เป้าหมายสำคัญที่สุดของครูหรือนักการศึกษาก็คือ จะทำอย่างไรให้เด็กเติบโตไปแล้วประสบความสำเร็จในชีวิต แต่คนส่วนใหญ่มักมองความสำเร็จอย่างแคบๆ เช่น การให้เด็กได้เรียนโรงเรียนดีๆ ได้คะแนนสอบสูงๆ หรือสามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยชื่อดัง ทั้งที่จริงๆ แล้วความสำเร็จเกิดขึ้นกับผู้คนมากมายในหลายๆ รูปแบบ แม้บางคนจะไม่ได้เรียบจบปริญญาเสียด้วยซ้ำ
กุญแจที่จะนำไปสู่ความสำเร็จในยุคดิจิทัลไม่ใช่เพียง “ความรู้” แต่คือ “ทักษะ” หรือเรียกว่าทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ซึ่งเริ่มเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในหมู่นักการศึกษา อันประกอบด้วย ทักษะการสื่อสาร ทักษะความร่วมมือ ทักษะด้านเทคโนโลยี ทักษะการคิดสร้างสรรค์ ทักษะการคิดสร้างสรรค์ ทักษะการคิดเป็นเหตุเป็นผล ทักษะชีวิต เป็นต้น และอีกส่วนที่ขาดไม่ได้เลยก็คือ “เจตคติ” เพราะหากการศึกษาไม่สามารถปลูกฝังให้คนมีศีลธรรมก็ไม่มีวันที่จะเป็นคนที่สมบูรณ์
การเรียนการสอนในอนาคตจะต้องเปลี่ยนแปลงจากที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน จากสอนให้จำเปลี่ยนเป็นสอนให้คิด จากการให้ความรู้ที่จำกัดเปลี่ยนเป็นสนับสนุนให้ค้นคว้าความรู้ที่กว้างขวางบนโลกอินเทอร์เน็ต จากการสอนโดยยัดเยียดเปลี่ยนเป็นการสอนตามความสนใจของผู้เรียน มาตรฐานการศึกษาที่กำลังใช้อยู่ในปัจจุบันก็ต้องเปลี่ยนด้วยเช่นกัน เพราะวิธีคิดแบบมาตรฐานอุตสาหกรรมจะทำให้สูญเสียอัจฉริยภาพอันหลากหลายที่แฝงอยู่ในเด็กทุกคน
การเปลี่ยนแปลงที่เราคาดหวังจะให้เกิดขึ้นในอนาคตอาจไม่ได้เริ่มต้นมาจากภาครัฐ แต่เป็นภาระของคนทุกคนที่จะต้องลุกขึ้นมาช่วยกันเปลี่ยน ครูจะต้องเปลี่ยนการสอน ผู้ปกครองจะต้องเปลี่ยนแนวคิด ผู้บริหารจะต้องเปลี่ยนแปลงวิธีการ และผู้เรียนก็จะต้องเปลี่ยนเป้าหมายของตัวเอง
การบรรยายเรื่อง ทักษะจำเป็นของเด็กไทยยุคดิจิทัล คืออะไร? สร้างได้อย่างไร ? โดย ดร.วิริยะ ฤาชัยพาณิชย์ บันทึกในโอกาสการประชุมวิชาการประจำปี 2557 (TK Forum 2014) ของสำนักงานอุทยานการเรียนรู้