“Every language is a world. Without translation, we would inhabit parishes bordering on silence.”
“ภาษาคือโลกแต่ละใบ หากไร้ซึ่งการแปลแล้วเราคงไม่แคล้วอาศัยอยู่ในพรมแดนแสนเงียบงัน”
จอร์จ สไตน์เนอร์ (George Steiner) นักเขียน นักปรัชญา นักการศึกษากล่าวไว้ และหลังจากได้พูดคุยกับผู้ทำงานแปล ‘ในความเงียบงัน’ ทั้ง ‘แปลเข้า’ และ ‘แปลออก’ เราก็อดที่จะพยักหน้าเออออกับคำกล่าวนี้ของสไตน์เนอร์ไม่ได้
แม้จะไร้ข้อมูล และการไม่มีข้อมูลย่อมเป็นข้อมูลอย่างหนึ่ง (No data is data.) แต่เห็นเป็นประจักษ์ชัดเจนว่าเรามีงานแปล ‘นำเข้า’ แปลจากภาษาอื่นเป็นภาษาไทย มากกว่า ‘ส่งออก’ แปลจากภาษาไทยไปเป็นภาษาอื่นหลายเท่าตัวนัก แม้ตรรกะของเรื่องนี้อาจง่ายแค่มองว่า แน่นอนล่ะ ภาษาต่างประเทศมีจำนวนมากกว่า ปริมาณ ขอบเขตหนังสือย่อมมีมากกว่า ก็นั่นแหละ หากมองในทางกลับกันตามหลักของอุปสงค์ อุปทาน ปริมาณงานส่งออกหนังสือของไทยที่จำกัดเมื่อเทียบกับสัดส่วนความต้องการของผู้อ่านในตลาดระดับโลกน่าจะทำให้เรามีงานไทย ‘ส่งออก’ มากขึ้นไหม?
นี่แค่ประเด็นถกเถียงในเชิงจำนวนที่พอวัดได้ หากยังมีหลายประเด็นที่ชวนเปิดประเด็นพูดคุยกันถึงวงการแปลในประเทศไทยว่าสถานการณ์ปัจจุบันเป็นอย่างไร มีโอกาส ความท้าทายใดบ้างไม่ว่าจะเป็นการ ‘แปลเข้า’ หรือ ‘แปลออก’ ก็ตาม
พูดคุยกับสองสำนักพิมพ์ที่ขับเคลื่อนงานแปลและมีงานแปลเป็นแรงขับเคลื่อน ‘วรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง’ บรรณาธิการอำนวยการ สำนักพิมพ์ Bookscape ที่ยกขบวนความรู้ระดับสากลมาให้คนไทยได้อ่านกัน และ ‘จุฑา สุวรรณมงคล’ และ ‘ปาลิน อังศุสิงห์’ จาก ‘ซอย | soi’ ที่นิยามตนเองว่าเป็น “พื้นที่สำหรับการเขียน การเรียบเรียง และการตีพิมพ์ ในสนามภาคขยาย” กับการส่งวรรณกรรมไทยไปเวทีนานาชาติกับผลงานเล่มล่าสุด The Fabulist จากต้นฉบับนวนิยายเรื่อง ‘จุติ’ ของ อุทิศ เหมะมูล ที่ได้รับการตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Penguin Random House SEA ความหวังใหม่ของวงการที่จะพาผลงานไทยไปไกลโดยเริ่มต้นจากถนนเส้นเล็กที่เรียกว่าซอย
การแปลคือหนทาง หาใช่ปลายทาง
เสียงปรบมืออื้ออึง สายตาทั้งผู้จัดงานและผู้เข้าร่วมเปล่งประกายในห้องจัดงานมืดๆ ราวกับความหวังได้จุติขึ้นมาหลังจาก ‘จุติ’ นวนิยายของอุทิศ เหมะมูล ได้รับการแปลโดย ปาลิน อังศุสิงห์ และ พลอย กิ่งชัชวาลย์ และตีพิมพ์เป็นฉบับภาษาอังกฤษโดยสำนักพิมพ์ Penguin Random House SEA
ในขณะที่ผู้คนต่างชื่นชมกับการผลักดันผลงานไทยไปไกลถึงต่างแดน จุฑา กลับมองว่านี่เป็นเพียงก้าวแรกและก้าวสั้นๆ เท่านั้น และพันธกิจนี้ก็ไม่ได้สิ้นสุดที่การแปลหนังสือ
“แค่แปลวรรณกรรมเป็นภาษาอังกฤษยังไม่พอ การแปลเป็นเพียงจิกซอว์เล็กๆ เท่านั้น เหมือนเราวางหมุดวรรณกรรมเล็กๆ ของเราลงไปในแผนที่โลกที่ใหญ่มาก สิ่งที่สำคัญมากไปกว่านั้นคือการสร้างบทสนทนาร่วมกับโลก พูดถึงสิ่งที่ relevant กับคนในโลก ซึ่งไม่ใช่แค่หน้าที่ของนักแปลเท่านั้น แต่มันคือหน้าที่ของคนทำงานด้านวัฒนธรรมทั้งหมด ไม่ว่าจะมาจากอุตสาหกรรมไหน ภาครัฐ หรือภาคเอกชนก็ตาม การจะผลักให้วรรณกรรมไทยออกไปข้างนอกมันต้องทำงานหลายด้าน ทั้งสู้กับความไม่รู้ และความรู้ที่มีอคติเจือปนไปพร้อมกัน”
แม้งานแปลจะคือผลงานสร้างชื่อให้กับพวกเขา จุฑาย้ำว่าการแปลไม่ใช่เป้าหมายปลายทาง หากเป็นเพียงหนทางในการสร้างที่ทางให้เรื่องเล่าต่างๆ ได้ปรากฏ และเอื้อให้ผู้อ่านได้เข้าถึงความรู้ เรื่องเล่าในวงกว้างมากขึ้น
“เราไม่อยากยกย่องว่างานใดเหนือกว่าสิ่งใด การแปลเป็นหนึ่งในวิธีการของเรา แต่การทำงานเชิงวัฒนธรรม เราจะทำผ่านงานวิชาการก็ได้ pop culture อื่นๆ ก็ได้ การสร้างสรรค์ การทำให้บางสิ่งได้ปรากฏย่อมได้หมดเลย”
‘Relevance’ ความเกี่ยวข้อง คือสิ่งที่จุฑาเน้นย้ำตลอดว่า ‘ก่อนจะให้โลกสนใจเรา เราต้องสนใจโลกก่อน’ เปรียบเทียบกับการทานอาหารร่วมโต๊ะ ที่หากเราจะร่วมวงสนทนากับผู้อื่นได้ เราก็ต้องฟังก่อนว่าทั้งโต๊ะกำลังคุยอะไรกัน อย่างสนใจใคร่รู้และมีส่วนร่วมด้วยเรื่องของเราเองที่สอดคล้องกับความสนใจของผู้อื่นเช่นกัน
แม้จะทำงานต่างประเด็น ต่างรูปแบบ ทั้งจุฑาและวรพจน์ดูจะมองคล้ายกันว่าการแปลคือหนทางหาใช่เป้าหมาย วรพจน์เผยว่าผลงานของ Bookscape นั้น เป็นงานแปลจำนวนมากถึงเกือบ 100% หากนั่นไม่ได้หมายความว่า Bookscape ก่อกำเนิดขึ้นมาเพื่อ ‘แปล’ งานจากต่างประเทศให้เป็นภาษาไทย
“ผมมองว่างานแปลเป็นการผลิตความรู้ที่ถูกและดีที่สุด หนังสือความรู้ดีๆ มีอยู่เยอะมาก อย่างงานแปลที่เราเลือกเข้ามาก็จะเน้นที่ความรู้พื้นฐานเยอะ เพื่อไปต่อยอดการพูดคุยในประเด็นอื่น ในขณะเดียวกันก็ต้องหางานที่เปิดประเด็นใหม่ๆ เพื่อขยายขอบเขตความรู้ด้วย แน่นอนว่าถ้าเป็นงานเชิงบริบท โดยเฉพาะของสังคมไทย เราผลิตงานความรู้เชิงบริบทเช่นนั้นได้ดีกว่า แต่ถ้าเป็นงานความรู้พื้นฐาน หรือการค้นพบความรู้ใหม่ ผมว่าทั่วโลกมีของดีอยู่มาก และเขาทำได้เร็วกว่าเรามาก การแปลงานที่มีอยู่แล้วมันก็จะช่วยย่นระยะเวลาในการเข้าถึงความรู้พวกนี้”
งานสำคัญที่ไม่ได้รับการผลักดัน
เมื่อถามว่าเราจะรู้ได้อย่างไรว่าใครสนใจเรื่องอะไรกัน มองเผินๆ อาจตอบได้ว่าต้องสนใจความเป็นไปของโลกก่อนเป็นหลัก แต่หากมองกันเบื้องลึกแล้วก็ควรแก่การพิจารณาว่าแล้วอะไรกันจะเป็นปัจจัยให้เรา ‘สนใจ’ โลกได้ อะไรกันจะทำให้เรา ‘เข้าถึง’ บทสนทนาที่โลกกำลังมีอยู่และร่วมเป็นส่วนหนึ่งได้
“ส่วนหนึ่งเราก็เรียนรู้จากการทำงาน และความอยากรู้ของเราเอง แต่เราจะรู้ได้ว่าโลกสนใจเรื่องอะไร ทำอะไรกันอยู่ก็ต่อเมื่อเราได้ไปอยู่ร่วมกันกับผู้อื่น อย่างตอนไป London Book Fair ปีแรก เราก็เห็นเลยว่าประเทศอื่นรัฐบาลเขาส่งมาเลย จัดบูธให้ ได้รับทุนให้ทำหน้าที่เป็น literary agent อย่างเดียว ทำอย่างเดียวก็อยู่รอด โฟกัสในสิ่งที่ทำได้ เพราะมีคนสนับสนุน เราทำหลายอย่างยังอยู่ไม่รอดเลย” จุฑากล่าว
“เวลาเราพูดว่าเราแปลงานต่างประเทศมากกว่า มันมีปัจจัยเยอะมากในประโยคนี้ โดยรวมผมว่ามันเป็นปัญหาเรื่องแหล่งทุน political economy ที่กำหนดว่าเรามีทุนทั้งในเชิงทุนทรัพย์ บุคลากร เวลา เสรีภาพในการทำเรื่องไหนได้บ้าง”
วรพจน์ยกตัวอย่างหนังสือ The Sixth Extinction: An Unnatural History จากผลงานของอลิซาเบธ โคลเบิร์ต สื่อมวลชนที่ได้รับทุนใหญ่ไปผลิตสารคดีว่าด้วยการสูญพันธุ์ในประวัติศาสตร์ และการสูญพันธุ์ครั้งใหม่ในอนาคตที่อาจทำลายล้างโลกได้ ผลงานชิ้นนี้แสดงให้เห็นว่าผลงานเชิงความรู้คุณภาพดีไม่จำเป็นต้องมาจากนักวิชาการเสมอไป และงานชิ้นสำคัญเช่นนี้ไม่อาจเกิดขึ้นได้เลยหากปราศจากการสนับสนุนให้สื่อมวลชนคนหนึ่งได้ใช้ออกเดินทาง ใช้เวลาปลุกปั้น สร้างสรรค์งานชิ้นนี้ขึ้นมาเพื่อสื่อสารประเด็นสำคัญให้รับรู้ทั่วกันต่อไป
“เวลาเราชื่นชมงานบางอย่างแล้วถามว่าทำไมเราผลิตงานแบบนี้บ้างไม่ได้ มันไม่ใช่แค่ผลักภาระไปที่นักเขียน หรือสำนักพิมพ์อย่างเดียว หากมันต้องมองทั้งระบบว่าเอื้อให้งานดีๆ แบบนี้เกิดขึ้นหรือเปล่า เรายอมรับว่าตอนนี้ถ้ายังทำไม่ได้เราก็รับเข้ามาก่อน แต่ในอนาคตข้างหน้าถ้าจะอยากให้มีงานดีๆ เกิดขึ้น เรายังต้องทำงานอีกหลายเรื่อง ทั้งเรื่องทุน หรือแม้แต่การสร้างความรู้พื้นฐานให้แน่นพอเพื่อการต่อยอดการถกเถียง ซึ่งก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่เราเลือกทำหนังสือเชิงความรู้พื้นฐานด้วย
แน่นอนว่ามันอาจขายได้ไม่ดีนักในเชิงการตลาด แต่มันจำเป็นที่ต้องปูรากฐานพวกนี้หากเราอยากต่อยอดความรู้กันต่อไป อย่าว่าแต่จะขยายขอบเขตความรู้เลย” วรพจน์กล่าว
อำนาจที่มองไม่เห็น
ปาลิน ขยายความโดยเล่าให้ฟังถึงกระบวนการแปลหนังสือเล่มนี้ว่านักเขียนใช้เวลาร่วมสามปี นักแปลใช้เวลาอีกร่วมสามปีในการเขียนหนังสือเล่มนี้ ระยะเวลาทั้งหมดเกินครึ่งทศวรรษในการทำหนังสือเล่มหนึ่ง ซึ่งทุกคนล้วนต้องทำมาหากินด้วยการประกอบอาชีพอื่นๆ เพราะไม่มีทางที่สำนักพิมพ์และคนทำงานจะอยู่ได้เลยด้วยการทำหนังสือ 1 เรื่อง
“คนมักถามว่าทำไมเราไม่ผลิตงานเพิ่มขึ้น ทุกคนก็อยากทำงานที่อยากทำแหละ แต่มันทำไม่ได้เลยเมื่อเราต้องทำอย่างอื่นเพื่อให้มีชีวิตรอดไปด้วย ในขณะที่เราคุยกับสำนักพิมพ์ต่างประเทศที่เขามีคนต่อคิวขอซื้อลิขสิทธิ์ อำนาจในการต่อรองมันต่างกัน งานของเราไม่ได้เสร็จแค่การทำให้เสร็จ แต่ต้องขาย ต้องอธิบายให้คนรู้จักด้วยว่านี่เกี่ยวกับอะไร นักเขียนเป็นใคร เราสู้เรื่องอำนาจเชิงวัฒนธรรมไม่ได้แน่ๆ แล้วเราก็ไม่ได้มีอำนาจทางทุนที่จะมาต่อรองช่องโหว่ตรงนี้ได้”
“มันควรเป็น profession ไม่ใช่ passion project คนเขียนสามปี แปลสามปี มันไม่มีทางที่จะไม่ทำงานอื่นเพื่อมาทำงานนี้ได้ แต่ถ้าทำงานได้ก็ต้องใช้เวลา” ปาลินเสริม
โอกาสในความจำกัด
แม้ยากและอาจเป็นความพยายามสูญเปล่าหากต้องไปทัดทานกับอำนาจที่เรามิอาจต่อรองได้ ทั้งจุฑา ปาลิน และวรพจน์ มองว่าโอกาสนั้นซ่อนอยู่ในข้อจำกัดเช่นกัน โดยเฉพาะในเรื่องการแข่งขัน และศักยภาพที่รอเผยตัว
“มีความต้องการงานจากบ้านเราอยู่มากนะ อย่างตอนที่เราไปเสนอ Penguin Random House SEA เขาก็แทบจะรับเลยเพราะเขามองหางานจากไทยด้วย แล้วมันไม่ค่อยมี แต่ก็ต้องยอมรับว่าสัดส่วนนักแปลไทยเป็นอังกฤษนั้นน้อยกว่าอังกฤษเป็นไทยมาก และคนที่จะทำได้มันก็มีเรื่องต้นทุนโอกาสทางการศึกษา หรืออย่างน้อยก็ต้องฝึกฝนหนักมาก ทั้งสายพานมันมีข้อจำกัด แต่เราก็ต้องพยายามมองในเชิงโอกาสว่ามันมีความต้องการอยู่”
ทั้งนี้แม้จะมีโอกาสในความจำกัด สิ่งสำคัญที่ต้องพิจารณาคือคุณภาพของงานอย่างแท้จริงหากจะให้งานไปไกลในระดับสากลได้นาน เพื่อให้งานนั้นขายได้ด้วยงานเอง ไม่ใช่เป็นเพียงความ ‘แปลกใหม่’ เท่านั้น
“ต้องยอมรับว่าตอนนี้มันเป็นเกมของอุตสาหกรรมที่เรามีอำนาจการต่อรองน้อยกว่า คนที่กำหนดคุณค่า ให้พื้นที่ หรือตัดสินตอนนี้ก็ยังเป็นโลกที่ใช้ภาษาอังกฤษ ความแตกต่างของเราในการเป็นประเทศเขตร้อนที่มีเรื่องเล่า mythology (ตำนาน) ในบริบทที่ต่างไปมันก็น่าสนใจ แต่เราไม่ควรฉวยโอกาสจากความแปลกเช่นนั้น อย่างคำว่า magical realism ที่มักถูกใช้ในการทำการตลาดบางทีก็ต้องระมัดระวัง ต้องคำนึงและเข้าใจถึงบริบทประเทศต้นทาง เรื่องบางเรื่องจะเป็น magical ได้อย่างไร ในเมื่อมันเป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นกับชีวิตผู้คนจริงๆ”
“ท้ายสุดแล้วเราก็ต้องดูที่เนื้องาน ต้องถามตัวเองอย่างตรงไปตรงมาว่าอ่านแล้วสนุกไหม มันจะมีบางอย่างที่คนอ่านไม่ว่าวัฒนธรรมใดก็รู้สึกร่วมกันได้ เรื่องบางอย่างที่เป็นสากล อารมณ์ตัวละคร ความฝัน การเปลี่ยนแปลงอะไรแบบนี้ แต่ในขณะเดียวกันบริบทของเราเองมันก็เป็นสิ่งที่ทำให้เราได้หยอดเรื่องเล่าของเราไปในสากลอย่างที่เราเป็นจริงๆ”
สมดุลธุรกิจและพันธกิจ
แน่นอนว่านอกจากพันธกิจในการขับเคลื่อนความรู้ เปิดพื้นที่ให้ความหลากหลายทางวัฒนธรรมผ่านวรรณกรรมต่างๆ สำนักพิมพ์ทั้งหลายต้องดำเนินไปด้วยกลไกทางธุรกิจ นอกจากการหาทาง (และหาทุน) มาผลิตหนังสือที่ใช้ทั้งเวลา และบุคลากรแล้ว การคัดเลือกหนังสือโดยคำนึงถึงความต้องการของผู้อ่านก็สำคัญและสะท้อนถึงความสนใจในสังคมขณะนั้นเช่นกัน
“เรามีหนังสือที่อยากทำอยู่แล้ว แต่ไม่ใช่ว่าเราจะตามใจเสียหมด ในแง่ธุรกิจการตลาดนั้นสำคัญมาก งานไหนที่เราอยากทำแต่ขายได้ห้าร้อยเล่มเราก็คงไม่ทำ ไม่ว่าจะดีแค่ไหนก็ตาม เราไม่ได้ตั้งเป้าว่าต้องขายได้หมื่นเล่ม หรือสี่ห้าพันเล่มในสองเดือน แต่ถ้าสองพันเล่มในสามปีแล้วเป็นหนังสือดีที่เราอยากทำเราก็ทำ เพราะเราเห็นว่าสำคัญแต่ต้องยอมรับว่าใช้เวลาคืนทุน”
“มันต้องบาลานซ์กันไประหว่างสิ่งที่ตลาดต้องการและสิ่งที่เราอยากจะทำ เราอาจเริ่มจากทางที่เราถนัด เช่น เศรษฐศาสตร์ สังคมวิทยา การเมือง แต่ช่วงหลังเราก็เปิดกว้างมากขึ้นมีทั้งมุมจิตวิทยา การพัฒนาตนเองที่สะท้อนความสนใจทางสังคมในช่วงนี้ แต่ก็ต้องตั้งอยู่บนฐานความรู้ หรือเปิดประเด็นพูดคุยใหม่ๆ อย่าง Reasons To Stay Alive ที่ขายดีมาก ไม่ใช่งานวิชาการก็จริง แต่ก็ทำให้คนอ่านหลายคนบอกว่าขอบคุณที่ทำเล่มนี้ขึ้นมาเพราะช่วยให้เขาเข้าใจโรคซึมเศร้ามากขึ้น มันก็ตอบโจทย์เรื่องการเปิดประเด็นได้ แต่อย่างบางเล่มที่เรารู้ว่าเนื้อหามันไปไกลกว่าปัจจุบัน และยอดขายจะไม่ดีในทันทีแน่นอน แต่เราจำเป็นต้องพูดเรื่องนี้อย่าง Surveillance Capitalism หรือ Common Sense เราก็ตัดสินใจทำ ทั้งนี้เรามีโจทย์ที่เราตั้งใจอยากผลักดัน แต่ไม่อาจบอกได้ว่าเราส่งผลหรือสร้างผลกระทบต่ออะไร เพราะการเปลี่ยนแปลงทางสังคมเกิดจากหลายปัจจัย แต่เราก็เห็นแล้วว่าเมื่อปัจจัยต่างๆ ถึงพร้อมกัน สังคมก็จะขับเคลื่อนประเด็นนั้นไปได้เอง”
เมื่อถามถึงกลยุทธ์ของสำนักพิมพ์รายเล็กในวันที่รายใหญ่เข้ามาเล่นและมีกำลังพร้อมที่จะจ่ายค่าลิขสิทธิ์ก้อนใหญ่ได้ วรพจน์กล่าวว่าสิ่งที่ทำให้สำนักพิมพ์เล็กยังพอมีแต้มต่อได้คือความไวว่าใครทำอะไร ที่ไหน อย่างไรอยู่ ซึ่งความไวจะเกิดขึ้นได้ก็ต้องมาจากความเข้าใจในวงการนั้นๆ อย่างแท้จริง
แน่นอนว่าสำนักพิมพ์ต้องหาทางอยู่รอดเองให้ได้ก่อน แต่วรพจน์ก็ทิ้งท้ายถึงความสำคัญของการที่ภาครัฐ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับประเด็นต่างๆ เข้ามาสนับสนุน หาไม่เช่นนั้นแล้วเราก็คงได้แต่คาดหวังให้สังคมพร้อม สนใจ นักเขียนกระตือรือร้นผลิตงานคุณภาพดีให้ได้ ยาไส้ด้วยอุดมการณ์ที่ใครต่อใครบอกว่าหนังสือเป็นสิ่งสำคัญในการผลักดันสังคมคุณภาพ สำนักพิมพ์น้อยใหญ่ต้องหาทางอยู่รอดทั้งในเชิงธุรกิจและขับเคลื่อนพันธกิจทางสังคมอยู่ร่ำไป