สิงคโปร์เป็นเกาะแห่งนักอ่านที่มีห้องสมุดที่ดีติดอันดับโลก ประชากรของประเทศมีจำนวน 5.68 ล้านคน ใกล้เคียงกับประชากรในกรุงเทพฯ ห้องสมุดและจุดอ่านหนังสือที่กระจายอยู่ทั่วเกาะมีผู้ใช้บริการกว่า 70,000 คนต่อวัน หรือกว่า 25 ล้านคนต่อปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งห้องสมุดที่ตั้งอยู่ใจกลางห้างสรรพสินค้าและมีเส้นทางคมนาคมสะดวก
ทว่า สิงคโปร์ก็หนีไม่พ้นสถานการณ์เช่นเดียวกับห้องสมุดทั่วโลก นับตั้งแต่ปี 2012 กราฟสถิติผู้ใช้บริการและการยืมทรัพยากรลดต่ำลงอย่างต่อเนื่อง เป็นที่มาของนโยบายพลิกโฉมห้องสมุด 23 แห่ง ให้ยังคงมีเสน่ห์ดึงดูดนักอ่าน และมีศักยภาพในการแข่งขันกับแหล่งสารสนเทศและแหล่งเรียนรู้อื่นๆ ในยุคดิจิทัล
LoTF ห้องสมุดแห่งอนาคต
คณะกรรมการห้องสมุดแห่งชาติของสิงคโปร์ (National Library Board – NLB) ได้กำหนดแผนแม่บทห้องสมุดแห่งอนาคต LoTF (The Libraries of the Future) โดยแบ่งการบูรณะห้องสมุดตามแผนแม่บทออกเป็น 3 เฟส รวมระยะเวลา 15 ปี ตั้งแต่ปีค.ศ. 2015-2030 และวางกรอบแนวทางการสร้างสรรค์นวัตกรรมการให้บริการสำหรับห้องสมุดที่ปรับปรุงใหม่ ดังนี้
Play@Library กิจกรรมการเล่นแบบไม่มีโครงสร้าง (unstructured play) ซึ่งให้อิสระในการคิดและสร้างสรรค์แก่เด็กอายุระหว่าง 0-6 ขวบ เน้นการสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างเด็กและครอบครัว รวมทั้งการเข้าสังคมระหว่างเด็กๆ
Tweens Service กิจกรรมสำหรับกลุ่มผู้ใช้บริการอายุระหว่าง 10-14 ปี เน้นการเรียนรู้เรื่องสะเต็มศึกษา (STEM) มีการจัดทำชุดการเรียนรู้และพาสปอร์ตการเรียนรู้มอบให้วัยรุ่นตอนต้น เพื่อส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ด้วยตนเอง (self-directed learning)
Immersive Storytelling ห้องเล่านิทานเสมือนจริงที่ใช้เทคโนโลยีการฉายภาพ แสง และเสียง ที่จะทำให้เรื่องราวในนิทานโลดแล่นอย่างมีชีวิตชีวา
Digital Learning Zone พื้นที่เรียนรู้สำหรับการเข้าถึงทรัพยากรดิจิทัล เช่น อีบุ๊ก นิตยสารอิเล็กทรอนิกส์ นิทรรศการเสมือนจริง วิดีโอ และเนื้อหาอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ
S.T.A.R การให้คำปรึกษาแบบตัวต่อตัวด้านการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ต่างๆ สำหรับผู้สูงอายุ โดยอาสาสมัครคนรุ่นใหม่ เพื่อสอนทักษะดิจิทัลเช่น การเชื่อมต่อ Wi-Fi การส่งข้อความอิเล็กทรอนิกส์ การใช้แอปพลิเคชันของ NLB ฯลฯ
นับจนถึงต้นปี 2021 มีห้องสมุดที่บูรณะใหม่แล้วเสร็จ 6 แห่ง คือ ห้องสมุดประชาชนเซงคัง (Seng Kang Public Library) ห้องสมุดประชาชนบูกิตปันจัง (Bukit Panjang Public Library) ห้องสมุดภูมิภาคแทมปิเนส (Tampines Regional Library) ห้องสมุดประชาชนเบด็อก (Bedok Public Library) ห้องสมุดประชาชนอี้ชุน (Yishun Public Library) และ library@harbourfront (Bukit Merah Public Library)
ส่วนห้องสมุดประชาชนเชาชูกัง (Choa Chu Kang Public Library) พร้อมเปิดให้บริการช่วงกลางปี และห้องสมุดกลาง (Central Public Library) เพิ่งเริ่มปิดปรับปรุงเมื่อต้นปี 2021 ที่ผ่านมา
ธีมนี้มีที่มา
การวางแผนปรับปรุงห้องสมุดของสิงคโปร์ ให้ความสำคัญกับการพิจารณาถึงมิติทางประวัติศาสตร์และอัตลักษณ์ของชุมชน เพื่อนำไปสู่การออกแบบห้องสมุดแต่ละแห่งให้มีความสวยงามโดดเด่นแตกต่างกันออกไป
ห้องสมุดเซงคัง ถูกออกแบบให้เป็น ‘เมืองแห่งคนเดินเรือ’ มีบรรยากาศที่ชวนให้นึกถึงเกลียวคลื่นและท้องทะเลกว้างใหญ่ แต่เดิมชุมชนละแวกนี้มีอาชีพประมง และเพิ่งกลายเป็นเมืองใหม่เมื่อ สองทศวรรษที่ผ่านมา ทำให้ประชากรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มอายุ 0-14 ปี และ 30-44 ปี (คลิกเพื่อชม VR Tour ห้องสมุดเซงคัง)
ห้องสมุดอี้ชุน ได้รับแรงบันดาลใจจากธรรมชาติและสังคมเกษตรกรรม เพราะบริเวณนั้นเคยเป็นพื้นที่ชนบทมาก่อน วัสดุในการตกแต่งภายในจึงเน้นไม้ที่ให้สัมผัสอบอุ่น ดูเป็นมิตร มุมอ่านหนังสือสำหรับผู้ใหญ่ใช้สีน้ำตาลและเขียวคล้ายต้นไม้ (คลิกเพื่อชม VR Tour ห้องสมุดอี้ชุน)
ห้องสมุดบูกิตปันจัง เนื่องจากเมืองนี้ได้รับการพัฒนาให้เป็นย่านที่อยู่อาศัย และเพิ่งมีรถไฟฟ้าสายใหม่แล่นผ่าน พื้นของห้องสมุดเต็มไปด้วยเส้นสีสดใสคล้ายกับแผนที่รถไฟฟ้า มันทำหน้าที่ช่วยนำทางผู้คนไปสู่ทรัพยากรประเภทต่างๆ ได้อย่างชัดเจน (คลิกเพื่อชม VR Tour ห้องสมุดบูกิตปันจัง)
การเข้าถึงแบบ ‘ไร้ตะเข็บ’
NLB พยายามริเริ่มนวัตกรรมที่ช่วยให้ผู้ใช้บริการสามารถเข้าถึงสารสนเทศและบริการต่างๆ โดยไม่ถูกจำกัดไว้ด้วยเวลาเปิด-ปิดทำการห้องสมุด โดยแอปพลิเคชัน ‘The NLB Mobile’ ซึ่งมีแนวคิดว่า ‘ห้องสมุดในกระเป๋าของคุณ’ เพิ่งได้รับการปรับปรุงเวอร์ชันใหม่ในปี 2021
นอกจากนี้ ยังมีความพยายามในการสร้างพื้นที่กายภาพที่ให้บริการ 24 ชั่วโมง โดยห้องสมุดเซงคัง เป็นต้นแบบทดลองแห่งแรกที่เปิด ‘ล็อบบี้ 24-7’ บริเวณด้านหน้าห้องสมุด ผู้ใช้บริการสามารถคืนหนังสือ ใช้บริการล็อกเกอร์หนังสือจอง ใช้งานเนื้อหาอิเล็กทรอนิกส์บน Video Wall โดยมีการขยายผลไปยังห้องสมุดแห่งอื่นๆ ที่ตั้งอยู่ในห้างด้วย
ห้องสมุดแทมปิเนส มีจุดให้บริการคืนหนังสือด้วยตนเอง โดยมีหุ่นยนต์ทำหน้าที่ลำเลียงหนังสือไปยังห้องคัดแยก เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการและเจ้าหน้าที่ (คลิกเพื่อชม VR Tour ห้องสมุดแทมปิเนส)
ห้องสมุดเชาชูกัง เป็นห้องสมุดแห่งแรกที่เปิดตัวตู้ยืมหนังสืออัตโนมัติซึ่งติดตั้งไว้ในห้างสรรพสินค้า ตู้นี้มีหน้าจอทัชสกรีนสำหรับสืบค้นหนังสือและทรัพยากรอิเล็กทอนิกส์ สามารถบรรจุหนังสือได้ 352 เล่ม และมีช่องสำหรับทรัพยากรที่ถูกจอง 88 ช่อง
ห้องสมุด = พื้นที่แห่งผู้คน
ยิ่งสิงคโปร์พัฒนาเป็นเมืองเศรษฐกิจที่ทันสมัย ห้องสมุดยิ่งให้ความสำคัญกับบทบาทพื้นที่สาธารณะสำหรับชุมชน
ห้องสมุดแทมปิเนส ซึ่งให้บริการครอบคลุมจำนวนประชากรเกือบ 1 ล้านคน มีการริเริ่มโครงการ ‘Town Hub’ เป็นแห่งแรก เพื่อเป็นพื้นที่รวมตัวของผู้คน ทั้งในด้านกีฬา ศิลปะวัฒนธรรม ฯลฯ บริเวณชั้นสองของห้องสมุดมีที่นั่งเรียงรายตามแนวผนังกระจก เพื่อรับชมการแข่งขันฟุตบอล เสมือนห้องสมุดเป็นอัฒจันทร์ฟากหนึ่งของสนาม
เช่นเดียวกับ ห้องสมุดเบด็อก มี ‘Heartbeat@Bedok’ เป็นพื้นที่พบปะสำหรับผู้คนในชุมชน โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ เนื่องจากชุมชนนี้มีสัดส่วนประชากรที่อายุมากกว่า 50 ปีเป็นจำนวนมาก ภายในห้องสมุดมีสวนเขียวขจี ลู่วิ่ง สระว่ายน้ำ ศูนย์กีฬา และเป็นที่ตั้งของ ‘Kampong Chai Chee Community Club’ ซึ่งผู้คนมารวมกลุ่มกันทำกิจกรรมทางวัฒนธรรมและสันทนาการ (คลิกเพื่อชม VR Tour ห้องสมุดเบด็อก)
กรณีการปรับปรุงห้องสมุด library@harbourfront มีโจทย์ที่แปลกแตกต่างกว่าแห่งอื่นๆ เป็นการย้ายทำเลที่ตั้งของห้องสมุดไปหาผู้คน จากการตั้งอยู่อย่างเอกเทศ (standalone) ในย่านบูกิตเมราห์ ไปอยู่ในห้างสรรพสินค้าวีโว่ซิตี้ (Vivocity) ผลปรากฏว่าสัดส่วนผู้ใช้บริการ 7 ใน 10 คน ไม่ใช่ผู้คนที่อาศัยหรือทำงานอยู่ละแวกนั้นแต่อย่างใด ห้องสมุดแห่งนี้ได้สร้างเสน่ห์แบบเฉพาะตัวขึ้นมาเพื่อดึงดูดผู้คนและนักท่องเที่ยว ชั้นบนสุดมีเก้าอี้เอกเขนกสำหรับทอดอารมณ์ชมวิวทะเล และเมื่อตกกลางคืน กิจกรรมด้านศิลปะวัฒนธรรมที่ห้องสมุดรังสรรค์ขึ้นก็ช่วยให้ชายฝั่งเต็มไปด้วยชีวิตชีวา (คลิกเพื่อชม VR Tour ห้องสมุด library@harbourfront)
ห้องสมุด ‘เมืองอกแตก’
การเปลี่ยนแปลงห้องสมุดครั้งใหญ่ของสิงคโปร์มิได้เน้นการสร้างห้องสมุดเพิ่ม แต่เน้นการเพิ่มขนาดพื้นที่ใช้สอยของห้องสมุดที่มีอยู่เดิม โดยฉพาะการปรับโฉมและขยับขยายห้องสมุดที่อยู่ในห้างสรรพสินค้า มักมีข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ต่อขยาย ห้องสมุดบางแห่งมีพื้นที่แยกกันอยู่คนละชั้น หรืออยู่ชั้นเดียวกันแต่คนละฝั่งของห้าง ความไม่ต่อเนื่องของพื้นที่จึงเป็นประเด็นท้าทายอย่างยิ่งในการออกแบบและบริหารจัดการ
พื้นที่ชั้นล่างของ ห้องสมุดเซงคัง ออกแบบให้รองรับกิจกรรมที่จอแจ มีมุมอ่านหนังสือพิมพ์ และจุดให้บริการมัลติมีเดีย ส่วนชั้นบนจัดให้เป็นโซนเงียบ เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการใช้สมาธิในการอ่านหนังสือ
ห้องสมุดบูกิตปันจัง ใช้วิธีแยกโซนพื้นที่ให้บริการสำหรับเด็กไว้ฝั่งหนึ่งของห้าง ชั้นหนังสือและการออกแบบตกแต่งภายในมีสีสันสดใส ส่วนพื้นทีอีกฝั่งหนึ่งของห้าง ถูกจัดให้เป็นเป็นโซนให้บริการสำหรับผู้ใหญ่ มีบรรยากาศเรียบง่ายดูทันสมัย
สร้างพาร์ทเนอร์และอาสาสมัคร
NLB พยายามสร้างการมีส่วนร่วมจากพาร์ทเนอร์ ทั้งบุคคลและบริษัทต่างๆ เพื่อร่วมสร้างสรรค์การให้บริการให้มีความหลากหลาย และตอบโจทย์ความต้องการของสังคมที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
กิจกรรมที่ library@harbourfront มุ่งเน้นด้านทักษะอนาคตเพื่อกลุ่มคนวัยทำงาน เช่นการเขียนโค้ดและหุ่นยนต์ กิจกรรมดังกล่าวดำเนินการโดยหน่วยงานรัฐ รวมทั้งองค์กรที่เชี่ยวชาญด้านการส่งเสริมความพร้อมดิจิทัล
ห้องสมุดแทมปิเนส มีพาร์ทเนอร์ช่วยออกแบบและสร้างสตูดิโอสำหรับทำอาหาร มีบริษัทด้านเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเรื่องการจัดกิจกรรมในเมกเกอร์สเปซ
นอกจากนี้ ห้องสมุดหลายแห่งยังเปิดรับอาสามัครเพื่อช่วยบริหารจัดการห้องสมุด เช่น ห้องสมุดบูกิตปันจัง มีอาสาสมัครกว่าพันคนสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันเข้ามาช่วยงานห้องสมุด
บทบาทการทำงานที่ไม่มีวันเหมือนเดิม
เมื่อห้องสมุดถูกพลิกโฉมใหม่ ทั้งในด้านพื้นที่และการให้บริการ ลักษณะการทำงานของเจ้าหน้าที่และบรรณารักษ์ก็ปรับเปลี่ยนตามไปด้วย สิ่งที่เห็นได้ชัดคือการนำระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ เข้ามาทดแทนการทำงานแบบซ้ำๆ (routine) ส่งผลให้บุคลากรจำเป็นต้องเพิ่มทักษะใหม่ๆ
ในส่วนของเจ้าหน้าที่ห้องสมุด มีการเพิ่มทักษะ (upskilling) เพื่อเพิ่มคุณค่างานให้สูงขึ้น เช่น การเล่านิทาน การสนับสนุนการจัดกิจกรรมและชมรมการอ่าน การสร้างเครือข่ายกับพาร์ทเนอร์และอาสาสมัคร ฯลฯ
ส่วนบรรณารักษ์ จะได้รับการเพิ่มทักษะให้มีความเชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการเนื้อหา ธุรกิจ การวิเคราะห์ข้อมูล การสร้างเครือข่ายกับชุมชน และเป็นผู้ทำทางความคิด
สุดท้ายคือผู้บริหาร ต้องมีบทบาทมุ่งเน้นด้านการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต และสร้างวัฒนธรรมด้านนวัตกรรม (innovation culture) ให้แก่ชุมชน
แม้การพลิกโฉมห้องสมุดของสิงคโปร์ในเฟสแรกจะยังไม่เสร็จสมบูรณ์ แต่จากการดำเนินการที่ผ่านมาก็ส่งผลถึงความเปลี่ยนแปลงในเชิงปริมาณ โดยห้องสมุดทั้ง 6 แห่งมีสถิติที่ดีขึ้นในปีแรกที่กลับมาเปิดให้บริการ แห่งที่เปลี่ยนแปลงมากที่สุดคือ library@harbourfront มียอดการยืมหนังสือเพิ่มสูงขึ้น 109% และจำนวนผู้เข้าใช้บริการเพิ่มสูงขึ้น 242%
น่าติดตามต่อไปว่า การพัฒนาห้องสมุดสิงคโปร์อีก 2 เฟส ภายในกรอบเวลา 10 ปีถัดจากนี้ จะให้ผลลัพธ์ที่น่าตื่นตาตื่นใจเพียงใด แต่ผลที่เกิดขึ้นแล้ว ณ เวลานี้ คือการเป็นกรณีศึกษาชั้นดีของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในแวดวงห้องสมุดและการศึกษา ทั้งในด้านการวางกลยุทธ์ระดับชาติ การออกแบบและพัฒนาห้องสมุดให้เท่าทันยุคสมัย รวมถึงตอบโจทย์ในแง่การส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต
ที่มา
The Remaking of Singapore’s Public Libraries [online]
Cover Photo GREY CANOPY Bukit Panjang Public Library