“คุณรู้ไหม ยิ่งแก่ยิ่งต้องทำงาน แล้วคุณจะเป็นหนุ่มสาว ถ้าอายุมากแล้วรู้สึกว่าพอแล้ว อะไรๆ ฉันก็รู้แล้ว ดวงตาไม่คึกคัก ไม่มีชีวิตชีวา ผมก็ยังเห็น อาจารย์รตยา จันทรเทียร อดีตประธานมูลนิธิสืบฯ เดินขึ้นดอยเชียงดาวอยู่เลย ท่านอายุ 91 แล้วนะครับ”
วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ ในวัย 63 ปียังคงเดินทางทำงานอย่างต่อเนื่อง เขามีหนังสือกว่า 30 เล่ม ปัจจุบันเป็นคอลัมนิสต์ให้กับเว็บไซต์ The101.world และ The Cloud ตลอดเส้นทางการทำงาน เขาได้รับการยอมรับจากผู้อ่านและสถาบันต่างๆ เขาได้รับรางวัลคุณนิลวรรณ ปิ่นทอง และรางวัลศรีบูรพา รางวัลแรกในฐานะบรรณาธิการผู้มีผลงานดีเด่น รางวัลหลังในฐานะนักเขียนผู้มีผลงานทรงคุณค่า
แสงแดดยามบ่ายในวันที่ 3 ของเดือนมกราคม คือของขวัญจากฤดูหนาว เก้าอี้โยกสีฟ้าพาสเทลสองตัววางอยู่หน้าสระน้ำตรงชานบ้าน จำนวนเก้าอี้บอกเล่าชีวิตของคน เขาใช้ชีวิตร่วมกับ ดร.สรณรัชฎ์กาญจนะวณิชย์ นักเขียน นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม ผู้เป็นเหมือน companion ของเขา เบื้องหน้าไกลลิบคือ ดอยหลวงเชียงดาว ตั้งตระหง่านและเก็บงำความทรงจำของเวลา
ขาตั้งกล้องวางอยู่ตามจุดต่างๆ ภายในบ้านของฟรีแลนซ์วัยหลังเกษียณผู้นี้ ราวกับบ้านคือสนามการทำงาน วันชัยเริ่มต้นบทบาทใหม่หลังถูกปลดจากตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายข่าว สถานีโทรทัศน์พีพีทีวี เมื่อหลายปีก่อน ด้วยการกำกับภาพยนตร์สารคดีเรื่อง Unfriend Elephants
“ไม่รู้ใครอันเฟรนด์ใคร” วันชัยหยอกล้อชื่อหนังสารคดีของตัวเอง “ผมใช้เวลาถ่ายประมาณ 2 ปี ได้ออกอากาศที่เกาหลีและไทยไปแล้ว ตอนนี้ก็อาจจะมีโอกาสไปฉายทั่วโลก โปรเจกต์นี้เป็นของเกาหลีที่ตั้งใจขายไปทั่วโลก” นอกจากภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้ เขายังเป็นโปรดิวเซอร์ให้หนังสารคดีชุด อ่านป่ากับหมอหม่อง อีกด้วย

จุดเริ่มต้นในวิชาชีพสื่อมวลชนของวันชัย คือการเป็นพนักงานระดับปฏิบัติงานในตอนที่ยังเรียนมหาวิทยาลัยชั้นปีที่ 4 วันชัยเริ่มงานพาร์ตไทม์ในกองบรรณาธิการวารสาร เมืองโบราณ “ตอนนั้นผมตรวจเพลต ส่งเพลตไปโรงพิมพ์” จากนั้นสำนักพิมพ์ เมืองโบราณ วางแผนจะออกหนังสือหัวใหม่ ที่ในเวลาต่อมาจะมีชีวิตยืนยาวตราบถึงวันที่คนอ่านนิตยสารน้อยลง
“สำนักพิมพ์เมืองโบราณ อยากจะทำนิตยสารคล้ายๆ National Geographic มีเนื้อหาสาระ ภาพสวย รูปเล่มดี เขียนสนุก ผมยังจำได้ตอนที่พวกเราประชุมเพื่อตั้งชื่อหนังสือเล่มนี้ ตอนนั้นมีกัน 5 คน พี่สุชาดา จักรพิสุทธิ์ เป็นบรรณาธิการคนแรก ตอนนั้นผมเสนอชื่อ Image ตอนนั้นนิตยสาร Image ยังไม่เกิดนะ สุดท้ายที่ประชุมเลือกชื่อ สารคดี”
ระหว่างปี 2533-2553 วันชัยมีบทบาทเป็นบรรณาธิการบริหารนิตยสารสารคดี เขียนสารคดีขนาดยาวตีพิมพ์ไม่น้อยกว่า 100 ชิ้น นิตยสารสารคดีได้รับการยอมรับจากคนอ่าน โดยเฉพาะเรื่องความถูกต้องของข้อมูล
นิตยสารสารคดี ฉบับที่ 1 ตีพิมพ์เดือนกุมภาพันธ์ 2528 หน้าปกเป็นเส้นสายของแสงพลุสว่างกลางความมืด เรื่องหลักที่นิตยสารสารคดีฉบับแรกนำเสนอคือ เรื่องราวของวัวชน บทสัมภาษณ์ใหญ่ประจำเล่มเป็นการสัมภาษณ์ บรรจง โกศัลวัฒน์ ในฐานะผู้สร้างภาพยนตร์สารคดี และที่ชวนเซอร์ไพรส์คือ คอลัมน์สารคดีภาพโดย เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์
“เราถ่ายรูปพลุขึ้นปก เหมือนเป็นการเอาฤกษ์เอาชัย แต่มันขายไม่ได้” วันชัยเล่าถึงปกแรกของสารคดี “ก็เลยต้องทำอะไรที่คนอื่นไม่ทำ เราพยายามคิดตลอดว่าจะทำอะไรที่โดดเด่น”
กระทั่งเดือนตุลาคมของปีถัดมา สารคดี ฉบับที่ 20 มอบพื้นที่หน้าปกให้แก่ใบหน้าของ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ คำพาดปกฉบับนั้นคือ ‘คิดถึงอาจารย์ป๋วย’ การพูดถึงและคิดถึง ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ในปี 2529 เป็นเรื่องที่ต้องออกแรงใช้ความกล้าหาญที่จะคิดถึง
“ตอนนั้นครบรอบ 10 ปี อาจารย์ป๋วยลี้ภัยออกนอกประเทศหลัง 6 ตุลา 2519 พวกเราคิดกันว่า เอาวะ ไม่มีใครกล้าทำ กูทำแม่ง! สารคดีฉบับนั้นเป็นข้อเขียนที่เขียนจากข้อมูลการสัมภาษณ์ผู้คนแวดล้อมอาจารย์ป๋วย แต่เราไม่ได้ไปอังกฤษนะครับ เราได้รูปอาจารย์ป๋วยจาก ไมตรี อึ๊งภากรณ์ ลูกชายของอาจารย์ป๋วยที่เราสนิทกันมาก ปรากฏว่าขายเกลี้ยงเลย เพราะเป็นสิ่งที่คนอื่นไม่กล้าทำ ก็เลยเป็นปรากฏการณ์”

วันชัยเล่าถึงจุดหักเหครั้งสำคัญในการค้นพบบุคลิกพิเศษของสารคดี ก่อนจะถามผมว่า “แล้วคุณจดจำ สารคดี ได้จากเล่มไหน”
“สารคดี ฉบับครบรอบ 20 ปี 6 ตุลา ครับ ผมจำได้ว่าเป็นเล่มที่ตัวละครทั้งสองฝ่ายมาพบกันบนหน้ากระดาษ”
“เล่มนั้นโดนด่าฉิบหายเลย” เขาหัวเราะ “โดนถล่ม ถ้าทุกวันนี้ก็คือโดนทัวร์ลง ในตอนนั้น 6 ตุลา เป็นประวัติศาสตร์ที่ทุกฝ่ายอยากลืม มันเจ็บปวดมาก ฝ่ายปราบปรามก็กลัว ฝ่ายที่ถูกปราบก็เจ็บปวดเกินจะพูดถึง ตอนทำก็สัมภาษณ์ทุกฝ่ายนะ ตั้งแต่กระทิงแดง ฝ่ายซ้าย ฝ่ายขวา พี่ธงชัย (ธงชัย วินิจจะกูล) พอหนังสือออก คนอ่านที่ทรงอิทธิพลในสังคมก็ด่าเราว่า ที่ผ่านมา สารคดี ก็ทำเรื่องดีๆ มาตลอดนะ อยากจะทำเรื่องเลวๆ รึยังไง”
หลังจากเราคุยกันถึงรายละเอียดในนิตยสารสารคดี ก็ทำให้ความทรงจำของผมที่มีต่อนิตยสารเล่มนี้หวนกลับมา ผมจำได้ว่าลักษณะเด่นอีกอย่างของการนำเสนอ คือการวางข้อเท็จจริงของคู่ขัดแย้งให้คนอ่านตัดสินด้วยตัวเอง
“ให้คนอ่านตัดสินเอง เพราะสื่อทำหน้าที่เป็นเมสเซนเจอร์ เราไม่ได้รู้ดีไปเสียหมด เราทำหน้าที่นำ ‘ข้อเท็จจริง’ ของวันนั้นนะครับ ไม่ใช่ ‘ความจริง’ มานำเสนอ วันนี้สังคมแต่ละฝ่ายเขามองเรื่องนี้อย่างไร เราพยายามบอกเสมอว่า สิ่งนี้ไม่ใช่สัจธรรม”
ผมชวนเขาย้อนกลับไปยัง สารคดี ฉบับ 20 ปี 6 ตุลาฯ อีกครั้ง เพื่อถามบรรณาธิการในตอนนั้นว่า เขามีวิธีอย่างไรจึงสามารถชวนให้คู่ขัดแย้งในประวัติศาสตร์บาดแผล ยอมเปิดใจเล่าถึงฝันร้ายอีกครั้ง ทั้งฝ่ายผู้กระทำและฝ่ายถูกกระทำ
“เขามองว่า สารคดี เป็นสื่อที่น่าเชื่อถือ และเป็นช่องทางให้เขาได้พูดบ้าง หลังจากที่ไม่เคยพูดมาก่อน อย่างน้อยเขาก็มีสิทธิ์พูด จริงไม่จริง…ไม่รู้นะ แต่เราเปิดโอกาสให้เขาพูด คนอ่านตัดสินเอง แต่บางคนก็ไม่พูด ไม่ยอมให้สัมภาษณ์ อยากให้สังคมลืมไป แต่บางคนก็อยากย้ำในสิ่งที่เขาเชื่อ”
สังคมไทยในปี 2566 ย่อมแตกต่างไปจากสังคมไทยในปี 2539 เรามีช่องทางการสื่อสารมากขึ้น และเฉพาะเจาะจงมากขึ้น ใครๆ ก็สามารถเป็นสื่อได้ พฤติกรรมการบริโภคสื่อเปลี่ยนไป ผมชวนเขาคุยเรื่องบทบาทการเป็น เมสเซนเจอร์ ของสื่อ ว่ายังคงฟังก์ชันอยู่ไหมในสังคมร่วมสมัย
“ตอนที่ทำทีวี ไม่ว่าจะเป็น พีพีทีวี หรือ ไทยพีบีเอส ผมพูดกับนักข่าวเสมอว่า เราทำหน้าที่เป็นเมสเซนเจอร์ เราเอาข้อมูล ณ วันนี้ไปบอก ไม่ได้แปลว่าสิ่งที่เราเชื่อจะเป็นความจริงแท้ เราชี้นำสังคมไม่ได้ เพราะทุกคนมีเสรีภาพในการเลือกที่จะเชื่อหรือไม่เชื่อ เราก็แค่เอา fact ไปบอก ให้เขาตัดสินเอง ยิ่งเราชี้นำสังคมเท่าไร เราก็ขาดความน่าเชื่อถือมากขึ้นเท่านั้น เพราะหัวใจสำคัญที่สุดของการเป็นสื่อ คือความน่าเชื่อถือ ความน่าเชื่อถือเป็นเกราะคุ้มกันของเราเลยนะ”
การนำเสนอความถูกต้องของข้อมูล คือการสะสมความน่าเชื่อถือให้นิตยสารเล่มหนึ่ง รวมถึงองค์กรสื่อทุกประเภท แต่การขอโทษเป็นความรับผิดชอบที่จะทำให้สิ่งที่สะสมมายังคงอยู่เพื่อต่อยอดต่อไป
“ถ้าค้นพบว่าเราพลาด ก็ต้องขอโทษ เราให้ข้อมูลใหม่ในฉบับถัดไปหลังจากที่เรารู้ว่าเราพลาดตรงไหน สารคดีมีคอลัมน์หนึ่งคล้ายๆ คอลัมน์ตอบปัญหาของผู้อ่าน เราใช้พื้นที่นั้นขอโทษ เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นได้ตลอด เราบอกตัวเองตลอดว่า กูก็พลาดได้ ถ้าพลาดต้องขอโทษเป็น สิ่งนี้ถ้าสะสมไปเรื่อยๆ มันจะเป็นความน่าเชื่อถือ”
เป็นเวลากว่า 25 ปี วันชัยสะสมความกล้าหาญและความน่าเชื่อถือของการนำเสนอ ตลอดชีวิตการทำงานเขาน่าจะขอโทษผู้อ่านมาหลายครั้ง กระทั่งยุติบทบาทบรรณาธิการบริหารนิตยสารสารคดี ด้วยการข้ามสายมาทำสื่อโทรทัศน์ในตำแหน่งรองผู้อำนวยการ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ในวัย 50 เขาได้ใช้ของที่สะสมมาตลอด 25 ปี ในการบริหารสื่อทีวีสาธารณะ สิ่งหนึ่งที่ถูกนำออกมาใช้ในยามหน้าสิ่วหน้าขวานก็คือ ความกล้าหาญ
ทันทีที่ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยึดอำนาจ ก็เป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่พวกเขาต้องออกคำสั่งให้โทรทัศน์ทุกช่องยุติการออกอากาศ แต่เย็นวันนั้น สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส แพร่ภาพข่าวการทำรัฐประหารทาง YouTube วันชัยได้รับมอบหมายให้เป็นผู้เจรจาต่อรองกับฝ่ายทหาร เพื่อยืดระยะเวลาการรายงานข่าวให้นานที่สุด
“วันที่เกิดรัฐประหาร (22 พฤษภาคม 2557) เป็นวันที่ผู้บริหารคนอื่นไม่อยู่ คนก็โทรมาตามให้ผมไปดูน้องๆ ตอนนั้นก็คิดว่างานเข้าแน่ เพราะผู้บริหารมีอำนาจ อำนาจมาพร้อมกับความรับผิดชอบ ถ้าน้องๆ ยืนยันว่าขอทำต่อ คุณมีอำนาจให้เขาทำ แต่คุณต้องรับผิดชอบแทนเขาด้วย คณะรัฐประหารบอกว่า ห้ามออกอากาศ แต่กองบรรณาธิการต้องการหาช่องทางออกให้ได้ พวกเขาเลยคิดถึงช่องทางออนไลน์ ตอนนั้นเขาประชุมกันว่าจะออก YouTube แต่มันต้องได้รับการอนุมัติ และมีคนรับผิดชอบ”
“พอน้องมันเสนอ ผมก็บอกว่า เอาเลย ทำไปเลย เพราะมันเป็นหน้าที่ที่สื่อต้องทำอยู่แล้ว ทำไปเลย เดี๋ยวพี่รับผิดชอบเอง เพื่อนๆ หลายคนบอกผมว่า สิ่งที่มึงทำวันนั้นเพียงวันเดียวคุ้มเงินภาษี 2,000 ล้านทันที แต่ไม่หรอก มันเป็นการทำตามหน้าที่ของทีวีสาธารณะ เราต้องพิสูจน์ว่าการทำหน้าที่นี้ต้องมีความกล้า”

หลังจากนั่งฟังเรื่องราวในชีวิตการทำงานของเขา ผมมีความรู้สึกเหมือนกำลังอ่านหรือชมหนังสารคดีที่ตัวละครเผชิญหน้ากับความท้าทาย เส้นเรื่องเต็มไปด้วย conflict ซึ่งเป็นคุณสมบัติสำคัญที่ควรมีในงานสารคดี
“ช่วงไหนของชีวิตที่รู้สึกว่าท้าทายที่สุดครับ”
“มีความท้าทายในทุกช่วงวัย ตอนที่โดนให้ออกจากพีพีทีวี นั่นก็สุดๆ เลยนะ จากที่เคยทำงานมาตลอดชีวิต คุณตื่นเช้ามาทำงานทุกวันเป็นเวลา 30 กว่าปี แต่วันหนึ่งคุณไม่มีงานให้ทำ ถูกเชิญออกเพราะนายกฯ ไม่โปรดคุณ”
“ตอนนั้นรู้สึกอย่างไรครับ” ผมถาม
“แค้นเลย แค้นใจ เราทำอะไรผิด เราทำหน้าที่ของเรา ทำไมไม่มีคนปกป้องเราเลย ไม่มีใครช่วยเราเลย สมาคมสื่อเงียบสนิทหมด หลังจากนั้นก็เข้าป่งเข้าป่าไปเลียแผล จากนั้นมีคนยุให้ทำสำนักข่าวออนไลน์ แต่เราไม่อยากแบกภาระ แรกๆ มันจะสนุก แต่สุดท้ายต้องดิ้นรนเพื่อหารายได้มาเลี้ยงลูกน้อง เราไม่อยากแบกภาระนั้น อยากทำอะไรด้วยตัวเองดีกว่า ทำเป็นจ๊อบๆ ไปดีกว่า”
เรื่องนี้มีการเล่าลือกันว่า คสช. ได้เชิญผู้บริหารระดับสูงของสถานีโทรทัศน์พีพีทีวี เข้าไปหารือเพื่อขอให้ปลดวันชัย ซึ่งทำหน้าที่ผู้อำนวยการฝ่ายข่าว เนื่องจากหน่วยงานความมั่นคงได้ติดตามการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลของเขาผ่าน Facebook ตลอด ตั้งแต่วันที่ถูกทหารควบคุมตัวเมื่อปี 2557
ทุกวันนี้ เขาจึงเป็นฟรีแลนซ์สูงวัยตื่นเช้ามาเดิน เพราะ “การเดินทำให้เราได้ปลดปล่อย ถ้าอยู่ที่นี่ (เชียงดาว) เดินเสร็จก็ไปเอาไก่ออกจากกรง ไปเก็บไข่ เก็บผัก ก็มีรูทีนของมันนะ ทำอาหารกับแฟน วันนี้ทำอะไรกินดี กินเสร็จ ล้างจาน ถ้ามีคนสั่งของก็ขายของออนไลน์” เขาหมายถึงผลผลิตทางการเกษตร เช่น ถั่วเหลือง ข้าว และชากุหลาบปลอดสารพิษ
“เดือนหนึ่งก็หาเวลามาเขียนบทความ ช่วงนี้ถ่ายทำสารคดีด้วย เดี๋ยวจะต้องเข้าป่าตามนัดหมาย มีประชุม Zoom กับทีมงานอยู่บ่อยๆ ถ้าอยู่กรุงเทพฯ รูทีนก็คล้ายๆ กัน แต่ไม่ต้องขายของออนไลน์”
ดูเหมือนชีวิตเพิ่งเริ่มต้น แต่เขามีประสบการณ์ที่สะสมมาทั้งชีวิต เพื่อใช้เป็นเสบียงในการเดินทางไปบนเส้นทางใหม่ วันชัยบอกว่า ไม่ว่าจะเขียนหนังสือ ทำหน้าที่บรรณาธิการ บริหารองค์กรสื่อ หรือปลูกข้าวอินทรีย์ ก็ล้วนต้องใช้ความกล้าและน่าเชื่อถือ
“สิ่งเหล่านี้เราค่อยๆ สะสมมา ไม่ได้เกิดขึ้นภายในคืนเดียว”
