บวกเป็นพิษ ‘Toxic Positivity’

2,078 views
5 mins
September 19, 2022

          ผมเจอหนังสือเล่มนี้ในห้องสมุด ไม่ลังเลเลยที่จะยืมมาอ่าน เพราะผมเองก็สงสัยใคร่รู้ว่าอาการเป็นพิษจากการคิดบวกจะเป็นอย่างไร อีกอย่างหนึ่งคือในโซเชียลมีเดียก็ล้วนท่วมท้นไปด้วยกระแสคิดบวก

          Whitney Goodman ผู้เขียน เป็นนักจิตบำบัดที่ผ่านประสบการณ์การบำบัดผู้ป่วยที่เผชิญกับ ‘บวกเป็นพิษ’ (ผมขอใช้คำนี้) หลายต่อหลายคน เธอพบว่าการคิดบวกตลอดเวลาแม้ในยามชีวิตเจอเรื่องเลวร้าย สร้างปัญหามากกว่าแก้ปัญหา เธอต้องการชี้ประเด็นนี้ในหนังสือของตนและวิธีการทางจิตวิทยาที่เหมาะสมกว่าในการรับมือกับชะตากรรม

           (หมายเหตุไว้ตรงนี้ ผมคิดว่า Whitney Goodman ไม่ได้พูดถึงจิตวิทยาเชิงบวก (Positive Psychology) แต่กำลังพูดถึงการคิดเชิงบวก (Positive Thinking) ซึ่งสองคำนี้มีความหมายบางส่วนที่เหลื่อมซ้อนกัน)

          ตัวคุณเองหรือคนรอบตัวเคยตกอยู่ในสถานการณ์ทำนองว่า ชีวิตถูกโหมกระหน่ำด้วยเรื่องร้ายๆ พอเอ่ยปากปรึกษาเพื่อน เพื่อนก็พูดด้วยความปรารถนาดีว่า “ใจเย็นๆ ลองคิดว่านี่เป็นโอกาสที่ชีวิตหยิบยื่นให้เรียนรู้สิ” หรือ “อย่างน้อยก็ยังโชคดีกว่าหลายๆ คนบนโลกนะ ยังมีอะไรอีกหลายอย่างที่ทำได้” บลาๆๆ

          ใช่ครับ มันเป็นคำพูดจากความปรารถนาดี แต่มันไม่ช่วยอะไร Whitney Goodman เรียกถ้อยคำหรือสถานการณ์ในลักษณะนี้ว่า Toxic Positivity หรือบวกเป็นพิษ มันเป็นความปรารถนาดีที่ตัวคุณยังไม่อยู่ในห้วงเวลาที่พร้อมจะรับ ตรงกันข้ามมันกลับผลักไสคุณให้ไปสู่ความเงียบงัน ความโดดเดี่ยว การถูกตัดสิน ความเข้าใจผิด และการถูกปฏิเสธ เพราะมันคือ…

                    – การจบบทสนทนา

                    – การบอกคนคนนั้นว่าคุณไม่ควรรู้สึกแบบที่คุณกำลังรู้สึก

                    – การปฏิเสธสถานการณ์ปัจจุบัน หรือ

                    – การโน้มน้าวให้คุณต้องมีความสุขตลอดเวลา เป็นต้น

          นอกจากจะเป็นไปไม่ได้ที่มนุษย์จะคิดบวกตลอดเวลาแล้ว การทำแบบนี้ยังส่งผลเสียต่อสุขภาพจิต เพราะมันนำไปสู่การเก็บกด อีกทั้งความคิดเชิงลบก็มีหน้าที่ของมันอยู่ แต่ด้วยอุตสาหกรรมการพัฒนาตนเอง (Self-help หรือ Self-improvement) อุตสาหกรรมโค้ชชิ่ง กระแส Good Vibes และ Laws of Attraction การคิดบวกจึงเฟื่องฟู มีการป่าวประกาศสรรพคุณว่าการคิดบวกจะดึงดูดสิ่งดีๆ เข้ามาในชีวิต

          ผู้เขียนเล่าประสบการณ์แม่ลูกคู่หนึ่งที่ลูกของเธอป่วยเป็นมะเร็งในระยะลุกลามและคงมีชีวิตอยู่ได้เพียงไม่นาน แม่ผู้ท่วมท้นด้วยความเศร้าโศกพยายามทุกวิถีทางเพื่อให้ลูกมีชีวิตต่อ เธอคิดว่าการที่เธอและลูกคิดบวกจะช่วยให้ทุกอย่างดีขึ้น เธอหลีกเลี่ยงคำว่า มะเร็ง ในการสนทนา ผลักดันให้ลูกคิดบวก คิดในแง่ดี แต่ผลที่ได้กลับเป็นตรงกันข้าม มันปิดกั้นการพูดคุยอย่างจริงจังต่อความเป็นจริงตรงหน้า เด็กน้อยรู้สึกอึดอัด ไม่กล้าบอกเล่าความคิด ความรู้สึกที่ตนมี สุดท้าย เด็กน้อยก็จากไปโดยไม่ได้สื่อสารกับแม่อย่างที่ควรจะเป็นในช่วงท้ายๆ ของชีวิต

          Whitney Goodman บอกว่าการคิดบวกไม่ใช่สิ่งเลวร้ายในตัวมันเอง มันมีข้อดีต่อการใช้ชีวิต และคนพูดก็มักปรารถนาดี ทว่า มันต้องอาศัยความเข้าใจอย่างลึกซึ้งต่อจังหวะเวลา สถานการณ์ อารมณ์ความรู้สึก ฯลฯ มิฉะนั้นมันจะเป็นพิษ

          ความเป็นมาของการคิดบวกตามที่ผู้เขียนเล่าในหนังสือ ย้อนกลับไปเล่าถึงกลุ่มผู้อพยพลัทธิคาลวินที่เดินทางมายังอเมริกา พวกเขามีความเชื่อว่ามนุษย์มีธรรมชาติอันชั่วร้าย ความสุขเป็นบาป ดังนั้น พวกเขาจึงสอนให้หมั่นสำรวจความคิดลบในจิตใจและเน้นการทำงานหนักด้วยหวังว่าจะได้รับการเลือกจากพระเจ้า

          คงเห็นแล้วว่าความเชื่อเช่นนี้ยากที่จะแพร่หลาย ตลอดสองสามศตวรรษที่ผ่านมามันถูกปรับเปลี่ยนเป็นขบวนการความคิดใหม่ (New Thought Movement) ถึงศตวรรษที่ 19 มันจึงหันเหสู่ความเชื่อที่ว่าการคิดบวกมีพลังในการเยียวยา แต่ด้วยพลังของวิทยาศาสตร์และการแพทย์ที่เยียวยาสุขภาพได้ดีกว่าก็บีบให้ขบวนการแนวคิดใหม่ต้องปรับตัวอีกครั้งจากสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีสู่ความมั่งคั่งและความสำเร็จ

           ‘Think and Grow Rich’ หรือ ‘คิดแล้วรวย’ ของ นโปเลียน ฮิลล์ คือ ไบเบิ้ลของการคิดบวกแห่งทศวรรษที่ 1930 ตามมาด้วยหนังสืออีกเล่มที่มีอิทธิพลไม่แพ้กัน ของ นอร์แมน วินเซนต์ ‘The Power of Positive Thinking’ ในปี 1952 งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์และจิตวิทยายังมีส่วนอย่างมากต่อการส่งเสริมความเชื่อเรื่องการคิดบวก ซึ่งเอาเข้าจริงก็ไม่มีงานศึกษาใดที่ชี้ให้เห็นผลลัพธ์แบบชัดเจนเป็นที่ประจักษ์

          กระแสการคิดบวกแพร่หลายอย่างรวดเร็ว Whitney Goodman ตั้งคำถามว่าทำไมมันจึงน่าหลงใหล? เธอให้คำตอบไว้สองสามประเด็น กล่าวคือมันทำให้เรารู้สึกว่าสามารถควบคุมชีวิตของเราได้ มันปลดเปลื้องเราจากความรับผิดชอบต่อชีวิตของผู้คนอื่นๆ ได้ และมันให้สิ่งนามธรรมที่เราจะกล่าวโทษได้เสมอหากชีวิตผิดพลาด ซึ่งนั่นก็คือความคิดของเราเอง สรุปคือ การคิดบวกทำให้เกิดภาพลวงตาของความหวังและการควบคุมชีวิต

          เธอยังยกตัวอย่างสถานการณ์แย่ๆ และคำพูดบวกๆ ที่ควรงดเว้น เช่น การแท้งลูก การสูญเสีย ความบาดหมางในครอบครัว การตกงาน การเหยียดเพศ ชนชั้น เชื้อชาติ และอื่นๆ ความพิการ หรือประเด็นทางสุขภาพจิต เป็นต้น การตอบสนองสถานการณ์เหล่านี้ด้วยคำพูดบวกๆ อย่าง “คิดถึงสิ่งที่มีความสุขและมันจะทำให้คุณดีขึ้น” “เราทุกคนเป็นเพียงเผ่าพันธุ์มนุษย์” “คนที่คิดบวกประสบความสำเร็จเสมอ” “ครอบครัวคือทุกสิ่ง” “อย่าร้องไห้” “ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นล้วนมีเหตุผล” “ขอบคุณโลกใบนี้ที่มอบสิ่งต่างๆ ให้” หรือ “ชีวิตไม่เคยให้อะไรแก่คุณที่เกินกว่าคุณจะรับไหว”

          Whitney Goodman เตือนว่าความตั้งใจดีเป็นสิ่งสำคัญ แต่ผลกระทบจากความตั้งใจดีแบบไม่ถูกที่ถูกเวลานั้นสำคัญกว่า

          เราจึงควรหลีกเลี่ยงคำพูดบวกเป็นพิษทำนองนี้ เรื่องแย่ๆ ก็คือเรื่องแย่ๆ มันแย่เกินกว่าจะสูญเสียพลังงานค้นหาแง่มุมดีๆ เราไม่จำเป็นต้องกลบเกลื่อน ซ่อนเร้น เก็บกด หรือหยุดร้องไห้ เพียงเพราะสังคมหรือใครบอกให้เราคิดบวก

          สิ่งที่ Whitney Goodman แนะนำคือการอยู่เคียงข้าง รับฟัง ทำความเข้าใจ เคารพ ไถ่ถาม และไม่ตัดสิน

          กระแสการคิดบวกส่งผลกระทบต่อชีวิตจิตใจของคนอเมริกันขนาดที่ว่าต้องเสแสร้งมีความสุขต่อสาธารณะ แม้ว่าในชีวิตจริงจะเพิ่งผ่านเรื่องเลวร้ายมา เพราะการไม่มีความสุข ไม่คิดบวก เป็นสิ่งต้องห้าม มันทำให้คุณดูเป็นคนไม่ดี ถ้าคุณบ่นเกี่ยวกับงาน คุณก็อาจถูกมองว่าไม่สู้งาน ไม่จริงจังกับงาน ผู้เขียนแนะนำให้เราแสดงอารมณ์ความรู้สึกออกมา เรียนรู้การตั้งชื่อให้กับอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ มิใช่ปล่อยให้บวกเป็นพิษปิดซ่อนจนเกิดอาการเก็บกด การบ่นไม่ใช่เรื่องเสียหาย เราควรบ่นสิ่งที่ควรบ่น การบ่นคือการระบายความอึดอัดคับข้องต่อสถานการณ์ และหลายกรณีก็มีความชอบธรรมที่เราจะบ่นเสียด้วย

          ผู้เขียนยังชวนเราคิดต่อ ในประเด็นที่ใหญ่โตกว่าปัญหาระดับปัจเจกที่การคิดบวกทิ้งผลกระทบไว้ เช่น Whitney Goodman กล่าวว่าแทนที่เราจะเพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพให้มากขึ้น บวกเป็นพิษกลับส่งเสริมความคิดที่ว่า Mindset ช่วยเยียวยาโรคภัย แทนที่จะสร้างความเสมอภาคทางการเงิน เรากลับส่งเสริมการรวยเร็ว ค่านิยมการทำงานหนักเกิน ด้วยความเชื่อว่ามันจะนำไปสู่ความสำเร็จ หรือแทนที่เราจะสร้างพื้นที่ให้แก่ความแตกต่างทางเรือนร่างและกำจัดวัฒนธรรมการไดเอท เรากลับพูดว่าเรากำลังส่งเสริมร่างกายในเชิงบวก ส่งเสริมการรักร่างกายของตัวเอง เป็นต้น

          เธอชวนตั้งคำถามในตอนท้ายว่าความสุข คือ ทุกอย่างจริงหรือเปล่า? เธอเสนอว่าแทนที่เราจะขับเคลื่อนชีวิตเพื่อแสวงหาความสุข ลองปรับเป็นขับเคลื่อนชีวิตเพื่อแสวงหาคุณค่าหรือความหมายที่จะเติมเต็ม ย้ายจุดศูนย์กลางจากตัวเองไปสู่สิ่งอื่น

          Whitney Goodman ย้ำเป็นครั้งสุดท้ายว่า การคิดบวกไม่ใช่ยาพิษ แต่มัน กลายเป็นพิษ ถ้าเราละเลยความจริงที่ว่ามนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความหลากหลาย มีอารมณ์ความรู้สึก และความสุขก็ไม่ใช่สิ่งเดียวที่มนุษย์ต้องการ

          การเก็บกดความรู้สึกและการแสดงความรู้สึกอย่างล้นเหลือจะพาเราจมดิ่งลงบ่อพิษ

          ความพอดีๆ น่าจะเป็นกุญแจสำคัญ

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก