“On Failure” วิชาความผิดพลาดจาก ‘โรงเรียนแห่งชีวิต’

496 views
5 mins
March 7, 2023

          ถ้าไม่เลือกหนังสือจากปก

          แล้วคุณเลือกหนังสือจากอะไร?

          “I know, I know…

          เข้าใจ เข้าใจ…) 

          บางครั้ง หลายครั้ง อาจเป็นคำไม่กี่คำที่เราพลิกไปเจอ คำที่อาลัน เดอ บัททัน (Alain de Botton) นักเขียน นักปรัชญา ชาวอังกฤษ-สวิส ผู้ก่อตั้ง The School of Life สถาบันการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่มุ่งมั่นพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Intelligence) ผ่านการอบรม การบำบัด การเล่าเรื่องรูปแบบต่างๆ รวมทั้งหนังสือเนื้อหาว่าด้วยอารมณ์สากลที่มนุษย์ล้วนเผชิญ ทั้งความรัก ความสุข และความล้มเหลวอย่างเล่มนี้

          เดอ บัททัน เคยเขียนไว้ในหนังสือ How Proust Can Change Your Life ว่าหนังสือและความสัมพันธ์คล้ายกันอยู่อย่างตรงที่บางครั้งเวลาใครคนหนึ่ง หรือหนังสือเล่มใดเล่มหนึ่งพูดได้ตรงใจเรา ราวกับว่าเขาอ่านใจเราได้ นั่นหาใช่เพราะความวิเศษ เก่งกาจแต่อย่างใด หากเพราะข้อความนั้นเป็นสิ่งที่เราอยากได้ยิน เป็นความรู้สึกขมุกขมัวในใจที่เราไม่สามารถหาถ้อยคำเอ่ยมันออกมา

          หนังสือเล่มนี้ทำหน้าที่เช่นนั้น หนังสือเล่มหนาปรากฏเพียงสัน ซ่อนตัวไว้มิดชิดในซอกชั้น ไม่รู้ว่าเป็นความบังเอิญ หรือเป็นความตั้งใจอันน่าขัน ก็หนังสือชื่อสั้นๆ ว่าด้วยความล้มเหลว ‘On Failure’ จะดึงดูดใครกันในช่วงเริ่มต้นปีใหม่ที่ใครต่อใครต่างใฝ่ฝันถึงความสุขสมหวังดั่งใจ

          “เมื่อพิจารณาว่ามีความทุกข์และความโศกมากเพียงใด ช่างน่าแปลกใจที่มีหนังสือเพียงไม่กี่เล่มถูกเขียนเพื่อปลอบประโลมเราให้หลุดพ้นจากขุมนรกได้” 

          เงยหน้าขึ้นมาจากคำนำ และหันไปดูชั้นหนังสือก็พบว่ายืนอยู่ท่ามกลางหนังสือคู่มือช่วยให้ประสบความสำเร็จ หนังสือว่าด้วยความล้มเหลวดูจะเป็นปีศาจร้ายในบรรดาเรื่องเล่าว่าด้วยความสุขสมอารมณ์หมาย แน่นอนว่าใครต่อใครต่างไขว่คว้าหาชีวิตที่สมบูรณ์ หาหนทางให้ทำสิ่งใดก็สำเร็จดังหวัง แต่เคยไหมที่บางครั้งความล้มเหลว ทรงจำถึงฝันที่พังครืนก็ฉุดรั้งเราไว้ ราวกับว่าความรู้สึกผิด ความอับอาย ความเสียดายเรียกร้องให้เรารับรู้ถึงมันก่อน อย่าเพิ่งรีบร้อน ไล่ล่าความฝันใหม่ เพียงเพราะไม่อยากหันไปรับรู้ถึงสิ่งที่ผ่านมาอีกต่อไป

          “แน่นอนว่า ยิ่งเราเข้าใกล้ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจริงมากเท่าไร ยิ่งยากที่ถ้อยคำใดจะมีช่วยแก้ไขอะไรได้ เราจะพูดอะไรได้กับคนที่เพิ่งสูญเสียวิถีชีวิตไป คนที่เพิ่งเห็นคนรักจากไป คนที่กำลังคร่ำครวญกับการพังทลายของวิชาชีพหรือคนที่ไม่อาจเหยียบเท้ากลับไปในเมืองที่คนอยู่ได้อีก?”

          ดังที่เดอ บัททันว่าไว้ หนังสือราวกับจะรู้ทัน ใจหนึ่งก็สบประมาทว่าใครเลยจะเข้าใจความผิดหวังที่เกิดขึ้นได้ การที่หนังสือรีบออกตัวแต่เนิ่นว่าไม่ได้จะแก้ไขสิ่งผิด พลิกฟื้นชีวิตให้กลับมาดีขึ้นได้แต่อย่างใด ยิ่งหนังสือไม่อวดอ้างมากเท่าไร ใจดูจะเปิดกว้าง น้อมรับถ้อยคำเข้ามามากขึ้นเท่านั้น ก็ไม่ใช่หรือที่เรามีกูรู ผู้รู้มากมาย คอยบอกว่าเราควรทำอย่างไรกับชีวิต คิดแบบไหนจะดีต่อตนเอง ต้องปรับพฤติกรรม สร้างกิจวัตรแบบไหนชีวิตถึงจะเปลี่ยนไป

          ใช่ เรารู้ เราได้ยินมามาก แต่บางครั้ง…หลายครั้ง…ในวันเวลาที่เราสบตาตัวเองได้ไม่เท่าไรก็ต้องเบือนหน้าหนี

          ใช่หรือไม่ที่ในช่วงเวลาเช่นนั้น เรายังไม่ต้องการรับรู้ ถูกพร่ำสอนอะไร

          ใช่หรือไม่ที่ในห้วงเวลาแบบนั้นเราเพียงต้องการความเข้าใจ ไม่ต้องถูกกด กด กด ดัน ดัน ดันให้ดีขึ้นเร็วไว้ ขอแค่เวลา และพื้นที่ปลอดภัยให้เราพออยู่กับตัวเองได้ก่อน

          หนังสือเล่มนี้หวังว่าจะเป็นเพื่อนที่อยู่เคียงข้างในโมงยามมืดหม่น และนานๆ ครั้งก็เอ่ยคำบางคำที่ทำให้เรารู้สึกดีขึ้นได้บ้าง หรืออย่างน้อยที่สุดก็ทำให้เรารู้สึกไม่เดียวดาย

          ไม่รู้ว่าเป็นเจตนาของหนังสือหรืออย่างไร แต่เมื่อได้นั่งลงอ่านในช่วงเวลาหมองหม่น ช่วงที่เราหยุดร้องไห้ไม่ได้ ช่วงที่ความหวังเลือนหาย และเราอาจอับอายเกินกว่าจะไขว่คว้าขอความช่วยเหลือใดความล้มเหลวก็เริ่มไม่แปลกหน้าเท่าไร ไม่น่ากลัวอีกต่อไป และก็จริงเช่นที่หนังสือกล่าวไว้ว่าตรงข้ามกับความแปลกหน้า ความล้มเหลวช่างเป็นเพื่อนที่คุ้นเคยกันมา เพียงแค่เมื่อความล้มเหลวถูกผลักให้แปลกแยก ออกห่าง ทุกครั้งที่เพื่อนคุ้นเคยคนนี้ปรากฏตัวขึ้นก็พลันดูประหลาด เกิดคำถามต่างๆ นานา

          ‘ทำไมเรื่องนี้ต้องเกิดขึ้นกับฉัน?ทำไมฉันถูกทิ้งให้อยู่คนเดียว?’

          ทั้งที่เราต่างรู้ว่าไม่จริงเลย ความล้มเหลวไม่ได้เลือกปฏิบัติเลย นี่คือปรากฏการณ์สามัญธรรมดา เราต่างหากที่ปฏิบัติต่อความล้มเหลวราวกับว่ามันคือสิ่งแปลกปลอม ไม่ยอมให้มันปรากฏตัว ไม่ยอมให้ปนเปื้อนเรื่องเล่าชีวิตเรา

“On Failure” วิชาความผิดพลาดจาก ‘โรงเรียนแห่งชีวิต’

          ในเมื่อเลี่ยงไม่ได้ The School of Life จึงทำหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาเพื่อนิยามความล้มเหลวเสียใหม่ว่านี่ไม่ใช่ฉากชีวิตที่ต้องหาทางเลี่ยง หากเป็นฉากสำคัญ เป็นจุดเปลี่ยนของตัวละคร เป็นการพังทลายของตัวตนเดิมๆ เพื่อประกอบสร้างขึ้นใหม่ สิ่งสำคัญจึงไม่ใช่การเลี่ยง หากคือการเรียนรู้จากฉากนี้ให้มากที่สุด ไม่ใช่การหลบตา หากสบตากับสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมา บอกกับตัวเองว่าใช่ ฉันพลาดไป ไม่เป็นไร และจะปฏิบัติตัวต่างไปจากเดิมอย่างไร 

          นอกจากน้ำเสียงคล้ายเพื่อนชวนสนทนา เรื่องเล่าต่างๆ ที่ถูกนำมาบอกเล่า ประเภทความล้มเหลวในรูปแบบต่างๆ ทั้งหน้าที่ความฝัน (Personal)  ความสัมพันธ์ (Interpersonal) การงาน (Occupational) ชื่อเสียง (Societal) หนังสือยังรวบรวมหนทางเยียวยา (เมื่อพร้อม) ที่มีทั้งวิธีการทางศาสนาอย่างการสารภาพบาป (ต่อตนเอง) การถอดถอนจากวาระทางสังคมเพื่อกลับมาสู่เจตนาที่แท้จริงของตน และท้ายที่สุดที่ดูจะไม่ใช่แค่วิธีการรับมือกับความผิดพลาด หากคือพื้นฐานการมีชีวิต นั่นคือการเพาะบ่มความเมตตากรุณา เพราะแม้เราจะได้ยินมานักต่อนักว่าความผิดพลาดเป็นเรื่องปกติ แต่หากจิตใจเราปราศจากความเมตตาแล้ว ความผิดพลาดใดๆ ก็ย่อมใหญ่โต ควรแก่การคาดโทษ

          “เรากลายเป็นคนหวาดกลัวความผิดพลาด เพราะเมื่อเรายังเล็กเกินกว่าจะเข้าใจได้ว่าเกิดอะไรขึ้น เราก็ถูกทำให้เสียขวัญแล้วเมื่อถูกดุด่าว่ากล่าว ใครบางคนบอกว่าเราจะเป็นที่ยอมรับก็ต่อเมื่อเราทำสิ่งยิ่งใหญ่ได้สำเร็จเท่านั้น ไม่มีใครช่วยปลอบขวัญเราเมื่อเราตกใจและเสียใจเมื่อเติบใหญ่ คนพวกนี้อาจไม่ได้ตั้งใจแต่ถึงอย่างไรเราก็เจ็บช้ำอยู่ดี…”

          “กล่าวโดยทั่วไปแล้ว เรากลัวความผิดพลาดเพราะเราไม่ได้รับความรักอย่างเหมาะสม เราไม่ได้ถูกดูแล ปลอบใจ ใส่ใจ ทำให้อุ่นใจ และยอมรับอย่างไร้เงื่อนไข”

          ทว่า หนังสือเล่มนี้ได้ค่อยๆ เผยทางให้เห็น ไม่ใช่ผ่านคำแนะนำ หากผ่านบทสนทนา คล้ายเพื่อนที่นั่งเล่าเรื่องราวอยู่ข้างๆ จนเราค่อยๆ รู้สึกว่าเราไม่ต้องรอให้ใครมาคอยฟังเราสารภาพบาปก็ได้ หากเราสามารถฟังเสียง สบตา ขอโทษ และให้อภัยตัวเองได้ สามารถสื่อสารกับเด็กน้อยในตัวเรา (Inner Child) ได้ว่าเราเห็น เรารับรู้ถึงความเสียใจ ผิดหวัง รับฟังให้ถึงที่สุด แล้วค่อยๆ บอกกับเขาว่า

          “เข้าใจ…ไม่เป็นไร”

          ต่อจากนี้ขอให้วางใจได้ว่าเพียงเป็นเธอก็พอแล้ว เธอไม่ต้องพยายามเพื่อพิสูจน์ใครแล้ว แน่นอนว่าความผิดพลาดย่อมเกิดขึ้นต่อไปเป็นธรรมดาของชีวิต แต่เมื่อไม่มีความคาดหวัง ไม่มีความคาดโทษ เราจะเริ่มมองความผิดพลาดเป็นหนึ่งเหตุการณ์ของชีวิต หาใช่จุดจบของชีวิตไม่

          หนังสือหาได้อวดอ้างว่าความล้มเหลวจะไม่ปรากฏเมื่ออ่านหนังสือเล่มนี้จบ หากความล้มเหลวจะยังคงโผล่มาวนเวียนอยู่ร่ำไป เพียงแค่สายตาของเราที่เปลี่ยนไป จะไม่มองความล้มเหลวว่าโหดร้าย น่ากลัว – เมื่อเราไม่โหดร้าย น่ากลัวต่อตนเอง

          เช่นที่เดอ บัททันว่าไว้ ว่าความงาม ความน่ากลัวหาใช่เป็นสิ่งภายนอกที่เรามองเห็นไม่ (What) หากเรามองโลกอย่างไรเท่านั้นเอง (How)


สามารถสั่งซื้อหนังสือได้ที่ : theschooloflife.com

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก