อาร์เมเนียเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับเอกราชหลังจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ได้รับการขนานนามว่าเป็นดินแดนแห่งขุนเขาและอารามเก่าแก่ ทำเลที่ตั้งอยู่ระหว่างทวีปยุโรปและเอเชีย ทำให้อาร์เมเนียเปรียบเหมือนสะพานที่เชื่อมโยงผู้คนและวัฒนธรรมที่หลากหลายเข้าด้วยกัน
ไม่กี่ปีที่ผ่านมา อาร์เมเนียเร่งพัฒนาด้านเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อยกระดับเศรษฐกิจและเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในเวทีโลก โดยมีศูนย์การเรียนรู้เพื่อเทคโนโลยีสร้างสรรค์ ‘TUMO’ (TUMO Center for Creative Technologies) เป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่จะนำพาประเทศให้ไปถึงฝั่งฝัน
ประสบการณ์ที่สั่งสมนับสิบปี ด้านการบ่มเพาะทักษะและความรู้ในศาสตร์สาขาที่สอดคล้องกับทิศทางโลก อาชีพในอนาคต ที่สำคัญคือทุกอย่างฟรีไม่เก็บค่าใช้จ่าย ทำให้ในวันนี้ TUMO กลายเป็นต้นแบบแหล่งเรียนรู้สำหรับวัยรุ่นที่หลายเมืองทั่วโลกให้ความสนใจ
เทคโนโลยีสร้างคน คนสร้างชาติ
การศึกษาของอาร์เมเนียได้รับมรดกตกทอดมาจากสหภาพโซเวียต ซึ่งเป็นระบบที่ไม่ส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดความคิดสร้างสรรค์ และทำให้เด็กจำนวนมากมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อการไปโรงเรียน TUMO จึงต้องการเข้ามาเติมเต็มคุณค่าที่ยังขาดหายไป ด้วยการช่วยจัดสรรทรัพยากรการเรียนรู้ล้ำสมัย จุดมุ่งหมายคือสนับสนุนให้คนหนุ่มสาวทั่วอาร์เมเนียมีความคิดที่ก้าวไกล ค้นพบความสนใจที่แท้จริงของตนเอง และเรียนรู้ทักษะที่จำเป็นสำหรับการทำงานอย่างเป็นมืออาชีพ
TUMO ริเริ่มโดยแซม และ ซิลวา ซิโมเนียน (Sam and Sylva Simonian) สองสามีภรรยาชาวอาร์เมเนีย ซึ่งติดตามครอบครัวไปตั้งถิ่นฐานในสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่น เมื่อประสบความสำเร็จในการเป็นผู้ประกอบการด้านไอที จึงกลับมาตั้งมูลนิธิเพื่อการศึกษาที่อาร์เมเนีย พวกเขาเชื่อว่ามีเพียงการศึกษาที่มีคุณภาพเท่านั้นที่จะทำให้ผู้คนก้าวพ้นจากความยากจน และเป็นพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการสร้างชาติให้รุ่งเรือง มูลนิธิฯ ได้ให้เงินสนับสนุนเต็มจำนวนเพื่อก่อตั้ง TUMO แห่งแรก ใจกลางย่านที่มีประชากรหนาแน่นที่สุดของเมืองหลวงเยเรวาน
TUMO ค่อยๆ เป็นรูปเป็นร่างขึ้น เมื่อแซม และ ซิลวา บังเอิญได้พบกับ มารี ลู พาพาเซียน (Marie Lou Papazian) วิศวกรชาวเลบานอน ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการศึกษา มารีได้ช่วยประสานเรื่องการออกแบบอาคาร ริเริ่มหลักสูตรต่างๆ และดำรงตำแหน่งซีอีโอเมื่อ TUMO เปิดให้บริการในปี 2011
เมื่อความรู้ในโลกใบนี้หมดอายุเร็วขึ้นทุกทีๆ การส่งเสริมให้ผู้เรียนเท่าทันต่อความเปลี่ยนแปลงคือการเรียนวิธีที่จะเรียนรู้ (Learning How to Learn) ซึ่งเป็นหัวใจของการศึกษาสมัยใหม่ “TUMO เป็นมากกว่าการเรียนรู้เรื่องเทคโนโลยี แต่เป็นการเรียนรู้เกี่ยวกับความรับผิดชอบ นักเรียนมีหน้าที่เรียนรู้ด้วยตนเอง เป็นนายของการเรียนรู้ และสามารถควบคุมสิ่งที่ต้องการทำ เราช่วยส่งเสริมให้พวกเขาเกิดความทะเยอทะยานและอยากเรียนรู้มากขึ้น รวมทั้งได้พัฒนาความคิดที่คล่องแคล่วและยืดหยุ่น” มารี กล่าว
มีอะไรใน TUMO
TUMO กรุงเยเรวาน ตั้งอยู่ในสวนสาธารณะเก่าแก่ของเมือง มีการออกแบบภูมิทัศน์โดยรอบให้ทันสมัยและเหมาะกับการทำกิจกรรมกลางแจ้ง ตัวอาคารมีทั้งหมด 6 ชั้น ชั้นที่ 1 และ 2 เป็นพื้นที่ของศูนย์การเรียนรู้ ส่วนชั้นอื่นๆ เป็นพื้นที่ให้เช่าสำหรับบริษัทด้านไอทีและเทคโนโลยี ด้วยโมเดลนี้จึงทำให้ TUMO มีรายได้มาหล่อเลี้ยงอย่างต่อเนื่องจนพึ่งพาตนเองได้ และสามารถให้บริการฟรีแก่เยาวชนเป็นจำนวนหลายหมื่นคน
ภายในศูนย์การเรียนรู้เป็นพื้นที่สำหรับนั่งทำงานพร้อมคอมพิวเตอร์ สายไฟถูกออกแบบให้เป็นขดเกลียวลอยตัวซึ่งสามารถเคลื่อนย้ายได้สะดวก นอกจากนี้ยังมีเมกเกอร์สเปซสำหรับผลิตงานสร้างสรรค์หลากหลายประเภท
มารี เล่าถึงความคิดเบื้องหลังการออกแบบ ว่า “เราคิดถึงการใช้งานของนักเรียนก่อนการออกแบบ เหตุผลที่ผนังทำจากวัสดุกระจกไม่ใช่เรื่องความงาม แต่เพราะต้องการความโปร่งใส เราอยากให้เด็กจากหลากหลายภูมิหลังได้เรียนรู้ซึ่งกันและกัน ขณะที่คนทำงานก็ได้มองเห็นเพื่อนคนอื่นๆ เรามีประสบการณ์จากสถาปัตยกรรมที่สร้างขึ้นในยุคโซเวียต ซึ่งทุกอย่างอยู่หลังประตู มันก่อให้เกิดบรรยากาศที่ปิด ดูเป็นความลับ และน่าเบื่อ อีกสิ่งหนึ่งที่เราเน้นในการออกแบบคือเรื่องความยืดหยุ่น เพราะการเรียนรู้ที่เต็มไปด้วยไอเดีย ทุกอย่างควรเคลื่อนย้ายได้ทั้งโต๊ะและเก้าอี้ ให้ผู้เรียนรู้สึกว่าพื้นที่เป็นของเขาและมีความสะดวกสบาย”
หลักสูตรของ TUMO มี 14 วิชา ได้แก่ แอนิเมชัน การพัฒนาเกม การสร้างภาพยนตร์ การพัฒนาเว็บไซต์ ดนตรี การเขียน การวาดภาพ การออกแบบกราฟิก การสร้างแบบจำลองสามมิติ การเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ วิทยาการหุ่นยนต์ กราฟิกเคลื่อนไหว การถ่ายภาพ และสื่อดิจิทัล เนื้อหาถูกออกแบบให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง มีความสนุกและท้าทายตามหลักของเกม โดยเนื้อหาแต่ละวิชามีความยากง่ายแบ่งเป็น 3 ระดับ นอกจากนี้ยังมีการจัดเวิร์กชอปโดยเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีจากทั่วโลกมาแลกเปลี่ยนความรู้กับเยาวชน
TUMO ยังพยายามเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างเทคโนโลยีทันสมัยกับมรดกทางวัฒนธรรมของท้องถิ่น เช่น มีโครงการความร่วมมือกับสถาบันสมิธโซเนียน และ ไซอาร์ก (CyArk) หน่วยงานที่ทำงานด้านการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อให้เยาวชนได้เรียนรู้การทำแผนที่สามมิติของโบสถ์โนราวังก์ (Noravank) และถ้ำอาร์เรนนี (Areni) ซึ่งเป็นขุมทรัพย์ทางวัฒนธรรมที่สำคัญของอาร์เมเนีย และในสตูดิโอออกแบบศิลปะ มีการนำลวดลายโบราณมาต่อยอดให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ
การเรียนรู้ที่ TUMO ไม่มีประกาศนียบัตรหรือใบรับรองการสำเร็จหลักสูตร แต่ประวัติการเข้าเรียนและผลงานจะถูกบันทึกไว้ในแฟ้มสะสมผลงานออนไลน์ นักเรียนสามารถนำไปใช้ประกอบการสมัครเข้ามหาวิทยาลัยหรือสมัครงานได้ ทั้งนี้ ผลงานในแต่ละวิชาจะถูกนำมาเผยแพร่ในเว็บไซต์อย่างเป็นหมวดหมู่ เพื่อให้ผู้ที่สนใจด้านเดียวกัน สามารถเก็บเกี่ยวไอเดียและแรงบันดาลใจจากเพื่อน และมีบล็อกสำหรับบอกเล่าเรื่องราวประสบการณ์การเรียนรู้ของนักเรียน
“คนทั่วไปมักจะคาดหวังว่า ผลลัพธ์ที่น่าอัศจรรย์ของการเรียนรู้คือหุ่นยนต์ซึ่งเคลื่อนไหวอย่างมีประสิทธิภาพ ภาพวาดสวยๆ หรือภาพยนตร์ดีๆ แต่สำหรับเราความน่าอัศจรรย์อยู่ที่กระบวนการ ซึ่งนักเรียนวางแผนในการทำงาน หรือริเริ่มวิธีการต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาให้ลุล่วง ไม่ใช่แค่สิ่งที่ดูดีตอนจบ เราจึงทำวิดีโอสั้นๆ เพื่อให้เด็กๆ อธิบายว่าพวกเขาได้เรียนรู้อะไรบ้าง” มารีกล่าว
กลยุทธ์ดาวกระจาย
TUMO คำนึงถึงการสร้างโอกาสการเรียนรู้เทคโนโลยีอย่างเท่าเทียมกัน และตั้งเป้าว่าวัยรุ่นทุกคนในอาร์เมเนียจะต้องสามารถเข้าถึง TUMO ได้ภายใน 40 นาที มีการวางแผนที่จะขยายสาขาออกไปทั่วประเทศ ทั้งในรูปแบบศูนย์การเรียนรู้ขนาดใหญ่ และ TUMO Box พื้นที่เรียนรู้นวัตกรรมที่ใช้ต้นทุนต่ำและสามารถติดตั้งได้ง่ายจากตู้คอนเทนเนอร์เพียง 2-3 ตู้ เหมาะสำหรับพื้นที่ชนบทที่อยู่ห่างไกล ภายในตู้มีอุปกรณ์การเรียนรู้ที่ทันสมัย ทำให้เยาวชนในชุมชนสามารถเรียนรู้เนื้อหาได้ไม่ต่างไปจากผู้อยู่ในเมืองใหญ่
ปัจจุบันมีศูนย์ TUMO ที่ก่อตั้งแล้วเสร็จจำนวน 4 แห่ง จากที่ตั้งเป้าไว้ 16 แห่ง และ TUMO Box 6 แห่ง จากที่ตั้งเป้าไว้ 110 แห่ง ในวาระครบรอบ 10 ปี TUMO มีการจัดแคมเปญระดมทุนครั้งใหญ่มูลค่า 50 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ ณ เดือนพฤษภาคม 2022 สามารถระดมทุนได้แล้วประมาณ 20 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งจะสามารถสร้างพื้นที่เรียนรู้ได้ 50 แห่ง
นอกจากนี้ อาร์เมเนียยังได้รับทุนสนับสนุนจากสหภาพยุโรปในการก่อตั้งศูนย์การเรียนรู้คอนเวอร์เจนซ์แห่งยุโรป (EU TUMO Convergence Center) อาณาจักรการเรียนรู้ที่เน้นด้านวิศวกรรมศาสตร์และวิทยาศาสตร์ประยุกต์ระดับภูมิภาค เป็นชุมชนที่นักศึกษา ผู้ประกอบการ และบริษัทชั้นนำทั้งในประเทศและต่างประเทศมารวมตัวกัน ตัวอย่างหน่วยงานที่น่าสนใจ เช่น วิทยาเขตของมหาวิทยาลัยฝรั่งเศสแห่งอาร์เมเนีย และ School 42 ซึ่งเป็นโรงเรียนสอนการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ฟรีที่มีชื่อเสียงระดับโลก ขณะนี้อยู่ระหว่างการออกแบบอาคารโดย MVRDV บริษัทออกแบบสถาปัตยกรรมชื่อดังสัญชาติเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเชี่ยวชาญด้านการออกแบบห้องสมุดและแหล่งเรียนรู้แห่งอนาคต
บทเรียนสะท้อนกลับจากต่างประเทศ
ประสบการณ์ที่สั่งสมมานับสิบปี ทำให้นักการศึกษาและผู้วางนโยบายสาธารณะจากหลายประเทศ หลั่งไหลกันเข้ามาดูงานที่ TUMO เริ่มต้นจากนายกเทศมนตรีกรุงปารีสมาเยี่ยมชมแล้วกล่าวว่า “ฉันต้องการให้มีสิ่งนี้ที่ปารีส” หลังจากนั้นก็มีกระแสความสนใจจากต่างประเทศให้มีการขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง เช่นที่ ลียง เบรุต มอสโก ติรานา เบอร์ลิน และกำลังอยู่ระหว่างการก่อตั้งอีกหลายแห่ง เช่น ลอสแอนเจลิส โตเกียว เคียฟ และนูร์-ซุลตัน
ทุกแห่งดำเนินการภายใต้เงื่อนไขเดียวกันคือ คนรุ่นใหม่จะต้องได้รับโอกาสในการเรียนรู้อย่างเท่าเทียมกันโดยไม่มีค่าใช้จ่าย หรือได้รับการสนับสนุนงบประมาณมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
เปเกอร์ พาพาเซียน กรรมการที่ปรึกษา TUMO กล่าวว่า “เราประหลาดใจที่แม้แต่ประเทศที่พัฒนาแล้วก็มีความต้องการ TUMO การขยายสาขาไปยังนานาประเทศเป็นช่องทางเพิ่มรายได้ใหม่ให้กับเราก็จริง แต่นั่นเป็นเรื่องรอง สิ่งที่น่าตื่นเต้นมากกว่าก็คือ เราได้รับบทเรียนใหม่ๆ ที่ย้อนกลับมาจากปารีส เพื่อนำมาปรับการเรียนรู้ของเราให้มีความเป็นสากล คล่องตัว และเป็นประโยชน์ต่อผู้เรียนมากขึ้น บทเรียนเช่นนี้จะยิ่งมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อ TUMO ขยายไปยังเมืองอื่นๆ อีกหลายแห่ง”
ที่มา
เว็บไซต์ TUMO [online]
เว็บไซต์ TUMO Armenia [online]
TUMO Center for Creative Technologies [online]
TUMO Center for Creative Technologies [online]
Teaching Self-Learning Activities for Kids at TUMO [online]
Digital education Germany learns from Armenia [online]
TUMO. A film by Eric Nazarian. [online]
Cover Photo : TUMO