The KOMMON
TK Park website
No Result
View All Result
The KOMMON
TK Park website
No Result
View All Result
The KOMMON
No Result
View All Result
 
Read
Common VIEW
สุวิทย์ ขาวปลอด : ชีวิตนักแปลที่มีนักอ่านคอยโอบอุ้ม
Common VIEW
  • Common VIEW

สุวิทย์ ขาวปลอด : ชีวิตนักแปลที่มีนักอ่านคอยโอบอุ้ม

135 views

 7 mins

3 MINS

January 12, 2023

Last updated - January 25, 2023

          เป็นเวลากว่า 40 ปี ‘สุวิทย์ ขาวปลอด’ ยังคงทำงานแปลนวนิยายอย่างต่อเนื่อง เขาเป็นนักแปลผู้มีผลงานอย่างต่อเนื่องยาวนาน แปลนิยายสืบสวนอาชญากรรม นิยายวิทยาศาสตร์ เรื่องตื่นเต้นเขย่าขวัญ และยังเป็นเจ้าของสำนักพิมพ์วรรณวิภา จัดพิมพ์ผลงานแปลของนักเขียนมีชื่อระดับเบสต์เซลเลอร์ เช่น ทอม แคลนซี, ไมเคิล ไครช์ตัน, เคน ฟอลเลตต์, เจฟฟรีย์ อาร์เชอร์ และ เจมส์ คลาเวลล์ เป็นต้น

          “การทำงานคือชีวิต มันเป็นทุกอย่าง ผมทำด้วยความรักในหนังสือ เริ่มต้นด้วยความรัก ดำเนินมาตลอดด้วยรักในหนังสือ มันเป็นความสุข ผมมีชีวิตเพื่อแปลหนังสือ นี่คือการอุทิศทั้งชีวิตแล้ว”

          ข้อความข้างต้นคัดลอกมาจากหน้าเว็บไซต์สำนักพิมพ์วรรณวิภา สำนักพิมพ์ที่เริ่มต้นด้วยเงินทุนจากมารดาจำนวน 20,000 บาท และเขาเป็นนักแปลเพียงคนเดียวในนามสำนักพิมพ์วรรณวิภา

          นอกจากผลิตหนังสือนวนิยายแปลจำหน่าย สำนักพิมพ์แห่งนี้ยังได้รับการสนับสนุนจากนักอ่านด้วยระบบสมาชิก แม้ว่าจำนวนสมาชิกจะลดน้อยถอยลง แต่ก็เพียงพอที่จะยืนยันว่า ยังมีคนรักที่จะอ่านนิยายในแบบที่สุวิทย์รัก

          “สำนักพิมพ์นี้ยังอยู่ได้ เพราะผมเป็นคนอารมณ์ดี ผมทำใจยอมรับทุกอย่างได้ เพราะเราได้ทำงานหนังสือ ยังไงเราก็ออกหนังสือของเราทุกวัน สิ่งที่ชีวิตต้องการคือการแปลหนังสือ ตั้งแต่เกิดวิกฤตจนทุกวันนี้ก็ยังได้ทำงานแปลหนังสืออยู่ ถ้าผมไม่ได้แปลหนังสือนี่สิมันจะแย่ ถ้าผมยังได้แปลหนังสืออยู่ ทุกอย่างก็ไม่เป็นไร ผมเปิดระบบสมาชิก สมาชิกหรือนักอ่านจึงมีส่วนสำคัญในชีวิตผม และผมมีส่วนในชีวิตเขามา บางคน 40 ปี บางคน 30 ปี บางคน 20 ปี จนกระทั่งมันไม่ใช่คนอ่านกับคนแปลแล้ว กลายเป็นความผูกพัน เป็นเพื่อนกัน”

          ทุกวันนี้ ในวัย 67 สุวิทย์ยังคงทำงานและเปิดรับช่องทางการสื่อสารใหม่ๆ เพื่อเข้าหาคนอ่าน และสร้างเส้นทางให้หนังสือเดินทางออกไปสู่นักอ่าน ในเฟซบุ๊กของสุวิทย์ ขาวปลอด เราจึงได้รับชมวิดีโอที่เขาบันทึกเรื่องราวของหนังสือ

          สุวิทย์เกิดที่เมืองปัตตานี มีนิสัยรักการอ่านตั้งแต่เด็ก เขาชอบอ่านหนังสือเป็นชีวิตจิตใจตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 เริ่มต้นจากการอ่านนิตยสารทุกเล่มที่มีในละแวกบ้าน รวมถึงปั่นจักรยานเพื่อไปหยิบยืมจากคนรู้จักภายในจังหวัดที่อาศัยอยู่

          “ผมมีกิจวัตรประจำวัน ทุกเสาร์อาทิตย์ผมจะเดินจากมุมหนึ่งของปัตตานีไปอีกมุมหนึ่งของเมืองเพื่ออ่านหนังสือ หนังสือเดลิเมล์ฉบับวันจันทร์ ผดุงศิลป์ และ บางกอก ผมก็ไปอ่านตั้งแต่เช้ายันเย็น ทุกสัปดาห์แล้วก็กลับผมอ่านทุกเรื่องที่มีแม้แต่หนังสือของ บุษยมาส ก็ยังอ่านเลย อ่านทุกประเภท

          “ผมไปไหนจะมีหนังสือติดมือจนกระทั่งคนในเมืองเขาจะเห็นว่าไอ้เด็กคนนี้เดินไปไหนก็มีหนังสือติดมือ แล้วก็เดินอ่านหนังสือไปตลอดทาง ไม่ว่าไปไหนก็จะเป็นอย่างนี้ตั้งแต่เด็ก แล้วตอนผมไปอยู่นราธิวาสพี่สาวผมเป็นอาจารย์ ผมแอบอ้างชื่อของพี่สาวเพื่อเข้าถึงหนังสือของชาวบ้าน ผมขี่จักยานผ่านบ้านใครต่อใคร ผมก็มองเข้าไปในตู้ของบ้านเขา ถ้าบ้านไหนมีตู้กระจกที่มีหนังสือโชว์ ผมก็เล็งบ้านนี้ไว้ บ้านไหนมีหนังสือผมเล็งไว้หมด

          “ช่วงนั้นน่าจะเป็นช่วงขึ้น ป.5 – ป.6 ผมแต่งตัวไปโรงเรียนทุกวัน วันหนึ่งมีจดหมายจากโรงเรียนแจ้งว่าผมไม่ไปเรียนเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ ที่บ้านก็สงสัยว่ามันไปไหนของมันก็ในเมื่อแต่งตัวไปโรงเรียนทุกวัน เขาก็แอบตาม ปรากฏว่าผมแต่งตัวออกจากบ้านแล้วไปกดกริ่งชาวบ้าน ขออนุญาตเข้าไปอ่านหนังสือ เขาก็ให้เข้าไป ผมก็นั่งอ่านหนังสือทั้งวัน ถึงเวลาเลิกเรียนผมก็กลับบ้าน”

สุวิทย์ ขาวปลอด
Photo : สุวิทย์ ขาวปลอด-นิยายแปล

          นอกจากรักการอ่าน สุวิทย์ยังเป็นเด็กหน้าโรงหนัง เขาดูหนังทุกประเภทเช่นเดียวกับการอ่านหนังสือ และซึมซับความรู้สึกเต็มตื้นไม่ว่าจะดูหนังหรืออ่านหนังสือ

          “ผมเป็นเด็กหน้าโรงหนัง เพราะฉะนั้นทุกเรื่องที่เข้าฉายเราก็จะได้ดู อินเดียก็ดู จีนก็ดู ไทยก็ดู ตอนเด็กๆ ถึงกับต้องดูหนังเจมส์ บอนด์ บนตักแม่ เพราะคนเยอะจนไม่มีที่นั่ง หนังบางเรื่องเศร้ามากผมก็นั่งร้องไห้ หนังสือบางเล่มที่อ่านแล้วเศร้ามากก็นั่งร้องไห้”

          ในระดับอุดมศึกษา สุวิทย์เข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตสงขลา เอกวิชาภาษาอังกฤษ โดยแปลนิยายเล่มแรกเรื่อง A Christmas Carol ให้กับคนรักในสมัยนั้น และทำให้เขาเริ่มสนใจในการแปลหนังสือหลังจากนั้นเป็นต้นมา เมื่อเรียนจบจึงเริ่มหางานเกี่ยวกับการแปล และได้รับโอกาสในอาชีพนักแปลหนังสือเล่มแรกชื่อ ‘ฤกษ์เพชฌฆาต (The Deadly Messiah)’ ให้กับสำนักพิมพ์เซอร์เคิล

          “ตอนนั้นได้ค่าแปล 6,000 บาท มันมากมหาศาลเลยนะ เพราะผมได้เงินเดือนจากการสอนโรงเรียนปอเนาะแค่เดือนละ 800 บาท”

          หลังจากนั้นเขามีงานแปลออกมาไม่ขาดสายเนื่องจากในขณะนั้นธุรกิจการแปลหนังสือรุ่งเรือง และมีการแข่งขันสูง

          “ผมอ่านมาก อ่านจนเคยถามตัวเองในตอนที่เรียนครูว่าอ่านไปเพื่ออะไร ทำไมถึงชอบอ่านขนาดนั้น อ่านไปแล้วได้อะไร พอเริ่มแปลหนังสือถึงรู้เลยว่าได้อะไรจากการอ่านอย่างมหาศาล เราได้ภาษาของนักเขียนแต่ละคนที่เราติดตามเฝ้าอ่าน เอามาใช้กับงานแปล หนังสือต่างๆ ที่เราอ่านล้วนคืออาจารย์ทั้งนั้น เราจะเป็นนักแปลที่ดี ภาษาไทยเราต้องดีก่อน ภาษาอังกฤษเราสร้างได้ แต่ถ้าภาษาไทยไม่ดี เราจะไม่รู้ว่าควรเลือกใช้คำอะไร”

          ต่อมา สุวิทย์แยกตัวออกมาร่วมงานกับสำนักพิมพ์บรรณกิจ โดยอาสาแปลให้สำนักพิมพ์ฟรีๆ เพื่อขอเรียนรู้งานในสำนักพิมพ์เพื่อที่จะนำไปเปิดสำนักพิมพ์ของตนเองในอนาคต เพราะเขาอยากเลือกแปลหนังสือที่ตนเองสนใจจะแปลจริงๆ จนกระทั่งสำนักพิมพ์ยุติกิจการส่วนงานแปล สุวิทย์จึงได้เริ่มต้นตั้งสำนักพิมพ์เป็นของตนเองตามที่ตั้งใจ

          เส้นทางการเป็นนักแปลนวนิยายของสุวิทย์คงไม่เกิดขึ้นหากเขาไม่มีความเชื่อมั่นในงานแปลที่ตนเองทำ เขาตัดสินใจลาออกจากราชการและย้ายครอบครัวจากภาคใต้เข้ากรุงเทพฯ เพื่อมาทำงานแปลหนังสือแบบเต็มเวลาควบคู่ไปกับการบริหารสำนักพิมพ์วรรณวิภา

          “แหล่งของงานแปลและสำนักพิมพ์อยู่ที่กรุงเทพฯ ถ้าเราจะทำอาหาร เราต้องไปหาแหล่งที่เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจ นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราจะแปลหนังสือเราจะต้องไปอยู่ใกล้แหล่งที่สุด ผมคิดอย่างนั้นจึงย้ายบ้าน ผมลาออก ตัดขาดชีวิตราชการ กลับไปบ้านวันนั้นบอกเมียว่า ลาออกจากราชการแล้วนะ เมียร้องไห้ตกใจ เพราะไม่รู้ชีวิตจะไปต่อยังไง เขาตกใจ ผมบอกเขาว่าไม่ต้องตกใจ เพราะผมเริ่มมั่นใจตัวเองแล้ว”

          ความทะเยอทะยานเป็นแรงผลักให้ชีวิตมุ่งไปข้างหน้า การตั้งเป้าหมายของชีวิตการงานไว้ที่ความเป็นเลิศ แล้วมุ่งมั่นที่จะเอาชนะเป้าหมายที่วางไว้เป็นวิธีการที่สุวิทย์ใช้ในการพัฒนาตัวเองมาตลอด รวมถึงการตั้งเป้าหมายว่าจะแปลหนังสือให้เก่งกว่าใคร แต่สุดท้ายแล้วเขาก็พบว่ามันคือการแข่งกับตัวเอง

          “ในเรื่องการแปล ผมตั้งเป้าว่าจะสู้กับ สมพล สังขะเวส หลังจากข้ามสมพลได้เมื่อไรผมก็จะสู้กับ ธนิต ธรรมสุคติ เพราะธนิตเป็นเบอร์หนึ่งในตอนนั้น ถ้าคุณมีความทะเยอทะยานในการวิ่ง คุณต้องเล็งคนข้างหน้าที่วิ่งเร็วที่สุด แล้ววิ่งตามให้ทัน ผมจะหมายตาคนที่วิ่งเร็วที่สุด แล้ววิ่งไล่เขา ถ้าเราไม่เร็วกว่าเขา ก็ต้องไล่ไปให้ไกล้ที่สุด เราก็จะได้ชื่อว่าเป็นคนที่วิ่งเร็วคนหนึ่ง ผมมองอย่างนั้น”

สุวิทย์ ขาวปลอด : นักอ่านคือคนสำคัญในชีวิต
Photo : สุวิทย์ ขาวปลอด-นิยายแปล

          ในเกมกีฬาการวิ่ง ภาพถ่ายตัดสินผลแพ้ชนะของนักวิ่ง แต่สำหรับงานแปล ผู้ตัดสินนักแปลคือคนอ่าน

           “แปลดีหรือแปลไม่ดี คนอ่านจะเป็นคนตัดสิน เมื่อก่อนการแปลหนังสือก็เหมือนกับการสู้รบ แปลออกมาแล้วขายได้หรือไม่ ก็อาบเลือดกันตรงนั้นแหละ”

          สุวิทย์มีงานแปลมากมายที่เป็นที่นิยมของผู้อ่าน เนื่องจากสำนวนการแปลที่สามารถบอกเล่าเรื่องราวและสื่อความหมายตามที่ผู้เขียนต้นฉบับต้องการสื่อจริงๆ ทำให้มีกลุ่มแฟนหนังสือติดตามงานแปลจากนักเขียนที่ชื่นชอบโดยฝีมือเขา โดยผลงานการแปลของนักเขียนที่เขาภาคภูมิใจและอยากแนะนำให้ผู้อ่านได้อ่าน คืองานแปลจาก สตีเฟน คิง, ไคลฟ์ คัสเลอร์ และทอม แคลนซี

           “ผมเคยบอกนักอ่านว่า หนังสือที่คุณอ่านอยู่ จริงๆ แล้วคุณกำลังอ่านภาษาอังกฤษ เพียงแต่เขียนเป็นภาษาไทยเท่านั้น นี่คือรูปแบบลีลาของภาษา สำหรับคำบางคำ ผมเลือกแปลแบบนี้เพราะนักเขียนเขียนมาอย่างนี้ เช่นเขียนว่า ‘เขาไม่ใช่คนแปลกหน้าแห่งความรุนแรง’ ซึ่งในภาษาไทยมีไหม – ไม่มี แต่มันก็คลาสสิกนะ จะให้ผมแปลว่า ‘เขาชอบความรุนแรง’ เหรอ ก็ฝรั่งไม่ได้เขียนว่าเขาชอบความรุนแรง เขาเขียนว่า ‘เขาไม่ใช่คนแปลกหน้าแห่งความรุนแรง’ ถ้าเราใช้ความคิดติดตามภาษาก็จะพบว่า ประโยคนี้เขาบอกว่าเขาชอบความรุนแรง มันก็ฟังดูเพราะกว่า”

          แม้จะทำงานแปลมากว่า 40 ปี แต่สุวิทย์ยังคงติดตามเฝ้ามองผลงานของเพื่อนนักแปลร่วมวิชาชีพอยู่เสมอ เพื่อพัฒนาและรักษาคุณภาพงานแปลของตนเอง

           “มีอยู่วันหนึ่ง ผมตรวจต้นฉบับกระดาษรีไซเคิล เปิดอ่านแล้วตกใจ โอ้โหใครวะเนี่ย ขณะที่เราพยายามพัฒนาการใช้ภาษาของเรา แต่ทำไมหมอนี่มันแปลได้ดีขนาดนี้ ผมถึงกับเกิดความกลัวขึ้นในใจ เพราะภาษาของเขา ถ้าเจอแบบคนนี้ ผมจะหนีไปได้ขนาดไหน ต้องใช้ความสามารถมากกว่านี้อีกแค่ไหนถึงจะหนีได้ ผมอ่านไปเรื่อยๆ ตัวละครมันเริ่มคุ้น จนในที่สุด… นี่มันงานของเราเอง ตอนแรกผมตกใจและจิตตกเลยนะ แต่พออ่านจนพบว่าเป็นงานของเราเอง ก็โล่งใจและดีใจมาก”

          เรื่องเล่าของสุวิทย์สะท้อนให้เห็นถึงการไม่ยอมหยุดนิ่ง เขาพัฒนาตัวเองตลอดจนถึงวันวัยอาวุโส ก็ยังคงเมียงมองหาแผ่นหลังที่วิ่งอยู่นำหน้า และเพียรพยายามเร่งฝีเท้าเข้าไปใกล้ผู้ที่วิ่งนำหน้าให้มากที่สุด จนบางครั้งกลับพบว่าแผ่นหลังที่เขาเห็น เป็นแผ่นหลังของตัวเอง

          หากถามว่าอะไรคือเคล็ดลับในการแปลนวนิยายของสุวิทย์ เขาตอบโดยไม่ลังเลว่า ‘การอ่านและการใช้ภาษาไทย’

           “จากประสบการณ์ของผม คุณต้องเป็นนักอ่านที่ดี คุณถึงจะเป็นนักแปลที่ดีได้ แต่ถ้าคุณไม่ใช่นักอ่านที่ดี คุณไม่มีวันเป็นนักแปลที่ดี และไม่ว่าคุณจะเก่งภาษาอังกฤษมาจากไหน แต่ถ้าคุณไม่เก่งภาษาไทยเสียแล้ว คุณพาตัวเองไปไม่รอดหรอก ดังนั้นถ้าอยากจะทำงานแปลก็ต้องเป็นนักอ่านซะ สั่งสมประสบการณ์ให้มาก ไม่มีทางลัดสำหรับเป็นนักแปล ไม่มี… ไม่มีจริงๆ

           “ถามว่าทั้งชีวิตผมแปลงานมากี่เล่มแล้ว ผมจำไม่ได้หรอกครับ จำได้อย่างเดียวว่าผมมีความสุขมากกับการแปลหนังสือทุกเรื่อง พอจบเรื่องหนึ่งผมก็เริ่มมีความสุขกับการแปลอีกเรื่องหนึ่งแล้ว ที่สำคัญคือเวลาแปลแล้วเรามีความสุข และสิ่งที่เราทำเราไม่ทำให้ผู้อ่านผิดหวัง เพราะฉะนั้นผมไม่เคยลงมือแปลแล้วไม่มีความสุข ถ้าเมื่อไหร่ที่ทำงานแล้วรู้สึกไม่สนุก ผมว่าก็หยุดซะเถอะ

           “บางคนถามว่าคุณสุวิทย์แนะนำได้ไหมว่าเรื่องไหนสนุก ผมเป็นนักอ่านนะครับ ถ้าไม่สนุกผมคงไม่แปลหรอก คุณต้องเชื่อผมแล้วแหละว่าทุกเรื่องที่ผมแปล สนุกทุกเรื่อง”

          ทุกวันนี้สำนักพิมพ์วรรณวิภามีสมาชิกสนับสนุนเหนียวแน่นอยู่ประมาณ 400 คน ซึ่งมอบความไว้วางใจให้กับรสนิยม ประสบการณ์ และการทำงานหนักของสุวิทย์

           “หลังจากมีเฟซบุ๊ก เราสามารถสื่อสารกับผู้อ่านได้สะดวกขึ้น การขายหนังสือก็คล่องขึ้น พนักงานก็ทำหน้าที่เหล่านี้ไป ส่วนผมก็มีหน้าที่แปล สมาชิกของเราเหลือประมาณ 400 คน แต่คนที่เคยเป็นสมาชิกก็ยังคงติดตามดูแลเราอยู่เป็นระยะ ผมคิดว่านักอ่านกลุ่มนี้คือกลุ่มที่เป็นกำลังหลักของวงการหนังสือแปลเลยนะ”

          นี่คือสายสัมพันธ์ระหว่างนักแปลอ่านกับนักอ่านที่ติดตามและสนับสนุนสำนักพิมพ์มาอย่างยาวนาน จนผูกพันฉันมิตร หนังสือคือสิ่งที่สุวิทย์รัก นักอ่านจึงเป็นคนสำคัญของชีวิตนักแปลวัย 67 ผู้นี้

สุวิทย์ ขาวปลอด : นักอ่านคือคนสำคัญในชีวิต
Photo: สุวิทย์ ขาวปลอด-นิยายแปล

ติดตามและสั่งซื้อหนังสือได้ที่ https://www.wanwipabooks.com/


บทความนี้ปรับปรุงจากการสัมภาษณ์ในรายการ Coming to Talk เผยแพร่ครั้งแรกทาง TK Podcast เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2561 ฟังบทสัมภาษณ์เต็มได้ที่ https://www.thekommon.co/comingtotalk-ep17/

ที่มา

Cover Photo : สุวิทย์ ขาวปลอด-นิยายแปล

Tags: สุวิทย์ ขาวปลอดหนังสือแปล

เรื่องโดย

134
VIEWS
กองบรรณาธิการ The KOMMON เรื่อง

          เป็นเวลากว่า 40 ปี ‘สุวิทย์ ขาวปลอด’ ยังคงทำงานแปลนวนิยายอย่างต่อเนื่อง เขาเป็นนักแปลผู้มีผลงานอย่างต่อเนื่องยาวนาน แปลนิยายสืบสวนอาชญากรรม นิยายวิทยาศาสตร์ เรื่องตื่นเต้นเขย่าขวัญ และยังเป็นเจ้าของสำนักพิมพ์วรรณวิภา จัดพิมพ์ผลงานแปลของนักเขียนมีชื่อระดับเบสต์เซลเลอร์ เช่น ทอม แคลนซี, ไมเคิล ไครช์ตัน, เคน ฟอลเลตต์, เจฟฟรีย์ อาร์เชอร์ และ เจมส์ คลาเวลล์ เป็นต้น

          “การทำงานคือชีวิต มันเป็นทุกอย่าง ผมทำด้วยความรักในหนังสือ เริ่มต้นด้วยความรัก ดำเนินมาตลอดด้วยรักในหนังสือ มันเป็นความสุข ผมมีชีวิตเพื่อแปลหนังสือ นี่คือการอุทิศทั้งชีวิตแล้ว”

          ข้อความข้างต้นคัดลอกมาจากหน้าเว็บไซต์สำนักพิมพ์วรรณวิภา สำนักพิมพ์ที่เริ่มต้นด้วยเงินทุนจากมารดาจำนวน 20,000 บาท และเขาเป็นนักแปลเพียงคนเดียวในนามสำนักพิมพ์วรรณวิภา

          นอกจากผลิตหนังสือนวนิยายแปลจำหน่าย สำนักพิมพ์แห่งนี้ยังได้รับการสนับสนุนจากนักอ่านด้วยระบบสมาชิก แม้ว่าจำนวนสมาชิกจะลดน้อยถอยลง แต่ก็เพียงพอที่จะยืนยันว่า ยังมีคนรักที่จะอ่านนิยายในแบบที่สุวิทย์รัก

          “สำนักพิมพ์นี้ยังอยู่ได้ เพราะผมเป็นคนอารมณ์ดี ผมทำใจยอมรับทุกอย่างได้ เพราะเราได้ทำงานหนังสือ ยังไงเราก็ออกหนังสือของเราทุกวัน สิ่งที่ชีวิตต้องการคือการแปลหนังสือ ตั้งแต่เกิดวิกฤตจนทุกวันนี้ก็ยังได้ทำงานแปลหนังสืออยู่ ถ้าผมไม่ได้แปลหนังสือนี่สิมันจะแย่ ถ้าผมยังได้แปลหนังสืออยู่ ทุกอย่างก็ไม่เป็นไร ผมเปิดระบบสมาชิก สมาชิกหรือนักอ่านจึงมีส่วนสำคัญในชีวิตผม และผมมีส่วนในชีวิตเขามา บางคน 40 ปี บางคน 30 ปี บางคน 20 ปี จนกระทั่งมันไม่ใช่คนอ่านกับคนแปลแล้ว กลายเป็นความผูกพัน เป็นเพื่อนกัน”

          ทุกวันนี้ ในวัย 67 สุวิทย์ยังคงทำงานและเปิดรับช่องทางการสื่อสารใหม่ๆ เพื่อเข้าหาคนอ่าน และสร้างเส้นทางให้หนังสือเดินทางออกไปสู่นักอ่าน ในเฟซบุ๊กของสุวิทย์ ขาวปลอด เราจึงได้รับชมวิดีโอที่เขาบันทึกเรื่องราวของหนังสือ

          สุวิทย์เกิดที่เมืองปัตตานี มีนิสัยรักการอ่านตั้งแต่เด็ก เขาชอบอ่านหนังสือเป็นชีวิตจิตใจตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 เริ่มต้นจากการอ่านนิตยสารทุกเล่มที่มีในละแวกบ้าน รวมถึงปั่นจักรยานเพื่อไปหยิบยืมจากคนรู้จักภายในจังหวัดที่อาศัยอยู่

          “ผมมีกิจวัตรประจำวัน ทุกเสาร์อาทิตย์ผมจะเดินจากมุมหนึ่งของปัตตานีไปอีกมุมหนึ่งของเมืองเพื่ออ่านหนังสือ หนังสือเดลิเมล์ฉบับวันจันทร์ ผดุงศิลป์ และ บางกอก ผมก็ไปอ่านตั้งแต่เช้ายันเย็น ทุกสัปดาห์แล้วก็กลับผมอ่านทุกเรื่องที่มีแม้แต่หนังสือของ บุษยมาส ก็ยังอ่านเลย อ่านทุกประเภท

          “ผมไปไหนจะมีหนังสือติดมือจนกระทั่งคนในเมืองเขาจะเห็นว่าไอ้เด็กคนนี้เดินไปไหนก็มีหนังสือติดมือ แล้วก็เดินอ่านหนังสือไปตลอดทาง ไม่ว่าไปไหนก็จะเป็นอย่างนี้ตั้งแต่เด็ก แล้วตอนผมไปอยู่นราธิวาสพี่สาวผมเป็นอาจารย์ ผมแอบอ้างชื่อของพี่สาวเพื่อเข้าถึงหนังสือของชาวบ้าน ผมขี่จักยานผ่านบ้านใครต่อใคร ผมก็มองเข้าไปในตู้ของบ้านเขา ถ้าบ้านไหนมีตู้กระจกที่มีหนังสือโชว์ ผมก็เล็งบ้านนี้ไว้ บ้านไหนมีหนังสือผมเล็งไว้หมด

          “ช่วงนั้นน่าจะเป็นช่วงขึ้น ป.5 – ป.6 ผมแต่งตัวไปโรงเรียนทุกวัน วันหนึ่งมีจดหมายจากโรงเรียนแจ้งว่าผมไม่ไปเรียนเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ ที่บ้านก็สงสัยว่ามันไปไหนของมันก็ในเมื่อแต่งตัวไปโรงเรียนทุกวัน เขาก็แอบตาม ปรากฏว่าผมแต่งตัวออกจากบ้านแล้วไปกดกริ่งชาวบ้าน ขออนุญาตเข้าไปอ่านหนังสือ เขาก็ให้เข้าไป ผมก็นั่งอ่านหนังสือทั้งวัน ถึงเวลาเลิกเรียนผมก็กลับบ้าน”

สุวิทย์ ขาวปลอด
Photo : สุวิทย์ ขาวปลอด-นิยายแปล

          นอกจากรักการอ่าน สุวิทย์ยังเป็นเด็กหน้าโรงหนัง เขาดูหนังทุกประเภทเช่นเดียวกับการอ่านหนังสือ และซึมซับความรู้สึกเต็มตื้นไม่ว่าจะดูหนังหรืออ่านหนังสือ

          “ผมเป็นเด็กหน้าโรงหนัง เพราะฉะนั้นทุกเรื่องที่เข้าฉายเราก็จะได้ดู อินเดียก็ดู จีนก็ดู ไทยก็ดู ตอนเด็กๆ ถึงกับต้องดูหนังเจมส์ บอนด์ บนตักแม่ เพราะคนเยอะจนไม่มีที่นั่ง หนังบางเรื่องเศร้ามากผมก็นั่งร้องไห้ หนังสือบางเล่มที่อ่านแล้วเศร้ามากก็นั่งร้องไห้”

          ในระดับอุดมศึกษา สุวิทย์เข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตสงขลา เอกวิชาภาษาอังกฤษ โดยแปลนิยายเล่มแรกเรื่อง A Christmas Carol ให้กับคนรักในสมัยนั้น และทำให้เขาเริ่มสนใจในการแปลหนังสือหลังจากนั้นเป็นต้นมา เมื่อเรียนจบจึงเริ่มหางานเกี่ยวกับการแปล และได้รับโอกาสในอาชีพนักแปลหนังสือเล่มแรกชื่อ ‘ฤกษ์เพชฌฆาต (The Deadly Messiah)’ ให้กับสำนักพิมพ์เซอร์เคิล

          “ตอนนั้นได้ค่าแปล 6,000 บาท มันมากมหาศาลเลยนะ เพราะผมได้เงินเดือนจากการสอนโรงเรียนปอเนาะแค่เดือนละ 800 บาท”

          หลังจากนั้นเขามีงานแปลออกมาไม่ขาดสายเนื่องจากในขณะนั้นธุรกิจการแปลหนังสือรุ่งเรือง และมีการแข่งขันสูง

          “ผมอ่านมาก อ่านจนเคยถามตัวเองในตอนที่เรียนครูว่าอ่านไปเพื่ออะไร ทำไมถึงชอบอ่านขนาดนั้น อ่านไปแล้วได้อะไร พอเริ่มแปลหนังสือถึงรู้เลยว่าได้อะไรจากการอ่านอย่างมหาศาล เราได้ภาษาของนักเขียนแต่ละคนที่เราติดตามเฝ้าอ่าน เอามาใช้กับงานแปล หนังสือต่างๆ ที่เราอ่านล้วนคืออาจารย์ทั้งนั้น เราจะเป็นนักแปลที่ดี ภาษาไทยเราต้องดีก่อน ภาษาอังกฤษเราสร้างได้ แต่ถ้าภาษาไทยไม่ดี เราจะไม่รู้ว่าควรเลือกใช้คำอะไร”

          ต่อมา สุวิทย์แยกตัวออกมาร่วมงานกับสำนักพิมพ์บรรณกิจ โดยอาสาแปลให้สำนักพิมพ์ฟรีๆ เพื่อขอเรียนรู้งานในสำนักพิมพ์เพื่อที่จะนำไปเปิดสำนักพิมพ์ของตนเองในอนาคต เพราะเขาอยากเลือกแปลหนังสือที่ตนเองสนใจจะแปลจริงๆ จนกระทั่งสำนักพิมพ์ยุติกิจการส่วนงานแปล สุวิทย์จึงได้เริ่มต้นตั้งสำนักพิมพ์เป็นของตนเองตามที่ตั้งใจ

          เส้นทางการเป็นนักแปลนวนิยายของสุวิทย์คงไม่เกิดขึ้นหากเขาไม่มีความเชื่อมั่นในงานแปลที่ตนเองทำ เขาตัดสินใจลาออกจากราชการและย้ายครอบครัวจากภาคใต้เข้ากรุงเทพฯ เพื่อมาทำงานแปลหนังสือแบบเต็มเวลาควบคู่ไปกับการบริหารสำนักพิมพ์วรรณวิภา

          “แหล่งของงานแปลและสำนักพิมพ์อยู่ที่กรุงเทพฯ ถ้าเราจะทำอาหาร เราต้องไปหาแหล่งที่เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจ นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราจะแปลหนังสือเราจะต้องไปอยู่ใกล้แหล่งที่สุด ผมคิดอย่างนั้นจึงย้ายบ้าน ผมลาออก ตัดขาดชีวิตราชการ กลับไปบ้านวันนั้นบอกเมียว่า ลาออกจากราชการแล้วนะ เมียร้องไห้ตกใจ เพราะไม่รู้ชีวิตจะไปต่อยังไง เขาตกใจ ผมบอกเขาว่าไม่ต้องตกใจ เพราะผมเริ่มมั่นใจตัวเองแล้ว”

          ความทะเยอทะยานเป็นแรงผลักให้ชีวิตมุ่งไปข้างหน้า การตั้งเป้าหมายของชีวิตการงานไว้ที่ความเป็นเลิศ แล้วมุ่งมั่นที่จะเอาชนะเป้าหมายที่วางไว้เป็นวิธีการที่สุวิทย์ใช้ในการพัฒนาตัวเองมาตลอด รวมถึงการตั้งเป้าหมายว่าจะแปลหนังสือให้เก่งกว่าใคร แต่สุดท้ายแล้วเขาก็พบว่ามันคือการแข่งกับตัวเอง

          “ในเรื่องการแปล ผมตั้งเป้าว่าจะสู้กับ สมพล สังขะเวส หลังจากข้ามสมพลได้เมื่อไรผมก็จะสู้กับ ธนิต ธรรมสุคติ เพราะธนิตเป็นเบอร์หนึ่งในตอนนั้น ถ้าคุณมีความทะเยอทะยานในการวิ่ง คุณต้องเล็งคนข้างหน้าที่วิ่งเร็วที่สุด แล้ววิ่งตามให้ทัน ผมจะหมายตาคนที่วิ่งเร็วที่สุด แล้ววิ่งไล่เขา ถ้าเราไม่เร็วกว่าเขา ก็ต้องไล่ไปให้ไกล้ที่สุด เราก็จะได้ชื่อว่าเป็นคนที่วิ่งเร็วคนหนึ่ง ผมมองอย่างนั้น”

สุวิทย์ ขาวปลอด : นักอ่านคือคนสำคัญในชีวิต
Photo : สุวิทย์ ขาวปลอด-นิยายแปล

          ในเกมกีฬาการวิ่ง ภาพถ่ายตัดสินผลแพ้ชนะของนักวิ่ง แต่สำหรับงานแปล ผู้ตัดสินนักแปลคือคนอ่าน

           “แปลดีหรือแปลไม่ดี คนอ่านจะเป็นคนตัดสิน เมื่อก่อนการแปลหนังสือก็เหมือนกับการสู้รบ แปลออกมาแล้วขายได้หรือไม่ ก็อาบเลือดกันตรงนั้นแหละ”

          สุวิทย์มีงานแปลมากมายที่เป็นที่นิยมของผู้อ่าน เนื่องจากสำนวนการแปลที่สามารถบอกเล่าเรื่องราวและสื่อความหมายตามที่ผู้เขียนต้นฉบับต้องการสื่อจริงๆ ทำให้มีกลุ่มแฟนหนังสือติดตามงานแปลจากนักเขียนที่ชื่นชอบโดยฝีมือเขา โดยผลงานการแปลของนักเขียนที่เขาภาคภูมิใจและอยากแนะนำให้ผู้อ่านได้อ่าน คืองานแปลจาก สตีเฟน คิง, ไคลฟ์ คัสเลอร์ และทอม แคลนซี

           “ผมเคยบอกนักอ่านว่า หนังสือที่คุณอ่านอยู่ จริงๆ แล้วคุณกำลังอ่านภาษาอังกฤษ เพียงแต่เขียนเป็นภาษาไทยเท่านั้น นี่คือรูปแบบลีลาของภาษา สำหรับคำบางคำ ผมเลือกแปลแบบนี้เพราะนักเขียนเขียนมาอย่างนี้ เช่นเขียนว่า ‘เขาไม่ใช่คนแปลกหน้าแห่งความรุนแรง’ ซึ่งในภาษาไทยมีไหม – ไม่มี แต่มันก็คลาสสิกนะ จะให้ผมแปลว่า ‘เขาชอบความรุนแรง’ เหรอ ก็ฝรั่งไม่ได้เขียนว่าเขาชอบความรุนแรง เขาเขียนว่า ‘เขาไม่ใช่คนแปลกหน้าแห่งความรุนแรง’ ถ้าเราใช้ความคิดติดตามภาษาก็จะพบว่า ประโยคนี้เขาบอกว่าเขาชอบความรุนแรง มันก็ฟังดูเพราะกว่า”

          แม้จะทำงานแปลมากว่า 40 ปี แต่สุวิทย์ยังคงติดตามเฝ้ามองผลงานของเพื่อนนักแปลร่วมวิชาชีพอยู่เสมอ เพื่อพัฒนาและรักษาคุณภาพงานแปลของตนเอง

           “มีอยู่วันหนึ่ง ผมตรวจต้นฉบับกระดาษรีไซเคิล เปิดอ่านแล้วตกใจ โอ้โหใครวะเนี่ย ขณะที่เราพยายามพัฒนาการใช้ภาษาของเรา แต่ทำไมหมอนี่มันแปลได้ดีขนาดนี้ ผมถึงกับเกิดความกลัวขึ้นในใจ เพราะภาษาของเขา ถ้าเจอแบบคนนี้ ผมจะหนีไปได้ขนาดไหน ต้องใช้ความสามารถมากกว่านี้อีกแค่ไหนถึงจะหนีได้ ผมอ่านไปเรื่อยๆ ตัวละครมันเริ่มคุ้น จนในที่สุด… นี่มันงานของเราเอง ตอนแรกผมตกใจและจิตตกเลยนะ แต่พออ่านจนพบว่าเป็นงานของเราเอง ก็โล่งใจและดีใจมาก”

          เรื่องเล่าของสุวิทย์สะท้อนให้เห็นถึงการไม่ยอมหยุดนิ่ง เขาพัฒนาตัวเองตลอดจนถึงวันวัยอาวุโส ก็ยังคงเมียงมองหาแผ่นหลังที่วิ่งอยู่นำหน้า และเพียรพยายามเร่งฝีเท้าเข้าไปใกล้ผู้ที่วิ่งนำหน้าให้มากที่สุด จนบางครั้งกลับพบว่าแผ่นหลังที่เขาเห็น เป็นแผ่นหลังของตัวเอง

          หากถามว่าอะไรคือเคล็ดลับในการแปลนวนิยายของสุวิทย์ เขาตอบโดยไม่ลังเลว่า ‘การอ่านและการใช้ภาษาไทย’

           “จากประสบการณ์ของผม คุณต้องเป็นนักอ่านที่ดี คุณถึงจะเป็นนักแปลที่ดีได้ แต่ถ้าคุณไม่ใช่นักอ่านที่ดี คุณไม่มีวันเป็นนักแปลที่ดี และไม่ว่าคุณจะเก่งภาษาอังกฤษมาจากไหน แต่ถ้าคุณไม่เก่งภาษาไทยเสียแล้ว คุณพาตัวเองไปไม่รอดหรอก ดังนั้นถ้าอยากจะทำงานแปลก็ต้องเป็นนักอ่านซะ สั่งสมประสบการณ์ให้มาก ไม่มีทางลัดสำหรับเป็นนักแปล ไม่มี… ไม่มีจริงๆ

           “ถามว่าทั้งชีวิตผมแปลงานมากี่เล่มแล้ว ผมจำไม่ได้หรอกครับ จำได้อย่างเดียวว่าผมมีความสุขมากกับการแปลหนังสือทุกเรื่อง พอจบเรื่องหนึ่งผมก็เริ่มมีความสุขกับการแปลอีกเรื่องหนึ่งแล้ว ที่สำคัญคือเวลาแปลแล้วเรามีความสุข และสิ่งที่เราทำเราไม่ทำให้ผู้อ่านผิดหวัง เพราะฉะนั้นผมไม่เคยลงมือแปลแล้วไม่มีความสุข ถ้าเมื่อไหร่ที่ทำงานแล้วรู้สึกไม่สนุก ผมว่าก็หยุดซะเถอะ

           “บางคนถามว่าคุณสุวิทย์แนะนำได้ไหมว่าเรื่องไหนสนุก ผมเป็นนักอ่านนะครับ ถ้าไม่สนุกผมคงไม่แปลหรอก คุณต้องเชื่อผมแล้วแหละว่าทุกเรื่องที่ผมแปล สนุกทุกเรื่อง”

          ทุกวันนี้สำนักพิมพ์วรรณวิภามีสมาชิกสนับสนุนเหนียวแน่นอยู่ประมาณ 400 คน ซึ่งมอบความไว้วางใจให้กับรสนิยม ประสบการณ์ และการทำงานหนักของสุวิทย์

           “หลังจากมีเฟซบุ๊ก เราสามารถสื่อสารกับผู้อ่านได้สะดวกขึ้น การขายหนังสือก็คล่องขึ้น พนักงานก็ทำหน้าที่เหล่านี้ไป ส่วนผมก็มีหน้าที่แปล สมาชิกของเราเหลือประมาณ 400 คน แต่คนที่เคยเป็นสมาชิกก็ยังคงติดตามดูแลเราอยู่เป็นระยะ ผมคิดว่านักอ่านกลุ่มนี้คือกลุ่มที่เป็นกำลังหลักของวงการหนังสือแปลเลยนะ”

          นี่คือสายสัมพันธ์ระหว่างนักแปลอ่านกับนักอ่านที่ติดตามและสนับสนุนสำนักพิมพ์มาอย่างยาวนาน จนผูกพันฉันมิตร หนังสือคือสิ่งที่สุวิทย์รัก นักอ่านจึงเป็นคนสำคัญของชีวิตนักแปลวัย 67 ผู้นี้

สุวิทย์ ขาวปลอด : นักอ่านคือคนสำคัญในชีวิต
Photo: สุวิทย์ ขาวปลอด-นิยายแปล

ติดตามและสั่งซื้อหนังสือได้ที่ https://www.wanwipabooks.com/


บทความนี้ปรับปรุงจากการสัมภาษณ์ในรายการ Coming to Talk เผยแพร่ครั้งแรกทาง TK Podcast เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2561 ฟังบทสัมภาษณ์เต็มได้ที่ https://www.thekommon.co/comingtotalk-ep17/

ที่มา

Cover Photo : สุวิทย์ ขาวปลอด-นิยายแปล

Tags: สุวิทย์ ขาวปลอดหนังสือแปล

กองบรรณาธิการ The KOMMON เรื่อง

Related Posts

เบื้องหลังการดีไซน์พื้นที่เรียนรู้แบบ Tailor-made ฉบับสถาปนิกชุมชน
Common VIEW

คุยกับ ธนา อุทัยภัตรากูร สถาปนิกชุมชน‘อาศรมศิลป์’เรื่องกระบวนการออกแบบพื้นที่เรียนรู้

January 26, 2023
666
สมบูรณ์ สกุลสุทธวงศ์ : The Rise and Decline of D.K. Bookstore
Common VIEW

สมบูรณ์ สกุลสุทธวงศ์ : The Rise and Decline of D.K. Bookstore

January 4, 2023
381
‘สวนเงินมีมา’ ร้านหนังสือกลางย่านเก่า ชวนผู้คนค้นหา ‘จิตวิญญาณใหม่’
Common VIEW

‘สวนเงินมีมา’ สรรค์สร้างพื้นที่ ‘จิตวิญญาณใหม่’ เปลี่ยนโลกเก่าใบเดิมให้น่าอยู่

December 23, 2022
1.3k

Related Posts

เบื้องหลังการดีไซน์พื้นที่เรียนรู้แบบ Tailor-made ฉบับสถาปนิกชุมชน
Common VIEW

คุยกับ ธนา อุทัยภัตรากูร สถาปนิกชุมชน‘อาศรมศิลป์’เรื่องกระบวนการออกแบบพื้นที่เรียนรู้

January 26, 2023
666
สมบูรณ์ สกุลสุทธวงศ์ : The Rise and Decline of D.K. Bookstore
Common VIEW

สมบูรณ์ สกุลสุทธวงศ์ : The Rise and Decline of D.K. Bookstore

January 4, 2023
381
‘สวนเงินมีมา’ ร้านหนังสือกลางย่านเก่า ชวนผู้คนค้นหา ‘จิตวิญญาณใหม่’
Common VIEW

‘สวนเงินมีมา’ สรรค์สร้างพื้นที่ ‘จิตวิญญาณใหม่’ เปลี่ยนโลกเก่าใบเดิมให้น่าอยู่

December 23, 2022
1.3k
ABOUT
SITE MAP
PRIVACY POLICY
CONTACT
Facebook-f
Youtube
Soundcloud
icon-tkpark

Copyright 2021 © All rights Reserved. by TK Park

  • READ
    • ALL
    • Common WORLD
    • Common VIEW
    • Common ROOM
    • Book of Commons
    • Common INFO
  • PODCAST
    • ALL
    • readWORLD
    • Coming to Talk
    • Read Around
    • WanderingBook
    • Knowledge Exchange
  • VIDEO
    • ALL
    • TK Forum
    • TK Common
    • TK Spark
  • UNCOMMON
    • ALL
    • Common ROOM
    • Common INFO
    • Common EXPERIENCE
    • Common SENSE

© 2021 The KOMMON by TK Park.

Welcome Back!

Login to your account below

Forgotten Password?

Retrieve your password

Please enter your username or email address to reset your password.

Log In

Add New Playlist

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่า อนุญาต
Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก
Privacy Preferences