ต่อกรการเซ็นเซอร์ ด้วยห้องสมุดในเกม Minecraft

29 views
March 5, 2021

เสรีภาพในการเข้าถึงข่าวสารข้อมูลเป็นสิ่งที่สะท้อนถึงความเป็นประชาธิปไตย สังคมที่สื่อถูกปิดกั้นโดยการใช้อำนาจของรัฐ นักข่าวหรือนักวิชาการอาจถูกจับกุมหรือคุกคามเมื่อนำเสนอข่าวสารวิจารณ์รัฐบาล หรือมีการเซ็นเซอร์ข้อมูลในสื่อช่องทางต่างๆ ไม่ให้ประชาชนเข้าถึงความจริงหรือข้อมูลที่รอบด้านในประเด็นสาธารณะ

องค์กร Reporters without Borders ใช้เกมไมน์คราฟต์ (Minecraft) เป็นเครื่องมือในการต่อกรกับการเซ็นเซอร์อันไม่ชอบธรรม โดยทำงานร่วมกับพาร์ตเนอร์จาก MediaMonks บริษัทด้านการผลิตสื่อดิจิทัลของเนเธอร์แลนด์ และ Blockworks บริษัทด้านการออกแบบประสบการณ์ในเกมไมน์คราฟต์โดยเฉพาะ

ทีมงานได้เข้าไปสร้างห้องสมุดเสมือนเอาไว้ในไมน์คราฟต์ ชื่อว่า “Uncensored Library” โดยใช้ชิ้นส่วนตัวต่อซึ่งเป็นวัสดุสำหรับก่อสร้างสิ่งต่างๆ ในเกม จำนวนถึง 12.5 ล้านชิ้น เปิดตัวใช้งานวันแรกเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2020 ซึ่งตรงกับวันต่อต้านการเซ็นเซอร์ไซเบอร์โลก

ผู้เล่นเกมที่เข้าไปเยือนห้องสมุดแห่งนี้ สามารถเพิ่มไฟล์บทความเพื่อสร้างเป็นหนังสือไว้ให้บริการในห้องสมุดได้ด้วยตนเองโดยไม่มีการเซ็นเซอร์ รวมถึงเปิดให้ผู้เล่นทุกรายเข้าไปอ่านไฟล์หนังสือเหล่านั้นได้อย่างเสรี

โรเบิร์ต ยาน บล็อง (Robert-Jan Blonk) โปรดิวเซอร์ของ MediaMonks กล่าวถึงการสร้างห้องสมุดแห่งนี้ว่า “มีนักพัฒนาหลายคนช่วยกันก่อสร้างห้องสมุดขนาดใหญ่ โดยใช้เวลานาน 2-3 เดือน พวกเราแชร์บทความและเรื่องราวของนักข่าวที่ถูกเซ็นเซอร์โดยประเทศของพวกเขาผ่านหนังสือที่อยู่ในห้องสมุด ทุกคนสามารถเข้ามาค้นหาและเปิดอ่าน เพราะแม้แต่ประเทศ… (เขาละไว้ให้เข้าใจเอาเองว่าประเทศอะไร-ผู้เรียบเรียง) ใครๆ ก็สามารถเล่นเกมไมน์คราฟต์ได้”

ตัวอย่างไฟล์เนื้อหาที่มีในห้องสมุด เช่น บทความของสำนักข่าว Mada Masr ของอียิปต์ที่รายงานเรื่องการคอร์รัปชันและถูกรัฐบาลปิดกั้นมาตั้งแต่ปี 2017 เรื่องราวจากเว็บไซต์ graniru.org ซึ่งรายงานเกี่ยวกับกลุ่มผู้ประท้วงและการเคลื่อนไหวทางสังคมในรัสเซีย ข้อเขียนของ Hatice Cengiz ซึ่งเป็นคู่หมั้นของจามาล คาชอกกี (Jamal Khashoggi) นักข่าวชาวซาอุดิอาระเบียที่คาดว่าถูกสังหารชีวิตในสถานทูตของตนเองในประเทศตุรกี บทความของเหงียน วัน ได (Nguyen Van Dai) นักข่าวและทนายด้านสิทธิมนุษยชนชาวเวียดนามที่ถูกจองจำมาตั้งแต่ปี 2017 จนถึงปัจจุบัน และผลงานของฮาเวียร์ วาลเดซ (Javier Valdez) นักข่าวชาวเม็กซิกันที่ถูกสังหารเพราะเปิดโปงเส้นทางการค้ายาเสพติด

ผู้เล่นเกมไมน์คราฟต์สามารถเข้ามาเพิ่มเติมเนื้อหาให้ห้องสมุดได้ แต่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขเนื้อหาที่ถูกอัพโหลดไว้ และมีการวางเงื่อนไขป้องกันการแฮ็กห้องสมุดเพื่อเข้ามาทำลายหนังสือ

ปัจจุบันมีผู้เล่นไมน์คราฟต์ทั่วโลกกว่า 145 ล้านคน ในจำนวนนี้มีหลายคนได้เข้ามาแวะเวียนอ่านหนังสือที่ Uncensored Library

บล็องกล่าวว่า “ผู้คนมากมายต้องตายเพราะการเซ็นเซอร์ นี่เป็นหนทางอันแตกต่างที่จะทำให้เกิดความสนใจเรื่องเสรีภาพของสื่อ เราหวังว่าการมีผู้เล่นจำนวนมากจะทำให้ปัญหาที่เราหยิบยกขึ้นมา เป็นที่รู้จักอีกครั้งหนึ่ง”

หลังเปิดให้บริการ Uncensored Library ประมาณ 6 เดือน ผู้เล่นเกมจากทั่วโลกประมาณ 275,000 คนเข้ามาที่ห้องสมุด มีการเพิ่มเรื่องราวใหม่มากกว่า 760 เรื่องและอัพโหลดวิดีโอเข้าไปในห้องสมุดมากกว่า 350 เรื่อง ทำให้ยอดการบริจาคให้กับองค์กร Reporters without Borders เพิ่มขึ้น 62%

ต่อกรการเซ็นเซอร์ ด้วยห้องสมุดในเกม Minecraft
Photo: The Uncensored Library


ที่มา

บทความ “Reporters Without Borders built a virtual library in ‘Minecraft’ to share banned journalism” จาก fastcompany.com (Online)

ทวิตเตอร์ blockworks (Online)

Facebook Post Click

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

PDPA Icon

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก