วีดิทัศน์ How Library Can Promote the Quality of Education: The Experiences from Finland บรรยายโดย แอนนา คอร์ปิ (Anna Korpi) ที่ปรึกษาด้านการศึกษาและวิทยาศาสตร์ ประจำสถานทูตฟินแลนด์ในสิงคโปร์ บันทึกในโอกาสการประชุม TK Forum 2020 หัวข้อ Finland Library and Education in the Age of Disruption
ประเทศฟินแลนด์ เคยเป็นประเทศที่ยากจนที่สุดในยุโรป สามารถแก้ไขความยากจนได้โดยการพัฒนาคุณภาพมนุษย์ด้วยการศึกษา กลายมาเป็นประเทศที่มีระบบการศึกษาดีและประชาชนมีความสุขที่สุดในโลก มีประชากรเพียง 5.5 ล้านคน แต่สถิติการยืมหนังสือสูงถึงปีละกว่า 85 ล้านเล่ม คิดเป็นการยืมหนังสือเฉลี่ยปีละ 15 เล่มต่อคนต่อปี งบประมาณการลงทุนด้านห้องสมุดประชาชน (Public Library) เฉพาะของกระทรวงการศึกษาและวัฒนธรรมปีละ 320 ล้านยูโร คิดเป็นงบประมาณเฉลี่ยรายหัวประมาณ 58 ยูโรต่อคนต่อปี โดยมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบการบริหารจัดการและสมทบงบประมาณเพิ่มเติมเข้ามาอีกจำนวนหนึ่ง
ห้องสมุดประชาชนในฟินแลนด์มีจำนวน 720 แห่ง มีรถห้องสมุดเคลื่อนที่ (Book Bus) อีก 135 คัน วิ่งไปตามเมืองต่างๆ 295 แห่งทั่วประเทศ หนังสือเด็กในห้องสมุดมีสัดส่วนประมาณ 32% ของหนังสือทั้งหมด และถูกยืมออกมากถึง 46% ของปริมาณหนังสือรวมที่มีการยืม กิจกรรมต่างๆ ที่จัดขึ้นในห้องสมุดที่ไม่เกี่ยวกับการอ่านและการยืมคืนหนังสือ มีคนเข้าร่วมมากถึง 950,000 คนต่อปี
กฎหมายห้องสมุดประชาชนปี 2016 (Public Library Act 2016) ทำให้ห้องสมุดประชาชนคือหัวใจสำคัญของการศึกษาในประเทศฟินแลนด์ บรรณารักษ์จะทำงานร่วมกับครูและโรงเรียนใกล้เคียงอย่างใกล้ชิด ดังนั้นโรงเรียนจึงไม่จำเป็นต้องมีห้องสมุดของตัวเอง นอกจากบทบาทการทำงานร่วมกับโรงเรียนแล้ว กฎหมายห้องสมุดประชาชนยังเน้นเรื่องของการเข้าถึง (accessibility) ของคนทุกคนโดยไม่มีการแบ่งแยกกีดกัน การสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่านและการเรียนรู้ตลอดชีวิต ตลอดจนทักษะจำเป็นที่หลากหลาย และการสร้างความเป็นพลเมืองที่แข็งขันเอาการเอางาน (active citizenship)