‘ชีวิตเร้นลับของต้นไม้’ ต้นไม้ซับซ้อน ชีวิตซ่อนเร้น

696 views
7 mins
June 6, 2023

          เมื่อไม่กี่ปีก่อน ผู้เขียนได้อ่านเรื่องเล่าของอัลเฟรด เออร์วิง ฮัลโลเวลล์ (Alfred Irving Hallowell) นักมานุษยวิทยาชาวอเมริกันที่เขียนเล่าเรื่องราวระหว่างที่เขาลงพื้นที่ศึกษาอินเดียนแดงเผ่าโอจิบเว (Ojibwe) ซึ่งอาศัยอยู่ทางตอนเหนือของประเทศแคนาดา ฮัลโลเวลล์เล่าว่า เขาได้สานสัมพันธ์กับ วิลเลียม เบเรนส์ (William Berens) หัวหน้าของชาวอินเดียนแดงผู้รอบรู้สิ่งต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องราวของธรรมชาติอย่างชีวิตของสัตว์ป่า ต้นไม้ใบหญ้า แต่ที่ดูจะแปลกไปกว่าสิ่งอื่นๆ คือ ฮัลโลเวลล์รอบรู้ในเรื่อง ‘หิน’

          อย่างไรก็ตาม ความรู้เรื่องหินของฮัลโลเวลล์ไม่ได้หมายความว่า เขาเชี่ยวชาญในเรื่องธรณีวิทยาอะไรพรรณ์นั้น แต่เพราะในภาษาของชาวโอจิบเว ความหมายของหินคือ ‘สิ่งมีชีวิต’ (Animated Entity) ซึ่งเคลื่อนไหวได้ หาใช่วัตถุนิ่งๆ แข็งๆ ที่แน่นิ่งไม่เคลื่อนไหวอย่างที่เราคุ้นเคยกัน 

          ความน่าสนใจอยู่ที่ว่า แม้ว่าสำหรับชาวโอจิบเว ก้อนหินจะหมายถึงสิ่งมีชีวิต แต่นั่นก็ไม่ได้แปลว่า หินทุกก้อนจะมีชีวิตเหมือนกันหมด เพราะเบเรนก็ยืนยันกับฮัลโลเวลล์ว่า ไม่ใช่หินทุกก้อนจะมีชีวิตเสมอไป “แค่หินบางก้อนเท่านั้นแหละ” เบเรนส์อธิบายกับฮัลโลเวลล์

          ผู้เขียนเริ่มต้นบทความชิ้นนี้ด้วยเรื่องราวของก้อนหินไม่ใช่เพราะเนื้อหาของมันว่าด้วยก้อนหิน ตรงกันข้าม บทความที่คุณกำลังจะได้อ่านนี้ว่าด้วยเรื่องราวของ ‘ต้นไม้’ ต่างหาก อย่างไรก็ตาม สาเหตุที่ผู้เขียนเลือกจะเปิดบทความด้วยเรื่องราวของก้อนหิน เพราะเรื่องเล่าของฮัลโลเวลล์นั้นสะท้อนให้เห็นแง่มุมหนึ่งที่น่าสนใจ กล่าวคือ ประเด็นที่ว่า หินมีชีวิตจริงๆ หรือไม่หาใช่สาระสำคัญ แต่เป็นเรื่องของการพยายามชี้ชวนให้เรามองเห็นคุณค่าของสิ่งอื่นๆ รอบตัวที่พ้นไปจากมนุษย์ต่างหาก 

          ไม่ว่าจะเป็นก้อนหิน สรรพสัตว์ หรือต้นไม้ใบหญ้า สิ่งต่างๆ รอบตัวล้วนมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่า – หรืออาจมากกว่า – มนุษย์ด้วยซ้ำ ทุกสิ่งรอบตัวล้วนมีคุณค่าในตัวมัน ซึ่งเรื่องราวของหนังสือที่ผู้เขียนจะพูดถึงผ่านบทความนี้ คือความพยายามในลักษณะคล้ายๆ กัน ที่จะชี้ชวนให้เรามองเห็นถึงความสำคัญของสิ่งที่เรียกว่าต้นไม้

          ชีวิตเร้นลับของต้นไม้ (The Hidden Life of Trees) คืองานเขียนของ เพเทอร์ โวลเลเบน (Peter Wohlleben) เจ้าหน้าที่ป่าไม้ชาวเยอรมันผู้เป็นที่รู้จักในฐานะนักเขียนที่ชื่นชอบในการบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับต้นไม้ ซึ่งชีวิตเร้นลับของต้นไม้เล่มนี้เรียกได้ว่าเป็นหนังสือเล่มแรกๆ ที่แจ้งเกิดให้กับเขา 

          หลังจากหนังสือเล่มนี้ออกมา โวลเลเบนก็ได้ทยอยปล่อยหนังสือที่เกี่ยวข้องกับต้นไม้ สรรพสัตว์ และธรรมชาติออกมาเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็น The Inner Life of Animals: Love, Grief, and Compassion: Surprising Observations of a Hidden World ที่อาจกล่าวได้ว่าเป็นภาคต่อของชีวิตเร้นลับของต้นไม้ แต่บอกเล่าในมุมมองของสัตว์ที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักนัก Can You Hear the Trees Talking?: Discovering The Hidden Life of the Forest ที่โวลเลเบนถ่ายทอดเกร็ดความรู้ต่างๆ เกี่ยวกับต้นไม้ผ่านสไตล์ของหนังสือเด็ก ไปจนถึง The Heartbeat of Trees: Embracing Our Ancient Bond with Forests and Nature ที่โวลเลเบนคล้ายจะต่อยอดเรื่องราวจากหนังสือเล่มแรกของเขา

          สำหรับชีวิตเร้นลับของต้นไม้เล่มนี้ โวลเลเบนเริ่มต้นด้วยคำถามง่ายๆ ว่า ‘ชีวิตของต้นไม้นั้นเป็นอย่างไร’

          “เมื่อผมเริ่มต้นอาชีพเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ผมรู้จักชีวิตอันลึกลับของต้นไม้พอๆ กับที่คนขายเนื้อสัตว์เข้าใจความรู้สึกของสัตว์ อุตสาหกรรมป่าไม้สมัยใหม่ทำหน้าที่ผลิตไม้ หรืออาจกล่าวได้ว่าโค่นต้นไม้ลงมา แล้วก็ปลูกต้นกล้าใหม่ๆ ขึ้นทดแทน เมื่อเราอ่านวารสารวิชาการ เราก็จะเห็นได้ทันทีว่า อุตสาหกรรมป่าไม้สนใจรักษาป่าให้อุดมสมบูรณ์แบบเท่าที่จำเป็นต่อกิจการเท่านั้น ซึ่งภาระหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ในแต่ละวันก็คือแค่นั้น และนั่นทำให้ภาพลักษณ์ของต้นไม้ในสายตาพวกเขาเริ่มบิดเบี้ยวขึ้นเรื่อยๆ ในแต่ละวันผมมีหน้าที่ต้องประเมินต้นสนสปรู๊ซ ต้นบีช ต้นโอ๊ก และต้นสนหลายร้อยต้น ว่าพร้อมจะถูกส่งเข้าโรงเลื่อยแล้วหรือยัง และจะมีราคาตลาดสูงเพียงใด ฉะนั้นสายตาของผมจึงเห็นอยู่แต่เพียงแค่เรื่องเหล่านี้เท่านั้น”

          โวลเลเบนเริ่มเรื่องราวของหนังสือเล่มนี้ โดยเล่าย้อนกลับไปยังจุดตั้งต้นของชีวิตเขาที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับต้นไม้ ในฐานะเจ้าหน้าที่ป่าไม้ที่บทบาทของอาชีพนี้เกี่ยวพันกับต้นไม้โดยตรง ทว่าแม้เวลาในแต่ละวันของเจ้าหน้าที่ป่าไม้จะดำเนินอยู่ในความเขียวชอุ่มของผืนป่า คุ้นเคยกับต้นไม้ใบหญ้า คลุกคลีอยู่กับพืชพันธุ์นานาชนิด แต่ก็อย่างที่โวลเลเบนได้เล่าไปว่า แม้ว่านิยามของอาชีพนี้จะผูกพันอยู่กับต้นไม้ก็จริง นั่นก็ไม่ได้แปลว่า มุมมองที่เจ้าหน้าที่ป่าไม้มีต่อต้นไม้นานาพันธุ์จะถูกต้องและจริงแท้เสมอไป

          กล่าวให้ชัดขึ้นคือ โวลเลเบนพยายามชี้ให้เห็นว่า ทัศนคติที่เจ้าหน้าที่ป่าไม้มีต่อต้นไม้ก็เป็นมุมมองที่มีปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสายตาที่อาชีพนี้มองไปยังผืนป่าถูกฉาบเคลือบอยู่ภายใต้อุดมการณ์อุตสาหกรรมที่พยายามมองว่า ไม้แต่ละต้นจะมีคุณค่าก็ต่อเมื่อได้รับการปรับเปลี่ยนเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ 

          ปัญหาของมุมมองในลักษณะนี้ จึงเป็นการแทนค่าของต้นไม้กับการแปรรูปทางธุรกิจเพียงอย่างเดียว พูดอีกอย่างคือ ต้นไม้จะมีคุณค่าขึ้นมาได้ก็ต่อเมื่อมันสามารถต่อยอดไปเป็นเม็ดเงิน ผลกำไร หรืออะไรใดๆ ที่สามารถเป็นได้มากกว่านิยามของตัวมันเอง ด้วยเหตุนี้ ต้นไม้จึงกลายเป็นเพียงสินค้าที่ปราศจากชีวิต ซึ่งด้วยเหตุนี้เองที่แม้ว่าทุกคนจะตระหนักดีว่า ต้นไม้ทุกต้นต่างก็มีชีวิต แต่ความหมายของชีวิตที่ว่าก็เป็นเพียงแค่การท่องจำพล่อยๆ ที่ไม่ได้ตระหนักถึง ‘การมีชีวิตจริงๆ’ ของต้นไม้แต่อย่างใด

          “ประมาณ 20 ปีมาแล้ว ผมเริ่มจัดกิจกรรม “การเอาชีวิตรอดในป่า” ให้นักท่องเที่ยว และเปิดโอกาสให้เยี่ยมชมกระท่อมไม้ซุงกลางป่า ต่อมาก็ยังมีการเปิดพื้นที่ที่ผู้คนสามารถใช้เป็นสุสานธรรมชาติแทนสุสานปกติตามธรรมเนียมที่ทำกัน และยังให้เข้าไปชมเขตอนุรักษ์ป่าดึกดำบรรพ์อีกด้วย จากการที่ได้สนทนากับผู้เยี่ยมชมจำนวนมาก ภาพป่าในหัวของผมก็เริ่มเปลี่ยนไป ต้นไม้หงิกงอตะปุ่มตะป่ำที่เมื่อก่อนนี้ผมเคยประเมินว่าด้อยค่า กลับเป็นที่ชื่นชอบและประทับใจของผู้เดินป่า เมื่อผมเดินไปกับพวกเขา ผมเองก็ได้เรียนรู้ไปพร้อมๆ กันว่า ไม่ควรไปให้ความสำคัญแต่กับคุณภาพของลำต้นเท่านั้น แต่ควรจะต้องสนใจรากไม้รูปร่างแปลกๆ หรือต้นที่โตขึ้นมามีรูปร่างพิลึกๆ หรือแผงหญ้ามอสอ่อนนุ่มที่เกาะอยู่กับเปลือกไม้ และแล้วความรักธรรมชาติที่มีอยู่ในตัวผมมาตั้งแต่อายุหกขวบก็ถูกจุดประกายขึ้นอีกครั้ง อยู่ๆ ผมก็ค้นพบความมหัศจรรย์มากมายที่ไม่สามารถอธิบายให้ตัวเองเข้าใจได้

ชีวิตเร้นลับของต้นไม้ – ความซับซ้อนของต้นไม้ และชีวิตซ่อนเร้นอีกมากมายบนโลกนี้

          ในเวลาเดียวกันนั้นเอง มหาวิทยาลัยอาเคน (Aachen University) ได้เริ่มดำเนินโครงการศึกษาวิจัยในเขตรับผิดชอบของผมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทำให้คำถามมากมายได้รับคำตอบ และก็ยังมีคำถามตามมาอีกนับไม่ถ้วน”

          อย่างไรก็ตาม โวลเลเบนก็ได้ชี้ให้เห็นว่า มุมมองที่รับรู้ว่าต้นไม้เป็นเพียงสินค้าที่ไร้ชีวิตนั้นไม่ใช่ว่าจะเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ตรงกันข้าม เขาได้ชี้ให้เห็นผ่านประสบการณ์ส่วนตัวของตัวเองว่า หากเราพยายามเรียนรู้ เปิดสมอง และเปิดใจ เราก็สามารถรับรู้ได้ถึงคุณค่าที่หลบซ่อนอยู่อีกมากมายของต้นไม้นานาชนิดในธรรมชาติ

          ในแง่นี้ หากเราย้อนกลับไปยังคำถามตั้งต้นที่ว่า ชีวิตของต้นไม้นั้นเป็นอย่างไร หนังสือชีวิตเร้นลับของต้นไม้เล่มนี้ จึงพยายามชี้ชวนให้เรามองเห็นความเป็นไปได้ใหม่ๆ ต่อการรับรู้คุณค่าของต้นไม้ ที่ไม่ใช่แค่เรื่องของสินค้า กำไร หรือธุรกิจ แต่คือหลายชีวิตในธรรมชาติที่ต่างก็มีความสลับซับซ้อนในตัวเอง

          อย่างไรก็ตาม ความน่าสนใจของหนังสือเล่มนี้ไม่ได้อยู่ที่การมานั่งบอกว่า ต้นไม้ทุกต้นต่างมีชีวิต และเราควรที่จะให้ความสำคัญกับมันนะ เพราะโวลเลเบนพาเราไปไกลกว่านั้น โดยการต่อยอดคำถามที่ว่า เมื่อเราต่างก็รู้กันดีว่าต้นไม้ทุกต้นมีชีวิต แล้วคำว่า ‘ชีวิต’ ที่ว่านี้จะเท่ากับว่า ต้นไม้แต่ละต้นมีอารมณ์ความรู้สึกในตัวมันเองหรือเปล่า ไปจนถึงระดับที่ว่า แล้วต้นไม้ทุกต้นที่ต่างก็มีชีวิตนั้น จะสามารถสื่อสารถึงกันได้ไหม

          การตั้งคำถามทำนองนี้ได้ผลักพาจินตนาการในการรับรู้ต่อต้นไม้สู่พรมแดนที่ไกลออกไป ต้นไม้ไม่ได้เป็นอีกชีวิตหนึ่งที่ไม่มีปากเสียง หรืออยู่นิ่งๆ อีกต่อไป ทว่า มีการสื่อสาร และมีรูปแบบความสัมพันธ์ในตัวเอง 

          ผู้เขียนคิดว่า มุมมองเช่นนี้ไม่เพียงแต่จะสร้างความเป็นไปได้ใหม่ๆ ต่อการรับรู้ถึงการมีอยู่ของต้นไม้เท่านั้น แต่ในทางกลับกัน มันก็ย้อนกลับมาสร้างสีสันและปรับเปลี่ยนทัศนคติในการดำเนินชีวิต อย่างที่เกิดขึ้นกับตัวโวลเลเบน

          “ชีวิตในฐานะเจ้าหน้าที่ป่าไม้ของผมกลับมาตื่นเต้นอีกครั้ง ชีวิตในป่าทุกๆ วันได้กลายมาเป็นการเดินทางเพื่อค้นพบสิ่งใหม่ๆ ซึ่งทำให้ผมมีวิธีจัดการกับป่าผิดแผกไปจากเดิม 

          ใครก็ตามที่รู้ว่าต้นไม้มีความเจ็บปวด มีความทรงจำ และต้นพ่อต้นแม่ก็อยากจะใช้ชีวิตร่วมกับต้นลูกๆ ของมัน เขาผู้นั้นจะไม่สามารถโค่นต้นไม้อย่างมักง่ายอีกต่อไปแล้ว และจะไม่สามารถใช้เครื่องจักรขนาดใหญ่ไปจบชีวิตต้นไม้ในป่าอีกต่อไป เจ้าเครื่องจักรขนาดใหญ่ที่ว่านั่น ถูกห้ามใช้ในเขตรับผิดชอบของผมมานานกว่ายี่สิบปีแล้ว ถ้าหากว่าจะต้องตัดต้นไม้สักต้น เจ้าหน้าที่ป่าไม้ก็จะดำเนินการอย่างระมัดระวัง โดยใช้ม้ามาช่วยชักลากออกไป 

          ป่าที่อุดมสมบูรณ์ และบางทีอาจพูดได้ว่าเป็นป่าที่มีความสุขเสียด้วยซ้ำ จะให้ผลผลิตที่สมบูรณ์กว่าอย่างเห็นได้ชัด และนั่นหมายถึงการมีผลผลิตที่สูงขึ้นด้วย คำอธิบายนี้สามารถทำให้นายจ้างของผม นั่นคือชุมชนฮุมเมล ยอมรับได้ ดังนั้นในหมู่บ้านเล็กๆ บนเทือกเขาไอเฟลแห่งนี้ จะไม่มีการนำวิธีการจัดการป่าแบบอื่นมาใช้อีกต่อไปในอนาคต ต้นไม้ทั้งหลายจึงได้ถอนหายใจกันอย่างโลกอกและพวกมันจะเปิดเผยความลึกลับต่างๆ มากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะบรรดาต้นไม้ที่อยู่ในพื้นที่อนุรักษ์ที่เพิ่งจะกำหนดขึ้นใหม่ ที่พวกมันจะได้อยู่กันอย่างปราศจากสิ่งรบกวนโดยสิ้นเชิง ผมจะไม่มีวันหยุดเรียนรู้จากต้นไม้ และลำพังสิ่งที่ผมได้ค้นพบจนถึงตอนนี้ ภายใต้ร่มไม้หนาทึบ ก็เป็นสิ่งที่ก่อนหน้านี้ผมไม่เคยแม้แต่จะคิดฝัน”

          ระหว่างที่อ่านชีวิตเร้นลับของต้นไม้ ผู้เขียนอดไม่ได้ที่จะนึกถึงหนังสืออีกเล่มหนึ่งที่เคยได้อ่านเมื่อไม่กี่ปีก่อนนั่นคือ Anthropology: Why It Matters ของ ทิม อิงโกลด์ (Tim Ingold) นักมานุษยวิทยาชาวอังกฤษ ซึ่งประเด็นหนึ่งที่เขากล่าวไว้อย่างน่าสนใจคือ พื้นฐานสำคัญของมานุษยวิทยาคือ ‘การให้ความสำคัญกับผู้อื่นอย่างจริงจัง’ (Taking others seriously) นั่นเพราะภายใต้การให้ความสำคัญอย่างจริงๆ จังๆ นี่เองที่อิงโกลด์มองว่า จะนำมาซึ่งความท้าทายต่อความรู้ และข้อมูลต่างๆ ที่เรามีต่อสรรพสิ่งรอบตัว รวมถึงโลกที่เราดำรงอยู่

          แน่นอนว่า ชีวิตเร้นลับของต้นไม้ไม่ใช่งานเขียนทางมานุษยวิทยา ทว่าจุดร่วมหนึ่งที่ผู้เขียนมองว่า หนังสือดูจะสะท้อนให้เห็นถึงแง่มุมของศาสตร์นี้ คือการที่โวลเลเบนพยายามชี้ชวนให้เราพิจารณาชีวิตต่างๆ ที่อยู่รอบตัวเราอย่างจริงจัง ซึ่งก็แน่นอนว่าในที่นี่คือต้นไม้ใบหญ้า

          แม้ว่าฉากหน้าของมันจะดูปราศจากชีวิต ทว่าหากเราลองพิจารณามันอย่างถี่ถ้วนและจริงจัง เราจะเห็นว่า พืชพันธุ์เหล่านี้ต่างก็มีรูปแบบชีวิตที่สลับซับซ้อนในตัวเอง

          หากจะมีแง่มุมอะไรบางอย่างที่หนังสือเล่มนี้มอบให้กับผู้อ่าน นอกเหนือจากประเด็นที่ว่า จงให้ความสำคัญกับต้นไม้ใบหญ้าอย่างจริงๆ จังๆ แง่มุมที่ว่านั้นคือการชี้ชวนให้เราในฐานะมนุษย์รู้สึกถ่อมตัว 

          เสมอมา มนุษย์มักจะรู้สึกว่าเราคือตัวแทนของสิ่งมีชีวิตที่สามารถควบคุมความเป็นไปของธรรมชาติได้อย่างง่ายดาย ตัดขาดความสลับซับซ้อนของชีวิตต่างๆ ทิ้งไป แล้วแปรรูปมันให้เป็นสินค้าที่ขายได้ ปราศจากชีวิต ทว่าหนังสือเล่มนี้กลับพยายามบอกกับเราว่า ท้ายที่สุดแล้วมนุษย์ก็เป็นเพียงชีวิตหนึ่งในโลกอันกว้างใหญ่นี้เท่านั้น และมุมมองอันอหังการที่ว่า เราอยู่เหนือสรรพสิ่ง ก็เป็นเพียงแค่การอวดโอ่ไม่ได้ความที่ใช้การอะไรไม่ได้อีกต่อไปแล้วในโลกปัจจุบัน 

          ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ ก้อนหิน หรือต้นไม้ สรรพสิ่งที่อยู่บนโลกนี้ต่างก็มีคุณค่าในตัวเองทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับว่าเราจะใช้สายตาอะไรจ้องมองมัน 

          แล้วสายตาที่ว่านั้น ก็คือสายตาของมนุษย์

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก