‘แทนไท ประเสริฐกุล’ กระตุกต่อมวิทย์ คิดด้วยเหตุผล และอย่าด่วนสรุป!

1,238 views
10 mins
January 15, 2021

          เส้นทางประวัติศาสตร์ความคิดวิทยาศาสตร์ยุคใหม่ คือการสร้างองค์ความรู้ภายใต้โลกทัศน์แบบนิวตัน (Newtonian Worldview) ตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 17 ซึ่งเน้นการวิเคราะห์และใช้เหตุผลผ่านข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์ อาจกล่าวได้ว่าทฤษฎีความรู้ต่างๆ ที่เกิดขึ้นมานับจากนั้นล้วนแล้วแต่เป็นผลมาจากการที่วิทยาศาสตร์ก้าวเข้ามามีอำนาจนำเหนือความคิดและวิธีวิทยาอื่น

          แต่ก็ใช่ว่ามนุษย์นั้นจะรักในความรู้และมีเหตุมีผลกันถ้วนทั่วทุกคน ยิ่งในภาวะที่ข่าวสารสารสนเทศท่วมท้นจนแยกแยะจริงเท็จได้ยากดังเช่นปัจจุบัน ปัญหาและความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากความเชื่อที่ไร้เหตุผลและไม่เป็นวิทยาศาสตร์จึงเกิดขึ้นและมีอยู่อย่างต่อเนื่อง

          ในสังคมไทยซึ่งความคิดแบบวิทยาศาสตร์ยังอ่อนแอ ลำพังอาจารย์เจษ (ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ แห่งคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) เพียงคนเดียวคงไม่เพียงพอที่จะคอยช่วยดึงสติ จำต้องมีคนหลายรุ่นมาช่วยกันไขข้อข้องใจและอธิบายเรื่องยากๆ ให้เข้าใจง่าย ด้วยความรู้ ข้อมูล และตรรกะเหตุผล

           หนึ่งในคนรุ่นใหม่ที่น่าจับตาคือ แทนไท ประเสริฐกุล นักเขียนและผู้ดำเนินรายการพอดคาสต์วิทยาศาสตร์ที่กำลังได้รับความนิยมจากกลุ่มผู้ฟังและมีแนวโน้มเพิ่มจำนวนขึ้น ผู้ซึ่งเรียกตัวเองว่าเป็น ‘นักสื่อสารวิทยาศาสตร์’ ทำหน้าที่บอกเล่าเรื่องราวในโลกวิทยาศาสตร์ด้วยภาษาง่ายๆ และทำให้สิ่งที่เรียกว่า ‘วิทยาศาสตร์’ กลายเป็นเรื่องสนุกน่าติดตาม เมื่อบวกกับ “ห้าเหลี่ยมคุณค่าของวิทยาศาสตร์” ที่เป็นเบื้องหลังแรงขับทางความคิดและการทำงาน เรื่องที่เขาบอกว่าทั้งสนุกและหลงใหลมัน จึงพาลให้คนอ่านคนฟังต่างก็หลงใหลไปกับเขาด้วย

คุณเรียนจบด้านไหนและสนใจเรื่องอะไรเป็นพิเศษ

          ตอนเด็กๆ ผมสนใจด้านวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตครับ ก็เลยตัดสินใจไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกาด้านพฤติกรรมศาสตร์และจิตวิทยา ซึ่งเป็นเรื่องของสมองและการอธิบายในเชิงวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต

          ผมค่อนข้างสนใจสิ่งมีชีวิตตัวเล็กๆ ที่มองไม่เห็น เพราะผมคิดว่าชีวิตคนมันแคบเกินไป คือตื่นเช้ามาคิดแค่ว่า วันนี้จะกินอะไร ครอบครัวเราเป็นยังไง ไปทำงานอะไร หาเงินได้เท่าไหร่ กลับมาบ้านอาจจะดูเกมโชว์บ้างแล้วก็จบวัน

          แต่ถ้าเรามองกลับไปยังจุดเล็กๆ ที่ต้องใช้กล้องจุลทรรศน์ แล้วค่อยๆ ถอยตัวเองออกมายืนมองมุมสูง เราจะเห็นว่าจักรวาลมีรายละเอียดอีกเยอะและสรรพสิ่งทุกระดับเชื่อมถึงกันทั้งหมด ตั้งแต่อะตอม โมเลกุล เซลล์ สิ่งมีชีวิตเล็กๆ แม้กระทั่งร่างกายเรา ใหญ่ออกมาเป็นระบบนิเวศ จักรวาล หรือเอกภพ ผมชอบเรื่องราวที่อยู่ในวิทยาศาสตร์ ซึ่งมีเรื่องมันๆ สนุกๆ อยู่เยอะ ทั้งเรื่องชีวิตสัตว์ สมอง และความรับรู้ของคนเรา

บรรยากาศการเรียนรู้เรื่องวิทยาศาสตร์ในต่างประเทศแตกต่างจากเมืองไทยอย่างไร

          ที่เมืองนอก วิทยาศาสตร์เป็นสิ่งที่อยู่ในสังคมทั่วไปนะครับ เปิดทีวีมาก็เจอ อ่านหนังสือก็เจอ ฟังวิทยุก็เจอ เวลาเข้าไปในร้านหนังสือ หนังสือหัวข้อวิทยาศาสตร์จะไม่ได้ถูกจัดไว้ในแผนกติวเข้ามหาวิทยาลัย แต่จะเป็นหนังสืออ่านเล่นแบบ Popular Science ซึ่งใครๆ ก็อ่านได้ การได้ดูสารคดีวิทยาศาสตร์สักเรื่อง หรืออ่านหนังสือวิทยาศาสตร์สักเล่ม สามารถมอบสุนทรียภาพเหมือนได้ดูหนังหรือฟังเพลง วิทยาศาสตร์เป็นเรื่องที่สามารถผสมระหว่างความจริงจังกับความบันเทิงในชีวิต

          ส่วนในเมืองไทย วิทยาศาสตร์อาจเป็นเรื่องของเด็กไปเลย อย่างเช่นระบายสีไดโนเสาร์ ส่วนอีกระดับหนึ่งก็คือเด็กที่จะเตรียมสอบ พอเรียนจบแล้วก็คือจบ อาจไม่อยากรู้เรื่องวิทยาศาสตร์อีก ส่วนหนังสือวิทยาศาสตร์ก็มักจะเป็นเรื่องซีเรียสมีสมการเยอะแยะเต็มไปหมด คือเป็นตำรา ไม่ใช่หนังสืออ่านเล่น

จับพลัดจับผลูกลายมาเป็นนักเขียนได้อย่างไร

          ตอนผมกลับมาเมืองไทยก็ไม่ได้วางแผนว่าจะมาเขียนหนังสือ ความตั้งใจแรกคืออยากจะเล่าหรือถ่ายทอดเรื่องวิทยาศาสตร์ เริ่มจากเป็นครูสอนพิเศษ และต่อมาได้เป็นครูสอนชีววิทยาระดับ ม.ปลาย ที่โรงเรียนอัสสัมชัญศึกษา ผมสนุกกับการสอนจนคิดว่าอยากจะสื่อสารกับนักเรียนด้วยวิธีสนุกๆ เลยเขียนเป็นไดอารี่ออนไลน์ บันทึกความคิด ชีวิต และประสบการณ์ต่างๆ สมัยนั้นเขียนทีหนึ่งประมาณ 10 หน้า มีฮาบ้างดราม่าบ้างปนกัน นักเรียนก็อ่านและแลกเปลี่ยนความคิดกันจริงจัง แต่ถ้าเป็นสมัยนี้เวลาเขียนอะไรมักจะยาวไม่เกินครึ่งหน้า เพราะส่วนใหญ่เราสื่อสารกันผ่านเฟซบุ๊ก

          สำนักพิมพ์ระหว่างบรรทัดเข้ามาเห็นไดอารี่ออนไลน์ จึงขอต้นฉบับไปตีพิมพ์เป็นหนังสือเล่มแรก ชื่อ “โลกนี้มันช่างยีสต์” พอวางแผงปั๊บ นิตยสารอะเดย์ก็มาทาบทามให้เขียนคอลัมน์ลง แล้วก็ยังมีโอเพ่นบุ๊คส์อีกรายหนึ่ง ตอนแรกที่เขียนไดอารี่นั้นผมยังมองไม่ค่อยออกว่าจะเน้นเรื่องอะไร แต่พอมีคนมาชวนให้เขียนและให้ตั้งโจทย์เอง ก็เลยเริ่มชัดเจนว่าอยากจะเขียนเรื่องวิทยาศาสตร์

 ทำไมจึงคิดว่าวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องสำคัญสำหรับชีวิตมนุษย์

          จริงๆ สิ่งสำคัญสำหรับชีวิตมนุษย์เป็นเรื่องของปัจจัย 4 นะครับ บางทีแค่หาให้ครบ มีบ้านอยู่ มีสุขภาพดี มีความเป็นอยู่ที่สุขสบาย ก็หมดไปทั้งชีวิตแล้ว แต่ว่าถ้าบางช่วงขณะของวัน เราสามารถหลุดไปมองโลกความจริงที่ทั้งพิสดาร สนุก ลึกซึ้ง และยิ่งใหญ่ด้วย ผมว่าอันนี้คือเสน่ห์ของวิทยาศาสตร์

          ผมเคยนั่งเขียนเกี่ยวกับคุณค่าของวิทยาศาสตร์ซึ่งน่าจะมี 5 ด้าน เป็นไดอะแกรมรูปห้าเหลี่ยม เหลี่ยมที่หนึ่งคือเรื่อง การอธิบายในเชิงอภิปรัชญา อาจจะเป็นการตั้งคำถามตรงๆ ประเภทที่ว่า เราคือใคร เรามาจากไหน เราจะไปไหนต่อ หรือชีวิตคืออะไร กาลเวลาคืออะไร เอกภพมีขอบเขตแค่ไหน เราเกิดมาทำไม

          ในขณะที่ผมอาจจะชอบศึกษาเรื่องวิทยาศาสตร์แบบสนุกพิสดาร เช่น ดอกไม้บางอย่างทำไมถึงมีกลิ่นเหม็น หรือรู้หรือไม่ว่าอวัยวะเพศของเป็ดสามารถหมุนเป็นเกลียวได้ คือเอามาเล่าแล้วมันฮาดี แต่สุดท้ายมันนำไปสู่คำถามว่าทำไมมันถึงเป็นเช่นนั้น ซึ่งมีคำตอบที่ลึกซึ้งไปจนถึงเรื่องการดีไซน์ชีวิต คือเรื่องของทฤษฎีวิวัฒนาการ เรื่องการคัดเลือกทางธรรมชาติ และเรื่องพันธุศาสตร์

          วิทยาศาสตร์คือวิธีคิดเพื่อหาคำตอบ คาร์ล เซแกน (Carl Sagan) หนึ่งในนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจของผม กล่าวไว้ว่า “จริงๆ แล้ววิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์ไม่ใช่อะไรหรอก มันเป็นศิลปะป้องกันตัวจากการด่วนสรุป” คือมนุษย์ตั้งคำถามช่างสงสัยไปหมด แต่เวลาจะหาคำตอบมักลำเอียงและด่วนสรุป เช่น ถ้า A เกิดขึ้นก่อน B ก็ไม่จำเป็นว่า A ต้องเป็นสาเหตุของ B

          วิทยาศาสตร์จะตั้งคำถามจนกว่าการพิสูจน์จะมีความรัดกุม ถ้าคนรุ่นหลังบอกว่าคนรุ่นก่อนยังคิดรัดกุมไม่พอ ก็จะคิดให้รัดกุมขึ้นอีกจนกลายเป็นกรอบคิดวิธีคิดทางวิทยาศาสตร์ที่มีประสิทธิภาพมากพอที่จะสกัดความเข้าใจผิดออกไป

          คุณค่าของวิทยาศาสตร์ในเหลี่ยมที่สองของผมคือ กระบวนการคิดอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ช่วยเรียงลำดับความน่าจะเป็น เช่น ถ้าผมซื้อขนมจีบมาใส่ไว้ในตู้เย็น แล้วขนมจีบหายไป ก่อนที่ผมจะบอกว่ามีเทพเจ้าขนมจีบมารับไปกิน  ผมอาจจะสงสัยน้องของผมก่อนว่า อาจจะกลับบ้านมาตอนดึกแล้วหิว เลยเปิดตู้เย็นเอาขนมจีบไปกิน แต่ยังไม่ด่วนสรุป ต้องเรียงลำดับความเป็นไปได้ก่อนแล้วดูหลักฐานประกอบ เช่นถ้าเจอลายนิ้วมือจึงค่อยมั่นใจว่ามันเป็นแบบนี้

          บางคนอย่างเช่นตัวผมอาจจะสนใจวิทยาศาสตร์แบบจริงจัง คือผมจะหงุดหงิดถ้าเจาะไปไม่ถึงสิ่งที่เหมือนจะจริงที่สุด ขณะที่บางคนอาจจะไม่ได้สนใจความจริงอะไรขนาดนั้น แต่อย่างน้อยวิทยาศาสตร์สามารถเป็นวัคซีนที่ป้องกันคุณ ไม่ต้องเสียเงินเสียเวลาเสียประโยชน์ไปกับความเชื่อหรือสิ่งที่ไม่เป็นจริง แล้วสุดท้ายความเชื่อเหล่านั้นก็ไม่ได้นำพาชีวิตไปไหน นี่เป็นคุณค่าในเหลี่ยมที่สามคือการนำวิทยาศาสตร์มาใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันหากวิทยาศาสตร์แทรกซึมอยู่ในวิธีคิดของคน ก็จะทำให้มีสติรู้ตัวว่าเราได้คิดอีกแบบหนึ่งอย่างรอบคอบแล้วหรือยัง

          เหลี่ยมที่สี่คือ การเข้าใจวิทยาศาสตร์คือการศึกษาประวัติศาสตร์ความคิดมนุษย์ ตั้งแต่สมัยเพลโตเรื่อยมา แต่ละสิ่งมันมีประวัติความเป็นมาที่ชวนให้เราไปทำความเข้าใจ อย่างในฝั่งตะวันออกก็มีทั้งจีน อินเดีย หรือแม้กระทั่งอาหรับ ซึ่งเป็นผู้นำด้านวิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ คณิตศาสตร์ ขณะที่สังคมตะวันตกมีการปฏิวัติทางความคิดในประวัติศาสตร์หลายระลอกจนกลายเป็นคำว่า ‘วิทยาศาสตร์’ หรือ ‘วิทยาการ’ ซึ่งเป็นแก่นหลักที่นำพาสังคมมาตลอดนับร้อยปี

 อะไรเป็นปัจจัยให้สังคมตะวันตกมีความคิดแบบวิทยาศาสตร์ ส่วนสังคมไทยยังไม่ค่อยคิดอย่างเป็นวิทยาศาสตร์

          เวลาเราพูดถึงเมืองนอก เราหมายถึงประเทศตะวันตกที่พูดภาษาอังกฤษ ซึ่งใหญ่โตมาก ถามว่าเขาเป็นโคตรวิทยาศาสตร์ทั้งประเทศเลยหรือไม่ ก็ต้องตอบว่าไม่ เขายังมีความเชื่อเรื่องแปลกๆ มีการปฏิเสธวิทยาศาสตร์ บางกลุ่มก็ยึดติดในคำสอนของศาสนา

          เราอย่าไปแบ่งว่าเมืองนอกเจริญแล้ว สังคมเขามีทั้งกลุ่มที่เข้าใจวิทยาศาสตร์และไม่เข้าใจวิทยาศาสตร์มากพอๆ กัน โจทย์เขาไม่ต่างกับบ้านเรา นักวิทยาศาสตร์ของเขาก็ต้องต่อสู้เพื่อให้คนเข้าใจวิทยาศาสตร์เหมือนกัน เพียงแต่พอมีความเคลื่อนไหวด้านวิทยาศาสตร์ขึ้นมา เขาสื่อสารด้วยภาษาเดียวกัน ทำให้มีคนรับรู้และสนใจจำนวนมากจนดูเหมือนเป็นพลังก้อนใหญ่

          ในขณะที่สังคมไทยไม่ค่อยมีหรืออาจมีไม่ชัดเจนในด้านการล้มล้างความคิดหรือความเชื่อเก่าๆ แล้วพยายามคิดให้เป็นไปในทางวิทยาศาสตร์ แน่นอนว่าปัจจัยทางวัฒนธรรมอย่างเช่นวัฒนธรรมที่ต้องเชื่อฟังผู้ใหญ่เป็นอุปสรรคต่อการคิดอย่างเป็นวิทยาศาสตร์

          ผมคิดว่าวิทยาศาสตร์ควรจะเถียงกันเยอะๆ แต่เถียงแล้วต้องไม่เก็บมาเป็นอารมณ์ เถียงกันได้แต่ไม่ใช่ด่ากัน หมายความว่า เอาไอเดียมาถกกันว่าแนวคิดของอีกฝ่ายหนึ่งยังไม่รัดกุมรอบคอบตรงไหนบ้าง เราควรมีวัฒนธรรมที่เปิดพื้นที่ให้โต้เถียงกันได้โดยทุกอย่างดำเนินไปอย่างสุภาพและเป็นปัญญาชน

          ในสังคมไทยเวลาเถียงกันถ้าไม่ทะเลาะกันไปเลย ก็จะประนีประนอมจนกลายเป็นว่าเราอย่ามาเถียงกันเลย มันก็สุดขั้วไปสองทาง แต่ถ้าเถียงกันแบบมีกฎกติกาเพื่อหาข้อสรุป ข้อสรุปนั้นก็นำให้สังคมก้าวหน้าไปทีละขั้นได้

พฤติกรรมความคิดความเชื่อของคนไทยจำนวนหนึ่งอาจดูไม่ค่อยเป็นวิทยาศาสตร์ ในฐานะที่คุณเรียนมาทางสายวิทยาศาสตร์และเป็นนักสื่อสารวิทยาศาสตร์มองเรื่องนี้อย่างไร

          ต้องบอกว่าผมอยู่ในตระกูลเดียวกับริชาร์ด ดอว์กินส์ (Richard Dawkins) ผมแคร์เรื่องความจริงมากที่สุด สมมุติมีคนบอกว่า เขาเชื่อเรื่องโลกแบนซึ่งถึงแม้ว่าความเชื่อนี้ไม่ได้ไปทำร้ายใคร ผมจะเคลียร์ใจตัวเองก่อนว่า ผมไม่เชื่อว่าโลกแบน และผมอยากพิสูจน์ให้เขาเห็นว่าความจริงแล้วโลกแบนหรือกลมกันแน่

          เรื่องวิญญาณ นรก สวรรค์ มีจริงหรือไม่มี คำถามพวกนี้เป็นปริศนาเทียมและไม่ใช่เรื่องที่น่ารู้จริงๆ หรอก เพราะในเอกภพนี้มีเรื่องน่ารู้ที่เรายังไม่รู้อีกตั้ง 94 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งมันยิ่งใหญ่และมีความหมายมากต่อมนุษย์ แต่ถึงอย่างนั้นผมก็ยังแคร์คนที่เชื่อว่าโลกแบนอยู่ดี ผมอยากทำให้เขาเชื่อและเข้าใจว่าโลกกลม เพราะนั่นคือความจริง

          บางคนอาจจะบอกว่า ถ้าผมให้ความสำคัญกับความจริง แล้วทำไมผมยังชอบการ์ตูนของมาร์เวล ชอบแฮร์รี่ พอตเตอร์ ทั้งที่มันไม่ได้เป็นเรื่องจริง ประเด็นก็คือผมให้ความสำคัญกับการแยกแยะความจริงและเรื่องแฟนตาซี หรือความหมายในเชิงสัญลักษณ์ ผมรู้ว่าเรื่องแฟนตาซีมีไว้เพื่อตอบสนองอะไรในใจ ก็จะไม่เอามาปนกับความจริง

          หรืออย่างเช่นถ้าผมเข้าไปประกอบพิธีกรรมทางศาสนา มีเสียงสวดมนต์กังวานมีกลิ่นธูปลอยมา ซึ่งทำให้ผมรู้สึกสงบและมองว่าเป็นสัญลักษณ์ที่ดีต่อใจเราเอง แต่ผมก็ไม่ได้คิดว่าควันธูปนี้จะนำดวงวิญญาณใครขึ้นไปบนสวรรค์ การสามารถแยกแยะจะทำให้เราอยู่กับข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ได้ ในขณะเดียวกันก็ยังคงมีความเป็นมนุษย์อยู่

ถ้าอยากให้โลกนี้ดีขึ้น การ ‘คิดแบบวิทยศาสตร์’ หรือ ‘คิดแบบมโน’ แบบไหนจะช่วยให้โลกน่าอยู่มากกว่ากัน

           ต้องตอบว่าทั้งสองอย่าง เพราะวิทยาศาสตร์กับมโนมันไปด้วยกัน ทุกอย่างในโลกนี้เกิดจากการมโนขึ้นมาทั้งหมด ถ้าคิดอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ก็ต้องมโน แล้วนำไปทดสอบและเลือกเก็บเอาไว้เฉพาะสิ่งที่ทดสอบผ่าน ไม่ว่าจะเป็นนิวตัน กาลิเลโอ หรือไอน์สไตน์ก็ต้องมโนก่อน ซึ่งไม่ใช่มโนแบบแยกขาดจากองค์ความรู้ทั้งหมดทั้งมวล เราต้องศึกษาองค์ความรู้เดิมก่อน เพื่อที่จะสามารถคิดต่อยอดหรือคิดหักล้างความรู้เก่า

          แต่ถ้าเป็นเรื่องลัทธิหรือแม้กระทั่งศาสนา ความคิดอาจไม่ต้องผ่านการทดสอบอะไรก็ได้ คือเน้นที่ศรัทธาหรือความเชื่อโบราณ อะไรที่อยู่มานานก็ต้องรักษามันต่อไป คำพูดที่มาจากศาสดาเราก็ต้องเชื่อสิ เขาจะผิดได้ยังไง แบบนี้ไม่เรียกว่าคิดแบบวิทยาศาสตร์

          ส่วนศิลปะอาจจะเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ชีวิตผมคงอยู่ไม่ได้ถ้าไม่มีศิลปะ ไม่ต้องเป็นศิลปะขั้นสูง แค่ขาดหนัง ซีรี่ส์หรือการ์ตูน ผมก็อยู่ไม่ได้แล้วเพราะมันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ศิลปะสอนให้เรารู้ว่าการมโนสามารถสะท้อนความจริงได้ คนเราเกิดมามีชีวิตเดียว แต่การเสพหนังหรือเสพนิยายสักเรื่อง เราสามารถรับรู้เรื่องราวหรือมุมมองผ่านตัวละครต่างๆ ได้หลากหลายชีวิต ซึ่งเรื่องราวดราม่าเหล่านั้นก็นำมาจากเรื่องของคนที่อยู่ในโลกของความเป็นจริง

          การจินตนาการเป็นเรื่องสนุกครับ ไม่จำเป็นต้องสำคัญอะไรก็ได้ ถ้าคุณตระหนักว่าไม่ใช่ทุกสิ่งที่ต้องมีประโยชน์เสมอไป คุณจะเริ่มก้าวข้ามไปสู่อะไรบางอย่างที่มันลึกซึ้งขึ้น

อยากจะฝากอะไรถึงคนที่กำลังสนใจวิทยาศาสตร์ รวมทั้งคนที่ยังไม่สนใจวิทยาศาสตร์ บ้างหรือไม่

          สิ่งที่ผมอยากจะฝาก เป็นคุณค่าของวิทยาศาสตร์ในเหลี่ยมที่ห้าพอดีครับ คือโลกนี้เต็มไปด้วยปัญหา และวิทยาศาสตร์ช่วยแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ จริงๆ ทุกยุคก็มีปัญหา แต่ปัญหาในยุคของพวกเรามีลักษณะที่เฉพาะตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องสิ่งแวดล้อม พลังงาน และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change) ทุกวันนี้ยังมีคนกังขาว่าเรื่องนี้ไม่เป็นความจริง แม้แต่โดนัลด์ ทรัมป์ นักวิทยาศาสตร์ก็ต้องต่อสู้กับความเข้าใจผิดเหล่านี้ เพื่อให้ทุกคนเห็นพ้องต้องกันและร่วมมือกันแก้ไข

          คนที่ค้นพบปัญหาคือนักวิทยาศาสตร์ คนที่คิดค้นเทคโนโลยีเพื่อแก้ปัญหาก็คือนักวิทยาศาสตร์ หน้าที่ของคนที่ไม่ได้เป็นนักวิทยาศาสตร์ก็คือ ช่วยเชียร์เขาหน่อย ติดตามว่าเขาคิดอะไรอยู่ เพราะฉะนั้นจึงต้องมีนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ เป็นคนตรงกลางที่คอยอธิบายความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นให้เข้าใจง่าย เพื่อให้สังคมพร้อมจะส่งกำลังใจและบอกให้รัฐบาลสนับสนุน หรือส่งเสริมให้เยาวชนเรียนวิทยาศาสตร์ คิดอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ เพื่อนำความรู้มาช่วยแก้ไขปัญหาของมนุษยชาติ


เผยแพร่ครั้งแรก กุมภาพันธ์ 2561
พิมพ์รวมเล่มในหนังสือ กล่อง (2561)

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก