ดร.ชัยยศ อิ่มสุวรรณ์ อดีตรองเลขาธิการสภาการศึกษาและอดีตรองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวเปิดงาน Solution Lab รวมหัวคิดผลิตนโยบายการเรียนรู้ตลอดชีวิต จัดโดยทีเคพาร์ค เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2563 ท้าทายวิธีคิดและการจัดการศึกษาที่มีมานานนับร้อยๆ ปี ไม่ว่าจะเป็นบทบาทของโรงเรียนและสถานศึกษาแบบดั้งเดิม หลักสูตรการศึกษาที่ไม่สัมพันธ์กับอาชีพการงานแห่งอนาคต การจัดการเรียนการสอนกับคุณภาพครู ไปจนถึงกระบวนการเรียนรู้และการแสวงหาความรู้
เขาบอกว่าการจัดการศึกษาเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิตต้องคำนึงถึงหลายปัจจัย อาทิ ผู้เรียนที่มีฉันทะในการเรียนรู้ ระบบนิเวศการเรียนรู้ ความพร้อมของผู้สอน และการจัดการศึกษาที่เอื้อหรือสอดคล้องกับความสนใจของคนแต่ละคน โดยผู้เรียนสามารถตอบตัวเองได้ว่าตนเองมีความถนัด สนใจ หรือต้องการเรียนรู้อะไรและอย่างไร
ในความเห็นของเขา ปัจจัยประการหลังนี่เองที่มีความท้าทายอย่างยิ่ง เพราะในยุคที่เทคโนโลยีมีบทบาทอย่างสูง จนทำให้รูปแบบวิธีการแสวงหาความรู้และพฤติกรรมการเรียนรู้เปลี่ยนแปลงไป การเรียนรู้ที่ผู้เรียนเป็นผู้กำหนดเอง (Self-determined Learning) หรือที่เรียกกันว่า Heutagogy กำลังทวีความสำคัญมากขึ้น
แต่…เราจะจัดการศึกษาอย่างไรเพื่อให้ผู้เรียนค้นพบความต้องการที่จะเรียนรู้และสามารถออกแบบวิธีการเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง?
คำตอบนี้ไม่อาจเกิดขึ้นได้โดยกระทรวงศึกษาธิการเพียงลำพัง แต่ต้องเกิดขึ้นจากการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางของสังคมในการร่วมคิดและออกแบบ