‘ต้นไม้ 5 กิ่ง’ เคล็ดลับต่อยอดนวัตกรรมของสำนักหอสมุดกลาง ม.หอการค้าไทย

886 views
6 mins
November 15, 2021

          ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในปัจจุบัน ผนวกกับความต้องการที่เปลี่ยนไปของผู้ใช้บริการ เป็นสิ่งกำหนดทิศทางของการพัฒนาการให้บริการของห้องสมุด ให้เป็นไปอย่างเต็มประสิทธิภาพและก้าวทันโลกที่กำลังพัฒนาอยู่ตลอดเวลา นิยามของ ‘ห้องสมุด’ ในปัจจุบัน จึงไม่ได้ถูกจำกัดให้เป็นสถานที่ที่ทำหน้าที่เก็บรวบรวม จัดระบบ เพื่อให้บริการสื่อทรัพยากรสารสนเทศต่างๆ เพียงอย่างเดียว

          สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เป็นอีกหนึ่งห้องสมุดมหาวิทยาลัยที่มีการนำนวัตกรรมต่างๆ มาประยุกต์ใช้ ทั้งในด้านการยกระดับบริการต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้น และในด้านการอำนวยความสะดวกแก่ทั้งผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการ

          ในบทความนี้ จะพาไปทำความรู้จักกับ ‘ต้นไม้ 5 กิ่ง’ ว่าด้วย 5 เรื่องราวของนวัตกรรมห้องสมุดที่น่าสนใจ ที่สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย นำมาใช้แก้ปัญหาและพัฒนาบริการห้องสมุดให้ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการในปัจจุบันมากยิ่งขึ้น

ต้นไม้กิ่งที่ 1 : บริการตามคำขอ (Book Delivery and On-demand services)

          สืบเนื่องจากการที่กิจการต่างๆ รวมถึงห้องสมุด ต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในปัจจุบัน กอปรกับความต้องการของผู้ใช้บริการที่ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ก่อให้เกิดการระดมสมองหารือเพื่อการแก้ไขปัญหานี้ เพื่อให้ห้องสมุดยังสามารถให้บริการผู้ใช้ได้เฉกเช่นช่วงสถานการณ์ปกติ

          ‘บริการตามคำขอ’ จึงถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อให้บริการในลักษณะนิวนอร์มอล  ด้วยเทคโนโลยีที่ผู้คนคุ้นเคยกันดีอยู่แล้วอย่างอุปกรณ์สื่อสารและโซเชียลมีเดีย เป็นบริการที่จะทำให้ผู้ใช้บริการสามารถเข้าถึงทรัพยากรสารสนเทศได้ตลอดทุกที่ทุกเวลา โดยการให้บริการรับเรื่องจากทุกช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นเคาน์เตอร์บริการ โทรศัพท์ อีเมล หรือ โซเชียลมีเดีย (Facebook, Instant Messenger) โดยเจ้าหน้าที่บรรณารักษ์ที่พร้อมให้บริการด้วย Service-mind ในการช่วยค้นคว้า แก้ปัญหาทางเทคนิค หรือแม้กระทั่งบริการส่งหนังสือ (Book Delivery) ที่ยังสามารถให้บริการได้ตามปกติในช่วงที่มีการประกาศล็อคดาวน์และปิดห้องสมุด

          ผลจากการปรับเปลี่ยนรูปแบบการบริการดังกล่าว สามารถครองใจและตอบสนองผู้ใช้บริการได้อย่างดี ทำให้มีสถิติการใช้งานทรัพยากรสารสนเทศของห้องสมุดที่ไม่ได้ด้อยไปกว่าช่วงสถานการณ์ปกติเลย และหลังจากผ่านพ้นช่วงวิกฤตินี้ไป ทางห้องสมุดได้เล็งเห็นประโยชน์ในการนำบริการนี้มาพัฒนาและให้บริการต่อ เพื่อเพิ่มศักยภาพการบริการให้มีความยืดหยุ่น หลากหลาย และสะดวกสบายต่อทั้งผู้รับและผู้ให้บริการ

ต้นไม้กิ่งที่ 2 : Library of Things 

          แนวคิด Library of Things เริ่มจากความคิดง่ายๆ จากความต้องการของนักศึกษา ที่เราได้สอบถามว่า “อยากยืมอะไรได้ในห้องสมุดบ้าง?” ต้นไม้กิ่งที่ 2 จึงเริ่มต้นขึ้น ด้วยการให้บริการอุปกรณ์ทั่วไป จนไปถึงอุปกรณ์เทคโนโลยีที่ตอบโจทย์เด็กรุ่นใหม่ในปัจจุบัน เช่น การให้บริการเครื่อง VR เทคโนโลยีที่จะพาผู้ใช้ไปสู่โลกเสมือนได้สมจริง ผ่านเกมส์ Simulator ต่างๆ หรือ กล้อง Go Pro ที่สามารถถ่ายได้ทั้งภาพและวิดีโอ รวมไปถึงให้บริการอุปกรณ์เสริมต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับการถ่ายคลิปวิดีโอ อุปกรณ์เหล่านี้นักศึกษาสามารถยืมไปใช้งานโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

          ผลปรากฏว่า นักศึกษาที่ได้เข้ามาสัมผัสกับอุปกรณ์ที่ให้บริการ ต่างให้ความสนใจ จนเกิดเป็นบริการห้องสมุดรูปแบบใหม่ที่ฉีกภาพเดิมว่าห้องสมุดจะต้องมีแต่หนังสือ ที่สำคัญคือการมีอุปกรณ์เหล่านี้ให้ยืมใช้ ยังเป็นส่วนช่วยในการตัดสินใจของนักศึกษาที่กำลังหาซื้ออุปกรณ์มาใช้ โดยได้ทดลองใช้ก่อน เพื่อเลี่ยงปัญหาการซื้ออุปกรณ์มาแล้วไม่ตรงตามความต้องการอีกด้วย

          นอกจากอุปกรณ์ต่างๆแล้ว ทางห้องสมุดยังพร้อมให้บริการตู้ยืม-คืนหนังสืออัตโนมัติ ที่ลงทะเบียนเพียงครั้งเดียวก็สามารถยืม-คืนหนังสือผ่านตู้ได้เลย ไม่จำเป็นต้องไปรอเข้าแถวที่เคาน์เตอร์ยืม-คืน ทำให้เกิดรวดเร็วและสะดวกสบายมากขึ้น แต่หากผู้ใช้รู้สึกอยากพูดคุยหรือขอคำปรึกษากับพี่ๆ บรรณารักษ์ ก็สามารถเลือกใช้บริการที่เคาน์เตอร์ได้เช่นเดิม

ต้นไม้กิ่งที่ 3 : การพัฒนาเว็บไซต์ห้องสมุด http://library.utcc.ac.th 

          เกิดจากแนวคิดง่ายๆ ที่อยากให้เว็บไซต์ห้องสมุด เป็นเว็บไซต์หนึ่งในดวงใจของผู้ใช้บริการ ห้องสมุดจึงนำเอาบริการทุกอย่างของห้องสมุดมารวบรวมไว้ที่นี่ มีการพัฒนากล่องสืบค้นแบบ ‘One single search’ โดยกดสืบค้นเพียงครั้งเดียวสามารถได้ผลการสืบค้นจากทรัพยากรสารสนเทศทุกประเภทที่ห้องสมุดบอกรับไว้

           สำหรับการแสดงผลของเว็บไซต์ มีการออกแบบให้นำเสนอบริการที่ถูกใช้งานบ่อยเอาไว้ตรงกลาง เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้ เช่น การต่ออายุหนังสือ หรือบริการจองห้องค้นคว้า ในส่วนของการใช้งานฐานข้อมูลออนไลน์ ห้องสมุดจัดทำ Subject Guide เพื่อให้ผู้ใช้ได้เลือกใช้ฐานข้อมูลออนไลน์ตามสาขาวิชา และเพิ่มรายการฐานข้อมูลที่เป็น Open Access เพื่อให้ผู้ใช้ได้มีทางเลือกในการสืบค้น

          นอกจากนี้ เว็บไซต์ของห้องสมุดได้จัดทำเครื่องมือช่วยเหลือนักวิจัย โดยให้บริการเครื่องมือต่างๆ ที่ช่วยเหลือนักวิจัยเอาไว้มากมาย เช่น ระบบตรวจสอบการคัดลอกวรรณกรรม โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ใช้เพื่อการวิเคราะห์ทางสถิติ SPSS สำหรับงานวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Methods) โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ช่วยวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ (Qualitative data) อย่าง nVivo  และให้บริการโปรแกรมสำเร็จรูปที่ใช้ในการจัดการกับรายการทางบรรณานุกรม Endnote

          อย่างไรก็ดี เนื่องด้วยสถานการณ์สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ห้องสมุดมีการปรับตัวด้วยการให้บริการแอปพลิเคชัน ZOOM PRO ให้กับอาจารย์และนักศึกษาอีกด้วย เพื่อรองรับการจัดประชุม สัมมนา และการเรียนการสอนออนไลน์ ทั้งยังมีบริการสนทนาแบบ Instant messaging ที่คอยตอบคำถามและช่วยเหลือผู้ใช้ตลอดเวลา ทำให้ผู้ใช้บริการรู้สึกพึงพอใจมาก

ต้นไม้กิ่งที่ 4 : บริการเสนอซื้อทรัพยากรสารสนเทศแบบออนไลน์ 

          ในเมื่อห้องสมุดเป็นผู้ให้บริการทรัพยากรสารสนเทศ การรับฟังความต้องการทรัพยากรสารสนเทศของผู้ใช้บริการนับเป็นเรื่องที่สำคัญเช่นกัน ห้องสมุดจึงเปิดโอกาสให้ผู้ใช้บริการได้มีส่วนร่วมในการเสนอซื้อทรัพยากรสารสนเทศที่ต้องการเพื่อนำมาให้บริการในห้องสมุด โดยใช้เว็บไซต์สืบค้นของระบบห้องสมุดอัตโนมัติเป็นเครื่องมือในการเสนอซื้อ ทำให้ผู้ใช้สามารถเสนอซื้อ รวมถึงติดตามกระบวนการจนกระทั่งหนังสือหรือทรัพยากรสารสนเทศพร้อมให้บริการ

          จากเดิมที่ต้องใช้วิธีการเขียนแบบฟอร์มลงบนกระดาษ เมื่อเปลี่ยนมาใช้ระบบออนไลน์ ทำให้การเสนอซื้อทรัพยากรสารสนเทศมีความสะดวกสบาย รวดเร็ว และสามารถทำได้ตลอดปีการศึกษา ขณะเดียวกันก็ทำให้ห้องสมุดเต็มไปด้วยทรัพยากรสารสนเทศที่ตรงกับความต้องการของผู้ใช้บริการอย่างแท้จริง

ต้นไม้กิ่งที่ 5 : บริการพื้นที่การเรียนรู้ครบวงจร

          สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่ขาดไม่ได้ของห้องสมุด คือพื้นที่สำหรับนั่งอ่านหนังสือ รวมถึงการทำกิจกรรมที่หลากหลาย สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จึงมีความตั้งใจในการนำนวัตกรรมและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เข้ามาให้บริการในพื้นที่ของห้องสมุดมากขึ้น ทำให้ห้องสมุดมิใช่พื้นที่สำหรับอ่านหนังสือเพียงอย่างเดียว แต่เป็นสถานที่ที่ผู้ใช้บริการจะต้องคิดถึง เมื่อมีเวลาว่าง หรือต้องการทำกิจกรรมต่างๆ

          ด้วยเหตุนี้ ทางสำนักหอสมุดกลางจึงออกแบบและจัดสรรพื้นที่สำหรับบริการต่างๆ ไว้อย่างครบครัน ดังนี้

          1. IDE Learning Space พื้นที่ที่สามารถนั่งทำกิจกรรมโดยส่งเสียงดังได้ และยังนำอาหารและเครื่องดื่มเข้ามาในพื้นที่ได้ด้วย เหมาะสำหรับการติวสอบหรือทำงานกลุ่มที่ต้องใช้ระยะเวลานาน

          2. Co-Working Space พื้นที่สำหรับนั่งทำกิจกรรมซึ่งต่างจากพื้นที่ IDE Learning Space ตรงที่มีการห้ามนำอาหารและเครื่องดื่มเข้ามารับประทาน

          3. Idea Agora หรือที่นักศึกษามักเรียกกันเล่นๆว่า ‘ห้องหลุม’ เป็นห้องโถงขนาดกลางที่ไม่มีโต๊ะและเก้าอี้ แต่มีเบาะสำหรับนั่งและหมอน Bean Bag ที่เหมาะสำหรับนั่งพักผ่อนคลายหรือทำกิจกรรมที่ต้องการพื้นที่ใช้สอย

‘ต้นไม้ 5 กิ่ง’ เคล็ดลับต่อยอดนวัตกรรมของสำนักหอสมุดกลาง ม.หอการค้าไทย
พื้นที่ให้บริการ Idea Agora
Photo : UTCC Central Library

          4. Study room หรือห้องทำงานกลุ่ม เป็นสถานที่ที่เน้นความเป็นส่วนตัว โดยจะให้บริการเป็นห้องประชุมกลุ่ม พร้อมทั้งเครื่องมืออำนวยความสะดวกอย่าง Smart TV และอุปกรณ์ต่อพ่วงทั้งหลาย สามารถใช้ประชุมหรือติวหนังสือได้อย่างสะดวก ทั้งยังใช้เป็นห้องรับชมภาพยนตร์ได้อีกด้วย

          5. พื้นที่โซนเงียบ สำหรับผู้ที่ต้องการสมาธิในการทำงาน

          6. Boardgame Corner มุมให้บริการบอร์ดเกมเพื่อการศึกษา มีพื้นที่กว้างขวาง ใช้เสียงได้ เหมาะสำหรับผู้สนใจทดสอบไหวพริบ ประลองปัญญา และเรียนรู้ทักษะไปกับบอร์ดเกม

            พื้นที่ทั้งหมดที่ว่ามา เกิดจากความพยายามตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของผู้ใช้บริการ บางท่านต้องการความสงบ บางท่านต้องการใช้เสียง บางท่านต้องการนำอาหารเข้ามาด้วย บางท่านไม่อยากให้มีกลิ่นอาหาร หรือบางท่านต้องการความเป็นส่วนตัวถึงที่สุด การมีพื้นที่ลักษณะต่างๆ คอยรองรับ ทำให้ผู้ใช้สามารถเลือกสรรพื้นที่ใช้สอยที่เหมาะกับการใช้งานของตัวเองได้

Photo : UTCC Central Library
Boardgame Corner พร้อมให้บริการ
Photo : UTCC Central Library

          จากการบริการที่หยิบยกมานำเสนอ จะเห็นว่านวัตกรรมได้นำพาห้องสมุดไปสู่ทิศทางใหม่ๆ แม้บางอย่างอาจเกิดจากวิกฤตการณ์ที่ไม่คาดฝัน แต่นวัตกรรมก็เข้ามามีบทบาทในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาการบริการให้มีประสิทธิภาพ สร้างประโยชน์แก่ผู้ใช้บริการในหลากหลายมิติ รวมถึงส่งเสริมให้เกิดการสร้างแนวคิดใหม่ๆ เพื่อต่อยอดต่อไปในอนาคต

          แม้ตอนนี้จะมีตัวอย่างให้เห็นแค่ 5 กิ่งดังที่ไล่เรียงมา แต่เราเชื่อว่าต้นไม้ต้นนี้จะต้องเติบโตต่อไป และแผ่กิ่งก้านใหม่ๆ ออกมาอย่างแน่นอน เพราะห้องสมุดรวมถึงตัวบรรณารักษ์เอง ต้องปรับตัวและเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ เพื่อให้ห้องสมุดยังคงเป็นสถานที่ที่อยู่ในใจของผู้ใช้ได้ตลอดไป

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก