จรัญ มาลัยกุล: ‘อ่านสร้างชาติ’ คลื่นยักษ์หนังสือ และอาสาสมัครหลังโกดัง

617 views
6 mins
August 27, 2024

          นายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช เคยเขียนบทความตอนหนึ่งว่า คลื่นยักษ์ในปี 2547 มีด้วยกันทั้งหมด 3 ลูก หนึ่ง-คลื่นสึนามิ สอง-คลื่นสิ่งของบริจาค และสาม-คลื่นอาสาสมัคร

          จรัญ มาลัยกุล คือคลื่นยักษ์ลูกที่สามในช่วงเวลานั้น

          หลังภัยพิบัติโหมซัดสาด เหลือทิ้งไว้เพียงเศษซากและความสูญเสีย จรัญถอดเนกไทและตำแหน่งงานในรัฐสภา สวมเสื้ออาสาสมัครของมูลนิธิกระจกเงา หน้าที่ของเขาในห้วงเวลานั้น คือการระดมอาสาสมัครจากกรุงเทพฯ ไปยังพื้นที่ประสบภัยสึนามิ ทำงานสารพัดตั้งแต่เก็บขยะบนชายหาด สร้างบ้าน ทำกิจกรรมกับลูกหลานผู้ประสบภัย ไปจนถึงต่อเรือออกทะเลนับร้อยลำ

          จากหนุ่มรัฐศาสตร์ สวมเชิ้ตผูกเนกไท กางเกงสแล็กรีดเรียบ และรองเท้าหนังขัดเงาวาว ในรัฐสภา ปัจจุบันจรัญคือหัวเรือใหญ่ของโครงการ ‘อ่านสร้างชาติ’ มูลนิธิกระจกเงา

          นับตั้งแต่ปี 2551 จนถึงปัจจุบัน โครงการ ‘อ่านสร้างชาติ’ ทำหน้าที่เป็นข้อต่อระหว่าง ‘ผู้บริจาค’ และ ‘ผู้รับบริจาค’ หนังสือมือสอง ออกแบบความสัมพันธ์และระบบนิเวศของการบริจาคหนังสือขึ้นมาใหม่ บนเงื่อนไขสำคัญคือ ‘ผู้รับต้องเป็นผู้เลือกหนังสือที่ตัวเองต้องการ’ ขณะเดียวกัน ‘ผู้ให้ต้องเลือกในสิ่งที่ตัวเองคิดว่าดีที่สุด’

          โจทย์นี้นับว่าท้าทายสังคมในช่วงเวลานั้น โดยเฉพาะคนทำงานที่นอกจากจะต้องออกแบบระบบให้ทำงานได้จริง แน่นอนว่าการยืนระยะโครงการได้ยาวนานเช่นนี้ เบื้องหลังคือต้นทุนมหาศาลที่ต้องแบกรับ ไหนจะคลื่นหนังสือบริจาคที่หลั่งไหลสู่มูลนิธิกระจกเงากว่า 10 ปี ต้นทุนในการจัดการเหล่านี้ล้วนแล้วคือเม็ดเงินที่อาศัยเพียงความฝันและอุดมการณ์ คงไม่เพียงพอ

จรัญ มาลัยกุล: ‘อ่านสร้างชาติ’ คลื่นยักษ์หนังสือ และอาสาสมัครหลังโกดัง

เด็กชายจรัญแห่งหมู่บ้านโคกชะอม

          “ตอนเด็กจำได้เลยว่า เราไม่อยากทำนา ไม่อยากลำบาก มันเหนื่อย”

          บทสนทนาในเช้าวันนั้น พาจรัญนั่งไทม์แมชชีนกลับไปสมัยที่เขายังมีจอบเสียมเคียวค้อนเป็นอาวุธคู่กาย ในครอบครัวที่เกือบล่มสลาย เร่ขายวัวควายและบ้านช่องเพื่ออิสรภาพของบิดา จรัญรู้ดีว่า เขาหาได้ปรารถนาอาชีพเกษตรกรดังที่พ่อแม่วาดหวังแกมบังคับ ครั้นจะเอาดีด้านการเรียน สตุ้งสตางค์ในกระเป๋าก็ดูจะไม่ได้ดั่งใจเด็กชายชาวไร่เท่าใดนัก

           “เพื่อนผมรักการเรียนหนังสือ เขาก็พาไปเรียน กศน. เราก็เลยเรียนแล้วสอบเทียบเพื่อจะเอาวุฒิ ม.3 มาทำงานโรงงานในกรุงเทพฯ พ่อแม่ไม่รู้หรอกว่าเราจะเรียน จะทำอะไร แค่ทำงานส่งตังค์กลับบ้านก็โอเคแล้ว”

          เขาเรียนเพื่อแสวงหาโอกาส… โอกาสที่ไม่รู้ว่าหน้าตาเป็นเช่นไร ทำงานเพื่อเลี้ยงท้องและปากที่กู่ร้องอย่างตรงเวลา ชีวิตเดินทางประหนึ่งเรือใบที่ไร้ใบเรือ ลอยเร่ร่อนในมหาสมุทรตามแต่เกลียวคลื่นและกระแสน้ำจะพาพัดไป

          “ผมชอบอ่านหนังสือ ชอบกลิ่นหนังสือ ไม่ใช่วรรณกรรมด้วยนะ หนังสือทั่วไปนี่แหละ หนังสือที่เขาให้เรียน เราต้องอ่าน ถ้าไม่อ่านสอบไม่ได้ แต่รู้สึกว่าชอบ”

          หลังสอบเทียบวุฒิการศึกษา ม.6 จรัญยังคงทำงานสารพัด พร้อมๆ กับการเรียนต่อในฐานะนักศึกษารามคำแหง กลางคืนเข้ากะ รปภ. กลางวันนั่งสัปหงกในห้องเรียน เล่าถึงตรงนี้เขาก็หัวเราะร่วน

          “นึกอยู่สองอย่างว่าต้องทำงานด้วยเรียนไปด้วย ปรากฏว่าเราเลือกงาน รปภ. นี่แหละ เข้ากะกลางคืน เรียนกลางวัน คิดแบบเด็กๆ มาก จนลืมไปว่า แล้วนอนตอนไหน

          “เวลาเริ่มการศึกษาใหม่ก็จะมีพี่ๆ เดินมาหาน้องชวนไปออกค่าย มีพี่คนหนึ่งชวนมาอยู่ซุ้มวรรณศิลป์ ไปออกค่ายวรรณกรรมกัน ไม่ได้เป็นชมรมแล้วนะตอนนั้น สมัยก่อนเคยเป็นชมรม – รุ่นพี่วัฒน์ วรรลยางกูร ต่อมาชมรมก็ถูกยุบไป”

          จากนักอ่านหนังสืออะไรก็ได้ที่มือคว้าถึง สู่การทำความรู้จักวรรณกรรมหลากหลายแขนง ตั้งแต่วรรณกรรมไทยยันวรรณกรรมรัสเซีย

          “เพื่อนมันเอาแต่ของหนักๆ มาให้ทั้งนั้น เราก็ต้องอ่าน เดี๋ยวคุยกับเขาไม่รู้เรื่อง” เขาว่าไปหัวเราะไป เส้นทางของเด็กชายจรัญแห่งหมู่บ้านโคกชะอม จังหวัดนครสวรรค์ ได้มาบรรจบกับโลกหนังสือหลากรส ท่ามกลางบรรยากาศของหนุ่มสาว ช่างคิดอ่านและใฝ่ฝัน ในสถานการณ์บ้านเมืองอันคุ้มดีคุ้มร้าย เรื่องราวเป็นอันเริ่มต้นด้วยประการนี้

จรัญ มาลัยกุล: ‘อ่านสร้างชาติ’ คลื่นยักษ์หนังสือ และอาสาสมัครหลังโกดัง

เคารพผู้ให้ รักษาศักดิ์ศรีของผู้รับ

          “รามคำแหงมันดีอย่าง คือย้ายคณะง่าย ผมย้ายไปทุกคณะตั้งแต่สถิติ คอมพิวเตอร์… ยังนึกในใจว่าโง่จะตายยังไปอยู่คอมพิวเตอร์ (หัวเราะ) ชีวิตไม่มีใครแนะแนว ผจญภัยเอง พอไม่ได้ก็ถอยไปเรียนกฎหมาย ท่องมาตราไปเถอะ ท่องให้ตายก็จำไม่ได้ พอมาเรียนเศรษฐศาสตร์ เจอคณิตศาสตร์ กราฟแท่ง โอ้ ไม่ไหว หลังชนฝาที่รัฐศาสตร์เนี่ยแหละ”

          แม้จะเรียนรัฐศาสตร์เพราะหลังชนฝา แต่ถึงที่สุด จรัญได้ทำงานในตำแหน่งนักวิชาการประจำคณะกรรมาธิการรายจ่ายงบประมาณรายปี

          “ชื่อแม่งโคตรเท่” เขาว่า

          จรัญรู้ดีว่าตนชอบอ่าน รักงานการที่ได้ข้องแวะเกี่ยวพันกับหนังสือ บวกกับต้นทุนความสนใจในประเด็นทางสังคม หลอมรวมให้จรัญมารู้จักกับงานอาสาสมัคร และ หนูหริ่ง-สมบัติ บุญงามอนงค์ นักกิจกรรมทางสังคม และผู้ก่อตั้งมูลนิธิกระจกเงา

          “มูลนิธิกระจกเงามันแปลก คืออยากทำอะไรก็มาคุยกัน แล้วที่มูลนิธิกระจกเงามีหนังสือบริจาคเข้ามาตลอด พี่หนูหริ่งแกก็ชวนคุยว่า ‘เรามาทำอะไรกันไหม’ ผมก็เป็นเจ้าภาพโครงการนี้ มันต้องมีเจ้าภาพนะ เพราะแค่มีคนบริจาคหนังสือมาหนึ่งคันรถ เราก็แทบไม่มีเวลาไปทำอย่างอื่นแล้ว”

          โครงการ ‘อ่านสร้างชาติ’ จะรุ่งหรือจะล่ม ตอนนั้นไม่มีใครรู้ แต่สิ่งที่จรัญและทีมเริ่มทำคือ เดินสายถอดบทเรียนทุกองค์กรที่เคยทำโครงการด้านรับบริจาคหนังสือ ภายหลังทำการบ้านอย่างหนัก บวกกับต้นทุนความรู้ของมูลนิธิกระจกเงา ทั้งจากเหตุการณ์สึนามิปี 2547 และเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 อ่านสร้างชาติ จึงเริ่มต้นขึ้นด้วยความตั้งใจแน่วแน่ ว่าหนังสือบริจาคของพวกเขาจะไม่กลายเป็นภาระของผู้รับปลายทาง

          จรัญและทีมสร้างระบบความสัมพันธ์ที่เคารพผู้ให้ และรักษาศักดิ์ศรีของผู้รับ บนความเชื่อว่าหนังสือและการอ่านยังคงเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความสำเร็จในการดำรงชีวิต และเป็นรากฐานของสังคมแห่งการเรียนรู้

          “ตอนแรกเรารู้สึกว่า ทำไมทำร้ายกันขนาดนี้ บางคนส่งขยะมา ซึ่งโดยหลักการแล้ว คนไม่ได้บริจาคของที่เขารักให้เราหรอก แต่เขาบริจาคของที่จะทิ้งหรือไม่ใช้แล้ว ประเด็นคือเราต้องให้ความรู้กัน สื่อสารกันให้ได้ หาจุดตรงกลางให้เจอ แน่นอนว่าผู้บริจาคก็รักของของเขา ส่วนผู้รับก็อยากได้ของดี

          “ประเด็นคือเราจะไม่ไปยุ่งวุ่นวายกับผู้ให้มาก เช่นจะไปบังคับเขาได้ไงว่าต้องส่งหนังสือดีๆ มา บางทีก็ไม่เป็นไร ดีของใคร ของเขารึเปล่า หรือดีของเรา …ถ้างั้นเอามา เดี๋ยวจัดการเอง”

          เริ่มจากคัดแยกหนังสือตามระดับอายุ ตั้งแต่เด็กแรกเกิดและปฐมวัย ประถมศึกษา มัธยมศึกษา อุดมศึกษา วัยทำงาน วัยชรา หนังสือสำหรับชมรมอิสระ สำหรับวัด สำหรับห้องสมุดอิสระ กระทั่งหนังสือสำหรับสถานพินิจและเรือนจำ

          “แปลกมาก ทัศนคติของเรือนจำคือคนในคุกต้องอ่านธรรมะ ซึ่งคนในคุกโคตรเก่งเลยนะ เก่งภาษาอังกฤษ จบปริญญาเอกกันมา เล่นกีตาร์เพลงฝรั่ง มีแต่คนเก่งๆ”

          สำคัญคือ หนึ่ง-คัดของดี สอง-คัดแยกให้สมกับวัย สาม-ออกแบบกิจกรรมที่ผู้รับมีสิทธิ์เลือกโดยไม่ถูกยัดเยียด

          “ในฐานะที่เราเป็นเด็กยากจนมาก่อน ที่รับไปเพราะไม่รู้ว่าอย่างอื่นมันดีกว่ารึเปล่า หรือบางทีเราได้แต่มาม่า จริงๆ แล้ว เดี๋ยวนี้มีอาหารเกาหลีแล้วนะ ให้บ้างไม่ได้เหรอ (หัวเราะ)” 

          เสียงหัวเราะปรากฏในห้องสนทนาเล็กๆ เป็นระยะ เพราะนอกจากไอเดียอันเป็นเลิศ อารมณ์ขันของเขาก็ถือได้ว่าหาตัวจับยาก

          จะรู้ได้อย่างไรว่าคนต้องการอ่านอะไร – หัวใจสำคัญของคำถามนี้ จรัญบอกว่าคือ ‘การสื่อสาร’

          กลุ่มเป้าหมายหลักของโครงการอ่านสร้างชาติ คือ ห้องสมุดโรงเรียน, ห้องสมุดชุมชน, กลุ่มองค์กรชาวบ้าน, เด็กและเยาวชนผู้ขาดโอกาสในการเข้าถึงหนังสือ หัวใจคือการสร้างเครือข่ายและสื่อสารความต้องการให้ชัดเจน ข้อนี้สำคัญ เพราะมันหมายถึงความต้องการของผู้รับ และความต้องการของโครงการที่ต้องสอดคล้องกัน

          “อย่างกลุ่มนักเรียนนักศึกษา สมมติเขาชอบ แจ่มใส เรามีเต็มไปหมดเลยนะ ชอบนิยายวายก็มีให้ แต่เราก็จะแนะนำเพิ่มเติมหนังสือหรือวรรณกรรมแนวใกล้เคียงกันไปด้วย อ่านแล้วเป็นอย่างไรค่อยสื่อสารกัน”

จรัญ มาลัยกุล: ‘อ่านสร้างชาติ’ คลื่นยักษ์หนังสือ และอาสาสมัครหลังโกดัง

อ่านสร้างชาติ คลื่นหนังสือและคนเบื้องหลัง

          ประเมินด้วยสายตาคร่าวๆ โกดังหนังสือในช่วงสายของวันนั้น บรรจุอาสาสมัครราว 20 ชีวิต รถยนต์เทียบลานจอดไม่ต่ำกว่า 5 คันใน 1 ชั่วโมง จรัญบอกว่า ตัวเลข 3,000-4,000 เล่มคือจำนวนหนังสือที่หลั่งไหลเข้ามาต่อวัน ไม่ต่างจากคลื่นยักษ์กระดาษสารพัดชนิดที่ต้องใช้ทรัพยากรจำนวนมหาศาลในการจัดการ

          “ทักษะของอาสาสมัครที่เราต้องการคือ อ่านหนังสือออก เราจะแยกหมวดให้เขาชัดเจน เช่น หนังสือดีมีคุณภาพคือหนังสือไม่ฉีกขาด ไม่โป๊เปลือย ไม่ล้าสมัย รวมไปถึงคาถาอาคม เราไม่เอา ตำราเรียนที่รัฐส่งให้โรงเรียนแล้วถูกบริจาคต่อมาก็ไม่เอา เมื่อก่อนคุรุสภาส่งหนังสือเรียนมาให้เราเป็นหมื่นเล่มก็ดีใจ เห็นสภาพมันใหม่เอี่ยม พอคุณครูมาถึงก็บอกเราว่า พี่จรัญ อันนี้ไม่มีใครเอาหรอกนะ รัฐพิมพ์ส่งอยู่แล้วทุกปี (หัวเราะ) เราไม่รู้จริงๆ

          “เราต้องแยกก่อนว่า อันไหนพ็อกเก็ตบุ๊ก นิตยสาร งานวิจัย เอกสารรายงาน เศษโบรชัวร์ เศษนามบัตร แล้วนำมาแยกหมวด เช่น How to, วรรณกรรม, สารคดี, ชีวจิต, National Geographic, a day ยัน Bioscope บางเล่มแม้ว่าจะเก่า แต่ถ้าเป็นศิลปะมันไม่ล้าสมัย ยิ่งเป็นหนังสือเกี่ยวกับภาพยนตร์ยิ่งดี”

          แล้วเงินล่ะหาจากไหน… ไม่ว่าจะค่าน้ำ-ไฟ ค่าเช่าโกดัง ค่าส่งหนังสือ และค่าจิปาถะที่งอกเงยระหว่างดำเนินงานตลอดระยะเวลากว่า 10 ปี

          “ตอนเราศึกษาโครงการของโตโยต้า เราพบว่าโตโยต้าทำโครงการ 5 ปี 11 ล้านเล่ม แต่แล้วก็เลิกทำเพราะมีปัญหาเรื่องงบประมาณ เขาต้องเช่าโกดังที่รถสิบล้อสามารถเข้าไปข้างในได้ จ้างคนแพ็กหนังสือ 11 ล้านเล่มนี่ไม่ธรรมดานะ แต่มูลนิธิโตโยต้าไม่ได้คัดหนังสือเหมือนเรา

          “กุญแจสำคัญคือ มูลนิธิกระจกเงามีประสบการณ์เรื่องอาสาสมัคร เรามีตั้งแต่สึนามิ น้ำท่วมใหญ่กรุงเทพฯ น้ำท่วมใหญ่ที่อุบลฯ เราก็ส่งอาสาสมัครไปล้างบ้าน ดังนั้นต้นทุนของเราคืออาสาสมัคร เขาจะมารูปแบบไหนก็ได้ จะมารายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน หรือจะมาอยู่ชั่วชีวิตก็ได้”

จรัญ มาลัยกุล: ‘อ่านสร้างชาติ’ คลื่นยักษ์หนังสือ และอาสาสมัครหลังโกดัง

          ก่อนหน้านี้ ‘อ่านสร้างชาติ’ ใช้วิธีขอทุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ราว 1.5 ล้านบาทต่อปี สำหรับค่าเช่าสถานที่ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอินเทอร์เน็ต ค่าเจ้าหน้าที่ ค่าน้ำมันรถ ค่ากิจกรรม และค่าส่งหนังสือให้กลุ่มเป้าหมาย จรัญและทีมเขียนโครงการเช่นนี้อยู่ 5 ปีเต็ม ก่อนเริ่มต้นหาลู่ทางเปลี่ยนทรัพยากรบางส่วนเป็นทุน เพื่อให้โครงการดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยตนเองในระยะยาว

          “เราเริ่มหาตังค์เอง พี่หนูหริ่งก็มาช่วยคิด ก่อนมาจบด้วยการขายกระดาษ ปรากฏว่าขายกระดาษได้เงินมากกว่าขอทุนอีก แถมเงินที่เหลือยังเอาไปช่วยโครงการอื่นในมูลนิธิได้อีก

          “เราคิดว่าเรื่องวัฒนธรรมการอ่าน จะทำแค่ปีสองปีไม่ได้ อยู่สิบปีก็ยังไม่ได้ มันต้องพัฒนาไปเรื่อยๆ เพราะโลกก็เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ มันอาจจะอยู่ในกระดาษตลอดไป แต่จะอยู่ในแพลตฟอร์มไหนก็แล้วแต่ เนื้อหาของมันต่างหากที่สำคัญ”

          หนังสือมือสองกระจายสู่พื้นที่ทั่วประเทศ โดยมีโครงการอ่านสร้างชาติ เป็นตัวกลาง เฉลี่ยปีละประมาณ 100,000 เล่ม ตกปีละ 300-400 โรงเรียน ยังไม่นับกิจกรรมเช่นการจัดทำนิทานท้องถิ่น ‘ออกล่าเรื่องราวจากผู้เฒ่าผู้แก่มาทำนิทานท้องถิ่น’ โดยสำนักพิมพ์มูลนิธิกระจกเงา ที่ออกผลงานมาแล้วถึง 3 เล่ม คือ หมาจอกไม่ชอบอาบน้ำ จากชัยภูมิ, เมืองต้นไม้ จากโคราช และ เขียดกับเสือ ที่ศรีสะเกษ รวมไปถึงกิจกรรมเดินสายสัญจร โดยจัดกระบวนการเรียนรู้ผ่านหนังสือนิทาน ละครหุ่นมือ และวางแผงขายหนังสือเล่มละบาทในชุมชน

          “ตอนเป็นเด็กไม่เคยมีใครมาแนะนำหรือแนะแนว แต่เราเชื่อว่าชุมชนมีความสำคัญมาก เพราะมันคือระบบนิเวศของมนุษย์คนหนึ่ง เขาอยู่กับมัน สื่อสารกับมัน ซึมซับกับมัน”

          หากว่ากันในเชิงปริมาณ ข้อนี้เราต่างปราศจากความสงสัย ส่วนในเชิงคุณภาพ อาจไม่มีข้อมูลหรือผลสำรวจอย่างเป็นทางการ เพราะลำพังปริมาณงานตรงหน้าเทียบกับจำนวนคน ถือได้ว่าเป็นเรื่องยาก ทว่าในอนาคต นี่คือโจทย์ที่ท้าทายของทีมในการออกแบบระบบเพื่อเชื่อมต่อถึงผู้อ่านปลายทาง

          “เราเชื่ออย่างหนึ่งว่า คุณภาพอยู่ที่หนังสือ ถ้าหนังสือมีคุณภาพ พอไปถึงผู้คน หนังสือก็จะทำงาน แต่ถามว่าอ่านแล้วได้อะไร อ่านแล้วดีจริงไหม เรายังไม่ได้สำรวจ ซึ่งมันสามารถทำได้ในอนาคตนะ คือใช้เทคโนโลยีและออนไลน์เข้าไปหาผู้อ่านได้”

          ระบบนิเวศของการเรียนรู้ไม่ได้หยุดอยู่แค่หนังสือ สำหรับจรัญ เขามองว่าการเข้าถึงความรู้มีหลากหลายวิธี บางคนชอบฟัง บางคนชอบดู หนังสือเป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งที่ยังสำคัญ​และลึกซึ้ง ประเด็นคือการสร้างระบบนิเวศของการเรียนรู้ต่างหากที่สำคัญ และเป็นหน้าที่ของทุกคนในสังคม โดยเฉพาะภาครัฐที่มีทรัพยากรและอำนาจเต็มมือ

          “พูดในหลักใหญ่ใจความ รัฐมีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงและมีงบประมาณ แต่กลับให้มูลนิธิซึ่งเป็นองค์กรเอกชนหางบประมาณสุดลิ่มทิ่มประตู แถมทำได้ดีกว่าด้วย หลายครั้งพอเราไปช่วยก็ว่าเราล้ำเส้น แต่คุณทำได้ไม่ดีเท่าเรา นี่คือปัญหาในเชิงโครงสร้าง”

          ก่อนสิ้นสุดบทสนทนาและแยกย้าย เราถามจรัญทีเล่นทีจริงว่า ในฐานะหัวเรือใหญ่ของโครงการ หากวันนี้คุณขอลาพักร้อนสัก 1 ปี ‘อ่านสร้างชาติ’ จะเป็นอย่างไร เขาตอบทันควันโดยไม่ต้องเสียเวลาคิด

          “ไม่มีเรา โครงการนี้รันต่อได้สบายมาก”


เผยแพร่ครั้งแรกในหนังสือ ‘Readtopia ผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงในระบบนิเวศการอ่านของไทย’ (2566)

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก