The City as a Classroom ออกแบบเมืองให้เวิร์กกับการเรียนรู้

462 views
5 mins
May 17, 2022

          ทุกครั้งที่เราเดินไปในแต่ละพื้นที่ ฟุตปาธแต่ละก้าวเดิน ต้นไม้ริมทางแต่ละต้น สิ่งเหล่านี้สามารถเป็นเครื่องมือการเรียนรู้ได้ทั้งสิ้น ถ้าเรา ‘ออกแบบเมือง’ ให้เป็นห้องเรียนไร้กำแพงได้

          เราได้แนวคิดนี้หลังจากพบกับหนังสือ The City as a Classroom: Designing for Outdoor Learning ของ Arki_lab ทีมนักวิเคราะห์วัฒนธรรม นักออกแบบเมือง นักศึกษาพฤติกรรม และสถาปนิก ที่รวมตัวกันเปลี่ยนเมืองให้เป็นพื้นที่การเรียนรู้ที่เดนมาร์ก โดยต้นทางของหนังสือเกิดจาก Arki_lab เข้าไปพูดคุยกับเหล่านักการเมือง ครู นักเรียน นักออกแบบ และนักพัฒนา ที่กำลังมองหาพื้นที่สาธารณะมาพัฒนาเป็นพื้นที่การเรียนรู้ ก่อนจะรวบรวมบทสนทนามาออกแบบพื้นที่ใหม่ รวมไปถึงเคสอื่นๆ ที่เคยลงมือสร้างพื้นที่การเรียนรู้สาธารณะ โดยใช้ความเป็น ‘เมือง’ มาเป็นฐานสำคัญในการออกแบบ

          การอ่านหนังสือเล่มนี้ ทำให้ได้เห็นไอเดียต่างๆ มากมายที่ช่วยเปิดโลกให้รู้ว่า ไม่ใช่แค่สถาปนิก แต่เราทุกคนก็สามารถออกแบบเมืองให้กลายเป็นพื้นที่การเรียนรู้ได้ ด้วยการทำความรู้จักโมเดลการเรียนรู้ในรูปแบบใหม่ที่อาจมองไม่เห็นหรือเคยมองข้ามไป เช่น การใช้สวนสาธารณะเป็นพื้นที่เรียนรู้วิทยาศาสตร์เกี่ยวกับสปีชีส์ของพืช การเดินสำรวจชุมชนย่านเมืองเก่าเพื่อเรียนรู้ประวัติศาสตร์ในพื้นที่ หรือใช้ลานกว้างเป็นพื้นที่แสดงละครของเด็กๆ และทำให้รู้ว่าการออกแบบพื้นที่การเรียนรู้นอกห้องเรียนเป็นเรื่องสนุกและสำคัญ ในวันที่ความรู้ไปไกลกว่าห้องสี่เหลี่ยมหรือกำแพงสีขาว

          เปิดเข้าไปในบทแรกๆ หนังสือเล่มนี้พาไปรู้จักพื้นฐานการออกแบบทั้งคอนเซ็ปต์ Outdoor Learning และ Co-Design ซึ่งเป็นการออกแบบร่วมของคนในหลากหลายสาขา เช่นการออกแบบสวนสาธารณะให้เป็นที่เรียนรู้สายพันธุ์ของต้นไม้ ก็ต้องมีการพูดคุยกันระหว่าง ครู นักเรียน นักพฤกษศาสตร์ประจำสวน และอาจไปถึงขั้นนักชีววิทยาเพื่อให้ข้อมูลที่น่าสนใจ และร่วมกันสร้างห้องเรียนไร้กำแพงที่ได้เนื้อหาและวิธีการอย่างครอบคลุมที่สุด และเหมาะกับการเรียนรู้ทุกรูปแบบ

Arki_lab
Photo : Arki_lab

          หรือการออกแบบให้เมืองกลายเป็นห้องทดลองและตั้งโจทย์จากประเด็นที่เกิดขึ้นในสังคม เราสามารถชวนเด็กๆ ตั้งสมมติฐานถึงความคิดของคนในสังคมเพื่อหาคำตอบที่แตกต่างและหลากหลายจนเกิดเป็นการถกเถียงใหม่ๆ เช่น หากเรียนวิชาสังคมในประเด็นเรื่องสิทธิ เราอาจชวนพวกเขาตั้งคำถามถึงอคติทางเพศในที่ทำงาน และออกไปพูดคุยกับคนในเมืองเพื่อหาคำตอบว่ามีมากน้อยเท่าไหร่ แต่ก่อนจะไปถึงขั้นนั้น เราต้องคุยกับนักออกแบบกระบวนการเรียนรู้ นักสิทธิมนุษยชน หรือคนที่กำลังทำงานในประเด็นที่กำลังจะสอน เพื่อชวนกันเดินไปในเมือง สำรวจพื้นที่และออกแบบกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน เช่น หากเข้าไปในย่านของชุมชนชาวจีน เราควรติดเครื่องมืออะไรให้นักเรียนเข้าไปเรียนรู้ เพื่อให้เข้าใจบริบทสังคม ก่อนจะพาเด็กๆ ลงพื้นที่เรียนรู้นอกห้องเรียนจริงๆ

          สำหรับบทถัดๆ ไป เป็นการลงลึกถึงการออกแบบพื้นที่การเรียนรู้โดยใช้เมืองเป็นฐานในการออกแบบ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างขอบเขตพื้นที่ (Boundaries) ให้เป็นพื้นที่ปลอดภัย ด้วยการเตรียมอุปกรณ์และการสร้างกฎร่วมกันก่อนออกไปเรียนรู้นอกห้องเรียน

Photo : Arki_lab
Photo : arki_lab

          นอกจากนี้ การทำให้เมืองมีฟังก์ชั่นในการเรียนรู้ที่หลากหลาย ได้ทักษะในหลายรูปแบบ ก็เป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งต้องอาศัย  Co-Design และการไปสำรวจพื้นที่ให้พร้อม เช่นหากจะเรียนรู้เรื่องธรรมชาติในสวนสาธารณะ คนสอนอาจต้องเดินไปสำรวจด้วยตัวเองและวางแผนเส้นทาง รวมถึงเรื่องราวระหว่างทางที่จะเกิดขึ้น หรือแม้แต่กระบวนการมองเมืองให้ทุกที่สามารถเรียนรู้ได้ โดยเมืองมีฟังก์ชั่นได้หลากหลาย ทั้งการเป็นฉากหลังให้นักเรียนจินตนาการหรือใช้ในการแสดงบางอย่าง เป็นสมมติฐานให้ได้ลองตั้งคำถามจากความเป็นเมือง เป็นของทดลองที่จับต้องได้จริงด้วยการสัมผัส ดมกลิ่น หรือสังเกต

Valbyparken Theme Gardens
Photo : Helle Nebelong

          ด้วยความที่หนังสือเล่มนี้มาจากประเทศเดนมาร์ก ตัวพื้นที่ที่มีการยกตัวอย่างจึงเป็นพื้นที่สาธารณะในเดนมาร์กเช่น พื้นที่สาธารณะ Gadehaveskolen ย่าน Taastrup ที่เป็นสนามเด็กเล่นสุดสร้างสรรค์ สามารถใช้เป็นพื้นที่ฝึกทักษะการสังเกต การหยิบจับ การเอาตัวรอดได้ Valbyparken Theme Gardens  สวนที่มีการจัดแต่งในรูปแบบต่างๆ เช่นมีโซนสวนผลไม้ โซนพืชน้ำ โซนสวนผักกินได้ โซนสวนของ ฮานส์ คริสเตียน แอนเดอร์สัน (Hans Christian Andersen) ที่เมืองโคเปนเฮเกน (Copenhagen) ซึ่งมีพืชพันธ์ุหลากหลาย ทำให้นักเรียนได้เข้าใจธรรมชาติ และรู้จักพืชพรรณมากขึ้น หรือ Hans Tavsens Park สวนขนาดใหญ่ในโคเปนเฮเกนที่สามารถออกแบบการเรียนรู้ได้หลากหลายฟังก์ชั่น ไม่ว่าจะเป็นมองวิทยาศาสตร์ในธรรมชาติ ใช้พื้นที่สวนเป็นการจัดแสดงละครของเด็กๆ หรือแม้แต่สำรวจและนับเลขผ่านการเดินในสวน

          มีบทหนึ่งที่พูดถึงการเรียนรู้นอกห้องเรียนได้น่าสนใจ ผ่านบทสัมภาษณ์ของ แคเรน แม็กลีน (Karen MacLean) ผู้ร่วมก่อตั้งโรงเรียน Den Grønne Friskole ที่โคเปเฮเกน ซึ่งการสอนของเขาคือการให้เด็กๆ ได้เชื่อมโยงกับธรรมชาติในทุกช่วงเวลา และเชื่อว่าเด็กๆ จะเรียนรู้ได้ดีขึ้นเมื่ออยู่ในบรรยากาศนอกห้องเรียน

Gadehaveskolen  Photo : keingart
Gadehaveskolen
Photo : keingart

          แคเรนกล่าวว่า “พื้นที่การเรียนรู้นอกห้องเรียน เป็นเครื่องมือการเรียนรู้ที่สำคัญและมีพลังมากๆ ซึ่งการเรียนรู้ในห้องเรียนให้ไม่ได้ และทักษะการอยู่นอกห้องเรียนเป็นเครื่องมือที่เด็กๆ ควรมีติดตัวไว้

         “เพราะสิ่งสำคัญที่เราได้จากการไปเรียนรู้นอกห้องเรียนคือการรู้สึกไปกับเรื่องราวและสถานที่ต่างๆ เป็นการเหลาทักษะการสังเกตที่ดีเยี่ยม ซึ่งจำเป็นมากๆ ในการเติบโต นอกจากนี้ยังเป็นการฝึกทักษะที่เราอาจไม่ค่อยได้ใช้ เช่น การบาลานซ์ร่างกาย หรือทักษะกล้ามเนื้อมัดใหญ่ของเด็กๆ” ทั้งหมดทั้งมวลเป็นเพราะกระบวนการเรียนรู้โดยใช้เมืองเป็นห้องเรียน เอื้อให้มนุษย์เชื่อมโยงกับสภาพแวดล้อมได้ดีขึ้น สิ่งที่เรามักลืมเลือนไปคือมนุษย์เชื่อมโยงกับธรรมชาติมาโดยตลอด ด้วยการเรียนรู้ผ่านสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบตัว การออกไปนอกห้องเรียนจึงเป็นการเชื่อมโยงสิ่งที่เรียนกับความเป็นจริงและตั้งคำถามว่าเหมือนกันไหม หรือแตกต่างกันอย่างไร

        แม้จะตั้งต้นหนังสือในฐานะนักออกแบบ หนังสือเล่มนี้ไม่ได้บอกให้เราสร้างอะไรใหญ่โตในเมือง แต่คือการพาเราไปเห็นว่าพื้นที่ในเมืองสามารถเปลี่ยนเป็นพื้นที่ให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ตามสิ่งที่ครูหรือคนสอนออกแบบได้อย่างไรบ้าง เพราะสิ่งสำคัญของการเรียนรู้นอกห้องเรียนคือการทำให้เด็กๆ สัมผัสและรู้สึกถึงสิ่งแวดล้อมรอบตัว ได้ทักษะการสังเกตที่จำเป็นอย่างมากในการเติบโต และได้มองเห็นโลกกว้างและความคิดของผู้คนที่เข้าถึงได้จริงยิ่งกว่าหน้ากระดาษจากแบบเรียน

          สุดท้าย อาจไม่ได้มีสูตรสำเร็จของการเปลี่ยนเมืองให้เป็นพื้นที่การเรียนรู้ว่าต้องมีสิ่งของอะไรที่เป็นรูปธรรม แต่อาจหยิบจับแนวคิดที่พวกเขาเคยทำมาก่อน แล้วนำมาปรับให้เข้ากับบริบทของเรา เพราะแต่ละพื้นที่ก็มีเอกลักษณ์ของตัวเอง และที่แน่ๆ คือเรามีพื้นที่ในเมืองมากมายที่น่าหยิบเอามุมมอง ‘ให้ทุกที่เป็นพื้นที่การเรียนรู้’ มาช่วยเสริมให้การเรียนนั้นสนุกกว่าการอยู่ห้องเรียนสี่เหลี่ยมได้

          เพราะนั่นคือความสนุกของงานดีไซน์ที่ผสมผสานเข้ากับการเรียนรู้

          สามารถสั่งซื้อหนังสือได้ที่ :  https://bit.ly/3lfphpR

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก