Apple Shelf ชั้นหนังสือวิเศษสำหรับเด็กพิเศษ

286 views
5 mins
August 19, 2021

          แม้ว่าห้องสมุดประชาชนจะมีคำว่า ‘ประชาชน’ แปะอยู่ แต่คำถามน่าสนใจคือ ประชาชนที่ว่านี้หมายรวมถึงใครบ้าง ในการคิดออกแบบห้องสมุดสักแห่ง เราได้ทำใครหล่นหายไปบ้างไหม

          เพราะคำว่าประชาชนนั้นกินความกว้างขวาง และคนแต่ละกลุ่มก็มีความต้องการไม่เหมือนกัน

          ที่ประเทศสวีเดน มีตัวอย่างการออกแบบห้องสมุดที่สะท้อนการคิดถึงประชาชนในความหมายกว้างได้ดี ตัวอย่างนี้ไม่ได้มาในรูปแบบสถาปัตยกรรมใหญ่โต แต่เป็นชั้นหนังสือเล็กๆ ซึ่งมีสัญลักษณ์เป็นแอปเปิ้ลยิ้มสีแดงสดใส 

          ชื่อของมันคือ Äppelhyllan หรือ Apple Shelf

          เป็นชั้นหนังสือที่เกิดขึ้นเพื่อเด็กๆ ซึ่งไม่สามารถเรียนรู้ผ่านการอ่านหนังสือแบบปกติได้

ตัวช่วยพิเศษเพื่อเด็กกลุ่มพิเศษ

          ต้องเล่าก่อนว่า สวีเดนเป็นประเทศที่มองว่าห้องสมุดประชาชนต้องให้ความสำคัญกับเด็กและวัยรุ่น สิ่งนี้จริงจังถึงขั้นมีระบุเอาไว้ใน Library Act ของประเทศ

          เพราะอย่างนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่ชาวสวีดิชจะคิดถึงเด็กๆ แบบลงรายละเอียด จน Apple Shelf ได้ลืมตาดูโลกขึ้นมาในปี ค.ศ. 1993

          Apple Shelf เป็นตัวช่วยสำหรับเด็กที่มีความพิการทางสื่อสิ่งพิมพ์ (Print Disability) ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจาก The National Library for the Handicapped Child ของอังกฤษ ในตอนแรกมีหน้าตาเป็นห้องสมุดเต็มรูปแบบ แต่ต่อมาเปลี่ยนโฉมกลายเป็นชั้นหนังสือสัญลักษณ์แอปเปิ้ลที่แทรกตัวอยู่ในห้องสมุดประชาชนทั้งเล็กใหญ่ของสวีเดน

          กลุ่มเป้าหมายของชั้นหนังสือนี้ แบ่งหลักๆ ได้ 2 กลุ่มคือ ผู้ใช้ห้องสมุดรุ่นเยาว์ที่มีปัญหาด้านการอ่านสื่อสิ่งพิมพ์ และผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับปัญหานี้ เช่น พ่อแม่ของพวกเขาและนักการศึกษา

          เพราะตอบโจทย์ที่ต่างออกไป สิ่งที่วางเรียงรายในส่วน Apple Shelf จึงไม่เหมือนชั้นหนังสือห้องสมุดธรรมดา

แหล่งเรียนรู้ที่ไม่ทิ้งเด็กคนไหนไว้ข้างหลัง

          หนังสือโดยทั่วไปของ Apple Shelf คือหนังสือที่มีภาพชัดเจน ภาษาเข้าใจง่าย แต่นอกจากนั้น ยังมีหนังสือที่มีรายละเอียดต่างกันไปเพื่อตอบโจทย์เด็กกลุ่มพิเศษ

          ตัวอย่างเช่น หนังสืออักษรเบรลล์และหนังสือที่อ่านได้ด้วยการใช้นิ้วสัมผัส (tactile books) สำหรับเด็กผู้พิการทางสายตา หนังสือเสียงที่ทั้งเด็กมีปัญหาด้านการมองเห็นและเด็กที่เป็นโรคความบกพร่องทางการอ่าน (dylexia) สนุกกับมันได้ หนังสือที่เล่าเรื่องผ่านสัญลักษณ์ (Alternative and Augmentative Communication) สำหรับเด็กที่มีปัญหาในการเข้าใจภาษาพูดและภาษาเขียน รวมถึงวิดีโอถ่ายทอดเรื่องราวหนังสือเป็นภาษามือ สำหรับเด็กที่ต้องใช้ภาษามือซึ่งไม่มีรูปแบบภาษาเขียนให้ใช้ 

          ไม่หมดเท่านั้น Apple Shelf ยังมีข้อมูลเกี่ยวกับความพิการประเภทต่างๆ และพัฒนาการด้านภาษาสำหรับผู้ใหญ่ที่ต้องดูแลเด็กกลุ่มนี้ต่อไป เพื่อช่วยให้พวกเขาเข้าใจเด็กๆ ได้มากกว่าเดิม

          การมี Apple Shelf อยู่ในห้องสมุดประชาชนสวีเดน จึงนับเป็นการไม่ปล่อยเด็กที่มีความต้องการพิเศษไว้ข้างหลังในโลกแห่งการเรียนรู้อย่างเต็มความหมาย

คลิปแนะนำ Apple Shelf ของ Sundsvall City Library

เริ่มได้ที่ห้องสมุดประชาชนใกล้บ้านคุณ

          นับจากวันแรกเริ่ม ตอนนี้ Apple Shelf อยู่คู่กับห้องสมุดประชาชนสวีเดนมาเกือบ 30 ปีแล้ว แน่นอนว่ายากที่จะมีอะไรสมบูรณ์แบบแต่ต้น เราจึงเห็นการปรับเปลี่ยนพัฒนาชั้นหนังสือนี้ต่อไป เช่น เพื่อไม่ให้เด็กกลุ่มพิเศษรู้สึกแตกต่างจากเพื่อน ห้องสมุดบางที่จึงเลือกวางหนังสือของ Apple Shelf ไว้บนชั้นหนังสือธรรมดา แต่แปะสติ๊กเกอร์แอปเปิ้ลเอาไว้ให้เด็กๆ หาหนังสือที่ต้องการได้

           อย่างไรก็ตาม การเกิดขึ้นและอยู่มายาวนาน สะท้อนว่า Apple Shelf มีคุณค่าและนับเป็นส่วนหนึ่งของห้องสมุดประชาชน

           ไม่ใช่แค่ชาวสวีดิชที่คิดอย่างนี้ ประเทศอื่นเองก็มีการหยิบยกแนวคิดของ Apple Shelf ไปใช้เช่นกัน

          ที่ประเทศญี่ปุ่น Takashina Branch Library ในเมืองคาวาโกเอะ ซึ่งไม่มีงบซื้อชั้นหนังสือใหม่ ได้สร้าง Apple Shelf ของตัวเองขึ้นอย่างง่ายๆ ด้วยรถเข็นหนังสือ 2 คัน โดยในรถบรรจุสื่อการเรียนรู้สำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษไว้ เช่น หนังสือภาพทำจากผ้าที่สามารถเปิดอ่านและใช้การสัมผัสได้ นอกจากนี้ยังมีหนังสืออย่างการ์ตูนชีวประวัติของเฮเลน เคลเลอร์ ด้วย

          “ฉันเชื่อว่า ห้องสมุดประชาชนที่ไหนก็ตามในญี่ปุ่น ล้วนให้บริการเด็กๆ อยู่เป็นงานประจำ อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนจะมีห้องสมุดน้อยมากที่ให้บริการเด็กซึ่งมีความพิการ” Junko Niiyama ผู้ริเริ่มไอเดีย Apple Shelf อธิบาย ก่อนเอ่ยถึงสิ่งที่เธอคิดกับชั้นหนังสือพิเศษชั้นใหม่ของห้องสมุด “ที่จริงแล้ว เราไม่แน่ใจหรอกว่าอะไรจะทำให้ Apple Shelf ดีขึ้น เพราะทุกอย่างอยู่ในกระบวนการลองผิดลองถูก ถ้าห้องสมุดคือสิ่งมีชีวิตที่กำลังเติบโต ชั้นหนังสือของเราก็เป็นแค่เด็กแรกเกิด หมายความว่าเราต้องคิดอยู่เรื่อยๆ ว่าจะเลี้ยงดูเด็กคนนี้ต่อไปอย่างไร”

          จะเห็นได้ว่า Apple Shelf เป็นสิ่งที่เริ่มต้นทำเองได้แบบไม่ยากเกินกำลัง และประยุกต์ต่อยอดได้ตามสถานการณ์ ตามบริบทห้องสมุดประชาชนแต่ละแห่ง นอกจากสวีเดนและญี่ปุ่น ชั้นหนังสือนี้จึงสามารถไปปรากฏตัวในห้องสมุดประชาชนทุกหนแห่งทั่วโลก ช่วยให้เด็กที่มีความต้องการพิเศษอีกมากมายพบที่ทางของตัวเองในโลกแห่งการเรียนรู้

          สิ่งสำคัญคือ ห้องสมุดประชาชนต้องตระหนักว่ามีผู้ใช้บริการรุ่นเยาว์กลุ่มนี้อยู่

          และไม่ลืมคิดถึงพวกเขาก่อนเปิดประตู


ที่มา

Äppelhyllevardag Folkbibliotekens arbete med tillgängliga medier för barn. [Online]

Everyday Life of the Apple Shelf Public Libraries’ Work With Accessible Media for Children. [Online]

The Apple shelf. [Online]

Newly established Apple Shelf, a library space for children with special needs. [Online]

Cover Photo : Frida Winter

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก