ที่เมืองวูสเตอร์ (Worcester) ห่างจากกรุงลอนดอนไปทางตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ 216 กิโลเมตร เป็นที่ตั้งของ The Hive อาคารหลังใหม่มูลค่า 60 ล้านปอนด์ ซึ่งเกิดขึ้นจากวิสัยทัศน์และความร่วมมือกันระหว่างมหาวิทยาลัยแห่งวูสเตอร์และสภาเมืองวูสเตอร์
เอกลักษณ์ของเดอะไฮฟว์ คือ การนำบริการด้านห้องสมุดมาอยู่รวมกันกับบริการภาครัฐของสภาเมืองไว้ในอาคารเดียวกันได้อย่างกลมกลืน
อาคารเดอะไฮฟว์มี 5 ชั้น ชั้นที่ 1 ถึง 3 เชื่อมถึงกันโดยบันไดที่วางตำแหน่งไว้ตรงกลาง ส่วนชั้น 0 อยู่ระดับพื้นดิน สำหรับให้หนุ่มสาวได้พบปะ เล่นเกม ชมภาพยนตร์ ฟังดนตรี ชั้นที่ 4 เป็นห้องเก็บหนังสือหมวดหมู่พิเศษและวารสาร ชั้นนี้เป็นพื้นที่จำกัดการใช้เสียง จึงมีลิฟต์และบันไดสำหรับขึ้นลงแยกต่างหากจากชั้นอื่น
การออกแบบโดยแยกพื้นที่กิจกรรมที่ใช้เสียงกับพื้นที่ที่ต้องการความสงบ นับว่าโดดเด่นเป็นพิเศษเพราะสถาปนิกออกแบบให้ผนังและเพดานมีความลาดเอียง เพื่อให้เสียงกิจกรรมจากชั้นล่างถูกดูดซับลดความดังลงทีละชั้นจนกระทั่งแทบไม่ได้ยินเมื่อถึงชั้นบนสุด
พื้นที่ชั้นล่างระดับพื้นดิน จัดที่นั่งแบบสบายๆ ไม่เป็นทางการ สามารถนั่งคุย ทำงานหรือเล่นเกมเป็นกลุ่ม เพดานสูงและเจาะผนังบางส่วนเป็นช่องกระจกทำให้ดูโล่งและกว้างขวาง แต่ก็ยังรู้สึกมีความเป็นส่วนตัว
ชั้นที่ 1 เป็นพื้นที่เปิด มีทั้งมุมมกาแฟ ห้องสมุดเด็ก และจุดให้บริการขององค์กรบริหารท้องถิ่นแบบครบวงจรหรือ Worcester Hub ชาวเมืองที่ต้องติดต่องานกับภาครัฐสามารถเข้าถึงบริการได้ครบทุกประเภท ห้องสมุดใช้พื้นที่บริเวณชั้นนี้เป็นจุดบริการตนเองสำหรับสมาชิกที่มาสืบค้นหนังสือหรือนำหนังสือมาคืน ผนังกำแพงสีขาวสลับด้วยกระจก ชั้นหนังสือเรียบๆ สีเดียวกับผนัง บันไดและเพดานกรุผิวด้วยไม้ ประดับด้วยงานศิลปะชั้นสูง ช่วยกระตุ้นความสบายตาและความน่าสนใจ
ชั้น 2 สภาเมืองใช้สำหรับให้บริการข้อมูลด้านโบราณคดีของเมือง มีห้องประชุม ศูนย์ธุรกิจ ส่วนที่เป็นห้องสมุดจะมีคอลเลกชันที่มีเนื้อหาค่อนข้างเป็นทางการ อีกด้านหนึ่งของชั้นนี้จัดเป็นโซนนิทรรศการบอกเล่าเรื่องราวด้วยเสียงเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของเมือง โดยจัดทำอุปกรณ์ฟังแบบครอบเต็มศีรษะ (sound dome) ซึ่งจะทำงานก็ต่อเมื่อมีการเคลื่อนไหว มีแท่นฝังจอระบบสัมผัสสำหรับค้นหาข้อมูลที่สนใจ
ชั้น 3 เป็นหนังสือและสื่อการเรียนรู้ทั้งแบบที่เป็นทางการและตามอัธยาศัย ผนังกำแพงชั้นนี้เป็นกระจกโดยรอบ จึงสามารถมองเห็นทิวทัศน์อันสวยงามของเมือง
ผู้ใช้บริการมีทั้งที่มาใช้งานห้องสมุดและกิจธุระกับองค์กรบริหารท้องถิ่น ทำให้ได้เห็นความหลากหลายของบริการและสิ่งอำนวยความสะดวก สะท้อนถึงแนวคิดที่มุ่งเปิดกว้างเพื่อคนทุกคน ไม่แบ่งแยกกีดกัน ที่สำคัญคือเป็นตัวอย่างของการใช้งานพื้นที่ที่มีจุดประสงค์ต่างกันแต่กลับใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ดีอย่างเหลือเชื่อ
การปรับมุมมองที่ไม่จำกัดตัวเองเพียงแค่บริการห้องสมุดตามธรรมเนียมแบบแผน ทำให้ห้องสมุดมีศักยภาพที่จะเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์กับหน่วยงานภาคีที่ทำงานด้านบริการสาธารณะได้แทบทุกแห่ง และยังก้าวเข้าสู่บทบาทหรือความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในปริมณฑลการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย
อาคารห้องสมุดหลายแห่งของไทยในต่างจังหวัด ตั้งอยู่ใกล้ที่ว่าการอำเภอเพียงแค่เดินถึง แต่กลับต่างคนต่างอยู่ต่างคนต่างให้บริการ จะเกิดอะไรขึ้นหากบริการสืบค้นข้อมูลความรู้และยืมคืนหนังสือไปอยู่ในที่ว่าการอำเภอ และบริการทำบัตร ต่ออายุบัตร แจ้งเกิด แจ้งตาย จดทะเบียนสมรส ไปตั้งจุดบริการประชาชนอยู่ในห้องสมุด? จะเกิดอะไรขึ้นถ้าศูนย์บริการข้อมูลคนว่างงาน การจัดเวิร์กชอปฝึกอบรมพัฒนาทักษะแรงงาน เป็นส่วนหนึ่งของบริการที่ห้องสมุด ซึ่งเป็นสถานที่ที่พรั่งพร้อมด้วยข้อมูลสารสนเทศเกี่ยวกับอาชีพใหม่ๆ และความรู้สำหรับการยกระดับฝีมือแรงงาน?
ที่มา
Les Watson and Jan Howden, UK Projects and Trends (Chapter 1), Better Library and Learning Space, Facet Publishing, 2013.