่ม 3 ปีกับการก่อสร้าง ‘Cambridge Cohousing’ (ที่ล่าช้าไปหนึ่งปีครึ่ง) ไดแอนย้ายเข้า ‘บ้าน’ แห่งนี้ในปี 1998 พร้อมกับ ‘เพื่อนบ้าน’ (Cohousers) ร่วมสี่สิบครัวเรือน บ้างอยู่คนเดียวเหมือนไดแอน บ้างเป็นครอบครัว และบ้างเป็นคู่ สัดส่วนความหลากหลายที่ไม่ใช่ความบังเอิญ แต่เป็นความตั้งใจออกแบบให้เป็นเช่นนั้น (Intentional Design) ตามชื่อเล่นที่ Cohousing ถูกขนานนามว่าเป็น ‘Intentional Community’ ชุมชนหมายมั่นที่ตั้งใจจะอยู่ร่วมกัน
ตั้งใจใช้ฉันทามติ (Consensus Over Conflict)
เดวิด โบลิเย (David Bollier) นักเขียนผู้ผลักดันแนวคิดคอมมอนให้มีที่ทางในสังคมทุนนิยม เคยเขียนสมการนิยามคอมมอนว่าคือทรัพยากร ชุมชน และระเบียบทางสังคม (Common = Resource + Community + a Set of Social Protocols) หาใช่การอยู่กันอย่างไร้ปกครองและจัดการไม่ ระเบียบทางสังคมและการจัดการจะแตกต่างไปในแต่ละกลุ่ม โดยใน Cambridge Cohousing นี้ ทุกคนตกลงร่วมกันว่าจะไม่แต่งตั้งผู้นำ จะไม่ใช้การนับเสียงส่วนมากเพื่อหาข้อสรุป แต่จะใช้ระบบฉันทามติแทน
“การโหวตมีจุดอ่อนหลายอย่างโดยเฉพาะในกลุ่มที่ต้องการสร้างความเท่าเทียม มันทำให้เกิดผู้ชนะและผู้แพ้ ก่อให้เกิดการแบ่งแยก แทนที่จะหาทางแก้ไขปัญหาที่เป็นที่พึงพอใจ”
ไดแอนแม้จะเป็นอาจารย์สังคมวิทยายอมรับว่าเธอสนับสนุนแนวคิดเหล่านี้เวลาอ่านและสอน แต่เธอเพิ่งรู้ซึ้งถึงความวุ่นวายของมันในการนำมาปฏิบัติจริง
“ฉันเบื่อ การประชุมของพวกเราเริ่มน่ารำคาญ” ฟีดแบ็กหลังการประชุมจากสมาชิกบางคน
แนวคิดเชิงอุดมการณ์พวกนี้ทำให้ไดแอนและเพื่อนสมาชิกมีความหวังในช่วงแรกๆ ว่าพวกเขาจะได้อยู่ใน ‘สังคมอุดมคติ’ ที่ออกแบบกันได้เอง หารู้ไม่ว่า ‘งานที่แท้จริง’ เริ่มต้นขึ้นเมื่อมีสิ่งที่ต้องตัดสินใจร่วมกัน ตั้งแต่การสรุปทำเล เลือกแปลงของแต่ละคน กำหนดพื้นที่ส่วนกลาง ขนาดห้องซักล้าง สัดส่วนความหลากหลายลูกบ้าน ฯลฯ และอีกสารพัดที่ไดแอนบอกว่าสะท้อนคุณค่าที่แต่ละคนให้อย่างแท้จริงยิ่งกว่าทำการสำรวจหรือประชุมพูดคุยกันในช่วงแรก
เช่น การหารือครั้งหนึ่งว่าด้วยสวนหลังบ้าน วาระเล็กๆ ที่สะท้อนถึงคุณค่าใหญ่ การตัดสินใจเลือกระหว่าง Private vs Common ที่ไดแอนตั้งข้อสังเกตว่าเมื่อถกกันในเชิงคุณค่านามธรรม “การพูดคุยนั้นก็ประเทืองปัญญาดี แต่หาข้อสรุปไม่ได้” แต่เมื่อใครคนหนึ่งเสนอให้คุยถึง “hopes and fears” ความหวังและความกังวล เช่น อยากเห็นลูกหลานวิ่งไปมาอย่างอิสระได้แต่ก็กังวลว่าจะสร้างความวุ่นวาย อยากเห็นพื้นที่สีเขียวเต็มตาแต่ก็กังวลเรื่องความเป็นส่วนตัว ฯลฯ ประเด็นเช่นนี้ที่ไม่อาจ (และไม่ควร) ตัดสินใจจากเสียงส่วนใหญ่ เพราะแม้สมาชิกบางกลุ่มอาจมีจำนวนน้อยกว่า เช่น สมาชิกที่มีลูกหรือมีความบกพร่องทางกาย แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าความต้องการเฉพาะตัวของเขาสำคัญน้อยกว่าผู้อื่นเลย การรับฟังความต้องการของทุกฝ่ายเพื่อหาฉันทามติที่ทุกฝ่ายพอใจจึงเป็นเรื่องสำคัญในกระบวนการตัดสินใจของชุมชน
อย่างไรก็ตาม ฉันทามติจากสมาชิก ณ ขณะนั้นก็ยังมีปัญหาในตัวมันเองด้วยโดยเฉพาะสมาชิกที่สนใจแต่ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะเป็นลูกบ้านหรือไม่ เพราะฉันทามติที่มาจากกลุ่มก็ยังเป็นเพียงเสียงสะท้อนจากกลุ่มในช่วงเวลานั้น และแม้จะไม่ใช่การนับคะแนนเสียงส่วนใหญ่ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าท่าทีการสื่อสารของแต่ละคนที่ต่างกัน อำนาจจากลำดับขั้นที่ไม่เท่ากันก็ส่งผลต่อฉันทามติไม่เท่ากันอยู่ดี
ยกตัวอย่าง การประชุมหาข้อสรุปเรื่องการติดลิฟต์หรือทางลาดตรงบันได การติดลิฟต์มีค่าใช้จ่ายมากกว่าแต่ตอบโจทย์ข้อจำกัดทางกายภาพทุกรูปแบบ หากสุดท้ายในการประชุมยาวนานที่ลงเอยด้วย ‘ฉันทามติ’ ที่ลงเอยด้วยการตั้งบันไดตรงทางลาด ไดแอนจำความรู้สึกเหนื่อยของเธอและคนในห้องวันนั้นได้เกินกว่าจะพูดอะไรบางอย่างที่ค้างคาใจออกไป …
“เราไม่ควรสร้างตึกที่เข้าถึงไม่ได้ มันขัดแย้งกับวิสัยทัศน์ของเรา”
จนกระทั่งการก่อสร้างเสร็จสิ้น มีสมาชิกผู้สนใจคนใหม่ต้องเปลี่ยนใจเพราะทางลาดตรงบันไดนั้นต้องอาศัยคนช่วยเข็นขึ้นอยู่ดี ไดแอนรู้ซึ้งถึงความสำคัญของการตัดสินใจกลุ่มวันนั้น และเห็นว่าฉันทามติต้องตั้งอยู่บนฐานของวิสัยทัศน์ (Vision) ที่สรุปรวมคุณค่าที่ทุกคนเห็นพ้องต้องกัน
ตั้งใจสร้างชุมชนก่อนสร้างบ้าน (Community Before Construction)
การมีส่วนร่วม (Participation) คือหนึ่งในหลักการสำคัญที่ชัคและเคธีย้ำไว้ในหนังสือ Cohousing: A Contemporary Approach to Housing Ourselves ตั้งแต่การร่วมสร้าง ร่วมออกแบบ ร่วมจัดตั้ง การมีส่วนร่วมช่วยกระตุ้นการตัดสินใจที่ทำให้รู้จักกัน และสร้างวัฒนธรรมกลุ่มร่วมกัน ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของการประกอบสร้าง ‘ชุมชน’
หากหลายครั้งไดแอนพบว่าไม่ง่ายเลยที่จะรู้ตัวและถอนตัวจากแนวคิดเชิงตลาดที่เราต่างคุ้นชิน บทเรียนครั้งใหญ่คือการว่าจ้างบริษัทอสังหาฯ ให้มาดูแลการก่อสร้างโครงการ ที่ในระยะสั้นง่ายกว่าเมื่อมีคนตัดสินใจคนเดียว หากในระยะยาวกลับไม่ตอบโจทย์ความต้องการของชุมชน และไม่ช่วยสร้างความสัมพันธ์ในกระบวนการนี้ที่เปิดให้ทุกฝ่ายได้พูดคุย ตกลง และรู้จักกัน
“เราต้องการใช้ร่วมกัน ไม่ใช่ได้ฝ่ายเดียว”
(We want to be inclusive, not exclusive.)
ลูกบ้านคนหนึ่งชี้แจงต่อหน้าสถาปนิกที่เสนอแปลนเต็มไปด้วยห้องหับต่างๆ ในบ้านแต่ละหลัง พื้นที่ส่วนตัวเพิ่มขึ้น พื้นที่ส่วนกลางลดลง กิจกรรมที่เอื้อให้ทำได้ในบ้านตัวเองมากขึ้น โอกาสได้เจอกันย่อมน้อยลง และผลกระทบอื่นๆ ที่ตามมา ไดแอนเรียนรู้ว่าการสร้างชุมชนหาใช่แค่รวมกลุ่มแล้วจบไป ‘งานที่แท้จริง’ ตามมาหลังจากนั้น และเมื่ออาคารบ้านเรือนยังต้องออกแบบให้ผู้คนมีปฏิสัมพันธ์ การอยู่ร่วมกันย่อมต้องอาศัยการ ‘ตั้งใจออกแบบ’ ให้ความสัมพันธ์นั้นเกิดขึ้น
ตั้งใจร่วมทุกข์ร่วมสุขไปด้วยกัน (To Weep and Cheer Together)
“ตอนเห็นบ้านครั้งแรก หนูรู้สึกเศร้านิดหน่อย หนูคิดว่ามันจะใหญ่กว่านี้ แต่พอย้ายเข้ามาอยู่จริง หนูมีพื้นที่ทั้งในบ้านนี้ บ้านของแคลร์ และยังมีส่วนกลางอีก บ้านหนูใหญ่มากๆ เลย”
ลูกบ้านวัยเก้าขวบตอบคำถามถึงความรู้สึกในการอยู่ที่นี่ในวันฉลองปีใหม่ร่วมกันปีแรกของ Cambridge Cohousing รอยยิ้มและเสียงหัวเราะในวันนี้ทำให้ไดแอนนึกย้อนกลับไปขอบคุณ ‘ความปรารถนาแรงกล้า’ ของตนเองตลอดเจ็ดปีที่ผ่านมา ความปรารถนาแรงกล้าที่ทำให้เธอก้าวข้ามสารพัดขวากหนาม ก้าวข้ามทั้งความรู้สึกผิดหวังเมื่อสมาชิกตั้งต้นที่ร่วมเริ่มหาที่มาด้วยกันทยอยกันไม่ไปต่อ ความสับสนเมื่อต้องทำหน้าที่กระบวนกรดำเนินการประชุมยาวนานเพื่อหาฉันทามติ ความกังวลเมื่อการก่อสร้างยืดเยื้อกว่าที่คาดการณ์ งบประมาณเริ่มบานปลาย และเธอต้องย้ายที่ซุกหัวนอนหกครั้งในหนึ่งปี ช่วงเวลาที่ไม่เพียงแต่ทำให้เธอสูญเสียข้าวของจากการย้ายไปมาแต่ยังสูญเสียหน้าที่การงาน (นึกถึงช่วงปลายปี 90s ที่ทุกคนยังใช้โทรศัพท์บ้านเพื่อการติดต่อ) และความนับถือในตนเองจากการต้องขนกระเป๋าสองใบขออาศัยบ้านคนรู้จักอยู่ชั่วคราว
แต่สภาวะ ‘ไร้บ้าน’ ของเธอก็มีจุดสิ้นสุด
ต่างจากอีกหลายคนที่ไร้บ้านตลอดกาล ไม่มีบ้านหลังต่อไปให้รอย้ายเข้า ไม่มีญาติมิตรคนต่อไปให้ขออาศัย
ใช่ การ ‘ไร้บ้าน’ (Homelessness) ที่ทำให้เธอเข้าใจความหมายของคำว่าบ้านยิ่งกว่าที่เคยว่าบ้านไม่ใช่แค่ปัจจัยสี่ที่ให้ความปลอดภัยทางกาย หากคือความมั่นคงทางจิตใจ และการได้มาอยู่ใน ‘ชุมชน’ ก็ทำให้เธอเข้าใจธรรมชาติของความเป็นมนุษย์ที่ล้วนต้องพึ่งพาอาศัยกัน
ช่วงเวลานั้นเองที่เธอเข้าใจความหมายของ ‘บ้าน’ และ ‘ชุมชน’ ชัดกว่าที่เคย บ้านที่ไม่ใช่แค่ปัจจัยสี่ที่ทำให้มีชีวิตอยู่ แต่คือตัวกำหนดคุณภาพชีวิต – ชีวิตหนึ่งเดียวที่เรามี และชุมชนที่ไม่ใช่แค่ผู้คนที่อยู่ละแวกข้างเคียง หากคือครอบครัวนอกสายเลือดที่คอยดูแล เติบโต…และอาจถึงขั้นเป็นผู้อยู่ข้างในวาระสุดท้ายของชีวิต
สามารถสั่งซื้อหนังสือได้ที่: NYU Press