การคิดนอกกรอบนั้นพูดง่ายแต่ทำยาก จึงต้องหมั่นฝึกฝน คนที่คิดนอกกรอบนั้นมิใช่พวกจินตนาการเพ้อฝัน แต่เป็นคนที่สามารถใช้ความคิดเชิงตรรกะเหตุผลกับความเข้าใจเรื่องอารมณ์ความรู้สึกได้อย่างสมดุลหรือไม่ให้น้ำหนักเอียงไปทางด้านใดด้านหนึ่งมากจนเกินไป
จุดมุ่งหมายของการคิดนอกกรอบคือการแสวงหาวิธีการหรือผลลัพธ์ที่เป็นไปได้ใหม่ๆ เพื่อพัฒนาหรือปรับปรุงแก้ไขสิ่งเดิมให้ดีขึ้น มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นหรือมีคุณภาพสูงขึ้น สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าหรือกลุ่มเป้าหมาย ตอบโจทย์องค์กรและสังคม
มีงานเขียนและการบรรยายต่างกรรมต่างวาระที่เอ่ยถึงวิธีการคิดนอกกรอบ ซึ่งอาจสรุปแบบกระชับได้โดยย่อได้ดังนี้
1. กล้าแตกต่าง ไม่กลัวล้มเหลว มองเห็นการเปลี่ยนแปลงและแนวโน้มในอนาคตคือโอกาส ไม่ใช่ปัญหา คิดบวกและสนุกกับการแสวงหาความเป็นไปได้จากความท้าทายใหม่ๆ
2. ฝึกคิดสร้างสรรค์ การคิดสร้างสรรค์และการคิดนอกกรอบเกือบจะเป็นสองด้านของเหรียญเดียวกัน หากไม่มีความคิดสร้างสรรค์ การคิดนอกกรอบก็เกิดขึ้นได้ยาก ความคิดสร้างสรรค์เป็นกระบวนการคิดที่ฝึกฝนได้ หาใช่พรสวรรค์ ดังภาพข้างล่าง
3. รู้กว้างและรู้ลึก ฝึกการคิดแบบรอบด้านมองหลายมุม ไม่ยึดติดการคิดเพียงด้านเดียว ฝึกฝนการตั้งคำถามและหาคำตอบ ไม่เดินย่ำซ้ำรอยความสำเร็จเดิม ด้วยความเชื่อว่าโครงการหรือการพัฒนาใดๆ ย่อมมีช่องว่างที่สามารถทำให้ดีขึ้นกว่าเดิมได้เสมอ
“อย่าหยุดหาความรู้ เพราะโลกเปลี่ยนเร็ว เราต้องหาความรู้ให้ทันสมัยอยู่เสมอ ต้องเป็นคนอยากรู้อยากเห็น อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ต้องมีความรู้เป็นรูปตัว T คือรู้สึกในบางเรื่อง และรู้กว้างในหลายๆ เรื่องซึ่งจะช่วยให้เราตัดสินใจและเห็นภาพรวมได้ดีขึ้น”
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์
4. รู้เท่าทันเทคโนโลยี ให้เทคโนโลยีสนับสนุนประสิทธิภาพการทำงานและพัฒนาคุณภาพคน ฉะนั้นจึงต้องรู้จักคนและเข้าใจงานที่ทำก่อนจึงค่อยเลือกเทคโนโลยี อย่าเลือกใช้เทคโนโลยีใหม่ล่าสุดเพียงเพราะกลัวไม่ทันสมัย ซึ่งนั่นไม่ใช่การรู้เท่าทัน แต่เป็นความทันโลกแค่เปลือก ขณะที่แก่นหรือเนื้อในกลวงเปล่า การรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีนอกจากช่วยให้ไม่ตกเป็นทาสของเทคโนโลยีแล้ว ยังเป็นเชื้อไฟที่ดีของการคิดนอกกรอบ
5. เปิดกว้างและถ่อมตนอยู่เสมอ พูดคุยรับฟังและขอคำปรึกษาจากผู้อื่นบ้าง สนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้รู้อย่างสม่ำเสมอเพื่อพัฒนามุมมองและลับความคิดให้แหลมคม ต้องระวังที่จะไม่ตกหลุมพรางของความฉลาด ผูกขาดความถูกต้องเพราะเชื่อมั่นในความรู้และประสบการณ์ของตนเองมากเกินไป กลายเป็นคนที่เหมือนน้ำล้นแก้ว ดูถูกหมิ่นแคลนผู้อื่นว่ามีประสบการณ์น้อยและมือไม่ถึง จึงไม่ค่อยยอมรับความคิดที่แตกต่างหรือแปลกใหม่ ปัญหาจึงสั่งสมและผิดพลาดซ้ำซาก เพราะไม่สามารถคิดนอกกรอบเพื่อหาทางออกด้วยวิธีการใหม่
“เราแก้ปัญหาด้วยวิธีคิดแบบเดียวกับ ที่เราใช้ตอนสร้างปัญหาไม่ได้” We cannot solve our problems with the same thinking we used when we create them
Albert Einstein
อุปสรรคของการคิดนอกกรอบในไทยคือโครงสร้างทางสังคมและวัฒนธรรม อันได้แก่ระบบอุปถัมภ์และสังคมแบบอำนาจนิยม ตลอดจนสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ในระบบการศึกษาไทย ทั้งหมดนี้หล่อหลอมให้ผู้คนต้องอยู่ในกฎเกณฑ์และระเบียบกติกาโดยไม่เคยตั้งคำถาม ส่งผลให้วิธีคิดวิธีปฏิบัติเป็นไปในลักษณะที่เหมือนๆ กัน ในขณะที่นวัตกรรมเปลี่ยนโลกนั้นเกิดขึ้นมาจากการคิดนอกกรอบ ซึ่งมีตัวอย่างให้เห็นจากนักคิดสร้างสรรค์ทั่วโลก
คำถามข้อใหญ่จึงย้อนกลับมาที่สังคมของเราเองว่าจะยังคงผลิตคนที่คิดเชื่องๆ ชื่นชมคนดีในระบบมากกว่าคนแหกคอกนอกระบบ หรือจะช่วยกันสร้างคนรุ่นใหม่ที่คิดต่างอย่างมีเหตุผล คนที่คิดสร้างสรรค์นอกกรอบ คนที่คิดเชิงวิพากษ์รู้จักตั้งคำถามและกล้าโต้แย้ง
การคาดหวังให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ต้องคิดและทำเฉกเช่นเดียวกับคนรุ่นก่อน โดยมีความรุ่งโรจน์ของอดีตเป็นภาพอุดมคตินั้นเป็นสิ่งที่ฝืนต่อการเปลี่ยนแปลง และไม่มีวันได้ผลด้วยการใช้อำนาจบีบบังคับให้คล้อยตาม
สังคมที่มีการใช้อำนาจมาก เสรีภาพย่อมมีจำกัด การคิดนอกกรอบก็เกิดขึ้นได้ยาก เสรีภาพที่มีความรับผิดชอบจึงเป็นปัจจัยส่งเสริมให้เกิดการคิดนอกกรอบอย่างสร้างสรรค์
โลกรอบตัวเรานั้นเปลี่ยนแปลงเร็วและแรง อย่างไรเสียไม่ว่าจะเป็นคนรุ่นใดก็ต้องปรับตัวให้หลุดออกจากความเคยชินแบบเดิมๆ ด้วยการยอมรับความเปลี่ยนแปลง แต่ไม่ใช่ด้วยการเปลี่ยนสี ไร้หลักการขาดจุดยืน
ที่สำคัญ ไม่ใช่เพียงแค่คิด แต่ต้องลงมือทำด้วย