เมืองไถหนานเป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมายาวนาน ตั้งแต่ช่วงการค้าขายทางทะเลของชาวยุโรป ในศตวรรษที่ 17 ผ่านช่วงการปกครองของราชวงศ์ชิง และการตั้งถิ่นฐานของญี่ปุ่นในช่วงต้นทศวรรษ 1900 ทำให้มีมิติของวัฒนธรรม ผู้คน และประเพณีที่หลอมรวมกันอย่างหลากหลาย ปัจจุบันเมืองไถหนานกำลังพัฒนาเป็นเมืองศูนย์กลางในระบบเศรษฐกิจฐานความรู้ โดยมีห้องสมุดประชาชนไถหนาน ซึ่งได้รับการปรับปรุงใหม่เป็นหมุดหมายสำคัญ
ห้องสมุดประชาชนเมืองไถหนาน สาขาหลัก (Tainan Public Library) ถือเป็นห้องสมุดประชาชนที่เก่าแก่เป็นอันดับ 2 ของไต้หวัน เปิดให้บริการตั้งแต่ ค.ศ.1919 โดยอาคารห้องสมุดแห่งใหม่ ย้ายจากบริเวณใจกลางเมืองมายังย่านใหม่ในเขตหย่งคัง ซึ่งคาดว่าจะช่วยส่งเสริมการพัฒนาและความมีชีวิตชีวาให้แก่บริเวณโดยรอบ ห้องสมุดแห่งใหม่นี้มีขนาดใหญ่กว่าอาคารเดิมถึง 3 เท่า มีทุนสร้างประมาณ 1.93 พันล้านดอลลาร์ไต้หวัน (ราว 67.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ใช้เวลาดำเนินการถึง 5 ปี และเปิดให้บริการแล้วตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม 2020
อารามแห่งปัญญา สถาปัตยกรรมจากอัตลักษณ์ท้องถิ่น
ห้องสมุดแห่งนี้มีพื้นที่รวมกว่า 37,000 ตารางเมตร ประกอบด้วยชั้นเหนือพื้นดิน 6 ชั้น และชั้นใต้ดิน 2 ชั้น ได้รับการออกแบบโดยบริษัทสถาปนิกชั้นนำ Meccanoo ซึ่งมีประสบการณ์ออกแบบอาคารสาธารณะและห้องสมุดที่มีชื่อเสียงหลายแห่งทั่วโลก ร่วมกับ MAYU บริษัทออกแบบจากไต้หวัน ตัวอาคารมีรูปทรงสี่เหลี่ยม ซ้อนกันเป็นขั้นบันไดคล้ายพีระมิดกลับหัว มีเสาสีขาวเรียวสูงช่วยรับน้ำหนักโดยรอบ ร่วมกับเส้นสายโลหะที่ประดับบานหน้าต่างในแนวตั้ง ให้ความรู้สึกเหมือนแนวทิวไผ่ที่ดูเรียบง่ายและทันสมัย ผนังด้านนอกของอาคารชั้นบนหุ้มด้วยแผ่นโลหะสีแชมเปญฉลุลาย ช่วยให้ภาพรวมอาคารทั้งหมดดูโดดเด่นสะดุดตา
แนวคิดในการออกแบบห้องสมุดแห่งนี้ เกิดจากความตั้งใจผสมผสานอัตลักษณ์ท้องถิ่นเข้ากับการออกแบบที่ทันสมัย รูปแบบอาคารทรงเรขาคณิตที่เรียบง่าย ได้รับแรงบันดาลใจจากรูปทรงของสถาปัตยกรรมทางศาสนาเก่าแก่ในเมือง และเนื่องจากเมืองไถหนานตั้งอยู่ทางตอนใต้ของเกาะไต้หวัน ซึ่งมีสภาพอากาศร้อนชื้น และฝนตกชุก ทีมงานจึงออกแบบพื้นที่ส่วนบนของอาคารให้มีขนาดใหญ่และยื่นยาวออกมา ทำหน้าที่เป็นเสมือนชายคาช่วยบังแดดและฝน สร้างร่มเงาให้ตัวอาคาร ขณะเดียวกันก็ทำให้มีพื้นที่อเนกประสงค์บริเวณชั้นล่างและชั้นใต้ดิน สามารถใช้งานได้หลากรูปแบบโดยไม่ต้องกังวลกับสภาพอากาศ ตั้งแต่กิจกรรมกลางแจ้ง เช่น การจัดเวทีเสวนา คอนเสิร์ต นิทรรศการต่างๆ รวมถึงเป็นสนามเด็กเล่นที่เชื่อมต่อกับโซนห้องสมุดเด็ก
สำหรับวัสดุภายนอกอาคาร (facade) ของชั้นบนสุด ซึ่งเป็นส่วนที่รับแสงแดดโดยตรง นักออกแบบเลือกปิดพื้นผิวโดยรอบด้วยระแนงโลหะแนวตั้ง แทรกลวดลายดอกไม้ ดัดแปลงมาจากบานหน้าต่างไม้แกะสลักของบ้านเก่าในไถหนาน ช่วยกรองแสงแดดได้ดีในช่วงเวลากลางวัน และสะท้อนแสงไฟในเวลากลางคืน “เราต้องการสอดแทรกเรื่องราวเล็กๆ น้อยๆ ลงไปบนเปลือกภายนอกอาคาร บางสิ่งบางอย่างที่มีความหมายต่อผู้คนในพื้นที่” Rodrigo Louro ดีไซเนอร์ของบริษัท Mecanoo กล่าวถึงแนวคิดเบื้องหลังการออกแบบ พร้อมเสริมว่า นอกจากการสอดแทรกความหมายที่เชื่อมโยงกับเรื่องราวของท้องถิ่นแล้ว ยังคำนึงถึงการใช้ฟังก์ชันการใช้งานที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ด้วย
ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ และหอศิลป์
เมื่อเข้าสู่ภายในห้องสมุด บริเวณโถงกลางซึ่งเปิดโล่งตั้งแต่ชั้น 1-3 ผู้ใช้บริการจะได้พบกับผลงานศิลปะอันน่าทึ่ง คือผลงาน Gust of Wind ของศิลปิน Paul Cocksedge เป็นชิ้นส่วนประติมากรรมที่ห้อยลอยตัวลงมาจากเพดาน ดูเหมือนกระดาษที่ปลิวไหวตามสายลม เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของเสรีภาพทางความคิดและความสุขในการอ่าน
นอกจากผลงานชิ้นนี้ ยังมีการจัดแสดงผลงานศิลปะตามพื้นที่ต่างๆ ทั่วทั้งอาคาร ทั้งงานศิลปะแบบดั้งเดิมจนถึงงานแบบอินเทอร์แอคทีฟ อีกหนึ่งจุดเด่นคือบันไดสีแดงสดที่เชื่อมต่อแต่ละชั้น ทำหน้าที่เสมือนงานประติมากรรมอีกชิ้นที่ช่วยแต่งแต้มสีสันให้ห้องสมุด เป็นหนึ่งในจุดถ่ายภาพยอดนิยม
ในส่วนของสื่อสารสนเทศต่างๆ ห้องสมุดประชาชนไถหนานแห่งนี้ เรียกได้ว่าเป็นคลังข้อมูลสารสนเทศที่ครบครัน ครอบคลุมตั้งแต่หนังสือ ภาพยนตร์ ดนตรี และศิลปะสมัยใหม่ มีหนังสือกว่า 600,000 เล่ม รวมทั้งหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ หนังสือสำหรับผู้พิการทางสายตา และหนังสือที่ได้รับการประพันธ์ขึ้นในช่วงที่ไต้หวันอยู่ภายใต้การปกครองของญี่ปุ่นอกีราว 16,000 เล่ม มีงานนิทรรศการและผลงานศิลปะผลัดเปลี่ยนกันมาจัดแสดงเป็นระยะ
บริเวณชั้นใต้ดิน เป็นส่วนของห้องสมุดเด็ก และห้องเรียนทำอาหารที่มีตั้งแต่ตำราสูตรอาหาร ไปจนถึงอุปกรณ์งานครัว เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้และเผยแพร่วัฒนธรรมของไต้หวันผ่านอาหาร ถัดมาบริเวณชั้น 1 มีจุดบริการยืม-คืน พื้นที่สำหรับอ่านหนังสือและทำงานที่เปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง โซนแนะนำหนังสือใหม่ พื้นที่จัดแสดงนิทรรศการ โซนหนังสือพิมพ์ และมุมผู้สูงวัย
ส่วนชั้น 2 เป็นโซนเยาวชน มีส่วนของห้องสมุดมังงะ ส่วนบริการอินเทอร์เน็ตและห้องสมุดมัลติมีเดีย มีที่นั่งชมภาพยนตร์แบบส่วนตัว บริการเครื่องพิมพ์ 3 มิติ รวมถึง Maker space ที่มีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ไว้ให้บริการ มีห้องสำหรับผู้พิการทางสายตา ซึ่งรวบรวมหนังสืออักษรเบรลล์และหนังสือเสียงไว้ให้บริการ
ชั้นถัดมาเป็นส่วนของห้องสมุด มีหนังสือจัดเรียงตามหมวดต่างๆ มีห้องเรียนงานฝีมือ เช่น การตัดเย็บ การถ่ายภาพ นอกจากนี้ยังมีห้องหอเกียรติยศแห่งไถหนาน จัดแสดงนิทรรศการโดยใช้สื่อผสม (Interactive Multimedia) ถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ของเมืองไถหนาน นอกจากนี้ยังมีโซนร้านกาแฟและร้านหนังสือ โดยถือเป็นห้องสมุดแห่งแรกในไต้หวันที่มีร้านหนังสือภายในห้องสมุดอีกด้วย ส่วนชั้นบนสุดมีห้องเวิร์กชอป โรงละครขนาด 324 ที่นั่ง ห้องประชุม 123 ที่นั่ง รวมถึงห้องนิทรรศการ มีระเบียงด้านนอกที่สามารถออกไปชมทัศนียภาพโดยรอบของเมืองได้
ห้องสมุดแห่งนี้นิยามตนเองว่าเป็นพื้นที่สาธารณะที่ให้บริการแบบครบวงจร ตั้งแต่ศูนย์รวมวิถีชีวิตและการพักผ่อน ศูนย์การเรียนรู้ดิจิทัล ศูนย์ทรัพยากรหนังสือ ศูนย์ทรัพยากรการวิจัย ศูนย์ทรัพยากรด้านวัฒนธรรม เหนืออื่นใดคือเป็นพื้นที่อ่านหนังสือที่เป็นมิตรสำหรับคนทุกเพศทุกวัย
ใส่ใจในรายละเอียดเล็กๆ เพื่อการเรียนรู้ของผู้คนทุกช่วงวัย
สิ่งหนึ่งที่ห้องสมุดไถหนานให้ความสำคัญ คือการส่งเสริมและเข้าถึงการเรียนรู้ โดยคำนึงถึงความต้องการและความเหมาะสมของผู้คนทุกช่วงวัย ไล่ตั้งแต่เด็กเล็ก อายุ 0-5 ขวบ มีสนามเด็กเล่นเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาทักษะเฉพาะทาง เป็นพื้นที่การเรียนรู้ผ่านสัมผัส 5 ประการคือ ‘พูด ร้องเพลง อ่าน เขียน เล่น’ ส่วนห้องสมุดเด็ก ได้รับการออกแบบให้มีรูปลักษณ์และสีสันสดใส รวบรวมหนังสือเด็กหมวดต่างๆ โดยติดสัญลักษณ์กราฟิกที่เข้าใจง่ายไว้ เพื่อให้เด็กๆ สามารถระบุและค้นหาหนังสือด้วยตนเองได้ง่ายขึ้น มีอาสาสมัครมาช่วยเล่านิทานให้ฟังในช่วงวันหยุด มีห้องโสตทัศน์และอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ส่วนตัวสำหรับชมการ์ตูนหรือภาพยนตร์ รวมถึงเครื่องบริการยืม-คืนที่ออกแบบให้ใช้งานง่าย เด็กๆ สามารถทำการยืมคืนหนังสือที่พวกเขาชอบได้ด้วยตนเอง
สำหรับเด็กโต วัยรุ่น และวัยทำงาน มีห้องสมุดมังงะ ที่รวบรวมรวมมังงะชื่อดังไว้โดยเฉพาะ มีห้องทำงานแบบกลุ่มที่จองใช้ได้ครั้งละ 2 ชั่วโมง ตอบโจทย์นักเรียนนักศึกษาที่ต้องการทำรายงาน เรียนกลุ่มย่อย หรือคนทำงานที่มองหาห้องประชุมขนาดเล็ก มีพื้นที่อ่านหนังสือหลากหลายรูปแบบ ทั้งมุมที่เงียบสงบ โซฟานุ่มสบายที่ติดตั้งอุปกรณ์ชาร์จโทรศัพท์ไร้สาย หรือโต๊ะตัวใหญ่ที่นั่งร่วมกันหลายคนได้ โดยทุกพื้นที่ปลั๊กไฟให้บริการอย่างเพียงพอ
ในส่วนของผู้สูงอายุ ห้องสมุดได้จัดเตรียมมุมสำหรับผู้สูงวัย มีหนังสือเกี่ยวกับสุขภาพและการดูแลตนเอง มีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้อย่างการบรรยายในหัวข้อต่างๆ หรือการฉายภาพยนตร์ มีพื้นที่อ่านหนังสือพิมพ์และนิตยสารที่โอ่โถง พร้อมด้วยเครื่องอ่านหนังสือพิมพ์และนิตยสารอิเล็กทรอนิกส์ มีเครื่องวัดความดัน ชุดหมากรุก ไว้คอยให้บริการ เพื่อให้ผู้สูงอายุได้เพลิดเพลินกับกิจกรรมและผองเพื่อนในยามว่าง
นอกจากนี้ หากผู้ใช้บริการลืมนำบัตรห้องสมุดมา ก็สามารถใช้บัตรประชาชนในการยืมคืนหนังสือ หรือลงทะเบียนใช้งานส่วนต่างๆ ในห้องสมุดได้เช่นเดียวกัน
รายละเอียดของการออกแบบพื้นที่และการให้บริการดังที่กล่าวมา คือผลลัพธ์จากการคิดและวางแผนอย่างเป็นระบบ เพื่ออำนวยความสะดวกและสร้างประสบการณ์ที่ดีแก่ผู้ใช้บริการทุกคน ตามความตั้งใจของทีมออกแบบที่มองว่า ห้องสมุดไม่ได้เป็นเพียงสถานที่สำหรับเก็บหนังสือเท่านั้น แต่เป็นสถานที่ที่มีบทบาททางสังคม เป็นสถานที่ที่ผู้คนได้มาพบปะ เรียนรู้ และแบ่งปันประสบการณ์กัน
เมืองวรรณกรรม และศูนย์กลางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจความรู้
ตลอดหลายปีที่ผ่านมา เมืองไถหนาน ดำเนินนโยบายเพื่อปลูกฝังและสร้างเมืองแห่งการอ่านมาโดยตลอด โดยในปี 2016 ชาวไถหนานยืมหนังสือจากห้องสมุดมากเป็นอันดับ 2 ของไต้หวัน ทั้งนี้ เทศบาลเมืองมีการลงทุนกว่า 100 ล้านดอลลาร์ไต้หวัน เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่มีคุณภาพเพื่อส่งเสริมการอ่าน ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงห้องสมุดในโรงเรียนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา รวมถึงห้องสมุดประชาชนหลายแห่ง ร่วมกับการพัฒนากลยุทธ์ จัดการทรัพยากร สร้างระบบเชื่อมต่อของห้องสมุดประชาชนทั่วทั้งเมือง ตลอดจนการฝึกอบรมวิชาชีพสำหรับบรรณารักษ์ ปัจจุบันมีห้องสมุดประชาชน ศูนย์ศิลปะวัฒนธรรม และรถบริการห้องสมุดเคลื่อนที่ รวมแล้วกว่า 45 สาขา ภายใต้การกำกับดูแลของเทศบาลเมือง
นอกจากนี้ เมืองไถหนานยังเป็นที่ตั้งของหอสมุดกลางและหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ไต้หวัน สาขาภาคใต้ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2023 โดยจะเป็นศูนย์การเรียนรู้ขนาดใหญ่ที่สร้างขึ้นภายใต้แนวคิด ‘Library as a Town’ เป็นแหล่งที่รวบรวมห้องสมุด หอจดหมายเหตุ ศูนย์พัฒนาวิชาชีพ ศูนย์อนุรักษ์ โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาผสมผสาน เพื่อสร้างโอกาสในการเรียนรู้แบบครบวงจร
จากโครงการต่างๆ ที่ไล่เรียงมา ทำให้ไถหนานกลายเป็นเมืองวรรณกรรมแห่งใหม่ที่น่าจับตา ขณะเดียวกันก็เป็นตัวอย่างที่ดีของการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศในรุดหน้าของโดยมีหัวใจคือการพัฒนาทรัพยากรที่ส่งเสริมการเรียนรู้
ที่มา
Taiwan News. Taiwan’s Tainan celebrates grand opening of main library.
Futurarc. Taiwan National Library Southern Branch & National Repository Library.
Mecanoo. Tainan Public Library.
gb&d. Tainan Public Library Shows the Art of the Modern Library.
Mimitravel. Tainan’s new landmark.