อำนาจซ่อนเร้นหลังตัวอักษรกับสำนึกใหม่ที่แฝงมาในยุคสื่อสารออนไลน์

1,759 views
7 mins
January 18, 2021

          ตัวอักษรเป็นประดิษฐกรรมที่เกิดขึ้นเมื่อไม่กี่พันปีที่ผ่านมา ปัจจุบันกลายเป็นสิ่งจำเป็นที่มนุษย์ไม่สามารถขาดได้ เพราะตัวอักษรเป็นสะพานเชื่อมไปยังความรู้ การสื่อสารกับผู้คน อำนาจการปกครอง และอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่เรามองไม่เห็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อก้าวเข้าสู่ยุคเทคโนโลยีสารสนเทศตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 20 ตัวอักษรได้ถูกนำไปใช้สื่อสารในช่องทางใหม่ๆ ด้วยไวยากรณ์ที่แตกต่างออกไป ซึ่งส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างความคิดของผู้คนสมัยใหม่ ไม่ว่าจะโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม

          รศ.ธเนศ วงศ์ยานนาวา ผู้เพิ่งเกษียณจากภารกิจอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงบทบาทของตัวอักษรที่มีต่อมนุษย์ไว้ว่า เป็นเสมือนหน่วยความจำที่อยู่ภายนอกสมองเพื่อป้องกันการหลงลืม การถ่ายทอดความทรงจำผ่านตัวหนังสือช่วยทำให้คนเราเข้าใจสิ่งต่างๆ ได้ชัดเจนและลึกซึ้งยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งที่เป็นนามธรรมและการจินตนาการ การสื่อสารที่ได้รับการยอมรับว่าน่าเชื่อถือจำเป็นต้องจดบันทึกผ่านตัวอักษร และกลไกที่ให้ความสำคัญกับตัวอักษรหรือภาษาเขียนก็คือรัฐหรือสถาบันผู้ถืออำนาจ  

          “อาจจะโดยตั้งใจหรือไม่ได้ตั้งใจ ตัวอักษรถูกพัฒนาขึ้นพร้อมกับการขยายตัวของสถาบันทางการเมืองและสถาบันทางศาสนา เพราะรัฐไม่สามารถขยายอำนาจได้โดยการตะโกนแหกปาก สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องพิสดารสำหรับผม และพิสดารมาตลอด 6-7 พันปี จนกระทั่งเมื่อมีการศึกษาภาคบังคับ การอ่านออกเขียนได้ถูกกำหนดให้เป็นสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตของพวกเรา ตอนนี้ทุกคนในโลกอยู่ในโหมดแบบนี้ ถ้าไม่เรียนหนังสือคุณฉิบหาย”

          เดิมทีเดียวสังคมมนุษย์สื่อสารกันด้วยการฟังและการพูด เป็นปฏิสัมพันธ์ที่ประกอบไปด้วยผัสสะต่างๆ อากัปกิริยาท่าทางและสีหน้ามีความสำคัญยิ่งต่อการสื่อสาร ไม่ว่าจะเป็นแววตา การขมวดคิ้ว รอยยิ้ม หรือการใช้มือ ฯลฯ อาจารย์ธเนศมองว่า การสื่อสารผ่านตัวอักษรมีความเป็นทางการ (formal) และเป็นส่วนตัว (private) มากกว่าการพูดและการฟัง ซึ่งในอีกด้านหนึ่งก็ลดทอนความเป็นมนุษย์ให้น้อยลงไปด้วย

          “ตัวอักษรไม่ใช่สิ่งที่เป็นธรรมชาติ เราจะค่อยๆ ถูกเปลี่ยนไปเรื่อยๆ จากบรรพบุรุษของเราที่เป็นชาวนา ยิ่งคุณเรียนมากเท่าไหร่คุณยิ่งไม่เป็นธรรมชาติมากขึ้นเท่านั้น เราทุกคนถูกเปลี่ยนเพราะเรามีการศึกษา เราถูกตัวอักษรเปลี่ยนวิธีคิดและเปลี่ยนทุกอย่าง สิ่งที่น่ากลัวคือมันจะยิ่งทำให้คุณรู้สึกว่า คุณเหนือกว่าคนที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้

          “เราไม่ได้เคยใช้ตัวอักษร เราไม่ได้ผูกพันกับตัวอักษร เวลาเรารับเอาวิธีคิดตะวันตกผ่านตัวบท (text) ต่างๆ เราไม่เคยเข้าใจว่า คริสตศาสนาซึ่งครอบวิธีคิดของคนตะวันตกเป็น religion of the book ที่วางอยู่บนพื้นฐานของตัวอักษร มีบทความที่น่าสนใจชิ้นหนึ่งวิเคราะห์ว่า องค์ความรู้ที่มาจากงานวิจัยของตะวันตกมักมาจากกลุ่มตัวอย่างที่มีมีคุณสมบัติเป็นมนุษย์ชาวตะวันตก (West) มีการศึกษา (Education) อยู่ในสังคมอุตสาหกรรม (Industrial) รวย (Rich) และเป็นประชาธิปไตย (Democracy) ซึ่งรวมกันแล้วเป็นคำว่า WEIRD ซึ่งแปลว่า ‘ประหลาด’ ซึ่งเราไม่เคยคิดหรือพิจารณาเลยว่า ความประหลาดนี้กำลังถูกใช้เป็นมาตรฐานของคนทั้งโลก”

          ในปัจจุบันซึ่งคนส่วนใหญ่มีการศึกษาและสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีเพื่อใช้ในการสื่อสาร การใช้ตัวอักษรบันทึกความทรงจำของมนุษย์ก็ถูกแปรเปลี่ยนตามไปด้วย การประมวลผลอย่างรวดเร็วทางอินเทอร์เน็ตทำให้ความทรงจำในโลกเสมือนจริง (virtual reality) มีความต่อเนื่องราวกับไม่มีจุดสิ้นสุด เครือข่ายข้อมูลที่โยงใยอันประกอบด้วยภาพ เสียง ตัวอักษร สัญลักษณ์ ฯลฯ ทำให้ผู้อ่านพร้อมที่จะเปลี่ยนประเด็นจากเรื่องที่กำลังอ่านไปเรื่อยๆ คล้ายกับข้อมูลที่ปรากฏอยู่บนหน้าจอยังขาดอะไรบางอย่างอยู่เสมอ

          อาจารย์ธเนศ ยกตัวอย่างที่ชัดเจนซึ่งแสดงให้เห็นถึงความคิดที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้คนในยุคเทคโนโลยีสารสนเทศ ว่า “ตอนนี้คุณจะไม่เลี้ยงลูกด้วยนิตยสารแม่และเด็ก คุณจะไม่เลี้ยงลูกตามแบบพ่อและแม่ คุณไม่มีความจำเป็นใดๆ เลยที่จะต้องฟังปู่ย่าตายาย คุณสามารถกดอินเทอร์เน็ตแล้วก็มีความรู้ชุดใหม่ที่ถูกนำเข้ามาจากโลกตะวันตกหรือที่ไหนก็ตาม แล้วบอกว่านั่นคือมาตรฐานสากล”

           นอกจากนี้เขายังวิเคราะห์ประเด็นที่สำคัญอีกว่า เบื้องหลังการสื่อสารผ่านตัวอักษรทางออนไลน์ทำให้ผู้คนทั่วโลกรับเอาโครงสร้างทางความคิดแบบตะวันตกไปพร้อมกันด้วย นั่นคือสำนึก (sense) เรื่องความเป็นทางการ (formality) และการตัดเรื่องอารมณ์ (emotion) ต่างๆ ออกไปจากการสื่อสาร ซึ่งทำให้ง่ายต่อการกระทำสิ่งที่รุนแรงระหว่างกัน

          “มันจะทำให้คุณรู้สึกว่า มันไม่ใช่เรื่องส่วนตัว (personal) อะไรเลย ฉันประหารชีวิตแกไม่ใช่เพราะฉันเกลียดแก แต่มันเป็นหน้าที่ของฉัน มันเป็นคำสั่ง (order) ถ้าคุณสนทนากับใครสักคน มันไม่ใช่เรื่องง่ายที่คุณจะทนเห็นสายตาของอีกฝ่ายหนึ่ง แต่ในอินเทอร์เน็ตคุณไม่เห็นสิ่งเหล่านี้ สังคมแบบมุขปาฐะเป็นสังคมที่เป็นนามธรรมน้อยกว่าและมีปฏิสัมพันธ์มากกว่า เพราะฉะนั้นจะเห็นว่าอินเทอร์เน็ตจึงพยายามอย่างมากที่จะจำลองการสื่อสารให้ใกล้เคียงกับปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์ แต่ข้อความอะไรก็ตามที่คุณสื่อออกไปออนไลน์ ไม่ว่าคุณจะมีอีโมติคอน (emoticon) ขนาดไหนก็ไม่สามารถทำได้”

           อาจารย์ธเนศ กล่าวทิ้งท้ายว่าเฟซบุ๊กทำให้เรารู้สึกว่าสามารถเชื่อมต่อ (connect) กับใครก็ได้ตลอดเวลา แม้ว่าในโลกความเป็นจริงอาจจะไม่สามารถมีปฏิสัมพันธ์กับคนนั้นได้จริง ในขณะเดียวกันเรากลับพร้อมเสมอที่จะรู้สึกเหงาหรือรู้สึกเหมือนอยู่ลำพัง เพราะในการสื่อสารออนไลน์เราอาจจะตอบ หรือไม่ตอบ หรือเลือกที่จะตอบเมื่อไหร่ก็ได้ การสื่อสารออนไลน์จึงตอกย้ำสำนึกของความเป็นส่วนตัว (sense of privacy) ซึ่งเป็นค่านิยมแบบชนชั้นกลางในโลกตะวันตก เฉกเช่นเดียวกับการอ่านหนังสือเงียบๆ คนเดียวที่เคยมอบความเป็นส่วนตัวให้กับผู้คนในยุคที่ผ่านมา


ที่มา

ธเนศ วงศ์ยานนาวา.  ความตายของการพูดกับความอมตะของการเขียน. ตีพิมพ์สำหรับงาน “เพื่อนภาพพิมพ์” ณ มิวเซียมสยาม วันที่ 20 ธันวาคม 2560

เสวนา เรื่อง วัฒนธรรมการอ่าน/วัฒนธรรมมุขปาฐะ โดย ธเนศ วงศ์ยานนาวา ในงาน “เพื่อนภาพพิมพ์” ณ มิวเซียมสยาม วันที่ 20 ธันวาคม 2560


เผยแพร่ครั้งแรก มกราคม 2561

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก