ชวนอ่านวรรณกรรมเยาวชน ‘The Night Diary’ หรือ ‘ถ้าแม่ฟังอยู่โปรดรู้ว่าหนูคิดถึง’ เรื่องราวการอพยพหนีตายของณิชาเด็กหญิงวัย 12 ขวบและครอบครัว ผ่านบันทึกที่ณิชาเขียนถึงแม่ผู้ล่วงลับช่วงกลางปี 1947 ในห้วงยามที่อินเดียได้รับเอกราชจากอังกฤษ
เอกราชที่ได้มากลับกลายเป็นช่วงเวลาแห่งการแบ่งแยกระหว่างผู้คนต่างศาสนา ฮินดู ซิกข์ มุสลิม ตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียถูกเฉือนแบ่งออกไปเป็นประเทศปากีสถานในปัจจุบัน เพื่อเป็นแผ่นดินของชาวมุสลิม
การขีดลมเป็นพรมแดนครั้งนั้นก่อให้เกิดคลื่นอพยพของผู้คนกว่า 14 ล้านคน และครอบครัวของณิชาคือ 1 ในนั้นที่โชคดี เพราะในระหว่างการอพยพมีกว่า 1 ล้านชีวิตที่ต้องสูญสิ้นไประหว่างทาง
บันทึกของเด็กวัย 12 ขวบจึงเต็มไปด้วยความสับสน ไม่เข้าใจ และคำถามต่อสิ่งที่เกิดขึ้นว่า เหตุใดเพียงชั่วข้ามคืนเส้นสมมติและศรัทธาที่ต่างกันสามารถสร้างความโกลาหลและเข่นฆ่ากันได้
นี่คือเรื่องราวของเด็กน้อยที่ชวนให้ผู้ใหญ่คิดว่า ถึงที่สุดแล้ว เส้นพรมแดนและกำแพงแห่งศรัทธานั้น เราสร้างมันขึ้นมาในใจของตัวเราเองหรือเปล่า?