ค้นหาและทบทวนตนเอง กับ “ห้องสมุดทบทวน”

65 views
4 mins
September 7, 2024

          หากเปรียบหนังสือเป็นกามเทพที่แผลงศรแห่งความรู้ ห้องสมุดก็คงเป็นสถานที่เชื่อมผู้ที่รักในการอ่านให้เข้ามาพบปะพูดคุย ค้นหาความรู้และทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน เหมือนเช่น พิชญา เพ็งจันทร์ หรือ เวย์ ตั้งใจสร้างห้องสมุดทบทวน ให้เป็นพื้นที่ของกลุ่มคนทุกช่วงวัยที่หลงใหลในตัวอักษรและการทบทวนตนเอง

ก่อร่างห้องสมุดทบทวน

          ก่อนที่ห้องสมุดทบทวนจะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ ณ หมู่บ้านเมืองทอง นครศรีธรรมราช รูปแบบชีวิตที่ผูกติดกับหนังสือได้ตั้งเค้าก่อตัวขึ้นในความนึกคิดของเวย์ตั้งแต่เยาว์วัย ดังคำบอกเล่าที่ว่า “ความฝันในวัยเด็ก คือ อยากทำงานร้านหนังสือหรือห้องสมุด เพราะเป็นคนชอบอ่านหนังสือตั้งแต่ยังเด็ก จึงทำให้รู้สึกเหมือนกับว่าหนังสือเข้าไปอยู่ในทุกช่วงของชีวิต ทั้งช่วงที่ต้องการค้นหาคำตอบให้กับอะไรบางอย่าง ช่วงที่รู้สึกทุกข์หรือมีความสุข หนังสือจะอยู่เคียงข้างเสมอ”

          ดังนั้น ทุกหนทางที่นำไปสู่ความฝัน จึงเป็นทางเลือกหลักในการเก็บเกี่ยวประสบการณ์ โดยเฉพาะช่วงที่เข้ามาศึกษาต่อในกรุงเทพมหานคร ทำให้เห็นว่าเมืองใหญ่ๆ มีโอกาสมากมายรออยู่ จึงได้ทำกิจกรรมและงานต่างๆ ที่ข้องแวะกับหนังสือและการเขียน เช่น รวมกลุ่มกับเพื่อนๆ จัดตั้งสำนักพิมพ์ ทำนิตยสาร ตลอดจนเข้าร่วมเวิร์กชอปต่างๆ

          อย่างไรก็ตาม ประสบการณ์ที่ทำให้เกิดความมั่นใจว่า “อยากเปิดห้องสมุดไม่ใช่ร้านหนังสือ” เกิดจากการได้รับโอกาสทำงานที่ร้านหนังสือแห่งหนึ่ง ดังที่เวย์เล่าว่า “มีพี่คนหนึ่งชวนไปทำงานที่ร้านหนังสือ จำได้ว่ารู้สึกดีใจมาก เพราะความฝันหนึ่งของเรากำลังจะเป็นจริง แถมยังได้พิสูจน์ว่าอยากเปิดร้านหนังสือจริงหรือไม่ ซึ่งหลังจากทำงานที่นั่นได้ 1 ปี ก็พบว่า ไม่ได้เป็นอย่างที่คิด เพราะถ้าจะทำร้านหนังสือเราต้องเก่งเรื่องธุรกิจ การบริหารร้าน และไม่ได้มีเวลาอ่านหนังสือมากนัก ภาพที่เราคิดกับภาพในความเป็นจริงมันไม่เหมือนกัน อย่างไรก็ตาม ประสบการณ์ที่ร้านหนังสือก็ทำให้ได้รู้จักสำนักพิมพ์ต่างๆ และรู้จักหนังสือหลากหลายประเภทมากขึ้น และที่สำคัญทำให้รู้ว่า เราไม่ได้อยากทำร้านหนังสือ ความฝันจึงเหลือเพียงหนึ่งเดียว คือ สร้างห้องสมุดที่บ้าน” เพราะเวย์เห็นว่า “เด็กและเยาวชนในบ้านเรายังขาดโอกาส การมีห้องสมุดเป็นแหล่งเรียนรู้เล็กๆ ในชุมชนน่าจะเข้ามาช่วยพัฒนาการเรียนรู้ของผู้คนได้มากยิ่งขึ้น” 

          แต่กว่าจะเป็นห้องสมุดทบทวนก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะคนส่วนใหญ่ยังขาดความเข้าใจ และไม่เห็นด้วย จึงเกิดคำถามจากคนรอบข้างมากมายว่า “จะทำห้องสมุดไปเพื่ออะไร และจะมีรายได้มาจากที่ไหน ห้องสมุดจะมีประโยชน์กับใครบ้าง เพราะคนสมัยนี้เขาไม่อ่านหนังสือกันแล้ว”

          คำถามเหล่านี้ทำเอาเวย์เกือบยกธงยอมแพ้ แต่ด้วยความมุ่งมั่นที่ยังยืนอยู่บนเส้นทางสร้างสรรค์ด้วยการทำงานศิลปะเพื่อเลี้ยงชีพ และทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้อยู่อย่างต่อเนื่อง ยกตัวอย่างเช่น เข้าอบรมการสร้างสรรค์สื่อการเรียนรู้สาระท้องถิ่นร่วมกับสถาบันอุทยานการเรียนรู้ (TK Park) จนได้หนังสือนิทานที่ชื่อว่า หนูจะเล่าให้พ่อเฒ่าฟัง ด้วยหวังว่า นิทานเล่มนี้จะเป็นเครื่องมือนำไปสู่การส่งเสริมการอ่านให้กับเด็กและเยาวชนในพื้นที่

          ความต่อเนื่องและสม่ำเสมอตลอดระยะเวลา 8 ปี ทำให้ครอบครัวพร้อมสนับสนุน จึงยกบ้านให้ทำเป็นห้องสมุด ซึ่งเวย์ได้ตั้งชื่อดอกผลจากการทุ่มเทนี้ว่า ห้องสมุดทบทวน เพราะต้องการให้เป็นสถานที่ที่คนมาทบทวนตนเอง มานั่งอ่านหนังสือ รวมถึงทำกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ร่วมกับสมาชิกคนอื่นๆ ในชุมชน เช่นที่เวย์กล่าวไว้ว่า “เวย์ไม่ได้คิดจะเปิดห้องสมุดให้เป็นเพียงพื้นที่อ่านหนังสือ แต่ต้องการให้ทบทวนเป็นพื้นที่ที่ทุกคนเข้ามาอยู่กับตนเอง โดยมีหนังสือเป็นเครื่องมือหนึ่งในการค้นหาความหมายผ่านเรื่องราวต่างๆ ของชีวิต”

“ทบทวน” ห้องสมุดในหมู่บ้านแห่งเมืองนครศรีธรรมราช

ก้าวย่างอย่างทบทวน

          เพื่อให้การทำงานห้องสมุดดำเนินไปอย่างเป็นระบบ เวย์จึงต้องทำงานอย่างค่อยเป็นค่อยไป ดังที่เล่าให้ฟังว่า “มีการเตรียมสถานที่ประมาณ 3 เดือน เพื่อเปิดห้องสมุดแบบทดลอง หลังจากนั้นจึงใช้ระยะเวลาอีกประมาณ 8 เดือนเพื่อเตรียมระบบห้องสมุดสำหรับยืม-คืน แยกหมวดหมู่หนังสือ ลงทะเบียนรายละเอียดของหนังสือแต่ละเล่มในระบบ ซึ่งที่นี่เลือกใช้การจัดการแบบดิวอี้ โดยมีการบันทึกฐานข้อมูลหนังสือของห้องสมุดในคอมพิวเตอร์ ด้วยโปรแกรมของระบบห้องสมุดอัตโนมัติ OpenBiblio รุ่น myLib ซึ่งมีน้องใจดีคนหนึ่งเข้ามาช่วยจัดการเรื่องการติดตั้งระบบ สำหรับสมาชิกจะได้รับบัตรแบบ manual โดยมีการออกแบบที่เฉพาะของห้องสมุดทบทวน และมีค่าสมัครทำบัตรยืมหนังสือเพื่อนำกลับไปอ่านที่บ้าน 152 บาทตลอดที่ห้องสมุดยังเปิดอยู่”

          ปัจจุบัน ห้องสมุดทบทวนมีสมาชิกครอบคลุมตั้งแต่เด็ก คนวัยทำงาน ซึ่งกิจกรรมต่างๆ เวย์พยายามปรับไปตามผู้ที่เข้ามาใช้บริการ ดังคำบอกเล่าที่ว่า “เราต้องคอยสังเกตว่าคนที่เข้ามาเขาชอบอะไร อยากเรียนรู้อะไร แล้วนำมาพัฒนาเพื่อให้สอดคล้องและสร้างประโยชน์ทางการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นได้ต่อ”

          จากการทำงานที่ผ่านมา เวย์เล่าถึงกิจกรรมต่างๆ ที่เคยจัดให้ฟังว่า “มีเพื่อนที่สอนภาษาอังกฤษมาใช้พื้นที่ในการสอนภาษาไทยให้กับชาวต่างชาติทุกวันพุธ รวมถึงมีเวิร์กชอปต่างๆ ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวทำให้มีผู้ที่สนใจและเริ่มเข้ามาใช้พื้นที่เพื่อทำกิจกรรมมากยิ่งขึ้น”

          นอกจากนี้ ห้องสมุดทบทวนยังเป็นพื้นที่ของครอบครัวและผู้ที่พร้อมแลกเปลี่ยนเรื่องราวชีวิตร่วมกัน ดังที่เวย์เล่าว่า “มีครอบครัวเข้ามาใช้พื้นที่ห้องสมุด โดยเริ่มต้นจากการที่เรารู้จักกับผู้ปกครอง เมื่อรู้จักกันมากขึ้น ผู้ปกครองจึงพาลูกมาวิ่งเล่น วาดรูประบายสี เราก็รู้สึกชื่นใจ เพราะสัมผัสได้ว่าเขาสบายใจที่ได้มาใช้เวลาร่วมกัน นอกจากนี้ ยังทำให้เด็กๆ ละสายตาออกจากมือถือด้วย ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญของพ่อกับแม่ในเมือง บางคนก็จะมานั่งพูดคุยเรื่องราวชีวิตที่ไม่รู้จะพูดกับใคร ซึ่งสำหรับเวย์การได้คุยกับใครสักคนที่รับฟังเราจริงๆ มันสำคัญมากๆ”

          ทุกวันนี้ ห้องสมุดทบทวนมีมุมคาเฟ่เล็กๆ พร้อมบริการเครื่องดื่มสำหรับผู้ใช้บริการที่ต้องการจิบเครื่องดื่มร้อนๆ เรียกสมาธิ หรือเครื่องดื่มเย็นๆ เพิ่มความสดชื่นขณะอ่านหนังสือหรือพูดคุยกับสมาชิกคนอื่นๆ นอกจากนี้ ยังมีมุมนิทรรศการและขายงานศิลปะอีกด้วย

“ทบทวน” ห้องสมุดในหมู่บ้านแห่งเมืองนครศรีธรรมราช
Photo: Tobtuan Library ห้องสมุดทบทวน

“ทบทวน” ห้องสมุดในหมู่บ้านแห่งเมืองนครศรีธรรมราช
Photo: Tobtuan Library ห้องสมุดทบทวน

“ทบทวน” ห้องสมุดในหมู่บ้านแห่งเมืองนครศรีธรรมราช
Photo: Tobtuan Library ห้องสมุดทบทวน

“ทบทวน” ห้องสมุดในหมู่บ้านแห่งเมืองนครศรีธรรมราช
Photo: Tobtuan Library ห้องสมุดทบทวน

ทบทวนไปด้วยกัน

          ห้องสมุดทบทวนกำลังเติบโตไปเรื่อยๆ ตามวัน เดือน ปี แต่เวย์ยังไม่คิดหยุดทบทวนให้เป็นเพียงห้องสมุด แต่ต้องการขยายไปเป็น Co-creating Space เป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้และการทดลองร่วมกันของทุกคน ดังนั้นจึงเริ่มวางแผนชีวิตเพื่อพัฒนาห้องสมุดและตัวเองต่อ ดังที่ได้เล่าให้ฟังว่า “เวย์ตั้งใจจะไปเรียนต่อเกี่ยวกับศิลปะบำบัด เพราะเป็นอีกสิ่งที่อยากทำในชีวิต และรู้สึกว่าบ้านเรายังขาดคนทำงานในส่วนนี้ และหลังจากนั้นตั้งใจจะนำวิชาความรู้มาสานต่อในการทำห้องสมุด”

          คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ทบทวนกำลังจะก้าวเดินไป ซึ่งอาจมีช่วงที่ต้องหยุดพักเพื่อเก็บเกี่ยวความรู้สำหรับนำมาพัฒนาตนเองและพื้นที่ เหมือนเช่นที่เวย์กล่าวว่า “เวย์รู้สึกว่าถ้าไม่ได้วางทบทวนให้เป็นเพียงแค่ห้องสมุด แล้วมันจะสามารถต่อยอดไปได้หลายอย่าง เป็นพื้นที่เล็กๆ ให้กับคนในนครศรีธรรมราชหรือใครจากที่ไหนก็ได้มารวมตัวกัน ณ ตอนนี้เรากำลังลุกขึ้นมาสร้างวิธีคิดและประสบการณ์ใหม่ๆ ให้กับผู้คนในพื้นที่ ซึ่งมันเป็นเรื่องที่ต้องค่อยๆ ทำ ค่อยเป็นค่อยไป จะรีบร้อนไม่ได้ ในขณะเดียวกันเราเองก็ต้องคอยพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ” ดังนั้นสมาชิกและผู้ที่ติดตามทุกคนคงต้องมาเอาใจช่วยเวย์สร้างทบทวนให้แข็งแกร่ง เพื่อเติมเต็มอีกหนึ่งพื้นที่การเรียนรู้ที่มีคุณภาพให้กับผู้คนในนครศรีธรรมราชต่อไป

“ทบทวน” ห้องสมุดในหมู่บ้านแห่งเมืองนครศรีธรรมราช
เวย์-พิชญา เพ็งจันทร์
Photo: Tobtuan Library ห้องสมุดทบทวน

“ทบทวน” ห้องสมุดในหมู่บ้านแห่งเมืองนครศรีธรรมราช


ที่มา

Cover Photo: Tobtuan Library ห้องสมุดทบทวน

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก