วีดิทัศน์ เรื่อง “Knowledge-based City Remaking เมืองการเรียนรู้แห่งอนาคต” บรรยายโดย ดร.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (Urban Design and Development Center – UddC) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บันทึกในโอกาสการประชุม TK Forum 2022 หัวข้อ “Learning City and Lifelong Learning Ecosystem”
ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทำวิจัยว่าด้วยการสร้างเมืองบนฐานความรู้ เพื่อวิเคราะห์โอกาสและข้อจำกัดของประเทศไทยในการขับเคลื่อนสู่การเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ ตามแนวทางของยูเนสโก พื้นที่ศึกษามี 2 แห่ง คือ กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นตัวแทนของเมืองใหญ่ และเทศบาลปากน้ำโพ จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งเป็นตัวแทนของเมืองในภูมิภาค นิยามของเมืองแห่งการเรียนรู้ที่สามารถเข้าใจและสื่อสารง่ายๆ คือ เมืองที่ผู้คนสามารถหาคำตอบในสิ่งที่อยากรู้ได้ด้วยตัวเอง โดยเมืองมีบทบาทสนับสนุนการจัดหาสาธารณูปการด้านการเรียนรู้
เมื่อวิเคราะห์เมืองในต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จในการขับเคลื่อนเมืองด้วยเศรษฐกิจฐานความรู้ เช่น ญี่ปุ่น หรือฝรั่งเศส พบว่า เมืองเหล่านั้นมักมีวัฒนธรรมการเรียนรู้และวัฒนธรรมการอ่านที่เข้มแข็ง มีอำนาจในการจัดการเมืองของตน มีโครงสร้างการบริหารจัดการที่กระจายอำนาจให้ท้องถิ่น มีประชาสังคมเข้มแข็ง และผู้คนสามารถเข้าถึงแหล่งความรู้ได้ง่าย
ความท้าทายหรืออุปสรรคที่สำคัญในการประยุกต์แนวคิดเรื่องเมืองแห่งการเรียนรู้ของยูเนสโกมาใช้ในประเทศไทย คือโครงสร้างการบริหารจัดการเมืองที่รวมศูนย์และแยกส่วน การตัดสินใจเชิงนโยบายสำคัญมักมาจากระดับที่สูงกว่าระดับเมือง ผลคือเกิดการกระจุกตัวของแหล่งเรียนรู้อยู่ในบางพื้นที่ นอกจากนี้ การพัฒนาเมืองส่วนใหญ่มักยึดการดำเนินงานตามพันธกิจ ซึ่งอาจไม่ได้สอดคล้องกับเรื่องการเรียนรู้ รวมทั้ง ขาดแพลตฟอร์มในการเก็บและกลั่นความรู้ในระดับย่าน
ดร.นิรมล เสรีสกุล ได้กล่าวถึงข้อเสนอเชิงยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนเมืองแห่งการเรียนรู้ ไว้ 3 ประการ คือ การสร้างเครือข่ายความรู้ทั้งในระดับย่านและระหว่างองค์กร การสร้างแพลตฟอร์มความรู้ให้เกิดกับย่าน เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และการเสริมพลังคนในชุมชนให้สามารถจัดการและนำความรู้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์