“สำนักพิมพ์ที่พยายามตั้งคำถาม และหาคำตอบปัญหาสังคมไทย ประมาณนี้ก็พอแล้ว”
คำตอบสุดท้ายในการสัมภาษณ์ของ ธนาพล อิ๋วสกุล บรรณาธิการบริหาร สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ต่อคำถามที่ว่าอยากให้คนจดจำภาพสำนักพิมพ์ตลอด 19 ปีที่ผ่านมาอย่างไร
นับตั้งแต่ปี 2546 ฟ้าเดียวกันพยายามชวนนักอ่านขบคิดและตั้งคำถามถึงการเมือง ประวัติศาสตร์ สังคม และความเป็นประชาธิปไตยของไทยมาตลอด ทั้งยังเปิดพื้นที่ให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ สร้างข้อถกเถียง แลกเปลี่ยนข้อมูล เพื่อแก้ไข ปรับตัว และปักธงทางความคิดใหม่ๆ ให้เข้ากับสถานการณ์แต่ละยุคสมัยอยู่เสมอ
สายวันหนึ่ง เราเดินทางไปยังสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน เพื่อพูดคุยกับธนาพลถึงเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างตัวเขา หนังสือ และการเมือง ก่อนที่ทั้งหมดจะถูกต่อยอดและออกดอกผลกลายเป็นหนังสือและวารสารนับร้อยเล่มเฉกเช่นปัจจุบัน
การพบเจอกันครั้งแรกระหว่าง ธนาพล อิ๋วสกุล กับหนังสือเป็นอย่างไร
ผมเป็นคนพังงา สำหรับเด็กต่างจังหวัดแบบผม ถ้าต้องถึงขั้นอ่านออกเขียนได้จริงๆ ก็น่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ก่อน ด้วยความที่บ้านผมรับหนังสือพิมพ์ เลยมีมอเตอร์ไซค์มาส่งให้อ่านทุกเช้า ซึ่งตอนนั้นก็ไม่รู้เลยว่าเนื้อหาที่อ่านจะช้ากว่ากรุงเทพฯ ไปหนึ่งวัน (หัวเราะ)
สมัยนั้นจะมีสิ่งที่เรียกว่าหนังสือพิมพ์กรอบบ่าย สมมติวันจันทร์ตอนเที่ยงเพิ่งพิมพ์เสร็จสิ้น เนื้อหาส่วนใหญ่ในเล่มก็จะมาจากวันอาทิตย์ นั่นคือสิ่งที่คนกรุงเทพฯ ได้อ่าน แต่กว่าที่หนังสือพิมพ์เล่มนั้นจะเดินทางมาถึงบ้านผมก็คือวันอังคารแล้ว ดังนั้นอะไรที่เกิดขึ้นในวันอาทิตย์ กว่าจะได้รับรู้ก็ปาเข้าไปวันอังคารแล้ว
ส่วนเนื้อหาที่อ่านในหนังสือพิมพ์ ผมก็เริ่มจากการ์ตูนแก๊กทั้งของ แอ๊ด เดลินิวส์ คนที่เขียน ‘ปลัดเกลี้ยงคนเก่ง’ โจมตีรัฐบาลอยู่เป็นระยะ และ ชัย ราชวัตร คนที่เขียน ‘ผู้ใหญ่มากับทุ่งหมาเมิน’ ให้กับ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ดังนั้นเนื้อหาส่วนใหญ่ก็จะเป็นการ์ตูนการเมือง เพราะสมัยนั้นในต่างจังหวัด หนังสือเล่ม การ์ตูน หรือวรรณกรรมเยาวชนมันไม่ได้มีให้อ่านมากนัก ประโยคที่คนในกรุงเทพฯ พูดกับเด็กว่าต้องเริ่มอ่านหนังสือเล่มนั้นเล่มนี้นะ เด็กต่างจังหวัดอย่างผมไม่มีหรอก แต่ผมโชคดีอย่างหนึ่งที่บ้านรับนิตยสาร สกุลไทย รายสัปดาห์ ดังนั้นผมจึงต้องไปร้านหนังสือเพื่อรับหนังสือกันบ่อย ก็เลยอาศัยอ่านหนังสือพิมพ์ ทำให้ได้ทักษะ ได้ความสนใจในการอ่านตามมา
ถึงจะเป็นการ์ตูนแต่ก็มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเมือง ฟังดูแล้วก็ยังแตกต่างจากเด็กทั่วไปที่ดูการ์ตูนเพื่อความบันเทิง
ส่วนหนึ่งเป็นความสนใจส่วนตัว อีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะไม่มีอะไรให้อ่านแล้ว กว่าที่บ้านผมจะมีโทรทัศน์ก็ปี 2531 เป็นช่วงประถมปลายแล้ว แถมยังดูได้ช่องเดียวคือช่อง 7 ดังนั้นการ์ตูนช่อง 9 ที่เด็กๆ เขาดูกัน ผมแทบไม่เคยดูเลย
อีกอย่างที่ผมรู้สึกว่าน่าสนใจคือ บรรยากาศการเมืองในภาคใต้ ถ้าเทียบกับเพื่อนจังหวัดอื่นๆ ผมรู้สึกว่าคนภาคใต้สนใจการเมืองมากกว่า แต่ไม่ได้บอกว่าผมเก่งกว่าใครนะ เพียงแต่เรามักจะได้ยินเรื่องการเมืองในวงสนทนาอยู่ตลอด ในวงกาแฟนี่มีให้ฟังประจำ แต่ถามว่าคุยกันแล้วฉลาดขึ้นไหม อันนั้นก็อีกเรื่องหนึ่ง (หัวเราะ)
การเมืองภาคใต้มันมีลักษณะเฉพาะตัว อย่างแรกคือสมัยนั้นยังมีเวทีปราศรัยให้ตามไปฟัง ได้เห็นนักการเมืองจริงๆ มาลงสมัครเลือกตั้ง ไม่ใช่เจ้าพ่อหรือผู้มีอิทธิพล ถ้าพูดถึงภาคอื่นๆ คงพอจะนึกออกว่าใครเป็นขาใหญ่ เป็นเจ้าพ่อในท้องที่ แต่ภาคใต้เราจะนึกถึงแต่ วีระกานต์ มุสิกพงศ์ หรือ ชวน หลีกภัย ดังนั้นคนพวกนี้เวลาจะเล่นการเมืองจึงต้องเข้าหาประชาชน สร้างปฏิสัมพันธ์กับประชาชน เรื่องการเมืองมันเลยใกล้ตัวชาวบ้านมาก
พูดเรื่องการเมืองกับคนใต้ คุณคิดอย่างไรกับภาพจำของการเมืองภาคใต้ที่มักยึดโยงอยู่กับพรรคประชาธิปัตย์
ถ้ามองย้อนกลับไป ที่ผ่านมาพรรคการเมืองอื่นๆ ก็แข่งขันกับพรรคประชาธิปัตย์ได้อย่างสูสีมาโดยตลอด ทั้งพรรคกิจสังคม หรือพรรคชาติไทย เพียงแต่ว่าพรรคเหล่านี้ไม่สามารถยืนระยะได้เหมือนที่พรรคประชาธิปัตย์ทำ หลายคนมองว่าเป็นเพราะพรรคประชาธิปัตย์ไม่ยึดโยงกับตัวบุคคล ไม่มีใครเป็นเจ้าของ ส่วนหนึ่งก็ถูก แต่อีกส่วนหนึ่งคือพรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคที่ไม่ไปขัดกับอำนาจอื่นต่างหาก ทำให้ยังสามารถอยู่ได้ถึงทุกวันนี้ เป็นพรรคการเมืองที่อยู่คู่กับภาคใต้ จริงๆ มันมีแค่นี้เลย
กลับมาที่ความสนใจการ์ตูนการเมือง จำได้ไหมว่าเนื้อหาแบบไหนที่อ่านแล้วชื่นชอบเป็นพิเศษ
ผมโตมายุคการเมืองที่สื่อซัดกับ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ จำไม่ได้แล้วว่าคนในยุคนั้นนิยม พลเอก เปรม กันขนาดไหน แต่ผมก็จะเห็นสื่อซัดกับ พลเอก เปรม มาโดยตลอด เสียดสีเขาว่าเป็นคนที่ไม่มีความรับผิดชอบ ไม่มีความเป็นผู้นำ ส่วนประเด็นอื่นๆ ก็อย่างเช่นการวิจารณ์ สมหมาย ฮุนตระกูล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เรื่องภาษี วิจารณ์ บรรหาร ศิลปอาชา อดีตนายกรัฐมนตรี เรื่องการคอร์รัปชัน หรืออย่างพรรคประชาธิปัตย์เองก็โดนเรื่องใสซื่อมือสะอาด ดีแต่พูด อะไรทำนองนั้น
แล้วเวลาอ่านเรื่องการเมืองจบแล้ว คุณไปคุยกับใครต่อ
คุยกับที่บ้าน ถ้าคุยได้ (หัวเราะ) จริงๆ ผมไม่ค่อยได้เอาไปคุยกับใครต่อ มองเป็นเรื่องของการศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติมมากกว่า
แล้วหนังสือการเมืองเล่มแรกๆ ที่อ่าน จำได้ไหมว่าเล่มไหน
ถ้าเป็นหนังสือเล่มที่เปลี่ยนวิธีคิดผมแน่ๆ คือ 9 รัชกาลแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เขียนโดย รักธรรม รักษ์ไทย เพราะมันมีการพลิกมุมมองในข้อเท็จจริง มีสปิริตของการวิพากษ์หลักฐาน อีกอย่างคือเนื้อหาก็มีการเขียนแบบกึ่งสารคดี จึงพออ่านได้อยู่ ตอนนั้นผมยังไม่ได้อ่านงานวิชาการสักเท่าไร ถือเป็นการเปิดประตูสู่การอ่านหนังสือการเมืองที่ซับซ้อนมากขึ้น
ที่บอกว่าหนังสือการเมืองเล่มนี้เปลี่ยนวิธีคิด มันเปลี่ยนอย่างไร
คนสนใจการเมืองส่วนใหญ่ก็คือ การเมืองร้านกาแฟ คุณจำได้หมดแหละว่าคนนี้ฉายาอะไร คนนี้ได้ สส. กี่สมัย ยังเป็นความรู้ที่มีภาพจำติดกับนักการเมือง นั่นเป็นเพียงมุมมองหนึ่งที่เกิดขึ้นในตอนนั้น ซึ่งคุณจะไม่ได้เห็นอำนาจอื่นๆ ข้างนอก ที่สื่อไม่ได้กล่าวถึง แต่หนังสือบางเล่มช่วยเปิดมุมมองตรงนี้ ทำให้เห็นว่าหลายอย่างมันมีเบื้องลึกเบื้องหลังมากกว่านั้น
อย่างเช่นกรณีของ พลเอก เปรม ทุกวันนี้คนก็ตั้งคำถามว่า โห เป็นไปได้ยังไงวะ ทุกคนอุตส่าห์เลือกตั้งกันมาแทบตาย สุดท้ายกลับมาหนุน พลเอก เปรม เป็นนายกรัฐมนตรี เพียงเพราะเขาเป็นคนดี มันใช่จริงๆ เหรอ มันมีอะไรมากกว่านั้นเปล่า เรื่องแบบนี้ก็ทำให้เห็นถึงอำนาจที่ทับซ้อนอยู่เบื้องหลัง
ถ้าใช้คำที่นิยมในปัจจุบันก็หมายถึง ‘ตาสว่าง’ เลยใช่ไหม
คงใช่ เพราะบางครั้งไม่พอใจคำตอบในเนื้อหาที่ได้อ่าน ที่ได้รับฟังมา ผมก็ไม่ได้มองว่าข้อมูลที่ได้มาเป็นสัจธรรม ไม่ได้ถูกต้องอีกต่อไป มันเกิดการตั้งคำถามมาเรื่อยๆ รวมถึงได้มองเห็นว่าในวงการหนังสือเมืองไทยยังมีเพดาน มีการเซ็นเซอร์ผ่านสื่อ พอมุมมองมันทะลุเส้นตรงนี้ไปได้ ก็จะทำให้เรามองการเมืองในอีกแบบหนึ่งทันที
หลังได้มาเรียนต่อในกรุงเทพฯ บรรยากาศการเมืองในตอนนั้นแตกต่างจากภาคใต้อย่างไรบ้าง
ผมเข้ามากรุงเทพฯ น่าจะช่วงปี 2531 ถือเป็นช่วงที่ได้อ่านหนังสือพิมพ์มากขึ้น ด้วยความที่หอพักอยู่ไกลจากโรงเรียนเลยต้องเดินทางมาตั้งแต่เช้ามืด ดังนั้นหน้าที่ของผมคือมารอรับหนังสือพิมพ์ที่จะมาส่งในห้องสมุด เพื่อเอาไม้แขวนหนังสือพิมพ์ไปเสียบ ช่วงนั้นแหละที่ผมจะได้อ่านหนังสือพิมพ์หลากหลายฉบับมากขึ้น
อีกหนึ่งข้อดีของการอยู่กรุงเทพฯ คือการได้ไปหอสมุดแห่งชาติ หานิตยสารเก่าๆ มาอ่าน ซึ่งเป็นความสนใจส่วนตัว บางทีก็ไปอ่านเนื้อหาการเมืองย้อนหลัง เรื่องนี้คิดแล้วก็น่าเสียดาย เพราะไอ้ความเก่าที่ผมเจอมันเก่าแค่ 5-10 ปี ถ้าเป็นตอนนี้ผมคงย้อนกลับไปอ่านย้อนหลังสัก 60-70 ปี หรือ 100 ปี ก็คงดีกว่านี้
นอกจากนี้คือการได้ฟังการปราศรัยที่สนามหลวง ปี 2531 เป็นปีเดียวกันกับที่มีการเลือกตั้ง ผมเลยได้ไปฟังการหาเสียงของพรรคพลังธรรม พรรคประชาธิปัตย์ พรรคประชากรไทย เขาให้ประชาชนมีส่วนร่วมด้วย ซึ่งน่าตลกดีที่ทุกวันนี้สนามหลวงกลายเป็นเขตพระราชฐานไปแล้ว
นอกจากเนื้อหาการเมืองแล้ว ได้อ่านเนื้อหาที่พูดถึงสถาบันกษัตริย์บ้างไหม
หลังจากนั้นผมอ่านหนังสือมากขึ้น ก็จะเจองานแบบ นิธิ เอียวศรีวงศ์ งานประเภทอ่านรู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง บางครั้งกลับมาอ่านอีกรอบก็พบว่า ในตัวอักษรมันซ้อนเนื้อหาทางการเมืองเอาไว้มากมาย พวกเนื้อหาที่ต้องมีพื้นฐานการเมืองในเรื่องนั้นมาก่อน อะไรประมาณนั้น
แสดงว่าคุณก็มีช่วงเวลาที่อ่านงานเขียนของ นิธิ เอียวศรีวงศ์ ไม่รู้เรื่องเหมือนกันใช่ไหม
ปกติครับ ใครมันจะไปเข้าใจทั้งหมดวะ (หัวเราะ) รวมถึงนักวิชาการอีกหลายคนที่มาเป็นคอลัมนิสต์ด้วยนะ งานหลายชิ้นชอบละไว้ในฐานที่เข้าใจ ทำให้ผมต้องไปสืบค้นต่อ แล้วพอกลับมาอ่านงานพวกเขาอีกครั้ง ก็จะได้มุมมองที่แตกต่างออกไป
ถ้าให้เลือกวารสารและหนังสือการเมืองที่ประทับใจ สำหรับคุณคือเล่มไหน
ถ้าเป็นงานวารสารการเมือง ผมโตมากับงานของ ชัชรินทร์ ไชยวัฒน์ นักเขียนและนักข่าวในยุคที่เขายังไม่เป็นฝ่ายขวาแบบปัจจุบัน ผมมองว่านักเขียนคนนี้น่าสนใจ 2 ประการ หนึ่ง มีจุดยืนในเรื่องประชาธิปไตย และสอง มีความกล้าหาญและอารมณ์ขันในงานเขียน รวมไปถึงพวกบทสัมภาษณ์ของ พันศักดิ์ วิญญรัตน์ ที่ฉลาดในการเลือกคน เลือกคำถามในการสัมภาษณ์ สิ่งเหล่านี้ทำให้เราขยับจากการอ่านหนังสือพิมพ์รายวัน มาอ่านรายสัปดาห์ อ่านบทวิเคราะห์มากขึ้น
ส่วนหนังสือต้องออกตัวก่อนว่ามาตามอ่านทีหลัง งานที่ยังรู้สึกประทับใจคือ เศรษฐกิจการเมืองไทยสมัยกรุงเทพฯ ของ คริส เบเคอร์ และ ผาสุก พงษ์ไพจิตร มันเป็นประวัติศาสตร์ช่วงยาวที่อ่านตอนแรกก็เหมือนไม่มีอะไร แค่เล่าเหตุการณ์ แต่พอรู้อะไรมากขึ้น มีมุมมองที่กว้างขึ้น ก็เห็นอะไรที่แตกต่างไปในสังคมผ่านหนังสือเล่มนี้ อีกอย่างคือด้วยความที่เล่มนี้อ้างอิงมาจากหนังสือภาษาอังกฤษเล่มอื่นๆ ซึ่งพอสืบค้นผ่านบรรณานุกรมจึงพบว่าข้อมูลพวกนี้มันต่อยอดความรู้ได้ ถึงขั้นคิดว่าจะเอามาแปลใหม่หลังจากทำสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันเลยนะ
ทั้งหมดนี้ไม่มีหนังสือการเรียนเลย ผมเทไปด้านการเมืองซะอย่างเดียว (หัวเราะ) ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิดพลาด เพราะถ้าอยากจะเข้าใจการเมือง คุณจำเป็นต้องอ่านหนังสือที่มากกว่าการเมือง
ความคิดที่อยากก่อตั้งสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน เริ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงไหน
ฟ้าเดียวกัน อยู่ในหัวมาตั้งนานแล้ว เพียงแต่ผมรู้ว่าหากจะเริ่มทันทีมันเป็นเรื่องยาก เลยไปทำอย่างอื่นก่อน ทำสถาบันพัฒนาการเมือง ลองเอาเงินคนอื่นมาทำหนังสือดูบ้าง อย่างตอนที่เป็นผู้ช่วยให้ ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ เขาก็มีงบประมาณมาให้ลองทำหนังสือ ก็เป็นจุดที่ได้รู้ว่าการทำสำนักพิมพ์เป็นอย่างไร มีขั้นตอนอะไรบ้าง ใช้เงินเท่าไหร่ ติดต่อกับโรงพิมพ์ต้องทำแบบไหน ก็อาศัยวิธีครูพักลักจำ เอาเงินคนอื่นมาใช้ก่อน
จุดหนึ่งที่เจอเพื่อนร่วมงาน ทั้ง อาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ กับ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นนักการเมืองไปแล้ว ตอนนั้นอยากทำสำนักพิมพ์ร่วมกันเลยมาลงขันคนละ 200,000 บาท ก่อนที่หลังจากนั้นต่างคนต่างก็มีเส้นทางเป็นของตัวเอง
เอาเข้าจริงความคิดจะเปิดสำนักพิมพ์มันจะไม่ได้กำไรเลยนะ ผมรู้ตั้งแต่ตอนนั้น จึงคิดโมเดลธุรกิจ 3 ขา ขึ้นมา ขาแรกคือการทำธุรกิจอย่างอื่นเพิ่มเติม ทั้งการทำหนังสือให้สำนักพิมพ์อื่นและการรับจัดนิทรรศการต่างๆ ขาที่สองคือ การเคลื่อนไหวภาคประชาชน เช่น การประท้วง หรือการชุมนุมต่างๆ หากใครขอให้ไปช่วย ธนาพลก็จะไปช่วยทำทุกอย่างในฐานะสื่อ และขาสุดท้ายคือ การเรียนรู้จากความสำเร็จและข้อผิดพลาด บริหารสำนักพิมพ์และเงินที่ได้มาให้คุ้มค่าที่สุด สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันจะเรียนรู้จากคนที่ประสบความสำเร็จ ขณะเดียวกันก็ระมัดระวังไม่เดินตามรอยคนที่ผิดพลาดในวงการสิ่งพิมพ์
ช่วงแรกวางทิศทางของสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันไว้แบบไหน
มีหนังสือนักวิชาการ วารสาร มีหนังสือเล่ม หนังสือแปลเป็นหลักมากกว่า
อย่างวารสาร ฟ้าเดียวกัน มันก็เริ่มจากในตอนนั้นที่ไม่มีอะไรให้อ่าน แต่ผมยังอยากอ่านต่อ ยังมีคำถามเรื่องการเมืองไทยอยู่อีกเยอะ พอไม่มีใครทำ ไม่มีสื่อไหนพูด ผมก็ขอเป็นคนทำเอง ส่วนหนึ่งก็เพื่อตอบคำถามส่วนตัวของพวกเราเองด้วย
หนังสือชุดแรกที่ออกมาของสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันคือเล่มไหน
ในความเป็นจริงคือหนังสือที่วางแผนจะออกในช่วงเปิดตัวของสำนักพิมพ์มันไม่ได้ออกนะเพราะทำไม่ทัน กระบวนการทำหนังสือมันใช้เวลานาน ไหนจะเรื่องความพร้อม หรือต้องไปทำงานอื่นก่อน จนเวลาล่วงเลยไปก็กลายเป็นว่าความสนใจตรงนั้นหมดไปแล้ว
อย่างหนังสือชุด สยามพากษ์ ที่เราตั้งใจให้เกิดการหักล้างและนำเสนอข้อมูลใหม่ๆ ของสังคมการเมืองในยุคสมัยนั้นๆ ก็ใช้เวลาเกือบสิบปีเลยกว่าจะเข็นเล่มแรกออกมาได้ หลังจากนั้นถึงจะมีตามออกมาเรื่อยๆ
กลายเป็นวารสาร ฟ้าเดียวกัน ที่ออกมาก่อน
ใช่ เพราะมันมีตารางการออกที่ชัดเจน แต่ตอนหลังมันค่อยๆ หายไปเมื่อช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมานี้เอง เพราะผมจะได้มีเวลาโฟกัสกับการทำงานหนังสือเล่มมากขึ้น อีกอย่างคือไม่มีต้นฉบับที่ดีพอ ผมเกรงใจคนอ่าน ถ้าคนทำรู้สึกว่ามันยังไม่ดี คนอ่านคงรู้สึกยิ่งกว่า ดังนั้นบทความดีๆ แต่ละเล่ม กว่าจะหาได้มันยากเย็นเหลือเกิน อาจเป็นเพราะนักเขียนเขาเขียนงานกันน้อยลงหรือไปเขียนในสื่ออื่นกันมากขึ้น ดังนั้นก็เลยคิดว่าอย่าทำต่อเลยว่ะ
วารสาร ฟ้าเดียวกัน มันส่งผลต่อความคิดของคนในสังคมอย่างไรบ้าง
สำหรับผมมองว่ามันเป็นความใหม่ เป็นการบุกเบิกเพื่อนำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์ หรือเป็นหลักฐานอ้างอิงในช่วงเวลานั้น ตอนผมกลับไปอ่านก็ยังมองว่าเป็นการบันทึกความรู้สึกนึกคิดของเราที่มีต่อเรื่องต่างๆ ในยุคนั้น มันก็สามารถตรวจสอบตัวเองได้ด้วยว่าที่ผ่านมาเป็นอย่างไร ความคิดเห็นของเราต่อเรื่องนี้เปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง แต่ในท้ายที่สุดก็พบว่ามันก็ได้รับใช้ยุคสมัยของมันตลอด 20 ปีที่ผ่านมา
เกณฑ์ในการคัดเลือกเนื้อหาหนังสือของสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันคืออะไร
พูดโดยง่ายที่สุดคือต้องดี (หัวเราะ) ผมมองเรื่องความใหม่ ใหม่ในแง่ของข้อมูลหรือการตีความที่ไม่ได้อยู่ในกระแสหลัก เพราะถ้าอยู่ในกระแสหลัก เขาก็คงไปพิมพ์ที่อื่นกันหมดแล้ว เช่นหนังสือประเภทราชานิยม ประเทศไทยอยู่รอดด้วยบุญญาบารมี อะไรพวกนี้คนเขียนเขาก็ไม่ส่งมาหรอก และผมก็คงไม่พิมพ์เหมือนกัน แต่ถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับการตั้งคำถาม กระบวนการสร้างรัฐไทย อะไรเป็นอุปสรรคปัญหา ทำไมประเทศถึงไม่ไปไหนเสียที เนื้อหาอะไรแบบนี้ต่างหากที่ผมสนใจ
พวกข้อคิดเห็นสมัยก่อนผมก็จะเปิดพื้นที่ให้ในวารสาร เป็นเวทีในการถกเถียง ในการแสดงวิวาทะ แต่สำหรับหนังสือมันไม่ใช่แบบนั้น มันต้องคิดให้มากขึ้น คิดไปจนถึงคำถามสุดท้ายว่า นี่เราจะมาลงทุนพิมพ์ข้อคิดเห็นของคนนี้จริงๆ เหรอ
แล้วเนื้อหาเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ล่ะ อะไรสามารถพิมพ์ได้และพิมพ์ไม่ได้บ้าง
เอาเข้าจริงทุกที่ก็มีการเซ็นเซอร์ทั้งนั้น เพียงแต่ว่าเพดานของแต่ละที่มีมากแค่ไหน ผมเองก็ไม่ได้อยากหาเรื่องใส่ตัว ดังนั้นสิ่งที่ผมพยายามนำเสนอก็คือการทำความเข้าใจ มองสถาบันกษัตริย์ให้เป็นหนึ่งในสถาบันทางการเมือง ซึ่งถ้าคุณจะวิเคราะห์การเมืองไทยแล้วคุณตัดปัจจัยหนึ่งออกไป คุณจะเรียกว่าวิเคราะห์การเมืองได้อย่างไร มันจึงจำเป็น ดังนั้นผมจึงมองเรื่องนี้เป็นการคืนความปกติมากกว่าทำเรื่องผิดปกติ
ส่วนเส้นที่ฟ้าเดียวกันจะไม่ไปแตะคือ อะไรที่ไม่มีหลักฐานชัดเจนก็จะไม่เขียนลงไปเลย จะไม่มีการกล่าวหากันลอยๆ ส่วนหนึ่งเพื่อความปลอดภัย รวมไปถึงความน่าเชื่อถือของตัวหนังสือเองด้วย
พูดถึงเว็บบอร์ดฟ้าเดียวกัน ตอนนั้นความตั้งใจคืออะไร และทำไมสุดท้ายจึงปิดตัวลง
มันคือความตั้งใจของพวกเราที่จะพาสังคมไปให้ไกลที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ในการเถียงทุกประเด็น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะพวกเราเชื่อว่า การมีเสรีภาพในการขบคิดและถกเถียงจะเป็นทางออกของปัญหาและความขัดแย้ง
ส่วนสาเหตุที่ต้องปิดตัวลง เพราะเราเปลี่ยนผู้รับผิดชอบเว็บบอร์ดจากสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันเป็นกรรมการอีกชุดหนึ่ง ซึ่งหลังมีการเปลี่ยนมือเป็นคนอื่น ทำไปได้สักพักหนึ่งก็ต้องปิดตัวลง นอกจากนี้มีเรื่องการฟ้องร้องเกิดขึ้นมากเกินไปจนไม่มีเวลามารับผิดชอบเรื่องคดี รวมไปถึงเทคโนโลยีและวัฒนธรรมของสิ่งพิมพ์เปลี่ยนไป ผู้คนหันมาสนทนากันในแพลตฟอร์มอื่นๆ อย่างเช่น Facebook แทนในช่วงเวลานั้น
คิดอย่างไรกับการที่ตำรวจบุกเข้าตรวจค้นสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน เหตุการณ์นี้มันสะท้อนถึงความเปราะบางของสังคมต่องานวิชาการด้านการเมืองและประวัติศาสตร์อย่างไรบ้าง
สำหรับผมทุกรัฐอำนาจนิยมมักจะกลัวความรู้หรือมุมมองที่แตกต่างจากที่รัฐต้องการให้ประชาชนรู้และเห็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐที่ไม่มีความชอบธรรม มาจากการรัฐประหาร หรือสืบทอดอำนาจฝ่ายกลไกรัฐประหาร ซึ่งจะมีความเปราะบาง หวาดระแวง และใช้อำนาจดิบเถื่อนมากขึ้น
อย่างกรณีตำรวจที่มาบุกยึดหรือตรวจค้นสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน เอาเข้าจริงก็ไม่สามารถทำได้นะ ถ้าไม่ได้รับคำอนุญาตจากศาล แต่มันก็ยังเกิดขึ้น จึงอาจสะท้อนถึงความหวาดกลัวของอำนาจนิยมในประเทศไทย เรื่องนี้ผมมองเป็นอุปสรรคอย่างหนึ่งของการทำงานที่พยายามปักธงทางความคิดและทำลายกรอบบางอย่างของสังคม
สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันถูกฝ่ายอนุรักษนิยมมองว่ามีเนื้อหาที่เป็นขั้วตรงข้ามกับพวกเขา ยากที่จะทำใจอ่านได้ คุณมองเรื่องนี้อย่างไร
ผมว่าโดยเนื้อหากับรูปแบบมันต่างกันนะ คือรูปแบบต้องทำให้รัดกุมอยู่แล้ว ไม่ใช่มาถึงจะชี้หน้าด่า ทำให้เจ็บช้ำน้ำใจกัน แล้วอีกอย่างผมเชื่อว่าหน้าที่ของการเมืองคือการเปลี่ยนความคิด และนำเสนอมุมมองใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา ดังนั้นสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวจึงเปิดรับคนทุกรูปแบบที่รักการอ่าน แม้ว่าคุณจะคิดเห็นไม่เหมือนกัน หรืออ่านทั้งเล่มแล้วเห็นต่าง ก็เขียนแย้งมาได้ไม่ว่ากัน
ถ้าให้แนะนำหนังสือฝ่ายอนุรักษนิยมสักเล่ม จะแนะนำเล่มไหน
ผมจะแนะนำหนังสือ ศึกษารัฐไทย: ย้อนสภาวะไทยศึกษา ของ เบเนดิกท์ แอนเดอร์สัน มีจุดเริ่มต้นจากบทความ 2 ชิ้นคือ ‘Withdrawal Symptoms: Social and Cultural Aspects of the October 6 Coup’ (1977) และ ‘Studies of the Thai State: The State of Thai Studies’ (1979) ซึ่งเบนเขียนขึ้นเพื่อประณามเหตุการณ์สังหารหมู่ 6 ตุลาคม 2519 กลายเป็นหนังสือที่พูดถึงการเมืองไทยอย่างรอบด้าน โดยมีแนวทางที่โดดเด่นคือการวิเคราะห์การเมืองไทย ผ่านเวลาและพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลกได้อย่างน่าสนใจ
สำหรับผม อาจารย์เบนไม่ใช่แค่นักวิชาการไทยศึกษา แกเป็นนักวิชาการระดับโลก ดังนั้นบทความในเล่มจึงมีมุมมองที่กว้างและลึก ทำให้หลุดออกจากกรอบเดิมๆ ที่มีอยู่ เวลาพูดถึงสถาบันกษัตริย์ หนังสือเล่มนี้เขาเทียบกับบริบทโลกด้วย ช่วยให้การเมืองมันข้ามพื้นที่ ข้ามเวลา ทำให้เราเห็นอะไรในมิติใหม่ๆ มากขึ้น
เอาเข้าจริงงานเขียนแบบนี้ มันไม่ใช่หนังสือที่จะมาคุยว่าคนฝ่ายไหนหรือคิดแบบไหนควรอ่าน แต่คนทุกคนควรอ่าน อ่านแล้วเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ก็มาถกเถียงกัน
สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน กลายเป็นที่รู้จักของคนรุ่นใหม่มากขึ้น ในช่วงที่มีความตื่นตัวทางการเมืองในปี 2563 เรื่องนี้คุณคิดเห็นอย่างไรบ้าง
สำหรับผมสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันเป็นเพียงส่วนหนึ่งในขบวนการประชาธิปไตยของคนกลุ่มนี้ ในการชวนพวกเขาตั้งคำถาม และหาข้อเท็จจริงในเรื่องต่างๆ เท่านั้น แน่นอนว่าลึกๆ ผมก็รู้สึกดีใจที่เห็นกลุ่มคนรุ่นใหม่มีมุมมองที่หลากหลายแตกต่างในเรื่องการเมือง ซึ่งถือเป็นเรื่องดีในสังคมประชาธิปไตย ที่หนังสือการเมืองและการเมืองในประเทศไทยจะวิพากษ์วิจารณ์ เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงให้ดีต่อไปในอนาคตข้างหน้า
เคยได้ยินกระแสโจมตีว่า ฟ้าเดียวกันเป็นสำนักพิมพ์ที่ทำให้คนแตกแยก คิดเห็นอย่างไร
แตกแยกคืออะไร ถ้ามีสำนักพิมพ์หนึ่งที่ทำให้สังคมแตกแยกได้ แสดงว่าสังคมโคตรเปราะบางเลย ถึงที่สุดแล้วทุกอย่างมันก็ผ่านการพิสูจน์ ผ่านการปรับตัว ซึ่งการวิจารณ์มันคือส่วนหนึ่งของกระบวนการเหล่านี้
ปัจจุบันสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันยืนระยะมาได้นานเกือบ 20 ปี คุณมองเป้าหมาย หรือความท้าทายใหม่ๆ อะไรบ้าง
สำหรับผมคือการขยับเส้นเพดาน เปิดรับแนวคิดและความเชื่อใหม่ๆ ทางการเมือง ทั้งของคนการเมืองรุ่นเก่าที่เปิดใจ และคนรุ่นใหม่ที่ยอมรับความแตกต่าง
ส่วนภารกิจของสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันหลังจากนี้ ผมยังไม่ได้คิดมากไปกว่าโปรเจกต์หนังสือประวัติศาสตร์และการเมืองในรูปแบบหนังสือเล่ม ที่ยังอยู่ในโครงการอีกตั้ง 20 กว่าเล่ม
สุดท้ายนักอ่านจะได้อะไรจากหนังสือของ สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน
ผมว่ามันคือการทำงานทางความคิด ยอดขายก็เป็นแค่ส่วนหนึ่ง หรือเพื่อนผมที่ไปทำพรรคการเมืองเขาก็ไม่ได้คิดแค่จำนวน สส. อย่างเดียว เขามองเรื่องการปักธงทางความคิด ไม่ว่าพรรคการเมืองหรือหนังสือ สำหรับพวกเราภารกิจสำคัญที่สุดคือการเสนอแนะความเป็นไปได้ใหม่ๆ ทั้งในเชิงประวัติศาสตร์และการเมือง