‘The Little Book of Stoicism’ บางคนบอกว่าสโตอิกมองโลกแง่ร้าย เก็บกด ศิโรราบ และไร้หวัง

5,211 views
5 mins
October 18, 2022

          “ถ้าเราไม่รู้ว่าจะแล่นเรือไปยังท่าไหน สายลมใดๆ ก็ไร้ประโยชน์”

          คำกล่าวของเซเนกาทั้งคมคาย ชวนหลงใหล และกระตุ้นให้ฮึกเหิม เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของปรัชญาสโตอิกที่ยังคงมีคนศึกษาและนำมาปฏิบัติในชีวิตประจำวัน

          ราวปี 320 ก่อนคริสตกาล ปรัชญาสโตอิกเริ่มตั้งไข่จากความโชคร้ายของซีโน เขาศึกษาปรัชญาการใช้ชีวิตกับเครตีสก่อนจะกลายเป็นครูในภายหลัง ชื่อสโตอิกมาจากคำว่า Stoa Poikile หรือระเบียงแห่งภาพวาดซึ่งเป็นจุดที่ซีโนใช้บรรยายปรัชญาของเขา ณ ใจกลางกรุงเอเธนส์ ปรัชญาสโตอิกถูกส่งต่อมารุ่นแล้วรุ่นเล่าจนถึงบรรดาผู้ยิ่งใหญ่ทั้งสี่ คือ เซเนกา, เอพิคเตตัส, มาร์คัส ออเรเลียส และมูโซนิอัส รูฟัส (คนหลังเป็นที่รู้จักน้อยที่สุด) ผู้ทำให้ปรัชญาสโตอิกเป็นที่รู้จักกว้างขวางจวบจนทุกวันนี้

          Jonas Salzgeber เป็นอีกคนหนึ่งที่ศึกษาและปฏิบัติตามปรัชญาสโตอิก เขาแปรความรักและชื่นชอบออกมาเป็นหนังสือที่ชื่อว่า ‘THE LITTLE BOOK OF STOICISM’ หรือในชื่อไทยว่า ‘สโตอิก ปรัชญาเสริมแกร่งเพื่อชีวิตไม่สั่นคลอน’ คำโปรยบนปกระบุว่า ‘ตั้งหลักกับชีวิตด้วยวิธีคิดแบบกรีก รับมือกับปัญหาทุกขนาดด้วยจิตใจที่เสริมแกร่ง’

          ส่วนฉบับที่วางขายบน Amazon โปรยหน้าปกว่า ‘Timeless Wisdom to Gain Resilience, Confidence and Calmness’ แปลแบบงูๆ ปลาๆ ว่า ‘ภูมิปัญญาไร้กาลเวลาเพื่อการฟื้นคืน ความมั่นใจ และความสงบ’ ที่ผมนำมาพูดถึงเพราะวิธีการโปรยแสดงออกถึงวิธีคิดและมุมมองต่อเนื้อหาในหนังสือ เลยอยากให้ทุกคนสังเกตและพิจารณาดู

          ผมเป็นคนหนึ่งที่สนใจแนวคิดทางปรัชญา แต่ก็ไม่ได้ลุ่มลึกมากนัก รู้จักและเคยได้ยินปรัชญาสโตอิกมาบ้าง หนังสือบางเล่มที่เนื้อหากล่าวถึงศิลปะแห่งความสุขก็อ้างอิงปรัชญาสโตอิกเป็นฐานก่อตัวขึ้นไปหาความสุข

          ใครที่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้อาจรู้สึกว่าปรัชญาสโตอิกมีส่วนคล้ายปรัชญาพุทธอยู่บ้าง ทั้งสองแนวคิดเน้นการพิจารณา ติดตาม ตรวจสอบความรู้สึกนึกคิดที่เกิดขึ้นในจิตใจด้วยเชื่อว่าจิตใจที่ปรุงแต่งเป็นต้นตอของความทุกข์ แทบไม่มีสิ่งใดบนโลกนี้เลยที่เราสามารถควบคุมได้โดยสมบูรณ์ ทุกอย่างล้วนเปลี่ยนแปลง แม้กระทั่งจิตใจของเราเอง ถึงกระนั้น จิตใจนี้เองก็ยังเป็นสิ่งที่เรียกได้ว่าเราสามารถควบคุมมันได้มากที่สุด ดังนั้น หากเราใส่ใจต่อสิ่งที่ควบคุมได้ ปล่อยวางสิ่งที่ไม่สามารถควบคุมได้ เราย่อมค้นพบความสุขสงบภายใน

          เพียงแต่ว่าเมื่อดำดิ่งลงไป ปรัชญาพุทธเชื่อว่าทุกสิ่งเป็นอนัตตา ไร้ตัวตน แม้แต่จิตใจก็เช่นกัน ซึ่งสโตอิกไม่ได้ไปถึงจุดนั้น เป้าหมายของปรัชญาพุทธคือนิพพาน ส่วนสโตอิกคือยูไดโมเนียหรือการใช้ชีวิตที่สอดคล้องกับศักยภาพตามธรรมชาติของตนเอง “ในแบบที่สูงส่งที่สุด” โดยใช้เหตุผลเป็นเครื่องมือหลัก

          Jonas Salzgeber สรุปปรัชญาสโตอิกออกมาเป็นสามเหลี่ยมแห่งความสุข มียูไดโมเนียอยู่ตรงกลางสามเหลี่ยม แต่ละมุมประกอบด้วย “การรับผิดชอบ” ต่อทุกสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเรา การ “สนใจในสิ่งที่คุณควบคุมได้” และ “ใช้ชีวิตอยู่กับอาเรเต้” หรือการเผยตัวตนด้านดีงามสูงสุดของเราออกมาทุกชั่วขณะ สโตอิกจึงให้ความสำคัญกับการมีสติตระหนักรู้เท่าทันอารมณ์ แล้วใช้เหตุผลไตร่ตรองก่อนที่เราจะมีปฏิกิริยาต่อสถานการณ์ต่างๆ ในชีวิต สนใจเฉพาะสิ่งที่ควบคุมได้เท่านั้นซึ่งก็คือความคิดและจิตใจของเรา

          พอเข้าสู่ภาคที่ 2 ของหนังสือ ผู้เขียนแนะนำแบบฝึก 55 ข้อเพื่อการเป็นชาวสโตอิกที่ดี เช่น การเตือนตัวเองถึงความไม่แน่นอนของสรรพสิ่ง การกำจัดสิ่งที่ไม่สำคัญออกไป วิธีรับมือความเศร้าโศก การรู้สึกขอบคุณในสิ่งที่มี การมีความเมตตา การเลือกเพื่อนที่ดี เป็นต้น

          เอาล่ะ คราวนี้ก็มาสู่สิ่งที่ผมคิดต่อหนังสือเล่มนี้ ผมคิดว่าหลักการโดยกว้างของสโตอิกมีประโยชน์ ควรนำไปปฏิบัติ แต่ถ้าจะให้ผมเป็นชาวสโตอิกและบำเพ็ญพรตามคำแนะนำทุกข้อ ผมคงต้องปฏิเสธ

          มีคำถามมากมายชวนให้ยั่วแย้งได้ ยกตัวอย่างธรรมชาติของตนเองในแบบที่สูงส่งที่สุดคืออะไร ดูเหมือนปรัชญาสโตอิกจะตีขลุมว่ามนุษย์มีธรรมชาติสูงสุดเหมือนกัน เป็นไปได้หรือไม่ที่คนคนหนึ่งค้นพบธรรมชาติของตนแล้วจะไม่มีความสุข ฯลฯ

          การให้ความสำคัญยิ่งยวดในการฝึกฝนการใช้เหตุผลควบคุมอารมณ์ถือเป็นการละเลยธรรมชาติพื้นฐานประการหนึ่งของมนุษย์หรือเปล่า นักปรัชญาบางคนเสนอว่าเหตุผลมิใช่อะไรอื่นนอกเสียจากการเป็นเครื่องมือในการบรรลุเป้าหมายของอารมณ์ ผู้เขียนปกป้องข้อเสนอของตนว่า

           “ปรัชญาสโตอิกไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับการเก็บกดความรู้สึกหรือการเก็บซ่อนอารมณ์ หรือการเป็นคนไร้ความรู้สึก เพราะจริงๆ แล้วมันคือการทำความเข้าใจอารมณ์ของตนเอง แล้วสะท้อนเพื่อให้เห็นว่าอะไรเป็นสาเหตุของอารมณ์นั้น และเรียนรู้ที่จะปรับทิศทางใหม่เพื่อให้มันส่งผลดีกับตัวเอง หรือพูดอีกอย่างว่า มันคือการปลดปล่อยเราจากการเป็นทาสของอารมณ์ด้านลบ เป็นการสยบอารมณ์ให้เชื่องมากกว่าหาทางกำจัดมันทิ้งไป”

The Little Book of Stoicism บางคนบอกว่าสโตอิกมองโลกแง่ร้าย เก็บกด ศิโรราบ และไร้หวัง

          อารมณ์ด้านลบคือส่วนหนึ่งของชีวิต ในทางจิตวิทยาพิสูจน์แล้วว่าการกดข่มอารมณ์ไม่ส่งผลดีต่อสุขภาพจิตและกาย ดังเช่นความโกรธที่ผมมักพูดถึงบ่อยครั้ง หลายกรณีที่การแสดงความรู้สึกโกรธคือการชี้ว่ามีบางสิ่งไม่เป็นธรรม บางสถานการณ์การวางเฉย ไม่แสดงความโกรธ ไม่ต่างอะไรจากการศิโรราบต่อความอยุติธรรมและเพิกเฉยต่อพันธะทางศีลธรรมที่เรามีต่อตนเองและผู้อื่นด้วยซ้ำ

          นอกจากนี้ ปรัชญาสโตอิกยังมี ‘ความเป็นชาย’ หรือ ‘Masculinity’ สูงมากๆ คุณธรรมหลัก 4 ประการของสโตอิกประกอบด้วยปัญญา ความยุติธรรม ความกล้าหาญ และวินัย (รวมถึงเหตุผลและท่าทีอื่นๆ ที่ปรากฏในหนังสือ) ล้วนเป็นลักษณะของความเป็นชาย แม้การแบ่งทวิภาวะจะเป็นการตกหล่มการแบ่งเป็นสองเพศก็เถอะ แต่ความอ่อนโยน ความอ่อนไหว หรือคุณลักษณะใดๆ ที่ถูกตีตราว่าเป็นของเพศหญิงใช่ว่าจะเป็นองค์ประกอบทางคุณธรรมไม่ได้

          ก้าวออกไปให้ไกลกว่านั้น ปรัชญาสโตอิกเน้นการปกป้องอาณาจักรปัจเจกของตน จนคลับคล้ายจะหลงลืมว่าอาณาจักรปัจเจกเหลื่อมซ้อนกับอาณาจักรสาธารณะชนิดแยกไม่ออก

          Edith Hall นักปรัชญาสายอริสโตเตเลี่ยนวิจารณ์ไว้ใน Aristotle’s Way Ten Ways Ancient Wisdom Can Change Your Life ว่าสโตอิกค่อนข้างมองโลกในแง่ร้าย เคร่งขรึม กดข่มอารมณ์และความต้องการทางกาย ยอมรับความโชคร้ายอย่างศิโรราบ และไม่มีที่ว่างพอสำหรับความหวัง (แรงไปหรือเปล่า?)

          ผมขอยกตัวอย่างสมการความสุขที่ Jonas Salzgeber ให้ไว้

          “การใช้ชีวิตให้สอดคล้องกับอาเรเต้อยู่ภายใต้การควบคุมของเรา + สิ่งที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของเราไม่เกี่ยวกับการมีชีวิตที่มีความสุข=การใช้ชีวิตตามอาเรเต้อยู่ในการควบคุมของเรา & เพียงพอแล้วสำหรับการมีชีวิตที่มีความสุข ผลลัพธ์ก็คือ เราต้องรับผิดชอบต่อชีวิตที่มีความสุขของตัวเอง”

          คุณคิดว่าสิ่งที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของเราไม่เกี่ยวกับการมีชีวิตที่มีความสุขจริงหรือเปล่า? ในกระแสสังคมไทยปัจจุบันคำตอบคือ ไม่จริง

          ก่อนหน้านี้ผมอ่านเจอถ้อยคำให้กำลังใจเนื้อหาทำนองนี้ในเฟซบุ๊ก ประมาณว่าการจะมีความสุขเป็นภาระหน้าที่ของเรา แล้วผมก็แสดงความเห็นแย้ง มันจริงแค่บางส่วนเท่านั้น

          เคยได้ยินแนวคิดความสุขที่ชื่อ ฮุกกะ ไหมครับ มันมาจากเดนมาร์ก เป็นวิถีชีวิตที่ชนชั้นกลางมากๆ อดีตเอกอัครราชทูตเดนมาร์กประจำประเทศไทยเคยให้สัมภาษณ์สื่อเกี่ยวกับประเด็นนี้ไว้ว่า แม้การเสาะแสวงหาความสุขจะเป็นเสรีภาพของประชาชน แต่รัฐบาลเดนมาร์กก็มีหน้าที่สร้างสภาพแวดล้อมและปัจจัยที่เอื้อให้ประชาชนแสวงหาความสุข

          การใช้ชีวิตตามอาเรเต้ที่อยู่ในการควบคุมของเราโดยเชื่อว่าเพียงพอแล้วสำหรับการมีชีวิตที่มีความสุขออกจะหมกมุ่นกับตัวเองเกินไปหน่อย ผมไม่คิดว่าเราควรละเลยสิ่งที่อยู่นอกเหนือการควบคุม โดยเฉพาะประเด็นประโยชน์สาธารณะ เพราะมันเกี่ยวกับชีวิตที่มีความสุขของเราโดยตรง ซ้ำยังเกี่ยวกับชีวิตที่มีความสุขของคนร่วมสังคมด้วย

          หากคนร่วมสังคมไร้สุข ยากเหลือเกินที่เราจะมีความสุข

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก