“หากในชีวิตนี้คุณต้องเลือกอ่านหนังสือหนาห้าร้อยกว่าหน้าสักเล่ม ขอให้เลือก The Myth of Normal”
หนึ่งในรีวิวจากบุ๊กต๊อกเกอร์ #BookToker ที่อาจทำให้หลายคนหยิบหนังสือเล่มนี้ขึ้นมา แต่ความหนาห้าร้อยกว่าหน้าก็อาจทำให้วางมันลง ทว่าแฟนหนังสือของกาบอร์ มาเต (Gabor Maté) คงไม่ลังเลที่จะละเลียดหนังสือเล่มนี้จนจบ และหากใครได้เปิดอ่านก็อาจร้องขอให้เขาเขียนภาคต่อด้วยซ้ำ เพราะแม้ The Myth of Normal: Trauma, Illness, & Healing in a Toxic Culture (2022) เป็นผลงานล่าสุดที่หลายคนมองว่าขมวดเนื้อหา ประมวลผลความเข้มข้นของหนังสือเล่มอื่นๆ ของเขาเข้าไว้ด้วยกัน ทั้งในเรื่องของความสัมพันธ์กายใจ การเสพติด ความเครียด พัฒนาการเด็ก ทว่า The Myth of Normal น่าจะเรียกได้ว่าเป็นปฐมบท เป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนทัศน์ที่ทำให้เราทั้งหลายได้กลับมาตั้งหลัก จัดการตัวเองเสียใหม่ในการมองและทำงานเรื่องสุขภาพจิตมากกว่า
The Myth of Normal เป็นผลงานเขียนร่วมกันครั้งแรกระหว่างกาบอร์ มาเต แพทย์ชาวฮังกาเรียน-แคนาเดียนและแดเนียล มาเต (Daniel Maté) ลูกชายของเขา หนังสือเล่มนี้รวบรวมกรณีศึกษาผลงานวิจัย และที่สำคัญคือชำแหละผ่านประสบการณ์ตรงจากชีวิตของพวกเขาเองว่า ‘แผลใจ’ (Trauma) เกิดจากอะไร (เลือกใช้คำว่า ‘แผลใจ’ ตามผู้เขียนทั้งสองอ้างอิงถึงในบทที่หนึ่งว่าคำว่า Trauma มีรากศัพท์มาจากภาษากรีกแปลว่า wound หรือบาดแผล)
และโดยไม่ต้องสปอยล์ สมมติฐานของพวกเขาคือที่มาของชื่อหนังสือเล่มนี้ว่าเราต่างมี ‘มายาคติ’ ต่อ ‘ความปกติ’ ในการรับมือกับสภาวะทางจิตใจนี้ เช่น แผลใจเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับ (happen to) บุคคลแต่ละคน แผลใจเกิดที่ใจต้องรักษาทางใจเท่านั้น เป้าหมายของการรักษาคือการขจัดแผลใจให้หมดสิ้น ฯลฯ
“ในยุคสมัยที่หมกมุ่นกับเรื่องสุขภาวะกว่าที่เคยเป็นมา สถานการณ์กลับไม่ค่อยดีเท่าไร”
พ่อลูกมาเตฉุกให้เราตั้งคำถามตั้งแต่แรกว่าในยุคสมัยที่งบประมาณหลายล้านล้านถูกใช้ไปกับการพัฒนาสุขภาวะทั้งร่างกายและใจ ทำไมปัญหาสุขภาพจิตถึงเป็นโรคระบาดที่มาก่อนกาล และยังดูไม่มีวัคซีนใดที่จะยับยั้งได้ – หรือเรารักษาผิดจุด? หรือเราติดกระดุมผิดเม็ดแต่แรก?
วัฒนธรรมเปื้อนพิษ
มาเตยกเรื่องเล่าคลาสสิกของเดวิด ฟอสเตอร์ วอลเลซนักเขียนอเมริกัน เขาเล่าถึงปลาสองตัวทักกันระหว่างกำลังแหวกว่ายในน้ำ ปลาตัวโตกว่าทักปลาหนุ่มว่า “อยู่ในน้ำเป็นอย่างไรบ้าง?” แล้วปลาหนุ่มก็ว่ายผ่านไป สบถออกมาว่า “น้ำไรวะ?” ภาพที่ทั้งวอลเลซและมาเตอยากฉายให้เห็นก็คือความจริงจริงๆ นั้นมักเป็นสิ่งที่เห็นกันอยู่ทนโท่ ทว่าอยู่ตรงนั้นเนิ่นนานเสียจนกลายเป็น ‘ปกติ’ ทว่าความผิดปกติในสภาพแวดล้อมนั้นอาจเป็นตัวชี้เป็นชี้ตายได้เลย
“มนุษย์เก่งนักในการปรับตัวให้คุ้นชินกับสถานการณ์ โดยเฉพาะในความเปลี่ยนแปลงที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ คำว่า ‘ทำให้เป็นปกติ’ หมายถึงกลไกที่สิ่งอันเคยเป็นความวิปลาสเพิ่มขึ้นเสียจนกลายเป็นเรื่องปกติจนมันพ้นการตรวจจับของเราไป”
ไม่ว่าจะเป็นสถิติเรื่องสุขภาพจิตที่เพิ่มขึ้นทุกปี – ทั่วโลก ตัวเลขที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากที่เคยมีนัยสำคัญกลับกลายเป็นความปกติ และแนวคิดที่ว่าความป่วยไข้ทางจิตคือเรื่องของปัจเจกบุคคล มุ่งวินิจฉัย แก้ไขคนๆ นั้นเสียจนลืมตรวจสอบว่าระบบนิเวศที่เราอาศัยอยู่หรือวัฒนธรรมของเรามีอะไรปนเปื้อนหรือเปล่าในช่วงเวลาที่ผ่านมานี้จน “สถานการณ์กลับไม่ค่อยดีเท่าไร ในยุคสมัยที่เราหมกมุ่นกับเรื่องสุขภาวะกว่าที่เคยเป็นมา”
ความสงสัยของสองมาเตทำให้ผู้อ่านต้องตามพกแว่นสำรวจขยายน่านน้ำที่เราอาศัยอยู่ไปตลอดทั้งเล่ม และค่อยๆ ปรับสายตาให้สิ่งที่อยู่ตรงนั้นมานานจนสายตาเราพร่ามัวกลับมาแจ่มชัดอีกครั้งว่าอะไรกันที่ไม่ใช่ ‘ธรรมชาติ’ ที่เป็น ‘ความปกติ’ ในระบบนิเวศที่เราอาศัยอยู่ อะไรกันที่เราประดิษฐ์สร้าง ปรุงแต่งขึ้นมาจน ปนเปื้อนสภาพแวดล้อมที่เราอาศัยอยู่นี้
ความปกติพื้นฐานโดยแท้
จริงที่หนังสือด้านจิตวิทยานั้นมีอยู่มาก และนี่ก็ไม่ใช่หนังสือเล่มแรกที่พูดถึงประสบการณ์วัยเด็กที่ส่งผลต่อปัจจุบัน แต่สิ่งที่ทำให้ The Myth of Normal แตกต่าง (และสนุกมาก!) คือประสบการณ์ตรงของมาเตที่ความจริงใจต่อการแลกเปลี่ยนเรื่องราวชีวิตของเขาทำให้นี่เป็นหนังสือที่ ‘พูดกับ’ ผู้อ่านมากเหลือเกิน และทำให้รู้สึกว่ามาเตทั้งสองไม่ใช่แค่มีความรู้ แต่ ‘เข้าใจ’ ถึงความเปราะบางทางอารมณ์จริงๆ เพราะเขาเองก็มีประสบการณ์เช่นนั้น
เช่น ในบทแรกที่มาเตเล่าถึงหลังทริปเดินสายบรรยายของเขา (ที่แฟนหนังสือเขาจะพอรู้เบื้องหลังว่าการเสพติดงานของเขาก็มีที่มา – ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญ) ที่ทำเอาเขายิ้มปริ่มพึงพอใจกับตนเอง ทว่าเมื่อเครื่องบินมาถึงแคนาดา เรย์ ภรรยาของเขากลับส่งข้อความมาว่ายังไม่ออกจากบ้านและถามว่ายังอยากให้เธอไปรับเขาที่สนามบินอยู่ไหม ข้อความเดียวกันที่อาจไม่มีอะไรสำหรับใครคนหนึ่ง กลับเป็นชนวนระเบิดทำให้ใครอีกคนหัวร้อน ใจเต้นแรง มาเตไม่ตอบข้อความภรรยาแต่นั่งรถกลับมาบ้านเองและเงียบเฉยชาใส่เธอไปอีกวัน โชคดี (ตามคำบอกของมาเต) ที่ภรรยาของเขาไม่ทนต่อพฤติกรรมเช่นนั้น และบอกกับเขาว่าเธอเข้าใจดีว่ามันทำให้เขานึกถึงอดีต แต่เขาจะใช้ประสบการณ์ในอดีตมาสร้างความชอบธรรมให้การกระทำในปัจจุบันไม่ได้
ใช่ เรย์รู้ดี เธอรู้จักทั้งมาเตในปัจจุบัน และเด็กชายมาเต ทารกคนนั้นที่แม่ของเขาเคยส่งตัวให้คนแปลกหน้าเพื่อหนีการตามล่าจับกุมของนาซี ประสบการณ์เฉพาะตัวของมาเตที่คล้ายกับเด็กคนอื่นๆ ที่เคยต้องห่างจากพ่อหรือแม่ในวัยเด็กจนพัฒนาท่าที detachment เหมือนกัน เพราะการปรารถนาความใกล้ชิด อันเป็นพื้นฐานของมนุษย์โดยเฉพาะกับทารกที่จำเป็นต้องพึ่งพาการดูแลเพื่อความอยู่รอด แต่ไม่สามารถได้ความใกล้ชิดนั้นเจ็บปวดเกินไป จนการถอดถอนความรู้สึกแทนนั้นง่ายกว่า ทว่าการปฏิเสธความรู้สึกนั้นก็มีราคาที่ต้องจ่าย มีผลกระทบตามมา
ใช่ เรย์รู้จักมาเตดี เธอเข้าใจ แต่เธอจะไม่ยอมให้เขาใช้กลยุทธ์ที่ใช้ป้องกันตัวในวัยเด็กในปัจจุบันอีกต่อไป ไม่ใช่เพราะมันไม่ดีต่อเธอ แต่เพราะมันไม่ดีกับตัวเขาเอง ที่ไม่ยอมสัมพันธ์เพียงเพราะความกลัวที่ติดค้างมาจากอดีตและส่งต่อความกลัวนั้นต่อไป
ถ้าจะสปอยล์อย่างถึงที่สุด ‘ความสัมพันธ์’ (connection) คือสิ่งที่มาเตชี้ให้เราเห็นว่านี่คือ ‘ความปกติ’ หรือธรรมชาติพื้นฐานที่สุดของความเป็นมนุษย์ ตั้งแต่ในระดับพยาธิวิทยา การพึ่งพามนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ หรือความสัมพันธ์ระหว่างกาย-ใจ ประสบการณ์อดีต-พฤติกรรมในปัจจุบัน-มุมมองต่ออนาคตของตนเอง ฯลฯ ความสัมพันธ์ที่เชื่อมร้อยต่อกันเป็นองค์รวม แยกขาดกันไม่ได้ที่ขัดแย้งกับวิธีการมองโรค/โลก และใช้ชีวิตที่จำแนก แยกสิ่งต่างๆ ออกจากกัน
“เรื่องของเรื่องก็คือสุขภาพและความเจ็บป่วยไม่ใช่สภาวะบังเอิญที่เกิดขึ้น ณ จุดใดจุดหนึ่งของร่างกาย แต่เป็นการเผยตัวของการใช้ชีวิตทั้งหมด เป็นสิ่งที่ไม่สามารถทำความเข้าใจแยกส่วนกันได้ เป็นเครือข่ายโยงใยของเหตุและผล ความสัมพันธ์ สถานการณ์ และประสบการณ์ที่ส่งผลต่อกัน”
หากความปกติโดยธรรมชาติอย่างถึงที่สุดคือความสัมพันธ์ รูปแบบการใช้ชีวิตในปัจจุบันก็ดูจะทำให้เราแปลกแยก ตัดขาดจากธรรมชาติของเราอย่างถึงที่สุด ด้วยสารพัดสินค้าและบริการที่ทำให้เราไม่ต้อง ‘สัมพันธ์’ ไม่ใช่แค่กับผู้อื่น แต่กับปัจจุบันของตัวเราเอง หากรำคาญใจ ไม่สบายใจ ก็มีผลิตภัณฑ์ สารมากมายที่คอยระงับไว้ และการไม่สัมพันธ์กับอารมณ์ที่เกิดขึ้น ปฏิเสธ กดข่มมันไว้ก็ยิ่งทำให้เราแปลกแยกจากตัวเองจนก่อให้เกิดความป่วยไข้ภายในตามมาในท้ายที่สุด
ตลอดห้าร้อยกว่าหน้า ผ่านเรื่องเล่า บันทึกของผู้คน กรณีศึกษา งานวิจัยต่างๆ และประสบการณ์ตรงของพวกเขาเอง มาเตชำแหละเครือข่ายโยงใยที่ว่านั้นให้ค่อยๆ เห็นความสัมพันธ์ที่เรียงร้อยเข้าด้วยกันอย่างแยบยลจน ‘เป็นปกติ’ และส่งผลต่อมุมมอง การตอบสนอง ท่าที ความรู้สึกของเราที่มีต่อโลก ซึ่งท้ายสุดเราเองก็กลายเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลต่อสภาพแวดล้อมในโลกเราต่อไป
การชำแหละของเขาใน The Myth of Normal และงานเขียนเล่มที่ผ่านมาที่เต็มเปี่ยมด้วยเจตนาในการพาเรากลับคืนสู่สภาวะ ‘ปกติ’ ธรรมชาติที่เราเป็นอย่างแท้จริง ผ่านการเยียวยา ไม่ใช่เยียวยาในความหมายของการรักษา แต่เยียวยาตามรากศัพท์ของมันที่แปลว่าการ “หวนคืนสู่ทั้งหมด” ที่เริ่มต้นจากการยอมรับทุกเสี้ยวส่วนของเรา ทั้งประสบการณ์ ความรู้สึก สภาพแวดล้อม
ยอมรับและปล่อยไป เพื่อใช้ชีวิตสดใหม่ในแต่ละวินาที