จินตนาการเชิญชวนมนุษย์ให้คิดฝัน บ้างอยากเป็นจอมเวท อัศวิน กะลาสี นักบินรบ พ่อค้าเพชรพลอย นักดับเพลิง ฯลฯ ส่วนความจริงกางแขนกั้นแล้วตะโกนใส่หน้าเราว่า ‘หยุด’ เพราะมันเป็นไปไม่ได้ นี่อาจเป็นเหตุผลเล็กๆ ข้อหนึ่งที่มนุษย์ประดิษฐ์คิดเกมขึ้นมา เราทำศึกผ่านหมากรุก ทำสงครามผ่านหมากล้อม วางแผนสร้างเมือง ยึดดาวเคราะห์ และอื่นๆ ผ่านเกมคอมพิวเตอร์
ไม่มีชีวิตไหนตายได้เกินหนึ่งครั้ง แต่ในเกมคุณตายกี่ครั้งก็ได้ ทุกครั้งที่ตายคุณจะจดจำสาเหตุและพยายามหลีกเลี่ยงมันในครั้งต่อไป มันคือการลองผิดจากประสบการณ์เพื่อเรียนรู้ เหมือนที่ วรุตม์ นิมิตยนต์ อุปนายกสมาคมบอร์ดเกมประเทศไทย บอกกับเราว่ามนุษย์ไม่ได้เรียนรู้จากการลองถูกเท่านั้น
ในฐานะนักสร้างบอร์ดเกมเพื่อการเรียนรู้หรือ Game-based Learning เกมคือโลกจำลอง มันอนุญาตให้คุณสวมบทบาทและเปิดรับประสบการณ์จากเกม โดยที่ผู้เล่นเป็นเจ้าของความรู้ ต้องปะทะสังสรรค์ ต้องถกเถียงกับผู้เล่นคนอื่น หรือแม้กระทั่งกับครู
มันคือการทอนอำนาจของครู ของตำราในระบบการศึกษาที่ชอบยัดเยียดความเชื่อบางอย่างให้ ส่งคืนอำนาจกลับให้แก่เด็กๆ พร้อมกับส่งมอบเครื่องมือใหม่ๆ ในการเรียนรู้ให้แก่ครูผู้สอน ทำให้ครูผู้สอนลงมาอยู่ในระดับเดียวกับเด็กในฐานะผู้เล่นเกมคนหนึ่ง คือปรัชญาของ Deschooling Game ที่วรุตม์มีส่วนร่วม
ในฐานะผู้อำนวยการสถาบันบอร์ดเกมเพื่อการเรียนรู้ซึ่งอยู่ภายใต้ วรุตม์หวังว่าเกมจะเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ในชั้นเรียน และช่วยขยับเพดานการเรียนรู้ไม่ว่าเรื่องใดๆ ที่กดทับอยู่ในสังคมให้ขยับสูงขึ้นๆ แล้วปล่อยให้ผู้คนได้ถกเถียงกันแทนการใช้อำนาจใดๆ ก็ตามเพื่อทำให้บอร์ดเกมนั้นหายไป
เมื่อก่อนคุณก็เคยติดเกมคอมพิวเตอร์
ใช่ครับ ก็เล่นเกมปกติทั่วไป ต้องบอกว่าที่บ้านมีคอมพิวเตอร์ใช้ตั้งแต่เด็กๆ เราก็เล่นเกมมาตั้งแต่เด็ก มีพวกเครื่องคอนโซล เครื่องแฟมิลี่ ก็คือเล่นเกมมาตลอด เกมเป็นส่วนหนึ่งในชีวิต แต่ที่บ้านก็พยายามคุยกับเรา สมมติปิดเทอมวันหนึ่งเล่นได้ไม่เกินสามสี่ชั่วโมงนะ แต่ส่วนใหญ่ก็คือจะมีเกมอยู่ในส่วนหนึ่งของชีวิตตลอด ถ้าตามนิยามที่เขาว่ากันเล่นเกินวันละสองสามชั่วโมงก็ถืออยู่ในระดับที่ติดเพราะเล่นตลอด เป็นความบันเทิงหลักของชีวิต
ที่จริงไม่ได้มีปัญหา เรียนอยู่ในระดับดี ถ้าเกรดเฉลี่ยก็ 3 กว่า แต่ไม่ได้อยู่ระดับท็อปๆ ของห้อง แต่คิดว่าเกมไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการเรียน แต่ว่าการเรียนแบบที่เรารู้สึกว่ามันไม่สนุกหรือไม่ใช่สิ่งที่เราอยากเรียนต่างหากที่ส่งผลกระทบต่อผลการเรียน เพราะว่าช่วงมัธยมปลายของผม ไม่ค่อยชอบเข้าห้องเรียนเพราะไม่รู้สึกสนุกกับสิ่งที่ได้เรียน ไม่รู้สึกว่าเรากำลังเรียนอะไร มีประโยชน์อะไร ผลการเรียนก็ตก แต่ถามว่าเกี่ยวกับเกมมั้ย ไม่เกี่ยว เพราะผมอยู่โรงเรียนประจำเล่นเกมไม่ได้อยู่แล้ว จะเล่นเมื่อกลับมาบ้าน
ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องการจัดการมากกว่า ผมอาจจะโชคดีที่บ้านจัดการให้ เล่นได้ไม่เกินเท่านี้ตอนที่เรายังเด็ก สำหรับผมมันมีผลกระทบแน่ๆ สองเรื่อง เรื่องแรกคือการอ่านภาษาอังกฤษของผมจะค่อนข้างดีกว่าภาษาอังกฤษแบบฟังพูดเพราะในยุคก่อนเกมต้องอ่าน text เราก็จะได้ภาษา อีกอันหนึ่งคือระบบวิธีคิด คือมันขึ้นอยู่กับเกมที่เราเล่นด้วย อย่างผมชอบเล่นเกมแนวที่ต้องวางแผน มันก็ช่วยในการลำดับวิธีคิดต่างๆ ของเรา
แต่ผู้ใหญ่ก็คงมองว่ามันใช้เวลาไม่เป็นประโยชน์ เอาเวลาไปเล่นเกมมากกว่าจะเอาเวลาไปอ่านหนังสือก็มีส่วน อันนี้ก็เป็นมุมมองของเขา แต่พอเราโตมา งานของเราที่ทำทุกวันนี้เป็นงานที่เกี่ยวกับเกมเป็นหลักก็เลยรู้สึกว่านั่นเป็นประสบการณ์ที่ดีแล้วที่เราสะสมมา เราเลยเข้าใจในมุมนั้น
คุณคิดว่ามันจริงมั้ยที่เมื่อก่อนมักมีงานศึกษาบอกว่าเกมจะใส่ความรุนแรงเข้าไปในเด็ก
คิดว่ามันขึ้นอยู่กับเกมที่เล่น เราต้องยอมรับว่าเกมกับหนังอยู่ในหมวดเดียวกัน เป็นสื่อแบบหนึ่ง มันถูกจัดเรทไว้แล้วว่าอายุเท่านี้เล่นได้เท่านี้ มันมีคนที่คุยกันเรื่องนี้ ปัญหาคือไทยไม่มีการจัดการเรื่องนี้ ทำให้เด็กเข้าถึงเกมบางเกมที่เป็นเกมแบบผู้ใหญ่อายุ 18+ เขาก็ระบุมาแล้วว่าเกมนี้ต้องมีผู้ปกครองแนะนำ ก็ไม่แปลกที่เด็กจะมีความรุนแรงหรือความก้าวร้าวที่เกิดขึ้น
ในทางกลับกัน กีฬาก็รุนแรงเหมือนกัน เด็กเตะบอลใส่กัน เข้าบอลกันแรงๆ ชกต่อยกันก็มี เพียงแต่เรารู้สึกว่ากีฬามันมีประโยชน์เลยไม่เป็นไรหรอก ยอมแลกกับการที่เด็กทะเลาะกันตีกัน กีฬาข้อดีคือมีผู้ใหญ่เห็น มันมองเห็น ผู้ใหญ่เข้าใจและจัดการได้ แต่ว่าความรุนแรงที่อยู่ในเกมบางทีมันจัดการยากเพราะว่าผู้ใหญ่อาจจะไม่รู้จักเกมดีนัก
อย่างล่าสุดผมเห็นผู้ใหญ่ที่ทำงานวิจัยว่า เกมออนไลน์มีผลกระทบต่อเด็กโดยตรง คำว่าเกมออนไลน์ในมุมมองของผู้ใหญ่ก็คือ อะไรก็ตามที่เล่นผ่านอินเทอร์เน็ต แต่พอผมไปดูงานวิจัย อ๋อ เขาโฟกัสไปที่ ROV หรืออะไรก็ตามที่เล่นผ่านมือถือ แต่คำว่าเกมออนไลน์สำหรับคนเล่นเกมมันกว้างมาก มีหลายแนวมาก ดังนั้นแล้วปัญหาคือผู้ใหญ่เวลามองเข้าไปในเกมหรือคนที่ไม่เข้าใจก็จะตีเกมเป็นภาพกว้างๆ แต่จริงๆ ในเกมมีหลายอย่างมาก
สมมติเด็กเล่นเกม Roblox คำถามคือมีความรุนแรงมั้ย ก็อาจจะไม่มี แต่ก็เป็นเกมเหมือนกัน ดังนั้น สิ่งสำคัญผมคิดว่า เราพยายามทำความเข้าใจในสิ่งที่เราจะอธิบายมันหรือจะคุยกับมัน เราเข้าใจสิ่งที่เราจะบอกว่ามันเป็นแบบนั้นแบบนี้ขนาดไหน ไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นการพูดว่าเกมเท่ากับความรุนแรง งั้นหนังก็ความรุนแรงเหมือนกัน ละครก็ความรุนแรงเหมือนกัน อันนี้ต่างหากที่ต้องเซนเซอร์ แต่เกมที่เป็นตัวละครบางทีเราไปตีกรอบว่ามันรุนแรง มันก็ไม่แฟร์กับสื่อนั้น เพราะมันมีหมวด มีรูปแบบ มีความเฉพาะตัว
ทำไมคุณถึงหันมาสนใจบอร์ดเกม
ผมอธิบายแบบนี้ว่าจริงๆ แล้วไม่ได้เปลี่ยนความสนใจมา แต่เรามองว่าบอร์ดเกมก็คือเกมแบบหนึ่ง เราแค่ขยายความสนใจเรา นึกถึงว่าเมื่อก่อนเรามีแค่เกมคอมพิวเตอร์ มีเครื่องคอนโซล เล่นๆ ไปมีเกมมือถือก็เพิ่มมา บอร์ดเกมก็แตกเพิ่มมา ต้องบอกว่าเราสนใจเกมอยู่แล้วไม่ว่ามันจะอยู่ในแพลตฟอร์มไหนก็ตาม เราไม่ได้แบ่งว่าคนเล่นเกมดิจิทัลกับคนเล่นบอร์ดเกมแยกกัน คือจะมีคนบางกลุ่มที่เขารู้สึกว่าไม่ ฉันเป็นบอร์ดเกมเมอร์ ก็แล้วแต่ แต่ผมในฐานะคนเล่นเกม เกมไหนก็ได้ ผมเล่นได้หมด
แต่ถามว่ามาสนใจบอร์ดเกมมากขึ้นเพราะอะไร เพราะนอกจากผมจะเล่นเกมแล้ว อีกฝั่งผมทำงานด้านกระบวนการเรียนรู้ เติบโตมากับกลุ่มคนที่สนใจด้านการสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้ผู้คนเปลี่ยนแปลงเข้าใจนั่นนู่นนี่ ผมค้นพบว่าบอร์ดเกมน่าสนใจดี คือเกมดิจิทัลมีข้อจำกัดเพราะเทคโนโลยียังไม่ถึง สมมติเช่น จัดกระบวนการเรียนรู้สัก 30 คน เกมดิจิทัลจำเป็นต้องมีคอมพิวเตอร์ 30 เครื่อง หรืออะไรที่อาจจะวุ่นวายในการจัดการ แต่พอเป็นบอร์ดเกมปุ๊บ มันใช้อุปกรณ์บางอย่าง กระบวนการบางอย่างจำลองโลกของเกมมาเล่นในโลกปฏิบัติได้ ก็ง่ายดีและดูน่าสนใจ ผมก็เลยเริ่มสนใจบอร์ดเกมมากขึ้น เพราะฉะนั้นบอร์ดเกมสำหรับผมก็เป็นเกมที่เล่นสนุกด้วย และอีกมุมหนึ่งเป็นเครื่องมือด้านกระบวนการเรียนรู้ที่น่าสนใจก็เลยโฟกัสมันมากขึ้น
คุณขยายความสนใจมาสู่บอร์ดเกมและทำงานเกี่ยวกับกระบวนการเรียนรู้ แล้วก็มาทำ Deschooling Game คุณเห็นปัญหาอะไรในระบบการศึกษาไทยจึงต้องมาทำเรื่องเกมและการเรียนรู้
ต้องเล่าแบบนี้ว่าจริงๆ Deschooling Game มันไม่ได้ก่อตั้งโดยผมคนเดียว มันเริ่มต้นจากใครหลายๆ คนร่วมกันประกอบกันขึ้นมา มันเริ่มต้นบนวิธีคิดว่าห้องเรียนมีปัญหาเชิงอำนาจ คือว่าเวลาที่เราเรียนในห้องเรียนใครคนใดคนหนึ่งคือครูจะเป็นคนที่ถูกต้องที่สุด หนังสือจะเป็นสิ่งที่ถูกต้องที่สุด ดังนั้น เด็กนักเรียนมีหน้าที่รับความถูกต้องเหล่านี้ไว้กับตัว
ประเด็นคือเราไม่เชื่อเรื่องนั้น เราเชื่อเรื่องว่ามนุษย์สามารถสร้างความรู้ เป็นเจ้าของความรู้ เป็นเจ้าของความเข้าใจของตัวเองได้ สิ่งที่เด็กๆ ค้นพบ ได้เรียนรู้ก็เป็นความรู้ ความเข้าใจของเขา ไม่ใช่สิ่งที่ใครจะไปบอกว่าผิดหรือถูก
ทีนี้ห้องเรียนปกติไม่อนุญาตให้เด็กเป็นแบบนั้น แต่ว่าในเกมอนุญาตให้ทุกคนเป็นแบบนั้น เพราะว่าทุกคนเวลาเจอข้อเรียนรู้ในเกมไม่ได้เจอการที่เกมบอกว่าต้องรู้เรื่องนี้ แต่ทุกคนเล่นเสร็จแล้วค่อยๆ ประกอบความเข้าใจ มันเป็นกระบวนการเรียนรู้แบบที่เรียกว่าเป็นกระบวนการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ เกมเป็นพื้นที่จำลองให้คนไปเจอประสบการณ์และเกิดการเรียนรู้ขึ้น ดังนั้น ความรู้ที่เกิดขึ้นเขาเป็นเจ้าของเอง เป็นคนค้นพบเอง คิดค้นเอง มันก็เลยทำให้อำนาจในการเรียนรู้กลับมาอยู่ที่เราเป็นเจ้าของ อันนี้คือเชิงปรัชญาที่เราสนใจ
แต่ถ้าถอยมาอีกหน่อยก็คือว่าในห้องเรียนเราจะเจอการเรียนรู้แบบที่เป็น lecture-based ให้การเรียนรู้แบบท่องจำ information ค่อนข้างเยอะ ปัญหาคือเราค้นพบว่ามนุษย์เราจะเติบโตได้ต้องมีทักษะ ต้องมีอื่นใดอีกมาก ห้องเรียนไม่ค่อยมี พอใส่เกมเข้าไปปุ๊บมันทำให้เด็กๆ ต้องบริหารจัดการทรัพยากร ใช้สกิลด้วยตัวเอง มีความเข้าใจ ถกเถียง ก็เลยเป็นที่มาของการทำให้ห้องเรียนเปลี่ยนจากห้องเรียนที่ทุกคนนั่งฟังครู อ่านตำรา ให้กลายเป็นห้องเรียนที่ทุกคนมาลองลงมือทำด้วยตัวเอง ได้เรียนรู้จากประสบการณ์ที่ตัวเองเจอ ก็เลยเป็นที่มาของการใช้บอร์ดเกมเข้ามาในห้องเรียน
Deschooling Game ตัว De มันคล้ายกับ Decentralization คือการกระจายอำนาจ
ใช่ๆ คือลดความเป็นโรงเรียน ตอนนั้นที่เราตั้งขึ้นชื่อภาษาไทยมันชื่อเถื่อนเกม มาจากสองความหมาย ความหมายแรกคือเราเจอกันในที่ที่เรียกว่า มหา’ลัยเถื่อน เป็นกลุ่มคนที่รวมตัวกันภายใต้วิธีคิดเดียวกันว่าเราอยากจัดการศึกษาที่รัฐไม่ต้องรับรอง ทำไมรัฐต้องรับรอง รัฐเป็นใครมารับรองการเรียนรู้ของสังคม ตอนแรกที่เขาก่อตั้งเถื่อนเกม เขาก็ทำกันมา แล้วผมก็เข้ามาร่วม แล้วผมรู้สึกว่ามันดีจังอยากขยายเป็น social enterprise แบบหนึ่ง ในยุคนี้ก็จะเรียกว่า education entrepreneur เราพยายามทำให้มันจริงจังขึ้น
เป็นที่มาของ Deschooling Game จริงๆ คือชื่อที่ถอดออกมาจากเถื่อนเกม เถื่อนเลย ไม่จำเป็นต้องมีใครรับรอง แต่ก็ยังทำงานได้ พอมาเป็น Deschooling Game ก็คือการพยายามลดทอนความเป็นโรงเรียนลง เรารู้สึกว่าคำว่าโรงเรียนในตอนนั้นมันดูแข็งตัว ดูน่ากลัว ดูเป็นห้องสี่เหลี่ยมๆ พอใส่เกมเข้าไปมันเปิดความเป็นไปได้เยอะ
คุณกับทีมเคยพูดว่าสร้างบอร์ดเกมเพื่อเป็นเครื่องมือให้กับครูสำหรับเด็กๆ ได้เรียนรู้และบอกด้วยว่าครูขาดเครื่องมือ สถานการณ์ที่ครูขาดเครื่องมือมันเกิดขึ้นได้อย่างไร
ผมว่ามันไม่แปลกเลย ต้องบอกอย่างนี้ตัวระบบการศึกษาถูกออกแบบมาเพื่อผลิตคนที่เหมือนกันจำนวนมาก ไม่มีผิดนะครับ เพราะมันถูกสร้างตอนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ในยุคนั้นเขาจำเป็นต้องทำให้คนเข้าใจเร็วที่สุดเพื่อไปเป็นฟันเฟืองในอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโต
พอมันผ่านมาสองร้อยปีแล้ว เราค้นพบว่าสิ่งที่เกิดขึ้นก็คืออุตสาหกรรมยุคนี้ไม่ได้ต้องการคนที่เข้าใจ แต่ต้องการคนนำ คนที่มีทักษะหลากหลาย ต้องการอะไรมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะว่า Robot เข้ามา AI เข้ามา เราไม่ต้องการคนทำซ้ำหรือทำอะไรที่เป็นฟันเฟืองแล้วเพราะมีคนทำแล้ว ปัญหาคือว่าระบบการศึกษาโตตามไม่ทัน อธิบายง่ายๆ คือตำราเรียน ตอนนี้โลกเราเข้าใจเรื่องอัปเดตกันในสามเดือน ตำราเรียนกว่าจะทำขึ้นมาใหม่ใช้เวลาห้าปีหรือสองปี หรือต้องผ่านกระบวนการวิจัย มันนานมาก
ประเด็นก็คือว่าสื่อในมือครูก็ไม่มีด้วย ต้องคิดแบบนี้ครับ ถ้าเราย้อนกลับไปเมื่อ 7 ปีที่แล้วก่อน Deschooling Game ตั้ง และก่อนจะมีการทำเรื่องนี้ในชื่อเถื่อนเกม ยุคนั้นไม่มีการใช้บอร์ดเกมเข้าไปในห้องเรียนเลย ต้องนึกภาพยุคที่เกมไม่เคยปรากฏในห้องเรียน เกมเป็นตัวร้ายของการอยู่ในโรงเรียนด้วยซ้ำ เช่น เป็นการ์ดเกมถ้าไปนั่งเล่นโดนยึด มันน้อยมากที่จะมี เราก็เลยเริ่มต้นจากตรงนั้นว่าจะทำยังไงให้ครูสามารถออกแบบเกมในห้องเรียนได้ หมายถึงเขามีเครื่องมือรูปแบบใหม่ เพราะตอนนั้นยังไม่มีหรืออาจจะมีก็เป็นเกมเล่นกันในห้องเป็นกิจกรรมเฉยๆ การจำลองเกมเข้าไปในห้องเรียนยังน้อย
แม้กระทั่งในยุคนี้ก็ยังไม่ได้เยอะมากขนาดนั้น แต่ก็มีความสนใจมากขึ้น ครูมองเห็นความเป็นไปได้ใหม่ๆ มากขึ้น เพราะว่าสุดท้ายแล้วเราต้องยอมรับว่ากว่าระบบการศึกษาจะปล่อยสื่อเข้าไปในโรงเรียนมันผ่านกระบวนการเยอะมาก แม้กระทั่งปัจจุบันก็ยังมีการทำเกมเข้าไปในโรงเรียน แต่เป็นเกมแบบเกมเศรษฐีให้เด็กตอบคำถาม เพราะอย่างที่บอกว่าปรัชญาการเรียนรู้ในห้องเรียนในยุคสมัยก่อน คือการทำให้คนจำ information ต่างๆ ให้เร็วที่สุดเพราะต้องออกไปใช้งานต่อ ไปสอบต่อ
Deschooling Game ทำสองอย่างคือสร้างเกมที่จะช่วยในการเรียนรู้กับทำกระบวนการเรียนรู้เพื่อให้ครูสามารถทำเกมเองได้ เวลาสร้างบอร์ดเกมสักเกมอะไรคือตัวแก่นสารที่เราต้องยึดให้มั่นเพื่อจะผลิตเกมให้ตอบโจทย์
อันดับแรกต้องเข้าใจก่อนว่าเกมทำงานยังไง ถามว่ามันผิดมั้ยก็ไม่ผิดที่จะเอาเกมไปใช้งาน สมมติเรารู้ว่ามีดมีหน้าที่ไว้หั่น ถ้าเราเอามีดไปเคาะตะปู ได้มั้ย ก็ได้ แต่ไม่เวิร์ก สำหรับพวกผม Game-based Learning มันคือการจำลองโลกบางอย่างให้คนเล่นเข้าไปผ่านประสบการณ์นั้น ไปทดลอง ไปทำอะไรบางอย่าง
ล่าสุดที่พวกผมทำงานอยู่คือ เกมจะถูกออกแบบคอนเซปต์ว่าเกมนี้อยากให้ผู้เล่นเข้าใจว่าอะไร เช่น อยากให้ผู้เล่นเข้าใจว่าความเสี่ยงในการลงทุนประกอบด้วยสองสามเรื่อง ต้องกระจายความเสี่ยงนะ หรืออยากให้เข้าใจว่าแต่ละคนมีสิทธิเสรีภาพในการดูแลตัวเองอะไรก็ว่ากันไป กับอีกอันหนึ่งที่จะทำงานในเกมก็คือเรื่องของสกิล เพราะว่าเกมต้องเปิดโอกาสให้ผู้เล่นได้ลงมือทำ ดังนั้น ตัวเกมหลักการของมันที่ต้องยึดไว้ก็คือว่าเกมทำหน้าที่เป็นโลกจำลองให้ผู้คนได้ลงไปซึมซับประสบการณ์นั้น การเอาเกมไปใส่เนื้อหาจำนวนมากให้ผู้เล่นตอบคำถาม มันก็จะเหมือนใช้มีดไปตอกตะปูเพราะมันไม่คุ้ม ถ้าจะให้จำเนื้อหามากๆ ไปอ่านหนังสือดีกว่าหรือทำอินโฟกราฟิกจำง่ายๆ ดีกว่า แต่งเพลงให้จำง่ายกว่า
สมมติมีประมวลกฎหมายอยากให้เด็กจำอย่าเอามาใส่ในเกมเพราะอ่านเอาจะจำง่ายกว่า แต่ถ้ามีข้อกฎหมายบางอันอยากถกเถียงใช้กระบวนการเกมทำสถานการณ์ให้ผู้คนถกเถียงแบบนี้จะทำงานได้ดีกว่า เพราะฉะนั้นหัวใจแรกของการออกแบบเกมเลยคือ ต้องเข้าใจว่าเกมเป็นเครื่องมือแบบไหน จุดแข็งของเขาคือการออกแบบโลกหรือประสบการณ์ให้ผู้คนมาลงมือ ปะทะ พูดคุย ทำความเข้าใจกัน ไม่ใช่พื้นที่เอาเนื้อหาจำนวนมากมาใส่ให้คนพยายามไปอ่านในเกมเพราะคิดว่ามันสนุกซึ่งไม่ใช่
หมายความว่าเวลาที่เราจะทำ Game-based Learning เพื่อเรียนรู้เรื่องอะไรสักอย่าง มันต้องหยิบเอาประเด็นอะไรบางอย่างที่ถกเถียงกันได้เพื่อสร้างการพูดคุยเวลาเล่นเกม
อาจจะไม่ขนาดนั้น ผมคิดว่าสิ่งสำคัญคือต้องดูว่าอะไรในโลกความเป็นจริงที่เราคิดว่าสามารถสร้างการเรียนรู้ได้ เราหยิบมาใส่ในเกมเพื่อให้คนลองผิดลองถูก หัวใจมันก็คือลองผิดลองถูกเพราะมนุษย์เราไม่ได้เรียนรู้ผ่านการทำถูกอย่างเดียว จริงๆ แล้วเกมเป็นพื้นที่ที่ทำให้คนซ้อมล้มละลายได้ สมมติถ้าเกมออกแบบมาว่าเรามาดับไฟป่ากัน ดับพลาดก็ไม่เป็นไร คนที่ตายก็ตายในเกม แต่ถ้าดับพลาดในชีวิตจริง ที่ตายคือชีวิตคนจริงๆ เกมคือการเปิดพื้นที่ให้คนลองผิดลองถูกได้ เพราะฉะนั้นอะไรที่อยากให้คนลองผิดลองถูกเอาเกมจำลองสิ่งนั้นมาให้ลองทำ
เราจำลองให้เด็กเป็นผู้ร้ายก็ได้
ได้ครับ ทำได้หมดทุกอย่าง เหมือนที่ผมบอกว่าเกมเรทผู้ใหญ่ก็คือมีผู้ใหญ่คอยประกบ คุยว่าไอ้สิ่งที่ทำเป็นยังไงบ้าง เกมรุนแรงต่างๆ ในโลกนี้นะครับ ถ้าเด็กเล่นแล้วมีผู้ใหญ่นั่งข้างๆ ตั้งคำถามว่าเล่นแล้วเป็นยังไง มันสนุกยังไง เกิดอะไรขึ้น สนุกกับการเผาบ้านคนอื่น แล้วคนอื่นคิดยังไง มันก็เปลี่ยนทุกอย่างไปแล้วครับ ปัญหาก็คือผู้ใหญ่ขี้เกียจเลยพยายามทำเกมเด็กดีที่เด็กต้องคิดแบบนี้ รู้สึกแบบนี้ ต้องเชื่อแบบนี้ มันก็คือการไปตีกรอบว่าเขาต้องเป็นยังไง ก็ทำงานไม่ได้ แล้วก็มาบ่นว่าเด็กไม่เห็นอยากเล่นเกมเราเลย ใช่ ต้องบอกว่าเด็กเขาไม่โง่ เขารู้ว่าเกมนี้กำลังจะบอกอะไรเขา เขาไม่อยากเล่นหรอก ไม่สนุกขนาดนั้น
แต่เขาต้องหาผลลัพธ์นั้นด้วยตนเอง เขาต้องเป็นเจ้าของมันเอง ประสบการณ์ที่เกิดขึ้น ถ้าเราไป shape ว่าทุกคนต้องได้ประสบการณ์แบบนี้ มันเหมือนการทำข้อสอบที่รู้ว่าต้องตอบข้อนี้เท่านั้น ตอบข้ออื่นไม่มีทางถูกหรอก เด็กก็เลือกตอบเพื่อให้ได้คะแนน แต่ถามว่าเขาสนใจผลลัพธ์มั้ย เขาอาจจะไม่สนใจด้วยซ้ำ
เกมกระดาน tradition แบบหมากรุก หมากฮอส เรามาใช้เพื่อการเรียนรู้ได้มั้ย
จริงๆ แล้วเกมกระดานแบบนี้ ง่ายๆ อย่างโกะ (หมากล้อม) เขาก็ทำงานแบบนี้อยู่แล้ว หมายความว่าเล่นเสร็จก็มานั่งคุยกันว่าทำไมถึงตัดสินใจแบบนี้ ออกแบบยังไง จริงๆ สิ่งเหล่านี้อยู่ในหัว อันนี้เรียกว่าเป็นทฤษฎีการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์เรียกว่า Experiential Learning Cycle ของ David Kolb เขาบอกว่ามนุษย์เราปกติแล้วพอเจอประสบการณ์จะกลับมารีวิวเสมอว่าเกิดอะไรขึ้น แล้วเราก็จะมาตกผลึกกับตัวเองว่า อ๋อ มันมีความรู้บางอย่าง เช่น เราทอดไข่แล้วเรากลับมาดูว่าผลลัพธ์ของไข่เป็นยังไง ไม่อร่อย ไหม้ เราก็จะกลับมาคิดว่าอะไรที่ทำให้มันไหม้ แล้วครั้งหน้าเราถึงจะไปปรับสิ่งนั้นให้มันดีขึ้น
นี่คือทฤษฎีการเรียนรู้ที่อยู่ข้างใต้เกม เล่นครั้งแรก งง ไม่แน่ใจ วางแผนพลาด ไม่เป็นไร กลับมาปรับแผน ไปเล่นใหม่ แล้วก็วนแบบนี้ นี่คือ Experience-based learning ปัญหาของมันก็คือว่าถ้าในแง่การเรียนรู้ก็อย่าหยุดแค่วงในเกม ต้องเชื่อมเกมออกมาสู่โลกความเป็นจริง สมมติถามว่าเล่นโกะรอบนี้ วางแผนแบบนี้แล้วเป็นยังไง แล้วชีวิตจริงเราวางแผนเหมือนโกะมั้ย เราก็จะเห็นคนเก่งที่เขียนเกี่ยวกับการวางแผนในโกะเทียบเคียงกับธุรกิจหนึ่งสองสามสี่ วิธีคิดเดียวกัน เพียงแต่เราไม่ต้องเชื่อคนเขียน เราถามคนเล่นว่าเขาคิดยังไงแล้วจะปรับกับชีวิตจริงยังไง
แล้วกระบวนการฝึกอบรมให้คนไปสร้างเกมได้ด้วยตนเองต้องทำยังไง
ผมคิดว่าอาจจะไม่ต่างกันมาก สิ่งแรกที่ต้องเข้าใจในการทำเวิร์กชอปคือต้องเข้าใจว่าเกมทำงานยังไง ต้องบอกอย่างนี้ครับว่าเด็กๆ มีประสบการณ์กับเกมมากกว่าผู้ใหญ่เพราะเขาโตมาในสังคมที่เกมอยู่ใกล้เขามาก ดังนั้น ผู้ใหญ่ คุณครูที่จะไปสร้างเกมให้เขาเล่นต้องรู้ก่อนว่าพวกเขาเชี่ยวชาญอะไร สมมติว่าให้คุณครูออกแบบเกมให้เด็กเล่น เด็กบอกไม่สนุกหรอก ผมเคยเล่นหนึ่งสองสามสี่ห้ามาก็จบใช่มั้ย ดังนั้น สิ่งสำคัญครูต้องเข้าใจก่อนว่าเกมคืออะไร ก็ไม่ต่างอะไรกับการออกแบบเกม
ในเวิร์กชอปต้องเข้าใจก่อน ลองเล่นบอร์ดเกมจะได้รู้ว่าบอร์ดเกมเป็นแบบนี้ ทำงานแบบนี้ เข้าใจแบบนี้ แล้วก็ค่อยมาดูว่าอะไรคือกระบวนการข้างล่าง ภายใต้เกมมันทำงานบนทฤษฎีการเรียนรู้แบบไหน เข้าใจอะไร แบบไหน แล้วก็จะออกแบบได้เหมือนที่ออกแบบชั้นเรียน คือครูมีทักษะการออกแบบชั้นเรียนอยู่แล้ว เพียงแต่เราแค่บอกว่าแค่พลิกอีกนิดหนึ่งว่าชั้นเรียนมันมีแบบนี้ด้วยนะเท่านั้นเอง
การออกแบบเกมมีหลักการอย่างที่คุณว่า แต่การออกแบบเกมให้เด็กแต่ละวัยมีรายละเอียดต่างกันหรือเปล่า เช่น เด็กประถมกับเด็กมัธยมอาจจะมีประสบการณ์กับเกมมาต่างกัน
ในเด็กประถมบางทีต้องดูพัฒนาการของเด็ก บางเกมมันเกี่ยวเนื่องกับพัฒนาการ เช่น เกมที่ต้องการการจำลองเป็นตัวละคร เด็ก ป.2 อาจจะเล่นไม่ได้เพราะว่าพัฒนาการเขายังไม่ถึง อันนี้ก็จะมีส่วนอันหนึ่ง อันที่ 2 แน่นอนครับว่าเกมที่ซับซ้อนมากขึ้น เอาเข้าจริงแล้วเด็ก ป.5 ป.6 ก็เล่นเกมได้ระดับเดียวกับเด็กมัธยมแล้ว ความซับซ้อนไม่ได้ต่างกัน เพียงแต่ว่าจะเป็นเรื่องรูปแบบความสนุกที่ต่างกัน เช่น เด็กๆ อาจจะมีแรงเหลือ อยากออกแรง เกมที่ได้ใช้แรง ใช้มือ ใช้ทักษะอาจจะสนุกกว่า ขณะที่เด็กพออายุมากขึ้นก็อาจจะมีประสบการณ์หลายแบบ ประเด็นมีแค่ว่าการรู้ว่าประสบการณ์แบบไหนสนุกเป็นเรื่องสำคัญ เช่น เด็กๆ อาจจะสนุกกับประสบการณ์ที่ได้ออกแรง วิ่งไปวิ่งมา แต่พอโตขึ้นอาจมีประสบการณ์ว่านั่งดูหนังเฉยๆ ก็สนุกได้ ดังนั้นก็เลยสามารถทำให้เขา concentrate อยู่กับอะไรบางอย่างที่ใช้เวลานานๆ ได้มากขึ้น หรือเข้าใจว่าตัวเองมีประสบการณ์กับการสนุกหลายแบบก็เลยพอเลือกได้แล้วว่าฉันชอบอะไรแบบนี้ ฉันไม่ชอบอะไรแบบนี้
เวลาพูดถึงเกมก็มักคิดถึงความสนุก…
อันดับแรกต้องบอกแบบนี้ครับ เราจะรู้ได้ยังไงว่าเราสนุกกับรถไฟเหาะมั้ย
ต้องลอง
เหมือนกันครับ มันเป็นประสบการณ์เพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญอย่าเพิ่งคิดว่าเกมนี้ไม่สนุกหรอก เพราะเรายังไม่รู้เลยว่ามันเป็นยังไง หรือแม้กระทั่งฟังว่ามันน่าจะเล่นแบบนี้บางทีเราก็ไม่รู้ด้วยซ้ำครับว่ามันสนุก เพราะปัญหาของเกมก็คือ มันฟังวิธีเล่นแล้วเราจินตนาการไม่ออก เหมือนถ้าเราเล่าหนังให้ฟัง ยกตัวอย่างเช่น ผมเล่าเรื่อง Kingdom ที่เป็นซีรีส์เกาหลีว่าคนติดเชื้อซอมบี้ แล้วก็วิ่งไล่ฆ่ากัน ฟังดูก็ไม่น่าสนุก แต่คนติดกันทั้งบ้านทั้งเมือง
เพราะฉะนั้นเวลาเราทำความเข้าใจเรื่องประสบการณ์ว่าสนุกหรือไม่ มันอธิบายยากมาก มันจำเป็นต้องลองให้เขาเล่นด้วยตนเอง ลองสัมผัสสิ่งนั้นด้วยตัวเอง พอมันเป็นประสบการณ์ เหมือนเมนูอาหาร ถามว่ามันจะอร่อยเหรอเมนูนี้ คุณก็ต้องลองกิน แต่พอถอยมาเป็นเรื่องความสนุกมันก็เลยเท่ากับว่าเป็นรสนิยมของคน บางคนอาจจะสนุกกับอะไรง่ายๆ บางคนอาจจะชอบอะไรซับซ้อน แต่ไม่ได้หมายความว่าเขาไม่สนุก
เราต้องไม่มองความสนุกเป็นสนุกกับไม่สนุก แต่ถ้าเรามองมันเป็นสเปกตรัมว่าสนุกมากมั้ย อาจจะนิดหน่อย อันนี้มาก เราจะเข้าใจมากขึ้นว่าทุกๆ อันมันมีความสนุกอยู่ แต่ว่ามันตรงกับรสนิยมเรามั้ยเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
การออกแบบเกมโดยใช้ Design Thinking ทำ ใช้ ทดลอง ปรับ ตอนนี้พัฒนาการของทีมในการทำเกมต่างจากเมื่อสองสามปีก่อนแค่ไหน วิธีที่จะสร้างประสบการณ์ความสนุกในเกมเป็นอย่างไรเมื่อนำ Design Thinking มาใช้
จริงๆ ต้องบอกว่ากระบวนการไม่ได้เปลี่ยนครับ กระบวนการหลักก็ยังใช้ Design Thinking อยู่ แต่จะพูดว่า Design Thinking ซะทีเดียวก็อาจจะไม่ใช่ คือพอพูดถึง Design Thinking มันจะมีวิธีที่เขาใช้ เช่น ต้องไปสัมภาษณ์ แต่หลักการเราคือทำแล้วก็มาทดสอบ ทีนี้มันก็ต้องเลือกว่ากลุ่มเป้าหมายเป็นใคร สมมติจะทำให้เด็ก ป.4 ก็เอาเด็ก ป.4 มาดูว่าชีวิตเขาเป็นยังไง สนใจอะไร เล่นเกมแบบไหน สนุกกับอะไร ทำกรอบคร่าวๆ มา แล้วก็ทำเกม แล้วก็ไปทดสอบกับเด็ก ป.4 สิ่งสำคัญคือการกลับไปทดสอบกับกลุ่มเป้าหมายที่เราเลือก
สาเหตุที่ทำให้ผู้ใหญ่ที่ทำเกมหลายคนไม่ถูกใจเด็กเพราะเราทำเกมแล้วเราสนุก แต่ถามว่าเด็กสนุกมั้ย เป็นเพราะเราไม่ได้เอาไปทดสอบกับเขา หรือทดสอบกับเขาแบบมีเป้าหมายว่าเราคิดว่าเขาต้องเล่นแบบนี้แหละ แล้วพอเขาเล่นก็อาจจะไม่ชอบ แต่เรารู้สึกว่าไม่ เขาต้องเข้าใจแบบนี้แหละ เพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญก็คือยังเป็นเหมือนเดิมครับ จะพูดว่าเป็น Design Thinking ก็ใช่ หรือจะพูดแบบไม่ใช่ Design Thinking ก็ได้ หลักการคือทำ ออกแบบ prototype มาแล้วก็ไปทดสอบ จัดกลุ่มเป้าหมายมากพอ ทดสอบว่ามันเป็นยังไง ความสนุกก็เกิดจากการที่เราเลือก core ที่เราอยากจะเล่า แล้วดูว่าเขาชอบแค่ไหน สนุกแค่ไหน สนุกกับอะไร อะไรไม่สนุก
Game-based Learning มีข้อจำกัดมั้ย
มีครับ อย่างที่บอกว่ามันไม่เก่งในการเล่าเนื้อหาเยอะๆ ถ้าเราจะให้เขาจำหนังสือเล่มหนึ่งผ่านการเล่นเกม ผมก็จะบอกว่าไม่ได้ แต่ถ้าอยากให้เขาเข้าใจคอนเซปต์ว่าเล่มนี้พูดถึงเรื่องอะไร อย่างนี้ได้ เช่น อยากให้เด็กเล่นเกมแล้วจำตารางธาตุได้ เขาอาจจะจำไม่ได้ แต่เขาจะเข้าใจว่าการประกอบตัวของธาตุเป็นแบบนี้ ความรู้สึกของการที่ธาตุมาประกอบกันเป็นธาตุใหม่เป็นแบบนี้ ทำได้ แต่ถามว่าเขาจำได้มั้ย เขาอาจจะจำได้ประมาณหนึ่ง แต่น่าจะช้ากว่าไปนั่งจำจริงๆ แต่คำถามถัดมาก็ถามว่าจำทำไม
เวลาที่ต้องออกแบบเกมที่มีความเป็นนามธรรมมากๆ เช่น เรื่องสิทธิมนุษยชน เสรีภาพในการแสดงออก ความหลากหลาย ต้องทำอย่างไรจึงจะสื่อเรื่องเหล่านี้ผ่านเกมได้
ผมก็ต้องเอานามธรรมเหล่านี้มาตีความ เช่น คำว่าสิทธิมนุษยชนก็มีหลายด้าน ก็ตีความ ตั้งสมมติฐานว่าสิทธิมนุษยชนคือ การที่มนุษย์ทุกคนมีสิทธิในตัวเองแล้วก็เอาสิ่งนี้โยนลงไปให้ผู้เล่นลองตั้งคำถาม ลองแข่งกัน ลองหาวิธียังไงก็ได้ขยำสมมติฐานที่เราตั้งไว้ว่าสิทธิมนุษยชนคือการที่มนุษย์ทุกคนเท่าเทียมกันจริงมั้ย โยนลงไป แล้วก็อาจจะใส่กลไกไป เช่น กลไกให้ผู้เล่นเถียงกันเรื่องคำนี้ ให้ผู้เล่นตัดสินใจบนสถานการณ์ที่น่าจะใกล้กับคำนี้ว่าเขาคิดเหมือนกันมั้ย ก็จะเกิดการถกเถียงกัน แต่เกมแบบนี้ปลายจะเปิดซะหน่อย ก็ต้องไปหากลไกที่อนุญาตให้ผู้เล่นปลายเปิดได้ เช่น กลไกโหวต เราชอบคำตอบคนนี้อะไรอย่างนี้
เกมพวกนี้ส่วนใหญ่หัวใจไม่ได้ถูกออกแบบมาว่าใครชนะหรือแพ้ แต่อยู่ระหว่างกระบวนการที่เขาคุยกันระหว่างเกมว่าเกิดอะไรขึ้น เขาจะเติบโตระหว่างเล่น เขาไม่ได้เติบโตเพราะว่าคนนี้เก่ง คนนี้โตเยอะ วัดแบบนี้ไม่ได้ วัดระหว่างทางว่าเขาเข้าใจเรื่องนั้นมากขึ้นยังไง
ได้ยินข่าวเจ้าหน้าที่บุกยึดเกมประวัติศาสตร์ปาตานีเพราะเป็นภัยความมั่นคง ในฐานะคนออกแบบเกมคิดยังไง
ผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องเดียวกับหนังและเรื่องเดียวกับกฎหมายอื่นๆ ในประเทศนี้ ประเด็นปัญหาของเกมนี้มีแค่การ์ดที่เจาะเอ็นร้อยหวาย เวลาที่เราคุยเรื่องนี้มันมีปัญหาแน่ๆ หมายถึงว่ามีคนไม่เห็นด้วย เพียงแต่คนที่ไม่เห็นด้วยฝั่งหนึ่งมีอำนาจ อีกฝั่งไม่มีอำนาจ ผมคิดว่าตำรวจมีสิทธิ์ที่จะชวนคุย ไม่ควรไปจับ หรือคนที่ไม่เห็นด้วยเรื่องนี้ก็มาเปิดฟลอร์คุยกันว่าเกิดอะไรขึ้น ทางนี้ไม่เห็นด้วยเพราะอะไร ทางนี้ไม่เห็นด้วยเพราะอะไร แต่ไม่มีสิทธิ์ไปบอกว่าเขาผิด
สิ่งสำคัญคือต้องมาคุยกันก่อนว่าเกิดอะไรขึ้น มันเป็นยังไง เพราะเอาจริงแล้วตอนที่ตำรวจไปจับ ผมว่าตำรวจก็ไปโดยการถูกแจ้งตามเมนสตรีมว่ามันไม่ถูก ผิดกฎหมาย เพราะฉะนั้นต้องจับก่อน เป็นสื่อที่เป็นภัยต่อความมั่นคง หลายๆ เรื่องในประเทศนี้พอพูดถึงเป็นภัยต่อความมั่นคง ตำรวจเอง ทหารเอง ผมเข้าใจว่าเขาก็อาจจะไม่ได้อยากจับ อาจจะอยากเรียกมาคุยดีๆ แหละ แต่มันไม่มีทางทำอย่างอื่นที่ดีกว่านี้ได้ในการจะมานั่งคุยกัน ก็เลยเป็นวิธีที่เขาชิน อันนี้ผมพยายามมองทั้งสองฝั่งให้เท่าๆ กันว่าเจ้าหน้าที่เองก็ไม่อยากจะจับหรอก แต่เขาก็ไม่มีวิธีอื่น โดนคำสั่งจากข้างบนมา โดนสังคมกดดันมา เขาก็ต้องหาวิธีทำอะไรสักอย่างหนึ่ง งั้นมานั่งคุยกัน
การถูกเจ้าหน้าที่เรียกมาคุยมันก็เลยดูไม่ค่อยดี ซึ่งจริงๆ ถ้าเปิดพื้นที่ให้ เช่น มีสื่อเข้ามาช่วยเป็นตัวกลางให้ เจ้าหน้าที่หรือนักประวัติศาสตร์มาบอกว่าไม่เห็นด้วยเรื่องนี้ยังไง ในฐานะคนออกแบบพูดเรื่องนี้ยังไง สังคมก็จะถกเถียงกันว่ามันเกิดอะไรขึ้น มันไม่ได้มีแค่นี้ในไทย
มันมีหลายๆ เกมในโลก ไม่ได้หมายถึงว่าถูกจับนะครับ แต่ว่าในประเทศที่เขาไอ้นี่แล้ว เกมพวกนี้ถูกออกแบบมาแล้วก็ปล่อยให้นักประวัติศาสตร์ตีกัน แล้วเขาก็เถียงกัน เช่น บางเกมถูกออกแบบให้เป็นเรื่องสงคราม เขาก็เถียงกันว่าทำไมเกมนี้เป็นเรื่องนี้ล่ะ เกมที่ออกแบบเป็นเรื่องการปฏิวัติ นักประวัติศาสตร์ก็มาถกเถียงกันว่าเกิดอะไรขึ้น มันมีปัญหาอะไร ทำไมเกมถึงอธิบายแบบนี้ มีเพจเกมเขียนไว้ดีมากครับว่าเวลานักออกแบบบอร์ดเกมในต่างประเทศ เขาทำเกมจากประวัติศาสตร์ เขาจะทำ reference มาจำนวนหนึ่งเลยว่าเกมเขาได้อ้างอิงมาจากไหน เขาอ่านหนังสืออะไร ทำงานอะไร คือเขาทำจริงจัง
ผมคิดว่าเกมแบบปาตานีอันนี้ก็มีลักษณะเดียวกันคือมันมีความจริงจังอยู่บ้าง เขาเอาเนื้อหาในประวัติศาสตร์ต่างๆ มาออกแบบเพื่อจะทำมันออกมา ปัญหาคือว่าเขาใช้เล่มไหน นี่คือสิ่งที่เราก็อยากรู้ว่าเขาใช้เล่มไหน บันทึกไหน ในทางกลับกัน กระแสหลักก็ต้องตีกันเพราะประวัติศาสตร์ไม่มีถูกผิด มันเป็นบันทึกจากยุคอดีต ใครบันทึกก็ไม่รู้ ดังนั้น มันจำเป็นต้องถกเถียงกัน ประเทศเราแค่อ่อนไหวเรื่องการถกเถียง ในขณะที่เมืองนอกตำรวจเขาจะไม่จับ แต่นักวิชาการอาจจะเขียนด่ากันไปหมดก็เป็นไปได้ วิธีการมันก็เลยประหลาด
บอร์ดเกมเพื่อการเรียนรู้มีเพดานหรือเปล่ากับเรื่องละเอียดอ่อนใดๆ ก็ตาม หรือเวลาที่มีสถาบันการศึกษาให้ออกแบบมันก็ต้องล้อไปกับหลักสูตรซึ่งมันก็ต้องการให้เด็กได้ข้อมูลแบบนี้ สิ่งเหล่านี้เป็นเพดานหรืออุปสรรคสำหรับนักออกแบบเกมหรือเปล่า
ผมคิดว่าถ้าในเชิงของคนออกแบบอิสระคงไม่มีปัญหา แต่ถ้าคนที่ได้รับทุน บางทีมีครับ เช่น บางหน่วยงานมีความรู้เฉพาะที่อยากจะเล่าเรื่องนี้ แต่ความรู้เรื่องนี้อาจจะเป็นที่ถกเถียงในสังคม อาจจะไม่เห็นด้วยหรอก แต่ว่าเขาอยากทำน่ะ ประเด็นที่มันจะปะทะคือถ้าเป็นเนื้อหาของฝั่งอนุรักษนิยมไม่ค่อยมีปัญหาอะไร ก็ทำไป เพราะฝั่งเสรีนิยมไม่ได้ซีเรียสอยู่แล้ว เขาก็มีสิทธิ์นำเสนอในมุมเขาใช่มั้ยครับ ฝั่งเสรีนิยมก็มีสิทธิ์ในการวิพากษ์วิจารณ์
ปัญหาคือพอเกมย้ายฝั่ง อย่างเกม Local Election เป็นเกมเลือกตั้งท้องถิ่น อบต. อบจ. พี่คนหนึ่งเป็นคนทำเกมนี้ ก็มีคนบอกว่าเกมนี้เป็นเกมแบ่งแยกชาติเพราะเขาเข้าใจว่าการเลือกตั้งท้องถิ่น…
จะเป็นสาธารณรัฐ
เออ อะไรอย่างนี้ ซึ่งประเด็นอย่างที่บอกครับ ถ้าเป็นฝั่งอนุรักษนิยมส่วนใหญ่ เสรีนิยมเชื่อในเรื่องที่ใครจะทำอะไรก็ได้ แล้วก็ถกเถียงกัน ดังนั้นเขาไม่ซีเรียส ก็ทำมา สมมติทำเกมรักชาติก็ไม่มีปัญหาอะไร ก็ทำมาดู แล้วก็ลองดูว่าคนเล่นไม่เล่นก็แล้วแต่ แต่ถ้าฝั่งเสรีนิยม ประเด็นคือพอมันซ้ายมากก็จะทำอะไรที่ดูซ้าย เช่น เกมเท่าเทียมทางเพศ คนที่เป็นอนุรักษนิยมก็จะรู้สึก เอ๊ะ หรือเกมสมรสเท่าเทียม คนที่เป็นอนุรักษนิยมหน่อยก็อาจจะรู้สึกหงุดหงิดเพราะเขายึดบางเรื่องไว้ เช่น คนที่ไม่ค่อยเชื่อเรื่องเพศเดียวกันสามารถสมรสด้วยกันได้ก็อาจจะไม่เห็นด้วยกับเกมนี้ เสรีนิยมก็พร้อมถกเถียง
แต่ประเด็นคือพอกฎหมายมันไม่เอื้อ ฝั่งหนึ่งก็อาจจะไม่เถียงกับคุณหรอก ฉันแจ้งตำรวจจับเลย มันก็เป็นปัญหา เพราะฉะนั้นอันนี้คือข้อจำกัด ขึ้นอยู่กับเพดานของสังคมยอมให้แค่ไหน แต่แน่นอนเราต้องยอมรับว่าเพดานของสังคมมันขยายตัวไปเรื่อยๆ อยู่แล้ว วันนี้บางเกมยังทำไม่ได้ด้วยซ้ำ แต่ไม่แน่อีกห้าปีอาจจะทำได้
เหมือนกับว่าพอทำเกมออกมามันอาจจะไม่ได้มีปัญหาโดยตัวมันเอง แต่ปัญหาคือมีคนที่ไม่เห็นด้วยแล้วไปใช้อำนาจใดๆ เข้ามาจัดการ
อาจจะใช้อำนาจรัฐหรืออำนาจอื่นๆ หรือถูกทัวร์ลงก็เป็นไปได้ทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับว่าเขาเป็นยังไง
แทนที่จะถกเถียงกัน
ใช่ ประชาชนก็เถียงกัน คุยกัน แต่เขากลับใช้วิธีอื่นเพื่อกำจัดหรือทำลายสิ่งนี้ เพราะเขารู้สึกว่าสิ่งนี้มันไม่ควรมีอยู่บนโลก ก็เป็นมุมมองที่เห็นต่างกัน ทีนี้มันจะไม่มีปัญหาครับถ้าบางบอร์ดเกมมันไม่ได้ใช้ภาษีของรัฐในการทำเพราะมันเป็นเกมของหน่วยงานรัฐ ก็ต้องถกเถียงกันว่าในฐานะหน่วยงานรัฐกำลังเล่าเรื่องนี้ผ่านภาษีของเราทุกคน ทำออกมาแบบนี้ก็ต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์ เหมือนถ้าทำถนนออกมาแย่ประชาชนก็ต้องวิจารณ์ เพราะฉะนั้นในฐานะคนออกแบบต้องบาลานซ์เรื่องนี้ บางครั้งเราได้รับโจทย์ที่รู้แล้วว่าสังคมมีปัญหาแน่ๆ เราต้องพยายามบิดเพื่อเล่าให้ open มากกว่านี้
ซึ่งถ้าเจ้าของทุนไม่พอใจ
ก็อาจจะ eliminate เราออก แล้วหาเจ้าใหม่ ซึ่งเราก็ไม่เป็นไร คือสุดท้ายแล้วต้องบอกแบบนี้ครับ จุดตั้งต้นของเรามันเริ่มจากการเปลี่ยนอำนาจ เราเปลี่ยนอำนาจจากคุณครู ตำรา ซึ่งแน่นอนว่าคุณครูกับตำราไม่ได้หมายความว่าคุณครูคนนั้นคนนี้ แต่คุณครูมีหน้าที่เล่าสิ่งที่รัฐอยากให้เล่าหรือถ้าไม่ใช่รัฐก็คือมีบางความเชื่อ อาจจะไม่ได้อยากให้รัฐเป็นตัวร้าย แต่ว่าคุณครูหรือตำราก็เป็นตัวแทนบางความเชื่อเอามาเล่า
เมื่อก่อนห้องเรียนไม่มีสิทธิ์ถกเถียง ถ้าโชคดีก็อยู่ในห้องเรียนที่เถียงได้ ถ้าโชคไม่ดีก็อยู่ในห้องเรียนที่จำสิ่งนี้ แล้วก็ต้องเชื่อ ห้ามตั้งคำถาม เราเอาเกมไปใส่เพื่อเปลี่ยนจากวิธีเรียนที่เป็นอำนาจเหนือลงมาให้ทุกคนเท่ากัน อยู่ในกติกาเดียวกัน แล้วลองคุยกัน เล่นด้วยกัน ดังนั้น เวลาเรารับโจทย์ที่มีปัญหากับความเชื่อเรา เราจะยินดีถอนตัวหรือหาวิธีให้โจทย์นั้นเข้าสู่ความเชื่อที่เราอยากได้มากกว่า เพราะผมรู้สึกว่าไม่อย่างนั้นเราก็จะไปฝืนทำซ้ำในสิ่งที่เราไม่ได้เห็นด้วย เพราะหัวใจของเราคืออยากให้ทุกคนเป็นเจ้าของความรู้ได้ด้วยตัวเอง คุณครูสามารถออกแบบบอร์ดเกมได้ ไม่ต้องมีใครมารับรองด้วยว่าเจ๋งไม่เจ๋ง แต่นี่คือความรู้ของครู คือสิ่งที่ครูอยากสอน เด็กๆ ก็อยากออกแบบบอร์ดเกมที่เป็นความรู้ของเขาเอง แล้วเราก็ค่อยเอาความรู้เหล่านั้นมาคุยกัน ตีกันบ้าง เถียงกันบ้าง ก็จะได้อะไรออกมา
Deschooling Game มองอนาคตของตนเองยังไง
จริงๆ ฟังดูแล้วตลก Deschooling Game ก่อนหน้านี้เคยถูกขยายจนทำงานแบบ cooperate มีพนักงาน ตอนนี้เราถอยกลับมาเป็นแบบคนที่สนใจเรื่องนี้ ก่อนหน้านี้เราเปิดบริษัทแล้วรับงานพวกนี้เต็มไปหมด พอมาถึงจุดนี้นี่น่าจะเข้าปีที่เจ็ดที่แปด เราค้นพบว่าตอนนี้คนสอนออกแบบบอร์ดเกมเยอะมาก คนสนใจเรื่องพวกนี้เยอะมาก เราก็เลยมีแพลนว่าจะปิดเพราะรู้สึกว่ามันมาถึงวัตถุประสงค์ที่เราตั้งไว้แล้ว จากวันที่ไม่มีคนรู้จักสิ่งนี้เลย จนตอนนี้ทุกคนสนใจ หน่วยงานนี้ก็อยากทำ หน่วยงานนั้นก็อยากทำ แต่เราไม่ถึงขนาดปิด เลยเหลือไว้เป็นเหมือนกลุ่มบุคคลที่ชื่อ Deschooling Game ที่สนใจเรื่องบอร์ดเกม สนใจการเอาเกมไปใช้สร้างการเรียนรู้ เราพบว่าไม่ต้องออกแบบแล้ว มันมีเยอะมาก เอามาใช้ได้เลย ซื้อบอร์ดเกมแล้วมาสร้างการเรียนรู้ได้เลยก็น่าจะได้
ผมเป็นอุปนายกสมาคมบอร์ดเกม มีหน่วยงานภายใต้สมาคมชื่อสถาบันบอร์ดเกมเพื่อการเรียนรู้ เป้าหมายเราคือ เอาบอร์ดเกมเข้าไปอยู่ในห้องเรียน เพราะเราได้คุยกับสมาคมที่ไต้หวันกับเกาหลี เขาทำสิ่งนี้มาเมื่อสิบปีที่แล้ว จนตอนนี้สังคมเขาเด็กๆ เล่นบอร์ดเกมได้ มีความเข้าใจเรื่องบอร์ดเกม และเราก็เห็นศักยภาพของมนุษย์ของเขาว่ามีวิธีคิด มีทักษะ เราคิดว่าเกมเป็นส่วนหนึ่งที่เข้าไปเปลี่ยน อันนี้เป็นงานของผมที่จะทำต่อคือ เอาบอร์ดเกมเข้าไปอยู่ในห้องเรียนให้ได้เยอะที่สุด
ล้อมกรอบ Game-based Learning กับ Gamification
อันนี้เป็นเรื่องที่มีปัญหามากๆ สำหรับผม Gamification เข้ามาก่อนเพราะว่าคนไม่รู้จัก Game-based Learning ผมว่าปัจจุบันบางคนก็ยังไม่รู้จัก ยังจำว่าเป็น Gamification ซึ่งชื่อมันดูดีกว่า Game-based Learning เวลาพูดถึง แต่จริงๆ แล้ว Gamification หลักการแล้วไม่ได้สนใจเรื่องการเรียนรู้ Gamification คือการเอากลไกเกมมาทำให้ชีวิตจริงของเราน่าสนใจขึ้น หนึ่งใน Gamification ที่เราทุกคนโดนแน่ๆ คือกดไลก์
ชีวิตเราเวลานั่งคุยกันมีใครกดไลก์เรามั้ย ไม่มีใช่มั้ย แต่พอมันใส่กดไลก์มาคนก็อยากแสดงความเห็นมากขึ้น พอแสดงความเห็นแล้วมีคนไลก์มากขึ้น อยากเล่ามากขึ้น กลไกกดไลก์นี่ไม่เคยมีมาก่อน มันถูกใช้ครั้งแรกในเกมเมื่อเราทำอะไรได้ reward เยอะๆ เขาก็เอาสิ่งนี้มาจำลองเป็นกดไลก์
ซื้อชาไข่มุกสิบแก้วแถมหนึ่งแก้ว อันนี้ก็มาจากในเกม ถ้ามีไอเท็มนี้ครบแล้วจะได้อันนี้ด้วยนะ ต้องรีบเล่นๆๆ เพื่อเก็บให้ครบ หลักการของ Gamification คือเอากลไกเกมที่ทำงานกับแรงจูงใจข้างในและข้างนอกของมนุษย์มาเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตจริงเรา อันนี้คือ Gamification เปลี่ยนทุกอย่างให้เป็นเกม แต่ไม่ได้สนใจว่าดีหรือไม่ดี เพราะฉะนั้นนักการตลาดก็จะเอามาใช้ 6.6 Sale นี่ก็คือ Gamification หรือบริษัทใหญ่ๆ ในโลกใช้ Gamification ทำงานเรื่องนี้หมด เข้างานครบสิบครั้ง ไม่ขาดเลย ได้เบี้ยขยัน อันนี้ก็คือ Gamification เพราะถ้าเราเล่นเกมต่อกันสิบวันไม่ขาดเลยเราก็จะได้โบนัสบางอย่าง
เราจะเห็นว่าคำว่า Gamification ไม่เกี่ยวอะไรกับการเรียนรู้เลย คนส่วนใหญ่จะตีความว่ามันเกี่ยวยังไงครับ ถ้าทำข้อสอบครบสิบข้อจะได้แต้มเพิ่ม ดังนั้น ต้องรีบทำข้อสอบให้ครบสิบข้อ เขาจะอนุมานสิ่งนี้ว่าเป็น Gamification คือ การใช้เกมมาทำให้การเรียนรู้สนุกขึ้น ให้เด็กตอบคำถามเร็วขึ้น มีจับเวลา ตื่นเต้นขึ้น แล้วก็จะบอกว่านี่คือการเรียนรู้ แต่คำถามคือมันเปลี่ยนวิธีเรียนรู้มั้ย อ่านหนังสือครบสิบเล่มจะได้โค้กฟรีหนึ่งขวด มันไม่เปลี่ยนวิธีการเรียนรู้ ทุกคนยังเรียนรู้กับข้อสอบ กับการตอบคำถาม กับการอ่านหนังสือ