ปลายศตวรรษที่ 20 ย่างเข้าศตวรรษที่ 21 เป็นยุคที่สถาปัตยกรรมห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ และแหล่งเรียนรู้ต่างๆ ได้เริ่มก้าวข้ามไปจากขนบการออกแบบเดิมๆ มันจะไม่ใช่พื้นที่ที่ผู้คนเดินเข้าไปรับความรู้อย่างเชื่องๆ เหมือนในอดีตที่ผ่านมา แต่เป็นยุคซึ่งพื้นที่ (space) ถูกออกแบบเพื่อตอบสนองต่อความต้องการที่หลากหลายของผู้คนในสังคมอนาคต
เมื่อแหล่งเรียนรู้คลายความศักดิ์สิทธิ์ลง กลายเป็นพื้นที่สาธารณะที่สัมพันธ์กับวิถีชีวิตอย่างใกล้ชิด จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกเลยที่วันนี้คนจำนวนหนึ่งไปที่พิพิธภัณฑ์หรือห้องสมุดเพื่อจัดการแสดงทางวัฒนธรรม งานเทศกาล นัดเจรจาทางธุรกิจ สร้างสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ หรือแม้กระทั่งจัดงานแต่งงาน ในขณะเดียวกันสถานที่เหล่านั้นก็ยังคงรักษาบทบาทในการให้บริการด้านการเรียนรู้และสารสนเทศไว้อย่างเหนียวแน่น
แหล่งเรียนรู้ยุคมิลเลนเนียมสามารถออกแบบให้มีรูปลักษณ์ที่แปลกใหม่และมีเอกลักษณ์โดดเด่นเฉพาะตัว ส่วนหนึ่งก็เพราะวิทยาการด้านสถาปัตยกรรมและวิศวกรรมที่ก้าวหน้ามากขึ้น และส่วนสำคัญที่ขาดไม่ได้เลยก็คือนักออกแบบซึ่งต้องตีโจทย์ทำความเข้าใจวิถีชีวิตของชุมชน จนกระทั่งแปรจินตนาการที่กว้างไกลให้กลั่นตัวเป็นสถาปัตยกรรมที่น่าจดจำ
ซีรีส์ชุด “เบื้องหลังความคิดและจินตนาการของนักออกแบบแหล่งเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ 21” จำนวน 6 ตอน นำเสนอเรื่องราวและผลงานเจ้าของไอเดียแหล่งเรียนรู้ที่โดดเด่น 7 ราย ได้แก่ เร็ม คูลฮาส (Rem Koolhaas) โจชัว ปรินซ์-รามุส (Joshua Prince-Ramus) อึน ยัง ยี (Eun Young Yi) แฟรงก์ โอเวน เกห์รี (Frank Owen Gehry) ซาฮา ฮาดิด (Zaha Hadid) นอร์แมน ฟอสเตอร์ (Norman Foster) และโตโย อิโตะ (Toyo Ito)
โตโย อิโตะ (Toyo Ito) สถาปนิกเชื้อสายญี่ปุ่น เกิดที่ประเทศเกาหลีใต้ พ่อของเขาเป็นนักธุรกิจที่มีความสนใจอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับเครื่องปั้นดินเผาโบราณของเกาหลีและภาพวาดสไตล์ญี่ปุ่น ต่อมาเขาได้ติดตามครอบครัวย้ายกลับไปบ้านเกิดของพ่อในชนบทที่จังหวัดนากาโน่ ประเทศญี่ปุ่น วัยเยาว์ของอิโตะดูจะแตกต่างจากสถาปนิกที่มีชื่อเสียงคนอื่นๆ ตรงที่เขาไม่มีแรงดลใจหรือความใฝ่ฝันใดๆ ที่จะเป็นสถาปนิกเลย ความชื่นชอบของเขาเห็นจะมีแต่เรื่องเบสบอล จนเมื่อเข้าศึกษาระดับอนุปริญญาด้านการออกแบบที่มหาวิทยาลัยเกียวโต (Kyoto University) ผลงานการออกแบบบูรณะสวนสาธารณะอูเอโนะของอิโตะได้รับรางวัลชนะเลิศจากมหาวิทยาลัย เขาจึงเริ่มหันมาสนใจด้านสถาปัตยกรรมอย่างจริงจัง
ในปี 1979 อิโตะก่อตั้งบริษัทสถาปนิกของตัวเองชื่อ “Urbot” มาจากคำว่า urban และ robot ซึ่งเปลี่ยนเป็น Toyo Ito & Associates, Architects ในเวลาต่อมา บริษัทของเขาได้ชื่อว่าเป็นสถานที่แจ้งเกิดของสถาปนิกชาวญี่ปุ่นรุ่นเยาว์ที่มีพรสวรรค์หลายคน อิโตะนิยามสถาปัตยกรรมว่าเป็นเสมือน “อาภรณ์” ที่ห่อหุ้มชาวเมือง ซึ่งจำเป็นต้องใคร่ครวญถึงดุลยภาพระหว่างชีวิตส่วนตัวกับชีวิต “สาธารณะ” ของปัจเจกชน หลักการพื้นฐานในการออกแบบคือ “บ้านสำหรับทุกคน” สิ่งที่ต้องคิดเป็นอันดับต้นๆ ก็คือ อาคารนั้นสร้างขึ้นทำไม และมีใครบ้างที่ถูกลืมไป
แนวคิดของอิโตะได้รับการวิจารณ์ว่ามีเอกลักษณ์เป็นของตัวเองในเรื่องความเลื่อนไหล ความต่อเนื่อง ความไม่สิ้นสุด ความเรียบง่าย ความสมดุล ความใกล้ชิดธรรมชาติ ฯลฯ โดยได้รับอิทธิพลมาจากนักปรัชญาทั้งตะวันออกและตะวันตก เช่น มูเนะสึเกะ มิตะ (Munesuke Mita) ชาวญี่ปุ่น และ กิลส์ เดอลูซ (Gilles Deleuze) ชาวฝรั่งเศส
แม้ว่าในเวทีนานาชาติ โตโย อิโตะ จะไม่ได้ถูกจัดอยู่ในกลุ่มสถาปนิกที่มีชื่อเสียงหรือประสบการณ์มากนัก แต่ชื่อของเขาก็ติดอยู่ในโผที่เข้าชิงรางวัลพริตซ์เกอร์ (Pritzker Prize) เป็นเวลาหลายปี จนกระทั่งได้รับรางวัลดังกล่าวในปี 2013 ผลงานที่เป็นจุดสูงสุดในการทำงานของเขาก็คือเซนไดมีเดียเทค (Sendai Mediatheque) ประเทศญี่ปุ่น ส่วนผลงานที่น่าสนใจอื่นๆ ได้แก่ ห้องสมุดมหาวิทยาลัยศิลปะทามะ (Tama Art University Library) ประเทศญี่ปุ่น โรงละครแห่งมหานครไถจง (National Taichung Theater) ไต้หวัน พิพิธภัณฑ์ศิลปะบารอกนานาชาติ (International Museum of the Baroque) ประเทศเม็กซิโก
เซนไดมีเดียเทค Sendai Mediatheque
เซนได, ญี่ปุ่น
แนวคิดในการสร้างเซนไดมีเดียเทคเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 1989 เมื่อสมาคมศิลปะแห่งจังหวัดมิยางิต้องการสร้างพิพิธภัณฑ์แห่งใหม่รวมถึงห้องสมุด โดยได้เลือกท่ารถบัสเก่าเป็นสถานที่ก่อสร้าง หลังจากการเปิดรับฟังเสียงประชาชนจึงได้มีการประกวดแบบ ซึ่งผลงานของโตโย อิโตะ ได้รับการคัดเลือกจากผลงานทั้งหมด 235 ชิ้น อิโตะนำเสนอความคิดเกี่ยวกับเทคโนโลยีว่าเป็นสิ่ง “เลื่อนไหล” แทนที่จะมองว่าเป็นสิ่งแปลกปลอมสำหรับธรรมชาติ โดยบูรณาการมีเดียและระบบทันสมัยเข้ากับสิ่งแวดล้อมของเมืองอย่างร่วมสมัย
เซนไดมีเดียเทค Sendai Mediatheque สร้างเสร็จและเริ่มเปิดให้บริการในปี 2001 อาคารเป็นทรงลูกบาศก์โปร่งใส มองเห็นพื้นบางเฉียบที่เรียงร้อยกันไว้ด้วยกลุ่มท่อคล้ายกิ่งก้านของต้นไม้ ในยามกลางวันอาคารดูผสมกลมกลืนไปกับสิ่งแวดล้อม ในขณะที่ตอนกลางคืน แสงภายในอาคารเปล่งประกายประดุจตะเกียงกลางเมือง ผนังกระจกใสสะท้อนถึง “ความอนันต์” คือการเชื่อมต่อกันระหว่างพื้นที่ภายในอาคารและพื้นที่นอกอาคารอย่างไม่สิ้นสุด หากยืนอยู่บริเวณชั้นล่างซึ่งเป็นที่ตั้งของคาเฟ่ ร้านหนังสือ และร้านขายของที่ไม่มีผนังกั้น สามารถมองผ่านกระจกออกไปเห็นถนนโจเซ็นจิ ราวกับทางเดินของอาคารเป็นส่วนเชื่อมต่อของถนนเส้นนั้น
แนวคิดในการออกแบบของอิโตะสอดคล้องกับพันธกิจของเซนไดมีเดียเทค “รัฐบาลปลื้มที่เราทำให้ที่นี่ ‘ไร้อุปสรรค’ ซึ่งหมายถึงผู้มีความบกพร่องทางร่างกายด้านต่างๆ ไม่มีอุปสรรคในการเข้าถึง แต่ผมยึดเอาความหมายในด้านอิสรภาพจากอุปสรรคในการบริหารจัดการ จากสารสนเทศที่อยู่บนฐานของข้อความตัวอักษร (text-based) ซึ่งเข้าถึงได้ยาก ให้ปราศจากอุปสรรคในการเข้าถึง รวมทั้งขจัดอุปสรรคทางสถาปัตยกรรม ซึ่งกำหนดไว้ว่าพื้นที่จะต้องถูกใช้งานไปในทิศทางใด”
อาคารมีทั้งหมด 7 ชั้น มีพื้นที่กว้างขวางสำหรับคอลเลกชันภาพยนตร์และเสียง รวมทั้งบูธสำหรับรับชมหรือตัดต่อวีดิทัศน์ โรงภาพยนตร์ คาเฟ่ และร้านหนังสือ “อาคารนี้มีพื้นที่อิสระมากมาย คือพื้นที่ที่ไม่ได้ตั้งใจให้บริการแบบเฉพาะเจาะจง ตัวอย่างเช่นผู้ใช้บริการสามารถใช้พื้นที่ระหว่างท่อเสาและบริเวณรอบๆ เช่นเดียวกับที่พวกเขาใช้ถนนของเมืองสำหรับกิจกรรมที่หลากหลาย ผมหวังว่ามีเดียเทคจะกลายเป็นพื้นที่สำหรับกระบวนการคิดเกี่ยวกับเมือง”
เซนไดมีเดียเทคออกแบบเป็นพิเศษให้สามารถรับแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวรุนแรง แผ่นพื้นทำจากโครงเหล็กรูปรังผึ้งประกอบกับคอนกรีตมวลเบา ท่อแต่ละกลุ่มมีทั้งส่วนที่ติดยึดกับแผ่นพื้นและส่วนที่ต้านแรงโน้มถ่วง โดยอาคารปราศจากคานรับน้ำหนัก ช่วยให้เกิดความยืดหยุ่นเมื่อเกิดแรงสั่นสะเทือน เมื่อครั้งที่เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่และสึนามิที่ญี่ปุ่นเมื่อเดือนมีนาคม 2011 ซึ่งมีจุดศูย์กลางใกล้กับเมืองเซนได อาคารหลังนี้เสียหายเฉพาะส่วนตกแต่งภายใน แต่โครงสร้างหลักแทบไม่เสียหายเลย
ห้องสมุดมหาวิทยาลัยศิลปะทามะ Tama Art University Library
โตเกียว, ญี่ปุ่น
โตโย อิโตะ เป็นผู้ออกแบบห้องสมุดแห่งใหม่ให้กับมหาวิทยาลัยศิลปะทามะ (Tama Art University) วิทยาเขตฮาชิโอจิ (Hachioji) ชานเมืองโตเกียว ห้องสมุดตั้งอยู่ระหว่างประตูหลักของมหาวิทยาลัยกับศูนย์กลางของวิทยาเขต ผู้บริหารได้ตั้งเป้าหมายให้ห้องสมุดมีบทบาทหลักในการสะท้อนตัวตนของมหาลัย ซึ่งได้แก่การสร้างแรงบันดาลใจที่สร้างสรรค์ เป็นสถานที่สำหรับการร่วมมือ การคิดใคร่ครวญ และการผ่อนคลาย เปิดกว้างให้ผู้คนเข้ามาใช้พื้นที่ได้หลากหลายลักษณะ รวมถึงการนอนเล่นพักผ่อนสมอง
ถึงแม้ว่าที่นี่จะเป็นห้องสมุดมหาวิทยาลัย แต่กลับมีปริมาณผู้เยี่ยมชมที่ไม่ใช่บุคลากรของมหาวิทยาลัยสูงมาก ในปี 2006 ห้องสมุดแห่งเดิมก่อนปรับปรุงมีผู้ใช้บริการ 38,000 คน ขณะที่ปี 2012 ห้องสมุดแห่งใหม่มีผู้ใช้บริการกว่า 86,000 คน
ห้องสมุดเป็นอาคารสองชั้นและมีชั้นใต้ดิน โครงสร้างหลักทำมาจากเหล็กและปูนเปลือย ผนังอาคารทำด้วยกระจกเพื่อให้เกิดความรู้สึกเลื่อนไหลกลมกลืนระหว่างห้องสมุดกับสิ่งแวดล้อมภายนอก การออกแบบภายในเรียงรายด้วยซุ้มโค้งซึ่งทำหน้าที่เป็นเสารับน้ำหนักและยังให้ความรู้สึกอ่อนโยนงดงาม สิ่งที่แปลกประหลาดก็คือ พื้นของห้องสมุดชั้นล่างถูกออกแบบให้มีความลาดเอียง 3 องศา ส่งผลให้ชั้นวางหนังสือและเฟอร์นิเจอร์ต้องถูกออกแบบเป็นพิเศษเพื่อให้เข้ากับความเอียง และมีสุนทรียภาพที่กลมกลืนกับเหลี่ยมมุมต่างๆ ของอาคาร
ห้องสมุดแห่งนี้ให้บริการหนังสือด้านศิลปะ การออกแบบ และสถาปัตยกรรม ซึ่งเป็นภาษาญี่ปุ่นประมาณ 77,000 เล่ม หนังสือต่างประเทศ 47,000 เล่ม และหนังสือโบราณอีก 1,500 เล่ม ชั้นล่างเป็นแกลเลอรีศิลปะรองรับการสัญจรของผู้คนที่ผ่านไปมาอย่างคึกคัก มีโซนค้นหาภาพยนตร์ซึ่งดูคล้ายเคาน์เตอร์บาร์ มีตู้กระจกขนาดใหญ่จัดแสดงนิตยสารฉบับใหม่เพื่อให้นักศึกษาเลือกอ่านขณะรอรถบัส นอกจากนี้ชั้นบนยังมีเครื่องจักรสำหรับการผลิตสิ่งพิมพ์อย่างมืออาชีพ
ห้องสมุดใหม่ได้กลายเป็นพื้นที่ซึ่งทุกคนสามารถค้นพบ “การปฏิสัมพันธ์” กับหนังสือและมีเดีย (media) ตามสไตล์ของตัวเอง ให้ความรู้สึกเพลิดเพลินราวกับเดินเข้าไปในป่าหรือโถงถ้ำ ด้วยรูปลักษณ์ที่สัมพันธ์กันอย่างอ่อนละมุน และก่อให้เกิดบรรยากาศที่สร้างสรรค์ปกคลุมไปทั่วมหาวิทยาลัย
พิพิธภัณฑ์ศิลปะบารอกนานาชาติ
International Museum of the Baroque
ปวยบลา, เม็กซิโก
ในอดีตเม็กซิโกตั้งอยู่ในชัยภูมิที่สำคัญด้านการค้าระหว่างประเทศ จึงเป็นจุดบรรจบของศิลปะวิทยาการจนได้รับการเรียกขานว่า “New Spain” อีกทั้งรัฐปวยบลา (Puebla) ยังได้รับการประกาศให้เป็นเมืองมรดกโลก ด้วยกลิ่นอายของยุคบารอก (Baroque) เป็นที่มาให้ท้องถิ่นริเริ่มพิพิธภัณฑ์ศิลปะบารอกนานาชาติขึ้น เพื่อเป็นแลนด์มาร์ก (landmark) ร่วมสมัยที่ดึงดูดผู้สนใจเรื่องราวด้านวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ นำเสนอทั้งภาพวาด ประติมากรรม แฟชั่น สถาปัตยกรรม ดนตรี ภาพยนตร์ วรรรกรรม และอาหาร
อาคารหลังนี้ออกแบบโดย โตโย อิโตะ สร้างเสร็จเมื่อปี 2016 เขากล่าวว่า “อยากจะให้อาคารนี้งอกงามขึ้นจากแผ่นดินเหมือนกับน้ำพุ” อิโตะ สะท้อนเอกลักษณ์ของศิลปะบารอกผ่านหลักคิดในการออกแบบสถาปัตยกรรม 3 ประการ ได้แก่ ความเลื่อนไหล เนื่องจากกระแสบารอกได้แหวกขนบที่เคร่งครัดแบบเรอเนสซองซ์ (Renaissance) ที่มีมาก่อนหน้า เป็นการเปลี่ยนผ่านทัศนะที่มองว่ามนุษย์เป็นศูนย์กลางของจักรวาล มาเป็นความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับพระเจ้า คล้ายกับแนวคิดในปัจจุบันเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างปัจเจกกับธรรมชาติ อิโตะจึงออกแบบโครงสร้างอาคารหลังนี้ด้วยคอนกรีตที่ก่อรูปเป็นแผ่นคดโค้งประกบกัน แทนที่จะเป็นผนังสี่เหลี่ยมแบบทั่วไป แสงที่สวยงาม สำหรับบารอกแล้วแสงเป็นสัญลักษณ์ของการเผยวจนะของพระเจ้า อิโตะออกแบบให้ภายนอกพิพิธภัณฑ์ดูยุ่งเหยิงเหมือนเขาวงกต ทว่าเส้นทางเดินภายในอาคารเชื่อมร้อยกันอย่างเป็นระบบ โดยมีโดมรับแสงสว่างจากท้องฟ้าช่วยนำทางเกิดเป็นประสบการณ์ที่ตราตรึงใจ ความเป็นธรรมชาติ พิพิธภัณฑ์ตั้งอยู่ในสวนสาธารณะกลางเมือง ซึ่งผู้เยี่ยมชมสามารถสัมผัสความงามของธรรมชาติระหว่างทาง อิโตะได้ออกแบบสระน้ำรูปจันทร์เสี้ยวโอบรอบอาคาร เพื่อสร้างภาพที่สัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างพิพิธภัณฑ์และธรรมชาติรายรอบ นอกจากนี้ อาคารยังมีระบบกักเก็บน้ำฝนและหมุนเวียนของเสีย
พื้นที่ชั้นล่างประกอบด้วยนิทรรศการถาวรและชั่วคราว ห้องออดิทอเรียม 300 ที่นั่ง จุดจำหน่ายตั๋วและประชาสัมพันธ์ มีห้องวิจัยและการศึกษา ซึ่งผู้ใช้บริการสามารถชมวิธีการเก็บรักษาชิ้นงานยุคบารอกหรือศึกษาเอกสารต้นฉบับจากห้องสมุด และมีร้านอาหารซึ่งสามารถลิ้มรสตัวอย่างเมนูในยุคบารอกได้ด้วย ส่วนใจกลางห้องโถงตกแต่งด้วยม้านั่งขนาดใหญ่ออกแบบโดยดีไซน์เนอร์ชื่อดังของญี่ปุ่นผสมผสานกับงานฝีมือท้องถิ่น
พิพิธภัณฑ์ส่วนใหญ่ในเม็กซิโกมักเป็นแหล่งเรียนรู้ระดับท้องถิ่น มีเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้นที่เป็นแหล่งเรียนรู้ระดับนานาชาติ ทว่ากลับมีคำวิจารณ์ยกย่องว่า พิพิธภัณฑ์ศิลปะที่ดีที่สุดในทวีปอเมริกาเหนือไม่ได้อยู่ที่สหรัฐอเมริกา หากแต่อยู่ที่เม็กซิโก นั่นก็คือพิพิธภัณฑ์ศิลปะบารอกนานาชาติแห่งนี้
ที่มา
wikipedia. Toyo Ito.
wikipedia. Sendai Mediatheque.
wikipedia. Tama Art University Library.
Marcus Fairs. Tama Art University Library by Toyo Ito. (2007)
Jessica Mairs. Toyo Ito creates fluted walls of white concrete at Museo Internacional del Barroco. (2016)
Cover Photo By Naoya Hatakeyama