วีรพร นิติประภา: ความทรงจำของวรรณกรรม ความทรงจำของมนุษย์

617 views
7 mins
April 23, 2024

          วีรพร นิติประภา เป็นชื่อที่เพิ่งปรากฏอยู่ในแวดวงวรรณกรรมในฐานะนักเขียนไม่ถึงหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา แต่กระนั้นนวนิยายเล่มแรกของเธออย่าง ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต ก็สามารถคว้าตรา ‘THE S.E.A. WRITE AWARD’ มาประทับไว้บนปกได้อย่างสง่างาม ในปี 2558

          3 ปีถัดมา พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ ก็สร้างแรงสั่นสะเทือนอีกครั้งด้วยการได้ประทับตรา ‘THE S.E.A. WRITE AWARD’ เป็นเล่มที่สอง นับจากนั้นมาคำว่า ‘สองซีไรต์’ ก็กลายเป็นนามสกุลที่ติดตามชื่อเธอไปทุกหนทุกแห่ง

          น่าสนใจตรงที่ภาษาสวิงสวายในแบบของวีรพรไม่ถูกปฏิเสธจากผู้อ่านในยุคที่คนนิยมความสั้นและง่าย ยิ่งไปกว่านั้น สำนวนและเรื่องเล่าของเธอกลับกลายเป็นหนังสือติดอันดับขายดี พิมพ์ซ้ำ เปลี่ยนปก ทั้งยังถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษ แม้จะไม่ใช่นวนิยายไทยเล่มแรกที่ถูกแปลสู่สากล แต่ฟีดแบ็กจากนักอ่านชาวต่างชาติในเว็บไซต์มหาชนอย่าง Goodreads ย่อมตอกย้ำว่า ไส้เดือนตาบอดฯ และ พุทธศักราชอัสดงฯ ของวีรพร ยังทำหน้าที่ได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะถูกเล่าด้วยภาษาแบบใดก็ตาม

          “พี่สนใจประวัติศาสตร์ของปัจเจกมากกว่า” 

          วีรพรยืนยันว่า ไม่ใช่เรื่องของประวัติศาสตร์หรือยุคสมัย แต่เป็นสุขทุกข์ของมนุษย์ต่างหากที่เธอใช้เป็น ‘กระดูกสันหลัง’ ในงานเขียน

วีรพร นิติประภา: ความทรงจำของวรรณกรรม ความทรงจำของมนุษย์

นักเขียนชอบใช้คำยากหรือนักอ่านชอบคำง่าย

          “ตอนเริ่มเขียนหนังสือ คนก็จะด่าว่าใช้ศัพท์ ใช้ภาษาสวิงสวาย ก็แล้วแต่รสนิยมนะคะ แต่ดิฉันถือว่านอกจากภาษามันมีความหมายแล้ว มันยังมีความงาม มีน้ำหนัก มีพลังในการทำให้คุณหัวเราะได้ ร้องไห้ได้ ซาบซึ้งได้ ทำให้คุณรู้สึกว่าสวย ภาษาสวย ซึ่งภาษาแบบนี้มันหายไปในตอนที่พี่เริ่มเขียนหนังสือ ก็เลยคิดว่ายุคนี้ความงามของภาษามันหายไปไหนวะ มันไม่ควรถูกทำให้หายไป เพราะนั่นเป็นอีกเหตุผลหนึ่งเหมือนกันในการที่คุณจะอ่าน ในยุคอินเทอร์เน็ตที่คุณอ่านเอาใจความ อ่านเอา fact & figure แต่คุณก็ลืมว่า เฮ้ย ภาษามันมีความงามด้วย คำนี้สวยจังเลย”

          การตั้งชื่อหนังสืออย่าง พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ ไม่ใช่เรื่องที่พบเจอได้บ่อยในแวดวงวรรณกรรม โดยเฉพาะกับวรรณกรรมร่วมสมัยในยุคโซเชียลมีเดียที่บทความออนไลน์กลายเป็นมาตรฐานการอ่าน แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันก็เป็นความซับซ้อนวกวนที่งดงาม ชื่อหนังสือนี้เองที่สะท้อนภาพความแหว่งวิ่นสูญหายซึ่งมนุษย์ทุกคนมีร่วมกันโดยไม่รู้ตัวออกมาได้เป็นอย่างดี กระนั้นก็ใช่ว่าทุกคนจะมองความงามอันซับซ้อนวกวนนี้ด้วยสายตาแบบเดียวกัน

          “อันนั้นก็เป็นปัญหาเรื่องการศึกษาด้วย คุณทำลายความใฝ่รู้ของเด็กๆ ไปแล้ว คำมันยากนักเหรอ ก็ไปกดหาในกูเกิลแค่นั้นก็ขึ้นแล้ว คำถามก็คือเกิดอะไรขึ้น ทำไมเราไม่ใฝ่รู้ พื้นฐานการอ่านของเราไม่ดี พื้นฐานการแปลก็ไม่ดี พื้นฐานการเขียนก็เลยไม่ดีตาม สุดท้ายพื้นฐานการอ่านก็กลับไปไม่ดีอีก

          “พื้นฐานการอ่านมาจากไหน คุณเริ่มอ่านอะไรครั้งแรก หนังสือเรียน หนังสือเรียนทำลายความอยากอ่านของคุณ แล้วก็ต้องมาตะบี้ตะบันคาดคั้นให้เด็กอ่านโดยไม่ดูว่าสิ่งนี้ไม่ถูกสังคายนามา 40 ปีแล้ว ไม่ดูว่านี่เป็นการใช้ภาษาไทยที่ไม่ดี แล้วเราก็จะเชื่อเสมอว่าอะไรที่อยู่ในหนังสือเรียนต้องเพอร์เฟกต์ ทั้งเรื่องการใช้ภาษา เรื่องอะไรต่างๆ ซึ่งผิด

          “หนึ่ง มันเป็นภาษาที่น่าเบื่อมาก สอง มันไม่ได้ผ่านการสังคายนาอะไรเลย สาม มันให้เรารู้แต่สิ่งที่เราไม่รู้ว่าเราจะรู้ไปทำไม เมื่อเหล่านี้ประกอบกันปุ๊บก็พบว่า แล้วจะอ่านไปทำไมล่ะ อ่านก็ไม่ค่อยจะรู้เรื่องเพราะว่าวน ภาษาก็ไม่สนุก แถมไม่ได้ใช้ประโยชน์ ไม่เชื่อมโยงกับอะไรเลย ในยุคปัจจุบันข้อมูลหลายอย่างคุณสามารถเสิร์ชเอาก็ได้ จะไปนั่งท่องทำไมวะ การท่องจำก็เป็นอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้เราเกลียดการอ่าน

          “เรื่องพวกนี้มันไม่ได้ลอยอยู่เฉยๆ มันโยงใยอยู่กับวัยเด็กของคุณ มันโยงใยอยู่กับนิสัยความใฝ่รู้ของคุณ ซึ่งการใฝ่รู้มันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ด้วยซ้ำ ถ้าเราคิดสักนิดว่าฉันจะเรียนด้วยความอยากรู้ ด้วยความเบิกบาน ด้วยความรื่นรมย์ ฉันอ่านหนังสือสักเล่มหนึ่งด้วยความรื่นรมย์ ไม่ใช่แค่เนื้อเรื่องมันจะเป็นอย่างไร เหตุที่คนไม่ชอบงานของวีรพรก็อาจจะแค่นั้น ไม่ไหวเว้ย เวิ่นเว้อ แค่อยากรู้ว่าเรื่องมันเป็นยังไง แล้วก็ไม่รู้ด้วย เพราะฉันไม่บอก ฉันไม่ได้ตั้งใจจะให้เธอรู้ว่าเรื่องมันเป็นแบบนี้ แต่ฉันพยายามจะให้เธอรื่นรมย์ไปในแต่ละวรรค แต่ละตอน แต่ละย่อหน้า เราเข้าใจว่าวรรณกรรมมันทำงานแบบนี้ มันทำงานด้วยภูมิหลังทั้งหมดของคุณ มันทำงานด้วยการรำลึกทั้งหมดของคุณ เพราะฉะนั้นคุณก็ควรจะฝึกอ่าน”

วีรพร นิติประภา: ความทรงจำของวรรณกรรม ความทรงจำของมนุษย์

อ่านประวัติศาสตร์ในความทรงจำมนุษย์

          เอกลักษณ์อย่างหนึ่งในตัวอักษรของวีรพร คือการบันทึกเศษเสี้ยวประวัติศาสตร์จากยุคใดยุคหนึ่ง สถานที่ใดสถานที่หนึ่ง ไว้ในชีวิตของตัวละครอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการโหยหาความรักและอุดมการณ์ของตัวละครใน ไส้เดือนตาบอดฯ หรือความเคว้งคว้างกึ่งจะไร้รากเหง้าของตัวละครใน พุทธศักราชอัสดงฯ ล้วนฉายภาพว่าคนตัวเล็กตัวน้อยเป็นผู้แบกรับบาดแผลของสังคมไว้ตลอดมา

          “งานของพี่มันเป็นประวัติศาสตร์ของปัจเจก พี่ไม่ได้สนใจพูดถึงเป้าหมายใหญ่ๆ แม้ว่าจะใน พุทธศักราชอัสดงฯ ก็ตาม แม้ว่าโครงใหญ่มันจะแตะๆ ไว้ แต่จริงๆ แล้วมันมีไว้เพื่อประกอบฉากมากกว่า เว้นแต่คุณจะสนใจจริงๆ แล้วไปเสิร์ชดูต่อว่ามันเกิดอะไรขึ้น แต่ว่าพี่สนใจประวัติศาสตร์ของปัจเจกมากกว่า

          “จริงๆ มันเป็นภาพที่ย่อยมาจากประวัติศาสตร์ใหญ่ ความสิ้นหวังหลังสงคราม มันไม่ได้ถูกมองเห็นผ่านรัฐบาล ธุรกิจ หรืออะไรด้วยซ้ำ ทั้งที่มันเป็นสิ่งที่ได้รับผลกระทบใหญ่มาก แต่มันมองเห็นได้ผ่านอาเจ็ก อาม่า เวลาที่อาม่าเล่าให้ฟังว่าช่วงสงครามไม่มีอะไรกินเลย ต้องกินข้าวหุงกับมัน ซึ่งส่วนตัวพี่เชื่อว่าสิ่งเหล่านี้มันถ่ายทอดอยู่ในสายเลือดของเรา ความสิ้นหวังแปลกๆ ที่เราไม่รู้ว่ามาจากไหน ความหิวโหยที่เราไม่รู้ว่ามาจากไหน มันอาจจะมาจากช่วงสงครามนี้ก็ได้ หรือว่ามันอยู่ในทุกๆ อย่างภายในบ้าน อยู่ในการที่อาม่าของเรามักจะเก็บข้าวของที่เหลืออยู่หยุมๆ เข้าตู้ มันอาจจะเหลืออยู่ในนั้น คือประวัติศาสตร์มันอยู่ในทุกที่ ขึ้นอยู่กับเราจะมองประวัติศาสตร์ของตัวเราอย่างไร

          “สุดท้ายพี่พูดถึงตัวเรา พูดถึงคนที่เป็นปัจเจกจริงๆ พี่ไม่คิดว่าเราจะแยกลืมได้ขนาดนั้นหรอก มันเชื่อมโยงกับรัฐบาล เชื่อมโยงกับโลกทั้งใบโดยที่คุณไม่รู้หรอกจนกว่าที่คุณจะเริ่มอ่านชีวิตคุณสักพักหนึ่งแล้วเห็นว่า เฮ้ย สงครามเย็นมันยังอยู่ตรงนี้เลย มันอยู่ตรงนี้เพราะว่ามันไม่ได้ถูกทำให้หายไป มันมาด้วยภารกิจของมัน แต่ว่าพอตัวมันไปแล้ว ดีเอ็นเอของมันยังอยู่ตรงนี้”

วีรพร นิติประภา: ความทรงจำของวรรณกรรม ความทรงจำของมนุษย์

อ่านความเป็นมนุษย์ในงานวรรณกรรม

          ในเมื่อความเป็นมนุษย์ยังคงเส้นคงวา แทบทุกโอกาสที่มีคำถามว่า ‘นักเขียนควรอ่านงานอะไรบ้าง?’ วีรพรก็มักจะผายมือไปยังวรรณกรรมคลาสสิกระดับโลก นับตั้งแต่ แผลเก่า ไปจนถึง One Hundred Years of Solitude หรือ Romeo and Juliet เพราะไม่ว่าจะผ่านกาลเวลามานานเพียงใด ความเป็นมนุษย์ในเรื่องเล่าเหล่านั้นก็ยังคงเป็นความจริงอยู่จนถึงทุกวันนี้

          “อย่าลืมว่ามันมี baseline ของความเป็นมนุษย์ ซึ่งจริงๆ แล้ว 1,000 – 2,000 ปีนี่มันไม่ค่อยเปลี่ยนไปไหนหรอก เราก็ยังดักดานอยู่ที่เก่า นั่นหมายความว่าคุณก็สามารถที่จะเชื่อมต่อกับความลุ่มหลงของตัวละคร ความคลั่งรักของตัวละคร ความจริงคนเรามันก็คลั่งทุกอย่าง คลั่งเพลงคลาสสิก คลั่งโน่นคลั่งนี่อยู่ ในฐานะมนุษย์ด้วยกันแค่นั้นพี่ก็พอใจแล้ว

          “แต่ทีนี้ยุคสมัยของความลุ่มหลงในลักษณะที่พี่เขียน พี่อาจพูดถึงยุคสมัยของการเมืองบนถนนด้วย ซึ่งอันนี้ก็อาจจะหลงหายไปบ้าง แต่การเมืองบนถนน สำหรับพี่มันก็คือการเป็นมนุษย์นี่แหละ ไม่มากไม่น้อยไปกว่านี้”

          ความรู้สึกเจ็บปวด ลุ่มหลง เกรี้ยวกราด เกิดขึ้นได้กับสิ่งมีชีวิตหลายประเภท แต่การจดบันทึกและถ่ายทอดความรู้สึกเหล่านี้เป็นอภิสิทธิ์ของมนุษย์เท่านั้น สำหรับวีรพรแล้ว วรรณกรรมในฐานะเครื่องถ่ายทอดความรู้สึกจึงอาจเทียบได้กับอาวุธทรงพลังที่สุดของเผ่าพันธุ์มนุษย์

          “อะไรคือข้อแตกต่างระหว่างการอ่านข่าวกับการอ่านนิยาย ก็ตอนที่มันทัชคุณไง ตอนที่มันเข้าไปถึงก้นบึ้งของการเป็นมนุษย์ของคุณ การที่คุณสามารถเชื่อมต่อกับใครก็ไม่รู้ได้ พี่โตมากับวรรณกรรมยุคปฏิวัติ เช่น แม่ ของ มักซิม กอร์กี หรือ เบ้าหลอมนักปฏิวัติ ของ นิโคไล ออสตรอฟสกี คำถามของพี่ก็คือ เฮ้ย แล้วมันทำงานอย่างไร คุณทำให้คนครึ่งประเทศลุกขึ้นมาปฏิวัติมวลชนเนี่ยนะ

          “อย่างเดียวที่มัน unbeatable ก็คือมันสามารถยึดโยงคุณเข้ากับตัวละครและความทุกข์ยากของชนชั้นที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ ไม่เกี่ยวกับเรื่องชนชั้น ไม่เกี่ยวกับเรื่องทฤษฎีการเมือง ไม่เกี่ยวกับมาร์กซิสม์ แต่มันเกี่ยวกับแม่คนนั้นและลูกคนนั้น ผู้ซึ่งสูญเสียกันไปในระหว่างทางของการเรียกร้องชีวิตที่ดีกว่า เห็นไหมว่าพล็อตนี้คุณสามารถเอามาใส่ในเรื่องหลังๆ ได้เลย ตรงนี้ต่างหากที่มันข้ามกาลเวลามาได้ มันไม่ได้ข้ามเวลาเพราะสนับสนุนมาร์กซิสม์ ไม่ได้ข้ามเวลาเพราะมีเลนินหรือพระเอกของเรื่องเป็นคนใต้ดิน แต่มันข้ามเวลาเพราะความทุกข์ของปัจเจก มันเป็นการทำงานภายในของปัจเจกทั้งสิ้น

          “เวลาเราอ่าน Doctor Zhivago (นายแพทย์ชิวาโก โดย บอริส ปาสเตอร์แน็ก – ผู้เรียบเรียง) เป็นเรื่องความรักของหมอชิวาโก แล้วก็มีเรื่องการเมือง เรื่องปฏิวัติ และเรื่องอื่นๆ อยู่เต็มไปหมดเลย ดังนั้นหนังสือเล่มนี้ก็จะถูกอ่านตลอดกาลเพราะมันเล่าถึงยุคสมัยนั้นๆ ปัจเจกนั้นๆ ความรู้สึกนั้นๆ ฤดูหนาวนั้นๆ คนคนนั้น ผู้หญิงคนนั้น มันจะถูกจดจำและถูกครุ่นคิดไปอีก ผ่านชีวิตของเราไป จนถึงวันหนึ่งที่พออายุ 60 อย่างพี่ก็จะ อ๋อ Doctor Zhivago เป็นอย่างนี้นี่เอง มิน่ามันเลยทำงานกับคนได้”

วีรพร นิติประภา: ความทรงจำของวรรณกรรม ความทรงจำของมนุษย์

‘วรรณกรรมแปล’ บทบันทึกถึงความเป็นมนุษย์ของคนทั้งโลก

          ดังที่เกริ่นไว้ข้างต้น ไส้เดือนตาบอดฯ และ พุทธศักราชอัสดงฯ ของวีรพรถูกนำไปแปลเป็นภาษาอังกฤษ โดยสำนักพิมพ์ River Books ผ่านสำนวนแปลของ ก้อง ฤทธิ์ดี จนกลายเป็น The Blind Earthworm in the Labyrinth (2019) และ Memories of the Memories of the Black Rose Cat (2022) ถ่ายทอดเศษเสี้ยวประวัติศาสตร์ในช่วงเวลาหนึ่งของประเทศไทยออกสู่สายตาของนักอ่านในประเทศอื่น

          “พี่ไม่ได้เป็นคนตัดสินใจ ประการที่หนึ่งก็คือ คุณหญิงนริศรา (ม.ร.ว.นริศรา จักรพงษ์ ประธานกรรมการบริษัท สำนักพิมพ์ River Books – ผู้เรียบเรียง) เป็นแฟนคลับ ชอบ ไส้เดือนตาบอดฯ มากก็เลยมาขอซื้อ และจะให้ ก้อง ฤทธิ์ดี เป็นคนแปล ประการที่สอง คุณหญิงใช้สองภาษา และประการที่สาม เขาจ้าง บ.ก. สองภาษา อีกคนมาด้วย พี่ก็เลยโอเค”

          การแปลหนังสือจากภาษาหนึ่งเป็นอีกภาษาหนึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะกับงานวรรณกรรมที่มีภาษาเฉพาะตัวเฉกเช่นงานของวีรพร ในฐานะนักอ่านคนหนึ่งเธอเข้าใจข้อเท็จจริงนี้เป็นอย่างดี กระนั้นมาตรฐานของผู้ซื้อ ผู้แปล และการมีบรรณาธิการซึ่งเชี่ยวชาญทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษมาดูแลคุณภาพการแปลอีกทอดหนึ่ง จึงทำให้ผลงานที่ออกมาน่าพึงใจเป็นอย่างยิ่ง

          “ถามว่ารู้ไหมว่าหนังสือจะออกมาดีหรือไม่ดี พี่ไม่รู้ ถ้าคุณมีหนังสือภาษาอังกฤษโยนออกไปในโลกนี้แล้วไม่มีใครพูดถึงมันเลย ก็คงไม่ดี แต่หนังสือของเรามีคนรีวิว ฉะนั้นพี่ถือว่าอันนี้แปลดีพอสมควรเลยแหละ ยิ่งกว่านั้นในหลายรีวิวเขาก็เข้าใจประเด็นที่สำคัญกับหนังสือ เช่น ความ poetic ของวีรพร แสดงว่าแม้จะแปลเป็นภาษาอังกฤษแล้ว ความ poetic ก็ยังถูกเก็บเอาไว้อยู่”

          การมีผลงานแปลจากหนังสือภาษาไทยออกไปเป็นภาษาต่างประเทศนับเป็นความน่าตื่นเต้น แต่หากเทียบกับแวดวงการอ่านทั่วโลกแล้ว คนไทยยังไม่ได้อ่านวรรณกรรมร่วมสมัยรวมถึงวรรณกรรมคลาสสิกชั้นดีอีกหลายเล่ม สำหรับวีรพรแล้วเธอมองว่าเป็นเรื่องน่าเสียดาย

          “เมื่อเร็วๆ นี้พี่ไปดูหนังญี่ปุ่นเรื่องหนึ่ง เป็นหนังป๊อปนี่แหละ แต่ว่าหนังสือที่อยู่ในฉากก็จะเป็นวรรณกรรมชั้นดีและเป็นภาษาญี่ปุ่น คือวงการแปลของญี่ปุ่นก็กว้างขวางพอสมควร ด้วยเหตุนี้  นักเขียนเขาก็เยอะ พอนักเขียนเยอะ อุตสาหกรรมการอ่านก็มโหฬาร ญี่ปุ่นมีประชากร 127 ล้านคนโดยประมาณ หนังสือบางเล่มก็ขาย 127 ล้านก๊อปปี้ มันเหมือนกับว่าแทบทุกคนจะได้อ่าน แต่เป็นไปไม่ได้หรอก มันคงต้องมีการซื้อซ้ำเมื่อพร่องหายหรืออะไรก็ตาม เห็นไหมคะว่าวงการการอ่านของเขามโหฬารมาก

          “เครื่องมือที่จะช่วยทำให้การอ่านและการเขียนของเราดีกว่านี้ก็คืองานแปล พี่เคยโวยวายก่อนหน้านี้ว่าปัญหาของอุตสาหกรรมงานแปลบ้านเราคือ เราไม่รู้ว่าคนแปลเขารู้ภาษาต่างประเทศนั้นๆ ดีหรือเปล่า อันนั้นไม่มีสิทธิ์รู้อยู่แล้ว แต่ที่พี่รู้ก็คือภาษาไทยเขาไม่ดี (หัวเราะ) เพราะฉะนั้นหมายความว่าระดับการอ่านหนังสือแปลของเรายังต่ำ การอ่านระหว่างบรรทัดของเราก็ยังต่ำ การอ่านยากๆ ของเราก็ยังต่ำ 

          “แต่ชีวิตในยามนี้ก็แฮปปี้พอประมาณนะ อย่างน้อยก็มีทางเลือก เรามีเรื่องของเฮมิงเวย์ให้อ่านครบ มีเรื่องของมูราคามิให้อ่านครบ ก็ถือว่าดีมากแล้ว แต่พี่หวังว่าเราจะได้อ่านงานของ เอดการ์ แอลลัน โพ พี่หวังว่าจะได้อ่านงานของนักเขียนใหม่ๆ มากกว่านี้เพื่อที่เราจะได้รู้ทิศทาง เพราะหนังสือบางเล่มติดอันดับเบสต์เซลเลอร์มาเป็นสิบปีแล้ว แต่เราก็ยังไม่ได้อ่าน”

วีรพร นิติประภา: ความทรงจำของวรรณกรรม ความทรงจำของมนุษย์

‘ประมาณเวิร์คช้อพ’ บทเรียนที่อยากส่งต่อนัก (อยาก) เขียน

          นอกจากบทบาทนักเขียนแล้ว วีรพรยังมีบทบาทเป็น ‘แม่’ ของนัก (อยาก) เขียนรุ่นใหม่ด้วย เธอจัดเวิร์กชอปการเขียนที่ชื่อ ‘ประมาณเวิร์คช้อพ’

          เหตุที่เรียกว่า ประมาณเวิร์คช้อพ นั้นอาจเป็นเพราะมันเป็นกิจกรรมที่คล้ายกับว่าจะเป็นเวิร์กชอป แต่ก็เป็นเหมือนกึ่งวงบำบัดที่ใช้บทสนทนาในการล้วงแคะแกะเกาถึงสารพัดปัญหาที่กัดกินใจ คนหนุ่มคนสาว และสิ่งที่เป็นผลพลอยได้จากการจัดเวิร์กชอปก็คือ การได้คลุกคลีใกล้ชิดอยู่กับเหล่านัก (อยาก) เขียน จนมองเห็น ‘จุดบอด’ ของยุคสมัย

          “เซอร์ไพรส์ค่ะ คนที่มาเรียนกับพี่ส่วนหนึ่งไม่อ่านหนังสือเลย หรืออ่านน้อยมาก บางครั้งตกใจมากว่าในเมื่อเขายังไม่ได้อ่าน หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว ยังไม่ได้อ่าน แผลเก่า เล่มนี้ก็ยังไม่ได้อ่าน เล่มนั้นก็ยังไม่ได้อ่าน ถ้าไม่อ่านงานคลาสสิกเลยแล้วคุณจะขึ้นจากอะไร คุณก็จะขึ้นตามใจฉัน ซึ่งมันก็ช่วยไม่ได้ถ้าคุณจะใช้คำว่า ‘ศีรษะหมา’ แค่คำนี้คำเดียวมันก็สะท้อนแล้วว่าหัวมังกุท้ายมังกร

          “วรรณกรรมคลาสสิกมันมีแบบแผน มีโครงสร้างที่แข็งแรงสวยงาม เหมือนตึกเก่าที่ถ้าคุณเข้าไป ไม่ว่าสัดส่วน สเกล วัสดุ ทุกอย่างแม้เก่าแต่ก็คือดี คุณจะรู้ชุดคำในงานของ หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง รพีพัฒน์, สุวรรณี สุคนธา หรือแม้กระทั่ง ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ เขียนเล่มหนึ่งก็จะสำนวนยี่เกไปทั้งเล่ม พออีกเล่มหนึ่งก็อาจจะเป็นคำฝรั่ง วรรณกรรมคลาสสิกเขาทำงานกันแบบนั้น ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องเฉพาะตัวมาก มันจะเป็นพื้นฐานของตัวคุณเองด้วย คุณต้องอ่านเยอะจึงจะเข้าใจว่า เฮ้ย เรื่องของคนบางคนนี่มันแน่น มันคานหายนะตอนท้ายได้ ในขณะที่งานเขียนยุคใหม่ๆ บางครั้งมันง่อกแง่กจนไม่น่าเชื่อ พอมันไม่น่าเชื่อปุ๊บ คำถามก็เกิดขึ้นมาว่า แล้วคุณจะทำให้เขารู้สึกได้ไหม”

          สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องของปีเกิด แต่เป็นเรื่องของประสบการณ์และชั่วโมงบิน ซึ่งนับรวมมาตั้งแต่ชั่วโมงของการเป็นนักอ่าน การคิด การรู้สึก ความปรารถนาและความหลงใหลคือจุดเริ่มต้นที่งดงามของการเขียน วีรพรมองว่า หากมันได้ประกอบเข้ากับความละเมียดละไมและสายตาที่มองเห็นรายละเอียดในชีวิตมนุษย์ จะยิ่งทำให้แวดวงวรรณกรรมของยุคสมัยมีความหวังมากขึ้น

          “สมัยก่อนนักเขียนนี่เขาจะเรียกกันว่า ‘นักคิดนักเขียน’ สองคำนี้มันมาด้วยกัน เพราะนักเขียนจำเป็นที่จะต้องคิดเยอะต้องอ่านเยอะ จำเป็นที่จะต้องเป็นพหูสูต ต้องรู้ทุกเรื่องเลย เพื่อที่จะเชื่อมโยงและทำให้เราสามารถแรเงาเรื่องที่กำลังเขียนให้มีความลึกหรือมีความกลมได้ มิติของงานบางชิ้นมันคับแคบไป สมมติว่าเป็นเรื่องความสัมพันธ์ เราก็จะมุ่งแต่ความสัมพันธ์นั้นจนมองไม่เห็นตัวละครในฐานะมนุษย์ มองไม่เห็นสถานการณ์ เราเห็นคนคลั่งรักแต่เราไม่เห็นสิ่งที่ทำให้เขาต้องกลายเป็นคนคลั่งรัก ซึ่งจริงๆ แล้วมันเกี่ยวเนื่องกันหมด ชีวิตที่ใช้มา ชีวิตที่วาดหวัง ทุกอย่างมีส่วนผลักดันให้เรื่องของเราเป็นเรื่องที่ยูนีค”

          “พี่หวังว่าเราจะทำงานที่มันคลาสสิกจริงๆ งานที่มันจะข้ามผ่านช่วงเวลาได้ งานที่มันจะสะท้อนเงาของยุคสมัย งานที่วันหนึ่งข้างหน้าคนจะกลับมาอ่านอีก ต่อให้งานนั้นมันจะเก่าขนาดโรมิโอ-จูเลียต ที่ถูกอ่านมาสี่ห้าร้อยปีแล้ว แถมยังโดนก๊อปไปแล้วอีกสี่หมื่นล้านครั้ง (หัวเราะ)”

          หลังบทสนทนาแสนสวิงสวายจบลง เราจึงได้คำตอบว่า วรรณกรรมไม่ใช่สิ่งอื่นใดนอกจากการถ่ายทอดความทรงจำของมนุษย์ผู้หนึ่งไปยังมนุษย์อีกผู้หนึ่ง ไม่ว่ามันจะเป็นความทรงจำจาก 500 ปีก่อน หรือความทรงจำจากเสี้ยววินาทีที่แล้วก็ตาม  ต้นทางสู่การสร้างงานวรรณกรรมที่ดีนั้นก็ไม่อาจเป็นสิ่งอื่นใดไปได้ นอกจากการมองเห็นความเป็นมนุษย์แห่งยุคสมัยให้ชัดเจน เพื่อจะได้ทาบทับถ้อยคำลงไปบนสิ่งเหล่านั้นให้สวยงามและซื่อตรงที่สุดนั่นเอง

วีรพร นิติประภา: ความทรงจำของวรรณกรรม ความทรงจำของมนุษย์


เผยแพร่ครั้งแรกในหนังสือ ‘Readtopia ผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงในระบบนิเวศการอ่านของไทย’ (2566)

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก