ก่อกำเนิด ‘กาลาปากอส’ ก่อการสื่อสารงานด้านวิทยาศาสตร์ในไทย

1,686 views
7 mins
May 10, 2023

          ‘ความรู้ ความสนุก ที่ไร้พรมแดนด้านภาษา’

          สารตั้งต้นของ ‘กาลาปากอส’ สำนักพิมพ์น้องใหม่ภายใต้การดูแลของ รุ่นใหญ่ในวงการทั้ง น.พ.ชัชพล เกียรติขจรธาดา, แทนไท ประเสริฐกุล, ดร.นําชัย ชีววิวรรธน์ และ โตมร ศุขปรีชา ที่มารวมตัวกันด้วยเจตนาอยากสื่อสารงานด้าน Pop Science วิทยาศาสตร์ประยุกต์ที่อ่านสนุกและกระตุกความคิด เพื่อทำให้วิทยาศาสตร์เข้าถึงผู้คนและผู้คนเข้าใจวิทยาศาสตร์ที่สอดคล้อง ส่งผลต่อชีวิตของเรามากขึ้น  

          The KOMMON พูดคุยกับ แทนไท ประเสริฐกุล หนึ่งในผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์กาลาปากอส ถึงการรวมตัวกันครั้งนี้ที่บอกได้เลยว่าแค่ฟังไลน์อัพของสำนักพิมพ์ก็น่าตื่นเต้น ชวนติดตามแล้ว 

ก่อกำเนิด ‘กาลาปากอส’ 

          ต้องเล่าว่าจุดเริ่มต้นจริงๆ เริ่มจาก น.พ.ชัชพล เกียรติขจรธาดา หรือ ‘หมอเอ้ว’ เขาไปเดินสำรวจตลาดหนังสือ แล้วพบว่าวงการหนังสือแปล หนังสือเชิงความรู้มันยังไม่ตายนะ หลายๆ เล่มที่เราไม่คิดว่าจะได้เห็นเป็นภาษาไทย ในชาตินี้ก็ได้เห็น เช่น Sapiens ของ ยูวัล โนอาห์ แฮรารี (Yuval Noah Harari) คือปกติเราก็ชอบอ่านหนังสือพวกนี้นะ แต่จะอ่านเป็นภาษาอังกฤษมาตลอดและคิดว่าคงไม่มีใครเอาเข้ามาแปล แต่ปรากฏว่าช่วงหลังมีสำนักพิมพ์นำมาแปลมากขึ้นเรื่อยๆ หนังสือเล่มไหนที่เป็นกระแสก็ถูกแปลเป็นภาษาไทยหมด หมอเอ้วเลยมองว่าวงการสิ่งพิมพ์มันไม่ได้กำลังจะตาย แต่กำลังโตมากกว่า อันนี้หมอเอ้วเขาเล็งเห็นมาก่อน 

          อีกอย่างคือเขารู้สึกว่าวงการหนังสือควรทำอะไรที่แตกต่างออกไป คือสำนักพิมพ์ที่แปลหนังสือเป็นภาษาไทยและจัดจำหน่ายก็มีอยู่จำนวนหนึ่ง แต่สิ่งที่หมอเอ้วเขาเห็นแล้วเสียดายคือ บางครั้งหนังสือที่ดีกลับถูกกลไกทางการตลาดลดทอนความสำคัญ คือถ้ามีหนังสือเล่มใหม่ออกมา ก็อาจตั้งวางอยู่ที่ร้านหนังสือเด่นๆ ไม่กี่สัปดาห์ แล้วก็หายไปอยู่ในชั้นหนังสือลึกๆ บางคนยังไม่ทันได้เห็น ยังไม่ทันได้รู้จักเลยด้วยซ้ำ 

          รวมไปถึงในวงการแปลหนังสือเอง ที่ผ่านมาเรามีนักแปลหนังสือที่ทำอาชีพแปลโดยเฉพาะเลย ไม่ค่อยมีนักแปลที่เข้าใจความรู้เชิงวิทยาศาสตร์ที่สามารถเป็นร่างทรงของนักเขียน สามารถเล่าเรื่อง สื่อสารเนื้อหาในหนังสือนั้นได้ 

          เขาก็เอาโจทย์สองอย่างนี้ มาตีออกเป็นไอเดียของสำนักพิมพ์กาลาปากอส ให้นักแปลหนังสือสามารถพูดคุยถึงเนื้อหาต่างๆ ในหนังสือต่อได้ด้วย ถ้าเป็นความรู้วิทยาศาสตร์ นักแปลหนังสือก็ควรจะเป็นนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ด้วย รวมไปถึงเขาอยากให้การพูดถึงหนังสือถูกขยายและต่อยอดได้มากกว่านี้ อาจกลายเป็นวงเสวนา เป็นวิดีโอ เป็นรายการ เป็นค่าย เป็นเวิร์กชอป โดยมีหนังสือเป็นจุดเริ่มต้น

          ส่วนผมเองจริงๆ ก็อยู่เป็นศิลปินเดี่ยวมาตลอด เรื่องธุรกิจอะไรก็คิดไม่เป็นหรอก รู้แต่ว่าชอบเอาวิทยาศาสตร์มาเล่า ช่วงหลังก็มองว่าตัวเองกำลังทำงานสื่อสารวิทยาศาสตร์ ไม่ว่าจะจัดรายการ เขียนหนังสือ แปลหนังสือ ก็อยู่ภายใต้หมวดเดียวนี้ทั้งนั้น พอเห็นโอกาสตรงนี้ก็เลยสนใจ เลยกระโดดมาร่วมวงด้วย

ก่อกำเนิด ‘กาลาปากอส’ ก่อการสื่อสารงานด้านวิทยาศาสตร์ในไทย

เนื้อหาไม่สิ้นสุด แม้มีหนังสือเป็นหมุดหมาย

          ส่วนใหญ่เวลาสำนักพิมพ์จะเปิดตัวหนังสือสักเล่มหนึ่ง เขาก็อาจจะมีงานเปิดตัว จัดเสวนาเปิดตัว แล้วก็จบไปแค่นั้น พอมีหนังสือเล่มใหม่ก็ค่อยทำวนไปแบบนี้อีก 

          แต่สำนักพิมพ์กาลาปากอส เราตั้งใจว่าพอเปิดตัวหนังสือเสร็จ เราสามารถทำรายการ ต่อยอดเป็นคอนเทนต์ออนไลน์ มาขยายเนื้อหาทีละบทของหนังสือเลยไหม คือทำให้มันได้น้ำได้เนื้อมากกว่าเป็นแค่กลไกทางการตลาด เพื่อสกัดเอาประโยชน์จากหนังสือให้มากที่สุดและเพื่อให้คนอ่านอยู่กับสำนักพิมพ์กาลาปากอสต่อไปได้ในระยะยาว

นามนี้มีที่มา 

          แต่ละคนช่วยกันเสนอชื่อมา จำได้ว่าตอนแรกมีอยู่ 20-30 ชื่อ แต่สุดท้าย ‘กาลาปากอส’ ชนะเลิศเพราะเป็นคำที่ความหมายดี เป็นสถานที่ที่ ชาร์ลส์ ดาร์วิน (Charles Darwin) ค้นพบทฤษฎีกำเนิดสปีชีส์​หรือที่มาของสิ่งมีชีวิต เรียกได้ว่าเป็นแนวคิดเปลี่ยนโลกในเวลาต่อมา เป็นหนึ่งในหมุดหมายที่สำคัญของวงการวิทยาศาสตร์ เราก็อยากเห็นสำนักพิมพ์ของเรามีลักษณะในทำนองนั้น อีกอย่างชื่อมันก็เรียกง่าย คุ้นหู น่าจะเป็นชื่อที่เหมาะสมในเชิงการตลาดด้วย 

          ก่อนหน้านี้มีชื่อฮาๆ  ที่ผมคิดขึ้นมาแล้วมีพี่เอ้วซื้ออยู่คนเดียวคือ ‘ย่อยยับ นับไม่ถ้วน’ คือเราเอาความรู้มาย่อย แต่สุดท้ายมันก็ไม่รอด พอตีความในอีกแง่หนึ่งแล้วไม่ค่อยเหมาะเท่าไหร่ (หัวเราะ)

การรวมตัวกันครั้งใหม่ของนักสื่อสารวิทยาศาสตร์รุ่นใหญ่ 

          เริ่มจากหมอเอ้วก่อนที่ริเริ่ม เขารู้สึกว่าไอเดียนี้ไม่น่าจะทำคนเดียวไหว ก็เลยไปชวนหลายๆ คนมารวมทีม ซึ่งก็มีผมเป็นหนึ่งในนั้น รวมไปถึง ‘พี่ชิ้น-ดร.นําชัย ชีววิวรรธน์’ และ ‘พี่หนุ่ม-โตมร ศุขปรีชา’ ที่ก็อยู่ในวงการหนังสือมานานมาร่วมทีม 

          เราไม่ได้แบ่งแยกบทบาทอะไรขนาดนั้น เวลานั่งคุยก็จะแค่แลกเปลี่ยนความเห็นกัน เพียงแต่ว่าในแง่ของไอเดียเชิงธุรกิจ หมอเอ้วน่าจะเป็นคนที่ถนัดและดูแลมากที่สุด ส่วนพี่หนุ่มกับพี่ชิ้นที่มากประสบการณ์ในหลากหลายวงการก็จะให้คำปรึกษา ให้ความเห็น แบ่งปันไอเดีย ส่วนผมก็อาจจะเป็นคนที่รับหน้า เป็นตัวแทนนำเสนอตัวตนของกาลาปากอสให้คนได้รู้จัก

ก่อกำเนิด ‘กาลาปากอส’ ก่อการสื่อสารงานด้านวิทยาศาสตร์ในไทย

หนังสือวิทยาศาสตร์ที่คาดไม่ถึงแต่เข้าถึงได้

          หนังสือที่คิดว่าจะได้เห็นจากสำนักพิมพ์กาลาปากอสแน่ๆ เล่มแรกคือหนังสือที่ชื่อ The Science of Sin: Why We Do The Things We Know We Shouldn’t เขียนโดย ดร.แจ็ค เลวิส (Jack Lewis) ที่หยิบเอาเรื่องบาป 7 ประการ แบบในหนังเรื่อง Se7en (1995) มาขยี้ในเชิงวิทยาศาสตร์ว่าเคยมีงานวิจัยไปเจาะลึกสิ่งเหล่านี้อย่างไรบ้าง ซึ่งนอกจากจะมีตัวหนังสือที่แปลเป็นภาษาไทยแล้ว ก็อาจจะมีรายการ บทความ หรือทอล์กโชว์ตามมา 

          ส่วนเล่มที่จ่อคิวจะออกตามมา ก็จะเป็นหนังสือที่ผมเลือกไว้ เช่น Sex in the Sea ซึ่งเขียนโดย มาราห์ ฮาร์ดต์ (Marah Hardt) ไปดูความพิสดารและวิตถารของสัตว์ ว่ามันผสมพันธุ์กันอย่างไร คือพอทะเลเป็นโลก 3 มิติ มีน้ำเป็นองค์ประกอบ พฤติกรรมของสัตว์พวกนี้เลยเหนือจิตนาการสัตว์บกอย่างเรามาก ยกตัวอย่างเช่น ปลาทะเลลึกบางชนิด ที่มีตัวหนึ่งจะมีเบ็ดตกปลายื่นออกมาจากหัวมันและจะมีไฟส่องสว่างได้ เอาแค่ร่างกายมันก็ประหลาดแล้ว แต่วิธีผสมพันธุ์ของมันนั้นประหลาดกว่า  คือพอตัวผู้เจอตัวเมียที่ถูกใจ มันจะงับพุงตัวเมียและเกาะเป็นติ่งตัวเมียไปตลอดชีวิตเลย ซึ่งลักษณะร่างกายก็แตกต่างกันมากสมมติตัวเมียขนาดเท่าลูกบาส ตัวผู้จะขนาดเท่าปลายนิ้วก้อย แล้วพองับพุงเสร็จ ตัวผู้ก็จะปล่อย เอนไซม์ออกมาย่อยปากตัวเอง หลอมเนื้อเยื่อไปกับตัวเมีย กลายเป็นความรักที่รวมร่างกลายเป็นส่วนหนึ่งไปตลอดชีพ อะไรแบบนี้

          ถ้าถามว่าเราใช้เกณฑ์อะไรในการเลือกหนังสือ คือเราเลือกแปลเล่มที่ชอบครับ (หัวเราะ) แต่มันก็จะมีบางเล่ม ที่รู้สึกว่าควรค่าแก่การนำมาแปล เช่น ตอนนี้พี่ชิ้น กำลังแปลหนังสือขึ้นหิ้งเล่มหนึ่งที่ชื่อ Pale Blue Dot: A Vision of the Human Future in Space ของ คาร์ล เซแกน (Carl Sagan) ซึ่งเป็นนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกัน

          คือเนื้อหาในเล่มจะพูดถึงยุคหนึ่งที่มนุษยชาติกำลังสำรวจอวกาศด้วยการส่งยานอวกาศไปสถานที่ต่างๆ แล้วในตอนนั้นถ้าเกิดยานอวกาศเดินทางเลยดาวเสาร์ไปแล้ว เราจะไม่สามารถหันกลับมามองเห็นดาวโลกได้อีกด้วยตามนุษย์และกล้องถ่ายภาพทั่วไป ดังนั้นเซแกนเลยทำโปรเจกต์หนึ่งร่วมกับทางนาซ่า (NASA) โดยให้ยานอวกาศที่กำลังจะเลยดาวเสาร์ไป หลังกลับมาถ่ายเซลฟี่ให้กับโลก ให้กลายเป็นการเซลฟี่กับโลกที่ไกลที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษย์

          ซึ่งภาพที่ได้ออกมาก็จะเป็นแค่จุดเล็กๆ จุดเดียว ท่ามกลางความมืด อันเวิ้งว้าง ซึ่งเขาก็เอาเรื่องราวตรงนี้มาเขียนบรรยายต่อได้อย่างน่าขนลุกมากว่า ประวัติศาสตร์มนุษยชาติทั้งหมด ไม่ว่าจะรักกันหรือรบกัน ทั้งหมดมันก็เกิดขึ้นบนไอจุดเล็กๆ จุดนี้ ซึ่งก็นำไปสู่ความคิดลึกซึ้ง ต่อยอดได้อีกมากมาย อะไรแบบนี้เป็นต้น

          หรือหนังสือสนุกๆ ที่ได้สิทธิ์แล้ว ก็มี เช่น Will My Cat Eat My Eyeballs เขียนโดย แคทธาลิน โดธีห์ (Caitlin Doughty) เป็นหนังสือป่วนๆ ซนๆ เขียนโดยคนที่ทำอาชีพเป็นสัปเหร่อที่คุ้นเคยกับความตายประเภทต่างๆ ที่อธิบายว่าหากเราตายอยู่ในห้องเพียงลำพังกับแมวตัวหนึ่ง แล้วเราไม่ได้ให้อาหารทิ้งไว้กับมัน สักพักหนึ่งมันจะเดินกินลูกตาเราหรือเปล่า ซึ่งแต่ละบทก็จะเป็นคำถามประมาณนี้ เอาวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวกับร่างกายที่ตายแล้วของมนุษย์มาเล่าให้สนุก

ความรู้คู่ความสนุก 

          จริงๆ แล้วหนังสือวิทยาศาสตร์มันก็มีเฉดของมันอยู่ หนังสือวิทยาศาสตร์ที่อ่านโคตรยากก็มี เป็นในเชิงตำราไปเลย หรือไม่ก็เป็นหนังสือวิทยาศาสตร์เบื้องต้นสำหรับน้องๆ หนูๆ ก็มีอยู่

          แต่มีหนังสือวิทยาศาสตร์อีกประเภทหนึ่งที่อยู่ตรงกลางและมีตลาดที่เติบโตมาก คือหนังสือประเภท Pop Science เป็นงานเขียนวิทยาศาสตร์ที่เอามาย่อยและเล่าให้คนทั่วไปอ่านเข้าใจง่ายและสนุก สำนักพิมพ์กาลาปากอสก็จะให้ความสนใจกับส่วนนี้เป็นพิเศษ

          ผมมองว่าในเชิงปัจจุบันมันยังไม่มีการประยุกต์และเข้าถึงและเข้าใจง่ายได้เท่าที่ควร คือถ้าเป็นหนังสือวิทยาศาสตร์ที่เข้มข้น เช่น หนังสือเรื่องดาราศาสตร์ หลุมดำ สมอง มันยังมีช่องว่างในการสร้างบทสนทนา หรือเป็นที่พูดถึงกันในสังคม ให้มันดูมีความเซ็กซี่ สนุกกว่านี้ได้

ก่อกำเนิด ‘กาลาปากอส’ ก่อการสื่อสารงานด้านวิทยาศาสตร์ในไทย

สำนักพิมพ์ที่ไม่ได้แค่ตีพิมพ์หนังสือ

          ผมว่าอันนี้ก็เป็นเรื่องที่แปลกนะ ตอนนี้เรามาโปรโมทสำนักพิมพ์ที่ยังไม่มีหนังสือสักเล่มเลย (หัวเราะ) ตอนนี้สิ่งที่ทำไปแล้วก็คือ การอบรมนักแปลสายวิทยาศาสตร์ เป็นงานที่เกิดขึ้นระหว่างรอหนังสือที่กำลังแปลกันซึ่งใช้เวลาค่อนข้างนาน เลยอยากให้มีอะไรคึกคักก่อนที่หนังสือของสำนักพิมพ์จะออกมา เป็นการวอร์มอัพ เป็นการตีฆ้องร้องป่าว ว่ากำลังจะมีสำนักพิมพ์กาลาปากอสเกิดขึ้นมานะ แล้วอีกอย่างคือก็เป็นโมเดลธุรกิจของเราด้วย ที่จะเอาเงินส่วนนี้เป็นซื้อลิขสิทธิ์หนังสือเล่มอื่นๆ มาแปล 

          แต่สำคัญที่สุดคือเราอยากสร้างนักแปลจริงๆ คือเราไม่ได้จะสร้างนักแปลที่เชี่ยวชาญการแปลทางด้านภาษาไทยและอังกฤษที่ช่ำชอง เรามองว่าสิ่งนี้เป็นพื้นฐานของนักแปลอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าเวลาต้องมาแปลหนังสือที่เป็นเชิงความรู้วิทยาศาสตร์โดยตรง มันต้องมีความรู้เฉพาะทางเพิ่มเติมอีก เราจึงอยากพัฒนานักแปลในเชิงวิธีการคิด วิธีการเล่า ให้นอกจากแปลได้แล้ว ยังเข้าใจสามารถเล่าเรื่องที่กำลังแปลได้อย่างเข้าอกเข้าใจ ชวนคนอ่านคุยถึงเนื้อหาในเล่มได้

          ตอนนี้ก็ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เราเห็นคนที่มีใจรักและอยากเข้ามาอยู่ในวงการนี้ค่อนข้างเยอะ ดังนั้นโจทย์ต่อไปคือทำอย่างไรขั้นต่อไปในการเชื่อมคนกลุ่มนี้เข้าด้วยกัน รวมไปถึงหาพื้นที่ให้เขาได้ลงสนาม ได้ลองแปลหนังสือ ซึ่งเรื่องนี้เรามองว่ามันใหญ่มากกว่าสำนักพิมพ์กาลาปากอสจะทำได้โดยลำพัง ก็อาจมีการรวมกลุ่มกับสำนักพิมพ์อื่นๆ ในอนาคตได้

อนาคตของงานแปลในโลกปัญญาประดิษฐ์

          เมื่อวันก่อนผมเพิ่งเอาหนังสือที่กำลังแปลอยู่ไปเข้าให้ ChatGPT ปัญญาประดิษฐ์ของ OpenAI ลองแปลจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทยดู ยังออกมาใช้ไม่ได้เลย ตอนนี้มันยังสู้เราไม่ได้ แต่ผมว่าในอนาคตมันจะเก่งขึ้นเรื่อยๆ และเมื่อถึงวันนั้นอาชีพนักแปลเองหนังสือก็ต้องปรับตัวให้มากกว่ามีแค่ความแข็งแรงทางภาษา คือต้องมีองค์ความรู้ การจัดคำ เรียบเรียงตามวาทศิลป์ ซึ่งจะกลายเป็นจุดแข็งของมนุษย์ต่อไปหลังจากนี้

          รวมไปถึงอยากให้คิดเอาไว้เลยว่า อย่างไรวันหนึ่งเราก็ต้องเปลี่ยนอาชีพที่ทำไปเรื่อย อย่าไปยึดติดว่าจุดหมายของหน้าที่การงานมีแค่การแปลภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย แต่ฝึกเรียนรู้ในการใช้เครื่องมือและเราก็ขยับไปทำงานอื่นๆ ต่อ

          พูดถึงเรื่องนี้ผมว่าในวงการหนังสือเป็นทิศทางที่ดีมากเลยนะ ลองคิดภาพว่าวันหนึ่งที่หนังสือภาษาอังกฤษวางจำหน่าย แล้ววันต่อมาก็มีเวอร์ชันแปลเป็นภาษาไทยมาขายแล้ว หรือขณะเดียวกันเราก็อาจแปลหนังสือภาษาไทยให้เป็นภาษาอังกฤษแล้วนำไปขายทั่วโลกได้ ผมว่ามันเป็นพรมแดนใหม่ๆ ของวงการหนังสือที่น่าสนใจ

Pop Science พื้นที่ตรงกลางขนาดกว้างใหญ่

          ผมว่าปัญหาโดยรวมๆ ที่เห็นตั้งแต่เริ่มทำงานเกี่ยวกับการพูดคุยเรื่องความรู้วิทยาศาสตร์ คือเรามักพูดกันแต่ความรู้วิทยาศาสตร์ในระดับเบื้องต้น แล้วก็ข้ามไปประชุมวิชาการในระดับศาสตราจารย์เลย หรือไม่ก็เป็นการอ่านตำราสำหรับเรียนหรือสอบแทน  มันก็จะโหว่ไปเลยสำหรับการคุยวิทยาศาสตร์อย่างสนุกสนาน อย่างโรแมนติก เพื่อความบันเทิง เพื่อความสุนทรีย์ ซึ่งช่องว่างตรงนี้มันเกิดมาหลายสิบปีแล้ว

          ทุกวันนี้ก็ค่อนข้างดีใจนะ ที่เห็นทิศทางของวิทยาศาสตร์กำลังพัฒนามากขึ้น มีคอนเทนต์เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์สนุกๆ มากมายเกิดขึ้นในสังคม มีเด็กหลายคนฟีดแบ็กกับผมโดยตรงเลยว่า ทุกวันนี้ที่เรียนด้านวิทยาศาสตร์​ หรือเป็นอาจารย์ก็เพราะการดูและเสพเนื้อหาวิทยาศาสตร์สนุกๆ ทั้งจากของผมและคนอื่นๆ ที่พยายามทำส่วนนี้ 

          ซึ่งผมก็อยากให้อะไรแบบนี้เกิดขึ้นในห้องเรียน ในหลักสูตร การศึกษา ให้มันมีสปิริตเดียวกัน คือเอาความรู้เรื่องวิทยาศาสตร์มาคุยกันให้เป็นธรรมชาติ คุยกันแบบให้มันออกรส 

‘กาลาปากอส’ ก่อร่างสร้างเครือข่าย 

          เราอยากเห็นความหลากหลายของหนังสือที่ออกมาทัดเทียมกับต่างประเทศ รวมไปถึงอยากให้คนที่ทำหนังสือความรู้ดีๆ ออกมา อยู่ได้โดยไม่เจ๊ง อันนี้คือความฝันจริงๆ ปัจจุบันผมก็คิดว่าสำนักพิมพ์ที่ทำหนังสือเชิงความรู้ต่างๆ เขาก็ดูจะไปกันได้สวย ดังนั้นสำนักพิมพ์กาลาปากอสก็น่าจะไปได้สวยบ้าง (หัวเราะ)

          รวมไปถึงการพัฒนาเครือข่ายวิทยาศาสตร์ในไทย อยากให้เกิดพื้นที่การรวมตัวเพื่อแลกเปลี่ยนของคนที่สนใจวิทยาศาสตร์คล้ายกัน ผมว่าเรายังไปต่อได้อีกเยอะ อย่างนักแปลหนังสือวิทยาศาสตร์เอง ในอนาคตก็อาจไม่ได้เป็นแค่นักแปลภาษา เราอาจเป็น Science Journalist เป็นนักข่าวเชิงวิทยาศาสตร์ หาข้อมูลและเขียนเป็นภาษาไทย ก็ทำให้วงการมันคึกครื้นและพัฒนากันไปต่อได้ในอนาคต

ก่อกำเนิด ‘กาลาปากอส’ ก่อการสื่อสารงานด้านวิทยาศาสตร์ในไทย

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก