ปล่อยแสงแห่งความหวัง สร้างการศึกษาไทยให้มีอนาคต

986 views
5 mins
May 8, 2023

          การเรียนรู้ควรเป็นเรื่องสนุกและสร้างแรงจูงใจให้คนอยากแสวงหาความรู้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด แต่ดูเหมือนการศึกษาไทยจะสร้างความทุกข์มากกว่าความสุข ทั้งผู้เรียนและผู้สอนต่างตกอยู่ใต้เงื่อนไขที่ทำให้เกิดความเหน็ดเหนื่อยและท้อแท้ จนยากที่จะมองเห็นทางออกที่สดใสกว่าเดิม

          นักการศึกษาไทยต่างตระหนักว่า การพัฒนาระบบการศึกษาให้ดีขึ้นทั้งประเทศ โดยไม่จำเพาะเพียงโรงเรียนทางเลือกหรือโรงเรียนเอกชน ต้องการการเปลี่ยนแปลงในระดับโครงสร้าง ที่สัมพันธ์กับนโยบายและอำนาจทางการเมือง ยังไม่มีใครกล้าประเมินว่าภาพฝันนั้นจะใช้เวลานานเท่าไหร่กว่าจะกลายเป็นจริง แต่ที่แน่ๆ คือนักเรียนไม่สามารถรอจนถึงวันนั้นได้ เวลาที่ทอดยาวออกไปเพียง 1 ปี 1 เดือน หรือ 1 วัน คือการสูญเสียโอกาสการเรียนรู้อันไม่มีวันย้อนกลับคืนมา

          การเปลี่ยนแปลงในจุดเล็กๆ ระดับห้องเรียนจึงมีความสำคัญและสามารถเริ่มได้ทันที จะสิ่งแวดล้อมอย่างไรให้ครูสามารถเปล่งแสงแห่งศักยภาพที่มีอยู่ในตนเองออกมาอย่างเต็มที่ เพื่อวันหนึ่งข้างหน้าประทีปแห่งปัญญาจะถูกจุดต่อๆ กันไป จนคลายความมืดมิดและสร้างการศึกษาไทยให้มีอนาคต

การศึกษาไทยใต้มรดกวัฒนธรรมเชิงอำนาจ

          เพราะเหตุใดการศึกษาไทยจึงเปลี่ยนแปลงยาก? หนึ่งในคำตอบสำคัญคือความเข้มแข็งของระบบราชการที่เอื้อให้เกิดการใช้อำนาจปกครองจากส่วนกลางมายังโรงเรียน จากโรงเรียนมายังครู และจากครูมายังนักเรียน ในบริบทเช่นนี้ เป็นไปไม่ได้เลยที่โรงเรียนจะสามารถเข้าถึงจิตใจของเด็ก และส่งเสริมให้พวกเขาเติบโตอย่างที่ควรจะเป็น ท้ายที่สุดแล้วคนอายุน้อย อำนาจน้อย จะถูกขัดเกลาในนามของความชอบธรรม ส่วนผู้ใหญ่ที่มีอำนาจมากกว่าก็มักจะเสพติดระบบอำนาจนั้น

          ทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษก มองว่า โรงเรียนไม่ได้เป็นที่ปลอดภัย เยาวชนผู้กระทำผิดกว่าร้อยละ 60 มีประวัติเคยถูกให้ออกจากโรงเรียน เมื่อพวกเขาถูกโรงเรียนด้อยค่าและผลักดันให้กลายเป็นผู้แพ้ ก็เป็นเรื่องยากที่เส้นทางชีวิตจะหันเหไปสู่แสงสว่าง แย่ไปกว่านั้น หลายครั้งหลักการและการปฏิบัติต่อเยาวชนกลับสวนทางกัน เช่น หน่วยงานด้านกระบวนการยุติธรรมมีข้อสั่งการเรื่องการคำนึงถึงสิทธิเด็ก แต่กลับมีเด็กและเยาวชน ซึ่งอายุน้อยที่สุดคือ 14 ปี ถูกคุมขังโดยไม่ได้รับอนุญาตให้ครอบครัวเข้าเยี่ยม

          “เยาวชนผู้ก้าวพลาดจะรอดได้ จุดเปลี่ยนคือเราจะต้องไม่เป็นโรงงานผลิตซ้ำผู้แพ้ แต่ต้องสร้างกระบวนการเยียวยาอย่างประณีต เราต้องยืนหยัดไม่รับมรดกวัฒนธรรมเชิงอำนาจแบบราชการ และทำให้พื้นที่ทำงานของเราเข้าถึงและตรวจสอบได้”

ปล่อยแสงแห่งความหวัง สร้างการศึกษาไทยให้มีอนาคต

คืนอำนาจการต่อรองให้ครู

          การศึกษาของไทยได้รับแรงกดดันจากระบบราชการมากกว่าที่ควรจะเป็น เพราะอยู่ภายใต้สังคมเผด็จการมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีช่วงเวลาเพียงสั้นๆ เท่านั้นที่การศึกษาได้งอกเงยในสังคมประชาธิปไตยแบบเต็มใบ นานที่สุดคือในช่วง 2540 ตัวอย่างที่ชัดเจนของการประนีประนอมระหว่างการปกครองส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น ได้แก่นโยบายการแบ่งเขตการศึกษา

          ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ อาจารย์คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง วิเคราะห์ว่า ระบบการศึกษารับใช้อำนาจรัฐเสมอมา และมีการสั่งการแบบบนลงล่าง อีกทั้งยังแบ่งแยกข้าราชการออกจากระบบแรงงาน การถ่วงดุลอำนาจการต่อรองของครูจึงขาดหายไป และต้องรับสภาพกับการทำงานอย่างไม่มีความสุข

          “คุณภาพชีวิตครูในตอนนี้คือ งานหนักเงินน้อย ครูได้เงินเดือนไม่เหมาะสม ทุกคนมีหนี้แบกอยู่หลังแอ่น แล้วยังมีภาระงานที่นอกเหนือจากหน้าที่ของตัวเอง เราต้องรวมตัวสหภาพครู เพื่อเป็นปากเป็นเสียงและมีอำนาจในการเจรจาต่อรองกับรัฐ”

          เมื่อเปรียบเทียบกับต่างประเทศ วิชาชีพครูสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมีเกียรติ มีรายได้ดี และสามารถพัฒนาคุณภาพการสอนอย่างเต็มที่ การก้าวไปถึงจุดนั้นไม่ใช่เพราะการหยิบยื่นจากรัฐ แต่เป็นเพราะครูรวมตัวกันเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องผ่านกลไกของสหภาพแรงงาน ตัวอย่างเช่นประเทศฟินแลนด์ ครูและอาจารย์มหาวิทยาลัยร้อยละ 97 เป็นสมาชิกของสหภาพ เช่นเดียวกับอีกหลายประเทศ แต่กรณีของไทยกลับไม่สามารถทำได้ทั้งนี้ การผลักดันให้เกิดการจัดตั้งสหภาพแรงงานครู ครอบคลุมตั้งแต่การแก้ไขกฎหมาย การสื่อสารทำความเข้าใจสู่สาธารณะ และการผลิตงานวิจัยเพื่อรองรับ

ปล่อยแสงแห่งความหวัง สร้างการศึกษาไทยให้มีอนาคต

มายาคติด้านการศึกษา

          นอกจากปัจจัยเรื่องอำนาจและระบบราชการแล้ว อีกหนึ่งอุปสรรคสำคัญที่ขัดขวางการเปลี่ยนแปลงและนวัตกรรมต่างๆ คือมายาคติด้านการศึกษาที่ฝังแน่นอยู่ในสังคม จนไม่มีการตั้งคำถามต่อความเชื่อนั้นแม้ผิดปกติก็ตาม เช่น หากรัฐมีวิธีมองปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาแบบสังคมสงเคราะห์ ก็จะออกแบบนโยบายมาลักษณะหนึ่ง แต่หากมองว่าทุกคนมีศักดิ์ศรีและมีสิทธิที่จะได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียม นโยบายจะไม่เหมือนเดิม

          ครู ก็หนีไม่พ้นการครอบงำของมายาคติหลายๆ ชุด ที่ผ่านมาครูถูกมองว่าเป็น ‘แม่พิมพ์ของชาติ’ ต้องปฏิบัติตัวเป็นแบบอย่าง และผลิตเด็กให้อยู่ในเบ้าหลอมเดียวกัน บางครั้งถูกมองว่าเป็น ‘เรือจ้าง’ ยิ่งเสียสละชีวิตส่วนตัวมากเท่าไหร่ยิ่งได้รับการยกย่อง โดยไม่สามารถทวงถามความสมดุลหรือความสุขในชีวิตการทำงาน ครูยังถูกมองว่าเป็นผู้ใช้อำนาจและความรุนแรงในโรงเรียน มีการลงโทษเด็ก และสร้างพิธีกรรมให้เด็กต้องยอมศิโรราบ ในขณะเดียวกันครูก็มองว่าตัวเองเป็นเหยื่อของระบบอีกชั้นหนึ่ง

          ในระยะหลังสังคมพยายามโปรโมตว่า ครูไม่ใช่ผู้สอนแต่เป็นผู้อำนวยความสะดวก (Facilitator) สะท้อนความคาดหวังที่อยากเห็นครูเป็นซูเปอร์ฮีโร ทั้งที่จริงๆ แล้ว ครูก็เป็นเช่นปุถุชน ซึ่งมีความหวัง ความต้องการ และตัวตนเป็นของตนเอง รวมทั้งอาจคิดหรือทำผิดพลาดได้

          อดิศร จันทรสุข คณบดีคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่า “ในยุคสมัยที่สื่อเปิดกว้าง พื้นที่สำหรับคิดแตกต่างมีได้มากขึ้น เป็นโอกาสดีที่คนทำงานด้านการศึกษาจะป้อนชุดความคิดอื่นๆ ให้สังคม เช่น บทบาทครูในมิติผู้ดูแลโอบอุ้ม ผู้สร้างแรงบันดาลใจ ผู้ส่งเสริมพลเมืองตื่นรู้ และผู้เป็น Change Agent ที่ลุกขึ้นมาวิพากษ์และสร้างการเปลี่ยนแปลงให้สังคม”

ปล่อยแสงแห่งความหวัง สร้างการศึกษาไทยให้มีอนาคต

ทอผ้าผืนใหม่ให้การศึกษาไทย

          หากเปรียบเทียบการศึกษาไทยเป็นการทอผ้าสักผืน เส้นด้ายแนวตั้งที่ถูกขึงไว้อย่างตายตัว อุปมาคล้ายกฎเกณฑ์ แนวทาง หรือค่านิยม ซึ่งถูกกำหนดไว้อาจเปลี่ยนแปลงยากหรือไม่ได้เลย ส่วนเส้นแนวนอนที่ถูกสอดสลับไปมาจนเกิดลวดลายต่างๆ เปรียบเหมือนการกระทำในปัจจุบันที่สามารถลงมือสร้างสรรค์จนกว่าจะเกิดผลสำเร็จ

          ณิชา พิทยาพงศกร นักวิจัยอิสระ วิเคราะห์ถึงแรงฉุดรั้งในอดีตที่ส่งผลต่อปัจจุบันว่า การศึกษาไทยยังไม่สามารถสร้างทักษะความรู้สอดคล้องกับโลกแห่งการทำงาน คนจำนวนมากเรียนจบวุฒิการศึกษาระดับสูง แต่ทำงานที่ใช้ความรู้ความสามารถต่ำกว่าวุฒิ หรือไม่สามารถมีงานที่มั่นคง ในอีกด้านหนึ่งนายจ้างหรือสถานประกอบการจำนวนมากในปัจจุบันรับสมัครงานโดยไม่ระบุวุฒิการศึกษา สะท้อนว่าวุฒิไม่สามารถการันตีคุณภาพคนทำงาน และทักษะความสามารถในการทำงานเป็นเรื่องที่ถูกให้ความสำคัญมากกว่า

          เมื่อย้อนกลับมามองสภาพการศึกษาไทยเมื่อ 40 ปีที่แล้วมาจนถึงปัจจุบัน ทุกอย่างเหมือนย่ำอยู่กับที่ โลกในห้องเรียนยังหมุนไม่ทันโลกภายนอก และเต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำ นโยบายการแก้ปัญหามักเน้นเรื่องการบริหารและการตั้งคณะทำงานต่างๆ ในขณะที่ความพยายามเปลี่ยนแปลงเนื้อหาและกระบวนการเรียนการสอนที่ถูกริเริ่มขึ้นใหม่กลับถูกปัดตกโดยคนไม่กี่คน ตัวอย่างที่ชัดเจนคือกรณีหลักสูตรฐานสมรรถนะ สุดท้ายแล้วการศึกษาไทยจึงยังไม่สามารถปฏิรูปให้มีคุณภาพอย่างแท้จริง

          “ทุกวันนี้มีแนวทางการเรียนรู้เกิดขึ้นใหม่มากมายในโรงเรียนเอกชน โรงเรียนทางเลือก หรือหน่วยงานนอกระบบโรงเรียน แต่ยังไม่สามารถสร้างการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึงกัน ความท้าทายที่รออยู่ในอนาคตคือ ทำอย่างไรจึงจะสามารถสร้างความสัมพันธ์ระหว่างการเรียนรู้แนวใหม่เหล่านี้กับโรงเรียนของรัฐ”

ปล่อยแสงแห่งความหวัง สร้างการศึกษาไทยให้มีอนาคต

โรงเรียนปล่อยแสง นิเวศการเรียนรู้ที่มีความหมาย

          หนึ่งในความพยายามในการพัฒนาการศึกษาไทยโดยเริ่มต้นจากจุดเล็กๆ คือครูผู้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญของการเปลี่ยนแปลง ได้แก่ โครงการ ‘โรงเรียนปล่อยแสง’ โดยคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โครงการนี้มุ่งเน้นการยกระดับศักยภาพครูให้ค้นพบและเข้าใจตนเอง นำไปสู่การเปิดกว้างและสามารถออกแบบการเรียนรู้โดยไม่แบ่งแยกจากบริบทชุมชนและชีวิตจริง กลไกการขับเคลื่อนระบบนิเวศการเรียนรู้เป็นการทำงานกับเครือข่าย ‘ก่อการครู’ 19 แห่ง ซึ่งเป็นผู้นำจุดประกายการเปลี่ยนแปลงมาแล้วกว่า 10 ปี

          ตัวอย่างโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ เช่น โรงเรียนเขาน้อยวิทยาคม จังหวัดตราด ซึ่งโดดเด่นด้านการพัฒนาผู้ประกอบการวัยเยาว์ โดยเปิดโอกาสให้คิดสร้างสรรค์และทดลองล้มเหลวจนเกิดเป็นบทเรียนในการเรียนรู้ โรงเรียนศรีนครินทร์วิทยานุเคราะห์ จังหวัดสงขลา ซึ่งสร้างเครือข่ายแหล่งเรียนรู้เชื่อมโยงเขา ป่า นา และทะเล อันเป็นห่วงโซ่อาหารและทรัพยากรที่สำคัญของท้องถิ่น โรงเรียนบ้านกาเนะ จังหวัดสตูล ซึ่งออกแบบการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับเทศกาลในท้องถิ่น โดยไม่จำเป็นต้องยึดติดกับหลักสูตรส่วนกลาง และโรงเรียนศรีรักษ์ราษฎร์บำรุง จังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งสร้างเครือข่ายกับ อบจ. วัด กลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์ เพื่อเป็นต้นทุนด้านแหล่งเรียนรู้

          กิตติรัตน์ ปลื้มจิตร คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นผู้วิจัยเพื่อติดตามผลโครงการ กล่าวว่า “เราจะสร้างอิฐก้อนแรกไปจนถึงอิฐก้อนสุดท้ายอย่างไร อันดับแรกต้องเปลี่ยนที่ตัวครูก่อน ไม่ใช่เปลี่ยนแค่วิธีการสอนแต่ต้องเปลี่ยนวิธีคิด โรงเรียนปล่อยแสงจะต้องทำหน้าที่ Connecting the dots สร้างความสัมพันธ์ใหม่ ไม่ใช่ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ แต่เป็นความสัมพันธ์เชิงเครือข่าย ทั้งระหว่างครูกับนักเรียน ระหว่างเพื่อนครู และระหว่างครูกับผู้บริหาร และระหว่างครูกับชุมชน”

          การสร้างระบบนิเวศการเรียนรู้ที่มีนัยสำคัญต่อคุณภาพชีวิตของผู้เรียน จึงไม่ได้มีขอบเขตเพียงในห้องเรียน แต่อาศัยทั้งการพัฒนาทีมครูให้เกิดเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ การเชื่อมโยงทุนและทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชน รวมทั้งสร้างการมีส่วนร่วมกับครอบครัว เพื่อเข้าใจโจทย์และปัญหาของเด็กแต่ละคน

ปล่อยแสงแห่งความหวัง สร้างการศึกษาไทยให้มีอนาคต


ที่มา

งาน เวทีปล่อยแสง: สร้างการศึกษาไทยให้มีอนาคต จัดโดย คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันที่ 26 เมษายน 2566 ณ โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

Cover Photo : ก่อการครู

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก