ธีรภัทร รื่นศิริ ความหมายชีวิตในประเทศที่ไม่ยอมให้เรายินดีเจ็บปวดเพื่อบางสิ่ง

1,573 views
10 mins
March 1, 2023

          “สิ่งที่จะทำให้ชีวิตของฉันมี ‘ความหมาย’ คืออะไร?” เป็นไปได้ว่า (เกือบ) ทุกคนเคยมีคำถามนี้ผ่านเข้ามาและมีความเป็นไปได้ไม่สิ้นสุดสำหรับคำตอบ บางทีคำถามนี้อาจยากเกินไป พวกเราส่วนใหญ่น่าจะคุ้นเคยกับคำว่า ‘ความฝัน’ และ ‘Passion’ มากกว่า ทั้งสามคำนี้ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน แต่หลายครั้งที่สองสิ่งหลัง คือเงื่อนไขให้แก่สิ่งแรก

          ยุคที่ทุนนิยมผลิตความฝันและ Passion ออกมาอย่างฟุ่มเฟือย จำนวนคนที่มีความฝันกับคนที่ไปถึงมันได้แปรผกผันอย่างน่าตกใจ มิพักต้องพูดถึงความหมายของชีวิต เพราะหากมีสมการว่า โครงสร้างพื้นฐานของรัฐที่ดี บวกการเรียนรู้ที่เอื้อ เป็นตัวช่วยจุดประกายความฝันของผู้คนเพื่อเติมเชื้อเพลิงในการค้นหาความหมายชีวิต

          ในมุมมองของ ธีรภัทร รื่นศิริ อาจารย์สาขาปรัชญา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้แปลหนังสือ ‘ความหมายของชีวิต’ ของซูซาน วูล์ฟ (Susan Wolf) สังคมไทยก็ยังห่างไกล 

         ‘ความหมายชีวิต’ เป็นมหาสมุทรทางปรัชญาที่กว้าง ลึก และเต็มไปด้วยข้อถกเถียง บทสนทนาต่อจากนี้เป็นเพียงการว่องว่ายบนพื้นผิว ชวนคิดและชวนคุยกับตัวคุณเอง โดยมีข้อใหญ่ใจความว่า…

          ความหมายชีวิตไม่ใช่แค่เรื่องส่วนตัว

ในยุคสมัยนี้ความหมายของชีวิตหรือการค้นหามันมีความสำคัญแค่ไหน

          สำหรับชีวิตใครล่ะ? ผมว่ามันเป็นพอยต์หนึ่งของวูล์ฟ ที่กล่าวไว้ว่า มันไม่สามารถตอบแบบสากลได้ว่าความหมายชีวิตสำคัญแค่ไหนสำหรับแต่ละคน ผมอยากให้มองหนังสือเล่มนี้เหมือนคู่มือสอนทำผัดผักให้อร่อย มันไม่สามารถบอกได้ในคู่มือนี้ว่าคุณควรจะกินผักมากขึ้น การที่คุณซื้อหนังสือเล่มนี้ไม่ได้แปลว่าคุณจะกินผักมากขึ้นเลย แล้วก็ไม่ได้แปลว่าผักสำคัญกว่าโปรตีนหรือคาร์โบไฮเดรต แต่ถ้าคุณอยากจะทำผัดผักให้อร่อย คู่มือทำผัดผักช่วยได้

          อันนี้ก็เหมือนกัน เขาไม่ได้กำลังบอกว่าความหมายสำคัญกว่าความสุข สำคัญกว่าสวัสดิภาพ สำคัญกว่าความยุติธรรม แต่เขาตั้งข้อสังเกตว่าคนมองข้ามเรื่องความหมายไปมากๆ เวลาที่เราคุยกันเกี่ยวกับชีวิตที่ดี เราจะไม่ค่อยพูดถึงเรื่องความหมาย ดูอย่างสังคมไทย ผู้หลักผู้ใหญ่อวยพรว่ายังไง ขอให้เป็นเจ้าคนนายคน ขอให้ร่ำรวย ขอให้นู่นนี่ แต่ไม่มีใครพูดว่า เอ้อ ขอให้หลานมีชีวิตที่มีความหมายนะ มันขาดหายไป เหมือนกับผักที่ขาดหายไปจากอาหารของหลายๆ คน ซึ่งมันไม่ใช่การบอกว่าคุณจะต้องหาความหมายมากขึ้น แต่คือการบอกว่า นี่เป็นเรื่องสำคัญบางอย่างที่เรามักจะมองข้ามกันไป

          ถามว่าทำไมเรามักจะมองข้ามกันไป หลายๆ ครั้งคงเป็นเพราะว่าเรามองความหมายเป็นเรื่องลี้ลับมาก เป็นเรื่องส่วนตัวมาก เป็นเรื่องที่เราไม่สามารถคุยกันได้ แต่วูล์ฟพยายามจะจำแนกแจกแจงให้เราเห็นว่า มันมีจุดที่เราคุยร่วมกันได้ว่าคุณมี Passion ไหม ถ้าคุณไม่มี Passion ทำไมถึงไม่มี หรือเพราะว่าคุณอยู่ในสังคมที่ไม่มีสวนสาธารณะ ไม่มีหอดนตรี ไม่มีภาพยนตร์อินดี้ ไม่มีครูสอนถ่ายภาพ คุณเกิดและโตมาในสังคมที่มีคำตอบเดียว คือเรียน สอบเข้ามหาวิทยาลัย ทำงานออฟฟิศ นั่นหรือเปล่าทำให้คุณไม่มี Passion ถ้าคุณมี Passion แต่คุณทำอะไรไม่ได้ สมมติคุณอยากเป็นนักขี่จักรยานผาดโผน แต่ไม่มีสนามแถวบ้านคุณเลย คุณต้องเดินทาง 15 กิโลเพื่อจะไปซ้อมขี่จักรยานผาดโผน นี่ไง ชีวิตของคุณมันขาดความหมายอะไรบางอย่าง วูล์ฟพยายามจะจำแนกแจกแจงให้เป็นรูปธรรมที่เราสามารถคุยกันได้ ไม่ใช่เป็นเรื่องที่แต่ละคนไปค้นหาคำตอบของตัวเองเฉยๆ

Photo : คชรักษ์ แก้วสุราช

การเรียนรู้ของมนุษย์กับความหมายของชีวิตมีความสัมพันธ์กัน?

          ผมว่าค่อนข้างชัด อย่างน้อยก็ 3 เรื่อง เรื่องแรกผมไม่ต้องพูด คนก็คงจะรู้กันอยู่แล้ว คือเรื่องความสามารถ สมมติว่าคุณอยากเป็นนักวาดการ์ตูน แล้วคุณไม่สามารถเรียนคอร์สวาดการ์ตูน ไม่สามารถหาอ่านในเน็ตได้ ก็ไม่ได้ เรื่องความสามารถนี่ชัดเจน ไม่ต้องพูดถึงเยอะ

          แต่มันมีเรื่องความคาดหวังของปัจเจกด้วย ถ้าเกิดว่าเราเรียน (ผมใช้คำว่าเรียนในเซนส์กว้างหน่อยนะ) ในที่ที่บอกว่าชีวิตที่ดีมีแบบเดียวคือ ชีวิตที่สอบเข้ามหาวิทยาลัย แล้วคุณมีความชอบในใจคุณ คือ ชอบตำส้มตำ ชอบย่างไก่ อยากเปิดร้านส้มตำ เปิดร้านอาหารอีสาน แต่คุณทำไม่ได้เพราะโรงเรียนให้การบ้านคุณเยอะ แล้วก็บอกคุณว่า เฮ้ย ถ้าเธอเรียนจบ ม.3 แล้วไปทำแบบนั้น เธอล้มเหลว คุณก็มีความคาดหวังว่า อ๋อ ไอ้สิ่งที่ฉันรักเป็นสิ่งที่ล้มเหลวนะ ฉันไม่ควรจะไปทำอะไรแบบนั้น ซึ่งมันไม่เมกเซนส์ ทำไมการที่คุณมีพ่อเป็นข้าราชการ แม่เป็นพยาบาล ทำให้คุณต้องเรียนมหาวิทยาลัย คุณอาจจะชอบตำส้มตำ ขายไก่ย่างมากกว่าก็ได้

          หรือในทางกลับกันคุณอยู่ในครอบครัวที่ยากจนมากๆ ในประเทศที่การศึกษามันแพง คุณไปช่วยงานพ่อแม่หรือทำงานพิเศษ ต้องเดินทางไปเรียนไกล อันนี้ความคาดหวังของคุณจะเป็นว่าฉันไม่สามารถไปแข่งขันสอบเข้าที่นั่นที่นี่ได้ ทั้งที่จริงๆ แล้วฉันอยากเป็นสถาปนิก แต่นั่นเป็นความฝันของคนรวย ฉันจนเกินกว่าจะซื้อความฝันนั้นได้ด้วยซ้ำไป

          ดังนั้น การเรียนรู้เกี่ยวข้องกับความหมายชีวิตไหม มันเกี่ยวข้องเพราะว่าสังคมสอนเราไงว่าคุณคาดหวังอะไรกับชีวิตคุณได้บ้าง คุณมีสิทธิจะเข้าถึงอะไรได้บ้าง ถ้าสังคมสอนคุณแบบนี้ มันก็ทำให้คุณไม่สามารถเป็นคนแบบที่คุณอยากจะเป็นได้ ไม่สามารถตามหาความหมายในชีวิตของคุณได้

          สุดท้าย การเรียนรู้เรื่องการเมืองก็สำคัญ ถ้าคุณอยู่ในสังคมที่บอกเราว่า เฮ้ย ไปทำอะไรแบบนั้น เช่น ไปเล่นบาสเก็ตบอล มันเหลวไหล มันไม่ได้เงินนะลูก บ้านเรายากจน ก็คือสังคมที่บอกว่าให้ทิ้งความฝัน เพราะแค่การทำอะไร 2 ชั่วโมงต่อวันมันก็แพงเกินไปสำหรับชีวิตคุณ หรือสังคมที่บอกว่าการที่ลูกซ้อมบาสเก็ตบอลมันไม่ได้ทำให้ลูกสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้มากขึ้น ก็คือการบอกว่าคุณควรจะทิ้งความฝันเพื่อได้เข้ามหาวิทยาลัยที่จะทำให้คุณได้งาน เงินเดือนดีๆ ถ้าเราเรียนรู้แบบนี้ สังคมเราก็จะเป็นแบบนี้

          แต่เราลองจินตนาการการเรียนรู้ในอีกแบบสิ ถ้าเราจินตนาการว่าความหมายชีวิตเป็นสิทธิพลเมืองในลักษณะเดียวกับสุขภาวะที่ดีทั้งหลาย คนควรจะมีสิทธิตามหาความหมายของชีวิตได้ไม่มากก็น้อย ในสังคมแบบนั้นเราก็ต้องตั้งคำถามว่าทำไมเราไม่ให้เวลาเด็กเลย ทำไมทุกอย่างมันแพงขนาดนี้ ทำไมไม่มีสนามกีฬาฟรีที่เข้าถึงได้ง่ายแถวบ้าน ทำไมไม่มีสวัสดิการการเดินทางที่ดีให้กับคน ผมคิดว่านี่คือการเรียนรู้ที่สำคัญมากๆ สำหรับความหมายชีวิตที่เรามักจะมองข้ามกันไป

          ในหนังสือ วูล์ฟก็พูดถึงว่าคุณได้ทดลองทำนู่นทำนี่หรือเปล่า คุณได้พาลูกหลานของคุณไปทำกิจกรรมอะไรหรือเปล่า หรือว่ามันเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้สำหรับคุณ ถ้ามันเป็นอย่างนั้นเหมือนสังคมกำลังสอนคุณว่าถ้าคุณจะมี Passion คุณต้องมี Passion กับเรื่องพวกนี้เท่านั้น ส่วนเรื่องอื่นๆ ไม่ต้องไปสนใจ

          แต่ผมเชื่อว่าเราไม่ต้องหาความหมายจากการศึกษาอย่างเดียว เราสามารถทำเป็นงานเฉยๆ แล้วไปหาความหมายจากการกินข้าวกับครอบครัวก็ได้ ไม่มีปัญหาอะไร แต่ใช่ ผมยังไม่เคยเห็นนักปรัชญาที่เถียงเรื่องนี้ว่าพอยต์สำคัญอันหนึ่งของการศึกษาคือ การทำให้เราสามารถหาความหมายในชีวิตได้ มันคือการที่เรารู้ว่าเราอยากจะอุทิศตนหรือเสียสละอะไรบางอย่างเพื่ออะไร คำว่า Passion มีรากละตินที่แปลว่า เจ็บปวดรวดร้าว การที่เราบอกว่าเรามี Passion คือเรายินดีที่จะเจ็บปวดรวดร้าวเพื่อมัน การศึกษาควรจะสอนให้คุณมี แล้วไม่ใช่แค่มีเฉยๆ มันควรสอนให้คุณมีกับสิ่งที่คู่ควร

          ความฝันของคนเราไม่จำเป็นต้องผูกกับสิ่งที่เรียน คุณสามารถสอนให้คนคนหนึ่งตั้งใจเรียนและมีความฝันกับการเป็นนักกีตาร์ ร้องเพลงตามผับวันเสาร์เป็นงานอดิเรกก็ได้ แต่เราออกแบบโรงเรียนมาโดยที่ไม่ได้เคารพความเป็นไปได้เหล่านั้นเลย เรามี ผอ. ที่พูดจายืดยาวหน้าเสาธงโดยที่ไม่ตระหนักว่าเวลาห้านาทีนั้นเด็กอาจจะไปฝึกเล่นกีตาร์ได้หนึ่งคอร์ด นึกภาพว่าเวลาห้านาทีนั้นมันสะสมทุกวันๆ เป็นปีๆ ทำไมเราไม่เคารพอะไรพวกนี้ นั่นเพราะว่าสำหรับโรงเรียนในสังคมไทย ความฝันของเด็กถูกกำหนดไว้แต่แรกแล้วว่าเข้าคณะดีๆ และเวลาห้านาทีนี้ไม่มีนัยอะไรหรอก

ซูซาน วูล์ฟ นิยามความหมายชีวิตไว้อย่างไร

          เป็นมิติหนึ่งของคุณค่าที่ทำให้เรามีเค้าโครงหรือทิศทาง คือปกติแล้วเราจะมองว่าคุณค่าของชีวิตมีเรื่องจริยธรรม เป็นคนดีไหม กับความสำเร็จหรือสวัสดิภาพก็ได้ คุณมี Well Being หรือไม่ แต่วูล์ฟมองว่าทั้งสองอย่างมันไม่พอ มันต้องมีอีกมิติหนึ่งด้วย นั่นก็คือมิติความหมายชีวิตนี่แหละ ซึ่งจะเป็น 3 ส. คือคุณจะต้อง ‘เสน่หา’ มีความรักในอะไรบางอย่าง แล้วเสน่หาคุณต้องไปรักใน ‘สิ่งที่คู่ควร’ กับความรักไม่ใช่ไปรักอะไรก็ได้ แล้วคุณต้อง ‘สามารถ’ ทำอะไรบางอย่างกับมันได้ ถ้ามี 3 ส. นี้ก็จะเกิดความหมายขึ้น หรือถ้าพูดในศัพท์ที่อาจจะเข้าใจง่ายขึ้นอีกนิดหนึ่งคือ เรามี Passion กับสิ่งที่คู่ควรกับ Passion นั้นของเรา แล้วเราสามารถทำอะไรต่อจากการมี Passion นั้นได้

ธีรภัทร รื่นศิริ ความหมายชีวิตในประเทศที่ไม่ยอมให้เรายินดีเจ็บปวดรวดร้าวเพื่อบางสิ่ง
Photo : คชรักษ์ แก้วสุราช

ประเด็นหนึ่งที่ถกเถียงกันมากในหนังสือเล่มนี้คือเราจะสามารถวัดหรือบอกได้อย่างไรว่าสิ่งใดคู่ควร เพราะมันเป็นเรื่องของปัจเจกมากๆ เราสามารถบอกแทนคนอื่นได้จริงๆ หรือ ว่าสิ่งที่คุณรัก มันคู่ควรหรือไม่คู่ควร

          ประเด็นที่คุณกำลังกังวลคือ รู้สึกว่าการทำแบบนี้มันเหมือนเราเป็นทรราชไปชี้เป็นชี้ตายชีวิตชาวบ้าน แต่จริงๆ แล้วตรงข้ามกับสิ่งที่วูล์ฟพยายามจะเสนอเลย คือมันไม่มีใครชี้เป็นชี้ตายหรือผูกขาดเรื่องนี้ได้ แม้กระทั่งเจ้าตัวเอง เราควรจะตั้งคำถามได้เสมอว่าโปรเจกต์คิดเคลื่อนของเรา หรือที่เรากำลังอุทิศให้มันคู่ควรไหม ไม่ใช่ว่าเขาบอกว่าคู่ควร เราก็บอกว่าคู่ควร

          สมมติตัวอย่างสุดโต่ง บ้าๆ มาก คุณมีเพื่อนคนหนึ่งแล้วเพื่อนคุณบอกว่าเขาจะลาออกไปกราบหมาหน้าเซเว่น คุณก็ถามว่า

          “มึงกราบทำไมก่อน แล้วทำไมต้องลาออกเพื่อจะไปกราบ”

          “กราบ กูจะกราบ แล้วกูต้องลาออก เพราะว่ากูจะกราบทั้งวี่ทั้งวัน ไม่ทำอย่างอื่นเลย”

          คุณสามารถถามได้…จริงไหมว่า

          “มึงคิดดีแล้วเหรอ อธิบายให้ฟังหน่อยสิว่ากราบหมาหน้าเซเว่นมันดียังไง เป็นการฝึกตนอะไรเหรอ หรือมึงเชื่อว่าหมาเป็นเทพเจ้า”

          “เปล่า ไม่ได้ฝึกตน แล้วก็ไม่ได้คิดว่าหมาเป็นเทพเจ้า ก็กูจะกราบ”

          มันประหลาดไหมถ้าเราจะบอกว่าญาติสนิทมิตรสหายไม่มีสิทธิที่จะถามเลยว่าทำไปทำไม อธิบายให้ฟังหน่อยได้ไหม ช่วยบอกหน่อยว่าเธอจะทิ้งชีวิตของเธอไปเพื่อเรื่องนี้มันคุ้มจริงๆ เหรอ

          หรือตัวอย่างหนึ่งของวูล์ฟ ก็คือสมมติว่าคนคนหนึ่งอุทิศชีวิตให้กับคนรักที่ใครมองก็รู้สึกว่าคนรักมันหลอก คนรักเป็นคนไม่ดี เราจะบอกว่าถ้าเขารักของเขาก็พอแล้ว ไม่ใช่นะ ปกติเราไม่ทำอะไรแบบนั้นในชีวิต เราคิดว่ามันเป็นไปได้ที่คนจะตั้งคำถามกัน เป็นไปได้ที่เราจะเรียกร้องอะไรมากไปกว่าแค่ชีวิตของฉันกับคนที่สนิทกับเรา

          กระทั่งปรัชญาวูล์ฟก็เปิดช่องให้ วูล์ฟพูดหลายครั้งว่าปรัชญาเองก็สามารถถูกตั้งคำถามได้ว่าจริงเหรอ เธออุทิศชีวิตให้กับปรัชญามันคุ้มจริงๆ เหรอ มันไม่ใช่เรื่องสูญเปล่าเหรอ วูล์ฟคิดว่ามันไม่มีอะไรที่ควรจะพ้นไปจากมาตรฐานนี้ ทุกสิ่งทุกอย่างควรเป็นสิ่งที่เปิดให้เราตั้งคำถามได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าเราควรตั้งคำถามตลอดเวลา ไม่ได้หมายความว่าเราต้องพิสูจน์ให้ทุกคนเห็นจริงๆ เสมอไป แต่มันต้องไม่พ้นจากมาตรฐานนี้

          สมมติมีคนคนหนึ่งมาบอกผมว่า อาจารย์ธีรภัทร ฉันสามารถพิสูจน์ได้ว่าการอุทิศชีวิตให้ปรัชญามันไม่คุ้ม แล้วผมก็เออจริง ก็ไม่ได้แปลว่าผมต้องเลิกเป็นอาจารย์ปรัชญา เพราะว่าวูล์ฟไม่ได้บอกว่าเราต้องทำอาชีพที่ทำให้เรามีความหมายชีวิต คุณก็ทำเป็นอาชีพต่อไปก็ได้ แต่คุณอาจจะต้องไปทำอย่างอื่นเพิ่ม ถ้าคุณรู้สึกว่าชีวิตคุณขาดความหมาย อาชีพของคุณไม่ได้ให้ความหมายมากพอ เราจะสังเกตได้ว่าวูล์ฟไม่ได้พูดคำว่า มีค่าหรือไม่มีค่า วูล์ฟจะพูดวงเล็บเป็นระยะๆ ว่า ค่า หมายถึงมันคู่ควรไหม มันคุ้มค่าไหม การทำเกือบทุกอย่างมันมี ค่า ในสายตาของวูล์ฟ แต่มันคุ้มไหมที่คุณจะอุทิศชีวิตให้มัน บางทีถ้ามันไม่คุ้ม คุณอาจต้องทำอย่างอื่นบ้างในชีวิต

ธีรภัทร รื่นศิริ ความหมายชีวิตในประเทศที่ไม่ยอมให้เรายินดีเจ็บปวดรวดร้าวเพื่อบางสิ่ง
Photo : คชรักษ์ แก้วสุราช

แต่เวลาพูดถึงความคู่ควร เราต้องรักในสิ่งที่คู่ควรจึงจะก่อให้เกิดความหมายบางอย่างกับชีวิต มันก็อาจพูดได้ว่าสิ่งนั้นมีความคู่ควรมากกว่าสิ่งนี้ เพราะมันไปปฏิสัมพันธ์กับโลกภายนอก กับผู้คน…

          คุณกำลังถามว่า ถ้ามันมีสิ่งที่คู่ควรไม่เท่ากัน เราควรทำสิ่งที่คู่ควรมากกว่าหรือเปล่าในสายตาของวูล์ฟ

ก็ด้วย อีกอย่างคือ ทุกคนมีความรักในแต่ละอย่างไม่เหมือนกัน ถ้าเราใช้เกณฑ์ความคู่ควร พอมีความคู่ควรที่มากกว่าน้อยกว่า…

          ในหนังสือวูล์ฟจะพูดไว้เลยว่า ไม่ได้สนใจว่ามันคู่ควรมากหรือน้อย เธอสนใจว่ามันผ่านเส้นอะไรบางอย่างหรือเปล่า อย่างถามผม ผมมองว่าการเป็นช่างประปาคู่ควรกว่าการเป็นนักปรัชญา ผมคิดว่าถ้าผมต้องเลือกอยู่ในสังคมที่ไม่มีนักปรัชญาเลยกับสังคมที่ไม่มีช่างประปาเลย ยังไงผมก็เลือกสังคมที่ไม่มีนักปรัชญาเลยดีกว่า ไม่มีช่างประปาผมจะใช้ชีวิตยังไงผมยังจินตนาการไม่ค่อยออกเลย แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าการเป็นนักปรัชญาไม่มีความหมาย เราไม่ได้ต้องทำสิ่งที่มีความคู่ควร คุ้มค่าที่สุด ชีวิตมนุษย์เราไม่ต้อง Maximize สิ่งนี้เลย วูล์ฟพูดด้วยซ้ำไปว่าถ้าคุณพยายามหมกมุ่นกับอะไรแบบนั้นมันอาจทำให้ชีวิตคุณพังด้วยซ้ำไป ดังนั้น เราไม่จำเป็นต้องมุ่งไปหาสิ่งที่มีความคู่ควรที่สุด

          ประเด็นที่สองคือ แล้วเรายอมรับได้ไหมว่ากิจกรรมแต่ละอันมันมีความคู่ควร มีคุณค่าที่แตกต่างก็ได้ ไม่มีปัญหาอะไร เหมือนเราก็พูดได้ว่ากิจกรรมแต่ละอันได้เงินไม่เท่ากัน ก่อประโยชน์แก่สังคมไม่เท่ากัน มีคนชอบวงกว้างไม่เท่ากัน แต่ไม่ได้ทำให้กิจกรรมนั้นเป็นเรื่องที่ไม่คู่ควร ดังนั้น มันไม่แปลก ไม่มีปัญหาอะไรที่กิจกรรมจะมีคุณค่าแตกต่างกันไป แล้วเรายอมรับ แม้ผมจะอยากอยู่ในสังคมที่มีช่างประปา แต่การที่มีนักปรัชญาด้วย ผมว่ามันก็ดีกว่าการมีแต่ช่างประปา

มันมีระดับไหม? ถ้าสิ่งนี้คู่ควรมาก แปลว่า ความหมายชีวิตของคุณมาก…

          ไม่ๆๆ หนึ่งคือไม่ Matter วูล์ฟพูดน่าจะสามครั้งนะ ถ้าผมจำไม่ผิด ว่าเราไม่ได้พยายามทำให้ชีวิตตัวเองมีความหมายมากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ เราแค่ทำให้ชีวิตเรามีความหมายเท่าที่เราพอก็พอแล้ว ความหมายชีวิตมันเหมือนวัคซีนหรือน้ำหอม คือมันไม่ใช่สิ่งที่คุณจะต้องมีเยอะ ไม่จำเป็นต้องฉีดให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ อย่างน้อยในสายตาวูล์ฟไม่ใช่ แล้วหลายๆ ครั้งการที่คุณไปหมกมุ่นกับเรื่องพรรค์นั้นมันทำให้ชีวิตคุณขาดคุณค่ามิติอื่นไป เช่น ขาดมิติจริยธรรม ขาดมิติความสุขไป และนั่นเป็นสิ่งที่ไม่ดี

ถึงที่สุดแล้วต่อให้มันไม่คุ้มค่า แต่ถ้าคุณอยากจะทำ วูล์ฟก็ไม่ได้ว่าอะไร แต่หาอย่างอื่นทำด้วยดีไหม

          จริงๆ แล้วมันสุภาพกว่านั้นอีก คือถ้าคุณไม่รู้สึกมีปัญหาอะไร ก็ไม่เป็นไรด้วยซ้ำไป ต่อให้ทุกอย่างในชีวิตคุณมันไม่ใช่เรื่องที่คุ้มค่า แต่ถ้าคุณเริ่มรู้สึกว่าชีวิตฉันมันขาดอะไรบางอย่างไปและคุณอ่านงานของวูล์ฟแล้วตระหนักว่า อ๋อ สิ่งที่คุณขาดไปคือความหมาย แล้วที่ฉันขาดความหมายเพราะเรื่องที่ฉันทำมันไม่คุ้มค่าเลย วูล์ฟก็จะบอกว่าแล้วคุณอยากจะแก้ปัญหานี้ใช่ไหม งั้นไปหาอย่างอื่นทำเพิ่ม วูล์ฟไม่ได้บอกว่าทุกคนต้องพยายามอุทิศตนเพื่อให้ชีวิตมีความหมาย ในหนังสือเธอก็พูดอยู่สองสามจุดว่าบางทีความหมายไม่ใช่เรื่องที่ Overriding คุณทำอย่างอื่นอาจจะสำคัญกว่า

ถ้าอย่างนั้นเอาเข้าจริงแล้ว ชีวิตเราอาจไม่จำเป็นต้องมีความหมายก็ได้?

          ถ้าเอาตามวูล์ฟก็ดูเหมือนจะเป็นอย่างนั้น แต่ผมเดาในฐานะผู้แปลนะ ผมว่าวูล์ฟบอกว่าคนส่วนใหญ่อยากจะได้มันไม่มากก็น้อย ซึ่งคุณอาจจะพอแล้วแม้จะเป็นเรื่องเล็กน้อยมากๆ ก็ได้ เช่น ดูแลลูกหมาลูกแมว ความหมายชีวิตฉันพอแล้ว ฉันได้รักแมวตัวนี้ และแมวก็เป็นสิ่งที่คู่ควรกับความรัก กับการดูแลสุขภาพมัน แม้ฉันจะไม่ทำอย่างอื่นเลยในชีวิตฉัน มันก็ไม่ได้เป็นไปไม่ได้ ตัวอย่างในหนังสือก็มี เรื่องเลี้ยงปลาทองซึ่งคนก็โต้เถียงกันมาก แต่อย่าลืมว่าวูล์ฟไม่ได้บอกว่าการเลี้ยงสัตว์เป็นสิ่งที่ไม่มีความหมายพอ วูล์ฟบอกว่าปลาทองมันไม่ Interact อะไรกับเราเลย มันแค่ว่ายไปว่ายมา แล้วถ้าคุณบอกว่าชีวิตทั้งชีวิตฉันอุทิศเพื่อปลาทองตัวนี้ มันอาจจะประหลาดหน่อย มันเป็นเรื่องที่เพื่อนคุณต้องถาม แต่…ใช่ คนแต่ละคนมีความคาดหวังหรือ Minimum Requirement ของความหมายไม่เท่ากัน

วูล์ฟแนะนำกระบวนการที่เราจะค้นหาความหมายชีวิตไว้อย่างไร

          ผมคิดว่างานของวูล์ฟก็เหมือนงานปรัชญาทั่วไป มันไม่ใช่หนึ่งสองสามสี่ มันเป็นการที่เราสร้างร่างอวตารนักปรัชญามาชวนคุยมากกว่า เพราะว่าแต่ละคนจะมี Pain Point ต่างกัน ไม่มีคำตอบสากล นึกภาพง่ายๆ เลย คนที่วาดการ์ตูนด้วยใจรัก ฉันอยากจะเป็นนักวาดการ์ตูน แล้วมันก็เป็นสิ่งที่มีเสน่ห์ ไม่มีใครเถียง แต่เก่งไม่พอ ไม่สามารถ งั้นคุณก็ไปฝึกเพิ่มสิ ถ้าคุณอ่านงานของวูล์ฟแล้วฉันอยากจะวาดการ์ตูนให้เก่ง แต่พอคุณตระหนักได้ว่า อ๋อ ฉันฝึกเพิ่มไม่ได้เพราะว่าฉันไม่มีเวลา เพราะว่าฉันต้องเรียนตั้งแต่หกโมงเช้าถึงสองทุ่ม เรียนเสร็จก็ต้องเรียนพิเศษต่อถึงสามทุ่ม วูล์ฟก็จะชวนคุณถามว่าแล้วสังคมที่คุณอยู่มันเป็นยังไงวะ ทำไมพ่อแม่ถึงแสดงความรักต่อเราด้วยการบอกให้เราทิ้งความฝันเพื่อหวังว่าจะได้เข้าคณะดีๆ มันคือวิธีการอ่านงานปรัชญา คือมีคนคนหนึ่งมาชวนคุณคุย ชวนคุณถามคำถาม

          หรือสมมติคุณมีเวลาเหลือเฟือมากๆ วันๆ ไม่ต้องทำอะไรเลย แต่ก็ไม่มี Passion เลย ฉันจะลุกจากห้องไปทำไม มันไม่มีอะไรที่ฉันรักเลย คุณอ่านงานชิ้นนี้มันก็ควรมีเสียงของวูล์ฟถามคุณขึ้นมาว่าแล้วทำไมเธอไม่เคยมี Passion เลย ถ้าเธอไม่เคยมี Passion เพราะเธอไม่ได้ลองหลายๆ อย่าง เธอเคยลองแกะสลักหินไหม เคยเล่นเบสบอลไหม เคยกระโดดน้ำไหม ลองทำดูไหม เผื่อเธอจะพบว่าชอบ ถ้าเราเป็นคนมีเวลา มีความสามารถ แต่ไม่มี Passion เราอ่านงานของวูล์ฟ์แล้ว เออว่ะ ที่เราไม่มี Passion เพราะเราไม่เคยลอง

          มันไม่ใช่การให้คำแนะนำในเชิงหนึ่งสองสามสี่ แต่มันเป็นคำแนะนำในเชิงเป็นเพื่อนชวนคุณคุย มันดูเหมือนว่าถ้าเธอขาดอะไรบางอย่างไป มันขาดอันนั้นหรือเปล่า แล้วมันเพราะอย่างนี้หรือเปล่า งั้นเราแก้ปัญหาอย่างนี้กันดูไหม

เหมือนวูล์ฟกำลังจะบอกว่าความหมายของชีวิตคือ การพาตัวเองออกไปเจอโลก เจอผู้คน และทดลองทำสิ่งต่างๆ

          ไม่จำเป็น บางทีคุณก็พาตัวเองออกไปแล้ว แต่มันไปต่อไม่ได้ก็เป็นไปได้ สมมติว่าคุณตระหนักชัดเจนมากๆ ว่าตอนนี้คุณชอบเล่นโขน มีความฝันว่าอยากเป็นทศกัณฐ์ในเวทีใหญ่ๆ สักเวทีหนึ่ง แต่คุณเป็นเด็กลพบุรี คุณจะไปเล่นเวทีใหญ่ที่ไหน คุณจะไปเจอครูโขนเก่งๆ ที่ไหน โรงเรียนคุณสอนโขนจริงๆ จังๆ ไหม มันก็เป็นเรื่องที่คุณพบ Passion และพาตัวคุณออกไปแล้ว คุณไปผจญภัยแล้ว แต่ว่าทรัพยากรในประเทศมันไม่เอื้อให้คุณ แล้วลพบุรีไม่ใช่จังหวัดห่างไกลกันดารเลยนะ นี่เป็นเรื่องธรรมดามากของชีวิตคนไทย การที่คุณรักอะไรบางอย่างแล้วคุณตระหนักได้ว่าเป็นความเพ้อฝันของฉัน หรือคุณดูหนังตอนเด็กแล้วคุณชอบสเกตน้ำแข็งมาก อยากเป็นนักเต้นสเกตน้ำแข็ง แต่คุณเป็นลูกยามของโรงเรียนแห่งหนึ่ง คุณจะไปมีปัญญาฝึกสเกตน้ำแข็งได้ไง ไม่มีทาง มันก็ไม่ใช่เรื่องของการไปผจญภัย ไปค้นหาตัวเองแล้ว เป็นเรื่องประเทศนี้ สังคมนี้ ไม่เอื้อให้คุณทำตามความหมายชีวิตของคุณแล้ว

ธีรภัทร รื่นศิริ ความหมายชีวิตในประเทศที่ไม่ยอมให้เรายินดีเจ็บปวดรวดร้าวเพื่อบางสิ่ง
Photo : คชรักษ์ แก้วสุราช

คุณพูดคำว่า ความฝัน กับคำว่า ความหมายชีวิต สองอย่างนี้เหมือนกันหรือเปล่า

          ไม่เหมือนๆ คุณสามารถฝันในเรื่องที่ไม่มีความคู่ควรเลยก็ได้ สมมติว่าคุณฝันอยากจะเป็นคนแรกที่ขี้บนดาวอังคาร Why มันไม่ใช่เรื่องที่คู่ควรเลย มันเป็นอีโก้ของคุณเฉยๆ หรือบางทีความฝันจะเป็นเรื่องที่มนุษย์ไม่สามารถทำได้ เป็นไปไม่ได้ เช่นคุณฝันอยากจะทำให้โลกนี้ไม่เคยมีคนตาย

          แต่หลายๆ ครั้งความฝันเป็นเงื่อนไขของการที่ชีวิตจะมีความหมาย…ไม่จำเป็นหรอก แต่มันค่อนข้างจำเป็นสำหรับหลายๆ คน มีเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่มากๆ แล้วเขาทำสิ่งนั้นสำเร็จ แล้วชีวิตเขามีความหมาย ทั้งที่บางคนอาจจะเป็นเรื่องเบสิกมากๆ เลยก็ได้ สมมติเป็นช่างประปาคนหนึ่งที่ซ่อมได้เก่งมาก ปัญหาที่คนอื่นบอกว่าทำไม่ได้หรอก คนนี้ก็ทำได้ แล้วก็เป็นมิตรกับลูกค้า ซ่อมเสร็จแล้วรู้สึกดีที่ได้ช่วยคน ฉันเก่ง แค่นี้ก็ได้แล้ว เขาอาจไม่ได้มีความฝันเป็นชิ้นเป็นอันก็ได้ แต่เขารู้สึกรักการทำกิจกรรมนี้และมันมีประโยชน์จริงๆ และมันคู่ควรกับการใช้เวลาส่วนใหญ่ในชีวิตเพื่อมัน

โลกทุนนิยมส่งเสริมอุตสาหกรรมความฝันมากเลยนะ

          มันส่งเสริมหรือบอกว่าคุณต้องฝัน ผมว่าไม่เหมือนกัน

มันบอกว่าต้องมีความฝัน ไม่อย่างนั้นชีวิตจะไม่มีความหมาย

          หนึ่งคือฝันที่ว่าต้องเป็นฝันที่ใช้เงิน ไม่มีฝันฉันอยากจะไปใช้เวลาทุกวันเสาร์เพื่อช่วยเหลือคนยากจน ช่วยเหลือเด็กกำพร้า นั่นไม่ใช่ความฝันที่ทุนนิยมพยายามจะขายเรา กระทั่งต่อให้เราต้องใช้เงินเพื่อทำอะไรแบบนั้น มันก็ไม่อยู่ในหัวของทุนนิยม ไม่มีไอเดียว่าซื้อรถกระบะกับเราไหม คุณจะได้ซื้อของไปบริจาคให้เด็กยากจน ไม่มีนะ

          สองคือทุนนิยมก็ไม่ได้เอื้อให้คุณทำตามความฝัน ใช่ครับ เขาพยายามพูดให้คุณมีความฝัน แต่สุดท้ายแล้ว เขาก็ใช้ความฝันเป็นโฆษณาขายของเฉยๆ

การที่เรามีความหมายในชีวิตและทำเพื่อให้เกิดความหมายในชีวิตต้องคำนึงถึงจริยธรรมด้วยหรือเปล่า

          อันนี้เป็นดีเบตที่คุณโต้เถียงกันเยอะมาก

ที่ถามเพราะนึกถึงตัวอย่างของฮิตเลอร์ ความฝันของฮิตเลอร์คือการทำให้เชื้อชาติอารยันบริสุทธิ์และทำให้ชีวิตเขามีความหมาย แต่ก็ฆ่าชาวยิวไปเป็นล้านคน

          ผมตอบได้ไม่ค่อยชัวร์ มันค่อนข้างจะกำกวม แต่เป็นหนึ่งในดีเบตใหญ่เลยว่าชีวิตแบบที่คุณว่า ชีวิตที่มันชั่ว แต่มันสามารถมีความหมายได้ไหม คือถ้ามันชั่วในเชิงเห็นแก่ตัว คนมักจะมองได้ว่า ทิ้งลูกทิ้งเมีย ไม่สนใจหน้าที่เลย เพื่อจะไปวาดภาพ เขียนโปรแกรม อะไรก็แล้วแต่ หลายคนบอกว่ามันได้แหละ แต่พอมันชั่วระดับหนึ่งคนก็เริ่มตั้งคำถาม

          ทางหนึ่งที่ตอบก็คือว่าโปรเจกต์ที่ยิ่งใหญ่ไม่ได้แปลว่ามันเป็นโปรเจกต์ที่คู่ควรแก่การอุทิศชีวิต เช่น การที่คุณสามารถสร้างชาติที่ยิ่งใหญ่ได้ในเชิงคุณไปฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ไปกดขี่ ไปเป็นเผด็จการ มันอาจจะไม่คู่ควรในตัวของมันเองอยู่แล้ว เพราะแม้มันจะเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่ แต่มันไม่ได้น่ายกย่อง หรือวิธีการมองอีกแบบหนึ่งคือ บอกว่าสังคมที่ดีควรจะมองยังไง ผมว่าง่ายที่สุดเลย สังคมที่ดีไม่ควรมองว่าความชั่วที่ยิ่งใหญ่ทำให้ชีวิตคนมีความหมายและเราก็ควรจะสอนคนให้มองแบบนั้นว่าการที่คุณทำอะไรที่ยิ่งใหญ่มากๆ ได้ แต่มันชั่ว มันไม่ได้ทำให้ชีวิตของคุณมีความหมายมากขึ้น แต่แน่นอนว่าอันนี้เป็นดีเบตที่เขาก็ยังคุยกันอยู่

บางทีเส้นมันก็บางอยู่…

          บางอยู่ ใช่

สังคมไทยเวลานี้เอื้อให้กับคนที่อยากจะค้นหาความหมายชีวิตแค่ไหน แล้วสังคมที่เอื้อควรมีหน้าตาแบบไหน

          ผมจะตีความคำว่า เอื้อ ว่าเป็นการเชียร์นะ เป็นการซัพพอร์ต ไม่เลย สังคมไทยไม่เชียร์เลย เราด่าว่าเด็กสมัยนี้ไม่เห็นทำอะไรมีประโยชน์เลย วันๆ เอาแต่เล่น TikTok ดูดาราเกาหลี เล่นเกม เราจะได้ยินประโยคแบบนี้บ่อย ซึ่งมันคือการมือไม่พายเอาเท้าราน้ำ คือเวลาที่ผู้ใหญ่ถามประโยคนี้สิ่งที่เราควรจะถามกลับไปว่าคุณได้ทำอะไรที่เป็นประโยชน์เพื่อให้เด็กสามารถจะทำอะไรได้หรือยัง ถ้าคุณรู้สึกว่าเด็กวันๆ ไม่ทำอะไร คุณเดินไปหา ส.ส.เขตคุณสิ แล้วก็บอกว่าได้โปรดขึ้นภาษีฉันที ฉันอยากให้แถวบ้านฉันมีหอดนตรี มีเปียโนให้เด็กเล่นฟรี ไม่ใช่ลูกหลานฉันนะ เด็กแถวบ้านฉัน เผื่อเขาจะรักเปียโนแล้วไปเป็นนักเปียโนชื่อดังระดับโลก ฉันอยากให้แถวบ้านฉันมีสนามกีฬาผาดโผน ฉันไม่ได้ชอบ แต่ฉันรู้สึกว่ามันน่าสงสารถ้าเด็กมีความฝันแล้วเขาไม่ได้ลอง

          ผมมั่นใจว่ามีคนจำนวนไม่น้อยในสังคมไทยที่อยากเรียนฟิสิกส์เป็นดีกรีเลย แต่รู้ตัวตอนทำงานแล้วก็เลยไปเป็นวิศวกรเพราะมันหางานได้ง่ายกว่า ผมมั่นใจว่ามีคน…อย่างน้อยก็มีลูกศิษย์ผมเยอะเลยที่บอกว่าอยากเรียนปรัชญาเป็นเมเจอร์มากเลย อยากจะเป็นนักปรัชญาแต่รู้ว่าไม่ได้เลยไปเรียนรัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ แล้วมาไมเนอร์ปรัชญาแทน แล้วเราจะคาดหวังให้แข่งขันกับต่างชาติได้ยังไง ผู้ใหญ่ยังไม่ทำหน้าที่ของตนเองเลย ยังไม่ทิ้งสังคมที่ดีกว่าเดิมเป็นมรดกให้ลูกหลานตัวเอง แล้วทำไมคาดหวังว่าลูกหลานจะสร้างมรดกขึ้นมาเองได้

การที่เราจะค้นพบความฝัน ความหมาย คุณค่า มันต้องมีโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ

          ต้องมี ไม่งั้นมันมีความฝันจำนวนมากที่เป็นไปไม่ได้ มันมีอยู่แล้วที่เป็นไปได้ เช่น คุณอยากเป็นทนายความ โอเค โครงสร้างสังคมมันซัพพอร์ตได้ หรือคุณอยากเป็นหมอ ไม่ต้องเป็นสังคมที่พิเศษอะไรมาก คุณก็เป็นหมอได้ ในเชิงขอให้มีมหาวิทยาลัยสอนแพทยศาสตร์ แต่มีหลายอันที่เป็นไปไม่ได้ยกเว้นว่าสังคมจะเอื้อ

ธีรภัทร รื่นศิริ ความหมายชีวิตในประเทศที่ไม่ยอมให้เรายินดีเจ็บปวดรวดร้าวเพื่อบางสิ่ง
Photo : คชรักษ์ แก้วสุราช

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก