เมื่อกล่าวถึงประเด็นเกี่ยวกับการอ่าน หลายประเทศมักให้ความสำคัญกับปริมาณการอ่าน เช่นเด็กยังมีหนังสือไม่เพียงพอ แต่มักไม่ได้มองเรื่องความเข้าใจที่เด็กจะได้รับจากการอ่านเท่าใดนัก แท้ที่จริงแล้วการอ่าน ไม่ใช่เพียงการอ่านออก แต่เป็นกระบวนการที่ซับซ้อนรวมไปถึงระดับความสามารถในการคิด การวิเคราะห์ และการตีความ ดังนั้นเป้าหมายสูงสุดของการอ่านก็คือ การเข้าใจในความหมายของสิ่งที่อ่าน
ดร.ธีร์ จินกราน ผู้ประสานงานด้านสิทธิการศึกษา ภายใต้คณะกรรมการแห่งชาติด้านการพิทักษ์สิทธิเด็ก ประเทศอินเดีย เน้นย้ำถึงความสำคัญของการอ่านออก ว่ามีความสัมพันธ์ไปในทางเดียวกันกับความเข้าใจในสิ่งที่อ่าน และยิ่งเด็กโตขึ้น เด็กที่อ่านออกอ่านคล่องก็จะยิ่งเข้าใจสิ่งที่อ่านมากยิ่งขึ้น ในขณะที่เด็กที่อ่านหนังสือได้ไม่แตกฉาน เมื่อโตขึ้นก็จะยิ่งเข้าใจในสิ่งที่อ่านได้น้อยกว่าเด็กที่อ่านคล่องมากขึ้นไปเรื่อยๆ นี่คือเหตุผลว่าทำไมจึงควรจะปลูกฝังเรื่องการอ่านที่มีคุณภาพตั้งแต่วัยเด็ก
การบรรยายพิเศษ คุณภาพการศึกษาที่เท่าเทียม: บทบาทสำคัญของการพัฒนาทักษะและนิสัยการอ่านในช่วงวัยประถมศึกษา โดย ดร.ธีร์ จินกราน ผู้ประสานงานด้านสิทธิการศึกษา ภายใต้คณะกรรมการแห่งชาติด้านการพิทักษ์สิทธิเด็ก ประเทศอินเดีย บันทึกในโอกาสการประชุมวิชาการประจำปี 2556 (Thailand Conference on Reading 2013) ของสถาบันอุทยานการเรียนรู้