นอกจากกรุงเทพฯ แล้ว เชียงใหม่เป็นอีกเมืองหนึ่งที่มีร้านหนังสืออิสระหลายแห่ง ซึ่งแต่ละร้านก็มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเองเช่นเดียวกับ Waltz Bakes x Harvest Moon Bookshop ที่เกิดขึ้นจากความฝันและความรักที่มีต่อหนังสือและขนม และยิ่งได้ฟังเรื่องราวความฝันของผู้เป็นเจ้าของร้านแล้ว ยิ่งทำให้รู้สึกว่า ที่นี่มีเสน่ห์น่าไปเยี่ยมเยือน
บรรยากาศของร้านทำให้รู้สึกเหมือนแวะเวียนมาเยี่ยมบ้านเล็กๆ สีขาวของเพื่อนคนสนิท หน้าต่างและบานประตูที่เปิดกว้างและเพดานยกสูงทำให้ลมพัดโกรกเย็นสบาย ห้องหนังสือเล็กๆ ที่มีชั้นวางหนังสือเรียงรายตั้งอยู่ ณ มุมหนึ่งของตัวอาคาร
ทำเลที่ตั้งของร้านอยู่ในตำบลสันผักหวาน อำเภอหางดง เจ้าของคือ แขก – ปิยศักดิ์ ประไพพร และ อัง – ชฏิลรัตน์ ดอนปัน ผู้เป็นภรรยา ถึงจะเป็นร้านที่ค่อนข้างใหม่แต่ประสบการณ์ของทั้งคู่ไม่ใหม่อย่างที่คิด อังเป็นอดีตกราฟิกดีไซเนอร์นิตยสารแห่งหนึ่งก่อนจะผันตัวมาทำขนม ส่วนแขกเคยทำงานในร้านหนังสือเก่าแก่ย่านนิมมานเหมินท์ ซึ่งนักอ่านชาวเชียงใหม่คุ้นเคยเป็นอย่างดี
แม้ทั้งคู่จะเคยมีประสบการณ์มาบ้างแล้ว การทำร้านของตัวเองก็ใช่ว่าจะเป็นเรื่องง่ายไปเสียทีเดียว แขกบอกว่า ร้านหนังสือขนาดเล็กๆ มีค่าใช้จ่ายที่ต้องลงทุนพอสมควร เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกวันนี้หนังสือมีราคาสูงขึ้น เนื่องจากหลายๆ ปัจจัย เช่น การผลิต วัสดุ การขนส่ง ฯลฯ หนังสือทุกเล่มบนชั้นหมายถึงมูลค่าของเงินที่นอนนิ่งอยู่ตรงนั้น และการเป็นร้านหนังสือเล็กๆ ที่อยู่นอกเมืองแบบนี้ สิ่งสำคัญที่ต้องนำเสนอคือจุดเด่น หรือเอกลักษณ์ ที่ทำให้ผู้มาเยือนรู้สึกว่าคุ้มค่ากับการเดินทางแวะเวียนมาหา
หนึ่งในวิธีบริหารจัดการร้าน ก็คือการประสานกับนักเขียนโดยไม่ผ่านตัวกลาง ร้านจึงมีโอกาสได้คัดสรรหนังสือจากนักเขียนที่ตีพิมพ์ด้วยตนเอง หรือนักเขียนที่มีแนวทางเฉพาะ บางเรื่องอาจไม่ใช่งานเขียนแนวยอดนิยม ในด้านหนึ่งก็ถือว่าเป็นการส่งเสริมหนังสือนอกกระแสด้วย
แขกเล่าด้วยน้ำเสียงที่มีความสุขว่า “อย่างเรื่อง ‘ป่าน้ำผึ้ง’ ของอาจารย์ต้น – อนุสรณ์ ติปยานนท์ เขาพิมพ์เองแล้วก็ส่งมาขายที่นี่ นักเขียนขายได้จำนวนน้อยหน่อย แต่กระบวนการเช่นนี้ นักเขียนได้ผลตอบแทนต่อเล่มเยอะขึ้น ร้านหนังสือก็ได้เยอะขึ้นเช่นกัน ในอนาคตเรามองกันไว้ว่า อยากให้มีงานเขียนของคนในพื้นที่มาวางขายที่ร้านด้วย”
นอกจากนี้ อีกหนึ่งสิ่งที่ทั้งคู่อยากทำแต่ต้องทดไว้ในใจก่อน ก็คือการเปิดสำนักพิมพ์ “ความจริงเริ่มทำไปครึ่งทางแล้ว แต่ว่าตอนเราสร้างบ้านเอาเงินมาใช้หมด วันข้างหน้าเรายังอยากทำต่อ มีหนังสือรวมเรื่องสั้นที่เรารู้จัก แต่ไม่มีวางขายในตลาดมาเป็นสิบปี อยากให้อังช่วยทำปก เพราะเรียนด้านศิลปะมาและเคยออกแบบรูปเล่มกับปกมาแล้วด้วย”
“เดี๋ยวนี้สำนักพิมพ์ใหม่ๆ เกิดขึ้นเยอะ และค่อนข้างมีความเป็นตัวของตัวเอง หากทำถูกทางก็สามารถอยู่รอดได้ มันขึ้นอยู่กับตัวบทเนื้อหา แม้แต่หนังสือเนื้อหาหนักๆ ก็ทำได้นะ เรื่องการออกแบบก็มีส่วนสำคัญซึ่งมองข้ามไม่ได้… เคยมีหนังสือเล่มหนึ่งที่เราอ่านแล้วเนื้อหาดี ภาษาไหลลื่น แต่หน้าปกไม่ดึงดูด ทำให้ไปอยู่ในกองหนังสือห้าบาท” แขกกล่าว พร้อมทั้งยืนยันว่าเดี๋ยวนี้นักอ่านหลายๆ คน เลือกซื้อและสะสมหนังสือจากความสวยงาม เหมือนกับเป็นงานศิลปะชิ้นหนึ่ง
และนี่คือจุดที่ความคิดของทั้งคู่เชื่อมประสานกัน เพราะอังในฐานะนักออกแบบก็คิดว่า “ปกเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับการดีไซน์หนังสือ เราต้องดูเนื้อหาทั้งหมดว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร แล้วก็ร่างออกมาคร่าวๆ ว่าหน้าปกควรจะนำเสนอเนื้อหาออกมาอย่างไรให้ได้ในหนึ่งหน้ากระดาษ” น้ำเสียงของอังเมื่อกล่าวถึงการออกแบบปกก็ฟังดูมีความสุขไม่ต่างจากเมื่อแขกพูดถึงการก่อตั้งสำนักพิมพ์
เราลองชี้ไปที่ตู้ขนมและชั้นหนังสือ พร้อมทั้งตั้งคำถามให้เจ้าของร้านลองขบคิดว่า หากให้เลือกจับคู่ระหว่างหนังสือและขนมในร้าน Waltz Bakes x Harvest Moon Bookshop เขาจะเลือกขนมและหนังสือเล่มไหนที่เข้าคู่กันอย่างลงตัว รวมทั้งสามารถอธิบายถึงตัวตนของร้านได้ชัดเจน
อัง ตอบคำถามนี้ โดยการเลือกจับคู่หนังสือ วะบิ-ซะบิ กับ เค้กแครอท “เค้กแครอทที่ร้านมันอาจจะดูหน้าตาบ้านๆ วัตถุดิบก็ดูธรรมดาๆ แต่ว่ากินแล้วอร่อย เป็นเค้กที่นำเสนอตัวเองผ่านรสชาติ ไม่ได้ผ่านรูปลักษณ์”
เข้ากับคอนเซปต์ วะบิ-ซะบิ ที่ไม่ได้เชิดชูความสมบูรณ์แบบ สอดคล้องกับร้านหนังสือที่เป็นก้าวแรกแห่งความฝัน ตัวตนของคนรักหนังสือแบบแขกกับอัง และอาจจะเข้ากับสำนักพิมพ์ที่กำลังจะถูกก่อตั้งขึ้นในอนาคต