ชะตากรรมนักเรียนไทยยุคโควิด : หนึ่งปีที่สูญหาย บาดแผลที่มองไม่เห็นจากการเรียนออนไลน์

2,185 views
7 mins
December 27, 2021

          อย่างน้อย 43,000 คน คือจำนวนนักเรียนไทยที่หลุดจากระบบการศึกษาในปี 2564 เกือบครึ่งหนึ่งเป็นนักเรียนชั้น ม.3 ต่อ ม.4 ซึ่งสาเหตุหลักที่ทำให้นักเรียนหลุดออกนอกระบบหนีไม่พ้นปัจจัยทางเศรษฐกิจ

          ประมาณ 1.9 ล้านคน คือจำนวนนักเรียนยากจนที่ครอบครัวมีรายได้เฉลี่ยแค่พันกว่าบาทต่อเดือน โควิด-19 ทำให้รายได้ของพวกเขาลดลงไปอีก และเด็กๆ กลุ่มนี้กำลังเสี่ยงจะหลุดจากระบบการศึกษา

          1.27 ปี คืออัตราสูญเสียการเรียนรู้ของเด็กไทยเนื่องจากการปิดโรงเรียน คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 3.9 แสนล้านดอลลาร์ หรือเทียบเท่ากับ 30 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี หากไม่ได้รับการฟื้นฟู คุณภาพแรงงานไทยในอนาคตจะด้อยลง

          สำหรับระบบการศึกษาไทยที่มีความเหลื่อมล้ำมากอยู่ก่อนแล้ว โควิด-19 จึงทั้งเปิดปากแผลเก่าและสร้างบาดแผลใหม่จำนวนมาก คำถามสำคัญคือเราจะรักษาบาดแผลทั้งหมดอย่างไร

การเรียนออนไลน์ ไม่ใช่ทางเลือกสำหรับทุกคน

          โดยปกติกลางเดือนพฤษภาคมจะเป็นช่วงเปิดภาคเรียนที่ 1 ของนักเรียนไทย แต่สำหรับปีการศึกษา 2564 เดือนพฤษภาคมกลับเป็นช่วงเริ่มต้นของโควิด-19 ระลอกสามในไทยด้วย

          “หายไปหนึ่งเทอมเต็มๆ เทอมที่ผ่านมา”

          ชำนาญ สังข์ทอง ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดศิลามูล เล่าว่าจังหวัดนครปฐมเป็นพื้นที่สีแดง จึงต้องปิดโรงเรียนร้อยเปอร์เซ็นต์ “แถวนี้หนักครับ คนติดโควิดเยอะ”

          โรงเรียนวัดศิลามูลเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก มีนักเรียนทั้งหมด 204 คน สอนชั้นอนุบาลถึงประถมศึกษาปีที่ 6 หนึ่งระดับชั้นมีแค่หนึ่งห้องเรียนเท่านั้น โดยอุปสรรคสำคัญในการเรียนการสอนช่วงโควิด-19 ระบาดหนัก คือนักเรียนมากกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ ไม่พร้อมเรียนออนไลน์

          “ส่วนใหญ่จะไม่มีอินเทอร์เน็ต โทรศัพท์มี แต่ไม่มีเงินชำระค่าอินเทอร์เน็ตในการเรียน เพราะว่ามันต้องเรียนทุกวัน เสีย (เงิน) ค่อนข้างเยอะนะครับ”

          ผู้ปกครองของนักเรียนที่นี่จำนวนมากเป็นแรงงานในโรงงานอุตสาหกรรม อีกส่วนหนึ่งประกอบอาชีพเกษตรกร ทำไร่ทำนาและปลูกกล้วย แม้จะมีโทรศัพท์ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ แต่อินเทอร์เน็ตที่พวกเขาใช้มักเป็นแบบเติมเงินรายวัน รายสัปดาห์ เพราะราคาถูก หรือไม่ก็ใช้ WiFi ฟรีของหมู่บ้าน ซึ่งไม่เพียงพอต่อการเรียนออนไลน์ผ่านโปรแกรมต่างๆ ดูคลิปวิดีโอ หรือใช้สืบค้นข้อมูลประกอบการเรียน

         “ตรงนี้เป็นปัญหาใหญ่ในการเรียนรู้ผ่านระบบออนไลน์” ผอ.ชำนาญเล่า

ชำนาญ สังข์ทอง ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดศิลามูล
ชำนาญ สังข์ทอง ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดศิลามูล

เข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ต เข้าไม่ถึงโอกาส

          ปัจจุบันหลายคนอาจมองว่าสมาร์ทโฟนและอินเทอร์เน็ตเป็นปัจจัยที่ 5 ในชีวิตประจำวัน แต่ความจริงแล้วข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติชี้ว่าทั่วประเทศไทยยังมีประชากรกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ ไม่มีโทรศัพท์มือถือ และกว่า 33 เปอร์เซ็นต์ ไม่มีอินเทอร์เน็ต ส่วนประชากรที่ไม่มีคอมพิวเตอร์มีมากถึง 74 เปอร์เซ็นต์

          “อาจารย์ถามว่าจะสละสิทธิ์ตรงนี้ไหม วิวบอกว่าสละสิทธิ์เลยค่ะ เพราะว่าบ้านวิวไม่ได้มีโน้ตบุ๊ก ไม่ได้มี WiFi วิวมีแค่โทรศัพท์เครื่องเดียวเอง”

          มุกริน ทิมดี หรือ วิว เด็กสาวอายุ 20 ปี จากสลัมคลองเตย ต้องตัดใจละทิ้งความฝันถึงสองครั้งในหนึ่งปี เพราะปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจ

          ความฝันของวิวเรียบง่าย คือการได้เรียนต่อมหาวิทยาลัย

          แต่ฝันธรรมดาๆ ของเด็กตั้งใจเรียนคนหนึ่งกลับเต็มไปด้วยอุปสรรค เมื่อเธอเติบโตมาจากครอบครัวหาเช้ากินค่ำ พ่อของวิวเสียชีวิตไปหลายปีแล้ว ส่วนแม่เป็นอดีตสาวโรงงาน ปัจจุบันรับจ้างซักรีด วิวช่วยแม่ทำงานหารายได้ตั้งแต่อายุ 15 ปี

          “อยู่ในสลัมถ้าไม่มีงานทำ เราก็อด เด็กบางคนอายุ 12-13 ไปทำงานกรรมกรแล้ว”

          ดังนั้น วิวจึงเป็นเด็กส่วนน้อยที่เรียนจบชั้นมัธยมปลาย เธอได้ทุนจากโครงการ Teach for Thailand ช่วง ม.4-6 ก่อนจะแอดมิชชั่นติดคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขาพัฒนาชุมชน มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม แต่เรียนไปแค่หนึ่งเทอมก็ต้องลาออกมาดูแลแม่ที่ป่วยเข้าโรงพยาบาล

          หลังแม่อาการดีขึ้นวิวสมัครเรียนอีกครั้ง คราวนี้สอบสัมภาษณ์ผ่าน ได้สิทธิ์เข้าเรียนคณะครุศาสตร์ เอกวิทยาศาสตร์ทั่วไป มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี แต่กลับต้องสละสิทธิ์อีก

          “หนูอยากเรียนมาก แต่พออาจารย์บอกว่าเราต้องเรียนออนไลน์ร้อยเปอร์เซ็นต์นะ วิวเลยเลือกที่จะไม่ไปต่อ เพราะบ้านวิวไม่ได้มีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ใดๆ เลย เราไม่พร้อม ก็แค่ยอมรับความจริงว่ามันไม่พร้อม นั่งรถกลับบ้านเลย”

          “อยากกลับไปเรียน แต่ไม่รู้ว่าปีไหน หมดยุคที่เรียนออนไลน์ไป วิวจะสมัครเรียนใหม่” เธอทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้ม และความหวัง

วิว - มุกริน ทิมดี
วิว – มุกริน ทิมดี

          ข้อมูลจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ระบุว่าโควิด-19 ส่งผลให้จำนวนนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษเพิ่มขึ้นกว่าแสนคน จากเคยอยู่ที่ประมาณ 1.7 ล้านคน ช่วงภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2562 กลายเป็น 1.9 ล้านคน ช่วงภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 ถือเป็นสัดส่วนที่สูงมาก เมื่อเทียบกับเด็กทั้งหมด 9 ล้านคนในวัยเรียนการศึกษาภาคบังคับ

          แถมรายได้ที่น้อยอยู่แล้วของครอบครัวเด็กยากจนกลุ่มนี้ ยังลดลงไปอีก จากเฉลี่ย 1,200-1,300 บาทต่อเดือน เหลือเพียง 1,094 บาทต่อเดือนโดยเฉลี่ย

          และแน่นอนว่านักเรียน 1.9 ล้านคนนี้ กำลังตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะหลุดจากระบบการศึกษา

กล่องความรู้’ นวัตกรรมอุดช่องโหว่การเรียนออนไลน์

          กลับมาที่โรงเรียนวัดศิลามูล เมื่อโจทย์ของโรงเรียนคือไม่สามารถจัดการเรียนการสอนที่โรงเรียนได้และนักเรียนมากกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ ไม่มีอุปกรณ์เรียนออนไลน์ ผู้อำนวยการ คุณครู ผู้ปกครอง จึงต้องปรึกษาหารือกันเพื่อหาทางออก

และทางออกที่ว่านั่นก็คือ ‘กล่องความรู้’ หรือ Learning Box โดยคุณครูได้ร่วมมือกับมูลนิธิสตาร์ฟิชออกแบบ Learning Box เพื่อจัดสรรให้กับนักเรียนสัปดาห์ละกล่อง ภายในบรรจุอุปกรณ์สำหรับทำกิจกรรมตามตัวชี้วัดที่กระทรวงศึกษาฯ กำหนด และมี Booklet หรือคู่มือบอกวิธีใช้

          “ยกตัวอย่างนักเรียนชั้น ป.5 จะได้เรียนรู้เรื่องแรงเสียดทานผ่านการประดิษฐ์เครื่องมือทดสอบ ลงมือทำทางลาดที่มีพื้นผิวแตกต่างกัน เป็นพื้นเรียบ พื้นหยาบ พื้นหยาบมาก แล้วทดลองปล่อยวัตถุให้เคลื่อนที่ลงมา เขาจะได้เห็นภาพชัดเจนเลยว่าการเคลื่อนที่ของวัตถุบนพื้นผิวต่างๆ เป็นอย่างไร ทดลองประมาณสามรอบ เพื่อเอาค่าเฉลี่ยมาเขียนสรุปความรู้ลงใบงาน”

          ผอ.ชำนาญ อธิบายว่าการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมแบบนี้เป็น Active Learning ซึ่งทำให้นักเรียนสนใจบทเรียนมากขึ้น สนุกเพราะได้ทดลองทำ ดีกว่าการอ่านหนังสืออย่างเดียวแล้วเขียนคำตอบมาส่งครู

          นอกจากนี้การเรียนด้วย Learning Box ยังทำให้ผู้ปกครองสามารถนำลูกหลานทำกิจกรรมได้ในช่วงเวลาที่สะดวก เช่น ตอนเย็นหลังเลิกงาน ส่งเสริมให้การเรียนรู้ของเด็กดีขึ้น

          “ครูทำหน้าที่เป็นโค้ชให้กับผู้ปกครอง เพื่อให้ผู้ปกครองเป็นครูที่บ้าน”

          โดยผู้ปกครองและคุณครูจะสื่อสารกันผ่านกลุ่มไลน์ของแต่ละระดับชั้น อย่างไรก็ตาม Learning Box ก็ไม่สามารถทดแทนการเรียนในชั้นได้ร้อยเปอร์เซ็นต์

การเรียนรู้ถดถอย โจทย์ใหญ่ที่รออยู่

          เดือนธันวาคม เข้าสู่ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 เมื่อนักเรียนกลับเข้าชั้นเรียนอีกครั้ง คุณครูที่โรงเรียนวัดศิลามูลใช้เวลา 2 สัปดาห์แรก เพื่อเช็กความพร้อมของเด็กๆ ก่อนจะพบว่า นักเรียนมีการเรียนรู้ถดถอยลง โดยเฉพาะชั้นประถมต้น

          “ภาษาไทยเราใช้คำศัพท์พื้นฐานของชั้นนั้นๆ ให้เขาอ่าน แทนที่เขาจะอ่านได้ ก็อ่านติดๆ ขัดๆ หรืออ่านไม่ได้เลย”

         “เด็ก ป.1 มีปัญหาเยอะสุด เพราะช่วงที่เรียนอนุบาล เขาได้เรียนการอ่านมาระดับเบื้องต้น แต่พอหายไปหนึ่งเทอม เขาก็ลืมหมดครับ ไม่สามารถสะกดได้เลย ต้องค่อยๆ ปรับ เหมือนเริ่มใหม่โดยที่เวลาผ่านไปแล้วหนึ่งเทอม มันเหมือนว่าเราเริ่มช้า การอ่านของเด็กเลยต่ำกว่าปกติไปมาก”

          ส่วนนักเรียนชั้นประถมปลาย แม้ไม่มีปัญหามากเท่า แต่ ผอ.ชำนาญ ก็กังวลเรื่องการเรียนต่อในระดับชั้นมัธยมว่าเด็กจะมีความรู้เพียงพอหรือไม่ “นักเรียนประถมปลายเขามีงานที่ต้องทำส่งคุณครูทุกสัปดาห์ เหมือนว่าเขาได้เรียนรู้อย่างต่อเนื่อง แต่ในความเป็นจริงความรู้คงไม่เต็มที่แน่นอน เด็กคงจะเรียนได้ช้าลง คิดว่าแต่ละโรงเรียนก็เจอปัญหาเดียวกัน”

ปัญหาการเรียนรู้ถดถอย หรือ Learning Loss เป็นผลกระทบจากการปิดโรงเรียนเพราะโควิด-19 ที่เกิดขึ้นทั่วโลก และเป็นที่น่ากังวลว่าปัญหานี้จะส่งผลกระทบต่อเด็กในระยะยาว เพราะถ้าเด็กมีทักษะความรู้ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ย่อมส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพ รายได้ และคุณภาพชีวิตในอนาคต

          ในสหรัฐอเมริกา McKinsey รายงานผลวิเคราะห์จากการประเมินนักเรียนกว่า 1.6 ล้านคน ในกว่า 40 รัฐ พบว่านักเรียนเกรด 1-6 (ระดับชั้นประถม) มีทักษะด้านคณิตศาสตร์ถดถอยเฉลี่ย 5 เดือน ส่วนทักษะด้านการอ่านถดถอยเฉลี่ย 4 เดือน เมื่อเทียบกับการเรียนรู้ของนักเรียนทั่วไปก่อนเกิดโควิด

          โดยเด็กจากครอบครัวรายได้สูงมีการเรียนรู้ถดถอยน้อยกว่าเด็กจากครอบครัวรายได้ต่ำ และเด็กผิวขาวมีการเรียนรู้ถดถอยน้อยกว่าเด็กผิวสี

ส่วนในประเทศไทย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลวิจัยจากการประเมินเด็กปฐมวัยใน 25 จังหวัด พบว่านักเรียนชั้นอนุบาล 3 ที่โรงเรียนปิดในช่วงเดือนมกราคม (โควิด-19 ระลอกสอง) มีทักษะด้านภาษาลดลง 0.39 ปี และทักษะด้านคณิตศาสตร์ลดลง 0.32 ปี

          แต่น่าจะยังไม่มีการประเมินความถดถอยทางการเรียนรู้ของเด็กไทยทั้งประเทศอย่างครอบคลุมและเป็นระบบ ซึ่งสิ่งนี้มีความสำคัญมาก เพราะหากต้องการจะฟื้นฟูทักษะและความรู้ที่หายไป เราจำเป็นต้องรู้ก่อนว่าอะไรหายไปบ้าง และหายไปมากน้อยแค่ไหน เพื่อที่คุณครูจะสามารถให้ความช่วยเหลือนักเรียนเป็นรายบุคคลได้อย่างตรงจุด

ชะตากรรมนักเรียนไทยยุคโควิด

          มองไปข้างหน้า สถานการณ์โควิด-19 ยังไม่แน่นอน อาจเกิดการแพร่ระบาดระลอกใหม่ๆ ขึ้นอีก จึงเป็นที่น่าตั้งคำถามว่าไทยจะทำอย่างไรเพื่อรักษาเด็กยากจน 1.9 ล้านคน ไม่ให้หลุดจากระบบการศึกษา จะทำอย่างไรเพื่อดึงเด็กกว่า 43,000 คน ที่หลุดออกนอกระบบไปแล้วให้กลับเข้าเรียนได้อีกครั้ง และจะทำอย่างไรเพื่อฟื้นฟูการเรียนรู้ที่ถดถอยลงของเด็กไทย รักษาบาดแผลต่างๆ เหล่านี้เพื่อไม่ให้กลายเป็นแผลเป็นซึ่งจะส่งผลเสียต่อประเทศไทยในระยะยาว

          ณ สิ้นปี 2654 ธนาคารโลกประเมินว่าการเรียนรู้ของเด็กไทยจะถดถอยไปแล้ว 1.27 ปี คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 3.9 แสนล้านดอลลาร์ หรือเท่ากับ 30 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี หากไม่ทำอะไร ไทยจะประสบกับปัญหาคุณภาพแรงงานและเศรษฐกิจในอนาคต


ที่มา

จำนวนและร้อยละประชากรอายุ 6 ปีขึ้นไป จำแนกตามการมีการใช้เครื่องมือ/อุปกรณ์เทคโนโลยีสารสนเทศ จำแนกภาค จังหวัด และเขตการปกครอง พ.ศ. 2553 – 2562, สำนักงานสถิติแห่งชาติ

กสศ.- ธนาคารโลก ห่วงปัญหาความเหลื่อมล้ำการศึกษาพุ่ง ชี้ต้องเร่งยกระดับคุณภาพรร.อย่างทั่วถึงและมีมาตรการพิเศษ [online]

Learning Losses from COVID-19 Could Cost this Generation of Students Close to $17 Trillion in Lifetime Earnings [online]

COVID-19 and education: The lingering effects of unfinished learning [online]

ข้อมูลจำนวนนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษตั้งแต่ปีการศึกษา 2/2560 – 1/2564 [online]

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก