ยากสักหน่อยที่จะอธิบายความซับซ้อนของเทรเวอร์ โนอาห์ (Trevor Noah) นักแสดงเดี่ยวไมโครโฟนชื่อดัง และอดีตพิธีกรรายการ The Daily Show ของสหรัฐอเมริกา เพราะประวัติชีวิตของเขาเต็มไปด้วยความยากลำบาก แต่ก็มีสีสันในแง่ของการเป็นคนแอฟริกันที่ไม่เคยลืมว่าตัวเองเติบโตมาอย่างไร แถมยังค้นพบว่าเสียงหัวเราะนี่แหละที่จะเชื่อมเขาและทุกคนไว้ด้วยกัน
เทรเวอร์เติบโตขึ้นมาท่ามกลางการแบ่งแยกผิวสี (Apartheid) สังคมแอฟริกาใต้ในยุคนั้นมีแต่พื้นที่แห่งความไม่เท่าเทียมอย่างชัดเจน เขาเขียนหนังสือเล่าอัตชีวประวัติของตัวเองชื่อ Born a Crime: Stories from a South African Childhood ซึ่งหมายความว่า แค่เกิดมาก็เป็นอาชญากรรมแล้ว เพราะกฎหมายในแอฟริกาใต้ห้ามไม่ให้คนต่างสีผิวแต่งงานกัน ซ้ำยังต้องแยกกันอยู่กับครอบครัวเพราะรัฐบาลจัดไว้ให้แล้วว่าคนผิวสีอะไรควรจะอยู่ในพื้นที่ไหน เขาจึงต้องอยู่กับแม่ที่เมืองโซวีโต ในขณะที่พ่ออยู่ที่โจฮันเนสเบิร์ก
เขามีแม่ที่เคร่งศาสนา ฝึกฝนให้เขาเถียงในสิ่งที่เชื่ออยู่ตลอดเวลา สอนให้ลูกอ่านหนังสือเยอะๆ และส่งไปเรียนในโรงเรียนที่ดีที่สุดเท่าที่กำลังจะมี
“แม่จะต้องแน่ใจว่ามีอาหารในท้องของลูก และแม่จะหาหนังสือมาให้ลูกอ่าน”
เทรเวอร์มีพ่อเลี้ยงที่ก่อความรุนแรงภายในบ้าน ย้ายโรงเรียนไปเจอเพื่อนต่างสีผิวจนสับสนในอัตลักษณ์ของตัวเอง โดนไล่ออก เคยติดคุก เผาบ้านของพลเมืองผิวขาวโดยไม่ได้ตั้งใจ หรืออยู่ดีๆ ก็จับพลัดจับผลูมาเป็นเด็กม.ปลายที่ทำอาชีพดีเจไรต์แผ่นซีดีเถื่อนขายในขณะที่เรียนหนังสือไปด้วย
เขาเป็นตลกที่ชีวิตไม่ตลก ไม่ใช่คนมองโลกในแง่บวกแต่ก็ไม่ได้ด่ากราดสังคม เพราะชีวิตที่เติบโตมาเต็มไปด้วยความไม่เป็นธรรม และมีทักษะเชิงวิพากษ์ที่น่าสนใจมาก จนกลายเป็นคนแอฟริกันที่รู้เรื่องการเมืองและวัฒนธรรมอเมริกาจนเป็นที่ยอมรับ เช่น รายการ The Daily Show ที่เขารับช่วงต่อมาจากจอน สจวร์ต (Jon Stewart) พิธีกรคนเก่าโดดเด่นในแง่ของเป็นรายการข่าวสไตล์ Fake News แต่เทรเวอร์ปรับโฉมจนมันกลายเป็นรายการข่าวเชิงลึกที่แฝงมุกตลกเสียดสีฉลาดๆ พร้อมกับความคิดเห็นเฉียบคม ที่ทำให้ผู้ชมเฝ้ารอติดตามว่าอเมริกาหรือโลกใบนี้มีเหตุการณ์อะไร เช่น ราชินีอลิซาเบธสิ้นพระชนม์ หรือ ชาวเน็ตโวยไม่เอาแอเรียลผิวสี
การแสดง Standup Comedy หรือโชว์เดี่ยวของเขามุ่งเน้นไปที่เรื่องราวหลากหลายคล้ายนักแสดงเดี่ยวทั่วไป แต่มีแก่นของการสนับสนุนความเท่าเทียม ความเป็นสตรีนิยม มายาคติและอำนาจรัฐรอบโลกที่กระทำต่อผู้ถูกกดขี่อยู่เสมอ
“ใครก็ได้ควรจะสร้าง Trip Advisor ให้คนผิวดำโดยเฉพาะ เพราะผมค้นพบว่าสิ่งที่คนผิวขาวชอบทำในวันหยุดของพวกเขา คือสิ่งที่เราคนดำอยากหลีกหนี อย่างเพื่อนผมชอบชวนไปตั้งแคมป์”
“เทรเวอร์ ไปแคมป์ปิงกันเหอะว่ะ!”
“เพื่อ?!”
“เพื่ออะไร หมายความว่าไง มันเยี่ยมจะตาย ไม่มีน้ำ ไม่มีไฟใช้ มีแค่เราในป่าใหญ่ นั่งถ่ายลงหลุมน่ะ”
ผมก็แบบ “เออ ก็นั่นชีวิตกูไง กูโตมาแบบนี้แหละ รู้ไหมว่ากูทำงานหนักแค่ไหนเพื่อไม่ให้ตัวเองต้องไปแคมป์ปิงอีก! ทุกวันโว้ย”
“สำเนียงไม่ใช่มาตรวัดของความฉลาด แต่สำเนียงเป็นสิ่งที่คนใช้ในการออกเสียงพูดภาษาของพวกคุณโดยใช้กฎเกณฑ์ของพวกเขาเอง”
“ทุกคนก็มีภาพแอฟริกาในหัว แล้วมันก็ไม่ใช่ความผิดของพวกคุณหรอก คุณไม่รู้จักแอฟริกาทั้งประเทศมากนัก…ตอนที่ผมอยู่ที่อเมริกา ผมก็เจอแต่โฆษณาพวกนั้น คุณเคยดูพวกโฆษณายูนิเซฟ อะไรแบบนั้นไหม ผมเกลียดมันมาก ไม่มีอะไรมาเตือนคุณก่อนด้วยซ้ำว่าคุณจะต้องมาดูโฆษณาพวกนี้ ผมนั่งดูโชว์ตลกอยู่ดีๆ รู้ตัวอีกทีก็มีหมู่บ้านสุดโทรมโผล่ออกมาในทีวี สกปรกโสโครก มีแต่ตึกเก่ากรังๆ กับคนผิวดำทำหน้าเศร้าๆ ผมเห็นแล้วก็แบบ อู้ อะไรน่ะ คลีฟแลนด์เรอะ! แล้วก็มีคำบรรยายโผล่ขึ้นมาว่า ‘แอฟริกา’ ผมแบบ…ถามจริ๊ง? แอฟริกาตรงไหนก่อน?!”
นี่เป็นตัวอย่างที่มุกตลกที่เขาใช้เวลาแสดงโชว์ มันมาจากการเก็บเกี่ยวประสบการณ์วัยเด็ก และประเด็นที่โลกควรตั้งคำถาม
ปัจจุบัน เทรเวอร์ถือว่าเป็นบุคคลสำคัญแห่งแอฟริกาใต้ เพราะเขาไม่เคยทิ้งความเป็นแอฟริกัน และแสดงออกถึงอัตลักษณ์อย่างภาคภูมิใจอยู่เสมอ จนทำให้คนทั่วไปเข้าใจความเป็นแอฟริกาใต้ และความเป็น ‘พลเมืองโลก’ อย่างเป็นธรรมชาติ ผ่านการเล่นมุกเล็กๆ น้อยๆ ที่เชื่อมร้อยตัวเองเข้ากับปัญหาระดับมหภาค เช่น ชาวแอฟริกาใต้ไม่ได้มีแต่พวกอดอยากปากแห้งเหมือนในโฆษณายูนิเซฟหรอกนะ
นอกจากการเป็นบุคคลในแวดวงสื่อที่โด่งดัง และทำงานในอุตสาหกรรมบันเทิงจนเรียกได้ว่าเป็นเซเลบ ผลงานใหญ่อีกชุดหนึ่งของเขาคือการสร้างมูลนิธิในบ้านเกิด ซึ่งเทรเวอร์บอกจุดมุ่งหมายชัดเจนตั้งแต่แรก ว่าเขาไม่ได้ตั้งใจจะให้มูลนิธินี้เป็นโปรเจกต์การกุศล แต่เป็นการพยายามจะช่วยสร้างสิ่งแวดล้อมที่นักเรียนจะได้เข้าถึงโอกาสในการประสบความสำเร็จมากที่สุด
“มูลนิธิเทรเวอร์ โนอาห์เกิดขึ้นมา เพราะผมใฝ่ฝันอยากจะมอบของขวัญที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่ผมเคยได้รับให้กับแอฟริกา นั่นก็คือการเรียนรู้ ตอนที่ผมเริ่มทำมูลนิธิฯ จริงๆ ก็แค่เพราะอยากจะช่วยเหลือ แต่ไม่รู้ว่าต้องทำยังไง เมื่อคุณเริ่มดำดิ่งลงไปในปัญหา คุณถึงได้รู้ว่าปัญหานี้มันใหญ่เกินกำลังของคนเพียงหนึ่งคน
มูลนิธิเทรเวอร์ โนอาห์จึงถูกสร้างขึ้นมาเพื่อลดช่องว่างระหว่างเด็กและการศึกษา แก้ปัญหาที่เกี่ยวกับนักการศึกษา สถาบันการศึกษา งบประมาณ รวมถึงโอกาสในด้านอาชีพด้วย” เทรเวอร์ โนอาห์กล่าว
นอกจากการเรียนรู้ ความต้องการของนักเรียนและครู คือการซัพพอร์ตจิตใจ
ในปี 2018 มูลนิธิเทรเวอร์ โนอาห์ (Trevor Noah Foundation) ถือกำเนิดขึ้นมา เพราะเขารู้ว่าการศึกษาที่ดีคือหัวใจสำคัญของทุกสิ่ง เทรเวอร์จบการศึกษาระดับมัธยมปลาย แถมยังเคยอยู่ในโรงเรียนคาทอลิก ที่โดนไล่ออกมา ก็เพราะพกมีดไปเรียนเพื่อป้องกันตัวจากการโดนบูลลี สุดท้ายเขาไม่เคยมีโอกาสได้เรียนต่อมหาวิทยาลัย
รูปแบบการเรียนรู้ของเทรเวอร์ออกจะ โหด มัน ฮา ไปสักหน่อย เช่น เขาเคยผันตัวเป็นนักธุรกิจอายุน้อยร้อยเมตร เพราะต้องรับจ้างวิ่งไปต่อแถวซื้ออาหารจากร้านขายของชำของโรงเรียน (โรงเรียนในแอฟริกาไม่มีโรงอาหาร เด็กจึงต้องกรูกันไปต่อแถวซื้ออาหารที่ร้านชำในเวลาพักกลางวัน) เคยขโมยสินค้าในมินิมาร์ทกับเพื่อนแล้วรอดมาได้เพราะกล้องวงจรปิดดันจับภาพว่าเขาเป็นคนขาว
โรงเรียนเป็นสถานที่ที่ทำให้เขาเข้าใจว่า สีผิวที่แตกต่างมีผลต่อการเข้าถึงทรัพยากรที่สำคัญของมนุษย์อย่างไร เขาจึงเชื่อว่าเด็กทุกคนจึงควรจะมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาที่เหมาะสม
โรงเรียนแห่งแรกของมูลนิธิฯ ตั้งอยู่ที่เมืองโจฮันเนสเบิร์ก รับเลี้ยงดูเด็กกำพร้า ดึงองค์กรที่ทำงานเพื่อชนชั้นรากหญ้า และชุมชนเข้ามาสร้างระบบนิเวศที่มีประสิทธิภาพให้กับเด็กจำนวน 500 คนในพื้นที่ชายขอบ พร้อมคุณครูอีก 50 คน
โมเดลการศึกษาที่ใช้ชื่อ Khulani Schools Programme (Khulani แปลว่าเติบโตในภาษา Xhosa ซึ่งเป็นหนึ่งในภาษาถิ่นของแอฟริกา) ขับเคลื่อนโดยชุมชน ให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะความเป็นผู้นำ ทักษะดิจิทัล รวมถึงการให้บริการด้านสุขภาพจิตแก่ผู้เรียนด้วย
“เด็กหลายคนต้องเจอกับโจทย์หนักหนาที่บ้าน และไม่รู้จะหันหน้าไปพูดกับใคร จึงต้องแก้ปัญหาทางอารมณ์ด้วยตัวเอง ซึ่งมันมากเกินกำลังของเด็กหนึ่งคน การทำวิจัยของเราเรื่องนี้จึงช่วยแก้ปัญหาได้
เราคิดว่าการขาดข้อมูลด้านสุขภาพจิตของเด็กเป็นโจทย์ใหญ่ระดับประเทศ และเป็นอุปสรรคหลักในเชิงโครงสร้างที่ทำให้เด็กเข้าไม่ถึงการศึกษา ดังนั้นการใช้ข้อมูลและผลลัพธ์จากโปรแกรมทดลองในปี 2020 มูลนิธิฯ จึงทำให้เกิดความร่วมมือกับโรงเรียนของรัฐ 3 แห่งในเคาเต็ง (Gauteng) เพื่อดึงข้อมูลมาปรับใช้” Shalane Yuen กรรมการบริหารของมูลนิธิฯ กล่าว
นอกจากการทำงานร่วมกับนักจิตวิทยา มูลนิธิฯ ยังทำงานกับนักสังคมสงเคราะห์เพื่อหาข้อมูลอีกชุดหนึ่งจากครอบครัวเด็ก เพื่อวิเคราะห์ว่าสิ่งที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของเด็กคืออะไร
“ผมมาเรียนที่ New Nation (โรงเรียนในความร่วมมือของมูลนิธิฯ) บอกเลยว่าผมเป็นตัวร้าย แต่สิ่งที่ผมพบในโรงเรียนนี้คือ ครูมองผมเป็นครอบครัว อยากฟังเรื่องราวของผมจริงๆ และเข้าใจว่าผมมาจากที่แบบไหน ผมได้รับคำแนะนำจากครูทุกวัน สาเหตุที่ผมมาเป็นครู ก็เพราะครูเหล่านี้แหละ” Mandlenkosi Nhlengethwa หัวหน้าครูจากวิทยาลัย Masibambane ศิษย์เก่าของโรงเรียนเล่าให้ฟัง
ไม่ใช่แค่เด็กเท่านั้นที่ต้องการการโอบอุ้มทางใจ ในแอฟริกาใต้ ครูต้องเจอกับความท้าทายที่หนักหน่วง เพราะเด็กมักจะมาจากครอบครัวที่ได้รับความกดดันด้านเศรษฐกิจและสังคม มูลนิธิฯ จึงร่วมกับบริการนักจิตบำบัดออนไลน์ (My Online Therapist) และศูนย์ปรึกษาเด็กและครอบครัวแห่งโจฮันเนสเบิร์ก (Johannesburg Parent and Child Counselling Centre) จัดเวิร์กชอปเพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับครู และฝึกฝนให้พร้อมรับมือกับเด็กที่เผชิญกับปัญหาด้านจิตใจด้วย
นอกจากเรื่องเรียนคือเรื่องงาน ฝึกทักษะแบบบูรณาการครบด้าน
อัตราการว่างงานของแอฟริกาใต้ในยุคที่ยังมีการแบ่งแยกสีผิวนั้นถือว่า “ต่ำ” ในทางทฤษฎี เทรเวอร์บอกว่า “ก็สมเหตุสมผลนะ เพราะทุกคนเป็นแรงงานทาสไง เลยมีงานทำกันหมด”
และเมื่อถึงคราวประชาธิปไตยเบ่งบาน ทุกคนต้องได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ ค่าแรงก็พุ่งสูง ดังนั้นคนแอฟริกันเป็นล้านจึงตกงาน อัตราการว่างงานของชายผิวดำรุ่นเยาว์ในยุคหลังการแบ่งแยกสีผิวพุ่งสูงขึ้น เพราะส่วนใหญ่คนเหล่านี้เรียนจบมัธยมปลายแล้วก็ไม่มีทุนเรียนต่อมหาวิทยาลัย
“สำหรับเด็กหนุ่มในเขตพื้นที่ที่รัฐจัดให้ เสรีภาพหน้าตาแบบนี้ ทุกเช้าพวกเขาจะตื่นขึ้นมา พ่อแม่ออกไปทำงาน แล้วพวกเขาก็ออกไปข้างนอก เดินชิลล์แถวหัวมุมย่านทั้งวัน พูดจาสบถสาบานไปเรื่อย ไม่ต้องทำอะไร เพราะพวกเขาถูกสอนมาให้ตกปลา แต่ไม่มีใครยื่นเบ็ดมาให้”
ปี 2021 มูลนิธิฯ ร่วมกับองค์กร Youthbuild Africa ริเริ่มโปรแกรม Faranani Infrastructure ทำงานร่วมกับโรงเรียนประถมศึกษา 6 แห่งและโรงเรียนมัธยมศึกษา 1 แห่งในหลากหลายพื้นที่ มีผู้สมัครร่วมโครงการถึง 800 คน แต่รับเพียง 100 คน เพื่อฝึกฝนทักษะชีวิต ฝึกภาคสนาม ทักษะอาชีพแบบอาชีวศึกษา หรือการเป็นผู้ประกอบการให้กับคนในท้องที่ หรือกลุ่ม NEET (เยาวชนอายุ 15-24 ปี ที่ไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษา การจ้างงาน หรือการฝึกอบรมใดๆ)
โครงการจะค้นหาหลักสูตรการฝึกอบรม (โดยส่วนใหญ่เป็นเชิงช่าง) ที่เหมาะสม เช่น การฉาบปูน ระบบประปา หรืองานไม้ รวมไปถึงเครื่องมือ และองค์ความรู้ทุกอย่างที่ต้องใช้ในการก่อสร้างตึก และที่สำคัญคือผู้เข้าร่วมโครงการจะได้เงินเดือนทุกเดือนโดยประเมินจากการเข้าร่วมและผลงาน ได้รับเครื่องมือ และประกาศนียบัตรอย่างเป็นทางการจาก สถาบันการศึกษาและฝึกอบรมโยธา (Construction Education and Training Authority)
“ผมจบมหาวิทยาลัย และคิดว่าคงต้องทำงานตามสิ่งที่เรียนมา แต่ตอนนี้ผมรู้แล้วว่าใช้สองมือของผมนี่แหละหาเงินได้”
“ฉันโฟกัสแค่เรื่องระบบประปาเพราะที่บ้านมีปัญหาเรื่องนี้ ตอนนี้แม่ก็เอาไปโม้ตอนไปโบสถ์ใหญ่เลยค่ะ จนคนที่ทำงานที่โบสถ์ต้องมาเรียกให้ฉันไปซ่อมอ่างอาบน้ำ” ความเห็นส่วนหนึ่งจากผู้เข้าร่วมโครงการ
นอกจากการส่งเสริมหลักสูตรและกิจกรรม มูลนิธิฯ ยังให้งบประมาณแก่ผู้เข้าร่วมได้ท่องเที่ยว มีอาหารอิ่มท้อง รวมไปถึงให้ “พื้นที่” จริงๆ สำหรับการสร้างโรงเรียน เมื่อทำงานร่วมกับผู้นำชุมชนแล้วมองเห็นศักยภาพของพื้นที่
“ฉันไม่คาดคิดว่าจะมีคนมาเรียนเยอะขนาดนี้ค่ะ ฉันคิดว่าโปรเจกต์นี้เป็นประโยชน์มากในช่วงที่ต้องมีการสอบ ฉันหวังว่าเราจะมีพื้นที่ที่สามารถรองรับนักเรียนจำนวนมาก เด็กจะได้ไม่ต้องกระจายตัวไปทั่ว” คุณครูใหญ่กล่าว
ผู้เรียนหลายคนมีความมั่นใจมากขึ้นจากกิจกรรมสันทนาการ บางคนกลับไปบ้านเพื่อต่อเติมออกเป็น 2 ห้อง บางคนดีใจที่หารายได้เพิ่มในช่วงวันหยุดได้ผ่านทักษะอาชีพที่เพิ่มขึ้น บางคนกลับไปช่วยบูรณะซ่อมแซมโรงเรียนในพื้นที่ที่ตัวเองเคยอยู่ และที่น่าสนใจคือหลายคนค้นพบว่าตัวเองเป็นใคร และมีความสำคัญอย่างไรต่อชุมชนที่ตัวเองอยู่
Standup comedy, Stand up for people
ในยุคของเทรเวอร์ เด็กผิวขาว รวมถึงเด็กผิวดำ ผิวสี หรือเด็กชาวอินเดียบ้านรวยเท่านั้นที่มีสิทธิจะได้ทุนเรียนที่โรงเรียนเอกชนชั้นนำค่าเล่าเรียนแพงหูฉี่และการันตีโควตาในมหาวิทยาลัยได้ล่วงหน้า โรงเรียนโออ่า เด็กนับพันคนวิ่งเล่นกันในพื้นที่ มีคอร์ทเทนนิส สนามกีฬา สระว่ายน้ำพร้อมสรรพ
เทรเวอร์เข้าเรียนที่โรงเรียนมัธยมปลายซานดริงแฮม (Sandringham) ซึ่งรวบรวมนักเรียนร้อยพ่อพันแม่ และน่าจะอธิบายภาพของแอฟริกาใต้ได้ดีทีเดียว ที่นี่มีทั้งเด็กผิวขาวฐานะดี เด็กผิวสีที่พ่อแม่เพิ่งจะร่ำรวย เด็กผิวขาวที่พ่อแม่เป็นชนชั้นแรงงาน ชนชั้นกลาง หรือคนที่อาศัยอยู่ในเขตแดนที่รัฐบาลปักป้ายบอกไว้ว่า ‘ที่นี่มีแต่คนดำ’
เด็กๆ ต่างก็มีกลุ่มของตัวเอง ซึ่งก็ไม่ได้แบ่งตามเชื้อชาติเสียทีเดียว เด็กบ้านนอกก็จะจับกลุ่มอยู่กับเด็กบ้านนอก เด็กจากเขตคนดำก็จะอยู่ด้วยกัน สาวสวยอยู่กันเป็นแก๊ง หรือพวกเนิร์ดคอมพิวเตอร์ก็จะมีก๊วนของตนเอง
“แล้วผมจะไปกับใครล่ะทีนี้ ถึงจะมีกลุ่มให้เลือกมากมาย แต่ผมก็ไม่ใช่ส่วนผสมโดยธรรมชาติของกลุ่มไหนอยู่ดี แน่นอนว่าผมไม่ใช่คนอินเดียหรือจีน ส่วนใหญ่ก็ถ่มถุยใส่ผมว่าผมดำเกินไป ก็เลยเข้ากลุ่มนั้นไม่ได้อีก ผมสามารถปรับตัวให้เข้ากับพวกเด็กผิวขาวได้บ้างโดยไม่ถูกบูลลี แต่พวกมันก็ดันชอบไปชอปปิง ดูหนัง ไปเที่ยว หรือทำอะไรที่ต้องใช้ตังค์ตลอด ผมไม่มีตังค์ก็เลยหลุดจากสมการไปอีก ดังนั้นกลุ่มที่ผมรู้สึกว่าเข้ากันได้ที่สุดก็คือเด็กผิวดำไม่มีกะตังค์นี่ละ”
แม้ว่าการแบ่งแยกสีผิวจะจบลงแล้ว แต่คนผิวดำส่วนใหญ่ก็ยังอาศัยเขตที่รัฐบาลเคยขีดไว้ว่า ‘ที่นี่มีแต่คนดำ’ โรงเรียนรัฐที่เปิดอยู่จึงเป็นซากปรักหักพังของระบบกฎหมายการศึกษาบันตู (Bantu Education Act) ที่ออกแบบมาเพื่อกดให้เด็กผิวสีดำได้รับการศึกษาที่ต่ำกว่า สุดท้ายจึงเป็นได้เพียงผู้ใช้แรงงานเท่านั้น
โรงเรียนบันตูไม่สอนวิทยาศาสตร์ ไม่สอนประวัติศาสตร์ ไม่สอนวิชาหน้าที่พลเมือง แต่สอนวิชาการเกษตร นับมันฝรั่งอย่างไร สร้างถนนอย่างไร หรือผ่าฟืนอย่างไร เพราะรัฐบาลบอกว่าสอนวิทยาศาสตร์ไปก็เท่านั้น พวกนี้เป็นพวกป่าเถื่อน สอนไปก็ได้แต่บอกว่ามีทุ่งเลี้ยงสัตว์อยู่ตรงนี้นะ แต่คุณไม่มีสิทธิมาทำมาหากินหรอก
เทรเวอร์มองว่าบริบทของสถานศึกษาในแอฟริกาใต้ที่มีโรงเรียนแบบนี้ คือสัญลักษณ์ของการเหยียดเชื้อชาติสองกลุ่ม คือคนขาวและคนแอฟริกัน
ประสบการณ์ และความโหดของระบบการศึกษา จึงผลักดันให้เทรเวอร์เป็นทั้งตัวอย่างของผู้ที่เรียนรู้ด้วยตัวเองผ่านการคิดนอกกรอบ และผู้ที่เข้าใจว่าการเรียนรู้ในกรอบที่ควรจะเป็นต้องมีองค์ประกอบแบบไหน หนึ่งในเป้าหมายสำคัญของมูลนิธิฯ จึงเป็นเรื่องการพัฒนา “คน” เพราะการศึกษาสามารถผลิตทรัพยากรมนุษย์ที่เปลี่ยนแปลงโลกให้น่าอยู่ขึ้นได้
Education Changemakers จึงเป็นอีกหนึ่งโปรเจกต์ใหญ่ที่เน้นการสร้างคนเพื่อการเปลี่ยนแปลง ในที่นี้ก็คือ ‘ครู’ เป็นหลัก มูลนิธิฯ ทำงานร่วมกับผู้นำเยาวชนแอฟริกัน Young African Leaders Initiative เพื่อค้นหาผู้นำเยาวชน 50 ชีวิตที่เป็นตัวแทนของแอฟริกาใต้สะฮารา 13 ประเทศในปี 2020 ด้วยเป้าหมายเรียบง่ายคือ ฝึกอบรมทักษะการเป็นผู้นำให้เยาวชน สอนวิธีสร้างเครือข่าย และบอกว่าการที่จะเปลี่ยนโรงเรียนให้เป็นชุมชนต้องทำอย่างไรบ้าง
การฝึกอบรมมีระยะเวลา 4 สัปดาห์ มีการฝึกโค้ชชิ่งตัวต่อตัว และยังมอบงบประมาณก้อนเล็กให้กับเด็กๆ ไปใช้กับโรงเรียนในแนวร่วม และเชื่อมต่อกับเครือข่ายรุ่นพี่ที่เป็นศิษย์เก่าทั่วทวีปแอฟริกา
โครงการครั้งแรกมีผู้เข้าร่วมเป็นครูใหญ่และครูถึงร้อยละ 50 มาจากพื้นที่ห่างไกลถึงร้อยละ 42 หลักสูตรเข้มข้นในเรื่องการมีส่วนร่วม มีวงเสวนาค้นหาแนวทางเชิงปฏิบัติของการเป็นผู้นำที่ดีที่สุด มีกระบวนกรระดับโลกเข้ามาช่วยสะท้อนความคิด ทุกคนจะได้ลงพื้นที่ และนำเสนอนวัตกรรมทางความคิดของตัวเอง เช่น มีวิธีปรับปรุงผลลัพธ์ทางการศึกษาในชุมชนของตัวเองอย่างไร ผู้ชนะจะได้รับเงินทุนก้อนเล็กๆ เป็นรางวัล
ในท้ายที่สุด พวกเขาก็จะได้กลับบ้านตัวเองไปอย่างภาคภูมิใจในฐานะผู้นำทางการศึกษา พร้อมกับเงินทุนเสริมอีกก้อนหนึ่งที่มอบให้เพื่อการปรับใช้จริง ผู้ถูกคัดเลือกรอบสุดท้ายจะได้จับคู่กับกูรูด้านธุรกิจเพื่อทำโปรเจกต์ร่วมกันต่อถึง 6 เดือน
ศิษย์เก่าในโครงการมีมากมาย ทั้งศิลปินชาวมาลาเวียนที่ออกแบบ Toon Notebook ที่ใช้เทคโนโลยีเกมและการ์ตูน 3D มาช่วยพัฒนาการศึกษาระดับปฐมวัย หรือครูใหญ่ที่ออกแบบแอปฯ IAMSafe เพื่อให้นักเรียนใช้รายงานการบูลลี เมื่อต้องการความช่วยเหลือหรือปรึกษาครู อีกทั้งครูที่ออกแบบแอปพลิเคชัน ในการตัดเกรด ครูจะได้มีเวลาว่างไปสอน ไปดูเน็ตฟลิกซ์ หรือไปพักผ่อนตามใจอยาก
“เรากำลังวางแผนที่จะนำแอปนี้เข้าไปในระบบของบริษัท และจดลิขสิทธิ์ จากนี้เราต้องพยายามหาสปอนเซอร์และผู้ลงทุน เราจะต้องผลักดันให้ครูนำเทคโนโลยีไปปรับใช้ในห้องเรียนเพื่อช่วยเรื่องการบริหารจัดการข้อมูล พวกเขาจะได้พุ่งเป้าไปที่คุณภาพการสอน”
หลายๆ กรณีจากโครงการนี้ได้รางวัลเพราะแก้ Pain Point ของการศึกษาได้จริง ไม่ว่าตัวละครจะเป็นใคร
“จากประสบการณ์ที่ฉันเข้ามาเป็นครู ฉันถึงรู้ว่าเหตุผลที่เด็กเรียนได้ในระดับต่ำคืออะไร หนึ่งในนั้นคือการขาดการมีส่วนร่วมของผู้ปกครอง เพราะพ่อแม่ของพวกเขาเองก็มีการศึกษาในระดับที่ต่ำเช่นเดียวกัน ฉันถึงคิดโปรเจกต์สอนพ่อแม่ในห้องเรียน เพื่อให้พวกเขามีความรู้มากพอที่จะนำไปสอนลูกต่อได้ เช่น การอ่าน การเขียน และฉันก็ยังวางแผนที่จะซื้อกระเป๋านักเรียนและเครื่องเขียนให้ด้วย” หนึ่งในครูผู้เข้าร่วมโครงการเล่า
นอกจากการพัฒนาคนด้วยทักษะความเป็นผู้นำแล้ว มูลนิธิฯ ยังร่วมกับพาร์ตเนอร์ที่หลากหลายทั่วโลกเพื่อแก้ไขประเด็นเรื่องความเท่าเทียม เช่น ร่วมต่อต้าน พรบ. ความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ (Gender-Based Violence) ที่อาจจะเอื้อประโยชน์ให้เกิดความรุนแรงในครอบครัวง่ายขึ้น
การร่วมลงนามในจดหมายเปิดผนึกที่สนับสนุนแคมเปญการยุติความไร้สัญชาติ #IBelong Campaign to End Statelessness กับ UNHCR ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่าง เพราะมูลนิธิฯ ทำงานร่วมกับ องค์กรทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (Lawyers for Human Rights) และมีข้อมูลว่าเด็กในโปรแกรม Khulani เป็นเด็กไร้สัญชาติและกำลังจะเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม
“มันส่งผลกระทบกับผมโดยตรงเพราะผมพยายามที่จะเข้าเรียนมหาวิทยาลัย แต่ผู้ที่มีบัตรประชาชนจะได้รับการพิจารณามากกว่า ดังนั้นการจะได้ที่นั่งมาเป็นเรื่องยากมาก ผมอยากจะเป็นศัลยแพทย์เพราะอยากทำให้ผู้คนและครอบครัวของผมภูมิใจ” เด็กไร้สัญชาติคนหนึ่งกล่าวไว้
สิทธิมนุษยชนจึงเป็นรากฐานที่สำคัญของมูลนิธิฯ แม้จะไม่ได้สื่อสารแบบตรงไปตรงมา แต่ก็ร่วมแคมเปญกับเครือข่ายจากทั่วโลกและสนับสนุนการแก้กฎหมายในเชิงนโยบายอย่างต่อเนื่อง
แบรด สมิธ (Brad Smith) ประธานและเจ้าหน้าที่สูงสุดด้านกฎหมายของไมโครซอฟท์กล่าวไว้ในวงเสวนาร่วมกับเทรเวอร์และผู้นำองค์กรอื่นๆ ว่า องค์กรไม่แสวงหากำไรเพื่อสังคมมีอยู่ราว 4 ล้านแห่งทั่วโลก แต่สิ่งที่จะขับเคลื่อนให้เป้าประสงค์นี้ไปได้ไกลคือ การที่มูลนิธิเทรเวอร์ โนอาห์ มีเทรเวอร์ โนอาห์ เพราะเขาเป็นผู้ที่นำความฝันของเขากลับบ้าน และทำตัวอย่างให้คนรุ่นหลังเห็น ว่าพวกเขาเองก็ทำได้ และหัวใจสำคัญของการขยายมูลนิธิฯ นี้ให้ไปไกลกว่าเดิมคือ การสร้างแรงกระเพื่อม
“ถ้าผมมองแอฟริกาใต้ ในประวัติศาสตร์ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ไม่ว่าจะเป็นเนลสัน เมนเดลลา, ทาบอ อึมแบกี หรือผู้นำมากมาย สิ่งหนึ่งที่พวกเขามีเหมือนกันคือการศึกษา ระหว่างที่พวกเขากำลังต่อสู้เพื่อเสรีภาพของประเทศ พวกเขาก็กำลังต่อสู้ให้เสรีภาพทางความคิดและพยายามจะให้การศึกษากับตัวเอง เพราะพวกเขารู้ว่า ถ้าได้รับมอบหมายให้กุมบังเหียนของประเทศที่พวกเขาต่อสู้เพื่อให้ได้มา พวกเขาก็ต้องรู้วิธีที่จะจัดการกับมันต่อ และหากปราศจากการศึกษา ก็ไม่มีทางสำเร็จ”
ที่มา
Trevor Noah, Born a Crime : Stories from a South African Childhood, (New York: Random House Publishing Group, 2019)
บทความ “The Education of Trevor Noah: How The New ‘Daily Show’ Host Made It” จาก thedailybeast.com (Online)
บทความ “Trevor Noah – His Vision and Inside The Trevor Noah Foundation” จาก csrnews.africa (Online)
เว็บไซต์ Trevor Noah Foundation (Online)
วิดีโอ “Trevor Noah Foundation Launch Highlights – Part 2” จาก youtube.com (Online)
วิดีโอ “Trevor Noah speaks at Princeton University’s 2021 Class Day” จาก youtube.com (Online)
Cover Photo: Random House Publishers.