สุวรรณา สถาอานันท์: การเรียนรู้ของ ‘ขงจื่อ’ ชายผู้เรียกร้อง ‘ความรัก’

5,404 views
15 mins
July 3, 2023

          เมื่อพูดถึง ‘ขงจื่อ’ คนส่วนใหญ่มักนึกถึงพิธีกรรม ขนบธรรมเนียม จารีต ความกตัญญู แล้วก็ประทับความเป็นอนุรักษนิยมให้แก่ชายผู้ใช้ชีวิตในช่วงประมาณ 500 กว่าปีก่อนคริสตกาล

          ก่อนเดินทางกันต่อกับบทสัมภาษณ์ขนาดยาวชิ้นนี้จำเป็นต้องอธิบายสั้นๆ ว่า ความคิดข้างต้นคือส่วนหนึ่งของ ‘ลัทธิขงจื่อ’ ซึ่งถูกชนชั้นปกครองจีนคัดเลือกและโอบรับเพียงบางส่วนเพื่อนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการปกครองภายหลังขงจื่อสิ้นลมไปแล้วหลายร้อยปี และไม่ใช่สิ่งเดียวกันกับ ‘ปรัชญาขงจื่อ’ ที่เรากำลังจะสนทนาต่อจากนี้

          ขงจื่อรอนแรมหลายปีเพื่อเสนอโครงการทางปรัชญาแก่เจ้านครรัฐต่างๆ ในยุคชุนชิวของจีนที่แผ่นดินเต็มไปด้วยความปั่นป่วนวุ่นวาย ด้วยหวังว่าจะมีผู้ปกครองสักคนรับแนวคิดของตนไปปฏิบัติเพื่อสร้าง ‘ชุมชนมีมนุษยธรรม’ ฟื้นฟูราชวงศ์โจว และคืนความสงบสุขแก่ผู้คน หากประเมินจากเป้าหมายดังกล่าวก็พูดได้ว่า เขาล้มเหลว

          แต่ สุวรรณา สถาอานันท์ นักปรัชญาและผู้แปลหนังสือ หลุนอี่ว์: ขงจื่อสนทนา’ เห็นว่ามันคือความล้มเหลวที่ยิ่งใหญ่ เธอยังกล่าวอีกว่าขงจื่อเรียกร้องน้อยที่สุดในบรรดานักคิดคนสำคัญที่ต้องการเปลี่ยนแปลงโลก ฟังดูช่างขัดแย้ง เป็นไปได้หรือที่การเปลี่ยนแปลงโลกจะไม่เรียกร้องจากเรามากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ …เป็นสิ่งที่คุณต้องพิจารณาเอาเองหลังจากอ่านบทสัมภาษณ์

          มนุษย์เท่านั้นที่เปลี่ยนแปลงโลกและสร้างชุมชนมนุษยธรรมได้ เราจึงอาจพูดได้ในระดับหนึ่งโดยไม่ผิดจากความเป็นจริงนักว่า หลุนอี่ว์เป็นคัมภีร์ที่แนะนำหนทางการศึกษาเรียนรู้เพื่อสร้างวิญญูชน (จวินจื่อ-君子) ที่จะออกไปเปลี่ยนแปลงโลก

          ขณะที่การศึกษายุคใหม่และตลาดแรงงานมุ่งสร้างความเหมือนและผลิตผู้เชี่ยวชาญในสาขาอาชีพ ความสร้างสรรค์ ความเป็นนักพัฒนาตนเอง และอีกหลายอย่าง หัวใจของการเรียนรู้ของขงจื่อเมื่อ 2,500 ปีก่อนเรียกร้อง ‘อ้าย’ (爱) หรือ ‘ความรัก’

          คุณคิดว่าเป็นข้อเรียกร้องที่มากเกินไปหรือเปล่า?

คุณเขียนไว้ในบทนำหลุนอี่ว์ว่า ปรัชญาขงจื่อ คือความพยายามมีปฏิสัมพันธ์กับภาวะเฉพาะเจาะจง อยากเริ่มจากตรงนี้ก่อนว่าข้อความนี้หมายความว่าอะไร

          อันนี้เป็นคำถามที่สำคัญที่สุด คำถามนี้มีนัยต่อการเข้าใจคัมภีร์โบราณทั้งหมด ดิฉันเข้าใจว่าปรัชญางอกมาจากสถานการณ์เฉพาะ งอกมาจากประวัติศาสตร์เฉพาะ พัฒนาจากนักคิดที่สังเกตปัญหารอบตัวที่ลึกลงไปจากปัญหาที่เห็นต่อหน้า แล้วตั้งคำถามทางปรัชญาและหาวิธีตอบคำถามทางปรัชญาจนกลายเป็นสากลได้

          หนึ่ง คือเราจะเข้าใจปรัชญาขงจื่อเราต้องเข้าใจบริบทประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาของคัมภีร์หลุนอี่ว์ก่อน เพราะเราจะได้รู้ว่าขงจื่อเถียงกับใคร เกี่ยวกับประเด็นอะไร ขงจื่อเถียงกับคนอย่างน้อยสองกลุ่มคือพวกที่ฉ้อฉลอำนาจกับพวกหลีกลี้สังคม ขงจื่อพยายามจะเลือกเอาตรงกลาง ก็เลยยาก 

          สอง ถ้าข้อหนึ่งข้างต้นถูกต้อง ก็หมายความต่อไปว่าการเข้าใจปรัชญาซึ่งเป็นสากลต้องหาบริบทเฉพาะให้เจอเสียก่อน ไม่อย่างนั้นก็จะเข้าใจไม่ได้เพราะปรัชญางอกเงยจากบริบทเฉพาะ

          สาม การเป็นสากลแปลว่าอะไร แปลว่า การกล่าวอ้างของแนวคิดนี้ครอบคลุมกว้างกว่าบริบทเฉพาะ ซึ่งหมายความต่อไปว่าสามารถนำไปใช้อธิบายบริบทอื่น สังคมอื่น เวลาอื่นได้ แต่จะใช้ได้อย่างไรต้องเริ่มจากสังคมอื่น เวลาอื่นก่อน สังคมที่จะนำแนวคิดทางปรัชญาไปใช้ในบริบทใหม่ต้องวิเคราะห์ตัวเองให้ได้ก่อนว่าตัวเองมีปัญหาสากลอะไรที่งอกจากบริบทเฉพาะของตัวเอง ถ้าวิเคราะห์ตรงนี้ได้แล้วจึงสามารถเอาสิ่งที่เป็นสากลในบริบทเฉพาะของพื้นที่ใหม่ไปเทียบเคียงกับคุณสมบัติอันเป็นสากลของปรัชญาที่มาจากอีกยุคหนึ่ง

          ตัวอย่างหนึ่งที่สำคัญคือ เรื่องกฎแห่งกรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสอนในสมัยพุทธกาล ท่านสอนเรื่องกรรมในฐานะความรับผิดชอบทางศีลธรรมของแต่ละบุคคลซึ่งเน้นมิติความเสมอภาคของผู้คน เราทำอะไรก็ได้รับผลตามนั้นไม่ใช่เพราะเกิดในวรรณะไหน อาจารย์สตีเฟน คอลลินส์ ซึ่งเป็นอาจารย์สำคัญด้านเถรวาทศึกษาที่มหาวิทยาลัยชิคาโก มีงานชิ้นหนึ่งสำคัญมาก ท่านบอกว่าแนวคิดเรื่องกฎแห่งกรรมในสมัยพุทธกาลเป็นไปเพื่อเพิ่มโอกาสความเท่าเทียมกัน เมื่อมาอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กลายเป็นแนวคิดที่สร้างความชอบธรรมให้กับสังคมที่จัดแบ่งผู้คนเป็นชนชั้น

          ในสมัยชุนชิว ขงจื่อก็พยายามให้ความเท่าเทียมในสังคมที่ไม่เสมอภาค คือ 2,500 ปีก่อนในแผ่นดินจีนโบราณ คุณคาดหวังให้มีปฏิวัติฝรั่งเศสเกิดขึ้นที่ซานตงหรือ ฉันไม่ได้ไม่เห็นด้วยกับความเท่าเทียม แต่การคาดหวังความเท่าเทียมแบบที่เราเข้าใจ 300 ปีหลังปฏิวัติฝรั่งเศสแล้วไปใส่ให้กับคนอย่างอริสโตเติล ขงจื่อ หรือนักคิดก่อนยุคสมัยใหม่ ก็จะเป็นความคาดหวังที่ประหลาดมาก ฉันจึงเน้นว่าเราควรเข้าใจปรัชญาโดยเริ่มต้นจากสภาพการณ์เฉพาะเจาะจงในความหมายนี้ บริบทที่แนวคิดนั้นก่อรูปและมีความหมาย ในสมัยปัจจุบัน เราต้องเข้าใจบริบทของเราเองก่อนว่าที่มาของแนวคิดที่โลดแล่นอยู่ในปัจจุบันนี้มีความเป็นมาเป็นอย่างไร แล้วค่อยเทียบเคียงกันในความเป็นสากลของแนวคิดจากทั้งสองบริบท ทำแบบนี้ได้จึงจะมีประโยชน์ในการปรับใช้โดยไม่ผิดฝาผิดตัว

          ในแง่นี้การเข้าใจบริบทเฉพาะของกฎแห่งกรรม ของจวินจื่อ ของเหริน ของขงจื่อ มันเลยสำคัญต่อความเข้าใจเป้าหมาย ขอบเขตของความหมายที่น่าเชื่อถือตามบริบทก่อนจึงจะเอามาปรับใช้ในอีกที่หนึ่งได้ นี่พูดในระดับสิ่งที่ควรจะเป็น แต่ในความเป็นจริง ผู้ปกครองในอุษาคเนย์ก็เอาแต่มิติด้านเดียวของกฎแห่งกรรมมาใช้เพื่อ Justify Hierarchy ซึ่งก็ไม่ได้แปลกประหลาดอะไร ผู้ปกครองจำนวนมากก็ทำ อันนี้เราพูดในเชิงปฏิบัติ แต่ถ้าถามในเชิงปรัชญา ปรัชญาไม่ Practical เท่าไหร่ในความหมายนี้ เราถึงล้มเหลวอยู่เรื่อย (หัวเราะ) แต่เราก็หวังว่าเป็นความล้มเหลวแบบ Noble Failure เรายังยืนยันให้สังคมได้ยินเสียงที่ไม่ถูกครอบงำโดยอำนาจที่ใช้ระบบปรัชญาบางอย่างเพื่อผลประโยชน์กับโครงสร้างอำนาจแต่เพียงด้านเดียว

สุวรรณา สถาอานันท์: การเรียนรู้ของ ‘ขงจื่อ’ ชายผู้เรียกร้อง ‘ความรัก’
หนังสือ หลุนอี่ว์: ขงจื่อสนทนา

โครงการทางปรัชญาของขงจื่อคือการเปลี่ยนแปลงโลก สร้างชุมชนมนุษยธรรม รื้อฟื้นราชวงศ์โจว หมายความว่าสำหรับขงจื่อ การให้การศึกษาก็คือกระบวนวิธีสร้างคนออกไปเปลี่ยนแปลงโลก?

          คุณถามว่าสร้างคนไปเปลี่ยนแปลงโลกใช่มั้ย… 

          ใช่ ‘สร้าง’ ในความหมายว่าพยายามพัฒนาสิ่งที่ยังไม่เกิด ให้เกิดขึ้น ในแง่นั้น 

          ใช่ สร้างคนกลุ่มหนึ่งที่จะไปเปลี่ยนแปลงโลก ส่วนที่สองคือ ‘เปลี่ยนแปลง’ คำว่าเปลี่ยนแปลงตรงนี้ ขงจื่อพูดชัดว่าเขามาสืบทอด เขาไม่ได้ใช้คำว่าเปลี่ยนแปลง แต่ในบริบทของคำถามของเธอ ฉันอยากจะบอกว่าเวลาเราพูดคำว่าเปลี่ยนแปลงในจักรวาลทางความคิดของขงจื่อ เขาหมายถึงการปรับสิ่งที่เสื่อมทรามไปสู่ครรลองที่เขาเชื่อว่าเคยดีกว่านี้ หลายคนบอกว่าคิดแบบนี้คืออนุรักษนิยมเพราะไปคิดไว้ล่วงหน้าว่ามีของบางอย่างที่เคยดีและพยายามหวนกลับไปสู่สิ่งนั้น ในแง่นี้ ใช่ แต่การกลับไปหาราชวงศ์โจวของขงจื่อก็มิได้หมายความว่าขงจื่อไปลอกเลียนแบบจากสมัยโบราณ ขงจื่อมีแนวคิดที่เป็นหัวใจทางปรัชญาของเขาเองที่ชัดเจน

          ทีนี้เวลาบอกว่าเปลี่ยนแปลง หลายคนไม่ได้อ่านดีๆ และไม่เข้าใจว่าเวลาขงจื่อเสนอให้ ‘เปลี่ยนแปลง’ ในสมัยนั้นไม่ใช่เขาคนเดียว ยังมีคนอื่นอีกมากมาย ขอยกแค่สองกลุ่มหลักที่ขงจื่อไม่เห็นด้วย พวกหนึ่งคือพวกที่เห็นว่าระบบศักดินาแห่งราชวงศ์โจวเสื่อมทรามไปมากแล้ว ดังนั้น เราไปฉ้อฉลเอาผลประโยชน์จากอำนาจที่อ่อนแอ เช่น สมัยก่อนมีจารีตพิธีกรรมเกี่ยวกับกษัตริย์ที่สำคัญสงวนไว้เฉพาะกษัตริย์ พวกนี้ก็ไปใช้รูปแบบจารีตของกษัตริย์มาทำตัวเองให้เหมือนกษัตริย์ เป็นการฉ้อฉลสัญลักษณ์ของอำนาจ อีกพวกหนึ่งคือกลุ่มคนที่มองว่าโลกมันแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นไม่ได้แล้ว ขงจื่อเสียสติหรือเปล่าที่พยายามจะแก้ไข พวกนี้จำนวนหนึ่งคือขุนนางเก่าที่ทิ้งบ้านเมืองไปอยู่ป่า ในคัมภีร์หลุนอี่ว์ ฉบับแปลฉันเรียกว่าพวกหลีกลี้สังคม ขงจื่อไม่เห็นด้วยกับคนสองกลุ่มนี้ กลุ่มหนึ่งฉกฉวยผลประโยชน์จากสถานการณ์ อีกกลุ่มหนึ่งทิ้งความหวัง

          แต่สิ่งที่ขงจื่อพยายามจะเปลี่ยนแปลงคือเข้าไปอยู่ในระบบ เข้าไปทำงานกับอำนาจ แล้วไปเปลี่ยนจากข้างใน ทางเลือกแบบขงจื่อยากกว่าเยอะ ถ้าเราเข้าใจภาพแบบนี้ เราจะเข้าใจว่าจริงๆ แล้ว ขงจื่อก็ถกเถียงกับคนร่วมสมัย มีทางเลือกอื่นที่เขาไม่เอา วิธีเปลี่ยนแปลงของเขาสมัยนี้เรียกว่าปฏิรูปหรือ ‘ฟื้นคืนราชวงศ์โจว’

แสดงว่าราชวงศ์โจวคือชุมชนที่มีมนุษยธรรมในสายตาขงจื่อ

          คำถามนี้มีนัยที่ซับซ้อน ถ้าอ่านหลุนอี่ว์ดีๆ จะพบว่าขงจื่อให้เกณฑ์ว่าทำไมเลือกราชวงศ์โจวเป็นต้นแบบ เพราะราชวงศ์นี้ทำสองอย่าง ข้อหนึ่ง-เรียนรู้จากราชวงศ์ก่อนหน้านั้น แปลว่าราชวงศ์โจวในสายตาของขงจื่อดีเพราะเรียนรู้เป็น ไม่ใช่เพราะมีคำตอบสำเร็จรูป ข้อสอง-เพราะราชวงศ์โจวได้พัฒนารูปแบบทั้งดีงามและงดงาม เป็นเหตุผลทางศีลธรรม-การปกครองและเหตุผลทางสุนทรียศาสตร์

          คำถามก็คือที่ว่า เรียนรู้เป็นและดีงามนั้น คือชุมชนมีมนุษยธรรมหรือเปล่า ฉันคิดว่าอันนี้เป็นแนวคิดของขงจื่อเอง กลับมาสู่คำว่ามี ‘มนุษยธรรม’ ใครเรียนปรัชญาขงจื่อต้องเริ่มที่คำว่า เหริน (仁) ถ้าเราดูตัวอักษรจีนคือ ‘คน’ และ ‘เลขสอง’ พูดง่ายที่สุดคือมนุษย์ตั้งแต่สองคนขึ้นไป ฉันเขียนไว้ในหนังสือว่าคำนี้ถ้าคิดแบบขงจื่อจะหมายความว่า เราเป็นคน เมื่อ เราสัมพันธ์กับคนอื่น ไม่ใช่เราเป็นปัจเจกก่อนแล้วจึงมาสัมพันธ์กัน

สุวรรณา สถาอานันท์: การเรียนรู้ของ ‘ขงจื่อ’ ชายผู้เรียกร้อง ‘ความรัก’
ส่วนประกอบของคำว่า เหริน หรือ 仁

          ฉันชอบยกตัวอย่างนี้ ผู้ชาย ผู้หญิงรักกัน แต่งงานกัน มีลูก การเกิดของลูกเปลี่ยนสภาพคนที่เป็นสามีภรรยาให้กลายเป็นพ่อเป็นแม่ เปลี่ยนพี่น้องของสามีภรรยาเป็น ลุง ป้า น้า อา ในแง่นี้ความเป็นพ่อเป็นแม่ เป็นลุงป้าน้าอา เกิดจากการมีเด็กเกิดมาใหม่ซึ่งเป็น “ลูก” มนุษย์เราเป็น ภาวะสัมพันธ์ (relational being) ความเป็นมนุษย์ของเรากำเนิดขึ้นและดำเนินไปในความสัมพันธ์ ไม่ใช่เราเป็นปัจเจกเอกเทศแล้วค่อยมาสัมพันธ์กับคนอื่น

          ชุมชนมีมนุษยธรรมของขงจื่อ คำว่า เหริน ไม่ใช่ขงจื่อใช้คนแรก ในสมัยก่อนหน้านั้น ใช้คำว่า เหริน ในบริบทสังคมศักดินาที่ผู้ใหญ่เมตตาผู้น้อย ผู้ใหญ่ต้องมีเหรินกับผู้ที่อยู่ใต้บังคับบัญชา เมื่อมีคนมาถามขงจื่อว่าเหริน หมายความว่ายังไง เขาบอกว่ารักมนุษย์ และใช้คำว่า อ้าย (爱) รักแบบที่มีอารมณ์ความรู้สึก ผูกพัน อาทร รักใคร่ ที่สำคัญคือขงจื่อใช้คำว่าเหรินกับทุกคน ถ้าเราเข้าใจบริบทเราจะเห็นว่าขงจื่อเปลี่ยนความหมาย จากความหมายที่แคบระหว่างผู้มีอาวุโสศักดินาสูงกว่ากับคนที่อยู่ใต้บังคับบัญชามาสู่ความรักมนุษย์ทุกคน ฉันคิดว่าแนวคิดชุมชนมีมนุษยธรรม เป็นเนื้อหาทางปรัชญาของขงจื่อ แต่รูปแบบการเรียนรู้ที่เป็นต้นเค้าของแรงบันดาลใจมาจากราชวงศ์โจว

ขงจื่อต้องการฟื้นฟูราชวงศ์โจวและสร้างชุมชนที่มีมนุษยธรรม ซึ่งขงจื่อล้มเหลว มองได้หรือไม่ว่าโครงการทางปรัชญาของขงจื่อทะเยอทะยานเกินไป คุณคิดว่าถ้าต้องการนำแนวคิดของขงจื่อมาประยุกต์ใช้กับกระบวนการเรียนรู้เพื่อสร้างคน จำเป็นหรือไม่ที่เราต้องลดข้อเรียกร้องลงมา

          ข้อนี้คุณถามได้ดีมาก แต่ฉันเห็นตรงกันข้าม ฉันกลับเห็นว่าประเด็นไม่ใช่ขงจื่อทะเยอทะยานเกินไป ความสำเร็จกับล้มเหลวมีหลายแบบ ฉันแยกแยะระหว่าง Petty Success กับ Noble Failure คือเป็นความสำเร็จเล็กๆ น้อยๆ กับความล้มเหลวที่ยิ่งใหญ่ ฉันคิดว่าขงจื่อเป็นตัวอย่างของความล้มเหลวที่ยิ่งใหญ่ ยิ่งใหญ่เพราะข้อเสนอใหญ่เกินไป คนไม่เอา ประวัติศาสตร์จีนต้องผ่านจิ๋นซีฮ่องเต้ ผ่านการรบพุ่งเข่นฆ่ามาอีกเป็นร้อยปี แล้วค่อยๆ กลับมาคิดใหม่ ระบบของขงจื่อ (ผนวกกับแนวคิดแบบอื่นๆ) ช่วยตอบโจทย์เรื่องความสืบเนื่องของอารยธรรมจีนมาได้กว่าสองพันปี เพราะระบบนี้ให้เสถียรภาพระหว่างรุ่นวัยผ่านกาลเวลา ให้ที่ทางกับความแตกต่างหลากหลาย เน้นการศึกษา ให้โอกาสลูกหลานคนทั่วไปสอบจอหงวนเพื่อเข้ารับราชการ ให้ความสำคัญกับการสืบทอดวัฒนธรรม ในขณะที่การทดลองกับวิธีแบบอื่นให้สิ่งเหล่านี้ไม่ได้ดีพอ แนวคิดแบบขงจื่อสำเร็จในแง่นี้ แต่กลับล้มเหลวในสมัยขงจื่อเอง เพราะอะไร

          ฉันเข้าใจว่า ล้มเหลวเพราะเรียกร้องเวลามากเกินไป คนที่วิจารณ์ขงจื่อในประวัติศาสตร์มีเยอะมาก ประเด็นหนึ่งที่อยากเล่าสู่กันฟังคือ หลายคนบอกว่าขงจื่อเพ้อฝัน ศัตรูมาอยู่หน้าประตูเมืองแล้วยังมานั่งพูดเรื่องต้องให้การศึกษา สร้างคนมีคุณธรรม มันไม่ทัน ข้อวิจารณ์นี้ก็ไม่ผิด เพราะความกระชั้นของวิกฤต แต่คนไม่ยอมเห็นว่าที่วิกฤตแบบนี้เกิดมากี่ร้อยครั้งแล้ว ไม่รู้จบ เพราะไม่ลงทุนกับวิธีคิดระยะยาว เพราะปัญหาเฉพาะหน้าถาโถมอยู่ต่อหน้า ทุกคนเลยบอกว่าขงจื่อไม่มีประโยชน์เพราะแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่ถาโถมอย่างรวดเร็วไม่ได้ ซึ่งก็จริง

          คุณบอกว่าลดข้อเรียกร้อง ทะเยอทะยานเกินไป ฉันกลับเห็นว่าไม่ใช่ แต่วิธีคิดแบบเขามีจุดอ่อนตรงที่สิ่งที่อยากให้แก้มันพื้นฐานเลยต้องใช้เวลานาน สำหรับคนที่ต้องต่อสู้เผชิญหน้ากับวิกฤตเฉพาะหน้า คำตอบของขงจื่อจะฟังดูไร้สาระไม่มีความหมาย ดิฉันคิดว่าเป็นเรื่องนั้นมากกว่า ในแง่นี้เรามีสิ่งที่เทียบเคียงกับประเด็นปัญหาร่วมสมัยในสังคมไทยปัจจุบันได้มากมาย

ถ้าเราจะนำแนวทางขงจื่อมาประยุกต์ใช้กับการเรียนรู้ยังควรคงเป้าหมายการสร้างคนที่จะไปเปลี่ยนแปลงโลกและสร้างชุมชนมนุษยธรรม

          ฉันคิดว่าจริงๆ แล้ว ขงจื่อเรียกร้องน้อยที่สุดในบรรดานักคิดใหญ่ของโลกนี้ สมมติถ้าเทียบกับพระพุทธเจ้า ขงจื่อเรียกร้องน้อยกว่ามาก พระพุทธเจ้าเรียกร้องมากที่สุดเพราะพยายามสอนให้เราพ้นทุกข์ เพราะท่านเห็นทะลุปรุโปร่ง อย่างการห้ามฆ่าสัตว์เพราะเป็นบาป แต่สังคมก็บริโภคเนื้อสัตว์เป็นธรรมดา ขงจื่อขอแต่เพียงว่า “อย่ายิงนกที่เกาะบนกิ่งไม้” นกที่เกาะกิ่งไม้อยู่ อาจจะเป็นนกที่กำลังเลี้ยงลูก ป่วย หลับ เผลอ แต่นกที่บินได้คือนกที่แข็งแรง โอกาสจะถูกยิงก็น้อยกว่า ขงจื่อตั้งกติกาที่ทำให้การฆ่าสัมพันธ์กับพลังของชีวิตที่จะไปฆ่า ฉันไม่เห็นด้วยว่าขงจื่อทะเยอทะยานมากเกินไป แต่เห็นด้วยว่าวิธีคิดของขงจื่อมีจุดอ่อนเพราะต้องลงทุนกับเวลาซึ่งในบางสถานการณ์คนไม่พร้อมที่จะลงทุน แน่นอนมีมิติอื่นๆ อีกที่อาจคุยได้ในโอกาสต่อไป

แสดงว่าการให้การศึกษาแก่ผู้คนต้องอาศัยเวลา?

          ใช่ จะเป็นอย่างอื่นได้ด้วยหรือ

ต้องนานไหม?

          บางคนฉลาดก็เร็ว บางคนก็ช้าเหลือเกิน ขงจื่อเคยพูดเหมือนกันว่า 3 ปี ใครเรียนสามปีแล้วยังเรียนอยู่ขงจื่อก็ชื่นชม ขงจื่อเขามองโลกตามความเป็นจริง ลูกศิษย์ที่มาเรียนด้วยไม่ได้อยากจะเป็นจวินจื่อ (君子) หรือวิญญูชนทุกคน พวกเขาอยากได้ความรู้เพื่อเข้าไปบริหารบ้านเมือง ขงจื่อเคยพูดเหมือนกันว่าบางคนเรียนสามปีแล้วก็ยังไม่ได้บ่นว่าต้องรีบไปหางานทำ ขงจื่อก็ชื่นชมแล้ว

          แต่ฉันไม่ห่วงเรื่องจำนวนปี ฉันห่วงว่าทำอะไรกับเขาในเวลาเหล่านั้น ถ้าใช้เวลาสั้นๆ แล้วทำดี ไม่จำเป็นต้องเรียนสิบปียี่สิบปีอย่างที่ฉันเรียนนะ แต่สิ่งหนึ่งที่การเรียนที่ยาวนานให้อาจจะไม่ใช่เนื้อหาวิชาแต่คือความผูกพันกับเพื่อน การเรียนรู้ของขงจื่อให้คุณค่ากับการสร้างความสัมพันธ์ที่อาจจะขัดแย้ง เถียงกัน ไม่ชอบกัน แต่ก็ยังไปด้วยกันตลอดชีวิต ของแบบนี้จะตอบยากว่ากี่ปีพอ แต่ถ้าคิดเรื่องลงทุนกี่ปีแล้วจะได้ไปหางานทำอันนั้นก็เป็นอีกโหมดหนึ่ง ขงจื่อไม่ได้เน้นตรงนั้น

สุวรรณา สถาอานันท์: การเรียนรู้ของ ‘ขงจื่อ’ ชายผู้เรียกร้อง ‘ความรัก’

สำหรับขงจื่อ วิญญูชนหรือคนที่จะเปลี่ยนแปลงโลกได้ต้องเป็นคนแบบไหน

          พูดแบบรวบรัด เราอาจสรุปได้ว่าวิญญูชนมีความรัก 3 ด้านและมีความรับผิดชอบต่อบ้านเมือง ถามว่าคนแบบไหนที่ขงจื่ออยากจะสร้าง เราจะรู้จักคนได้จากการสังเกตประเภทของความรักที่คนนั้นมี เวลาผู้ปกครองมาถามขงจื่อเรื่องการปกครอง ขงจื่อถามว่า ‘เขารักอะไร’ คุณสมบัติที่สำคัญที่สุดในฐานะการปั้นมนุษย์คือการถามว่า ‘รักอะไร’

          หนึ่ง คือรักการเรียนรู้ เวลาขงจื่อพูดเรื่องการเรียนรู้คือสร้างความสัมพันธ์กับเพื่อน มีอยู่บทหนึ่งมีคนถามว่าเวลาไปบ้านเมืองต่างๆ อาจารย์ เรียนรู้ยังไง เที่ยวไปถามความรู้จากคนนั้นคนนี้หรือเปล่า ลูกศิษย์คนหนึ่งก็บอกว่าอาจารย์เรา “อ่อนโยน ใจดี มีสัมมาคารวะ เรียบง่าย ผ่อนปรน ให้เกียรติ อาจารย์จึงได้ความรู้มากมาย” ถ้าถามว่าเป็นคนแบบไหน ก็คือคนแบบนี้ คล้ายๆ มีสมมติฐานว่าถ้าเรามีคุณลักษณะแบบนี้คนจะอยากมาเป็นเพื่อนเราและในความเป็นเพื่อนการแลกเปลี่ยนความรู้จะหายไปไหน เขาสร้างคุณสมบัติให้คนอยากจะมาเป็นเพื่อนและในความเป็นเพื่อนก็จะแสวงหาความรู้

          สอง คือรักมนุษย์ ปกติเรารักเพราะว่าใครให้ผลประโยชน์แก่เรา ใครชื่นชม ใครทำให้รู้สึกสบายใจ เราก็รัก ขงจื่อกลับพูดเป็นปริศนาว่า เราต้องมีเหรินก่อน เราจึงจะรักและเกลียดได้ กลายเป็นว่าการมีเหรินเป็น precondition เป็นเงื่อนไขที่มีมาก่อนของการรักและเกลียดแบบปกติ ซึ่งส่วนใหญ่หมายถึงใครทำไม่ดีกับเรา เราก็เกลียด ใครดีกับเรา เราก็รัก ของพวกนี้ปกติ แต่สำหรับขงจื่อของแบบนี้ต้องมาทีหลังการมีเหริน ความรักความเกลียดที่มาบนเงื่อนไขของการมีเหรินจะมีลักษณะอย่างไร นี่คือปริศนาที่ขงจื่อท้าทายให้เราคิด

          การมีเหริน (仁) คืออะไร คือการมีความอาทร ห่วงใย เห็นใจ เมตตา ฉันจะยกตัวอย่างหนึ่งจากหลุนอี่ว์ “เวลาอาจารย์นั่งใกล้คนไว้ทุกข์ไม่เคยกินจนอิ่ม” (การไว้ทุกข์คือหลี่แห่งการแสดงความโศกเศร้าสูญเสีย) ฉันใช้ประโยคนี้ประโยคเดียวเป็นตัวแทนของภาพชุมชนมีมนุษยธรรม ในบทนี้ไม่ได้บอกว่าคนนี้เป็นเพื่อน พ่อแม่ หรือคนรู้จัก จริงๆ คงเป็นคนแปลกหน้า แต่เป็นคนแปลกหน้าที่กำลังโศกเศร้า ขงจื่อที่กำลังกินอยู่ไม่เคยกินจนอิ่ม ขงจื่อไม่ใช่พระโพธิสัตว์ ไม่ได้เลิกกิน ไม่อดอาหาร หรือให้อาหารกับคนอื่น เขากิน แต่ไม่กินจนอิ่ม การยอมไม่อิ่มคือการแสดงความเห็นใจที่มนุษย์คนหนึ่งให้มนุษย์อีกคนหนึ่งในชุมชนที่มีมนุษยธรรม ที่สำคัญคือ ‘ไม่เคย’ คนที่บันทึกประโยคนี้สังเกตอาจารย์มาตลอด แปลว่าขงจื่อไม่เคยพ่ายแพ้ต่อข้อเรียกร้องทางอาหารของตัวเองเมื่ออยากแสดงความเห็นใจในความทุกข์ของคนอื่น นี่คือเหรินที่ฉันบอกว่ารักมนุษย์ก็คือรักแบบนี้ 

          สาม คือรักหลี่ (礼) หลี่คือการไม่กินจนอิ่มซึ่งเป็นพฤติกรรมเชิงสัญลักษณ์ที่คนที่สังเกตเห็นได้ เป็นสัญลักษณ์ที่ระบุความจริงใจหรือการมีคุณธรรมจากภายใน การที่เขาไม่กินจนอิ่มและไม่เคยกินจนอิ่มทำให้ความรู้สึกเห็นใจของเขาที่เป็นอารมณ์จากภายในสามารถสังเกตเห็นได้จากพฤติกรรมจากภายนอก ความรู้สึกร่วมได้นี่แหละคือชุมชน การมีมนุษยธรรมก็คือการไม่กินจนอิ่ม ดิฉันคิดว่าเขาเรียกร้องจริยธรรมที่ทำได้ แต่ต้องมีความละเมียดละไมทางการรับรู้ มี Moral Sensitivity ซึ่งตรงนี้พัฒนาได้ ขงจื่อไม่ดูถูกความรู้สึกของคน เขาไม่ได้เอาเหตุผลมากดทับ บทเรียนแรกของเขาคือให้อ่าน คัมภีร์กวีนิพนธ์ เพื่อกระตุ้นเร้าอารมณ์ ปล่อยอารมณ์ให้ แสดงออกมา ไม่ใช่เก็บกด เมื่อแสดงอารมณ์ได้แล้วก็กล่อมเกลาให้งาม ให้พอดี ในอารมณ์ก็มีเหตุผลได้ หลี่เลยสำคัญต่อการเรียนรู้

          สี่ คือพร้อมจะช่วยรับผิดชอบต่อการปกครองหรือช่วยบริหารบ้านเมือง ในคัมภีร์หลุนอี่ว์ เล่มที่ 18 ขงจื่อกำลังเดินทางได้พบคนพรวนดินทำนาอยู่ คนหนึ่งพูดฝากจื่อลู่ไปถึงขงจื่อว่าคิดว่าตัวเองเป็นใครหรือ จะไปเปลี่ยนแปลงโลก โลกมันแย่ขนาดนี้แล้ว แทนที่จื่อลู่จะติดตามคนที่เลี่ยงคน ทำไมไม่ติดตามคนที่ละทิ้งโลก จื่อลู่ก็ไปเล่าให้ขงจื่อฟัง ขงจื่อรับฟังแล้วก็ถอนใจ กล่าวว่า นกกับสัตว์ป่าไม่สามารถไปอยู่ร่วมได้ หากเราไม่อยู่ร่วมกับมนุษย์ แล้วจะให้เราไปอยู่ร่วมกับใคร

          ในแง่นี้ คนที่ขงจื่อกล่อมเกลาขึ้นมาที่จะไปเปลี่ยนแปลงโลกต้องเป็นคนที่ไม่ทิ้งความรับผิดชอบต่อบ้านเมือง ต้องไม่ไปเป็นฤาษีชีไพรและไม่ใช่คนหลีกลี้ แต่เป็นคนที่มีการศึกษา มีความสุภาพ มีความอ่อนโยน พร้อมช่วยบริหารบ้านเมือง ลูกศิษย์บางคนอาจจะคิดว่าได้อำนาจ ได้ผลประโยชน์ ได้ยศถาบรรดาศักดิ์ แต่ขงจื่อไม่ได้คิดอย่างนั้น ขงจื่อคิดว่าคุณมีการศึกษาขนาดนี้ คุณได้โอกาส คุณมีศักยภาพ คุณต้องไปช่วยจัดระบบใหม่ให้กลับไปสู่ครรลองแบบราชวงศ์โจว เราต้องช่วยกันสร้างชุมชนมีมนุษยธรรม

สุวรรณา สถาอานันท์: การเรียนรู้ของ ‘ขงจื่อ’ ชายผู้เรียกร้อง ‘ความรัก’
ขงจื่อ
Photo: Public Domain

อยากให้คุณช่วยขยายความที่ว่า หลี่ (礼) สำคัญต่อการเรียนรู้

          หลี่ ของขงจื่อคือความรู้สึกโศกเศร้าที่ให้ความหมายแก่การใส่เสื้อสีดำ การใส่เสื้อสีดำในตัวเองมิใช่การไว้ทุกข์ ขงจื่อเห็นความต่อเนื่องเชื่อมโยงระหว่างความรู้สึกกับการแสดงออก ทำยังไงการแสดงออกของความรู้สึกถึงจะพอดีและงาม เขาสนใจคำถามนี้ หลี่ทำงานนี้ ที่สำคัญคือหลี่ทำให้เกิดเหอ (和) หรือความกลมกลืน สมมติว่าเธอโกรธ ฉันโกรธ เราจะโกรธใส่กันยังไงที่ยังมีชุมชนอยู่ด้วยกันได้ นี่คือหน้าที่ของหลี่ มีบทหนึ่งในหลุนอี่ว์ที่เสนอ วิธีทะเลาะกับพ่อแม่ ขงจื่อบอกว่าให้ทัดทานอย่างสุภาพ ถ้าไม่ฟังก็ให้ทำ 4 สเต็ปเลยนะ ให้อดทน ให้ทัดทานต่อไป คุณมีสิทธิ์ดื้อ มีสิทธิ์ทะเลาะกับพ่อแม่ แต่ไม่ใช่ชี้หน้าด่าที่ทำให้ความสัมพันธ์ขาดสะบั้น นี่คือหน้าที่ของหลี่

          คนที่รักการเรียนรู้คือคนที่พยายามจะหาวิธีที่แสดงความไม่เห็นด้วยกับพ่อแม่ แต่ยังคงแสดงความเคารพไว้ได้และให้เขารู้ว่าเรายังรักเขาอย่างไร นี่คือโจทย์ของหลี่ หลี่จะสร้างเหอ เพราะว่าทุกคนทุกฝ่ายพร้อมโกรธใส่กัน แต่ถ้าทุกคนใช้วิธีแสดงความโกรธของตัวเองหมด แล้วจะทำยังไง สังคมต้องตกลงร่วมกันว่าเวลาโกรธ เวลาไม่เห็นด้วยกัน หรือเมื่อไม่เห็นด้วยกับพ่อแม่ทำได้แบบนี้ ควรทำเพียงแค่นี้ เวลารักกันก็แสดงความรักกันประมาณนี้งามแล้ว อย่าเกินเลย บางสังคมอาจมีหลี่ที่บอกว่าหนุ่มสาวแสดงความรักโดยการบรรจบปากกันได้ในที่สาธารณะ บางสังคมบอกว่าแสดงน้อยหน่อยงามกว่า เวลาสนุก…สนุกได้ กินเหล้าได้ ขงจื่อกินเหล้า แฮปปี้ แต่ไม่เคยเมา

ปรัชญาตะวันตกพยายามหาเกณฑ์ในการวัด แต่หลี่ใช้เกณฑ์ของตนเองเพื่อหาว่าอะไรที่พอดี

          แต่ใน ‘ตัวเอง’ ต้องเรียนรู้ ไม่ใช่คิดเองทั้งหมด ไม่ใช่เกิดมาตรัสรู้เอง การเรียนรู้อาจเริ่มโดยการไปศึกษาหลี่ของราชวงศ์โจวเป็นไง หลี่ของราชวงศ์โน้น ราชวงศ์นี้เป็นไง เพื่อนบ้านคุณมีหลี่อะไร รัฐข้างเคียงมีหลี่อะไร แล้วค่อยปรับให้เห็นว่างามและทำให้รัฐเราเห็นด้วยกับอันนี้ นี่คือวิธีหาหลี่ มันไม่ใช่ปัจเจกเอกเทศโดดเดี่ยวแล้วตั้งกฎเกณฑ์เองโดยสมบูรณ์ ขงจื่อไม่ได้เน้น Autonomous Individual in Isolation ปัจเจกบุคคลมี แต่มีในความสัมพันธ์เสมอและถูกก่อรูปมาในความสัมพันธ์เสมอ

แนวคิดของขงจื่อแสดงให้เห็นว่าตัวครูผู้มีบทบาทสำคัญมากที่จะเป็นกัลยาณมิตรกับศิษย์

          ใช่ ไม่เพียงแต่เป็นเพื่อน ถ้าเราอ่านดีๆ ขงจื่อโดนลูกศิษย์ ‘ด่า’ เละเลยนะ โดนวิจารณ์ตลอดเวลา แต่ละคนก็วิจารณ์แต่ละแบบ ไจ๋หว่อเป็นคนที่ Philosophical ที่สุด ใช้หลักคิดของขงจื่อมาทิ่มแทงขงจื่อเอง เช่นเรื่องการไว้ทุกข์ ไจ๋หว่อถามว่าทำไมต้องไว้ทุกข์ให้พ่อแม่สามปีด้วย ปีเดียวก็พอแล้ว ขงจื่อถามหาเหตุผล ไจ๋หว่อตอบว่าฤดูกาลก็หมุนเวียนเปลี่ยนไป ปีหนึ่งก็ครบวงจรของฤดูกาล นอกจากนี้ ขงจื่อเองบอกว่าระหว่างเวลาไว้ทุกข์ไม่ให้เล่นดนตรี ไม่ให้ทุ่มเทศึกษาที่เข้มข้นเกินไป ในขณะเดียวกันขงจื่อก็บอกว่าดนตรีสำคัญไม่ใช่หรือ ถ้าไม่ฝึกสองสามปีดนตรีก็ร้างรา การศึกษาก็ถดถอยไม่ใช่หรือ ขงจื่อก็ตายล่ะสิ คือเอาสิ่งที่เป็นคุณค่าของขงจื่อมาแย้งขงจื่อเรื่องระยะเวลาการไว้ทุกข์ ขงจื่อก็จนมุม เปลี่ยนคำถาม ขงจื่อถามว่าแล้วเธอไว้ทุกข์ครบปีแล้ว เวลาไปใส่เสื้อผ้าสวยๆ เล่นดนตรี เธอสบายใจเหรอ ไจ๋หว่อบอกสบายใจ ขงจื่อก็บอกว่าถ้าอย่างนั้นก็ทำตามที่สบายใจ แต่ขงจื่อเองไม่เห็นด้วย

          การที่ขงจื่อถามว่าหรือไจ๋หว่อไม่ได้รับความรักสามปีจากพ่อแม่ ขงจื่อกำลังบอกว่าการได้สัดส่วนในเชิงเวลา สามปีแรกที่ทารกไม่เคยห่างจากอ้อมอกของพ่อแม่ เวลาสามปีนั้นควรคืนให้พ่อแม่ด้วยการไว้ทุกข์เมื่อท่านจากไป แปลต่อไปว่าขงจื่อเรียกร้องให้เราให้สิ่งที่พิเศษกับคนที่มีความสัมพันธ์พิเศษ ไม่ใช่ให้ทุกคนเท่ากัน แต่ด้วยเหตุผลที่ไจ๋หว่อให้มา ขงจื่อก็ต้องยอม แต่ก็ยังไม่เห็นด้วย

          จื่อลู่ก็วิจารณ์ขงจื่ออีกแบบหนึ่ง ครั้งหนึ่งขงจื่อไปพบแม่นางหนานจื่อซึ่งเป็นสนมของเจ้านครรัฐเว่ย จื่อลู่บอกว่าไปพบได้ยังไง ผู้หญิงคนนี้ไม่ดี ขงจื่อก็บอกว่าขอให้สวรรค์ลงโทษเขาแล้วกันถ้าเขาทำอะไรผิด จื่อก้งก็วิจารณ์ขงจื่อตามแบบของเขา เหยียนหุยเป็นลูกศิษย์ที่ขงจื่อรักที่สุด ไม่มีบันทึกว่าเขาเคยวิจารณ์อาจารย์ แต่เหยียนหุยทำให้ขงจื่อปรับมุมมองตัวเองและเปลี่ยนความคิดต่อเหยียนหุย

          ถ้าเราเข้าใจของเหล่านี้เราจะเห็นว่าพลวัตของการเรียนรู้ไม่ใช่อำนาจที่มาจากครู ครูเป็น Authority ไม่ใช่ Power ในความหมายว่าคนพวกนี้มีความเคารพนับถือขงจื่อจึงยอมอยู่ด้วย ยอมเรียนกับเขา แต่ไม่ใช่เพราะยอมรับ “อำนาจ” เขา จริงๆ ขงจื่อก็ไม่ได้มีอำนาจอะไร ฐานะทางเศรษกิจก็ไม่ดี เวลาที่รับราชการก็จำกัด

          ขงจื่อบอกว่า เอ้า วันนี้เรามาคุยกัน อย่าคิดเลยนะว่าเราอาวุโสกว่าพวกเจ้า อยากทำอะไรลองเล่าสู่กันฟังซิ เราจะเห็นความเป็นเพื่อนในกระบวนการเรียนรู้ แน่นอนว่าขงจื่อเป็น Center Figure แต่ไม่ใช่ Figure of Power แต่เป็น Figure of Authority คือคนเคารพนับถือด้วยคุณสมบัติบางอย่างของเขา ไม่ใช่เพราะเขาอยู่ในตำแหน่งแห่งอำนาจและบรรดาศิษย์ต้องสยบต่ออำนาจนั้น

สุวรรณา สถาอานันท์: การเรียนรู้ของ ‘ขงจื่อ’ ชายผู้เรียกร้อง ‘ความรัก’
ขงจื่อและลูกศิษย์ที่กำลังสนทนาเรื่องความกตัญญู
Photo: Public Domain

ในรั้วโรงเรียนถูกวิจารณ์ว่ามีความเป็นอำนาจนิยม เราเห็นข่าวครูที่ละเมิดเด็กอยู่เสมอและนักเรียนก็ยากที่จะมีปากมีเสียงเพราะความเกรงกลัวอำนาจของครู ขงจื่อให้ความสำคัญกับหลี่หรือขนบจารีต ความเคารพต่อผู้ใหญ่ ขงจื่อจะแนะนำให้นักเรียนท้าทาย วิพากษ์ ตั้งคำถาม หรือแม้แต่ปรับรื้ออำนาจนิยมในโรงเรียนอย่างไรโดยยังธำรงหลี่ไว้ได้

          คำถามสุดท้ายซับซ้อนมาก ต้องศึกษากรณีเฉพาะให้ถี่ถ้วนก่อน ตอบยากเกินไป ขอเก็บไว้ในโอกาสต่อไป เอาเป็นอย่างนี้แล้วกัน อย่างที่บอกตั้งแต่แรก เวลาเราพูดเรื่องการเรียนรู้ของขงจื่อมันไม่ใช่บริบทโรงเรียนในความหมายที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน อันนี้เป็นประเด็นที่หนึ่ง บรรยากาศในหลุนอี่ว์เป็นการเรียนรู้ในหมู่เพื่อน ในความสัมพันธ์ชุดนี้มีการเรียนรู้ไปด้วยกัน

          ประเด็นที่สอง ฉันตั้งข้อสังเกตว่าสิ่งที่น่าสงสารที่สุดสำหรับปรัชญาขงจื่อคือถูกครอบงำโดยความเข้าใจผ่านลัทธิขงจื่อซึ่งเป็นอำนาจนิยม ฉันเห็นด้วย ฉันไม่ได้บอกว่าขงจื่อไม่มีตรงนั้นเลย ไม่ใช่ แต่ที่น่าสงสารคืออีกด้านหนึ่งที่หายไปหมดเลย ขงจื่อพูดจากล่างขึ้นบนเยอะมากแต่ไม่เคยถูกนำมาถกเถียงกันในลัทธิขงจื่อเมื่อได้กลายเป็นอุดมการณ์ทางการเมืองในสมัยราชวงศ์ฮั่น แต่ในปรัชญาขงจื่อ ฉันยกให้คุณได้หลายสิบตัวอย่าง ที่ถกเถียงจากมุมล่างขึ้นบน เช่น ทัดทานพ่อแม่อย่างสุภาพ ฉันคิดว่าบทนั้นสวยงาม แต่แน่นอนมีบทที่เน้นการยอมให้พ่อแม่ก็มี ก็ต้องยอมรับ ฉันพูดอย่างนี้เพราะว่าใน 2,500 ปีก่อนในบริบทชายเป็นใหญ่ขนาดนั้น สังคมโบราณขนาดนั้น ขงจื่อพูดเรื่องการทัดทานพ่อแม่ ถึงแม้จะมีจำนวนไม่มากแต่ฉันคิดว่ามีนัยสำคัญมาก

          ตัวอย่างที่สองที่ไม่เคยได้ยินคนเอามาพูดเลยก็คือคุณธรรมของขุนนางต่อเจ้านาย แน่นอนต้องภักดี แต่เวลาขงจื่อถูกถามเรื่องภักดี ขงจื่อบอกให้ทำสองอย่าง คืออย่าหลอกและให้ตักเตือน ขงจื่อเปรียบว่าเจ้านายเป็นเสือ เป็นอัญมณี เป็นคนที่กำลังจะหกล้ม เป็นเสือก็คือป่าเถื่อนดุร้าย คุณต้องไปช่วยอย่าให้เขาทำสิ่งที่ดุร้ายรุนแรง เป็นอัญมณีคือเป็นของมีค่า คุณต้องดูแลปกป้องรักษา  เป็นคนที่กำลังจะหกล้มคือคุณต้องคอยพยุง กล่าวโดยรวม ภาพลักษณ์ของเจ้านายไม่ใช่คนที่จะมีอำนาจบังคับ แต่เป็นคนที่อ่อนแอ ไม่รู้จักคุณค่าของตนเอง  ถูกหลอกได้ง่าย และกำลังจะหกล้ม

          ขงจื่อเองก็ถูกลูกศิษย์วิจารณ์โต้แย้งรุนแรง แต่มีกรณีหนึ่งที่ขงจื่อวิจารณ์ลูกศิษย์รุนแรง ขับลูกศิษย์ออกจากกลุ่ม ศิษย์คนนี้ไปเก็บภาษีให้พวกตระกูลจี้ซึ่งมั่งคั่งกว่าโจวกงเจ้านครรัฐหลู่ หมายความว่าขงจื่อนิยามว่าพวกเราที่เป็นเพื่อนกันมีปณิธานร่วมกันที่จะฟื้นคืนราชวงศ์โจว ต้องช่วยกันเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับเจ้านครหลู่ซึ่งสืบมาจากราชวงศ์โจว แต่ลูกศิษย์คนหนึ่งกลับไปเสริมฐานทางเศรษฐกิจให้แก่ตระกูลขุนนางซึ่งมีอำนาจครอบงำเจ้านครหลู่ ขงจื่อบอกว่าแบบนี้เราไม่เป็นเพื่อนกันแล้ว ขับเขาออกไปได้ เป็นบทที่ขงจื่อแสดงอาการรุนแรงที่สุด 

คุณกำลังจะบอกว่าต้องเถียงกับครูได้

          ใช่ แต่ทัดทานอย่างสุภาพมั้ย สร้างจารีตของการเถียงกับครู คือครูก็ผู้ใหญ่กว่า เขาดูเหมือนเรียนรู้มามากกว่า แต่การที่เขามีความรู้มากกว่า มีสถานภาพ มีอำนาจ มีอายุมากกว่า และอื่นๆ ไม่ใช่เป็นเครื่องรับรองสิทธิที่จะพูดหรือมีความเห็นของเขาแต่เพียงฝ่ายเดียว คนละประเด็น ความรู้ต้องมาจากลูกศิษย์ด้วย คิดหรือว่าครูเรียนรู้จากลูกศิษย์ไม่ได้ เอาเข้าจริงๆ ในกรณีที่ดีถ้าเราไปวิเคราะห์จริงๆ โดยตัวเองและเพื่อนอีกหลายคนสิ่งที่เราเรียนรู้มากที่สุดคือคำถามจากนักเรียนเวลาเราสอน จริงอยู่ในมหาวิทยาลัยคงเป็นพื้นที่ที่มีเสรีภาพมากกว่าในโรงเรียน บางทีเราก็หน้าชาเหมือนกัน แต่ความหน้าชาของเรา ถ้าเราไม่อีโก้จนเกินไป เราจะเรียนรู้เยอะมาก เอ่อ ที่เราเคยคิดคงไม่ใช่แล้ว เราต้องเปลี่ยนวิธี ทำไมทัศนคติแบบนี้เราสร้างไม่ค่อยได้ในโรงเรียน

สุวรรณา สถาอานันท์: การเรียนรู้ของ ‘ขงจื่อ’ ชายผู้เรียกร้อง ‘ความรัก’

เราเห็นกรณีที่ครูกล้อนผม ทำโทษ ด่าทอเด็ก เด็กจะทัดทานยังไง มันเป็นอำนาจที่กดลงไปให้ต้องเงียบ

          ฉันอยากจะเชื่อว่าไม่ใช่ครูส่วนใหญ่ แต่อาจจะมากขึ้นเรื่อยๆ  กรณีแบบนี้ฉันสงสัยว่าครูเองมีความไม่มั่นคง คนที่ใช้อำนาจแบบนั้นคือคนที่แสดงความไม่มั่นคงของตัวเองออกมา ในกรณีหนักๆ อาจมีปัญหาทางจิตด้วย พูดในแง่ดี ต้องไปดูว่าอะไรในระบบโรงเรียนที่ทำให้ครูไม่มั่นคง พูดในแง่จิตวิทยา ครูบางคนต้องไปหาจิตแพทย์ พูดในด้านแก้ไขคือทำยังไงให้มีบรรยากาศที่นักเรียนต้องแสดงความเห็นได้ ต้องช่วยกันสร้างหลี่แห่งการถกเถียงโต้แย้งใหม่ที่สอดคล้องกับสังคมปัจจุบันมากขึ้น

          พอครูใช้อำนาจแบบนี้ นักเรียนก็จะโต้กลับด้วยความก้าวร้าว พอนักเรียนก้าวร้าว ครูก็ยิ่งยืนยันความ ‘ถูกต้อง’ ของตัวเองเพราะแกก้าวร้าว ครูก็ยิ่งใช้อำนาจ นักเรียนก็ยิ่งขึ้งโกรธ เห็นมั้ยแกใช้อำนาจ ฉันยิ่งไม่เอา ฉันคิดว่ามีหลายปัจจัยอยู่ในเรื่องนี้ หนึ่งต้องเข้าใจความต่างระหว่างรุ่นวัย สองต้องดูว่าอะไรในโรงเรียนที่ทำให้ครูรู้สึกไม่มั่นคง สามเรื่องจิตวิทยา และสี่ต้องช่วยกันพัฒนากติกาการปฏิบัติต่อกันเพื่อการแสดงความเห็นที่ต่างกันอย่างสุดขั้วจะยังเป็นไปได้ต่อไป

(คำถามจากช่างภาพ) ต่อให้ไม่ใช่ครูที่กล้อนผม ทำโทษ เป็นครูที่สอนปกติ แต่ว่าสังคมไทยก็ยังเป็น แบบ จบคาบ มีใครจะถามอะไรไหม เงียบ มันเกิดขึ้นจากอะไร เรื่องอำนาจไม่เท่ากันระหว่างครูกับนักเรียนมีอยู่แล้ว แต่อะไรทำให้เกิดสิ่งเหล่านี้ เป็นเพราะเราไม่มีคำถามจริงๆ หรือว่าเราไม่กล้าถาม

          อันนี้ก็เป็นคำถามที่ดีนะ ฉันสงสัยว่าเรามีวัฒนธรรมการโต้เถียงที่อ่อนแอ มีงานวิจัยอันหนึ่งที่ The East-West Center ทำหลายปีแล้ว เขาไปสำรวจกรุ/คลังคำต่างๆ ในแต่ละมิติชีวิตของผู้คนหลากหลายวัฒนธรรม เขามีตัวอย่างของสังคมไทย พบว่ามีกลุ่มคำที่เกี่ยวกับผัสสะด้านรสชาติ อารมณ์ความรู้สึกเยอะมาก แต่มีคลังคำที่เกี่ยวกับการถกเถียงโต้แย้งที่จำกัดมาก ขณะที่ในสังคมอเมริกัน มีคลังคำเกี่ยวกับผัสสะ รสชาติ ค่อนข้างน้อย แต่มีคำที่เกี่ยวกับการโต้แย้งถกเถียงเยอะมาก เท่าที่จำได้ งานวิจัยเขาระบุเฉพาะจำนวนคำ แต่การมีคลังคำมากหรือน้อยก็บ่งบอกถึงความละเอียดลออของภาษาซึ่งมีส่วนกำหนดขอบฟ้าความเป็นไปได้ของภาษาที่จะเปิดสู่การทำความเข้าใจเรื่องนั้นๆ ที่จำได้ เขาพบว่ามีคำเกี่ยวกับ หิมะในภาษาของชาวเอสกิโมถึง 17 คำ (ถ้าจำผิดก็ขออภัยไว้ก่อน) ส่วนในภาษาไทย มีคำเดียวคือ หิมะ เป็นต้น

          ฉันก็คิดเรื่องนี้มานาน แต่ก็ยังไม่ค่อยแน่ใจ ฉันสงสัยว่าเรามีวลี ประเภท ‘ว่านอนสอนง่าย’ ‘เดินตามผู้ใหญ่ หมาไม่กัด’ มาจากสังคมสมัยก่อน สอง โรงเรียนไม่ค่อยมีวัฒนธรรมการถกเถียง (Discussion) การเรียนของเราคือการท่องจำ การเลียนแบบ ‘ครูคือแม่พิมพ์ของชาติ’ แม่พิมพ์ทำหน้าที่ผลิตความเหมือน ถ้าแม่พิมพ์ผิดบิดเบี้ยว ทุกคนก็จะผิดบิดเบี้ยวไปด้วย ฉันสงสัยว่าเมื่อนักเรียนอยากคุย อยากเถียง อาจจะไปเถียงกับเพื่อน มากกว่าไปเถียงหรือถกกับคุณครู และเดี๋ยวนี้อาจจะไปเถียงกันในโลกโซเชียล แต่พวกเขาอาจจะไม่เคยเห็นว่าโรงเรียนเป็นพื้นที่ที่จะมี Discussion ที่น่าตื่นเต้น ตรงข้ามกับหลายบริบทในสังคมตะวันตก

ขงจื่อจึงทำตนเองเป็นเหมือนกัลยาณมิตร แทนที่จะเป็นครูอย่างที่คุณบอกว่าเป็น Figure of Authority ไม่ใช่ Figure of Power

          ใช่ ปรับให้ครูเป็นเพื่อนที่มี Authority ไม่ใช่ Power

ในขณะที่นักเรียนถ้าจะเถียงกับครู ไม่ให้แรงใส่กัน ก็ต้องมีหลี่เพื่อให้เกิดเหอ

          ใช่ หลี่จะช่วยทำให้เราเถียงต่อไปได้นาน ถ้าคุณไม่มีหลี่และกติกาของการเถียงเป็นคนละชุดหรือไม่มีกติกาใดๆ คนก็จะชกต่อยกันได้ง่าย การถกเถียงเพื่อเหลาความเห็นให้แหลมคมและกว้างขวางขึ้นก็จะถูกตัดตอน เหอก็ไม่เกิด

สุวรรณา สถาอานันท์: การเรียนรู้ของ ‘ขงจื่อ’ ชายผู้เรียกร้อง ‘ความรัก’

ขงจื่อให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ในหมู่มิตรซึ่งเราย้ำกันหลายรอบ และการเดินทางเพื่อเรียนรู้โลกอันแตกต่างหลากหลาย แสดงว่าขงจื่อให้ความสำคัญกับการเรียนรู้นอกห้องเรียน รวมทั้งน่าจะหมายถึงว่าการศึกษาที่ดีต้องไม่ใช่กระบวนการที่ทำให้คนเป็นและคิดเหมือนๆ กัน

          ใช่ อันนี้ค่อนข้างชัดเจน ขงจื่อพูดชัดมากอย่างไม่น่าเชื่อว่าจวินจื่อมีเพื่อนเยอะ แต่ไม่สร้างพรรคพวก จวินจื่อทำให้เกิดเหอ ซึ่งเป็นคำตรงข้ามกับคำว่า เหมือน เพราะเหอเริ่มจากสมมติฐานว่ามีความแตกต่าง เหอ สร้างความกลมกลืน ความกลมเกลียว ความบรรสานสอดคล้อง ความไพเราะเสนาะโสต หรือรสชาติกลมกล่อม อุปลักษณ์ หรือ metaphor หลักในการพูดถึงความสัมพันธ์แบบมีเหอ ของขงจื่อมี 2 ชุด คืออาหารกับดนตรี

          อาหารถ้ามีรสเดียวจะสร้างความกลมกล่อมไม่ได้ ต้องมีหลายรสประกอบกัน ความสามารถคือการสร้างเหอให้กับความต่าง ไม่ใช่กำจัดความต่างแล้วสร้างความเหมือนเพราะความเหมือนไม่นำไปสู่เหอ ดนตรีก็เช่นกัน ดนตรีจะเกิดขึ้นได้ต้องมีโน้ตเพลงที่แตกต่าง ถ้ามีโน้ตเดียวจะไม่เกิดเพลง ในแง่นี้น่าจะพูดได้ว่าความแตกต่างหลากหลายเป็นคุณสมบัติที่ขาดไม่ได้ของเหอซึ่งเป็นคุณค่าสูงสุดในปรัชญาของขงจื่อ เหอมาจากการทำให้ของที่แตกต่างหลากหลายมีความประสานสอดคล้อง กลมกล่อมถ้าเป็นอาหาร ไพเราะถ้าเป็นดนตรี ถ้าเป็นความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ก็คือกลมเกลียว

คุณยังพูดถึงการผูกมิตรกับอคติหรือคุณค่าให้มากชุดที่สุด แล้วจึงเลือกด้วยวิจารณญาณซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ ปัจจุบันมีคุณค่าสากลที่ได้รับการยอมรับ เช่น สิทธิมนุษยชน ความเสมอภาคเท่าเทียม เป็นต้น คำถามเราจะผูกมิตรอย่างไรกับอคติที่ขัดกับคุณค่าสากลหรือคุณค่าเราไม่อาจยอมรับได้

          คำถามนี้สำคัญมาก ดิฉันยังยืนยันสิ่งที่ดิฉันพูด ‘ผูกมิตรกับอคติให้มากชุดที่สุด’ ดิฉันไม่ได้บอกว่าให้ผูกมิตรกับอคติทุกชุด ซึ่งแปลต่อไปได้ว่ามีหลายชุดที่อาจยังผูกมิตรด้วยไม่ได้ อย่าคิดว่าสิ่งที่เราเป็นตัวแทนนั้นไม่ใช่อคติ ถ้าเราไม่ใช่พระเจ้า เราไม่ใช่สิ่งที่รู้ทุกอย่าง ทุกคติของเราอาจเป็นอคติ แต่ไม่ใช่ในความหมายจงใจบิดเบือน เป็นอคติในความหมายว่าเป็นคติที่เป็นส่วนเสี้ยวของความจริง ฉันคิดว่าดีที่สุดถ้าเราคิดว่าสิ่งที่เราคิดเราเชื่ออาจ มีความจริงมากน้อย แต่ก็เป็นเพียงคติ เอาอย่างนั้นแล้วกัน

          เมื่อเริ่มจากตรงนั้น ฉันก็ต้องยอมรับว่าถ้าคิดแบบขงจื่ออาจจะมีคุณค่าบางชุดที่เราอาจจะยังไม่สามารถผูกมิตรด้วยได้ แต่ที่น่าสนใจคือเราจะเลือกยังไง เราจะอธิบายกับตัวเราเองยังไงว่าชุดนี้ผูกได้ ชุดนี้ผูกไม่ได้ บังเอิญมีบทหนึ่งในหลุนอี่ว์ที่ถกเรื่องนี้พอดี ขออ่านยาวนิดหนึ่ง บทนี้มีดีเบตในหมู่ศิษย์ของขงจื่อเอง มีสองข้อความที่เกี่ยวข้อง อันที่หนึ่งบอกว่า ‘อย่าคบเพื่อนที่ไม่เสมือนตน’  หมายความว่าอย่าคบคนที่ไม่อาจเทียบเคียงกัน (จริงๆประเด็นนี้ต้องคุยกันต่อ) อันที่สอง มีลูกศิษย์สองคนเถียงกัน คนหนึ่งบอกว่า ‘ใครคบได้ก็คบ ใครคบไม่ได้ก็อย่าคบ’ ส่วนที่อยากจะอ่านให้ฟังคือมีลูกศิษย์คนหนึ่งชื่อจื่อจังเถียงกับจื่อเซี่ยคนที่ด่วนสรุปวิธีคบเพื่อนแบบตัดรอน จื่อจังเสนอมุมมองที่ใจกว้างกว่ามากดังนี้

          “วิญญูชนเคารพผู้ทรงปัญญา แต่มีที่ทางให้คนทั่วไป ยกย่องคนดี เห็นใจคนไร้ความสามารถ ความมีปัญญาอันยิ่งใหญ่ของเราถึงกับไม่มีที่ทางให้กับคนอื่นเลยหรือ มีคนที่ไม่คบเราหรือไม่ ความไร้ปัญญาของเราหากทำให้มีคนไม่คบเรา แล้วเราจะทำอย่างไรกับคนที่ไม่คบเรา”

          จื่อจังถามว่าแล้วมีคนอื่นไหมที่เขาไม่คบเราเพราะ “ความไร้ปัญญาของเรา” เราคิดว่าเรามีปัญญา แต่ถ้าคนอื่นคิดว่าเราไม่มีปัญญาล่ะ แล้วทำให้มีคนไม่คบเรา สิ่งที่เราคิดว่าเป็นปัญญาของเรา คนอื่นมองว่าไม่มีปัญญา เพราะในสายตาของเขาเราไม่มีปัญญา เขาจึงไม่คบเราล่ะ แล้วเราจะทำยังไงกับคนที่เขาไม่คบเรา คุณพูดแต่เพียงว่าคบได้ก็คบ คบไม่ได้ก็อย่าคบ คุณพูดจากตัวคุณราวกับว่าคุณทรงปัญญาอยู่คนเดียว ไม่มีที่ทางให้คนอื่น คุณมองมุมกลับซิ มีคนที่ไม่คบเรามั้ย ที่เราคิดว่าเป็นปัญญาที่น่าภูมิใจยกย่อง เขาอาจจะมองว่ามันไม่ใช่ปัญญา แล้วคนอย่างนั้นจะจัดวางกันยังไง และจะทำยังไงกับคนที่ไม่คบเรา

          ตรงนี้ฉันอธิบายว่าการคบเพื่อนเป็นกลุ่มเกิดจากการแบ่งนอกแบ่งใน แต่การมีเส้นแบ่งนอกแบ่งในต้องไม่ใช่เส้นที่เด็ดขาดเกินไปและต้องไม่ใช่ฐานของการสร้างเอกภาพ เอกภาพในหมู่เรามีขึ้นไม่ใช่เพราะเรารังเกียจพวกนอกกลุ่มด้วยกันทั้งหมด การไม่เอาใครไม่น่าจะเป็นตัวสร้างเอกภาพในหมู่พวกเรา อัตลักษณ์ของเราระวังอย่าให้กลายเป็นการแบ่งพรรคแบ่งพวก

          คำถามที่สองคนนี้เถียงกันก็คือ คนอื่นที่เราควรจะมีที่ทางให้แก่เขา แม้ว่าเราคิดว่าเขาไม่มีปัญญา ซึ่งคุณอาจจะใส่เนื้อหา ‘ความไม่มีปัญญา’ เป็น ‘การไม่เอาความเสมอภาค ไม่เอาสิทธิมนุษยชน’ สำหรับอีกกลุ่มหนึ่งเขาบอกว่าพวกนี้ไม่เอาความแตกต่างทางสถานภาพ ไม่เอาคนดีมีคุณธรรมหรือเปล่า ก็ว่ากันไป ต่างฝ่ายต่างนิยามไม่เหมือนกัน แต่ละกลุ่มก็มีวิธีเข้าใจปัญญาที่แตกต่างจากกลุ่มเรา เขาก็อาจเลือกไม่คบเราก็ได้ ปริศนาของขงจื่อคือการกล่าวว่าอย่าคบเพื่อนที่ไม่เสมือนตน ไม่ได้เท่ากับเป็นการกล่าวว่าคบแต่คนที่เสมือนตนเท่านั้น เพราะเรายังไม่รู้ว่าเอาเข้าจริงๆ ณ เวลาหนึ่งเขาก็อาจจะเสมือนเราก็ได้

          ดังนั้น หนึ่ง คืออย่าใจคับแคบ ต้องมีที่ทางให้ทุกคน สอง ตระหนักว่าการนิยามปัญญาอาจจะต่างกัน สาม เขาก็เป็น Subject of Choice เขาก็อาจเลือกไม่คบเราก็ได้ สี่ เขาอาจจะมีปัญญาที่ต่างจากเราก็ได้ และห้า การที่ไม่เสมือนตนอาจจะเป็นแค่มิติเวลา ในอนาคตเราก็ไม่รู้ เราอาจจะสมาทาน position แบบเขาก็ได้หรือเขาอาจจะสมาทาน Position แบบเราก็ได้ มนุษย์เราเปลี่ยนตามสถานการณ์ เปลี่ยนความคิดได้

          ในแง่นี้ สมมติเธอเชื่อเรื่องสิทธิมนุษยชน ฉันคิดว่าเราไม่จำเป็นต้องยอมรับความถูกต้องของปัญญาของคนที่ไม่เอาสิทธิมนุษยชน แต่เราต้องมีที่ทางให้เขา คืออาจวางเขาไว้ใกล้ๆ ปล่อยให้เขาอธิบาย ให้เขาเป็นแบบที่เขาเป็น เราก็เถียงกับเขาต่อไป แต่ไม่ใช่ปัดเขาตกไปจากความเป็นไปได้ที่จะเป็นเพื่อนกับเรา เขาก็ไม่อยากเป็นเพื่อนกับเธอก็ไม่เป็นไร แต่การพูดแบบนี้ไม่ได้ทำให้ประโยคที่บอกว่าพยายามเป็นมิตรกับอคติมากชุดที่สุดผิด ประโยคนี้ก็ยังถูกอยู่ เราไม่ได้บอกว่าคุณต้องเป็นมิตรกับทุกชุดในทุกเวลา ความเป็นมนุษย์มันเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว

          ถ้าดูจากตัวอย่างในคัมภีร์หลุนอี่ว์เอง เราจะเห็นว่าในหมู่เพื่อนสิบกว่าคนที่เจอกันบ่อยๆ มีความตึงแย้งเยอะ มีการวิจารณ์กันแรงๆ ก็เยอะ ถึงขนาดขับออกจากกลุ่มหรือบางคนก็ปล่อยให้อยู่ในกลุ่มเดียวกันและปล่อยให้ต่างกันต่อไป ในแต่ละกลุ่มที่เราคบแม้จะเอาเรื่องสิทธิมนุษยชน ความเสมอภาคเท่าเทียมเหมือนกัน แม้แต่ในที่ที่เหมือนกันก็ไม่ได้แปลว่าไม่มี Shades of Difference

          ในความสัมพันธ์ของมนุษย์ การพยายามสร้างเหอสามารถเกิดขึ้นได้ทุกระดับ ระดับคนที่สมาทานปัญญาชุดเดียวกันหรือคุณค่าชุดเดียวกัน ระดับกับคนที่ไม่เอาเลย ถึงขนาดล้มล้างเป้าหมายสำคัญที่สุดร่วมกัน ขงจื่อก็ขับออกจากกลุ่ม คือไม่ไหวแล้ว ก็โอเค ไม่เป็นไร แล้วเรากังวลอะไร คำถามนี้ในที่สุดคือกังวลอะไร

สุวรรณา สถาอานันท์: การเรียนรู้ของ ‘ขงจื่อ’ ชายผู้เรียกร้อง ‘ความรัก’

หมายความว่าถึงที่สุดถ้าบางอคติหรือคุณค่ายอมรับไม่ได้ เราก็ไม่จำเป็นต้องผูกมิตร

          ถูก ไม่ได้บอกให้ผูกมิตรกับทุกคน ผูกมิตรให้มากชุดที่สุดเพื่อป้องกันความคับแคบของเราเอง ฉันเริ่มจากสมมติฐานว่าทุกคนคับแคบหมด ทุกคนมีอคติหมด ทุกคนมี Partial View หมด การผูกมิตรกับคนมากที่สุดคือการทำให้ความคับแคบกว้างมากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ แต่ไม่ได้แปลว่าเราต้องยอมรับทุกชุดเข้ามาอยู่ใน View ของเรา รวมทั้งคิดเผื่อด้วยว่าทัศนะของเราก็เปลี่ยนได้เสมอ

การศึกษาไทยโดยเฉพาะระดับมัธยมดูเหมือนจะพยายามสร้างคุณค่าชุดเดียว

          น่าจะจริง เราไม่รู้ว่าตัวคานงัดของเรื่องนี้อยู่ตรงไหนบ้าง ที่เชื่อฟังอำนาจง่ายเกินไป  ไม่ชอบถกเถียง แล้วก็บีบบังคับชุดคุณค่า ปัจจัยอยู่ตรงไหนบ้าง เราก็ต้องค่อยๆ แกะทีละอัน

ในหลุนอี่ว์กล่าวว่า เรียนรู้โดยไม่คิดจะเสียแรงเปล่า คิดโดยไม่เรียนรู้จะเป็นอันตราย

          เรียนรู้โดยไม่คิด ก็เท่ากับเราอาจจะไม่เข้าใจ แต่ท่องจำ เลียนแบบ ซึ่งนี่ไม่ใช่การเรียนรู้ที่แท้จริง การคิดทำให้เราเข้าใจ ถ้าเรียนแล้วไม่เข้าใจเราก็จะลืม แล้วก็เลียนแบบ ถือว่ายังไม่ได้ทำในสิ่งที่มนุษย์ทำได้ คือการทำด้วยตัวเอง เพราะการเลียนแบบไม่จำเป็นต้องเป็นมนุษย์ก็ทำได้

          คิดโดยไม่เรียนรู้เป็นอันตราย ถามว่าเป็นอันตรายกับใคร กับสังคม กับคนนั้นเอง ดิฉันเข้าใจอย่างนี้อาจจะยังไม่คมชัดเสียทีเดียว ไม่รู้ว่าตัวอย่างนี้จะเหมาะหรือเปล่า สมมติเราคิดว่าอุดมการณ์ เอ ดีที่สุด จะเป็นเฟมินิสต์ ประชาธิปไตย ศักดินา ชาตินิยม พระเจ้า จะเป็นอะไรก็แล้วแต่ แต่ถ้าเราไม่เรียนรู้ว่าอุดมการณ์พวกนี้จริงๆ ทำงานยังไงในประวัติศาสตร์ ทำงานยังไงในคนตามกาลเทศะที่เฉพาะและแตกต่าง แล้วเอาไปใช้วัดคนที่เผชิญหน้าเลย ก็อาจเกิดอันตรายได้โดยง่าย

          ดิฉันมีลูกศิษย์ที่เป็นเฟมินิสต์ไปทำงาน วันหนึ่งอากาศร้อน หัวหน้าบอกให้ช่วยเปิดพัดลมให้หน่อย เท่านั้นแหละ ออฟฟิศแตกเลย เขารู้สึกเหมือนว่าเจ้านาย ผู้ชายมาใช้อำนาจใส่เขา เพราะเขาเป็นผู้หญิงเลยใช้เขาไปเปิดพัดลม นี่เป็นอันตรายกับตัวเขา เป็นอันตรายกับที่ทำงาน ทำงานได้สามวันก็ออกด้วยความโกรธขึ้ง  หัวหน้าก็ยังงงว่า เขาเป็นปิตาธิปไตยตรงไหน เฟมินิสต์มีวิธีสู้ที่แนบเนียนกว่านี้ไหมตามสถานการณ์ที่ต่างกัน คือยังไม่เรียนรู้ยังไม่เห็นความซับซ้อนของที่มาของความคิด ยังไม่ได้เรียนรู้ว่าความคิดจะลงมือปฏิบัติในสถานการณ์ตามกาลเทศะยังไง แล้วก็เชื่อว่าตัวเองถูกอย่างไม่มีเงื่อนไข เจ้านายเองก็ดูจะยังไม่ได้เรียนรู้อะไรเลยเช่นกัน แต่ความสัมพันธ์ขาดสะบั้นเรียบร้อยแล้ว ฉันยกตัวอย่างเรื่องเล็กน้อย แต่สงสัยว่าในหลุนอี่ว์ ขงจื่ออาจหมายถึงเรื่องที่คอขาดบาดตายมากกว่านี้มาก

สุวรรณา สถาอานันท์: การเรียนรู้ของ ‘ขงจื่อ’ ชายผู้เรียกร้อง ‘ความรัก’

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก