ห้องสมุดสิงคโปร์และญี่ปุ่น ปรับเปลี่ยนแนวทางและริเริ่มบริการใหม่ โดยคำนึงถึงความต้องการของผู้ใช้เป็นศูนย์กลาง จนสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นได้อย่างน่าทึ่ง
ประเทศสิงคโปร์ กำหนดนโยบายที่จะเพิ่มศักยภาพให้ห้องสมุดเป็นแหล่งเรียนรู้รองรับความต้องการเรียนรู้ที่แตกต่างกันของคนทุกช่วงวัย ตั้งแต่กลุ่มเด็กที่ต้องเรียนรู้ด้วยการเล่น จนถึงผู้สูงอายุที่จำเป็นต้องได้รับการเสริมสร้างทักษะทางด้านเทคโนโลยี ทำให้ห้องสมุดสิงคโปร์เปลี่ยนโฉมกลายเป็นพื้นที่เพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต
ประเทศญี่ปุ่น เปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการห้องสมุดของภาครัฐ พัฒนาโมเดลห้องสมุดรูปแบบใหม่ที่นำเอาจุดแข็งของร้านหนังสือกับห้องสมุดมาผนวกเข้าไว้ด้วยกัน และเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมให้สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้ใช้ เช่น ให้บริการยืมแท็บเล็ตสำหรับการอ่านอีบุ๊กเท่านั้น โดยมีบริการ Wi-Fi ฟรี ขณะเดียวกันกลับเพิ่มจำนวนหนังสือเป็นสองเท่าของห้องสมุดทั่วไป สวนทางความเชื่อเรื่องพฤติกรรมการอ่านหนังสือกระดาษ
ห้องสมุดควรทำอย่างไรเพื่อให้บริการได้โดนใจ จึงไม่มีรูปแบบตายตัว หากพิจารณาให้ลึกถึงจุดเริ่มต้นแห่งการเปลี่ยนแปลง จะพบว่าล้วนขึ้นอยู่กับการวิเคราะห์และทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงความต้องการ และสอดคล้องกับวิถีการเรียนรู้ที่แตกต่างกันไปของผู้เข้ามาใช้งาน
ชม… TK Spark EP.4 “ห้องสมุดสิงคโปร์และญี่ปุ่น ปรับตัวสร้างการเปลี่ยนแปลง” กรณีตัวอย่างการปรับตัวของห้องสมุดจาก 2 ประเทศชั้นนำในเอเชีย เป็นไอเดียให้ห้องสมุดไทยกล้าคิดกล้าเปลี่ยนแปลง และทดลองนำมาปรับใช้ ทั้งในด้านการพัฒนารูปแบบ กลยุทธ์ และการให้บริการใหม่ๆ