วิชา ‘ญาติ’ ที่ไม่มีสอนที่ไหน แต่ต้องเรียนกันในโรงพยาบาล

752 views
8 mins
April 29, 2024

          ปฏิเสธไม่ได้ว่าเมื่อเราก้าวเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ สิ่งที่ตามมาคือ พ่อแม่เริ่มก้าวเข้าสู่วัยชราไปพร้อมๆ กัน อาการเจ็บป่วยก็เริ่มถามหา ไม่ว่าจะเตรียมตัวดีแค่ไหน หลายคนก็ต้องเผชิญกับโจทย์ใหม่ในชีวิต นั่นก็คือ ต้องเรียนรู้ว่าเราจะปฏิบัติตัวในฐานะญาติผู้ป่วยอย่างไร ไม่ใช่แค่การดูแลที่บ้าน แต่การประสานงานและใช้เวลารอการรักษาที่โรงพยาบาลด้วยเช่นกัน

          “ระบบสาธารณสุขยังไม่มี ‘ญาติผู้ป่วย’ ในสมการโรงพยาบาล ปัญหาที่เกิดขึ้นมันมีทั้งในเชิงกายภาพ เชิงข้อมูล จิตใจและความรู้สึก ญาติผู้ป่วยไม่มีที่พักระหว่างรอดูแลคนไข้ นั่นเป็นแค่ส่วนหนึ่งของปัญหา แต่ความจริงรากของมันใหญ่กว่านั้น ยังไม่นับส่วนที่เขาไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับการดูแล การติดต่อประสานงานกับบุคลากร”

          เนาว์ – เสาวนีย์ สังขาระ นักผลิตสารคดีอิสระ และเจ้าของ สวนศิลป์บินสิ พื้นที่เรียนรู้ซึ่งเปิดโอกาสให้ทุกคนได้มาแลกเปลี่ยนทักษะระหว่างกัน ตระหนักในปัญหาข้อนี้เป็นอย่างดี จึงริเริ่มโปรเจกต์ใหม่ ที่เธอบอกว่า ใช้เวลาเก็บข้อมูลมานานหลายปี ทั้งจากประสบการณ์ตรง และการพาเครือข่ายเข้าไปศึกษาพื้นที่จริง เมื่อมีข้อมูลเพียงพอแล้ว ก็ตั้งใจจะปั้นโปรเจกต์เพื่อขับเคลื่อนการรับรู้ การเรียนรู้ และการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง โดยอาศัยความร่วมมือจากหลากหลายภาคส่วน หากหน่วยงานด้านสาธารณสุขแบกรับภาระหนักหนาอยู่แล้ว

          เราจึงชวนเธอมาพูดคุยกันว่า ‘วิชาญาติ’ ในความหมายของเธอนั้นคืออะไร หลายๆ ภาคส่วนจะมาร่วมเรียนรู้พร้อมทั้งร่วมลงมือแก้ไขปัญหากันได้อย่างไร และเพราะเหตุใด คำว่า ‘ญาติผู้ป่วย’ ถึงได้หล่นหายไปจากสมการของโรงพยาบาล

วิชา ‘ญาติ’ ที่ไม่มีสอนที่ไหน แต่ต้องเรียนกันในโรงพยาบาล
Photo: Nao Saowanee Sangkara

โปรเจกต์ ‘ญาติ ในสมการโรงพยาบาล’ กว่า 8 ปี ที่เรียนรู้ร่วมกันมา

          เนาว์บอกกับเราว่าโครงการนี้ไม่ใช่โครงการที่เพิ่งเริ่มต้น แต่ริเริ่มมาหลายปีแล้ว “เมื่อเราต้องหยุดเดินทาง หรือจะให้ถูก ต้องเรียกว่า ‘เปลี่ยนการอยู่กับที่ให้เป็นการเดินทาง’ ดีกว่า เพราะเราไม่เคยหยุดเดินทาง พ่อป่วยเป็นโรคมะเร็งลำไส้ เลยฉีกตั๋วเดินทางรอบโลกเพื่อกลับบ้านมาดูแลรักษากัน  เราไม่เคยไปโรงพยาบาลในฐานะญาติอย่างจริงจังและยาวนานติดต่อกันขนาดนั้น ถ้านับจนถึงวันนี้ก็นับได้ 8-9 ปีแล้วนะ พ่อแม่แก่ เจ็บ ป่วย เป็นเรื่องที่มีอยู่จริง สักวันหนึ่งเราทุกคนต้องเป็น ‘ญาติ’ ที่ต้องพา ‘ครอบครัว’ ของเราไปโรงพยาบาลแน่นอน”

          เมื่อต้องไปเป็น ญาติ ในโรงพยาบาลจนชิน  เนาว์ก็มองเห็นว่า ในโรงพยาบาลไม่มีพื้นที่ให้กับญาติผู้ป่วยเลย ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ทางกายภาพหรือจิตใจ เมื่อ 8 ปีก่อน เธอจึงผลักดันให้เกิดโครงการที่ชื่อว่า ‘ขอพื้นที่สบายในโรงพยาบาล’

          “เพราะเราคิดและรู้สึกว่าคนที่เห็นปัญหาแล้วไม่แก้ไข นั่นคือส่วนหนึ่งของปัญหา บทเรียนแรกของวิชา ‘ญาติ’ ที่ไม่มีสอนที่ไหน แต่ต้องเรียนกันในโรงพยาบาล”

          ในฐานะสวนศิลป์บินสิ ที่สร้างสรรค์โปรเจกต์ด้านการเรียนรู้มาตลอด เนาว์เคยพาเด็กๆ จากโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาเข้าไปทำโปรเจกต์ศึกษาปัญหาในโรงพยาบาลอยู่หลายครั้งเพื่อเจาะลึกถึงรากของปัญหาว่าอยู่ที่ไหนและควรจะแก้ไขอย่างไร

          “เคยพาเด็กๆ ลงพื้นที่แล้ว ตัวปัญหาคืออะไรเราก็มีข้อมูลหมดแล้ว ยกตัวอย่างเช่นเรื่องห้องน้ำ ถ้ามีคนใช้งานมากเกินไปแล้วจะเกิดปัญหาอะไรตามมา มันก็ยังมีปัญหาอื่นๆ อีกมาก ก็เลยคิดว่ามันน่าจะมีการแก้ไขปัญหาที่ตรงจุดจริงๆ”

วิชา ‘ญาติ’ ที่ไม่มีสอนที่ไหน แต่ต้องเรียนกันในโรงพยาบาล
Photo: The Relative
วิชา ‘ญาติ’ ที่ไม่มีสอนที่ไหน แต่ต้องเรียนกันในโรงพยาบาล
Photo: The Relative
วิชา ‘ญาติ’ ที่ไม่มีสอนที่ไหน แต่ต้องเรียนกันในโรงพยาบาล
Photo: The Relative

          เนาว์เล่าให้ฟังว่าจากข้อมูลที่ได้ เธอออกแบบกิจกรรมหลากหลายรูปแบบ ที่อาจต้องอาศัยความร่วมมือจากหลากหลายภาคส่วน เพราะตระหนักดีว่าภาระของหน่วยงานด้านสาธารณสุขของภาครัฐก็หนักหนาพออยู่แล้ว โจทย์ที่เกิดขึ้นในโรงพยาบาล จึงอาจเป็นปัญหาร่วมกันของสังคมที่ต้องเข้ามาร่วมลงมือ

          “เคยออกแบบโมเดลการจัดการ และ การเรียนรู้ร่วม เอาไว้หลายโมเดล อย่างเช่น ถ้าสร้างเรือนรับรอง สร้างแบบไหนถึงจะประหยัดพื้นที่ ประหยัดค่าใช้จ่ายในการดูแล ก็ร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญทางด้านสถาปัตยกรรมได้ ส่วนรูปแบบในการบริหารจัดการก็อาจจะร่วมกับสถาบันศึกษาอื่นๆ ในด้านการฝึกงาน หรือกิจกรรมอาสาสมัคร ดูว่าใครต้องการเรียนรู้จากปัญหาด้านไหนในโรงพยาบาล”

          แต่โจทย์และข้อเสนอที่เคยคิดเอาไว้ ดูจะเล็กเกินไป เมื่อเนาว์มีโอกาสได้กลับไปเป็นญาติผู้ป่วยประจำอีกครั้งในปี 2023 ที่ผ่านมา และคราวนี้ เธอก็มองเห็นปัญหาได้ครบด้านกว่าเดิม จึงมาสู่คำถามที่ว่า จากโจทย์การเรียนรู้ของสวนศิลป์บินสิ จะเป็นไปได้ไหมถ้าคราวนี้การขับเคลื่อนของเธอจะขยายสเกลให้ใหญ่ขึ้น ชักชวนหลายๆ คนให้เข้ามาร่วมรับรู้ เรียนรู้ และแก้ไขปัญหาไปพร้อมกัน โดยเริ่มต้นจากการนำไปเสนอโรงพยาบาลใกล้ตัว หากโครงการนี้สำเร็จก็อาจจะเป็นตัวอย่างให้กับสถานที่อื่นซึ่งประสบปัญหาคล้ายคลึงกัน

บทเรียนที่สอง “Empathy ความเห็นอกเห็นใจ” เป็นสิ่งที่ไม่สามารถสอนกันได้

          “ในช่วงโควิดแพร่ระบาด เรือนพักญาติที่เราเคยช่วยปรับปรุงไว้ กลายเป็นพื้นที่ต้องห้าม ญาติไม่สามารถไปเยี่ยมเยือนไปหากันได้ เรายังคิดเลยว่า ถ้าใครในครอบครัวต้องป่วยไปนอนโรงพยาบาล แล้วไม่สามารถไปเยี่ยมหากันได้ หรือต้องจากกันไปโดยไม่ได้อยู่ด้วยกันในวินาทีสุดท้าย หัวใจญาติคงสลาย”

          เมื่อโรคมะเร็งได้กลับมาเยือนอีกครั้ง เป็นเวลา 2-3 เดือนที่พ่อเลือดออกจากทวารเทียมทางหน้าท้องโดยหาสาเหตุไม่ได้ ต้องเดินทางไปกลับโรงพยาบาลนับครั้งไม่ถ้วน

          “ญาติที่ดูแลใกล้ชิดก็ทุกข์ไม่แพ้คนป่วยหรอก แต่ด้วยความทุกข์นั้น สิ่งที่ปลอบใจเราได้ในแต่ละวัน กลับเป็นในวอร์ดรวมคนไข้ มีคนที่ทุกข์ไม่แพ้เราหรืออาจจะมากกว่า เรารู้สึกได้ถึง ความเข้าอกเข้าใจ หรือ Empathy ณ จุดนั้น ยังมีญาติที่นอนใต้เตียง นอนข้างทาง นอนแอบอยู่ทุกซอกมุมในโรงพยาบาล เพื่ออยู่ใกล้ดูแลครอบครัวของพวกเขา คืนละหลายสิบคน แม่เราเองก็ยังไปนอนข้างๆ พ่อ แล้วก็ป่วยตาม”

          เนาว์เล่าประสบการณ์ให้ฟัง “ตอนที่ไปเฝ้าพ่อในห้องพักรวม ก็มีญาติผู้ป่วยบอกว่าให้รีบไปจองโถฉี่นะ โถฉี่มีไม่พอ เราก็คิดว่าอันละไม่กี่บาท ก็เลยโพสต์หาเพื่อนให้ช่วยกันบริจาค ก็เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้ได้คนไข้ได้ฉี่กันอย่างสบายใจกันไปก่อน” แต่แล้วเนาว์ก็เก็บกลับมาคิดต่อว่า นั่นคือวิธีการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้องหรือไม่

          “คืนหนึ่ง เราต้องพาพ่อไปห้องฉุกเฉิน ตั้งแต่หนึ่งทุ่มถึงสามทุ่ม เรายังไม่ได้เห็นหน้าพ่อ ไม่รู้ว่าอาการเป็นอย่างไร จอที่หน้าห้องฉุกเฉินก็บอกแค่ว่า รับเคสไว้แล้ว และมีเคสเข้ามาเรื่อยๆ ถึง 30 เคส จะเข้าไปดูอาการก็เกรงใจ ยามก็กันเอาไว้ เราน้ำตาไหลออกมาโดยไม่รู้ตัว เพราะรออยู่คนเดียว ลุงที่นั่งข้างๆ เดินมายื่นทิชชูให้ บอกว่า ตาก็รอยายที่อยู่ในห้องนั้นนานแล้วเหมือนกัน ไม่รู้เป็นอย่างไรบ้างแล้ว เราก็รู้ว่าเจ้าหน้าที่ในห้องฉุกเฉินนั้นคงยุ่ง มุ่งรักษาคนไข้อยู่ แต่การอัปเดตสถานะรักษาของคนไข้ให้ที่จอหน้าห้อง คงไม่ได้เสียเวลาเกินสามวินาที”

          จากประสบการณ์ตรง การสื่อสาร คือสิ่งที่เนาว์คิดว่า หายไปจากสมการโรงพยาบาล ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารระหว่างโรงพยาบาลกับญาติ หรือระหว่างญาติผู้ป่วยด้วยกันเอง หากมีการพัฒนาระบบการสื่อสารเพื่อญาติผู้ป่วยได้ก็คงจะดี นอกจากญาติจะได้รับทราบข้อมูลที่จำเป็นแล้ว ยังมีโอกาสได้เรียนรู้จากกันและกัน และนั่นก็เป็นที่มาของการโพสต์ข้อความในสื่อสังคมออนไลน์ถึงแนวคิดในการแก้ปัญหา ที่ครั้งนี้เนาว์คิดว่ามองครบรอบด้าน

          “ผู้อำนวยการโรงพยาบาลและทีมบริหารลงมาคุยกันถึงเตียงพ่อ เพราะโพสต์ที่เราเขียนเกี่ยวกับประสบการณ์นี้ทำให้มองเห็นทั้งเห็นความขาดแคลนของระบบ ปัญหาการสื่อสาร ปัญหาเรื่องการวางผังของโรงพยาบาล และด้วยบทเรียนแรกที่สอนเราว่า เมื่อเราเห็นปัญหาแล้วเราแก้ไขได้ เราต้องทำ เราก็ได้เข้าไปคุยกับทีมผู้บริหาร คำแรกที่รองผู้อำนวยการถามเรา คือ ‘คุณเนาว์ใช่หรือเปล่า’ เมื่อเห็นเราที่หน้าหอพัก และกำลังจะเข้าไปเยี่ยมพ่อ ‘คุณเนาว์ทำงานเพื่อสังคมหรือมูลนิธิอะไรหรือเปล่า ถึงได้อยากทำงานเรื่องพวกนี้…’ เรายังงงๆ ตอบไปว่า เราก็เป็นแค่ญาติธรรมดาๆ นี่ล่ะค่ะ ที่เห็นญาติด้วยกันทุกข์แล้วก็อดที่จะเข้าใจแล้วก็ช่วยเหลือกันเองไปก่อนเท่าที่ทำได้”

          คำแรกที่ผู้อำนวยการถามเนาว์ เมื่อเข้าไปคุยด้วยคือ “ต้องขอบคุณคุณเนาว์นะ ที่ขนาดตัวเองต้องดูแลพ่อด้วย ก็ยังเห็นความทุกข์ของญาติคนอื่นด้วยกัน แล้วก็ทำอะไรบางอย่าง”

          จากคำทักทายของผู้อำนวยการ ทำให้เนาว์รู้สึกว่าความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นหรือ Empathy เป็นเรื่องที่สอนกันไม่ได้ จนกว่าคนนั้นจะสามารถมองเห็นความทุกข์ของคนอื่นเหมือนเป็นความทุกข์ของตัวเอง เลิกจมจ่อมอยู่กับความทุกข์โดยไม่สนใจสิ่งที่อยู่รอบข้าง แล้วสร้างความเข้าอกเข้าใจ รับรู้ และรู้สึกถึงความทุกข์ของผู้อื่น

          “เราเข้มแข็งขึ้นมาได้ เพราะเราเห็นอกเห็นใจความทุกข์ของเพื่อนร่วมทุกข์ด้วยกันต่างหาก”

บทเรียนที่สาม มองหาปัญหาร่วมกัน และเสนอทางออกที่ชนะไปด้วยกัน

          เนาว์ปลุกปั้นโครงการ ‘The Relative ญาติในสมการโรงพยาบาล’ ขึ้นมา สไลด์หลายชุด ที่เนาว์นำเสนอผู้อำนวยการและทีมบริหารในหลายเดือนที่ผ่านมา นำเสนอ Pain Points ที่เก็บข้อมูลมาตลอดหลายปี และนำเสนอโอกาสในการแก้ไขปัญหา หรือ Solution ที่น่าจะสร้างพลังบวกให้กับทุกฝ่าย โดยเนาว์บอกว่า ขอนำเสนอแนวคิด 4C

1. Compassionate Communication

          การสื่อสารที่สามารถส่งผ่านความเมตตาระหว่างเจ้าหน้าที่ หมอ พยาบาล ถึงคนไข้ และญาติ หมอที่เก่งที่สุดอาจไม่ใช่หมอที่สามารถส่งต่อความเมตตาถึงคนไข้ได้ดี บทสนทนาหนึ่งที่ผู้อำนวยการโรงพยาบาลลำพูนเล่าให้เนาว์ฟังถึงเรื่องนี้ คือเราต้องไปแก้กันที่โรงเรียนแพทย์ ที่สอนให้นักเรียนแพทย์มุ่งที่การรักษาโรค โดยที่อาจจะข้ามเรื่อง ‘จิตใจ’ ของผู้ได้รับการรักษาไป

          ทุกวันนี้ ช่องทางของการสื่อสารทั้งจากภายในสู่ภายนอก และช่องทางสื่อสารของเทคโนโลยี แม้จะมีเทคโนโลยีช่วย คนก็ยังไม่ใช้ให้ทันการ หรือแม้แต่เพจสื่อสารของโรงพยาบาลเองก็ยังไม่อัปเดตเป็นปัจจุบัน หรือไม่มีการสื่อสารที่มีหัวใจของผู้ใช้บริการเป็นใจความสำคัญ

2. Connecting Corners

          มุมที่ผู้เข้าไปใช้บริการ โดยเฉพาะญาติ ต้องอยู่ในสมการ ยกตัวอย่างที่โรงพยาบาลลำพูน มีสถิติคนไข้วันละ 1,500 – 1,700 คนต่อวัน ถ้านับญาติเข้าไปด้วย ตัวเลขจะบวกอีกเท่าตัว แต่มุมเก้าอี้ ที่พัก สำหรับญาติ ที่ต้องเข้าไปกับคนไข้วันละหลายๆ ชั่วโมง แทบไม่อยู่ในสมการ ทั้งในแง่ของพื้นที่ทางกายภาพและการดูแลจิตใจ

3. Capacity Master Plan

          อ้างอิงจากผังโรงพยาบาลลำพูน ด่านแรกที่เข้าไปทุกครั้ง คือ ตึก 100 ปี ที่อยู่ส่วนเดียวกับห้องฉุกเฉิน การไปถึงประตูหลักนี้ทุกครั้ง ทำให้คนไข้ทั่วไปรู้สึกตัวลีบเล็ก ทั้งที่ป่วยอยู่แล้ว ก็ยังต้องไปออกันอยู่ที่ประตูเดียวกันกับคนไข้ฉุกเฉินที่จะมาตอนไหนก็ได้

          ถ้ามองในแง่ดี ก็ทำให้เราได้เรียน มรณานุสติ กันตั้งแต่ประตูแรกที่เข้าโรงพยาบาล และทุกครั้งที่ไปโรงพยาบาล จะเจอคนแก่ๆ คอยถามทางไปตึกนั้นตึกนี้ หรือแม้แต่เจอคนไข้ที่หน้ามืดจะเป็นลม เพราะต้องอดอาหารมาทั้งคืน ต้องมาต่อคิวบัตรที่ตึกหนึ่ง แล้วต้องไปเอกซเรย์เจาะเลือดที่อีกตึกหนึ่ง รับยาอีกตึกหนึ่ง ทั้งโรงพยาบาลมีพื้นที่สามสิบกว่าไร่ แต่บับเบิลของความแออัดนั้น อยู่ที่ชั้น 1 ชั้น 2 ของส่วนงาน OPD หรือคนไข้นอก ซึ่งแทบจะขี่คอแออัดกันขึ้นไปรอ

4. Capsule of Hope Stay

          เนาว์นำเสนอโมเดลเรือนพักญาติในโรงพยาบาล ที่เปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามาร่วมบริหาร โดยญาติผู้ป่วยอาจรับภาระค่าใช้จ่าย 50-100 บาท หากที่พักตามสนามบินหรือสถานีรถไฟยังมีที่พักแบบแคปซูลได้ ที่พักญาติในโรงพยาบาลจะมีโอกาสที่มีลักษณะแบบนั้นได้หรือไม่

          “เท่าที่เดินสำรวจในหนึ่งคืน มีญาติที่ต้องนอนระเกะระกะในโรงพยาบาลลำพูน ไม่น้อยกว่า 50 คน บางคืนนับได้ถึง 80 คน ระหว่างที่ต้องไปเฝ้าพ่อ ก็ได้คุยกับญาติหลายคนที่นอนเกะกะในโรงพยาบาล บางคนนอนเกินสิบคืน มาจากอำเภอที่ห่างไกล เด็กคนหนึ่งต้องลาหยุดเรียนมาช่วยแม่เฝ้าน้องที่เป็นเด็กพิเศษ นอนหนาวอยู่ใต้อาคาร ลุงคนหนึ่งตื่นขึ้นมาคุยด้วย บอกว่า หลังลุงแข็งอย่างกับกระดาน ปูเสื่อนอนอยู่ทางเดินมาสัปดาห์หนึ่งแล้ว จะป่วยก็ไม่ได้ เดี๋ยวไม่มีใครดูแลคนป่วย

          “ถึงแม้ว่าโมเดลเรือนพักญาติที่เราเคยทำไปเมื่อ 8 ปีที่แล้ว ในโครงการขอพื้นที่สบายฯ ได้ถูกปรับปรุงในผู้บริหารชุดหนึ่ง แต่เมื่อเปลี่ยนผู้บริหารไป โควิดมา ก็ถูกดอง ถูกปิดไป เมื่อเราไปร้องแรกแหกกระเชอ เหมือนโรงพยาบาลจะได้ยินและปรับปรุงให้ญาติได้เข้าไปพอใช้ แต่ด้วยสภาพอาคารชั้นเดียว อาคารใต้บันได ก็ยังไม่เพียงพอ ญาติก็ยังต้องนอนตบยุง กางมุ้ง หอบเต็นท์ หอบพัดลม นอนหนาวกันไป  หัวหน้าพยาบาลคนหนึ่งพูดให้เราฟังว่า ใช่ว่าเขามองไม่เห็นนะ บางทีเราก็ต้องทำเป็นมองไม่เห็นเพื่อสกัดปุ่มเมตตาของเรา โรงพยาบาลก็อะลุ่มอล่วยแล้ว เราก็ไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไร เหมือนเตี้ยอุ้มค่อม ภาระโรงพยาบาลก็ไม่ใช่น้อยอยู่แล้ว

           “รองผู้บริหารหลายท่านก็มองว่าการอนุญาตให้มีญาติเข้ามาพัก ก็สร้างปัญหาด้านความปลอดภัย สร้างปัญหาอาชญากรรมได้ ญาติอย่างเราเข้าใจ แต่เราไม่เห็นว่ามันเป็นปัญหาที่มากพอ และมันก็ยังมีทางออก ที่ร้านกาแฟ ร้านค้ายังเปิดได้ ทำไมจะเปิดเรือนพักญาติเอกชนไม่ได้ ในเมื่อมีความต้องการและปัญหาคาราคาซังอยู่”

วิชา ‘ญาติ’ ที่ไม่มีสอนที่ไหน แต่ต้องเรียนกันในโรงพยาบาล
Photo: The Relative
วิชา ‘ญาติ’ ที่ไม่มีสอนที่ไหน แต่ต้องเรียนกันในโรงพยาบาล
Photo: The Relative

บทเรียนที่สี่ ญาติที่ระบบสาธารณสุขต้องมองเห็น

          “เราไม่ได้ออกแบบอาคารสถานที่ เราออกแบบระบบป้องกันรักษาสุขภาพ”

          เนาว์กล่าวย้ำว่า นี่ไม่ใช่แค่โปรเจกต์ระดมทุนหางบประมาณสำหรับเรือนรับรองญาติ นั่นอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นและเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ แต่เธออยากให้เกิด ‘กระบวนการ’ ที่จะช่วยเติมเต็มสิ่งที่ขาดหายให้กับญาติผู้ป่วย ไม่ว่าจะทางกายภาพ ข้อมูล และจิตใจ และกระบวนการนั้นอาจจะต้องมาจากการร่วมมือ ร่วมระดมความคิดจากหลายๆ ส่วน ถ้าภาระของหน่วยงานด้านสาธารณสุขก็หนักหนาพออยู่แล้ว เนาว์เชื่อว่าภาคเอกชน ภาคการศึกษา องค์กรด้านนวัตกรรม ล้วนมองหาพื้นที่เพื่อแสดงออกซึ่งผลงานและความคิดสร้างสรรค์ โรงพยาบาลเป็นพื้นที่ที่มี Pain Points มากมายรอคอยนักแก้ปัญหาให้มาร่วมกันคิดและลองทำ

          “เราต้องชัดมากในการเดินเข้าไปคุยกับทีมผู้บริหารโรงพยาบาลว่า เราไม่ได้เป็นญาติที่อาสาเข้ามาช่วยสร้างอาคารสถานที่ หรือรับบริจาคโถฉี่ นั่นนี่ เราแสดงตนเข้ามาเพื่อเป็น ‘ญาติเชิงรุก’ ญาติที่มีอยู่จริงในสมการของโรงพยาบาล ญาติที่ระบบสาธารณสุขต้องมองเห็น หากระบบสาธารณสุขยังทำเป็นมองไม่เห็นญาติอยู่ในระบบนี้ ไม่มีทั้งนโยบายและงบประมาณที่เข้ามาดูแลญาติอย่างแท้จริง หรือมีนโยบายแบบ Quick Wins มันไม่พอ เพราะเป็นแค่การตั้งรับ เจ็บกายแล้วต้องไม่เจ็บใจ เป็นไปไม่ได้หรอก ทั้งกายและใจสัมพันธ์กันหมด”  

          เนาว์มองว่า หากระบบสาธารณสุขยังไม่มีนโยบายตั้งรับญาติเชิงรุก ญาติก็จะกลายมาเป็นภาระของระบบ จากญาติก็จะกลายเป็นคนไข้ แทนที่เขาจะกลายเป็นผู้ช่วยดูแลที่แข็งแรง เขาก็จะกลายมาเป็นคนป่วย หรือจอมโวยวาย

          “ณ วันนี้ แผนและผัง โครงการ The Relative ญาติในสมการโรงพยาบาล และผังเรือนพักญาติ ถูกนำเสนอเข้าไปในทีมผู้บริหารโรงพยาบาลหลายเดือนแล้ว แต่ก็มีความก้าวหน้าที่เหมือนไม่มี เพราะเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลเองก็ยุ่งกับอีกหลายๆ เรื่องสำคัญ ญาติอย่างเราพร้อมรุกมาก แต่ก็เหมือนกับว่า ตั้ง GPS ขับรถทางไกลมาหลายไมล์ แล้วก็เงยหน้ามาพบว่า มาถึงโรงพยาบาลแล้วล่ะ แต่เป็นวันหยุดและเป็นวันยุ่งที่ไม่มีญาติอยู่ในวาระการประชุมของโรงพยาบาล เราเองก็ไม่รู้จะไปทางไหนต่อ นอกจากจอดและจ่อรออยู่ตรงนี้”

วิชา ‘ญาติ’ ที่ไม่มีสอนที่ไหน แต่ต้องเรียนกันในโรงพยาบาล
Photo: Nao Saowanee Sangkara
วิชา ‘ญาติ’ ที่ไม่มีสอนที่ไหน แต่ต้องเรียนกันในโรงพยาบาล
วิชา ‘ญาติ’ ที่ไม่มีสอนที่ไหน แต่ต้องเรียนกันในโรงพยาบาล
Photo: Nao Saowanee Sangkara

บทเรียนสุดท้าย “ถ้าจะรบต้องรู้ว่ารบสมรภูมิไหนถึงจะชนะ”

          เนาว์ฝากเอาไว้ในช่วงท้ายก่อนจบบทสนทนา “เราไม่รู้หรอกว่า การชักดาบออกมาต่อสู้ครั้งนี้ในฐานะ ‘ญาติ’ คนหนึ่งจะชนะหรือไม่ แต่เราจะไม่แพ้แน่ๆ อย่างน้อยที่สุดตอนนี้เรารู้แล้วว่า เรากำลังสู้อยู่กับอะไรบ้าง คู่ต่อสู้ของเราคือใคร คู่ต่อสู้แรกที่เราคิดว่าเราชนะแล้วคือ ตัวเอง เราต่อสู้กับความเห็นแก่ตัวของตัวเองสำเร็จแล้ว หากจะสบายแค่ตัวเองก็ได้ จ่ายเงินค่าที่พักข้างๆ โรงพยาบาล นอนสบายๆ เฝ้าพ่อ หรือทำประกันเพื่อให้นอนโรงพยาบาลเอกชน แต่เราไม่ทำ เพราะเราคิดว่า สิทธิของการได้รับการรักษาจากรัฐ เป็นสิทธิพื้นฐานที่ประชาชนทุกคนควรได้รับ คู่ต่อสู้ที่ใหญ่กว่าตัวเองคือ เจ้าหน้าที่รัฐ ระบบของรัฐ ความเชื่อ วิถี พฤติกรรม ความเหลื่อมล้ำ โครงสร้าง เรายังไม่ชนะวันนี้ แต่อย่างน้อยเราก็ได้เริ่มปักธง ทำงานกับความคิด ออกแบบนำเสนอปัญหา ความคิด และวิธีแก้ไข โดยที่ไม่ชี้นิ้วไปสั่งให้ใครเปลี่ยนแปลง แต่เริ่มที่ตัวเราก่อน”

          เมื่อถามว่า ถ้ามีผู้สนใจจะร่วมเรียนรู้วิชาญาตินี้ และสู้ไปกับเนาว์ในฐานะ ‘ญาติ’ คนหนึ่งเหมือนกัน จะทำอะไรได้บ้าง?

          “ข้อหนึ่ง ง่ายที่สุด คือช่วยกันบริจาค โครงการ Matching Fund ในการสร้างเรือนพักญาติ ที่โรงพยาบาลลำพูน ซึ่งเราได้นำเสนอแบบเรือนพักญาติไปแล้วสองแบบ ทั้งเรือนไม้ และเรือนปูนเหล็ก เป็นเรือนสองชั้น ที่สามารถรองรับญาติบ้านไกล ที่ต้องนอนเฝ้ารอ ประมาณวันละ 70-100 คน และสร้างระบบดูแลรักษา Performance และ Maintenance ในงบประมาณหนึ่งล้านบาท ซึ่งงบประมาณนี้ เราได้นำเสนอกับโรงพยาบาลว่า จะเป็นงบฯ แบบร่วมกันหาคนละครึ่ง ทางโรงพยาบาลดูแล 500,000 บาท และทางเราฝ่ายญาติ หามาร่วม 500,000 บาท

          “ข้อที่สอง ท้าทายขึ้นมาอีกนิด ช่วยกันเป็นผู้ลงทุนให้กับการสร้างแอปพลิเคชันของญาติขึ้นมา เพื่อเป็นพื้นที่ชุมชน ที่สนับสนุนดูแลและสื่อสาร สำหรับคนที่เป็นญาติทุกคน ไม่ว่าจะเป็นแชร์ประสบการณ์ ทรัพยากร เวลา และพื้นที่ทางกายและใจ เราเชื่อว่า เราทุกคนเป็นญาติของใครสักคน และการเป็นญาติที่ได้ดูแลครอบครัว ไม่ได้เงินหรอก เราทำกันด้วยใจและสายสัมพันธ์ เราอยากให้แอปพลิเคชันนี้ เกิดขึ้นเพื่อดูแลกันเอง

          “ข้อที่สาม ยาก แต่ช่วยกันทำได้ ช่วยกันลุกขึ้นมาเป็น ญาติเชิงรุก ส่งเสียง และออกแรง ขยับ สร้างพื้นที่ของญาติในสมการของโรงพยาบาล ในพื้นที่ของตัวเอง เดินเข้าไปคุยกับผู้บริหารโรงพยาบาล เพื่อสร้างพื้นที่สื่อสาร และพื้นที่พักรอที่สร้างสรรค์และส่งพลังให้กันและกัน”

วิชา ‘ญาติ’ ที่ไม่มีสอนที่ไหน แต่ต้องเรียนกันในโรงพยาบาล
Photo: Nao Saowanee Sangkara


ที่มา

Cover Photo: Nao Saowanee Sangkara

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก