คำตอบที่สำเร็จรูปเกินไปใน The Why Café

2,738 views
3 mins
August 20, 2021

          คำถามของนักปรัชญากรีกก่อนยุคโสเกรตีส มุ่งไปที่การเสาะแสวงความเป็นจริงที่ดำรงอยู่ว่าอะไรคือสสารพื้นฐานของทุกสรรพสิ่ง ขณะที่โสเกรตีสคือนักปรัชญาคนแรกที่สนใจคำถามอันเกี่ยวพันกับชีวิต เช่น ความยุติธรรม สังคมที่เอื้อต่อการมีชีวิต ชีวิตที่ดี จนมีคำกล่าวอมตะของเขาที่ว่า “ชีวิตที่ไร้การตรวจสอบไม่คู่ควรที่จะมีชีวิต” (An unexamined life is not worth living)

          ดังนั้น การตั้งคำถามต่อชีวิตว่า เหตุใดคุณจึงมาที่นี่? คุณกลัวตายไหม? คุณพึงพอใจกับชีวิตหรือยัง? จึงเป็นคำถามที่ดีและเหมาะกับการตรวจสอบชีวิตที่ดำเนินผ่านห้วงเวลา ไม่ว่าจะสั้นหรือยาว

          The Why Café ของ จอห์น สเตรเลกกี (John Strelecky) ในชื่อภาษาไทยว่า ‘คาเฟ่สำหรับคนหลงทาง’ ตั้งคำถาม 3 ข้อข้างต้นในรูปแบบนวนิยาย (แฟนซีนิดๆ) ผ่านการขับรถไปพักร้อนของชายที่ชื่อว่า จอห์น ผู้มีฐานะการงาน การเงินค่อนข้างดี

          ผมอยากแบ่งการเล่าถึงหนังสือเล่มนี้เป็น 2 ส่วน คือส่วนที่ว่าด้วยสาระใจความ กับส่วนที่เป็นการเล่าเรื่องและคำนิยมมากมายที่ถูกหยิบยกมาอยู่ในหนังสือ

          จอห์นกำลังจะไปพักร้อน แต่ระหว่างทางกลับต้องเจอรถติดหนัก เขาตัดสินใจเลี้ยวรถกลับเพื่อหาเส้นทางอื่นแทน โชคไม่ดี เขาหลงทางอยู่บนถนนที่ร้างไร้ผู้คนและบ้านเรือน มีแต่ผืนดินโล่งๆ ไกลสุดลูกหูลูกตากับเสาไฟเรียงรายตามถนน น้ำมันรถร่อยหรอลงทุกทีสวนทางกับระยะทางที่เพิ่มขึ้นอย่างว่างเปล่า

          แล้วอยู่ดีๆ ก็ปรากฏร้านกาแฟแห่งหนึ่ง เขาจึงตัดสินใจแวะเพื่อพัก ทานอาหาร และถามทาง ร้านกาแฟแห่งนี้ชื่อว่า The Why Are You Here Café แต่ถูกเรียกสั้นๆ ว่า The Why Café บนเมนูของร้านกาแฟ นอกจากรายการอาหารแล้ว ปรากฏว่ามีคำถาม 3 ข้อนี้ปรากฏอยู่ด้วย ทำให้จอห์นทั้งรู้สึกแปลกใจและสนใจในเวลาเดียวกัน มันพัฒนาไปสู่บทสนทนากับทั้งเจ้าของร้านและลูกค้าคนอื่นในร้าน

          บทสนทนาส่วนใหญ่มุ่งตอบคำถามแรก เพราะถ้าค้นพบคำตอบ มันจะปูทางสู่คำตอบของคำถามที่ 2 และ 3 ได้ง่าย

          ‘เหตุใดคุณจึงมาที่นี่?’ พูดให้ง่ายมันก็คือการถามว่า ‘ฉันเกิดมาเพื่ออะไร’ หรือ ‘เหตุผลของการมีชีวิตอยู่’ นั่นเอง

          คู่สนทนาของจอห์นผลัดกันเล่าเรื่องของตนที่ดูจะเป็นแนวเดียวกันหมด คือชีวิตในอดีตที่หมกมุ่นกับการทำงาน กับการไขว่คว้าความสำเร็จหรือบางสิ่งบางอย่างที่ไม่รู้แน่ว่าคืออะไร ก่อนจะค่อยๆ คลี่คลายในภายหลังและเป็นบทเรียนให้กับจอห์นผู้หลงทางมาเนิ่นนาน เมื่อดวงตะวันปรากฏบนท้องฟ้า จอห์นก็พร้อมเดินทางต่อบนวิถีทางใหม่

          ในกระแสแห่งปัจจุบันที่ความสำเร็จมักมีเพียงรูปแบบเดียว ต่างต้องกระเสือกระสนไขว่คว้าเอาเป็นเอาตาย การตั้งคำถามตรวจสอบชีวิตนับเป็นสิ่งล้ำค่า มันคือการหาเหตุผลของตัวเราในการมีชีวิตอยู่ ไม่ใช่มีชีวิตอยู่ด้วยเหตุผลที่ถูกยัดเยียดให้

          ส่วนที่ 2 ที่ผมอยากเล่าให้ฟังมีอยู่ว่า อย่างน้อยในมุมมองผม วิธีการเล่าเรื่องของ The Why Café ไม่ชวนให้พินิจพิจารณาคำถามและคำตอบสักเท่าไหร่ ไม่มีมวลอากาศเชื้อชวนให้นั่งเงียบๆ ใคร่ควรญตรวจสอบชีวิต ทุกอย่างดูจะทื่อตรงไปหมด การขับรถหลงทาง การว่ายน้ำตามเต่าทะเล ชีวิตของแอนน์ เป็นเรื่องเล่าดาษดื่นที่พบเห็นได้ทั่วไป ประหนึ่งผู้เขียนต้องการหยิบยื่นคำตอบให้เสร็จสรรพมากกว่าให้ผู้อ่านพยายามตอบด้วยตัวเอง

          ผู้เขียนยังนำเรื่องเล่าคลาสสิกเกี่ยวกับชาวประมงนั่งตกปลากับบัณฑิตหนุ่มสาขาบริหารธุรกิจมาประกอบ ซึ่งมักไม่มีใครรู้ว่าต้นเรื่องมาจากไหน

          ตรงนี้เลยขอเล่าเป็นเกร็ดว่า มันมาจากจากเรื่องสั้นชื่อ ‘เรื่องเล่าเพื่อลดอุดมการณ์การทำงาน’ ของไฮนริช เบิล (Heinrich Theodor Böll) นักเขียนรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมปี 1972 ชาวเยอรมัน ซึ่งถูกแปลเป็นภาษาไทยอยู่ในรวมเรื่องสั้น ‘พลเรือนเหมือนกัน’

          ผมเดาว่านี่อาจเป็นเพราะผู้เขียนประกอบอาชีพเป็นไลฟ์โค้ช เป็นวิทยากรผู้สร้างแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิต มันจึงสะท้อนออกมาผ่านการนำเสนอใน The Why Café

          อย่างไรก็ตาม The Why Café ได้รับการตีพิมพ์แล้วกว่า 41 ภาษา ได้รับคำชื่นชมล้นหลามจากสื่อต่างๆ ซึ่งทางสำนักพิมพ์นำมาบรรจุไว้ภายในเล่มด้วย หนึ่งในนั้นมีคำนิยมหนึ่งของ RBA Libros ของสเปน ระบุว่า “นี่คือหนังสือ The Alchemist แห่งศตวรรษที่ 21” กล่าวคือมันเทียบเท่ากับ ‘ขุมทรัพย์ที่ปลายฝัน’ ของเปาโล โคเอลโญ (Paulo Coelho)

          ผมเคยอ่านขุมทรัพย์ที่ปลายฝันและชื่นชอบ แต่ผมก็ไม่ใช่แฟนตัวยงของโคเอลโญ ถึงกระนั้น The Why Café ยังไปไม่ถึงจุดที่เรียกได้ว่า The Alchemist แห่งศตวรรษที่ 21 ออกจะทะเยอทะยานเกินตัวด้วยซ้ำ

          ถ้าคุณกำลังรู้สึกหลงทาง The Why Café เหมาะกับการเป็นที่พักพิงชั่วคราว ผ่อนคันเร่ง แวะจิบกาแฟ แต่ไม่ควรคาดหวังคำตอบสำเร็จรูปที่ช่วยให้คุณเจอเหตุผลของการมีชีวิตอยู่

          เพราะเมื่อไหร่ที่คำถามนี้มีคำตอบสำเร็จรูปแล้วล่ะก็ มีความเป็นไปได้สูงว่ามันอาจเป็นคำตอบที่ผิด

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก