สื่อสารคุณค่ามรดกวัฒนธรรมข้ามยุคสมัย สร้างสรรค์อรรถรสใหม่ให้งานศิลป์สถาปัตย์

2,272 views
6 mins
May 2, 2022

          ‘ต่อยอด I นอกกรอบ I ศิลปะไทย’ (Thai Art Beyond Boundaries) วัดภุมรินทร์ราชปักษี คือโครงการนำร่อง ในโครงการพิพิธภัณฑ์ศิลปกรรมแห่งชาติ (สู่สังคม) โดยมหาวิทยาลัยศิลปากร ร่วมกับภาคีวิจัยต่างๆ ร่วมถึงหน่วยงานภาครัฐ และชุมชนท้องถิ่น มีเป้าหมายเพื่อใช้ศักยภาพของมรดกวัฒนธรรมที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด พร้อมทั้งพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้แก่ชุมชน โดยความพยายามมองหาจุดเด่น และวิธีสื่อสารเล่าเรื่องใหม่ๆ ที่ทันสมัย และนำเสนอองค์ความรู้ทางวิชาการที่มักถูกมองว่าเป็นความรู้บนหิ้ง ให้เป็นที่สนใจและรับรู้ในวงกว้างมากยิ่งขึ้น รวมถึงการนำเอาเทคโนโลยีมาปรับใช้ เพื่อสร้างสรรค์และนำเสนอเป็นผลงานศิลปะร่วมสมัย อันจะช่วยต่อลมหายใจให้มรดกทางวัฒนธรรมนั้นยังคงมีชีวิตร่วมไปกับสังคมปัจจุบัน

ภุมรินทร์ราชปักษี วัดร้างที่ไม่ ‘ร้าง’ งานศิลป์

          วัดภุมรินทร์ราชปักษี หรือที่มักเรียกกันสั้นๆ ว่า วัดภุมรินทร์ ตั้งอยู่บริเวณเชิงสะพานพระปิ่นเกล้า ฝั่งธนบุรี เป็นวัดที่ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของวัดดุสิดาราม ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 เป็นต้นมา สิ่งก่อสร้างสำคัญภายในวัด ประกอบด้วย อุโบสถและวิหารซึ่งมีลักษณะอาคารแบบแอ่นท้องช้างอันงดงาม ตามเอกลักษณ์ของงานสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยาตอนปลาย ตั้งขนานกัน คั่นกลางด้วยหอไตรกลางน้ำ ไม่ปรากฏประวัติการสร้างที่แน่ชัด แต่จากการวิเคราะห์และศึกษางานศิลปกรรมร่วมกับบริบทของพื้นที่ กำหนดอายุได้ว่าคงเป็นวัดที่สร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลาย-รัตนโกสินทร์ตอนต้น เช่นเดียวกับวัดดุสิตารามที่อยู่ใกล้เคียง

          ภายในวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปประธานปางมารวิชัย ขนาบด้วยพระอัครสาวก ผนังประดับด้วยภาพจิตรกรรมเล่าเรื่องพุทธประวัติ ซึ่งสันนิษฐานจากรูปแบบการใช้สีและเทคนิคการเขียน ว่าคงเป็นการเขียนขึ้นในช่วงรัชกาลที่ 3-4 แสดงให้เห็นว่าวัดแห่งนี้คงมีความสำคัญไม่มากก็น้อย ด้วยมีการสืบเนื่องของงานศิลปกรรมก่อนที่จะถูกทิ้งร้างลง

          วัดภุมรินทร์ ถือเป็นอีกหนึ่งแหล่งรวมงานศิลปกรรมชั้นครูที่ยังคงความสมบูรณ์ ซึ่งนับวันจะหาชมและศึกษาได้ยากขึ้น และตั้งแต่เกิดโรคระบาดไวรัสโควิด-19 เป็นต้นมา ทำให้ทางวัดจำเป็นต้องปิดโบสถ์และวิหารเป็นส่วนใหญ่ จากข้อจำกัดหลายประการ ทำให้วัดร้างแห่งนี้ดูจะห่างหายไปจากวิถีชีวิตของชุมชนและสังคมไปอย่างน่าเสียดาย นำมาสู่แนวคิดในการนำเสนอศิลปกรรมโบราณผ่านเทคโนโลยีอย่างเช่น Projection Mapping, AR (Augmented reality), VR (Virtual reality), Photogrammetry และ Hologram เพื่อเปลี่ยนเรื่องราวที่ถูกหลงลืม ให้กลับมามีชีวิตโลดแล่นอีกครั้งหนึ่ง

สื่อสารคุณค่ามรดกวัฒนธรรมข้ามยุคสมัย สร้างสรรค์อรรถรสใหม่ให้งานศิลป์สถาปัตย์
วิหารแบบสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยาตอนปลาย วัดภุมรินทร์
Photo : สถาปัตยกรรมไทย คณะสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร

จำลองชั่วขณะแห่งจักรวาล 3 โลกด้วย AR

          ภาพจิตรกรรมฝาผนัง บริเวณหลังพระประธานภายในวิหารวัดภุมรินทร์ เล่าเรื่องพุทธประวัติตอนพระพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์มายังเมืองสังกัสสะ หลังจากทรงโปรดพุทธมารดาและจำพรรษาอยู่บนนั้นเป็นเวลา 3 เดือน โดยเสด็จลงมาทางบันไดแก้ว บันไดเงิน และบันไดทอง มีพระอินทร์ พระพรหม และเหล่าเทวดาพากันมาส่งเสด็จ ซึ่งในช่วงเวลานั้นเอง ทรงแสดงปาฏิหาริย์ ‘โลกวิวรณปาฏิหาริย์’ หรือเรียกกันว่า ‘พระเจ้าเปิดโลก’ คือชั่วขณะเวลาที่ภพภูมิทั้งหมดเปิดเห็นถึงกัน ตั้งแต่สวรรค์ โลกมนุษย์ และนรกภูมิ

          ส่วนที่ผนังสกัดฝั่งตรงข้าม จิตรกรรมเล่าเรื่องตอนที่พระพุทธเจ้าตรัสแก่พระอานนท์ ว่าเมืองกุสินาราที่พระองค์เลือกเป็นสถานที่ดับขันธ์นั้น ครั้งหนึ่งเป็นที่ตั้งของ มหานครกุสาวดีอันยิ่งใหญ่ การตีความนี้เป็นข้อเสนอใหม่ โดย อาจารย์เฉลิมพล โตสารเดช สาขาจิตรกรรรมไทย วิทยาลัยเพาะช่าง

          จิตรกรรมสกุลช่างรัตนโกสินทร์ตอนต้นที่กำลังลบเลือน รวมถึงข้อมูลใหม่ทางวิชาการ เป็นที่มาของแนวคิดและความพยายามสื่อสารจากภาพจิตรกรรม 2 มิติ สู่การรับรู้ที่เข้าถึงได้ด้วยเทคโนโลยีเสมือนจริง

          “เราต้องการเล่าเรื่องราวดังกล่าวขึ้นใหม่ จากภาพแบนๆ ของจิตรกรรมโบราณ ใช้เทคโนโลยี AR และ VRเพื่อแสดงโลกเสมือน ณ ช่วงขณะเวลาที่พระพุทธเจ้ากำลังแสดงปาฏิหาริย์เปิดโลก” พัชรพงศ์ กุลกาญจนาชีวิน หนึ่งในทีมงานกล่าว

          กระบวนการทำงานเริ่มด้วยการเก็บบันทึกข้อมูลทั้งสถาปัตยกรรม และรายละเอียดของภาพจิตรกรรมทั้งหมด ก่อนจะเลือกดึงเอาตัวละครและองค์ประกอบสำคัญ มาทำเป็นภาพใหม่ แต่งแต้มสีและองค์ประกอบให้เด่นชัดขึ้น พร้อมกับเพิ่มคำอธิบายรายละเอียด ว่าแต่ละองค์ประกอบในภาพคืออะไรเพื่อช่วยสร้างความเข้าใจ อีกส่วนหนึ่งคือการเขียนเติมเต็มภาพที่หายหรือจางไป โดยอิงจากข้อมูลวิชาการ แล้วนำองค์ประกอบทั้งหมดประมวลผลสร้างเป็นภาพ 3 มิติ แสดงผลทั้งภายนอกและภายในของอาคาร แบบ 360 องศา ผู้ชมสามารถรับชมผ่านโทรศัพท์สมาร์ทโฟน หรือสวมอุปกรณ์เพื่อสร้างความรู้สึกเสมือนเข้าไปอยู่ในพื้นที่และห้วงเวลานั้นจริงๆ จากที่ใดก็ได้

ภาพจำลองจิตรกรรม ภายในวิหารวัดภุมรินทร์
Photo : สถาปัตยกรรมไทย คณะสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร

ณ ที่แห่งนี้คือชมพูทวีป  

          จิตรกรรมฝาผนังในอุโบสถ หรือวิหารสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ มักมีคติแสดงภาพจำลองจักรวาลวิทยาตามทัศนะของคนโบราณ ตามที่ปรากฏในคัมภีร์โลกภูมิไตรโลกวินิจฉยกถา เรียกว่า ‘ชมพูทวีป’ มีตำแหน่งของพุทธบัลลังก์ หรือก็คือพระประธานสื่อความหมายแทนศูนย์กลางของโลก จากแนวคิดดังกล่าวเป็นที่มาของการนำเทคนิค Projection Mapping มานำเสนอเรื่องราวของชมพูทวีปใหม่ในพื้นที่เดิม โดย ฉันทิศา เตตานนทร์สกุล Asitnahc บนความยาวประมาณ 10 นาที แบ่งออกเป็น 15 ตอน 

          Projection Mapping หรือ 3D Mapping คือรูปแบบหนึ่งของการสร้างภาพลวงตา หรือความเป็นจริงเสริม ด้วยการฉายภาพจากโปรเจคเตอร์ไปยังวัตถุหรืออาคาร เพื่อสร้างพื้นผิว ความเคลื่อนไหว เล่าเรื่องราวและความหมายใหม่ ซึ่งเป็นการนำศาสตร์หลายแขนงมารวมกัน ไม่ว่าจะเป็น โปรแกรมประมวลผล การวาดภาพ แอนิเมชัน งานกราฟิก สถาปัตยกรรม เสียงดนตรี

           ในผลงานดังกล่าว ศิลปินตั้งใจรังสรรค์ให้เหมือนกับเป็นภาพวาดจากแสง ผ่านการตีความและสะท้อนความรู้สึก คล้ายกับจิตรกรที่ป้ายสีลงบนแผ่นกระดาษ มากกว่าจะเป็นงานโมชั่นกราฟิก (Motion graphic) ภายใต้การค้นคว้าและปรึกษาร่วมกับนักวิชาการอย่างเข้มข้น

          “โจทย์ตรงนี้ค่อนข้างเป็นเรื่องเฉพาะทาง ซึ่งทำให้ต้องใช้เวลากับการทำความเข้าใจและกระบวนการค้นคว้าอย่างหนัก ส่วนการนำเสนอ เราเลือกที่จะนำเสนอในเชิงความรู้สึก คือไม่ได้ทำเพื่อบอกว่าชมพูทวีปคืออะไร แต่เราพยายามแสดงออกมาว่า เรารู้สึกว่าชมพูทวีปเป็นแบบไหน แล้วถ่ายทอดออกมา”

Projection Mapping ชมพูทวีป จัดแสดงภายในวิหารวัดภุมรินทร์ ระหว่างวันที่ 7-10 เมษายน 2565
และสามารถรับชมย้อนหลังผ่านวิดีโอในรูปแบบ VR (VR version)

          จุดเด่นของการใช้เทคโนโลยี Projection Mapping ในผลงาน ‘ชมพูทวีป’ นอกจากความสวยงามและน่าตื่นตาตื่นใจ ซึ่งช่วยกระตุ้นอารมณ์และสร้างความรู้สึกร่วมกับผู้ชม ยังเป็นการนำเสนอเรื่องราวพุทธประวัติที่เข้าใจยาก ให้กลายเป็นผลงานศิลปะร่วมสมัยชิ้นใหม่ ซึ่งช่วยสร้างความเข้าใจได้มากกว่าการอ่านผ่านตัวอักษร หรือชมผ่านจิตรกรรม

          ตัวอย่างเช่น ตอนทรมานช้างนาฬาคีรี ที่มีการใช้แสง สี เสียงให้ความรู้สึกที่รุนแรง เพื่อสื่อถึงพญาช้างนาฬาคิรีที่คลุ้มคลั่งจะเข้าทำร้ายพระพุทธเจ้า ก่อนจะเปลี่ยนเป็นแสงสีขาวและเสียงดนตรีอันน่าสงบ สื่อถึงการที่พญาช้างได้รับการแผ่เมตตาจนได้สติ ทรุดกายลงยกงวงขึ้นถวายอภิวาท หรือตอนที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงยมกปาฏิหารย์ คือการทำปาฏิหาริย์ให้บังเกิดเป็นคู่ๆ โดยวิธีต่างๆ จากส่วนต่างๆ ของพระวรกายสลับกันไป และทรงเนรมิตพระสัมมาสัมพุทธเจ้าขึ้นมาอีกพระองค์หนึ่ง แสดงพระอาการสลับกันกับพระพุทธองค์ เป็นต้น

Projection Mapping ชมพูทวีป สื่อความหมายถึงเหตุการณ์พุทธประวัติ ตอนทรมานช้างนาฬาคีรี
Projection Mapping ชมพูทวีป สื่อความหมายถึงเหตุการณ์พุทธประวัติ ตอนทรมานช้างนาฬาคีรี
Photo : สถาปัตยกรรมไทย คณะสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร

ย่อสถาปัตยกรรมอยุธยาตอนปลายไว้บนฝ่ามือ

          อีกหนึ่งในเทคนิคน่าสนใจซึ่งนำมาใช้ในโครงการนี้คือ โฟโตแกรมเมตรี (Photogrammetry) และโฮโลแกรม (hologram)

          โฟโตแกรมเมตรี คือเทคโนโลยีที่ใช้เพื่อการศึกษาเชิงมิติ รูปร่าง จากภาพถ่ายสองมิติ ประกอบด้วยกระบวนการทำงานสำคัญ 2 ขั้นตอน ได้แก่ การถ่ายภาพและการสร้างภาพ เริ่มเข้ามามีบทบาทในงานด้านการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมไทย และใช้เก็บข้อมูลสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยาตอนปลายของอุโบสถ รวมถึงวิหารวัดภุมรินทร์ ผลลัพธ์ที่ได้จากเทคโนโลยีนี้จะปรากฏเป็นภาพสามมิติ ซึ่งแสดงผลค่าระยะ พิกัด ตัวแปรต่างๆ อย่างแม่นยำ โดยไม่ต้องใช้การวัดด้วยเครื่องมือหรือไปคำนวณยังสถานที่จริง ส่วนโฮโลแกรม เป็นเทคนิคการนำเสนอภาพวัตถุ 3 มิติในรูปแบบของแสงผ่านปริซึมใส มองเห็นเป็นภาพลอยตัวเสมือนว่าสามารถจับต้องได้ ทั้งหมดนี้เป็นความตั้งใจของผู้จัดทำ ในการทดลองนำเทคโนโลยีมาปรับใช้เพื่อกระตุ้นความสนใจ และสร้างการรับรู้ใหม่เกี่ยวกับงานสถาปัตยกรรมไทยที่ดูเหมือนเป็นเรื่องเฉพาะทางให้มีความสนุกสนานมากขึ้น

          สิริเดช วังกรานต์ อาจารย์ประจำภาควิชาศิลปสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร เล่าว่า “ทีมเราต้องทำโฟโตแกรมเมตรีเพื่อเก็บข้อมูลทางกายภาพของอาคารอยู่แล้ว จึงคิดว่าจะนำข้อมูลนี้ไปต่อยอดอย่างไรเพื่อสื่อสารกับคนทั่วไป เลยคิดว่าจะทดลองทำโฮโลแกรม ซึ่งจริงๆ แล้วก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นเทคโนโลยีที่มีมานานแล้ว โดยใช้หลักวิทยาศาสตร์พื้นฐาน เรื่องการสะท้อนของแสงเท่านั้นเอง ดังนั้นมันจึงง่ายมาก แค่เราครีเอทไฟล์วิดีโอไว้ในเว็บไซต์ คนที่จะเข้ามาดูสามารถลองตัดปริซึม ก็จะเห็นภาพสามมิติของโบราณสถานแบบย่อส่วนได้จากมือถือหรือแท็บเล็ต ทำให้เป็นเรื่องสนุกและน่าสนใจ ซึ่งน่าจะช่วยให้คนทั่วไปโดยเฉพาะเยาวชนหันมามองและซึมซับคุณค่าของสถาปัตยกรรมโบราณ และอาจนำไปสู่การค้นคว้าเรียนรู้เพิ่มเติม”

โฮโลแกรม (hologram) วิหารวัดภุมรินทร์ที่สามารถรับชมได้ผ่านหน้าจอสมาร์ทโฟน ที่มา: สถาปัตยกรรมไทย คณะสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร
โฮโลแกรม (hologram) วิหารวัดภุมรินทร์ที่สามารถรับชมได้ผ่านหน้าจอสมาร์ทโฟน
Photo : สถาปัตยกรรมไทย คณะสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร
วิดีโอ โฮโลแกรม (hologram) วัดภุมรินทร์

สืบสานงานศิลป์ด้วยการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์

          ในปัจจุบัน สุนทรียะศิลปะได้ขยายตัวเองออกมาจากสตูดิโอของศิลปิน ไปสู่การร่วมมือกับผู้คนจากศาสตร์สาขาอื่นๆ เพิ่มมากขึ้น ตลอดจนเข้าไปขับเคลื่อนประเด็นทางสังคมที่หลากหลายอย่างมีนัยยะสำคัญ รวมถึงการนำศิลปะร่วมสมัยผนวกกับเทคโนโลยีมาใช้ในการสื่อสารงานศิลปกรรมโบราณ

          “บางครั้งศิลปะดูเป็นเรื่องเข้าใจยากหรือเข้าไม่ถึง ซึ่งถ้ามีเทคนิคอะไรที่มาช่วยสื่อสารตรงนี้ให้คนเข้าถึงได้มากขึ้น ก็จะเป็นเรื่องที่ดีมากๆ เรามาทำงานนี้ก็เพราะตั้งใจที่จะนำเสนอข้อมูลซึ่งดูโบราณให้มีความร่วมสมัยขึ้น เพราะข้อมูลเหล่านี้ถ้าไม่มีคนเอามาสื่อสารต่อ มันก็จะหายหรือเพี้ยนไป” ฉันทิศา เตตานนทร์สกุล กล่าวสะท้อนในมุมของศิลปินรุ่นใหม่ที่ได้เข้ามาร่วมสร้างผลงาน

          เป็นการย้ำให้เห็นว่างานศิลปะและวิชาการนั้นไม่ใช่เรื่องไกลตัว หากรู้จักนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้เป็นเครื่องมือช่วยนำเสนอให้ข้อมูลสนุกสนานน่าสนใจและเป็นมิตร ก็จะเข้าถึงผู้คนได้มากขึ้น ที่สำคัญจะต้องไม่ละเลยการศึกษาพื้นที่ในมิติทางสังคม วัฒนธรรม และการสร้างเครือข่ายของผู้คน ย่าน และชุมชน ด้วย เพื่อให้พื้นที่เรียนรู้ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นวัดโบราณหรือพิพิธภัณฑ์สมัยใหม่ ไม่แยกขาดตนเองออกจากความสัมพันธ์กับชุมชนโดยรอบ

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก