อ่านวิทยาศาสตร์ระหว่างบรรทัด กับแทนไท ประเสริฐกุล

1079 views
4 mins
December 17, 2024

          เมื่อครั้งเยาว์วัย แทนไท ประเสริฐกุล หลงใหลและโลดโผนในโลกแห่งการอ่าน ละเลงจินตนาการผ่านหน้ากระดาษ และปลีกตัวจากบ้านหลังน้อยสู่ดินแดนอันลึกลับระหว่างบรรทัด 

          ในฐานะเด็กชายขี้เหงาจากจังหวัดตรัง เขาสามารถไปที่แห่งใดก็ได้ตามแต่หนังสือเล่มนั้นจะนำทาง ไล่เรียงตั้งแต่โลกลับแลใต้มหาสมุทร สัตว์ประหลาดในป่าลึก โลกอวกาศอันไกลโพ้น ไปจนถึงสิ่งมีชีวิตที่ไม่อาจมองเห็นด้วยดวงตาเปล่าเปลือยของมนุษย์

          รู้ตัวอีกที แทนไทกลายเป็นเด็กชายผู้หลงใหลสิ่งที่เรียกว่า ‘วิทยาศาสตร์’ อย่างถอนตัวไม่ขึ้น

          “หลายๆ คนบอกว่า ชอบวิทยาศาสตร์เพราะเป็นเรื่องใกล้ตัว แต่สำหรับผม ยิ่งไกลตัวเท่าไรยิ่งน่าสนใจเท่านั้น เพราะผมรู้สึกว่า ตัวเราช่างเล็กและน่าเบื่อเหลือเกิน”

          แทนไท ประเสริฐกุล เป็นหนุ่มเนิร์ดผู้มีอารมณ์ขัน เห็นได้จากงานเขียนของเขาอย่าง โลกจิต, โลกนี้มันช่างยีสต์, โลกนี้มันช่างยุสต์ และ Mimic เลียนแบบทำไม เป็นนักจัดพอดแคสต์และเจ้าของช่อง WiTcast บอกเล่าเรื่องราววิทยาศาสตร์ในหัวข้อที่หลากหลาย เป็นครูสอนชีววิทยาในโรงเรียนมัธยมหญิงล้วน และเป็นนักเล่าเรื่องชนิดหาตัวจับยาก เจ้าของรางวัลนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ ประจำปี 2564

          โปรไฟล์ยาวเหยียดข้างต้น ไม่ใช่สิ่งที่เราจะคุยกับเขาในวันนี้ หากแต่เป็นการเดินทางในฐานะ ‘นักสื่อสารวิทยาศาสตร์’ เขาปรารถนาจะสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคมจากล่างขึ้นบน (Bottom–Up) ด้วยการสร้างบรรยากาศที่ทุกคนสนุกสนานกับการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ผ่านเครื่องมือการสื่อสารที่ไม่จำกัดด้วยตัวอักษร

อ่านวิทยาศาสตร์ระหว่างบรรทัด กับแทนไท ประเสริฐกุล

ย้อนกลับไปในวัยนักเรียน บรรยากาศการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ในช่วงเวลานั้นเป็นอย่างไร

          การเรียนวิทยาศาสตร์ในระบบการศึกษาช่วงประถมศึกษาถึงมัธยมต้นก็สนุกสนานนะครับ มันจะเริ่มจริงจังจนไม่ค่อยอยากเรียนตอนมัธยมปลาย ทั้งที่เราก็เคยชอบเรียนวิทยาศาสตร์มาก เพราะเราจะเริ่มเจอบทเรียนยากๆ แล้วบางทีเราไม่รู้ว่าต้องเรียนยากขนาดนี้ไปทำไม อาจารย์สอนดีหรือไม่ดีก็ไม่รู้ เราก็ค่อยๆ ท้อแท้ไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะวิชาเคมีกับฟิสิกส์ ผมเรียนไม่ค่อยเก่ง แต่ที่ยังเก่งคือชีววิทยา เพราะมันมีความชอบนำทางมาก่อน

          ถึงขนาดว่าเรารู้สึกว่าเรียนรู้ได้ไม่อิ่มในห้องเรียน เราเลยไปซื้อตำราของพี่ ม.5-ม.6 อ่านล่วงหน้าก่อน (หัวเราะ)

          สิ่งที่มาเติมเต็มให้เราเพิ่มเติมจากที่เรียนในห้อง คือการเข้าร่วมโครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท.) กับโครงการโอลิมปิก

          เราได้ขยายการเรียนแบบภาษาไทยสู่การเรียนแบบภาษาอังกฤษ เช่น ในค่ายโอลิมปิก เขาจะให้อ่านหนังสือชีววิทยาเป็นภาษาอังกฤษ เป็นเหมือนคัมภีร์หนา เรียกสั้นๆ ว่า แคมป์เบลล์ (Campbell Biology) พออ่านตำราภาษาอังกฤษได้เราพบว่า รูปประกอบมันสวย การไล่เรียงเรื่องราวดูเป็นเหตุเป็นผล มีตัวอย่างเจ๋งๆ ที่ทำให้เรารู้สึกทึ่งไปกับการอ่าน ทำให้เรายิ่งอินกับชีววิทยามากขึ้น คล้ายกับการเปิดโลกกว้างใหญ่ เพราะถ้าเราไปดูตำราหรือสื่อภาษาไทย เราจะเห็นแค่คู่มือติวเอ็นทรานซ์ ทุกอย่างราวกับมุ่งไปสู่ข้อสอบอย่างเดียว แต่ตำราที่เราอ่านในภาษาอังกฤษ เขามุ่งไปสู่เป้าหมายว่า ผู้อ่านจะสามารถทำความเข้าใจธรรมชาติอันลึกลับได้อย่างไร คุณเคยเรียนทั้งในและต่างประเทศ รู้สึกถึงความแตกต่างทางการเรียนรู้หรือไม่ อย่างไร 

          ตอนที่เรียนอยู่มหาวิทยาลัยคอร์เนล เรารู้เลยว่ามุมมองที่มีต่อวิทยาศาสตร์ของพวกเขาจะกว้างมาก เช่น เรามักมองว่าวิทยาศาสตร์มันต้องเป็นประโยชน์ต่ออะไรสักอย่างหนึ่ง ทั้งที่จริงแล้ววิทยาศาสตร์มันกว้าง มันมีทั้งการศึกษาเพื่อแก้ปัญหาอะไรบางอย่าง หรือทำให้เกิดประโยชน์บางอย่าง ขณะเดียวกัน วิทยาศาสตร์ยังมีด้านที่เราศึกษาเพราะต้องการค้นหาความจริงอันลึกซึ้งของธรรมชาติ ซึ่งในมุมนี้เมืองไทยจะไม่ค่อยสนใจ เช่น คำถามว่าชีวิตมาจากไหน ชีวิตถือกำเนิดได้ยังไง

          ถ้าเป็นในฝั่งตะวันตก คำถามเหล่านี้จะอยู่คู่กับความสงสัยของพวกเขามาตั้งแต่ยุคที่ยังไม่มีวิทยาศาสตร์ ความอยากรู้ต้นกำเนิดของสรรพสิ่งเป็นคำถามที่อยู่ในวัฒนธรรมของเขามาเนิ่นนาน แล้วพอเขาค้นหาไปเรื่อยๆ ก็เริ่มเข้าใจกระบวนการกำเนิดชีวิต กระบวนการวิวัฒนาการ กลายเป็นคำตอบที่อธิบายได้อย่างยิ่งใหญ่มาก ว่าทำไมชีวิตถึงเป็นอย่างที่มันเป็น ทำไมปลาหางนกยูงหางสีส้ม ทำไมช้างตัวใหญ่ ทำไมหนูตัวเล็ก เบื้องหลังสิ่งมีชีวิตมันมีคำอธิบายว่า ‘ทำไม’ อยู่ ซึ่งตรงนี้ในต่างประเทศจะให้ค่ามากในการศึกษา 

          ขณะที่ประเทศไทยจะเป็นอีกแบบ เราไม่ค่อยให้ความสำคัญกับนักวิทยาศาสตร์ที่อยากไขปริศนาธรรมชาติ เราจะสนใจคนที่มีความสามารถเฉพาะทางเป็นเรื่องๆ ไป

           บรรยากาศโดยรวมของสังคมไทยคือ ทำอะไรตามขั้นตอน ตามสูตร ไม่ต้องแหวกแนว ไม่ต้องตั้งคำถามมาก เช่น กระทั่งการกลับมาบ้าน เจอพ่อแม่ที่คอยบอกให้เราเรียนเพื่อทำงาน ทำงานเพื่อหาเงิน มันเหมือนถูกสังคมและเศรษฐกิจตีกรอบไว้แคบๆ ผมว่าคำถามทางวิทยาศาสตร์นี่แหละ คือสิ่งหนึ่งที่ทำให้เราสามารถขับเน้นตัวตนความเป็นมนุษย์ในด้านที่อยากจะรู้ให้มากและลึกที่สุดเท่าที่สมองของเราจะรู้ได้

อ่านวิทยาศาสตร์ระหว่างบรรทัด กับแทนไท ประเสริฐกุล

ในฐานะที่เคยเป็นทั้งนักเรียน เคยเป็นทั้งครูสอนชีววิทยา และเป็นนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ คุณมองการศึกษาไทยในภาพรวมอย่างไร

          หลักสูตรการศึกษาไทยมักจะอัดความรู้เข้าไปเยอะๆ ซึ่งก็เป็นความรู้ที่สำคัญและควรเรียน แต่ส่วนที่ขาดหายไปมันคือ ความโรแมนติกของการเรียนรู้ ว่าเราต้องมาเรียนรู้สิ่งเหล่านี้ไปทำไม เหมือนเอาเด็กมาดูองค์ประกอบของเซลล์ แต่คล้ายกับว่า เขาให้ดูอะไรก็ดูไป ให้ท่องอะไรก็ท่องไป มันไม่ได้มาพร้อมกับความรู้สึกที่ว่า ‘นี่เรากำลังมองเห็นตัวเลโก้ชิ้นเล็กที่จะประกอบเป็นชีวิตเรา’ บรรยากาศแบบนี้ หากไม่ใช่ครูผู้สอนเป็นผู้สร้าง มันก็ต้องมาจากสังคมที่ชวนให้เราตื่นเต้นกับเรื่องพวกนี้ 

          การศึกษาไทยจึงมีเด็กที่ไม่รอดเยอะมาก ส่วนเด็กที่รอดก็จะเป็นเด็กที่มีวินัยหน่อย อดทนอ่านหนังสือ ท่องจำ เพื่อให้ตนยังเป็นนักเรียนเกรดดี แต่ไม่ได้ตกหลุมรักกับศาสตร์นั้น 

          ส่วนตัวผมไม่ได้ทะเยอทะยานว่าเราจะเปลี่ยนแปลงการศึกษา หรือเปลี่ยนแปลงประเทศ แต่ผมจะรู้สึกว่า แหม มันน่าจะทำได้สนุกมากกว่านี้ หรือลึกซึ้งมากกว่านี้ได้ ผมก็จะมองหาแง่มุมเล็กๆ ของตัวเองเพื่อลองทำ ลองเขียนหนังสือในแบบที่ยังไม่เคยมีใครเขียน มาสอนในแบบที่เรารู้สึกว่า มันน่าจะดีกว่าตอนที่เราเรียนอยู่ หรือลองมาจัดรายการวิทยาศาสตร์ที่ยังไม่เห็นว่ามีใครทำ สร้างความเปลี่ยนแปลงในลักษณะออร์แกนิก ให้มันเป็นไปตามธรรมชาติ ในแบบ bottom–up change ไม่ใช่ top–down change

อ่านวิทยาศาสตร์ระหว่างบรรทัด กับแทนไท ประเสริฐกุล

อะไรทำให้คุณเริ่มเขียนหนังสือ 

          ผมเขียนหนังสือมาประมาณ 5-6 เล่ม เช่น โลกจิต, โลกนี้มันช่างยีสต์, โลกนี้มันช่างยุสต์ แล้วก็มีหนังสือเกี่ยวกับชีวิตสัตว์ชื่อ Mimic เลียนแบบทำไม ทั้งหมดนี้ลาร้านหนังสือหมดแล้ว ขายหมดไปแล้ว ไม่มีพิมพ์ใหม่แล้ว 

          เราเขียนเพราะมีหัวข้อที่อยากเล่า แล้วจึงค่อยมาคิดว่า เราจะเรียบเรียงยังไงให้เราสามารถเล่าออกไปได้อย่างลึกซึ้งและได้อรรถรสมากที่สุด

          อย่างเวลาเราเล่าผ่านรายการในช่อง WiTcast ลีลาและการเรียบเรียงก็จะอีกแบบหนึ่ง เล่าผ่านการเขียนก็อีกแบบหนึ่ง แต่ที่เหมือนกันคือ มีเรื่องอยากเล่า และคิดว่าอยากให้คนรู้เรื่องนี้เยอะๆ เป็นเหมือนอาหารที่สามารถดูดซึมเข้าสมองของเขา แล้วอยู่กับเขาไปอีกนาน อะไรแบบนั้น

          โลกจิต น่าจะเป็นเล่มที่ขายดีสุด มันเริ่มจากคอลัมน์ในนิตยสาร a day เราอยากเอาความรู้วิทยาศาสตร์มาเล่าเป็นตอนๆ สุดท้ายเราก็เลือกหัวข้อสมองกับจิตวิทยา ตั้งชื่อคอลัมน์ว่า โลกจิต เพราะตอนที่เราไปเรียนที่มหาวิทยาลัยคอร์เนลอาจารย์สั่งให้ไปอ่านหนังสือของ โอลิเวอร์ แซกส์ (Oliver Sacks) เกี่ยวกับคนไข้ทางสมองอาการแปลกๆ ผมก็ไปซื้อมาอ่านแล้วรู้สึกมหัศจรรย์มากกับโลกความรับรู้ของมนุษย์ ยกตัวอย่างสมมติ เช่น ผู้ที่ประสบอุบัติเหตุจนต้องเสียแขนขวา แต่ก็ยังรู้สึกคันนิ้วจากแขนข้างขวาได้ หรือเจ็บนิ้วโป้งจัง ทั้งๆ ที่ไม่มีนิ้วโป้งแล้ว นั่นเป็นเพราะสมองส่วนที่รับรู้และตีความออกมาว่า เรายังมีนิ้วโป้งอยู่ มันยังมีอยู่ ถึงแม้อวัยวะจะไม่อยู่แล้ว เขาเรียกว่า Phantom limb syndrome หรือปรากฏการณ์อวัยวะหลอน 

          แล้วสิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างคือ มีหมอคนหนึ่งเขาค้นพบว่า เวลาที่คนไข้มีอาการ Phantom limb syndrome เวลาเราเอาสำลีไปจิ้มแก้มเขา นอกจากจะรู้สึกที่แก้ม เขาจะรู้สึกที่นิ้วด้วย แต่เป็นนิ้วของมือข้างที่ขาดไปแล้ว ปรากฏว่าแผนที่ในสมองส่วนนิ้วมันติดอยู่กับส่วนแก้มพอดี มันน่าสนใจว่าตกลงความรับรู้ของเรามันขึ้นอยู่กับก้อนเนื้อหยุยๆ ในหัวเรานี่หรือ ประหลาดจัง หรือในบางกรณี สมองที่เอาไว้แปรผลว่าสีสันมีความต่างกันอย่างไร กับสมองส่วนที่เอาไว้อ่านตัวเลขหรืออ่านตัวอักษร สองส่วนนี้อยู่ติดกันพอดี ทำให้คนจำนวนไม่น้อยมีการรับรู้สองส่วนนี้เชื่อมถึงกัน เช่น ทุกครั้งเวลาพวกเขาเห็นเลข 1 เขาจะเห็นสีแดงพ่วงมาด้วย หรือเมื่อเห็นเลข 1 เขาจะเห็นสีน้ำเงินพ่วงมาด้วย แต่ละคนก็เห็นสีกับตัวเลขไม่เหมือนกันด้วย แต่มันจะมาตลอด มาแบบไม่ได้ตั้งใจ ทำให้ทุกครั้งที่เขาอ่านหนังสือ ต่อให้เป็นหมึกพิมพ์สีดำ เขาก็จะเห็นเป็นตัวหนังสือสีๆ ทั้งหน้าเลย ผมรู้สึกว่าเรื่องอะไรแบบนี้มันมหัศจรรย์จัง

อ่านวิทยาศาสตร์ระหว่างบรรทัด กับแทนไท ประเสริฐกุล

คุณเคยให้สัมภาษณ์ว่า รู้สึกภูมิใจกับพอดแคสต์เรื่องของชาวเลราไวย์ซึ่งถูกนายทุนขับไล่ออกจากที่ดินทำกิน ขยายความให้ฟังหน่อย

          วิทยาศาสตร์โดยโครงสร้างของมันเอง เป็นสถาบันที่มีขั้นตอนการค้นหาความจริงอย่างรัดกุมในการจะพิสูจน์หาหลักฐานอะไรบางอย่าง หลักการนี้มันเหมือนกันหมดไม่ว่าคุณจะทำวิจัยหัวข้ออะไร ตั้งแต่สังคมศาสตร์ไปจนถึงการวิจัยเชื้อโรค คุณต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าข้อสรุปของคุณมีความน่าเชื่อถือ 

          ความน่าสนใจของเรื่องนี้คือ ชาวเลราไวย์ที่กำลังถูกเอกชนขับไล่จากที่ดิน เขาอาศัยอยู่ตรงที่ดินผืนนั้นก่อนการประกาศกฎหมายให้มีการถือครองกรรมสิทธิ์

          อยู่มาวันหนึ่ง พวกเขาพบว่าแผ่นดินที่อยู่อาศัยกันมานานนับร้อยปีตกเป็นของเอกชนที่มีโฉนดตามกฎหมาย ซึ่งประเด็นนี้ หากเถียงกันไปเถียงกันมาด้วยเรื่องเล่าว่าใครมาก่อนมาหลังนั้น มันไม่มีทางจบ เพราะเอกชนก็ไม่มีทางยอม แต่หากเราใช้วิทยาศาสตร์มาช่วย เช่น ตามคำบอกเล่าของชาวเล เขาจะฝังร่างของบรรพบุรุษไว้ เราลองมาขุดกันดูไหม แล้วเอากระดูกเหล่านั้นมาตรวจอายุว่าร่างนี้ถูกฝังไว้ตรงนี้มากี่ปีแล้ว นี่คือการพิสูจน์หลักฐานที่ออกมาเป็นตัวเลขที่น่าเชื่อถือได้ และสามารถเอามาตัดสินได้ว่า ชาวเลกลุ่มนี้อยู่บนที่ดินตรงนี้มากี่ร้อยปีแล้ว 

          ผมได้ไปสัมภาษณ์ชาวเลที่เป็นหนึ่งในคณะวิจัยที่หาดราไวย์ ตอนนั้นเราทำหน้าที่คล้ายนักข่าวด้วยซ้ำ สัมภาษณ์แล้วเอาเรื่องราวมาถ่ายทอดในกรอบการสื่อสารวิทยาศาสตร์ 

           จากเรื่องนี้ ผมรู้สึกว่าถ้ารัฐจะสนับสนุนงบอะไรเยอะๆ ผมอยากให้สนับสนุนวิทยาศาสตร์ เพราะมันเอามาใช้ประโยชน์ได้มากมาย มันมีความชัดเจนในตัวมันเองว่า หากคุณอยากรู้สิ่งนี้ ก็หาคำตอบด้วยวิธีนี้ เมื่อหาคำตอบมาได้ มันก็จบ ไม่ต้องเถียงต่อจนไปสู่ความขัดแย้งยืดเยื้อ มันทำให้ผู้คนที่มีสถานะทางสังคมหรือเศรษฐกิจไม่ดี มีเสียงเบากว่าคนกลุ่มอื่น สามารถใช้เสียงดังขึ้นได้ด้วยเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ โดยรัฐต้องมีบทบาทเป็นผู้สนับสนุน

          เราพยายามเผยแพร่ความเข้าใจที่ถูกต้อง ไม่ว่าจะเรื่องโลกร้อน เรื่องการรักษาโรคต่างๆ ที่คนเชื่อกัน หรืออย่างเช่น หากมีคำถามขึ้นมาว่ากำแพงกันคลื่นมันดีจริงไหม เอาล่ะ เราก็ไปขุดคุ้ยหาข้อมูล หาหลักฐานมานำเสนอ มาถกเถียงกันเถอะ 

          นี่ก็เป็นอีกจ๊อบหนึ่งของนักสื่อสารวิทยาศาสตร์เหมือนกัน เพราะว่าบางที นักวิชาการเขาก็ไม่ได้รู้สึกว่าเขาต้องมาบอกกล่าวให้คนหมู่มากได้รับรู้ นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ก็อาจจะเป็นฝ่ายรวบรวมข้อมูลมานำเสนอกับผู้คน แบบที่คนทั่วไปเข้าใจง่าย ก็เป็นอีกงานหนึ่งของเรา 

          WiTcast ของเราก็มีหลายบทบาท แต่ส่วนใหญ่เราจะเน้นไปที่การสร้างบรรยากาศมาให้คนสนุกสนานกับวิทยาศาสตร์​ ส่วนในเรื่องที่สังคมกำลังสงสัยกับประเด็นต่างๆ เช่น ออร์แกนิกดีจริงไหม รังนกดีจริงไหม เราก็จะมีมาเล่าเป็นระยะๆ ว่าตกลงข้อมูลวิทยาศาสตร์เขาค้นพบอะไรบ้าง 

อ่านวิทยาศาสตร์ระหว่างบรรทัด กับแทนไท ประเสริฐกุล

ในสายตาของคุณ นักสื่อสารวิทยาศาสตร์คืออะไร

          ผมเป็นหนึ่งในคนแรกๆ ที่เริ่มใช้คำว่านักสื่อสารวิทยาศาสตร์ในเมืองไทย เพราะเคยได้ยินคำว่า science communicator ผ่านรายการต่างประเทศ ซึ่งเมื่อก่อน คนชอบมาถามเราว่า “ทำงานอะไร นักเขียนใช่ไหม นักแปลใช่ไหม เป็นอาจารย์ใช่ไหม” ผมรู้สึกว่า มันก็ใช่นะ แต่ถ้าเอาทั้งหมดมารวมกันจริงๆ เราคือนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ หมายความว่าเราอยากเอาเรื่องวิทยาศาสตร์มาเล่าผ่านอะไรก็ได้ จัดรายการก็ดี เขียนหนังสือก็ดี แปลหนังสือก็ดี หรือไปบรรยายก็ดี เป็นตัวแทนของคนที่ไปเอาความรู้มาเล่าให้คนอื่นรู้เรื่องได้ทั้งเขียนหนังสือ แปลหนังสือ และจัดพอดแคสต์เล่าเรื่องวิทยาศาสตร์มากว่า 10 ปี อะไรทำให้ยืนระยะนานได้ขนาดนี้ 

          ที่ทำอยู่ตอนนี้ไม่ใช่ธุรกิจนะ ถ้ามันจะเป็นธุรกิจได้ผมก็ยินดีเลยนะ ใครอ่านบทสัมภาษณ์นี้แล้วอยากเป็น financial manager ให้เราก็จะยินดีมาก ที่ผ่านมาเราทำกันด้วยใจรัก ทำกันแบบบ้านๆ ได้เงินบ้างไม่ได้เงินบ้างก็ทำไป 

          อีกส่วนคือ ตอนนี้เรารวมตัวกันทำสำนักพิมพ์ร่วมกับนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ท่านอื่นๆ คือ หมอเอ้ว-ชัชพล เกียรติขจรธาดา ผู้เขียน 500 ล้านปีของความรัก คุณนำชัย ชีววิวรรธน์ ผู้แปล เซเปียนส์ ประวัติย่อมนุษยชาติ คุณโตมร ศุขปรีชา เราตั้งสำนักพิมพ์ชื่อ กาลาปากอส เน้นไปที่หนังสือแปลหนังสือจากต่างประเทศ

          เล่มที่พวกเรารู้สึกว่ามันดีมาก แต่ไม่มีสำนักพิมพ์ไหนสนใจ เดี๋ยวเราเอามาแปลเอง ซึ่งอีกไม่นานก็จะมีหนังสือออกมา และเรามีการจัดอบรมด้านงานแปลเชิงความรู้วิทยาศาสตร์ด้วยครับ

อ่านวิทยาศาสตร์ระหว่างบรรทัด กับแทนไท ประเสริฐกุล


เผยแพร่ครั้งแรกในหนังสือ ‘Readtopia 2 ผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงในระบบนิเวศการอ่านของไทย’ (2567)

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

PDPA Icon

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก